“เราเลือกที่จะสอนให้น้อยลง แต่ว่าสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเกิดความอยากที่จะเรียนรู้มากขึ้น”
ประโยคที่ ‘ครูมะนาว – ศุภวัจน์ พรมตัน’ ครูโรงเรียนนครวิทยาคม จ. เชียงราย พูดบนเวที TEDxBangkok 2017 และเป็นสิ่งที่ครูพันธุ์ใหม่คนนี้ ยึดเป็นหลักในการสอนเด็กๆ เสมอมา
กิจกรรมว้าวๆ ที่ครูมะนาวจัดขึ้น อย่าง ‘The Voice Reading อ่านจริง ไรจริง’ หรือ ‘The Mask Singer รักการอ่าน’ ได้เรียกความสนใจของใครหลายคน ให้หันไปจับจ้องและเรียนรู้วิธีการเรียนการสอนของโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งใน จ. เชียงราย
The MATTER เลยชวน ‘ครูมะนาว’ มานั่งคุยกันถึงกิจกรรมและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นที่นั่น รวมถึงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน ซึ่งมักเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยเสมอๆ ในยุค 4.0 พร้อมทั้งชวนให้ครูพันธุ์ใหม่มองไปในอนาคตว่าการศึกษาและบทบาทของครูไทย จะเป็นไปในทิศทางใด
The MATTER : เคยจัดกิจกรรมอะไรสนุกๆ บ้าง
ครูมะนาว : มันเริ่มจากกิจกรรมในห้องสมุด อันแรกเป็นกิจกรรม ‘ปลุกวิญญาณ (นักอ่านในตัวคุณ)’ คือเล่าเรื่องผีจากหนังสือในห้องสมุดนั่นแหละ แล้วก็มีจัดคอนเสิร์ต ‘The Soundtrack of Book เพลงรักประกอบหนังสือ’ ชวนนักเรียนมาคิดกันว่าจะเชื่อมเพลงไหนกับหนังสือเล่มไหน แล้วก็มีแนะนำหนังสือหลังเล่นเพลงจบ
ต่อมาก็เกาะกระแส อะไรดังก็เอามาทำ อย่าง ‘The Voice Reading อ่านจริง ไรจริง’ ก็เปลี่ยนจากแข่งร้องเพลงเป็นแข่งอ่านออกเสียง ช่วงแบทเทิลก็เอากลอนมาอ่านสลับกันเป็นบทสนทนา ส่วนโค้ชนี่ก็เลือกมาจากครูในโรงเรียนนั่นแหละ มีครบเลยสี่คน อีกกิจกรรมคือ ‘The Mask Singer รักการอ่าน’ ที่เพิ่งทำไป ก็จะให้นักเรียนมาประกวด เก็บตัว ใส่หน้ากาก เหมือนในรายการเลย แต่ว่าเราเปลี่ยนให้หน้ากากมาบอกคำใบ้เป็นหนังสือที่อธิบายตัวตนของเขา ถ้าอยากจะรู้ว่าคนนี้เป็นใคร คนดูก็ต้องไปหาหนังสือมาอ่าน แล้วก็มาเดากันดูว่าเป็นใคร
จริงๆ คือเราเป็นครูบรรณารักษ์ แล้วก็ต้องหาวิธีให้เด็กรักการอ่าน ให้เด็กเข้าห้องสมุด เราก็ต้องหาอะไรที่ดึงความสนใจของนักเรียน แล้วถ้าเราทำอะไรด้วยความสุข ความสนุก มันจะได้ผลดีกว่า ผมเชื่ออย่างนั้น
The MATTER : แล้วในวิชาเรียนมีบ้างไหม
ครูมะนาว : ก็มีบ้างครับ แต่มันจะมีข้อจำกัดตรงเวลากับเนื้อหาที่เราต้องให้ เคยทำอย่างวิชาวรรณคดี ก็ให้นักเรียนไปถ่ายวิดีโอกันมา ให้ไปตีความเรื่อง ‘เห็นแก่ลูก’ เป็นเวอร์ชั่น 2017 เขาก็ต้องไปอ่านก่อนถึงจะทำได้ ดีกว่าให้ไปถอดความเฉยๆ แล้วสุดท้ายก็อาจจะลอกกันมา
