ตามมาตรา 151 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ
การอภิปรายในลักษณะดังกล่าว หรือที่เรียกกันว่า ‘การอภิปรายไม่ไว้วางใจ’ จึงเริ่มต้นขึ้น เป็นครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 ในวันที่ 24-25 มีนาคม 2568 ภายหลังจาก ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน เป็นผู้ยื่นญัตติ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน
“นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้มีพฤติการณ์อันไม่อาจไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติและไม่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารด้วยประการทั้งปวง” หนังสือยื่นญัตติ ระบุ
มีอยู่หลากหลายประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องการจะตรวจสอบในการอภิปรายครั้งนี้ โดยพรรคประชาชน ซึ่งครองเสียง สส. จำนวน 143 เสียงในสภาฯ ปัจจุบัน ประกาศจะทำหน้าที่ ‘ฝ่ายค้านแบบ GPS’
The MATTER พูดคุยกับ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ว่าด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2568 การเป็น ‘ฝ่ายค้านแบบ GPS’ ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่รัฐบาลเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ความฝัน และความพร้อม ของพรรคประชาชน
การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้จะเป็นการตรวจสอบรัฐบาลในแง่ไหน
ผมคิดว่าประเด็นหลักๆ คือ ต้องบอกว่า เวทีอภิปรายไว้วางใจเป็นเวทีสําคัญที่สุดเวทีหนึ่งที่พรรคฝ่ายค้านมีในการตรวจสอบการทํางานของรัฐบาล เแต่ผมก็ต้องย้ำว่าที่ผ่านมา การทําหน้าที่ของพรรคประชาชนในฐานะแกนนําพรรคฝ่ายค้าน
เราพยายามจะทําหน้าที่ แบบที่ผมเรียกว่า เป็นฝ่ายค้านแบบ GPS
ดังนั้น ฝ่ายค้านแบบ GPS มันต้องทําหน้าที่ 2 อย่างควบคู่กัน
อย่างที่หนึ่ง ก็คือทําหน้าที่ในการตรวจสอบการทํางานของรัฐบาลจริงๆ ว่า เป้าหมายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ ทําได้จริงตามเป้าหมาย และนโยบายที่ได้ผลักดันมีประสิทธิภาพจริงหรือเปล่า รวมไปถึงการตรวจสอบเรื่องการมีโครงการที่อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือโครงการที่อาจจะมีปัญหา หรือความสูญเสียในการทุจริตคอรัปชัน เสมือน GPS ที่เวลาเห็นอะไรมีปัญหา ต้องติดตามทุกฝีก้าวของทุกอย่าง ให้มันเกิดความ โปร่งใส และมีสัญญาณเตือนภัยเวลาเห็นถึงความไม่ปกติ
แต่อีกบทบาทหนึ่งคู่ขนานกันของการทําหน้าที่ฝ่ายค้านแบบ GPS คือ การเป็นฝ่ายค้านที่คอยพยายามนําทาง รัฐบาล พูดง่ายๆ คือ นอกจากการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่เราคิดว่ารัฐบาลทําไม่ถูกต้องแล้ว เบื้องหลังทุกคําวิพากษ์วิจารณ์ต้องมีข้อเสนอโดยตลอด เราจะไม่วิจารณ์เรื่องอะไร ถ้าเราไม่มีคําตอบว่า หากเราเป็นรัฐบาลเองจะทําอย่างไร
ดังนั้น จะเห็นว่า อีกบทบาทหนึ่งที่พรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกลหลังการเลือกตั้งปี 2566 พยายามจะทํา นอกเหนือจากการตรวจสอบ ซึ่งเราทํามาตลอดตั้งแต่สมัยสภาฯ ชุดที่แล้ว คือ พยายามเพิ่มองค์ประกอบของการนําเสนอและนําทางรัฐบาล
เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจสำคัญอย่างไร
