ใครทำอะไรผิดก็ต้องโดนคืนแบบเดียวกันคือเนื้อหาของ Lex Talionis หรือหลัก ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’
หลักดังกล่าวเก่าแก่ เรียบง่าย และตรงใจคนจำนวนมากที่จำภาพ ‘ความยุติธรรม’ เป็นตราชั่งที่แขนสองข้างต้องเท่ากัน แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าระบบกฎหมายสมัยใหม่ไม่ได้ใช้หลักดังกล่าว แถมยังมองว่าเป็นปัญหาด้วยซ้ำ หลายคนยังคำนึงถึงหายนะที่อาจเกิดจากการล้างแค้นทดแทนตามหลักคิดดังกล่าว ดังที่มีคนกล่าววไว้ว่าหากยึดหลักตาต่อตาทั้งประเทศก็จะมีแต่คนตาบอด และที่หนักกว่านั้นคือหากคุณไปประกาศสมาทานหลักนี้ต่อหน้านักกฎหมายในหลายประเทศ คุณอาจถูกถามกลับว่าถ้ามีคนมาข่มขืนลูกของคุณหล่ะ รัฐหรือคุณต้อง ‘สร้างความยุติธรรม’ ด้วยไปข่มขืนลูกของเขาคืนหรือ?
แก่นปัญหาความย้อนแย้งของ Lex Talionis คือหลักดังกล่าวเรียกร้องให้เรา ‘ทำซ้ำ’ สิ่งที่เราเพิ่งประณามว่าผิดไปในนามความยุติธรรม
นักกฎหมายสมัยใหม่โดยเฉพาะในโลกตะวันตกต่างพากันยี้หลักคิดที่ว่า ต่อให้เป็นนักกฎหมายที่เห็นด้วยกับโทษประหารหรือการทรมานนักโทษอะไรก็ตาม พวกเขาก็สนับสนุนการลงโทษแบบนี้ด้วยเหตุผลอื่น ไม่ใช่เพราะหลักตาต่อตา ฟันต่อฟัน
ร้อนถึงนักกฎหมายอย่าง Jeremy Waldron ต้องออกมาชวนคิดว่าหลักดังกล่าวอาจมีเหตุผลมากกว่าที่เราคิด[1] แต่ก่อนจะไปถึงข้อสรุปที่ว่านั้น คงต้องย้อนเล่าก่อนว่า Waldron ได้อภิปรายไว้ตั้งแต่ต้นว่าโดยปกติแล้ว เรามีเหตุผลโดยสามัญสำนึกอยู่อย่างน้อยสองข้อที่ทำให้เราสนับสนุนหลักตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่ที่เรื่องมันไม่จบแค่ตรงนี้ก็เพราะทั้งสองสามัญสำนึกนี้ตั้งอยู่บนวิธีการให้เหตุผลที่ผิดพลาด
สามัญสำนึกแรกคือเรามักเชื่อว่าการเอาคืนคนร้ายเช่นนี้จะช่วยสร้างเยี่ยงอย่างและลดการกระทำผิดในอนาคต แต่ Waldron บอกว่าเหตุผลนี้ไม่ใช่แน่ๆ จริงอยู่ที่บางครั้ง Lex Talionis อาจช่วยป้องปรามอาชญากรรม แต่ในทางตรรกกะแล้วไม่อาจเอาสองเรื่องมาปนกันได้ สมมติถ้าสถิติบ่งชี้ว่ารัฐสามารถป้องปรามอาชญากรรมได้มากขึ้นด้วยการลงโทษให้รุนแรงกว่าความผิดที่คนร้ายได้ทำไป เช่นใครควักตาคนอื่นหนึ่งข้างต้องถูกควักตาสองข้าง มาตรการดังกล่าวเป็นการป้องปราม แต่ผิดหลัก Lex Talionis อย่างชัดเจนที่แต่เดิมถูกใช้เพื่อจำกัดให้คนล้างแค้นแบบไม่เกินเลย