เหมือนกับว่าต้องกำหนดภารกิจที่มันท้าทาย ที่ทำแล้วมันมีความหมาย ให้วัยรุ่นอยากทำ ยิ่งถ้าเขาโพสต์ลงเฟซบุ๊ก แล้วมีคนมาดู มาเชียร์ มาไลก์ เขาก็จะมีกำลังใจอยากทำมากขึ้น เมื่อเขาให้ความหมายกับมัน ต่อไปเราให้ทำอะไร เขาก็จะพยายามที่จะทำออกมาให้ได้ดี
อย่างปกติที่สอบอ่านสอบพูด ก็เปลี่ยนเป็นเปิด TED Talks ให้เขาดู แล้วก็บอกให้ไปเตรียมมาพูดแบบนี้ เขาก็จะมีความกดดันตัวเองเล็กๆ เพราะพอต้องขึ้นเวทีจริงๆ ก็อยากทำให้ดี ไม่อยากเสียหน้า บางคนก็เอาบทมาให้ดูก่อนว่าจะพูดแบบนี้ ขึ้นแบบนี้ จบแบบนี้ บางคนมีซ้อมอัดคลิปมาให้ดูก่อนด้วยนะ
สุดท้ายเราก็แค่ยื่นความท้าทายและกำหนดเป้าหมายไว้ให้เขา แล้วเขาก็จะขวนขวายหาทางไปจนถึงเอง
The MATTER : ครูมะนาวสั่งการบ้านเด็กยังไง
ครูมะนาว : จริงๆ ให้งานน้อยมาก อย่างเวลาให้ทำเรียงความ คืออยากทำเรื่องอะไรก็ทำเลย แล้วก็ให้ทางเลือกเขาว่า ถ้ามีวิชาอื่นที่สั่งงานเหมือนกัน ก็เอามาส่งได้ ขอแค่อย่าก็อปมาวาง ถ้าอ้างอิงก็ต้องรู้จักให้เครดิต แล้วก็ช่วยออกแบบปกให้สวยๆ หน่อย แบบที่วางเรียงกันสามเล่มแล้วคนต้องหยิบของเราให้ได้
ทุกงานหรือทุกอย่างที่ครูให้ ถ้ามันเป็นการบ้าน มันเป็นการฝึกทักษะ มันดีหมดเลย เพียงแต่ว่า มันจะทำเพราะครูสั่งหรือทำเพราะความสุข อันนี้จะเป็นคนละเรื่องเลย เรารู้ว่ามันดีแหละ แต่บางทีเราก็ไม่อยากทำ ดังนั้นถ้าเราอยากให้มันเป็นการเรียนรู้ที่มันคงทน ก็ต้องให้นักเรียนไปเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เวลาให้งาน ก็เลยเป็นงานที่โจทย์อาจจะไม่ต้องเยอะ แต่ว่าให้งานนั้นมันมีความหมายกับตัวเขา แล้วสิ่งที่เขาจะไปเรียนรู้เพิ่มเติม เขาจะไปค้นคว้าด้วยตนเอง
The MATTER : คิดเห็นยังไงเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ดิจิทัลในห้องเรียน
ครูมะนาว : คือครูบางท่านจะห่วงว่า เวลาเรียนเด็กจะเอาแต่แอบเล่นโทรศัพท์รึเปล่า แน่นอน ถ้าเราเอาแต่สอนอย่างเดียว แต่ถ้ามีกิจกรรม มีงาน มีความน่าสนใจที่ดึงให้เด็กออกมาจากมือถือได้ มันก็ไม่ใช่ปัญหาเลย
สำหรับเรื่องใช้มือถืออัดเสียง ผมว่าสำหรับเด็กที่โตแล้วควรจะใช้ เพราะว่ามันสะดวก เวลาเราฟังเราจด มันก็ไม่ได้แปลว่าที่เราจดไปมันจะเข้าหัวเราทุกคำ แต่ถ้าเราใช้มือถือกดถ่าย แล้วนั่งฟังอย่างตั้งใจ แล้วมาอ่านที่ถ่ายไว้ย้อนหลัง ผลสุดท้ายมันเท่ากัน แต่ว่าเราได้ฟังในห้องด้วย
ผมยังรู้สึกดีเลย เวลาที่สอนอยู่แล้วนักเรียนหยิบมือถือมาถ่าย แต่อย่างของผมก็จะมีเงื่อนไขอยู่ว่า เวลาสอบผมให้เอาหนังสือเข้าได้ ถ้าเขาจะเอาสิ่งที่ถ่ายเข้าห้องสอบ เขาก็ต้องจดหรือสรุปลงหนังสืออยู่ดี เพราะเอามือถือเข้าไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นการทวนไปในตัว