ก็คงเป็นศึกหรือเวทีที่ประชาชนจับตาอย่างค่อนข้างใกล้ชิด ให้ความสนใจค่อนข้างสูง เพราะตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2566 มา ยังไม่เคยมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเลย ความจริง เราเคยมีการเตรียมการไปครั้งหนึ่งสําหรับรัฐบาลคุณเศรษฐา แต่คุณเศรษฐาก็ถูกวินิจฉัยพ้นจากตําแหน่งไปก่อน ดังนั้น นี่จะเป็นเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2566
ซึ่งผมคิดว่า ประชาชนจะจับตาดูด้วย 2 เหตุผล เหตุผลที่หนึ่ง ถ้าย้อนไปในบรรยากาศตอนเลือกตั้ง 2566 ผมคิดว่า มันค่อนข้างชัดเจนว่า ประชาชนจํานวนมากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ที่ 70% ของประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือ 70% ของคนที่โหวต โหวตให้กับพรรคการเมืองในซีกฝ่ายค้าน ฉะนั้นมันสะท้อนให้เห็นชัดว่า ณ เวลานั้น เขาไม่ได้พอใจกับการบริหารของรัฐบาลก่อนหน้านั้น และเข้าไปลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นให้กับพรรคซีกฝ่ายค้าน ที่เสมือนกับเป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลง
แต่ผ่านมา 2 ปี ผมไม่แน่ใจว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนจํานวนมากคาดหวังในวันที่เข้าคูหาได้รับการตอบสนองแล้วหรือยัง การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ดูจะยังไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องก็ยังสาหัสอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าแรง ค่าไฟ ราคาข้าว เป็นต้น รวมไปถึงปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศ การปรับโครงสร้างเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การปรับโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชันก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข เป็นต้น
ดังนั้น ในมุมหนึ่ง ผมว่าเขาจับตาดูอยู่ เพราะมันคือเป็นเวทีที่จะมาชําแหละการทํางานของรัฐบาลเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นไปตามความคาดหวังที่เขามีในวันเลือกตั้งหรือไม่ แต่อย่างที่สอง ผมคิดว่าประชาชนก็จับตาดูเพราะมองไปข้างหน้าด้วย คือ เขาคงไม่ได้ประเมินพรรคประชาชนในฐานะพรรคฝ่ายค้าน เพียงแค่ว่าเราตรวจสอบรัฐบาลได้ดีหรือเปล่า แต่เขาคงประเมินด้วยว่าพรรคนี้ เขาจะสามารถไว้วางใจให้เป็นรัฐบาลได้ไหมในการเลือกตั้งถัดไป ดังนั้น ผมเลยคิดว่ามันก็จะเป็นมันก็เป็นหมุดหมายที่น่าสนใจ และผมว่าประชาชนก็ให้ความสําคัญ
อะไรคือประเด็นปัญหาหลักๆ ที่พรรคประชาชนต้องการเน้นย้ำในครั้งนี้
หลักๆ มันคือการชําแหละการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ ถ้าถามว่าล้มเหลวด้านไหน ผมคิดว่า เวลาเราพูดถึงรัฐบาลเพื่อไทยที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลไทยรักไทย เคยบริหารประเทศในห้วงเวลาที่ประชาชนจํานวนไม่น้อย รู้สึกว่าเขากําลังอยู่ในประชาธิปไตยที่กินได้
