เล่าเรื่องชีวิตตัวเองลงโซเชียลมากไปไหมนะ นั่งทบทวนตัวเองอีกที ก็พบว่าคุณพี่ร้านทำเล็บที่ไปทำทุกเดือนก็รู้เรื่องราวในชีวิตเราอย่างกับเป็นญาติกัน บางครั้งเราก็เผลอเล่าเรื่องของตัวเองให้คนอื่นฟังมากเกินไปจนต้องกลับมาสงสัยว่า เราเล่าอะไรออกไปมากมายขนาดนั้นเนี่ย จะดีเหรอ แต่ก็ไม่ทันแล้ว
ไม่แปลกที่เราจะชอบเล่าเรื่องของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่ชีวิตมีคอนเทนต์สุดเหวี่ยงตลอดเวลาก็จะมีเรื่องให้เล่าเยอะเป็นพิเศษ แต่บางครั้งการเล่าเรื่องส่วนตัวที่ลงรายละเอียดลึกมากเกินไปก็อาจหวนมาทำร้ายเราได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบการถูกตัดสิน ถูกแสดงความคิดเห็นด้วยคำพูดที่ทำร้าย ถูกเอาไปพูดต่อ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังหยุดเล่าไม่ได้เลย ที่เป็นแบบนี้เพราะมีอะไรในใจของเรากันนะ
ยิ่งเป็นคนแปลกหน้า เรายิ่งสบายใจที่จะเล่า
บางครั้งคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ คนที่นั่งข้างกันระหว่างรอคิวอะไรบางอย่าง ก็กลายเป็นผู้รับฟังเรื่องของเรา เรามักจะเล่าเรื่องให้คนแปลกหน้าฟัง ถ้าจะให้พูดกันจริงๆ เรื่องดีปๆ ดาร์กๆ นี่แหละที่เรามักจะเอาไปเล่าให้พวกเขาฟัง เพราะเรารู้ว่าพวกเขาจะไม่ตัดสินเราหรอก ไม่ได้รู้จักกันสักหน่อย แต่ถึงจะตัดสินก็แล้วยังไงล่ะ เราคงไม่ได้เจอกันอีกแล้วแหละ เราเลยสบายใจที่จะเล่าให้พวกเขาฟังมากกว่าเล่าให้เพื่อนสนิทที่ใกล้ชิดฟัง (เพราะกลัวการโดนตัดสินหรือถูกเอาไปเล่าต่อ) บางคนก็เลยเลือกการเล่าเรื่องหนักใจให้คนแปลกหน้าฟัง เป็นวิธีการรับมือกับความรู้สึกด้านลบของตัวเอง
บางคนก็รู้สึกสบายใจที่จะคุยกับช่างทำผม หมอนวด หรือช่างทำเล็บ จะทำสีผมนานแค่ไหนก็ไม่หวั่น เม้ามอยกันไป นี่ก็มีเหตุผลเบื้องหลังอยู่เช่นกัน เพราะงานที่พวกเขาทำนั้นต้องมีการแตะเนื้อต้องตัวเรา การที่ช่างทำผมจับผมของเราอย่างแผ่วเบา หรือการที่ช่างทำเล็บที่จับมือเราอยู่ตลอดเวลา เราไม่รู้หรอกว่าพวกเขาชื่ออะไร แต่สัมผัสเหล่านั้นก็ได้สร้างความรู้สึกใกล้ชิดให้กับเรา เราเลยรู้สึกเชื่อมโยงกับพวกเขา และสบายใจที่จะเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง เหมือนกับเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่ง
นอกจากคนแปลกหน้าแล้ว เวลาที่เรารู้จักใครใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานของที่ทำงานใหม่ เพื่อนของเพื่อนที่บังเอิญต้องนั่งอยู่ด้วยกันสองคน จะปล่อยให้มันเป็นเดดแอร์และเงียบกันอยู่อย่างนั้นก็คงไม่ดี เราจะเริ่มประเมินว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไรกับเรา เขาชอบเราหรือเปล่านะ เขาสนใจที่จะรู้จักกับเราไหม จนบางครั้งก็เกิดเป็นความกังวลในใจขึ้นโดนไม่รู้ตัว หลายคนก็เลยเลือกที่จะเล่าเรื่องส่วนตั๊วส่วนตัวให้ฟังเสียเลย อีกฝ่ายจะได้รู้สึกถึงการเปิดใจ ความจริงใจที่ไม่มีอะไรปิดบัง และเราเองก็หวังว่าการเล่าเรื่องส่วนตัวนี้จะทำให้เขาเล่าคืนมาบ้าง เพื่อที่ความสัมพันธ์จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
ทำไมการเล่าเรื่องตัวเองถึงทำให้เราสบายใจ
การเล่าเรื่องส่วนตัวให้คนอื่นฟังมากเกินไปอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เรามาสำรวจใจตัวเองกันหน่อยดีกว่าว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
