บทความโดย
ดร.อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
การผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ท่ามกลางเสียงคัดค้านกว่าสามแสนเสียงที่ส่งตรงถึงผู้มีอำนาจออกกฎหมาย และยังมีคนทยอยลงชื่อคัดค้านอยู่ตลอดเวลา แต่สุดท้ายกฎหมายที่ว่าก็สามารถผ่านไปด้วย ‘ความสงบเรียบร้อย’
เอาเข้าจริงปรากฎการณ์นี้ก็ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนในรัฐบาลนี้ และผู้เขียนก็ไม่คิดว่านี่จะเป็นความขัดแย้งทาง ‘การเมือง’ ตามที่บางคนกล่าวว่ามีการยุยงปลุกปั่น แต่เห็นว่าปรากฎการณ์นี่เป็นแรงปะทะระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ของสังคมไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มากกว่า
ในช่วงอย่างน้อยห้าปีที่ผ่านมา การปะทะและถกเถียงกันในเรื่องต่างๆ ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ได้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องค่านิยมทางเพศ วิธีการเรียนการสอนในระบบการศึกษา ค่านิยมชาติที่ควรยึดถือ การให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและอุดมการณ์ที่หลากหลาย การตีความ ‘ความเป็นไทย’ ที่แตกต่างกัน และนิสัยการใช้สื่อที่แตกต่างกัน
แต่การปะทะกันครั้งนี้ มันน่าจะสะท้อนนัยสำคัญอย่างหนึ่ง
ของประวัติศาสตร์การสื่อสาร และของสังคมไทย
ที่อยู่ระหว่าง ‘รอยต่อ’ ของยุคสมัย
ความขัดแย้งกันแบบนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ‘สี’ ที่พวกเราชอบสาดใส่กันไปมาในช่วงสิบกว่าปีมานี้ ดังนั้นประเด็นของผู้เขียนจึงไม่ได้อยู่ที่การบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะเราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติไว้ในบางมิติ
แต่ประเด็นที่มันดำรงอยู่อย่างเงียบๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เขย่า ‘ความสงบสุขเรียบร้อย’ แบบที่รัฐไม่รู้ตัว จนก่อให้เกิดแรงปะทะ ที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ การปะทะกันระหว่างสำนึกแบบ Mass media mentality และสำนึกแบบ digital mentality ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างกลุ่มคนที่ฝังตัวเองอยู่ในสองกระบวนการสื่อสารที่แตกต่างกัน และมีความเข้าใจเรื่อง ‘สิทธิการสื่อสาร’ (Right to communicate) ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
Mass Media Mentality
สำนึกแบบ Mass Media Mentality นั้นเกิดในกลุ่มคนที่ผูกอยู่กับสื่อเก่า (Traditional media) ที่มีแพลตฟอร์มแน่ชัด เช่นพวก สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อุตสาหกรรมภาพยนตร์ขนาดใหญ่ (ภายใต้การจัดการแบบธุรกิจ) และหลายคนก็เชื่อมั่นว่า คนที่ทำอาชีพในสื่อเหล่านี้เท่านั้นถึงจะเป็น ‘มืออาชีพ’ ในฐานะ ‘ผู้ส่งสาร’ ตัวจริงเสียงจริง ยิ่งไปกว่านั้นบางท่านยังเชื่อว่า คนเหล่านี้น่าจะรู้และสำนึกเรื่องคุณธรรมจริยธรรมการสื่อสารมากกว่าใครอื่น
เพราะ ‘คนสื่อ’ ส่วนใหญ่ก็จบการศึกษาสูงจากการสถาปนา ‘ความรู้’ ที่รัฐสร้างขึ้นมาอีกที
ลักษณะการดำเนินการรับรู้ของสังคมเลยอยู่ใต้การผลิตและการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารของกลุ่มคนหลักๆ ไม่กี่กลุ่ม และในที่นี้ก็รวมถึงรัฐที่ครอบครองสื่อเก่าในสัดส่วนที่สูงเสมอมาด้วยเช่นกัน รัฐและผู้ทรงอิทธิพลต่างๆ สามารถกำกับดูแลสื่อได้ง่าย แถมยังเห็นได้ชัดว่าใครเป็นเจ้าขององค์กรสื่ออะไรบ้าง เรียกว่ารู้หัวนอนปลายเท้าดี
‘ความรู้’ หรือ ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้นในสังคม มักจะเกิดจากการกำหนดของ ‘ผู้ส่งสาร’ บางกลุ่ม ภายใต้อำนาจที่ทุกคนยอมรับร่วมกันได้ และชุดความรู้นั้นก็จะไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนอำนาจ พูดง่ายๆ คือมันจะไม่มีการโต้เถียง ไม่มีการขบถต่อความรู้หรือค่านิยมเดิมอย่างน้อยก็ในช่วงหนึ่งๆ
‘สิทธิการสื่อสาร’ ของสำนึกแบบ Mass media จึงมักให้ความสำคัญกับ การมีเสรีภาพ การควบคุมเนื้อหา การควบคุมการถือครองสื่อ และการสำรวจตรวจสอบการเป็นเจ้าของ เป็นสำคัญ