ดังนั้น ความสําเร็จของรัฐบาลไทยรักไทยในอดีตก็มักจะอยู่บน 2 ฐานด้วยกัน ฐานที่หนึ่งก็คือ การสามารถบริหารเศรษฐกิจให้รุ่งเรืองได้ ทําให้คนนั้นกินดีอยู่ดี อีกฐานหนึ่งก็คือการเป็นตัวแทนของการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน และสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ดังนั้น อันนี้คือ 2 ฐานของความสําเร็จของรัฐบาลเพื่อไทย หรือไทยรักไทยในอดีต คือ เก่งเรื่องเศรษฐกิจ และยึดถือหลักการประชาธิปไตย
ผมคิดว่า 2 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เราจะใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจในการพิสูจน์ก็คือว่า ทั้งสองเรื่องนี้ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเพื่อไทยในยุคคุณเศรษฐามาจนถึงคุณแพทองธาร เรื่องเศรษฐกิจ ผมคิดว่า สถิติมันก็บ่งบอกในตัวมันเองอยู่แล้ว รัฐบาลเคยตั้งเป้าว่า จีดีพี (GDP) ต้องโต 5% คุณแพทองธารเคยประกาศตอนหาเสียงด้วยซ้ำว่า ต้อง 5% ได้ตั้งแต่ปีแรก แต่พอผ่านมา ก็สถิติที่เราเห็นก็คือแค่ 2.5%
หรือถ้าเราลงเป็นรายละเอียดหลายอย่าง เราก็จะเห็นว่า อย่างเรื่องค่าแรง ขั้นต่ำก็แตะ 400 บาทเพียงแค่ 4 จังหวัด 1 อําเภอ ในขณะที่ราคาพืชผล ราคาข้าว ล่าสุดที่เป็นประเด็น ก็จะเห็นว่าตกลงมาประมาณหลาย 10% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ดังนั้นในมุมหนึ่ง ผมคิดว่า เราเห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจอย่างชัดเจน
ในทางเศรษฐกิจ คือปัญหาอะไรบ้าง
ถ้าให้สรุปเป็นข้อๆ ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นจาก 3 ต. คือ ไม่ตรงปก ไม่เป็นไปตามเป้า และไม่แก้ที่ต้นตอ
ไม่ตรงปก ก็คือว่า เราเห็นว่ามันมีนโยบายด้านเศรษฐกิจหลายอย่างของรัฐบาล ที่ตอนแรกประกาศไว้แบบหนึ่ง พอเวลาผ่านไปก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คิดไปทําไป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแจกเงินหมื่น ที่ก็ปรับเปลี่ยนทั้งเรื่องกรอบเวลา ปรับเปลี่ยนเรื่องของรูปแบบเงิน จากเงินดิจิทัลมาเป็นเงินสด ในเฟสแรกกับเฟสที่ 2 หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ที่แม้เป็นรัฐบาลแล้วเคยประกาศว่าจะเป็น 400 บาททั่วประเทศภายในต้นปี 2568 แต่พอเอาเข้าจริงก็เป็น 400 บาทแค่ไม่กี่จังหวัดแค่ 3-4 จังหวัดหนึ่งอําเภอเป็นต้น
ดังนั้น ข้อที่หนึ่งก็คือว่า มันเป็นการบริหาร การผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ตรงปก ซึ่งทําลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพราะพอประกาศอะไร ก็ไม่มีใครมั่นใจอีกต่อไปแล้วว่า จะเป็นจริงตามนั้นหรือเปล่า แถมยังเป็นการสะท้อนให้เห็นด้วยว่า นโยบายต่างๆ ที่เคยประกาศเอาไว้ตอนเลือกตั้ง หรือแม้ตอนเป็นรัฐบาลแล้ว ก็เป็นนโยบายที่คิดไปทําไป ไม่ได้คิดมาให้ครบถ้วน เป็นต้น
ต. ที่ 2 คือ ไม่เป็นไปตามเป้า คือ เราจะเห็นว่ามันมีนโยบายหลายอย่าง ที่ตอนแรกรัฐบาลอ้างว่าออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่ง แต่พอผ่านไป กลับไปออกแบบรายละเอียดบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น นโยบายเงินหมื่นดิจิทัล ตอนแรกประกาศว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เดิมแทบจะเดิมพันทุกอย่างเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ที่โครงการนี้
แต่ท้ายที่สุด พอต้องปรับเปลี่ยนแบ่งเป็นหลายเฟส พอต้องมีการปรับเปลี่ยนจากเงินดิจิทัลมาเป็นเงินสด เหตุผลที่รัฐบาลเคยอ้างว่า จะต้องเป็นเงินดิจิทัล เพราะจะทําให้เงินมันหมุนเวียนในพื้นที่ ทําให้มีตัวคูณทางเศรษฐกิจที่สูง และนําไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ข้ออ้างเหล่านี้ก็ถูกพังลายไปหมดเลย จนท้ายสุดมันก็ชัดเจนว่า นโยบายการแจกเงินหมื่น เฟส 1-2 ที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เข้าใจว่ารายงานล่าสุด ตัวคูณน่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.3-0.4 คือแจกเงิน 100 บาท กระตุ้นจีดีพีได้ 30-40 บาท เป็นต้น
หรือตัวอย่างหนึ่งก็คือเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ (entertainment complex) ที่ตอนแรกรัฐบาลอ้างว่า ต้องทําเรื่องคาสิโน เพราะต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย โดยการบอกว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจะมีรายได้จากทางนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เล่นคนไทย จะแก้ปัญหาพนันผิดกฎหมายได้ เพราะคนไทยบางคนที่เล่นพนันผิดกฎหมายอยู่จะหันมาเล่นที่คาสิโนแทน ตอนแรกอ้าง 2 เหตุผลนี้ ซึ่งจะเห็นว่าทั้ง 2 เหตุผลล้วนอยู่บนสมมติฐานว่า จะมีคนไทยเข้าไปเล่นในคาสิโน แต่พอเวลาผ่านไปจริง กฤษฎีกาเสนอมาว่า คนไทยจะเข้าไปเล่นได้ต้องมีเงินในบัญชี 50 ล้านบาทติดต่อกัน ซึ่งแทบจะทําให้ไม่มีคนไทยสามารถเข้าไปเล่นในคาสิโนได้ รัฐบาลก็กลับยอมให้กฤษฎีกาเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าวเข้ามา
ผมไม่ได้บอกว่า ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลเกี่ยวกับ 2 ข้ออ้างที่เขาพูด ว่าต้องทํากับคาสิโนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกับแก้กฎหมาย ผมก็จะบอกว่าถ้ารัฐบาลซื่อสัตย์กับเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ ก็คงไม่ออกแบบ หรือเดินหน้านโยบายแบบนี้ ฉะนั้นมันก็เลยทําให้เกิดการตั้งคําถามว่า นโยบายต่างๆ ที่เคยประกาศว่ามีวัตถุประสงค์แบบหนึ่ง แท้จริงแล้ว คุณก็ปล่อยให้มีการดําเนินการที่ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ หรือแท้จริงแล้ววัตถุประสงค์จริงๆ ไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาพนันเหมือนกับที่เคยประกาศไว้
ส่วน ต. ที่ 3 คือ ไม่แก้ที่ต้นตอ คือ เราเห็นว่า นโยบายหลายอย่างของรัฐบาล มุ่งเน้นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ว่าไม่ได้มีความพยายามจะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมันเป็นต้นตอจริงๆ ของปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ซบเซามายาวนาน
เราเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชัน ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทําให้ประเทศไทยอาจจะไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังมีการผูกขาด ไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการยกระดับทักษะของคนทั้งในระบบการศึกษา หรือการยกระดับทักษะของคนในวัยทํางาน อันนี้ เป็นตัวอย่างของวาระที่ผมคิดว่าสําคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ต้นตอของประเทศได้ แต่รัฐบาลนั้นกลับดูเหมือนจะไม่ได้ให้ความสําคัญมากพอ
และทางด้านประชาธิปไตย?
