วันนี้ ที่ประชุมสนช. ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (หรือที่เรียกกันว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นั่นแหละ) โดยพลตำรวจเอกชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้เชิญคนนอกร่วมชี้แจง 5 คน ได้แก่ คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ คุณสมญา พัฒนวรพันธุ์ อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อออนไลน์ นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัล และนิติกร กระทรวงดิจิทัล
เพื่อคลายความข้องใจในเรื่องนี้ว่า “พ.ร.บ. คอมฯ ผ่านแล้ว แล้วยังไงต่อ จะทำยังไงกันดี” The MATTER จึงติดต่อสัมภาษณ์คุณสฤณี อาชวานันทกุลจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต (ThaiNetizen Network) เพื่อถามถึงสถานการณ์คร่าวๆ และสาเหตุที่เราไม่ควรมองว่า 360,000 ที่ลงชื่อคัดค้านพ.ร.บ.คอมฯ เป็นความพ่ายแพ้
จากกรณีที่พ.ร.บ.คอมพ์ผ่านในวันนี้ ประชาชนทั่วไปควรปรับตัวอย่างไรใน 120 วัน
เราควรจะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความหมาย อย่างน้อยเป็นครั้งแรกที่คนใช้เนตจำนวนมากขนาดนี้ออกมาแสดงความเห็นชัดเจนว่าคัดค้าน ตอน Single Gateway มีรายชื่อไม่ถึงแสน แต่สูงสุดได้ประมาณแสนห้า ในครั้งนี้ 360,000 ก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่พอใจ ถึงแม้ว่า สนช. จะไม่รับฟังแต่ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จในแง่หนึ่ง เป็นตัวเลขที่ทำให้เห็นว่ามี active netizen ที่มีความใส่ใจในประเด็นที่ไม่ใช่ประเด็นง่าย ถือว่าเป็นหลักไมล์ที่สำคัญในเรื่องของการกระตุ้นเสรีภาพเนต และเรื่องความเป็นส่วนตัว
เรื่องของสนช. กฎหมายฉบับที่ประกาศในราชกิจจาฯ ยังไม่ออกมา จึงยังไม่สามารถพูดอะไรมากได้ แต่ก็มีการแก้บางประเด็น เช่น คณะกรรมการกลั่นกรองจะเพิ่มจาก 5 คนเป็น 9 คน แต่ก็ยังใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่อยู่ดี ส่วนมาตรา 14(1) ก็ค่อนข้างชัดว่าเจตนาจะไม่ใช้กับคดีหมิ่นประมาท แต่ปัญหาคือคำว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเท็จยังอยู่ และมีการเพิ่มคำว่าบิดเบือนเข้ามา ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าแย่กว่าคำว่าปลอมหรือเท็จเสียอีก
ที่ผ่านมาเท่าที่เราเช็คแล้ว ในระยะไม่กี่ปีมานี้ ไม่มีกฎหมายไหนใช้คำว่าบิดเบือน นอกจากกฎหมายประชามติ ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นชัดแล้วว่านำมาใช้ฟ้องกับคนที่คัดค้าน ซึ่งคือคนที่ตีความผลลัพธ์ของรัฐธรรมนูญในทางที่แตกต่างจากกรรมาธิการ ซึ่งคดีก็ยังอยู่ในชั้นศาล ฉะนั้นการใส่คำว่าบิดเบือนเข้ามาก็ทำให้เกิดความกังวล ซึ่งส่วนตัวคิดว่าร้ายแรงกว่าคำว่าหมิ่นประมาท ศาลจะมีอำนาจตัดสินว่าอะไรเท็จ อะไรบิดเบือน อะไรปลอม ซึ่งจะเปิดช่องให้นำไปสู่การตีความที่กว้างมากขึ้น ผลลัพธ์ของ 14(1) จึงแย่กว่าเดิม
ทีนี้เมื่อร่างพ.ร.บ. ไม่ได้แก้ให้ดีขึ้นในสาระสำคัญที่เราเป็นห่วง เราเข้าใจว่าคนที่ใช้เนตที่ไปคัดค้านความกังวลจะมีอยู่สองประเด็นใหญ่ๆ
เรื่องแรกคือเรื่องฐานความผิดเรื่องการแสดงออก ว่าโพสท์อะไรไม่ผิดจะรู้ได้ยังไงเพราะฐานความผิดมันกว้างมาก