แต่ไม่ใช่ว่าในเมืองไทยเท่านั้น ที่ Mass media mentality จะทำงานอย่างเต็มที่ สังคมหลายแห่งก็มีสำนึกเช่นนี้ เพราะโลกของเราถูกขับเคลื่อนมาด้วยกระบวนการสื่อสารที่ก่อให้เกิดสำนึกแบบใดแบบหนึ่งในยุคใดยุคหนึ่งเสมอ หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การประกาศ Right to communicate ในยุคแรกๆ ของยูเนสโกที่พูดถึง เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of expression) อยู่สามประเด็น คือ การเป็นเจ้าของสื่อที่ต้องไม่ผูกขาด การสร้างความหลากหลายในสื่อ (Pluralism) และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Right to know information)
การเรียนการสอนวิชาสื่อสารมวลชนในไทยเองก็ยังสอน
กันเรื่องสิทธิในการสื่อสารไว้แค่นั้นเช่นกัน
Digital Mentality
Digital Mentality หรือสำนึกที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ทำให้คนรุ่นที่เติบโตมากับมันเกิดสำนึกที่ว่าทุกคนเป็นเจ้าของสื่อและเนื้อหาในสื่อ การเข้าถึงเครื่องมือการสื่อสารคือเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน การค้นคว้าและการก่อรูปความรู้ไม่ได้ทำให้ค้นพบ ‘ความจริงเพียงหนึ่งเดียว’ เพราะความหลากหลายต่างหากที่เป็นความจริงในยุคนี้ และ ‘ความจริง’ กับ ‘ความรู้’ ก็ไม่จีรังยั่งยืน แต่จะแปรเปลี่ยนและถูกก่อรูปใหม่ตลอดแทบทุกนาที ขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ของการสื่อสาร (Interaction) เช่น การที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารถามตอบกันทันที หรือการสามารถโต้ตอบได้ครั้งละหลายคนจากหลายประเทศ
ที่สำคัญ Digital Mentality คือสำนึกที่มา
พร้อมกับอำนาจในการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสื่อเก่า (Traditional Media) ทั้งหลาย รวมถึงการดำเนินชีวิตต่างๆ ถูกรวมเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มอันหลากหลายของระบบอินเทอร์เน็ตด้วยแล้ว ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง อ่านข่าว ดูการ์ตูน อ่านนิยาย เรียนหนังสือ ทำธุรกรรมการเงิน ท่องเที่ยว จีบกัน ด่ากัน ฟังธรรมะ เล่นหวย ลอยกระทง สารภาพรัก บอกเลิก และฆ่าตัวตาย ความจริงในชีวิตเลยไม่จำเป็นต้องยึดเหนี่ยวกับที่ใดที่หนึ่ง รัฐใดรัฐหนึ่ง เพราะหากพวกเขาเห็นสิ่งที่ดีกว่าบนแพลตฟอร์มที่ว่า ก็จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อไปเรื่อยๆ
ยุคนี้จึงไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะกับ ‘เนื้อหา’ (Content) เท่านั้น แต่มันรวมไปถึง ‘กระบวนการ’ (Process) ระหว่างผู้รับสารและผู้ส่งสาร (Interaction ที่เป็นคนเดียวกัน มีเนื้อหาหลากหลาย อาจจะมีหรือไม่มีทุนใหญ่หนุนหลัง) กระบวนการสื่อสารที่หลากหลาย และอำนาจในการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต (Accessibility)
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวิถีและชีวิตส่วนตัวของเหล่าผู้คนล้วนถูกฝังในกระบวนการสื่อสารเช่นนี้ สิทธิอย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับการรับรู้ของเขาคือ สิทธิในการปกป้องวิถีและชีวิตส่วนตัว มิให้ผู้ใดมาละเมิดคุกคาม ‘ความสงบเรียบร้อย’ ในชีวิตเขาได้
The Internet and the right to communicate
กลุ่มนักวิชาการ William J. McIver, Jr., William F. Birdsall และ Merrilee Rasmussen ได้เขียนบทความน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ชื่อ The Internet and the right to communicate วิพากษ์วิธีคิดของนักสิทธิมนุษยชนที่เชื่อมโยงกับการร่างเนื้อหาว่าด้วย ‘สิทธิการสื่อสาร’ ของยูเนสโก ในราวก่อนหน้าปี 2003 ที่ระบุว่าสิทธิการสื่อสารคือ ‘Freedom of expression and the right to seek, receive, and impart information through any media’
นักวิชาการกลุ่มนี้แย้งว่า หลักการนี้เป็นแนวคิดตกค้างมาตั้งแต่สมัยที่ยุคสื่อเก่ายังรุ่งโรจน์ ราวทศวรรษ 1940 ที่สิทธิในการสื่อสารมองแค่เรื่องเนื้อหา หรือการไม่ผูกขาดในการถือครองสื่อ ทั้งล้าสมัยและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
