เดือนพฤษภาคม ในปี พ.ศ.2535 มีการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการทำรัฐประหาร และมีการใช้กำลังเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้รับการเรียกขานว่า “พฤษภาทมิฬ” เป็นการเคลื่อนไหวที่แตกต่างจากกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนมากเป็น นิสิต นักศึกษา
สำหรับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แม้จะมีนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมด้วย แต่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเมืองที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งเป็นไปได้ว่าคือกลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวเมื่อ ตุลาคม พ.ศ.2516 และ พ.ศ.2519 ที่เติบโตขึ้น ประกอบด้วย นักธุรกิจ บุคคลวัยทำงาน และติดต่อกันด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ที่เพิ่งมีใช้ในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้เหตุการณ์พฤษภาทมิฬจึงได้รับการเรียกขานอีกชื่อหนึ่ง ว่า “ม็อบมือถือ”
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2560 มีประเด็นดราม่าที่เป็นที่สนใจของสังคมไทยเกี่ยวกับการตอบคำถามในรอบห้าคนสุดท้ายของการประกวดนางงามจักรวาล ตัวแทนจากประเทศไทยในปีนั้น คือ คุณ มารีญา พูลเลิศลาภ ต้องตอบคำถามของกรรมการที่ถามว่า คุณคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดที่เกิดในยุคของคุณคืออะไร? และเพราะอะไร? สำหรับผมแล้ว หลังการตอบคำถามครั้งนั้นของคุณมารีญา น่าจะเป็นครั้งแรกที่คนเดินดินกินข้าวแกงมีชีวิตปกติธรรมดาในสังคมไทย เริ่มตั้งคำถามว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมคืออะไรกันแน่ น่าเสียดายที่ไม่กี่วันหลังจากนั้น การตื่นตัวต่อคำว่าการเคลื่อนไหวทางสังคม ก็ค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับกระแสการประกวดนางงามจักรวาล
การสื่อสารการกับเคลื่อนไหวทางสังคม
การเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) เป็นปฏิบัติการร่วมกันของผู้ที่มีเป้าประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมร่วมกัน อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังที่ยกตัวอย่างไป หรือประเด็นทางสังคมอื่น เช่น ความเท่าเทียม เพศสภาพ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ฯลฯ งานศึกษาการเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนมากให้ข้อสรุปใกล้เคียงกัน ว่าลำดับขั้นของการเคลื่อนไหวทางสังคมมีสี่ขั้น คือ การเกิดประเด็น (emergence) การเชื่อมต่อรวมตัว (coalescence) การจัดกระบวนองค์กรบริหารเคลื่อนไหว (bureaucratization) และ การถดถอย (decline) แม้คำว่าถดถอยจะดูมีนัยของลดระดับ แต่ในการศึกษาให้เหตุผลว่า การถดถอยอาจเกิดขึ้นเมื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการแล้ว (success) การจัดองค์กรบริหารไม่ประสบความสำเร็จ (organizational failure) ถูกฝ่ายตรงข้ามดึงไปเป็นพวกเดียวกัน (co-optation) และข้อเรียกร้องได้รับการยอมรับโดยคนส่วนมากของสังคม (establishment with mainstream)
การสื่อสาร ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคม หากปราศจากการสื่อสารเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการเชื่อมต่อรวมตัว แสดงพลังเพื่อการต่อรองแบบรวมหมู่ (collective action) หลังจากที่เกิดประเด็นแล้ว ในอดีตการเชื่อมต่อรวมตัว หรือการปลุกระดมเชิญชวนให้คนออกมาเคลื่อนไหวประเด็นสาธารณะต่างก็พึ่งพาการสื่อสารทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตีฆ้องร้องป่าว การแจกใบปลิว การสื่อสารผ่านสื่อ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์
ยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงผู้รับสารเป็นจำนวนมากขึ้นโดยใช้เวลาที่น้อยลง ก็น่าจะทำให้การเคลื่อนไหวทางสังคมเกิดขึ้นได้รวดเร็วและมีพลังมากขึ้น และหากตรรกะนี้เป็นจริง ในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลัง การเคลื่อนไหวทางสังคมก็ควรจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีอำนาจในการต่อรอง แต่ว่าในความเป็นจริงกลับอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป และกลายเป็นว่ามีบ่อยครั้งที่โซเชียลมีเดียลดทอนพลังการเคลื่อนไหวทางสังคมลง ด้วยหลายเหตุผลและปัจจัย
โซเชียลมีเดียกับความเป็นพื้นที่—เหตุของความล้มเหลว?
การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของโซเชียลมีเดียและการเคลื่อนไหวทางสังคม อาจจะต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจความแตกต่าง ระหว่างโซเชียลเน็ตเวิร์กและโซเชียลมีเดียอีกครั้ง ทั้งสองสิ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาก และบ่อยครั้งถูกนำมาใช้สลับความหมายกัน
สำหรับผมแล้ว ‘โซเชียลเน็ตเวิร์ก’ คือ เครือข่ายทางสังคม หมายถึงเครือข่ายของความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคลหรือตัวแสดง (actors) ที่มีในชีวิตจริงทั้งหมด ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ อันที่จริง โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นคำจำกัดความทางสังคมวิทยา ซึ่งที่มีที่มายาวนานก่อนหน้าการมาถึงของโซเชียลมีเดีย โซเชียลเน็ตเวิร์กมีลักษณะเป็นนามธรรม
สิ่งที่เราต้องระลึกไว้เสมอคือเป็นเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่จริง
และไม่จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์เท่านั้น
ขณะที่ ‘โซเชียลมีเดีย’ หมายถึงตัวกลาง หรือ ‘มีเดีย’ ทางสังคม มีลักษณะเป็นพื้นที่ (sphere) ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นพื้นที่ทางกายภาพ อาจจะมีลักษณะเป็นพื้นที่เสมือน (virtual) ก็ได้ โซเชียลมีเดียในที่นี้จึงมีลักษณะเป็นพื้นที่ที่มีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ด้วยเหตุนี้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นพื้นที่ให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, Line, WhatsApp, WeChat, ฯลฯ จึงถูกเรียกรวมกันว่า โซเชียลมีเดีย เพราะเป็นพื้นที่(เสมือน)ในการสร้างโซเชียลเน็ตเวิร์กของตัวแสดง โซเชียลมีเดียถูกพัฒนาขึ้นในยุคเทคโนโลยี Web 2.0 ซึ่งเปิดโอกาสให้ ผู้รับสารเป็นผู้ผลิตสารเองได้ (user generate content) เป็นการสื่อสารแบบ many-to-many ต่างจากเทคโนโลยี Web 1.0 ที่การสื่อสารเป็นแบบ one-to-many
แม้จะมีตัวอย่างมากมายที่พิสูจน์ได้ถึงการใช้โซเชียลมีเดียในฐานะเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังในการเชื่อมต่อให้เกิดการรวมตัวและนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมมากมาย ตั้งแต่ อาหรับสปริง, Occupy wall street, การปฏิวัติร่มในฮ่องกงซึ่งต่อมาขบวนการได้พัฒนาเป็นการประท้วงใหญ่ที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับบริบทในไทยเอง ก็มีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หัวข้อ ‘Weaving the Web: Internet, Mobilization, and Contentious Political Movements’ มหาวิทยาลัย Texas Tech ประเทศสหรัฐอเมริกา ของ ดร.สุรัชนี ศรีใย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำการศึกษาการใช้โซเชียลมีเดียในการเชื่อมต่อรวมตัวของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. พิสูจน์ให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการรวบรวมผู้ชุมนุมในปี พ.ศ.2557
