ตามร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของเรามาติดๆ ฝรั่งเศสก็กำลัง (อาจจะ) มีกฎหมายเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต แต่ แต่ แต่ เขาอยากจะออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพบนโลกออนไลน์ให้มากขึ้นต่างหาก
เรื่องก็คือมีวุฒิสมาชิกฝรั่งเศสได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้ง Ombudsman (ไทยใช้คำนี้หมายถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ในบริบทนี้ไม่น่าจะเหมาะสม ขอทับศัพท์เลยนะ) เป็นหน่วยงานอิสระที่จะเป็นผู้ให้ความเห็นว่าลิงก์ที่ถูกร้องขอให้เอาออกหรือบล็อคนั้นเป็นลิงก์ที่ผิดกฎหมายและต้องเอาออกหรือบล็อคตามคำขอหรือไม่
ต้นเรื่องของกฎหมายฉบับนี้ก็คือคำพิพากษาศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (CJEU) คดี ‘the right to be forgotten’ หรือ ‘สิทธิในการถูกลืม’ ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของสนช. อ้างว่าเป็นต้นแบบของมาตราที่กำหนดให้มีอำนาจลบข้อมูลเท็จนั่นเอง ผลของคำพิพากษาคดีนี้ก็ทำให้ผู้ให้บริการอย่าง Google (และเจ้าอื่น) ต้องเลือกว่าจะรับภาระในการเอาลิงก์ของเว็บไซต์ที่มีข้อความละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวออกตามคำขอของบุคคลนั้น หรือจะเสี่ยงมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งภาระและความเสี่ยงนี้ก็หนักสำหรับบริษัทเล็กมากกว่าบริษัทใหญ่ เช่น Google ที่มีเงินจ้างทีมนักกฎหมายมาจัดการเรื่องนี้ได้โดยเฉพาะ
ผลอีกอย่างของคำพิพากษานี้ก็คือทำให้เกิดข้อกังวลว่า
การให้ความสำคัญกับสิทธิในความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครอง
ข้อมูลส่วนบุคคลจะกลายเป็นการจำกัดเสรีภาพ
ในการแสดงออกบนโลกออนไลน์เกินไปหรือไม่
ในฝรั่งเศส ศาลได้นำคำพิพากษาคดี the right to be forgotten มาปรับใช้กับเว็บไซต์ที่มีข้อความหมิ่นประมาทด้วย จนล่าสุด วุฒิสมาชิก 2 คน คือ Nathalie GOULET และ Olivier CADIC ก็เลยเสนอร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (les acteurs de l’internet/internet actors) โดยเฉพาะผู้ให้บริการรายเล็กในการปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิดจากการตัดสินใจเอาออกหรือบล็อค/ไม่เอาออกหรือบล็อคของตนหรือไม่ และเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ พร้อมกับความตระหนักว่าโลกสังคมดิจิทัลมีความจำเป็นที่จะต้อง ‘ประนีประนอมระหว่าง (ความก้าวหน้าจาก) การปฏิวัติทางเทคโนโลยีและการคุ้มครองบุคคลบนอินเทอร์เน็ต เพื่อกำจัดข้อมูลที่ผิดกฎหมาย เช่น ข้อมูลที่เป็นความผิดฐานปลุกปั่น การยุยงให้กระทำการก่อการร้าย การแก้ตัวให้กับการก่อการร้าย อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ใช้ความรุนแรง หรือมีการเลือกปฏิบัติ และการหมิ่นประมาท’
แล้ว Ombudsman นี้มีหน้าที่อะไรบ้าง กระบวนการเริ่มจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เป็นโฮสต์ หรือเผยแพร่ หรือจัดให้มีการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกยื่นคำขอให้เอาออก ไปยื่นคำร้องขอให้ Ombudsman วินิจฉัยว่าข้อมูลนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในการพิจารณา Ombudsman ก็จะพิจารณาถึงบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา หลักคำพิพากษา (ฎีกา) ที่เกี่ยวข้อง และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแห่งชาติของฝรั่งเศส (Commission nationale de l’informatique et des libertés) และจะมีความเห็นออกมาภายใน 7 วัน
หากพ้น 7 วันและยังไม่มีความเห็น จะถือว่าเนื้อหาของข้อมูลนั้นไม่ผิดกฎหมาย (ร่างมาตรา 9) นอกจากนี้ ในร่างมาตรา 10 ยังกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไว้ชัดเจนว่าจะต้องยึดหลักความได้สัดส่วน (proportionality) ระหว่างสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารของสาธารณชนและสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคล โดยหัวใจสำคัญของกฎหมายนี้อยู่ที่ร่างมาตรา 14 ที่กำหนดว่าผลของความเห็นของ Ombudsman จะไม่มีผลผูกมัด เท่ากับว่าผู้ให้บริการที่ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยไม่ต้องปฏิบัติตามก็ได้ แต่หากปฏิบัติตาม (นำไปเป็นเหตุผลอ้างอิงในการเอาลิงก์ออกหรือบล็อคลิงก์ หากมีความเห็นว่าผิดกฎหมาย หรือไม่เอาออกหรือบล็อค หากมีความเห็นว่าไม่ผิดกฎหมาย)
เท่ากับว่าการทำตามความเห็นของ Ombudsman
ก็จะเป็นเกราะคุ้มกันจากความรับผิดให้ผู้ให้บริการอย่างสมบูรณ์ไปเลย
กล่าวมาทั้งหมดนี่ ร่างกฎหมายนี้ก็ยังเป็นแค่ร่างแรกที่วุฒิสมาชิกได้เสนอต่อวุฒิสภา ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาเลย พูดตามตรงแล้ว ในตัวร่างก็ยังมีรายละเอียดไม่มากว่าข้อมูลที่มี ‘เนื้อหาผิดกฎหมาย’ มีอะไรบ้าง อ้างถึงแค่ประมวลกฎหมายอาญาและคำพิพากษา ซึ่งมันก็กว้างมาก จะมีระบุชัดหน่อยแต่ก็อยู่ในส่วนของเหตุผลประกอบร่างกฎหมาย (โควตใน ‘…’ ที่เป็นตัวหนาแล้วข้างบน) แต่ที่แน่ๆ ขอบเขตก็อยู่ที่ ‘ผิด/ไม่ผิดกฎหมาย’ ซึ่งแคบกว่า ‘ผิดศีลธรรม’ หรือ ‘ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน’ อยู่ดี
สุดท้ายแล้ว ร่างนี้จะคลอดออกมาเป็นกฎหมายหรือไม่ เราที่อยู่บนอีกฟากของโลกคู่ขนานก็คงได้แต่มองตาปริบๆ และติดตามข่าวกันต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.senat.fr/leg/ppl16-151.html
https://www.theguardian.com/media/2014/nov/13/google-french-arm-fines-right-to-be-forgotten