เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปมีคำตัดสินสำคัญในคดี Tele2 Sverige เกี่ยวกับกฎหมายการสอดส่องประชาชนที่กำหนดให้ผู้ให้บริการระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องเก็บรักษา (retain) traffic data (ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ตามกฎหมายไทย) และ location data (ข้อมูลตำแหน่ง) ของผู้ใช้บริการทุกคนไว้ ว่าเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐาน 3 สิทธิด้วยกัน คือ สิทธิในความเป็นส่วนตัว สิทธิในการได้รับความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเสรีภาพในการแสดงออก
ก่อนอื่นต้องเท้าความที่มาของเรื่องสักนิด จริงๆ คำตัดสินนี้ก็ไม่ใหม่เสียทีเดียว เพราะเป็นภาคต่อและการยืนยันคำตัดสินของศาลอียูเองในคดี Ditigal Rights Ireland เมื่อปี 2014 ที่ตัดสินว่ากฎหมายของอียูที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กันเกี่ยวกับการเก็บรักษาข้อมูลเป็นโมฆะคือทำให้ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเพราะละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิในการได้รับความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ส่วนคำตัดสินคดี Tele2 Sverige
เป็นคำตัดสินเกี่ยวกับกฎหมายของประเทศสวีเดนและอังกฤษ
ที่ออกตามกฎหมายอียูที่โดนศาลตีตกไปนั่นแหละ
รัฐบาลสวีเดนกับรัฐบาลอังกฤษโดนฟ้องว่ากฎหมายของประเทศตัวเองควรจะเป็นโมฆะด้วยจากผลของคำตัดสินคดี Digital Rights Ireland ก็เลยส่งคำถามมาถามศาลอียูถึงประเด็นของกฎหมายการสอดส่องประชาชนโดยการให้ผู้บริการระบบการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์เก็บรักษาข้อมูลการสื่อสารประเภท traffic data กับ location data ของผู้ใช้บริการทุกคนไว้ และการให้อำนาจรัฐเข้าถึงข้อมูลนั้นได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาลหรือหน่วยงานอิสระอื่นก่อน เพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อสู้กับอาชญากรรม
ศาลอียูตัดสินว่า กฎหมายที่กำหนดให้การเก็บรักษาข้อมูลไม่จำเป็นต้องมีการแสดงว่าข้อมูลที่จะถูกเก็บมีความเกี่ยวโยงกับการกระทำผิดร้ายแรงหรืออันตรายต่อสาธารณะอย่างไร ไม่มีการระบุตัวหรือกลุ่มบุคคล ช่วงเวลา หรือบริเวณสถานที่เป้าหมายของการเก็บรักษาข้อมูลแต่อย่างใด และไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบนั้น เป็นสิ่งที่ก้าวล่วงขอบเขตความจำเป็นของสังคมประชาธิปไตย โดยศาลให้เหตุผลไว้ตามนี้
- การกำหนดให้มีการเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกคนไม่ว่าทางใดเป็นการทั่วไปอย่างเป็นระบบเนี่ยมันแทรกแซงสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง (serious interference)
- ถึงจะบอกว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นข้ออ้างอันชอบธรรม (justification) ได้ มีเพียงการต่อสู้กับอาชญากรรมร้ายแรง (serious crime) เท่านั้นที่เป็นข้ออ้างอันชอบธรรมพอสำหรับการเก็บรักษาข้อมูลของประชาชน แต่ถึงอย่างไรศาลก็บอกว่ายังไม่ถึงขั้นจำเป็นที่จะต้องมีการเก็บรักษาข้อมูลเป็นการทั่วไปอย่างไม่เลือกหน้า เพราะมันทำให้การเก็บรักษาข้อมูลที่ต้องเป็นข้อยกเว้นกลายเป็นหลักการรักษาความลับของการสื่อสารระหว่างบุคคลไป
- นอกจากจะกำหนดให้ผู้บริการเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเป็นการทั่วไปไม่ได้แล้ว ก็ยังต้องมีมาตรการในการป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบในส่วนของการเข้าถึงข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ คือ ต้องมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับพฤติการณ์และเงื่อนไขของการเข้าถึงข้อมูลที่มากกว่าการระบุวัตถุประสงค์ของการเข้าถึง มีการเชื่อมโยงว่าบุคคลที่ต้องการขอเข้าถึงข้อมูลต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผน ก่อหรือได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง ส่วนในบริบทของการต่อสู้กับการก่อการร้ายหรืออันตรายต่อสาธารณะและความมั่นคง ก็ต้องมีมีหลักฐานเป็นภววิสัยว่าข้อมูลที่ต้องการเข้าถึงจะเป็นประโยชน์ในการต่อสู้ป้องกันการก่อการร้าย
- ส่วนประเด็นการเข้าถึงโดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลหรือหน่วยงานอิสระภายนอกอื่น ศาลอียูก็บอกว่าจำเป็นต้องให้ศาลหรือหน่วยงานอิสระเข้ามามีส่วนพิจารณาอนุญาตก่อนเจ้าหน้าที่รัฐ (เว้นแต่กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน) เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