3 ต. คือเรื่องเศรษฐกิจ แต่เรื่องที่ 2 ก็คือเรื่องประชาธิปไตย ก็จะเห็นว่า ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยมีในอดีต มาถึงวันนี้ ค่อยๆ หดหายไป ในมุมหนึ่งก็เรียกได้ว่า หดหายไปตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาลแล้ว จากการที่พรรคเพื่อไทยผิดคําพูดที่เคยให้ไว้ว่า จะไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่มีแคนดิเดตนายกฯ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร แต่พอมาดูผลงานจริงๆ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า การปฏิรูประบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย การสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยก็ไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควร
ดัชนีประชาธิปไตย ที่มีการให้คะแนนแต่ละประเทศทั่วโลก ที่เขาเรียกว่า democracy index ก็ถ้านับแต่ปี 2566 มา 2568 คะแนนของประเทศไทยก็ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า คะแนนลดลงต่อเนื่อง และถ้าเราลงลึกในรายวาระ อย่างเรื่องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีการทําประชามติแม้แต่ครั้งเดียว การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารก็ยังไม่สามารถยกเลิกได้ ยังมีคนที่ต้องจับไปใบแดงและถูกบังคับเป็นทหารเป็นหลักหมื่นคนต่อปี เป็นต้น
ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องคุณทักษิณ ผมคิดว่า ไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่มีใครปฏิเสธว่า คุณทักษิณมีอิทธิพล ทางความคิดต่อคุณแพทองธาร และต่อ ครม. ชุดนี้
หลายอย่างที่คุณทักษิณคิดดังๆ รัฐบาลก็นําไปดําเนินการเป็นนโยบายแทบทั้งนั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่มีใครปฏิเสธว่า คุณทักษิณมีอิทธิพลทางความคิดต่อ ครม. ชุดนี้ แต่สิ่งที่เราต้องเพิ่มเรื่องนี้เข้ามาในข้อกล่าวหาของคุณแพทองธารด้วย เพราะเราเห็นว่า มันมีแนวคิดบางอย่างที่อาจจะถูกริเริ่มโดยคุณทักษิณ แต่คุณแพทองธารไม่กลั่นกรองมัน และนํามันมาดําเนินนโยบาย หรือนํามันมาละเว้นการทําหน้าที่บางอย่าง จนทําให้ก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ
ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไม่ได้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจคุณทักษิณ แต่เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แพทองธาร ที่ปล่อยให้บุคคลบุคคลหนึ่งที่อาจจะมีแนวคิดที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากนักมามีอิทธิพลทางความคิดเหนือตนเองและดําเนินการหลายๆ อย่างตามความต้องการของบุคคลดังกล่าว โดยที่ไม่ได้กลั่นกรองและไม่ได้ไตร่ตรองเท่าที่ควร
การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะนำไปสู่อะไร และมองแนวโน้มรัฐบาลชุดนี้ในอนาคตอย่างไร
การอภิปรายไม่ไว้วางใจในระบบรัฐสภาคงคาดหวังให้นําไปสู่การชนะในการลงมติในสภาฯ ยาก เพราะรัฐบาลก็ย่อมมีเสียงข้างมากในสภาฯ อยู่แล้ว และยิ่งครั้งนี้ที่เป็นการอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจแค่นายกฯ คนเดียว ก็คงจะหวังได้ยากว่า เสียงข้างมากจะโหวตไม่ไว้วางใจท่านนายกฯ
แต่ผมคิดว่าก็น่าสนใจ เพราะถ้ามี สส. พรรครัฐบาลแม้แต่คนเดียวนะ แม้แต่คนเดียวที่งดออกเสียง หรือไม่มาร่วมประชุม ก็เป็นที่น่าสังเกตเหมือนกันว่า เกิดอะไรขึ้น
แต่ในภาพใหญ่ เราคงไม่ได้คาดหวังว่าจะสามารถนําไปสู่การชนะมติในสภาฯ ได้ แต่ทีนี้เราสิ่งที่เราคาดหวังคือ การสื่อสารกับประชาชนนอกสภาฯ มากกว่า เพื่อพยายามจะชี้ให้เห็นว่า ทําไมประชาชนไม่ควรจะไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ และหากเมื่อไรก็ตามที่มีการเลือกตั้งครั้งถัดไป ก็อยากจะให้ประชาชนนั้น ไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ในการทําหน้าที่ต่อ และหันมามองถึงทางเลือกอื่นๆ เช่น พรรคประชาชน ในการเข้ามาบริหารประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ในแง่พรรคร่วมฯ อะไรคือปัญหาหรือสิ่งที่น่ากังวล
ถ้าพูดในหนึ่งประโยค ผมคิดว่า
รัฐบาลชุดนี้ เรียกว่า มีความเป็นเอกภาพในการรักษาอํานาจ แต่ไม่มีความเป็นเอกภาพในการผลักดันนโยบาย
ก็คือ ในมุมหนึ่ง เราก็จะเห็นว่า มันเป็นการรวมตัวของพรรคที่มีการหาเสียงหลายนโยบายที่แตกต่างกันสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นความหนักแน่นในการพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกัญชา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าแรง เป็นต้น คือมันเป็นการรวมตัวของพรรคที่มีจุดยืนนโยบายก่อนเลือกตั้งที่แตกต่างกันอยู่แล้ว
และพอตั้งรัฐบาลขึ้นมา ไม่ได้ตั้งรัฐบาลโดยเอานโยบายเป็นตัวตั้ง มาคุยกันว่า สิ่งที่เห็นเหมือนกัน จะขับเคลื่อนร่วมกันยังไง สิ่งที่เห็นต่าง จะหาจุดกึ่งกลาง หรือจัดลําดับความสําคัญกันอย่างไร มันก็เลยทําให้พอ เป็นรัฐบาลแล้ว ไม่สามารถหาข้อสรุปในนโยบายที่เคยหาเสียงไว้แตกต่างกันได้ และทําให้ขาดประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบายยังเป็นเอกภาพ
แต่ในมุมกลับกัน แม้จะไม่มีเอกภาพในทางนโยบายเท่าไหร่ ผมคิดว่าหลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า ก็จินตนาการยากว่า แต่ละพรรคในรัฐบาลชุดนี้จะอยากให้มีการเลือกตั้งเร็ว ดังนั้น มันก็เลยจะเกิดปัญหาที่ว่า เรากําลังมีรัฐบาลที่ไม่ได้มีเอกภาพในการผลักดันนโยบาย แต่ว่าก็ยังมีเอกภาพในการทําให้ตัวเองอยู่ในอํานาจต่อไป อันนี้ก็คือสิ่งที่เรากังวล
พูดถึงเส้นแบ่งทางการเมือง – ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ก็จะมีความชัดเจนว่า ฝั่งประชาธิปไตย กับฝั่งเผด็จการ แต่หลังจากการตั้งรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลคุณเศรษฐามา มีบางคนที่ตั้งคำถามว่า ดูจะขีดเส้นแบ่งยากขึ้น พรรคประชาชนมองว่า การเมืองไทยขณะนี้มีเส้นแบ่งอย่างไร
จริงๆ เคยมีเคยมีสมาชิกรัฐบาลคนหนึ่งออกมาพยายามขีดเส้นแบ่งว่า เส้นแบ่งตอนนี้คือฝั่งปฏิรูปกับฝั่งปฏิวัติ และพยายามจะบอกว่า เราเป็นฝั่งปฏิวัติ
ผมก็เคยให้ความเห็นไปว่า พรรคประชาชนเป็นฝั่งปฏิวัติหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับเรานิยามว่า ปฏิวัติคืออะไร ถ้าเรานิยามปฏิวัติว่า ความพยายามจะเปลี่ยนแปลงบางอย่างอย่างยิ่งใหญ่ อันนี้เราไม่ปฏิเสธ เพราะก็มีหลายเรื่อง เช่น การศึกษา ที่เราก็เคยรณรงค์หาเสียง ใช้คําว่า ปฏิวัติการศึกษา เพราะเราเห็นว่า มันจําเป็นต้องมีการรื้อหลายๆ เรื่องจริงๆ ทั้งเรื่องหลักสูตร โครงสร้าง ปัญหาอํานาจนิยมในโรงเรียน เป็นต้น
แต่ก็คือบอกว่า การปฏิวัติ หมายถึง การล้มล้างการปกครอง อันนี้ต้องยืนยันว่า ไม่เคยมีข้อเสนออะไรของเราที่ไปเข้าข่ายการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
แต่สิ่งที่ผมมีปัญหามากกว่าการขีดเส้นแบ่งแบบนั้น คือ ความพยายามของสมาชิกซีกรัฐบาลที่จะบอกว่า ตัวเองเป็นฝ่ายปฏิรูป เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา ผมแทบจะไม่เห็นผลงานในการปฏิรูปเรื่องอะไรเลย
การปฏิรูประบบการเมืองเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย อย่างที่บอก ก็ยังไม่คืบหน้า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ยังไม่ได้ใกล้เคียงมากขึ้นกว่าวันแรกที่รัฐบาลนี้เริ่มขึ้นมา การปฏิรูปกองทัพที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น สส. เพื่อไทย ตอนแรกเสนอร่างกฎหมายเข้าไปประกบร่าง พ.ร.บ. ระเบียบราชการ ประกบของก้าวไกล ตอนแรกก็ดูเป็นสัญญาณที่ดีว่า 2 พรรคน่าจะจับมือกันในการแก้กฎหมายเพื่อให้กองทัพอยู่ภายใต้อํานาจของรัฐบาลพลเรือนได้ แต่ท้ายสุดพรรคเพื่อไทยก็ตัดสินใจถอนกฎหมายตัวเอง
การปฏิรูประบบราชการก็ไม่เห็นถึงความคืบหน้า การเข้าถึงข้อมูลรัฐก็ไม่ได้โปร่งใสขึ้นกว่าก่อน การกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่นก็ไม่ได้คืบหน้า สัดส่วนงบประมาณที่ท้องถิ่นมี คิดเป็นสัดส่วนของรายได้ทั้งประเทศก็ยังค้างอยู่ที่ไม่ถึง 30% การปฏิรูปการศึกษา ผมคิดว่า ก็ยังไม่ได้มีผลงานที่เป็นรูปธรรม เราก็ยังคงอยู่ภายใต้หลักสูตรการศึกษาฉบับเดิม ที่มีอายุนานเท่ากับไอโฟนรุ่นแรก คือ ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่มาเกือบ 20 ปี
ดังนั้น ผมถึงมองว่า การขีดเส้นแบ่งระหว่างปฏิวัติกับปฏิรูป เพื่อจะบอกว่า พรรคประชาชนเป็นฝั่งปฏิวัติ เขา หรือรัฐบาลชุดนี้เป็นฝั่งปฏิรูป ผมคิดว่า ไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง แต่ถ้าถามผมว่า จะขีดเส้นแบ่งยังไง ผมจะบอกว่า เส้นแบ่งทางการเมือง คือ เส้นระหว่างฝั่งที่ต้องการปฏิรูป กับฝั่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปมากกว่า
เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา และผมเชื่อว่า 2 ปีหลังจากนี้ การปฏิรูปที่ผมบอกว่า เราคาดหวังจะเห็น แต่ยังไม่เห็น ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีความคืบหน้าภายใต้รัฐบาลชุดนี้ แต่ผมคิดว่า พรรคประชาชนเป็นพรรคที่ยึดถือมาตั้งแต่สมัยก้าวไกล หรือแม้กระทั่งย้อนไปสมัยอนาคตใหม่ ก่อนที่ผมจะเข้ามา เกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
คิดว่าเส้นแบ่งทางการเมืองเช่นนี้จะคลี่คลายอย่างไรในอนาคต
เส้นแบ่งนี้จะเป็นคําถามที่ประชาชนทุกคนอาจจะต้องถามตัวเองในวันที่เข้าคูหาเลือกตั้งครั้งถัดไป ถ้าประชาชนคนไหนรู้สึกว่า ประเทศภายใต้รัฐบาลชุดนี้ แม้จะไม่ได้มีผู้นําที่เป็นผู้ก่อรัฐประหารแล้ว แต่มันยังไม่ได้นําไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเพียงพอ หรือมีการแก้ปัญหาแบบปะผุแค่บางเรื่อง ถ้าเขาคิดว่ามันดีกว่านี้ได้ ผมคิดว่า เขาก็จะมองมาที่พรรคประชาชนเป็นทางเลือก ถ้าเขารู้สึกว่าสิ่งที่ทําให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ มันต้องการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่าที่รัฐบาลชุดนี้ทําที่ผ่านมา ผมคิดว่าเขาจะมองมาที่พรรคประชาชนเป็นทางเลือก
เมื่อสักครู่กล่าวว่า พรรคประชาชนสนับสนุนการปฏิรูป – ปฏิรูปอะไรบ้าง
ถ้าสรุปสั้นๆ ถามว่าเราต้องการปฏิรูปประเทศด้านไหน ก็น่าจะมี 5 ด้านหลักๆ