แล้วเวลาให้ทำกิจกรรมในห้อง ก็ใช้หาข้อมูล ใช้หาแรงบันดาลใจ หรือใช้ในการพรีเซนท์งานก็ยังได้ ไม่งั้นเวลาสั่งงานในห้อง เขาก็จะมีทรัพยากรอยู่แค่ในหนังสือเรียน แต่ถ้ามีมือถือก็ใช้เสิร์ชได้
มันยังเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างครูกับเด็กได้ด้วย ผมก็ใช้ตามเด็กมาเรียนหรือใช้ทวงงานด้วยซ้ำ คือถ้าใช้ให้มันเป็นประโยชน์ มันก็จะเป็นประโยชน์ ผมจะบอกกับเด็กเสมอว่า ถ้าไปขอเงินแม่ซื้อมือถือ แล้วเอามาใช้เล่นเกมให้เห็นตอนเย็นทุกวันถามว่าถ้าเครื่องนี้พัง แม่จะซื้อเครื่องใหม่ให้ไหม ก็ไม่ แต่ถ้าวันนึงทีวีพัง แล้วเราใช้มันเสิร์ชยูทูปซ่อมทีวีให้แม่ได้ ให้แม่เห็นว่าเราใช้ประโยชน์จากเครื่องนี้ได้ ถ้าเสีย ต่อให้แพงกว่าเดิม แม่ก็ซื้อให้
The MATTER : ต่อไปถ้านักเรียนสามารถใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ยังจำเป็นอยู่ไหมที่จะต้องมีครู มีห้องเรียน และมีโรงเรียน
ครูมะนาว : เราเปรียบเทียบเหมือนการที่เรามีคลิปสอนออกกำลังกาย เรามีเมนูสูตรลดน้ำหนัก แต่ทำไม Six Pack เราไม่ขึ้นมาซะที มันก็เหมือนกับเรามีโค้ชฟิตเนสไว้ เรามีโค้ชที่จะคอยกำหนด คอยให้ภารกิจเราแต่ละสัปดาห์ว่า เราจะต้องไปทำนู่นนี่นั่นมา มันน่าจะเข้ามาช่วยในการสร้างวินัยให้กับนักเรียนด้วย ครูก็จะเป็นคนให้แรงบันดาลใจ ให้โจทย์ ให้สื่งที่เขาจะต้องเรียนรู้ไป ช่วยให้เป้าหมายมันชัดขึ้น ครูน่าจะเป็นโค้ชมากกว่า
ในอนาคต มันน่าจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับเทคโนโลยี บทบาทครูอาจจะเปลี่ยนไป อาจจะทำหน้าที่สอนน้อยลง แต่สิ่งที่ครูต้องทำงานเพิ่มขึ้น คืออาจจะเป็นคนใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในการผลิตองค์ความรู้ รวมถึงสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ และทำยังไงให้นักเรียนอยากจะไปรู้ด้วยตนเอง แล้ว Six Pack มันจะเกิดกับทุกคน
The MATTER : มองอนาคตการศึกษาไทยเป็นยังไง
ครูมะนาว : อยากให้พ่อแม่มีบทบาทกับการเรียนของลูกให้มากขึ้น ไม่ใช่ส่งมาให้โรงเรียนเป็นคนดูแล แล้วก็อยากให้ระบบการประเมินโรงเรียนเป็นการประเมินโดยผู้ปกครองมากกว่าเป็นส่วนกลางสั่งมา เพราะถ้าเป็นเรา มีลูก อยากให้เข้าโรงเรียน เราก็อยากได้ฟีดแบคจากคนที่มีประสบการณ์ตรงมาก่อน
ในอนาคตอาจจะมีสองกลุ่มเลย กลุ่มนึงจะยังเชื่อมั่นในระบบอยู่ และจะยังเข้าเรียนตามระบบ แล้วก็ศึกษาหาความรู้เพื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่เขามีทางเลือกเองตั้งแต่แรกว่าจะทำอะไร โดยที่จะประกอบอาชีพในอนาคตแบบไม่ต้องพึ่งใบปริญญา อาจจะเรียนถึงแค่ป. 6 หรือ ม.6 แล้วก็เลือกทางเดินของเขา