อีกเรื่องคือเรื่องระบบเซนเซอร์ ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้เราใช้คำว่า Single Gateway ในการรณรงค์ ซึ่งภาครัฐก็บอกว่าเราบิดเบือนโดยที่ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจกับประเด็นหรือการมองของเรา เราพยายามจะบอกว่า แน่นอนว่า Single Gateway ทางกายภาพเรื่องการรวมท่อยังไม่ใช่กฎหมายนี้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะไม่กลับมา ในกฎหมายมั่นคงไซเบอร์อาจจะกลับมา แต่ถ้าถามว่าเป้าหมายของการคิดเรื่อง Single Gateway คืออะไร เป้าหมายก็คือการให้รัฐมาควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ได้ว่าประชาชนจะดูอะไรและไม่ดูอะไร ซึ่งถ้าดูกฎหมายนี้ก็จะเห็นว่ามีเจตนารมย์นี้อยู่ ซึ่งทำอย่างซับซ้อนและรวมศูนย์มากขึ้น โดยมีการควบคุมมากถึงสามชั้น
ชั้นแรก ในร่างประกาศกระทรวงให้อำนาจในการบล็อกเว็บ มีอำนาจบล็อกได้เองโดยไม่ต้องรอเอกชน แต่ถ้าเอกชนจะมาเชื่อมต่อก็เชื่อมได้ ซึ่งต้องใช้คำสั่งศาล แต่ก็มีข้อมูลสถิติรูปธรรมว่า ศาลไม่มีเวลากลั่นกรองทั้งหมด เมื่อเจ้าหน้าที่ยื่นมา 7-800 เว็บ ศาลก็ไม่มีเวลา และเมื่อบล็อกแล้ว ก็บล็อกเลย ไม่มีกระบวนการอุทธรณ์ ไม่มีกระบวนการเยียวยาอะไรทั้งสิ้น
ชั้นที่สองคือคณะกรรมการบล็อกเว็บ ซึ่งเพิ่มจาก 5 คนเป็น 9 คน อำนาจก็ยังเหมือนเดิมคือมีอำนาจเสนอศาลว่าอะไรที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ซึ่งก็ยังใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่อยู่ไม่ได้ใช้ระบบเอกฉันท์
ชั้นที่สามอยู่ในกฎหมายมาตรา 15 คือระบบแจ้งเตือนและให้เอาออกของผู้ให้บริการ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะดี เพราะถ้าคุณแจ้งแล้วผู้ให้บริการเอาเนื้อหาออกภายใน 3 วัน ผู้บริการก็จะถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งเหมือนจะดี แต่ปัญหาก็คือ ใครๆ ก็บอกให้เอาออกได้ ซึ่งถ้าผู้ให้บริการพิจารณาแล้วมีความผิดก็จะเอาออก ซึ่งความผิดในที่นี้ก็ต้องกลับไปดูที่มาตรา 14 ซึ่งคลุมเครืออยู่แล้ว คือ เท็จ บิดเบือน อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบความปลอดภัยสาธารณะอะไรต่างๆ ซึ่งก็ตีความได้มากมายหลากหลาย สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือผู้ให้บริการที่ไม่อยากเสี่ยง ก็จะมีแรงจูงใจว่างั้นก็ควรจะบล็อกไปก่อนเลย ก็จะทำให้เกิด self-censorship ซึ่งไม่ต้องมีหมายศาลด้วย
ผลลัพธ์ของระบบเซนเซอร์สามชิ้นนี้ก็จะนำไปสู่การควบคุมข้อมูลข่าวสารที่รัฐอยากจะควบคุมข้อมูลข่าวสารซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่รัฐต้องการใน Single Gateway ในทางเจตนารมย์เพียงแต่ว่าถูกผลักดันผ่านกลไกทางกฎหมายต่างๆ เท่านั้นเอง
นี่ยังไม่นับปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เราเป็นกังวลจากการที่เราอ่านร่างประกาศเรื่องอำนาจในการบล็อกเว็บ เพราะจริงๆ แล้วบล็อกในตอนนี้มันไม่ได้บล็อกอย่างเดียว มันมีอำนาจบอกให้เราลบด้วย และมีร่างประกาศกระทรวงที่บอกว่ากระทรวงมีอำนาจในการออกมาตรการทางเทคนิคใดๆ ก็ตาม ที่ให้สามารถปิดกั้นข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส ซึ่งก็อาจจะเป็นข้อมูลอะไรก็ได้ อย่างข้อมูลธุรกรรมออนไลน์ หรือข้อมูลการเงิน ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็ทำให้เกิดความกังวล ผู้ประกอบการหลายคนก็เริ่มออกมาพูดเรื่องนี้เหมือนกันว่าจะรักษาความเป็นส่วนตัวให้ลูกค้าได้อย่างไร