เหตุผลที่สองคือเรามักเชื่อว่าการทำร้าย การฆ่า หรือการทำให้เสียหายนั้น ไม่ควรถูกนับเป็นความผิดหากเราทำกับคนที่เป็นคนร้าย Waldron อธิบายว่าสามัญสำนึกนี้เกิดจากลำดับการให้เหตุผลที่สับสน กล่าวคือโดยปกติ ลำดับการให้เหตุผลของเราคือการกำหนดว่าใครคือ ‘คนร้าย’ ผ่านการดูว่าเขา ‘ทำผิด’ ดังนั้นสิ่งแรกที่เราต้องรู้คือการกระทำใดบ้างที่นับเป็นความผิดหรือไม่ผิด แต่สามัญสำนึกที่กล่าวถึงนี้กลับเสนอสลับกัน คือใช้ความเป็นคนร้ายมาเป็นตัวตั้งต้นกำหนดว่าการกระทำใดที่เป็นความผิดหรือไม่ผิด (การกระทำที่ทำกับคนร้ายไม่นับเป็นความผิด)
หากให้การกระทำผิดเป็น P1 ความเป็นคนร้ายเป็น P2 สามัญสำนึกนี้กำลังบอกว่าในขณะที่ระบบคิดทางกฎหมายทั่วไปบอกว่า P1 กำหนด P2 เราก็ควรใช้ P2 กำหนด P1 ไปพร้อมกันด้วย ถ้าไม่มีเหตุผลอื่นมารองรับเพิ่มเติม ข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นเพียงการให้เหตุผลแบบวงกลมที่กลวงเปล่า (Logical emptiness or circular reasoning)
Waldron จึงทำการสืบค้นก่อนไปเจอคำตอบที่คิดว่าน่าจะใช่ในระบบคิดของ Immanuel Kant ที่บอกว่าเหตุผลการลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟันคือการสั่งสอนเชิงศีลธรรม (moral education)
ประเด็นก็คือโดยปกติแล้วหัวใจของความเป็นมนุษย์คือความสามารถในการให้เหตุผลว่าอะไรผิดชอบชั่วดี การก่ออาชญากรรมจึงเป็นการสะท้อนว่าคนขาดสิ่งนั้น ซึ่งหัวใจของ Lex Talionis คือการทำสิ่งที่คนร้ายได้ทำไปกับตัวคนร้ายเองเพื่อสั่งสอนให้เขารู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นผิดและไม่ดีอย่างไร พูดให้ถึงที่สุด นี่คือการเติมเต็มให้กับผู้ที่ความเป็นมนุษย์บกพร่อง!
นี่อาจเป็นเหตุผลเบื้องลึกที่ทำให้หลายคนเห็นด้วยกับหลักคิดแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เพียงแต่ยังไม่มีใครเคยขุดเหตุผลที่ว่าออกมาอธิบายชัดๆ แบบที่ Waldron ทำ ร่องรอยของเหตุผลนี้มีให้เห็นมากมาย เช่นคนอังกฤษโบราณสอนให้ลงโทษเด็กที่โกงในการเล่นเกมด้วยการไม่อนุญาตให้เขาเข้าร่วมเกมพักหนึ่งหรือเล่นภายใต้กติกาที่เสียเปรียบคนอื่น เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าการถูกกีดกันจากการแข่งขันที่เป็นธรรมนั้นแย่อย่างไร
“โดนซะบ้าง จะได้รู้ว่าเวลาโดนรู้สึกยังไง” คือสามัญสำนึกที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว
ส่วนตัวผมยังไม่ซื้อข้อเสนอของ Waldron เพราะการตีความของเขาบังคับให้เราต้องลงโทษคนที่มีเพียง ‘ความคิด’ จะทำผิดในระดับที่รุนแรงเท่ากับคนที่กระทำผิดไปแล้ว เช่นสมมติ X กำลังคิดจะไปฆ่าคน แต่ตำรวจระงับเหตุได้ก่อน ถ้าราเชื่อว่าเหตุผลเบื้องหลัง Lex Talionis คือการสั่งสอนผิดชอบชั่วดี เจตนาของ X ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเขาไม่สามารถคิดเองได้ และต้องถูกลงโทษระดับเดียวกับฆาตกรที่ลงมือฆ่าคนไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความเห็นนี้อาจไม่เป็นธรรมเท่าไหร่ เพราะตัว Waldron เองก็ไม่ได้บอกว่าหลักนี้ควรเป็นหลักเพียงประการเดียวในการพิจารณากำหนดบทลงโทษคนร้าย เขาไม่ได้บอกว่าตัวเองสนับสนุนหลักที่ว่าด้วยซ้ำ ที่ชวนคุยก็เพราะแกเชื่อว่าหากหลักเก่าแก่ที่ตรงใจคนจำนวนมากพอมีเหตุผลอยู่บ้าง เราก็ควรลองพยายามเข้าใจมันเพื่อดูว่ามีทางปรับให้เหมาะสมกับโลกสมัยใหม่ไหม ซึ่ง Waldron ประสบความสำเร็จในแง่นี้ เพราะการตีความของเขาเปิดทางให้คนที่ชอบหลักนี้สามารถประยุกต์ใช้มันได้สร้างสรรค์กว่าเดิม เช่นหากตีความตาม Waldron เราก็เข้าใจได้ว่าทำไมเราอาจลดโทษหรือไม่จำเป็นต้องล้างแค้นเอาคืนกับคนที่ทำผิดเพราะถูกสภาพแวดล้อมบังคับ แต่ตัวคนกระทำผิดไม่ได้ขาดสำนึกผิดชอบชั่วดี
นอกจากนี้ Waldron ยังสรุปจากความเข้าใจที่เพิ่งนำเสนอไป ว่า ‘ตาต่อตา’ ไม่ได้หมายถึงเราต้องไปควักตาคนร้ายให้เท่ากับที่เขาไปควักคนอื่น บทลงโทษจึงไม่จำเป็นต้องทำซ้ำสิ่งที่เลวร้ายที่เหมือนกันเป๊ะ เพียงแต่ขอให้สามารถสั่งสอนสำนึกผิดชอบชั่วดีได้ตรงประเด็นและสาสมก็พอ นั่นก็คือเมื่อลงโทษไปแล้วคนร้ายที่เข้าใจอะไรยากก็ร้องอ๋อว่าทำไมจึงไม่ควรทำแบบนี้
เช่นเราอาจลงโทษคนฆ่าคนตายด้วยการทำให้เขาลองอยู่ในสภาวะโคม่าเพื่อให้รู้ว่าการถูกทำให้สูญเสียสิทธิในการใช้ชีวิตนั้นเป็นอย่างไร เราอาจลงโทษคนที่ข่มขืนคนอื่นด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เขาเรียนรู้บาดแผลทางจิตใจของเหยื่อ การเมาแล้วขับซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสที่จะเกิดความเสียหายให้กับคนอื่น ก็อาจลงโทษด้วยการให้คนทำผิดมาถูกลงโทษด้วยการสร้างความเสียหายผ่านการจับฉลาก สุดท้ายรูปธรรมของบทลงโทษเหล่านี้จะออกมาเป็นอย่างไรก็ขึ้นกับการถกเถียงของสาธารณะ
แต่ข้อจำกัดก็คือเราควรคิดหาทางลงโทษที่สร้างสรรค์และมีมนุษย์ธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้ผู้ลงโทษกลายเป็นคนเสพติดความรุนแรง หรือพูดง่ายๆ ก็คือถูกฝึกให้สูญเสียสำนึกผิดชอบชั่วดีผ่านการทำสิ่งเลวร้ายซ้ำๆ ซึ่งนี่จะไปทำลายเหตุผลอันเป็นหัวใจตั้งต้นของ Lex talionis เสียเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก