เพราะไม่ได้ตระเตรียมล่วงหน้าว่าจะร้องไห้ การที่อยู่ๆ น้ำตาก็ไหลระหว่างจดจ้องอยู่กับตัวอักษรของ Sylvia Plath จึงทำเอาผมต้องถอยร่นตัวเองจาก The Bell Jar เพื่อปรับลมหายใจ และการสั่นสะเทือนของร่างกายให้คงที่ นานแค่ไหนแล้วที่ผมไม่ได้ร้องไห้ระดับนี้เพราะหนังสือสักเล่ม นานแค่ไหนกันที่ผมไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองแทนตัวละครหนึ่งๆ ต่อช่วงเวลาในอดีตที่เธอมีชีวิตอยู่
The Bell Jar คือนวนิยายเพียงเล่มเดียวของ Sylvia Plath นักเขียนและกวีชาวอเมริกัน โดยครั้งแรกที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ Plath ได้ใช้นามปากกา Victoria Lucas แทนที่จะเป็นชื่อจริงของเธอครับ ซึ่งในทางหนึ่ง เราอาจเรียก The Bell Jar ว่าเป็นนวนิยายที่เขียนขึ้นจากชีวิตของ Plath เองก็ย่อมได้ เพราะบางเหตุการณ์ในเรื่อง และสภาพจิตใจของตัวละครก็มาจากประสบการณ์ส่วนตัว และการเปิดเปลือยบาดแผลภายในตัวนักเขียนเอง
หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของ Esther Greenwood เด็กสาวผู้ฉลาดเฉลียวจากเมืองเล็กๆ ในรัฐบอสตัน ที่ในฤดูร้อนหนึ่ง เธอได้มีโอกาสฝึกงานช่วงสั้นๆ กับนิตยสารหัวยักษ์ในมหานครนิวยอร์ก ชีวิตที่คล้ายจะพลิกตาลปัตร จากความเฉื่อยเหนื่อยในชนบท สู่ความวุ่นวายอุตลุตในเมืองใหญ่ ทว่าตัว Esther กลับไม่รู้สึกตื่นเต้นแต่อย่างใด เธอหวาดกลัวและตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่พบเจอระหว่างการฝึกงาน Esther รู้สึกว่าตัวเองช่างแปลกแยกกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเมืองใหญ่เสียเหลือเกิน และในขณะที่ความสับสนว้าเหว่ได้ค่อยๆ กัดกินจิตใจเธอ Esther ก็เริ่มไม่วางใจต่อสภาพจิตใจที่เริ่มไม่คงที่ของตัวเอง ว้าวุ่นต่อการสูญเสียสมาธิ และความมุ่งมั่นที่เคยมี เธอเริ่มไม่มั่นใจต่ออดีตที่เคยเปล่งปลั่ง เพราะปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความสับสน และทรมาน จนบางครั้งการสูดลมหายใจเพียงเพื่อย่ำเท้าต่อไปอย่างไร้จุดหมาย กลายเป็นเรื่องที่ยากเกินรับได้สำหรับเธอ
แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงจิตใจอันแตกสลายของ Esther ลองมาดูบริบทของยุคสมัยที่แวดล้อมตัวเธอก่อนดีกว่าครับ ฉากหลังของ The Bell Jar นั้นเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดไปสักระยะ และโลกกำลังอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความหวาดระแวงของสงครามเย็น โดยมีคอมมิวนิสต์เป็นดั่งผีร้ายที่คอยหลอกหลอนชาวอเมริกัน แต่เราอาจเรียกช่วงนี้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของเหล่าชนชั้นกลางผิวขาว แต่ผู้หญิงคล้ายจะถูกกักขังอยู่ในค่านิยมที่ต้องแต่งงานกับผู้ชายเพื่อสร้างครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย ยกเว้นก็แต่ผู้หญิงที่เลือกศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น ที่อาจพอยืดระยะให้ตัวเองไม่โดนกดทับจากค่านิยมที่เร่งรัดการแต่งงาน
Plath ชี้ให้เห็นถึงความกระวนกระวายใจของผู้หญิง ผ่านตัว Esther ผู้คลางแคลง และตั้งคำถามต่อบรรทัดฐานของสังคมที่คอยจะชี้นิ้วบงการให้ผู้หญิงต้องเป็นอย่างนั้น ต้องปฏิบัติอย่างนี้ อย่างเช่น ค่านิยมเรื่องความบริสุทธิ์ของสตรีที่ผูกแน่นกับค่านิยมทางศาสนาว่าผู้หญิงจำเป็นต้องรักษาพรหมจรรย์ไว้เพื่อชายที่เธอจะสมรสด้วย หรือค่านิยมทางสังคมที่ยังคงเชื่อว่าที่ทางของผู้หญิงแท้จริงแล้วก็คือที่บ้าน คอยเลี้ยงดูลูกๆ ทำความสะอาด และทำอาหารเพื่อรอรับสามีกลับบ้าน ซึ่งค่านิยมทำนองนี้เองได้กดทับผู้หญิงในสมัยนั้นให้เชื่อไปโดยธรรมชาติว่า ความภาคภูมิใจในการเกิดเป็นผู้หญิงคือการใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่สังคมกำหนดไว้ ไม่ดิ้นรน โต้แย้ง หรือมีปากเสียงกับใคร โดยเฉพาะกับผู้ชาย ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้การวางเฉยและพึงพอใจต่ออะไรใดๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
Esther ไม่เพียงเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่มีสถานะอื่น และหลุดไปจากค่านิยมของสังคมเท่านั้น แต่การดำดิ่งลงไปในจิตใจ เพื่อรับรู้ถึงความไม่พอใจอะไรเลยของเธอ อาจเป็นดั่งกระบอกเสียงของ Plath เอง ต่อความไม่สมเหตุสมผลของสังคมที่คอยกดทับผู้หญิงให้อยู่แต่ในกรอบ หรือหากมีกรณีที่ผู้หญิงสักคนลุกขึ้นหวังต่อต้าน สังคมก็พร้อมจะผลักผู้หญิงคนนั้นๆ ไปสู่พื้นที่ชายขอบที่ไม่มีใครคิดสนใจ
ความป่วยไข้แห่งยุคสมัยคือต้นเหตุแห่งความป่วยทางจิตของ Esther และเป็นความป่วยไข้ของยุคอีกเช่นกัน ที่ได้ตีตราว่าการป่วยทางจิตนนั้นเป็นความวิปริตผิดเพี้ยน ซึ่งการรักษาและเยียวยาจิตใจ ยังคงเวียนวนอยู่ในความมืดมิดสับสน โดยที่ Esther เองต้องพบกับการช็อตด้วยกระแสไฟฟ้า ที่เชื่อกันว่าจะช่วยรักษาอาการป่วยไข้ในจิตใจได้
และนั่นทำให้หัวใจของ Esther แตกสลาย เธอไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดอะไรถึงต้องมาเจอกับกระแสไฟฟ้าที่ช็อตร่างกายเธออย่างแรง แล้วทำไมการเยียวยาจิตใจถึงต้องมีกระบวนการละม้ายคล้ายการประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า การแหลกสลายของจิตใจกลายเป็นความผิดบาปทางศีลธรรมไปได้อย่างไร ไม่ใช่เพราะสังคมที่คอยแต่จะบีบบังคับให้เธอเดินไปตามเส้นทางที่ขีดไว้แล้วอย่างคับแคบหรอกหรือ ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว ที่สังคมได้สั่นสะเทือนจิตใจของผู้หญิงให้จมดิ่งอยู่ในวังวนอันมืดมนอนธการ
แน่นอนครับว่าเหตุการณ์ใน The Bell Jar เกิดขึ้นในอดีต แม้ว่าปัจจุบัน กระบวนการรักษาและเยียวยาจิตใจได้เปลี่ยนไปจากยุคสมัยของ Esther อย่างคนละเรื่อง ถึงมันจะเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วไม่รู้กี่สิบปี แต่ผมก็อดรู้สึกโกรธเคืองแทนตัวละครในเรื่อง และผู้คนในอดีตที่ต้องพบเจอกับการปฏิบัติอย่างผิดมนุษย์มนาไม่ได้อยู่ดี
ทำไมกันพวกเขาจึงต้องถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด ทำไมกันพวกเขาถึงต้องถูกสังคมขีดฆ่าว่าไร้ประสิทธิภาพ ถีบแรงๆ ให้อยู่ในเขตแดนของความไม่ปกติ ทำไมกันพวกเขาจึงไม่อาจใช้ชีวิตโดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภัยร้าย หรือโรคระบาดในสังคมได้ ทั้งที่เมื่อเรามองกันในภาพกว้างแล้ว ไม่ใช่สังคมหรอกหรือที่คอยจะรีดเค้นความปกติไปจากมนุษย์ และเป็นดั่งค้อนขนาดใหญ่ที่คอยทุบตีผู้คนให้แหลกสลายอยู่ซ้ำๆ พลางยิ้มเยาะ และหัวเราะอย่างเฉยชา