ตอนเด็กพอจะโดนฉีดยา ใครๆ ก็จะบอกว่า ฉีดยาไม่เห็นเจ็บ เจ็บเหมือนแค่มดกัดนิดเดียว ญาญา ญิ๋ง ก็บอกว่า อกหักเนี่ยเจ็บนิดๆ แสบแปล๊บๆ ไม่ถึงตายหรอก
แต่พอฉีดยาเข้าจริงๆ อยากจะเห็นหน้ามดที่ถูกอ้างอิงเหลือเกินว่าไอ้มดที่ว่ามันหน้าแบบไหน มดที่พูดถึงอาจจะไม่ใช่ระดับมดแดงมดดำ แต่อาจจะเป็นระดับมดกระสุน (bullet ant) มดในป่าฝนทางตะวันตกของอเมริกา มดที่ถือกันว่าการกัดของมันทำให้เกิดความเจ็บปวดที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จักมา
‘ความเจ็บปวด’ ไม่ว่าจะทางกายภาพหรือทางความรู้สึกถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเผชิญและเรียนรู้ เราเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยความกร้านโลกจากการผ่านความเจ็บปวดมาประมาณหนึ่ง ชนเผ่า Satere-Mawe ในบราซิลจึงใช้เจ้ามดที่ต่อยเจ็บที่สุดในโลกเป็นบททดสอบสำหรับการเป็นชายชาตรีโดยสมบูรณ์ ด้วยการให้ใส่ถุงมือที่มีฝูงมดกระสุนหนึ่งฝูง ผลของการใส่ถุงมือไม่กี่วินาที แต่พิษของมดจะอยู่นานไปกว่า 8 ชั่วโมง …นี่ไงล่ะ รสชาติของชีวิต
อะ โอเค คำว่าเจ็บเหมือนมดกัดนิดเดียว อาจจะไม่ได้หมายความตามตัวอักษร แต่หมายถึงว่าความเจ็บปวดที่เธอเผชิญเนี่ย มันเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้เจ็บจำอันตรายอะไรถึงขนาดนั้น เจ็บแล้วไม่นานก็หาย ทีนี้ ความเจ็บปวดที่ดูจะเป็นเรื่องของ ‘กายภาพ’ ก็มีส่วนสัมพัทธ์กับ ‘ความรู้สึก’ อยู่มากด้วย เช่น การถูกฉีดยาของคนหนึ่ง อาจจะรู้สึกทนทานได้น้อยกว่าอีกคน ความเจ็บที่ถึงจะเท่าๆ กัน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็สัมพัทธ์ไปตามความคิดและจินตนาการของแต่ละคน – เช่นบอกว่ามดกัด มดของแต่ละคนก็อาจจะไม่เท่ากัน เราคิดว่าแค่นี้คือเจ็บมากแล้ว แต่บางคนขนาดเลือดไหลพราก ก็ยังคิดว่าสบายดีอยู่
เจ็บบ้างก็ดี – หรือไม่ดี ก็แล้วแต่วัฒนธรรม
พอเรามีโลกของการแพทย์ ความเจ็บปวดถือเป็นสัญญาณและอาการสำคัญที่ทางการแพทย์จะต้องใช้เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย แต่สิ่งที่เจอคือ ไอ้เจ้าความเจ็บปวดมันดันเป็นภาวะที่แสนจะสลับซับซ้อน เป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวระหว่างวิทยาศาสตร์และปรัชญา เกี่ยวกับภาวะทางจิตวิทยา การรับรู้และสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับชีววิทยา เกี่ยวข้องทั้งในทางกายภาพและทางวัฒนธรรม จริงอยู่ว่าความเจ็บปวดเป็นภาวะสากล แต่ความรู้สึกและการรับรู้ต่อความเจ็บปวดนั้นเป็นสิ่งที่สัมพัทธ์ทั้งในระดับบุคคลและในระดับวัฒนธรรม
การเจ็บปวดคือการตีความ โอเคในทางชีววิทยา เซลประสาท กล้ามเนื้ออาจจะเกิดปัญหาบางอย่าง แต่พอความเจ็บปวดเกิดขึ้นแล้ว เราจะตีความและรับรู้ความเจ็บปวดในร่างกายของเรานั้นอย่างไร บางวัฒนธรรมเชื่อว่ามนุษย์ต้องอดทนต่อความเจ็บปวด ความเจ็บปวดถือเป็นมรดกของธรรมชาติและเป็นหน้าที่ที่เราต้องอดทนกับความเจ็บปวดนั้นๆ – คล้ายๆ ชนเผ่าที่เอามดยักษ์ไปต่อยมือเล่น