น่าแปลกใจที่แม้ในช่วงหลังโซเชียลมีเดียมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว มีฟีเจอร์ใหม่ๆ มีความแพร่หลายและมีจำนวนผู้ใช้มากขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถถ่ายทอดสดได้ (Facebook เริ่มมีฟีเจอร์ไลฟ์ในปี พ.ศ.2558) แต่มีงานศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า การใช้โซเชียลมีเดียในปัจจุบันเองก็อาจลดทอนพลังของการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่มีพลังได้เหมือนตอนมีการใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารช่วงแรกๆ เพราะความสามารถในการเชื่อมต่อรวมตัวที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมลดลง
เป็นไปได้ไหมว่า ในช่วงแรกที่การใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมประสบความสำเร็จนั้น เป็นเพราะความสามารถในการสื่อสารแบบ many-to-many ที่ทำให้การสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว และในช่วงแรกโซเชียลมีเดียยังไม่ได้มีความเป็น ‘พื้นที่’ มากเท่าในปัจจุบัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าการพัฒนาของตัวโซเชียลมีเดียเอง ทำให้ตัวเองมีความเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงออกได้มากยิ่งขึ้น ทั้งฟีเจอร์ต่างๆ ยังออกแบบให้สามารถแสดงอารมณ์ร่วมได้หลากหลาย ความสามารถในลักษณะนี้ของตัวโซเชียลมีเดียเอง ที่ได้พัฒนาตัวเองจากการเป็นตัวกลางในการสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อรวมตัวบนพื้นที่เชิงกายภาพที่มีอยู่จริง ไปเป็นพื้นที่สำหรับการรวมตัวกันในการแสดงออกบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งแม้จะเป็นเพียงพื้นที่เสมือนแต่ก็สนองตอบความต้องการได้ระดับหนึ่ง
การได้แสดงความคิดเห็น ระบายความไม่พอใจ
มีส่วนลดทอนความคับข้องใจ จนไปไม่ถึงจุดสุกงอมที่จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคม
Online petitions ได้ผลรึเปล่า?
รูปแบบการแสดงออกที่พบเห็นได้บ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (new normal) ในปัจจุบัน คือการลงชื่อรณรงค์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แพลตฟอร์มที่เปิดให้มีการรวบรวมรายชื่อออนไลน์เพื่อเรียกร้องในประเด็นสาธารณะ อาจถือได้ว่าเป็นโซเชียลมีเดียรูปแบบหนึ่ง เพราะตัวแพลตฟอร์มเองมีเป็นพื้นที่ที่ทำให้มีการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมได้ ในบางประเทศอย่างในประเทศอังกฤษ รัฐบาลสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนสามารถรณรงค์เรื่องที่ต้องการให้มีการอภิปรายในสภาได้ โดยเว็บไซต์ของรัฐบาลอังกฤษปรากฏข้อความว่า หากมีการเข้าร่วมลงชื่อบนแพลตฟอร์มเกิน 100,000 รายชื่อ ประเด็นดังกล่าวจะได้รับการหยิบยกเข้ามาอภิปรายในรัฐสภา ผู้สื่อข่าวทำการตรวจสอบข้อมูลพบว่า 4 ใน 10 ประเด็นที่มีผู้ลงนามเกิน 100,000 รายชื่อ ไม่ได้รับการหยิบยกมาอภิปราย และแม้เรื่องที่ได้รับการหยิบยกมาอภิปราย ก็ไม่มีแม้แต่เรื่องเดียวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในบทความชิ้นเดียวกันยังมีการกล่าวถึงสร้างแคมเปญรณรงค์ เชิญชวนลงชื่อผ่านแพลตฟอร์ม change.org ให้มีการต่อต้านการเยือนประเทศอังกฤษของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อในแคมเปญดังกล่าวมากกว่า 1,200,000 ราย แต่ท้ายที่สุดก็ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ
แพลตฟอร์ม change.org น่าจะเป็นแพลตฟอร์มรณรงค์ที่คนไทยรู้จักดีมากที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่ง change.org เปิดพื้นที่ให้ใครก็ได้สามารถสร้างข้อเรียกร้องสาธารณะ ที่ผ่านมาแม้จะมีกรณีที่ประสบความสำเร็จบ้างตามที่ได้มีการโฆษณา แต่ไม่มีสถิติบ่งบอกว่าที่ผ่านมาการรณรงค์ผ่านแพลตฟอร์ม change.org มีกรณีที่ประสบผลสำเร็จต่อแคมเปญรณรงค์ทั้งหมดเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ ทั้งยังมีรายงานข่าวเชิงสืบสวนของนิตยสาร L’Espresso ในประเทศอิตาลี ว่า change.org ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร มีโมเดลทางธุรกิจสร้างรายได้ด้วยการนำรายชื่ออีเมล์ของผู้ที่ลงทะเบียนกับแพลตฟอร์มไปขายต่อในราคา 0.85 – 1.50 ยูโร นอกจากนี้ยังขายโฆษณา โดยหากผู้ใช้บริการกดลงชื่อในแคมเปญก็จะมีป๊อปอัพแสดงป้ายโฆษณาของลูกค้าเด้งขึ้นมาด้วย และถ้าคลิ๊กเลือกติดตามความคืบหน้าของแคมเปญ ลูกค้าของ change.org จะสามารถส่งอีเมล์โดยตรงถึงผู้ใช้ได้ทันที นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวจากประเทศออสเตรเลียถึงการตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือในการเข้าร่วมแคมเปญรณรงค์หลังจากพบว่า มีรายชื่อปลอมที่สร้างโดยบอตอีกด้วย
ปัญหาความน่าเชื่อถือของ online petition อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ไม่มาก ยากทีจะยกระดับให้เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมได้ และอาจมีประโยชน์อยู่บ้างในแง่ที่ทำให้เกิดความตระหนักรู้ในระดับปัจเจกต่อปัญหาทางสังคมบางประการเท่านั้น
Slacktivism—สำเร็จความฟินบนโลกออนไลน์
‘slacktivism’ เกิดจากการสนธิของสองคำคือ slacker + activism อาจพอจะแปลเป็นภาษาไทยได้ทำนองว่า ‘พวกนักกิจกรรมจอมอู้’ ในที่นี้หมายถึงผู้ที่มีความสุขจากการมี ส่วนร่วม/แสดงตัวว่ามีส่วนร่วม ในกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์ เช่น การคลิกไลก์ การคอมเมนต์ การแชร์คอนเทนต์ การมีส่วนร่วมวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่อยู่ในความสนใจ รวมถึง การร่วมลงชื่อในแคมเปญรณรงค์ออนไลน์ และแชร์การมีส่วนร่วมของตนเองให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย เพื่อให้รู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมเคลื่อนไหวด้วยแล้ว
slacktivism จะมีความรู้สึกดีต่อตัวเอง รู้สึกมีคุณค่าที่ได้มีส่วนร่วม/แสดงตนว่ามีส่วนร่วม
บางครั้งเราอาจจะต้องถามตัวเองว่าการที่เรา ‘อิน’ กับอะไรสักอย่าง และทำการเคลื่อนไหวอยู่บนโลกออนไลน์ด้วยการไลก์ และแชร์คอนเทนต์ที่เราสนใจ ตั้งแต่การแบนการหลอดพลาสติก สภาวะโลกร้อน การทารุณกรรมสัตว์ ความเหลื่อนล้ำ ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงการเมืองระดับชาติหรือระดับโลก สิ่งที่เราทำนั้นคือความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงจากสภาวะที่เป็นอยู่ไปสู่สิ่งที่เราเชื่อได้แค่ไหน?
และผมขออนุญาตไม่นับการรวมตัวกันเพื่อกดดันหนุ่มแว่นหัวร้อนหน้าสถานีตำรวจ จากการแชร์ข่าวกรณีความขัดแย้งจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ในสัปดาห์ที่แล้ว ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมนะครับ แม้จะเป็นตัวอย่างว่าโซเชียลมีเดียยังทรงพลังในการเชื่อมต่อรวมตัวในเกิด collective action ได้ก็ตามที
อ้างอิงข้อมูลจาก
J, Christiansen. (2009) Four Stages of Social Movements. EBSCO Research Starters, EBSCO Publishing. เข้าถึงได้ที่ www.ebscohost.com