‘ความไม่มั่นใจในตัวเอง’ มักจะเป็นเหตุผลหลักของการที่เราชอบเล่าเรื่องตัวเองทั้งแบบเล่าให้ใครสักคนฟัง หรือเล่าลงโซเชียลมีเดีย ในวันเวลาที่เรารู้สึกแย่กับตัวเองและต้องการการยืนยันจากใครสักคนว่า เรายังมีตัวตนอยู่ เราเป็นคนสนุก เราเป็นคนตลก เราเป็นคนแบบที่เราอยากเป็น เราก็จะแสวงหาการยืนยันจากการเล่าเรื่องส่วนตัวนี่แหละ
Ali Flenwick นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรม ที่มักจะมาตอบคำถามเรื่องพฤติกรรมมนุษย์อยู่เสมอ ซึ่งเขาได้ให้เหตุผลของการชอบเล่าเรื่องตัวเองมากเกินไปเอาไว้ว่า ‘การเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยว’ ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลเช่นกัน ในวัยเด็กเราต้องการความสนใจจากผู้ใหญ่ เราอยากจะเล่าในสิ่งที่เราเพิ่งเรียนรู้ อยากจะพูดในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก แต่ถ้าในวัยเด็กไม่เคยมีใครรับฟังเราเลย ก็อาจส่งผลให้เราเติบโตมาเป็นคนที่ต้องการมีใครสักคนมารับฟัง เพื่อเติมเต็มหลุมลึกในใจที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าเราเรียนรู้จากแผลใจที่เคยได้รับ รู้ว่าเราต้องการอะไร และจะรับมือกับมันอย่างไร
หรืออาจจะเป็น ‘ความเหงา’ ในวัยผู้ใหญ่ที่เราไม่ได้มีเพื่อนสนิทที่นั่งกินข้าวเย็นด้วยกันตลอด หรืออยู่หอเดียวกัน มีอะไรก็บอกกันหมด ความเหงาก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่คนแปลกหน้าและโซเชียลมีเดียหยิบยื่นโอกาสในการเล่าเรื่องราวของตัวเองให้เรา เราก็จะรู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวนะ เหงาเมื่อไหร่ก็หยิบมือถือขึ้นมาทวิตเล่าเรื่องอะไรไปเรื่อยเปื่อยก็ได้
ไม่ยาก ถ้าอยากลองเป็นคนลึกลับดูบ้าง
วิธีที่หยิบไปใช้ได้เลยในทันที คือการ ‘ให้เวลาตัวเองได้คิดก่อนที่จะเล่า’ เมื่อมีคนถามถึงเรื่องส่วนตัว เราไม่จำเป็นต้องตอบเร็วขนาดนั้น ใช้เวลาไตร่ตรองคำถามนั้นดูก่อนว่าเราอยากตอบไหม ถ้าไม่อยากตอบก็ไม่จำเป็นต้องตอบ หรือเลี่ยงตอบเป็นอย่างอื่นแทน แต่ถ้าอยากตอบ ลองคิดดูอีกทีว่าสิ่งที่เราจะตอบนั้นตรงกับคำถามของเขามั้ย เรื่องมันยาวมากจนเขาจะเบื่อหรือเปล่า แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับคนที่ถามเราในอนาคตมั้ย ใช้เวลากับคำถามนั้นให้เต็มที่ก่อนที่จะตอบ
หรือเป็นการถามคำถามสั้นๆ ที่เราสามารถหยิบขึ้นมาถามตัวเองก่อนเล่าอะไรบางอย่างให้ใครฟัง ลองถามตัวเองว่า ‘เขาจำเป็นต้องรู้เรื่องนี้หรือเปล่า’ เช่น ป้าร้านขายกับข้าวจำเป็นต้องรู้ไหมว่าเราเพิ่งกลับมาจากดูคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ หรือ เพื่อนในอินเทอร์เน็ตต้องรู้ไหมว่าตอนนี้เรากำลังทะเลาะกับแม่ของแฟนเรื่องงานแต่งงานอยู่
เมื่อมีเวลาอยู่กับตัวเอง ให้ลองกลับมาทบทวนดูอีกรอบว่า เรามักจะเล่าเรื่องส่วนตัวให้ใครฟัง เพื่อน เพื่อนที่ทำงาน ช่างทำผม หรือโซเชียลมีเดีย เมื่อรู้แล้วว่าเป็นใคร ก็ลองตั้งเป้าให้มีสักวันหนึ่ง หรือสัปดาห์หนึ่ง ที่เงียบและไม่เล่าอะไรเลยให้พวกเขาฟัง แต่เราเข้าใจว่า ไม่มีใครสามารถเทิร์นตัวเองเป็นคนเย็นชาหมาป่าเดียวดายได้ในทันทีหรอก การไปทำงานหรือเจอเพื่อนมันก็ต้องมีพูดคุยกันบ้าง ก็ทำตามเท่าที่เหมาะสมนะ แล้วค่อยกลับมาถามความรู้สึกของตัวเองอีกทีว่าสบายใจขึ้นหรือเปล่า หรืออัดอั้นอยากเล่ากว่าเดิม
เล่าเท่าที่อยากเล่า ตอบเท่าที่อยากตอบ ถ้ารู้สึกว่ายังสนุกกับการเล่า ก็เล่าเลย แต่ถ้ารู้สึกว่าเล่าแล้วไม่สบายใจทีหลัง ก็ลองหยุดทบทวนดูก่อนได้
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Proofreader: Runchana Siripraphasuk