มีงานศึกษาที่อ่านท่าทีต่อความเจ็บปวดของคนยุโรปชาติต่างๆ บอกว่า ชาวสแกนดิเนเวียนเป็นชาติถึกๆ มีความทนทานต่อความเจ็บปวดมากกว่า ชาวอังกฤษอาจจะรับรู้ความเจ็บปวดได้มากกว่าแต่ด้วยวัฒนธรรมที่ต้องเก็บงำความรู้สึกเลยจะไม่ค่อยบ่นอะไรกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น พวกคนอิตาเลียนและแถบเมดิเตอร์เรเนียนเป็นพวกเล่นใหญ่และออกท่าทางเยอะเลยค่อนข้างอ่อนไหวกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ยิวเองก็เช่นกันที่มักจะมีท่าทีเกินจริงจากความเจ็บปวด
ผลของท่าทีต่อความเจ็บปวดมักเกิดจากมิติทางสังคมมากกว่าทางกายภาพ คนจะรู้สึกหรือทนทานต่อความเจ็บปวดได้มากน้อยแค่ไหนมักสัมพันธ์กับภูมิหลังและอดีตของคนๆ นั้นนับตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับท่าทีของคนรอบข้างและเพื่อนฝูง
เกี่ยวกับทัศนคติและความวิตกกังวลที่มีต่อประสบการณ์ความเจ็บปวดต่างๆ ความเจ็บปวดเป็นสัญญาณของความผิดปกติทางกายภาพ ความรู้สึกว่ามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติว่าเออ แค่นี้เหมือนมดกัด และความกังวลว่า มดกัดเจ็บแค่นี้เดี๋ยวก็หาย
ความเจ็บที่ยังคงหายใจอยู่ เมื่อวิทยาศาสตร์พยายามแยกแยะความเจ็บปวด
การศึกษาแยกแยะความเจ็บปวดเกิดขึ้นในหลายแขนง บางแขนงก็ลงไปแยกแยะสิ่งที่เกิดขึ้นทางกายภาพและความรู้สึกรับรู้ของเราที่เกิดจากสิ่งเร้านั้นๆ บางสาขาเห็นว่าความเจ็บปวดสัมพันธ์กับ ‘ภาษา’ และระดับตัวเลขเพื่อใช้ในการอธิบายแยกแยะรายละเอียดของความเจ็บปวด
ดัชนีความเจ็บปวดของแม็กกิล (McGill pain index) เป็นระบบวัดความเข้มข้นของความเจ็บปวดที่ให้ผู้ป่วยเลือก ‘ชุดคำ’ เพื่อประเมินว่าอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยมีความรุนแรงแค่ไหน ดัชนีความเจ็บปวดดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นที่ McGill University ในปี 1971 วิธีการคือให้คนไข้เลือกเลือกคำตามจำนวนที่ระบบจากกลุ่มคำเพื่ออธิบายว่าอาการเจ็บนั้น เจ็บแบบไหน มากน้อยหนักหนาแค่ไหน หลังจากนั้นจะแยกแยะและใช้คะแนนระบุว่า อาการเจ็บป่วยน่าจะเกิดจากความผิดปกติในส่วนไหนและอยู่ในระดับใด โดยหลังจากปี 1970 เป็นต้นมา ก็มีการพัฒนาระบบและมาตรวัดความเจ็บปวดขึ้นตามมาเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เช่นบางทีที่เราเห็นในหนังว่า ให้ระบุว่าระดับ 1-10 เจ็บแค่ไหน ทนได้มั้ย ปวดตื้อๆ ยิบๆ เหมือนมีดบาด ก็ว่าไป
ไม่แน่ใจว่าเจ็บบ่อยๆ จะค่อยๆ ชินจริงไหม แล้วความเจ็บปวดจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเติบโตเข้มแข็งขึ้นได้จริงรึเปล่า แต่ความเจ็บปวดดูจะเป็นสิ่งสามัญที่เราได้เผชิญกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ในความรู้สึกของเรา แต่ว่าเอาเข้าจริง ในความเจ็บปวดก็มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่เราพยายามจัดการทำความเข้าใจกับความเจ็บปวดกันมาอย่างซับซ้อนและยาวนาน
สุดท้าย ได้ว่าหวังจะมีนักวิทยาศาสตร์ ที่มาแยกแยะและสร้างระบบมาตรวัดแผลใจของเรา เผื่อว่าสุดท้ายพอเราเข้าใจหัวใจที่เจ็บ จะสามารถรักษาได้ตรงจุดตรงใจมากขึ้นได้บ้าง