สรุปสาระทางกฎหมาย (น่าเบื่อๆ) ไปแล้ว จริงๆ ที่เราอยากพูดถึงคือความเห็นของศาลในประเด็นว่าเก็บรักษาข้อมูลของประชาชนอย่างทั่วไปเป็นการแทรกแซงสิทธิอย่างร้ายแรงต่างหาก กฎหมายในคดีนี้พูดถึงการเก็บรักษาโดยผู้ให้บริการและเข้าถึงโดยเจ้าหน้าที่รัฐของ traffic data หรือ location data ที่เป็นข้อมูลประกอบการสื่อสารที่บอกว่าใครคุยกับใคร ตอนไหน อยู่ที่ไหนตอนโทรศัพท์/ข้อความ ฯลฯ เฉยๆ ไม่ใช่การดักฟังหรือดักรับข้อมูลว่าเขาคุยว่าอะไรกันบ้าง คือไม่ได้เป็นการดักเนื้อหาหรือ content ของการสื่อสารด้วยซ้ำ แต่ศาลอียูกล่าวในความเห็นไว้ว่า เนื่องจากข้อมูลอย่าง traffic data/location data เนี่ยมันทำให้สามารถสร้างโปรไฟล์ของคนแต่ละคนได้ว่าแต่ละวันไปไหน มีกิจวัตรประจำวันยังไง คุยกับใครบ่อยๆ สามารถรู้ได้ว่ามีแวดวงทางสังคมแบบไหน
ซึ่งนั่นก็ทำให้ข้อมูล traffic data/location data
เป็นข้อมูลที่อ่อนไหว (sensitive) ต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัว
ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวเนื้อหาของการสื่อสารเลย
อีกทั้งการที่ประชาชนสามารถถูกเก็บรักษาข้อมูลเหล่านี้ได้โดยไม่รู้ตัว (ไม่มีการแจ้งก่อนว่าจะมีการเก็บข้อมูล) ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าชีวิตส่วนตัวของตัวเองถูกสอดแนมอยู่ตลอดเวลา (“likely to cause the persons concerned to feel that their private lives are the subject of constant surveillance”) ดังนั้น ถึงจะไม่ได้ดักฟังเนื้อหาของการสื่อสารจริง ๆ การเก็บรักษาข้อมูลเพียง traffic data/location data ก็มีผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนแล้ว
เรียกได้ว่า “ไม่ต้องทำผิดอะไรก็รู้สึกกลัวได้”
จะว่าไปคำตัดสินของศาลอียูในลักษณะนี้ก็เป็นตัวอย่างของสิ่งที่ทำให้คนจำนวนมากแอนตี้อียูว่าเข้ามาก้าวก่ายเรื่องภายในประเทศที่ควรเป็นอำนาจของรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมา แต่ในโลกคู่ขนานหลังรัฐชาติ หลังสมัยใหม่ (post-nationalism, post-modern) ที่มีองค์กรเหนือรัฐชาติ (supranational) อย่างอียูอยู่ ก็มีฝ่ายที่เห็นว่าการมีองค์กรภายนอกเข้ามาช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐก็มีข้อดีอยู่ และหลายๆ ครั้งมันก็นำไปสู่กฎหมายที่ดีขึ้น
แต่ดูเทรนด์โลกช่วงหลังนี้แล้ว เราก็ชักเริ่มไม่แน่ใจว่าโลกคู่ขนานจะอยู่ให้เราชะเง้อคอมองได้อีกนานแค่ไหน
Tidbits
- เพิ่มเติมเกี่ยวกับอังกฤษสักหน่อย สำหรับอังกฤษเอง คำตัดสินนี้อาจจะไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก เพราะกฎหมายที่เป็นต้นเรื่องของคดีนี้ (Data Rentention and Investigatory Powers Act 2014) ก็จะถูกแทนที่ด้วยกฎหมายฉบับใหม่ที่ไฉไล (?) กว่าเดิมของป้าเทรีซา เมย์อย่าง Investigatory Powers Act 2016 ที่เนื้อหาไม่ได้ต่างกันมากและผ่านรัฐสภามาอย่างเงียบๆ ไม่มีใครคัดค้านเพราะต่างโดนวังวน Brexit และ Trumpism ดูดเข้าหลุมดำไปหลายเดือน แถมก็ไม่แน่ใจว่ามีใครเสียเวลาฟ้องศาลอียูเกี่ยวกับกฎหมายใหม่มั้ยเพราะอังกฤษก็กำลังจะออกจากอียูอยู่ดี
- ไม่กี่วันที่ผ่านมา The Guardian รายงานข่าวว่าที่ผ่านมา มีการใช้อำนาจสอดส่องพฤติกรรมของประชาชนโดยหน่วยงานท้องถิ่นแบบระบุเป้าหมาย เพื่อหาคนละเมิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ อย่างการทิ้งขยะในที่ห้ามทิ้ง พาหมาไปเดินเล่นแล้วไม่เก็บอึหมา หรือหมาเห่าเสียงดังรบกวนชาวบ้าน ซึ่งก็มีคนกังวลว่าการใช้อำนาจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อสู้อาชญากรรมร้ายแรงอย่างการก่อการร้ายมาใช้กับเรื่องแบบนี้มันเหมาะสมมั้ย แม้ฝั่งเจ้าหน้าที่เองก็ยืนยันว่าใช้อำนาจอย่างจำกัดและเหมาะสมกับความจำเป็นจริง ๆ (https://www.theguardian.com/world/2016/dec/25/british-councils-used-investigatory-powers-ripa-to-secretly-spy-on-public)
- #รู้หมือไร่ นายเดวิด เดวิส รัฐมนตรีกระทรวง Brexit เดิมเป็นผู้ฟ้องร่วม (ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล) ในคดีนี้ด้วย แต่ได้ถอนตัวออกหลังจากรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี
- อ่านคำตัดสินเต็ม ๆ ที่ http://curia.europa.eu/juris/liste.jsf?num=C-203/15
Special thanks to Thitirat Thipsamritkul for comments