จนกระทั่งในการรณรงค์ครั้งใหญ่ของยูเนสโก ในปี 2003 โครงการ Article 19 Global Campaign for Free Expression ที่นักวิชาการมาช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์และปรับคำนิยาม ‘สิทธิการสื่อสาร’ ให้ครอบคลุมมากขึ้น ถึง สิทธิความเป็นส่วนตัว (Privacy), เสรีภาพทางความคิด สำนึกทางศีลธรรม และศาสนา (Freedom of thought, conscience, and religion), เสรีภาพในการรวมกลุ่มอย่างสันติ (Freedom of peaceful assembly), สิทธิในการศึกษา (The right to education) และสิทธิในการมีส่วนร่วมในชีวิตวัฒนธรรมของชุมชน และ ลิขสิทธิทางปัญญา (The right to participate in the cultural life of the community as well as intellectual property rights)
ถึงกระนั้นก็ตาม กลุ่มผู้เขียนบทความก็ยังเสนอว่าข้อความเหล่านี้ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาการถูกจำกัดสิทธิ และแตกต่างไปจากโลกที่พัฒนาแล้ว
ท่ามกลางสังคมที่มีสำนึกแบบ Digital mentality
เราคงจะใช้แค่ Mass media mentality มาจัดการปัญหาสังคมไม่ได้
หรือหากจะทำให้ได้ (แบบที่ สนช.ผ่าน พ.ร.บ.คอมฯของไทย) ก็น่าจะเกิดแรงปะทะที่สะสม ซุกซ่อน ที่สุดแล้วก็คงเกิดปัญหาตามมา เมื่อรอยต่อของยุคสมัยระหว่าง Mass media และ Digital media ได้ถึงจุดวิกฤต
ข้อเสนอที่นักวิชาการกลุ่มนี้เสนอไว้นานแล้ว ก็คือ
- สร้างบรรทัดฐานของสิทธิการสื่อสาร บนหลักของการสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์ (interaction) ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว (one-way information flow)
- สร้างกระบวนการการสื่อสารหลากหลายช่องทางในแนวนอน (horizontal and multi-way communicative processes) ไม่ใช่การสั่งในแนวดิ่งจากรัฐ หรือออกกฎหมายบังคับ หรือการกำหนดวาระจากกลุ่มนายทุนสื่อมวลชน
- สร้างผู้รับสารที่มีลักษณะกระตือรือล้น มากกว่าผู้รับสารที่เป็นฝ่ายรับคำสั่งทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว
การจะสร้างลักษณะแบบนั้นได้ คงต้องเริ่มที่การพัฒนา
คำนิยามสิทธิการสื่อสารร่วมกันในสังคม ให้ไปถึงระดับ
สำนึกร่วมกันของชาติ และ ที่สำคัญต้องรวม
‘สิทธิการสื่อสารของการเคลื่อนไหวทางการเมือง’ ด้วย
นักวิชาการกลุ่มนี้ได้เสนอยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ‘Soft Law’ ที่ไม่ได้หมายถึงกฎหมายที่รัฐบังคับใช้ แต่เป็นกฎระเบียบของสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง หลักการ ปฏิญญา อนุสัญญา และข้อเขียนต่างๆ (charters, declarations, guiding principles, regulations, codes) ที่จะเป็นเครื่องมือให้คนในสังคมยึดโยง โดยไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน
คำถามถัดมาก็คือ แล้วใครจะเป็นผู้ร่าง หรือช่วยทำให้ Soft law ที่เป็นธรรม เหล่านี้เกิดขึ้นได้ บางคนบอกว่าสถาบันการศึกษา บางคนบอกว่าสมาคมวิชาชีพทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร
บอกตรงๆ ว่าครั้งหนึ่งประเทศไทยก็อาจจะเคยมีสถาบันที่ทำหน้าที่เหล่านี้เหมือนกัน ทำได้มากบ้าง น้อยบ้าง โดนขู่ฆ่าทำร้ายฟ้องร้องบ้าง แต่ก็มี codes of conduct และบรรทัดฐานของ Mass media mentality ออกมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาสำหรับสังคมในยุคสมัยนั้นได้สำเร็จ
แต่ภายใต้บริบทการเมือง การบริหารแบบ Old regime, Old mentality รวมทั้งข้อจำกัดทางเสรีภาพและเงื่อนไขของสำนึกแนวดิ่งที่สะสมมาเป็นเวลานาน สถาบันเหล่านี้ก็ถูกบั่นทอนให้อ่อนแรงลงไปมาก
ก็เป็นเหมือนที่เคยเป็นมา เราไม่ถนัดจะใช้ประโยชน์จากการกำเนิดขึ้นของสิ่งใหม่ ความคิดใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ค่านิยมใหม่ วัฒนธรรมใหม่ สำนึกใหม่ เด็กรุ่นใหม่ได้ แต่เราถนัดที่จะ ‘ควบคุมและกดไว้ภายใต้กรอบเก่าและสำนึกเก่า’ กันมากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://firstmonday.org/article/view/1102/1022#author