อย่าลืมว่าทั้งหมดทั้งมวล ฐานความผิดมีความชัดเจนเช่นว่าเป็นเรื่องของการโจมตีระบบหรือเป็นเรื่องการก่อการร้าย กฎหมายนี้ก็อาจจะไม่ได้น่ากลัวมาก แต่ความที่ทุกอย่างมันโยงมาจากมาตรา 14 ความผิดทางกฎหมายจึงกว้างมาก จึงทำให้เกิดความกังวลท่ีกว้างมาก
ที่พูดไปทั้งหมดนี้ ร่างล่าสุดที่จะออกมาเป็นกฎหมายนี้ไม่ได้รับการแก้ไขเลย เพราะฉะนั้น หากจะพูดแบบกำปั้นทุบดินคือคนใช้เนตก็ต้องระวัง แต่ปัญหาคือว่า มันไม่ยุติธรรมที่จะพูดอย่างนั้น เพราะฐานความผิดตอนนี้คืออะไรล่ะ คือเท็จ บิดเบือน ซึ่งใครจะไปรู้ว่าตีความกันยังไง ก็เท่ากับว่าถึงแม้เราจะบอกให้คนใช้เนตระวังก็ไม่รู้จะให้ระวังยังไง ซึ่งอาจจะเท่ากับการบอกว่าให้เลิกเล่นเนต หรือพูดให้น้อยที่สุด ให้แสดงออกน้อยลง วิพากษ์รัฐน้อยลงซึ่งไม่ถูกต้อง
ตัวคนร่างกฎหมายเองที่บอกว่าไม่ต้องห่วง ไม่มีการละเมิดสิทธิ์แน่นอน ก็ควรออกมาชี้แจงในรายละเอียดหรือออกประกาศมาเลยว่าการตีความตามกฎหมายมาตรา 14 นี้จะมีอะไรบ้าง เพื่อไม่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้ง ทั้งคนร่างกฎหมายและกระทรวงก็ควรจะกำหนดให้ชัดเจนมาเลยใน 120 วัน ซึ่งรวมไปถึงกฎหมายลูกต่างๆ ที่มีความกังวลมาก เช่นศูนย์กลางการบล็อกเว็บ เรื่องเข้าถึงสิ่งที่ถูกเข้ารหัส ก็ควรจะออกหลักปฏิบัติต่างๆ เป็นร่างประกาศให้ชัดเจนมาเลย หรืออย่างเช่นคณะกรรมการ ก็ควรกำหนดให้ชัดมาเลยว่าสุดท้ายเราจะได้เห็นหน้าตาเก้าคนนี้ไหมว่าเป็นใคร จะมีหลักปฏิบัติ แนวทางการทำงานอย่างไรบ้าง จะวางแนวออกมาเลยได้ไหมว่าอะไรที่จะมองว่าผิดศีลธรรม หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะช่วยให้คนใช้เนตเกิดความสบายใจมากขึ้น
ปัญหาอีกอย่างในร่างกฎหมายคือบางมาตรา ส่วนตัวรู้สึกว่าทำจริงไม่ได้ เช่น มาตรา 16(2) ที่บอกว่าข้อมูลไหนมีความผิด จะต้องลบและทำลาย ทีนี้ทั้งลบและทำลาย คำถามคือทำยังไง เช่น ถ้ามีภาพตัดต่อคนตายแล้ว ศาลบอกว่าผิด แต่ภาพนี้เซฟอยู่ใน Cloud เราจะต้องตามไปลบให้หมดจาก Cloud คำถามคือลบยังไง ผู้ให้บริการอย่าง Google จะต้องตามไปลบให้หมดได้ยังไง ทำได้ไหมในทางเทคนิค และผู้ให้บริการจะรับต้นทุนได้ไหม ผู้ประกอบการเองก็ควรจะต้องส่งเสียงดังขึ้นในเรื่องนี้ด้วย รวมไปถึงสื่อเองก็ควรจะออกมาแสดงท่าทีทักท้วงต่อกระทรวงและกฎหมายมากขึ้นด้วย
ถ้าประชาชนจะมีส่วนร่วม ใน 120 วัน เราสามารถร่วมมือกันกดดันเพื่อให้กระทรวงออกประกาศพวกนี้มาได้ไหม
ในส่วนของเครือข่ายที่ทำงานอยู่ด้วยกัน คือเครือข่ายพลเมืองเนต iLaw และ Amnesty ก็คงต้องหารือกันว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการขับเคลื่อนกันต่อไป ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า สำหรับเครือข่ายพลเมืองเนตเอง ก็ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อจับตาดูการใช้พ.ร.บ. คอมฯ ตั้งแต่ปี ’50 ว่าไม่ได้เป็นกฎหมายที่คุกคามสิทธิ งานที่เป็นงานระยะยาวคืออยากให้มีกฎหมายคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้อง ตามหลักสากล ไม่เอามาจัดการเรื่องการแสดงออก ซึ่งก็ยังเป็นงานที่ต้องทำต่อไป ในกฎหมายใหม่ที่แย่กว่าเดิม เราก็ต้องหาช่องทางหาโอกาสในการยกร่างใหม่แก้กฎหมายต่อไป
ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ระบุว่าเข้าชื่อแค่ 10,000 ชื่อก็สามารถเสนอกฎหมายได้ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญก็ใช้เสียงเพียงแค่ 50,000 เสียง ตอนนี้มีคนใช้เนตมากถึง 360,000 เสียงที่คัดค้าน เพราะฉะนั้นถ้าจะเอา 10,000 คนมายกร่างกฎหมายก็ไม่ได้ยากมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับโอกาสและช่องทางต่อไป
มีหลายสื่อออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคนใช้เนตจะต้องยอมทำตามกฎหมายนี้แล้วล่ะ นี่เป็นจุดยืนที่คุณคิดว่าถูกต้องไหม
ไม่ถูกต้องค่ะ เพราะว่าอย่างที่เรียนแล้วว่า ในมุมมองของเรากฎหมายที่ออกมาเป็นการกำหนดฐานความผิดที่กว้างมากจนคนไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงถึงจะไม่ผิด หรืออาจทำผิดแล้วไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เช่นอาจมีไฟล์อะไรต่างๆ ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ของตัวเองหรืออยู่ในคลาวด์ที่ไม่รู้ว่าต้องไปตามลบ หรือลบแล้วก็ลบไม่หมด
ในเมื่อกฎหมายเป็นแบบนี้ ซึ่งเราคิดว่าไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายอาญาที่ดี ที่ควรจะนิยามให้แคบมาก เปิดช่องให้ตีความได้น้อย เพราะมันเป็นกฎหมายอาญา เมื่อผิดแล้วอาจจะต้องโดนโทษอาญาจำคุกอะไรแบบนี้ แต่เมื่อกฎหมายนี้โดยรวมเนื้อหาต่างๆ ไม่ได้เคารพคนใช้เนต ไม่ได้ใช้หลักนี้ ก็ไม่ยุติธรรมที่จะไปเรียกร้องให้คนใช้เนตทำตาม หรือไม่รู้จะบอกให้ทำตามยังไง
ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 14(1) ที่เนื้อหาบอกว่าข้อมูลปลอมหรือเท็จหรือบิดเบือนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน โดยทุจริตหรือหลอกลวง ซึ่งคำว่าหลอกลวงนี้เจตนาจะพิสูจน์อย่างไร ถ้าไปถามคนใช้เนตว่าระวังนะอย่าโพสท์ข้อความเท็จหรือบิดเบือนที่น่าจะเกิดความเสียหาย แล้วจะบอกได้อย่างไรว่าโพสท์อะไรบ้างไม่ได้บ้าง ทุกคนก็จะรู้สึกว่างั้นเอาให้เซฟๆ ฉันก็พูดเรื่องส่วนตัวแล้วกัน ไม่โพสท์ถึงผู้มีอำนาจ ซึ่งนี่ไม่ยุติธรรมแน่นอน
มีการนำเสนออีกแนวทางหนึ่งว่า ถ้างั้นถ้ากฎหมายนี้ประกาศใช้ คนใช้เนตทั่วไปก็ควรจะเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยต่างๆ อาจจะต้องใช้เครื่องมืออย่าง TOR หรือการเข้ารหัสต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของตน คิดเห็นอย่างไร
จริงๆ แล้ว ในเรื่องของการรักษาความเป็นส่วนตัวก็เป็นประเด็นที่เราพยายามขับเคลื่อนมาหลายปีแล้วว่าคนใช้เนตควรจะเข้าใจและตื่นตัวในเรื่องความปลอดภัยส่วนตัวไม่ว่ากฎหมายจะเป็นอย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องหลักความปลอดภัยพื้นฐานที่ทุกคนควรจะใช้อยู่แล้ว
แต่ถ้าไปถึงขนาดที่บอกว่าทุกคนควรเรียนรู้ที่จะใช้ encryption tool เราก็มองว่าเป็นการผลักภาระไปให้คนใช้เนต ทำไมเราแค่จะเล่นเนตแล้วเราต้องมีความเชี่ยวชาญแบบโอ้โห เป็นสโนว์เดน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องตลกร้าย ว่าเรามีกฎหมายคอมพิวเตอร์ที่กดดันให้คนไปเป็นสโนว์เดนน่ะ ซึ่งไม่น่าจะใช่กฎหมายอินเทอร์เนตที่ถูกต้อง