หนึ่ง คือ การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ทํายังไงให้อํานาจสูงสุดเป็นของประชาชน ทํายังไงให้สถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ถ้ามีอํานาจเยอะ ก็ต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน มีความยึดโยงกับประชาชนสูง เช่น มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงองค์กรที่ทําหน้าที่ตรวจสอบสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง ตนเองก็ต้องถูกตรวจสอบได้ด้วยเช่นกัน ทํายังไงให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ทํายังไงให้เรามีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน
สอง คือ การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ทําให้ในมุมหนึ่ง คือ หน่วยงานรัฐทั้งหมดมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็คือ มีประสิทธิภาพในการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชน ซึ่งผมคิดว่ากุญแจสําคัญ คือ การกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น ทํายังไงให้ท้องถิ่นมีอํานาจ มีงบประมาณ มีบุคลากรเพียงพอ ในการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยที่ไม่ต้องรออนุมัติจากส่วนกลางเท่านั้น
สาม คือ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้มีความการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมและป้องกัน การผูกขาด สิ่งที่เราต้องการ คือ ภาคเอกชนในประเทศเราแข่งกันคิดค้นสินค้าบริการใหม่ใหม่แข่งกันคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่ว่าบริษัท อกชนในไทยจะรุ่งเรืองได้ ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล หรือปัจจุบัน ผมคิดว่าเราอยู่ในส ภาวะที่ว่าใครบริษัทไหนจะรวยในประเทศนี้ได้ รู้จริงรู้ลึกไม่สําคัญ เท่ารู้จักใคร
สี่ การปฏิรูปเรื่องของระบบสวัสดิการ ทํายังไงให้ในโลกที่มันมีความผันผวนสูง ประชาชนทุกคนรู้ช่วงวัย มีตาข่ายรองรับขั้นพื้นฐานที่ทําให้ไม่ว่าจะเจอวิกฤตอะไร รัฐสามารถช่วยพยุงเท่ากับขึ้นมาลุกได้เร็ว และเดินหน้าในชีวิตต่อได้ ทั้งเด็กเล็ก ทั้งผู้สูงอายุ ทั้งคนพิการ เป็นต้น
และอย่างสุดท้าย อย่างที่ห้า ในการปฏิรูปเรื่องของการเรียนรู้ ทั้งการปฏิรูประบบการศึกษา สําหรับเด็กและเยาวชน รวมไปถึงการลงทุนอย่างจริงจังในการยกระดับทักษะของคนทุกช่วงวัย
อันนี้ก็เป็น 5 วาระการปฏิรูปที่ผมคิดว่า พรรคประชาชนให้ความสําคัญ และเรายังไม่ได้เห็นความคืบหน้ามากนักภายในรัฐบาลชุดนี้
ในการไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ ทั้ง 5 ประการ พรรคประชาชนมีเครื่องมือ (tools) หรือโนว์ฮาว (know-how) อะไรบ้าง ทั้งในบทบาท ณ ขณะนี้ รวมถึงในอนาคต หากได้เป็นรัฐบาล
เครื่องมือในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ผมเอา ณ เวลานี้ก่อน เป็น 2 ส่วน ณ เวลานี้ ผมคิดว่า มันก็จะสอดรับกับการทํางานฝ่ายค้านแบบ GPS ของเรา ก็จะมีการทํางานทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ
สิ่งที่เราทําได้ในสภาฯ คือการเสนอร่างกฎหมาย ฉะนั้น พอเรารู้แล้วว่าเราอยากจะปฏิรูปเรื่องไหนแบบไหน ถ้ามันมีบางส่วนที่ต้องอาศัยการแก้กฎหมาย พอเราระบุได้ว่า การปฏิรูปอะไร ต้องใช้การแก้กฎหมายอะไร เรายื่นกฎหมายดังกล่าวเข้าเลยในฐานะฝ่ายค้าน
ความจริง เจ้าหน้าที่ที่สภาฯ เคยมาพูดกับผมว่า ไม่ได้มียุคสมัยไหนที่เห็นฝ่ายค้านมีความกระตือรือร้นในการยื่นกฎหมายขนาดนี้ แต่สิ่งนี้เป็นเป็นยุทธศาสตร์ที่ถามว่า ทําไมทําแบบนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าเราเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ ถ้า สส. รัฐบาลไม่เห็นชอบกฏหมายเหล่านี้ จะดีแค่ไหน มันก็ถูกปัดตกอยู่ดี
เหตุผลที่เราทํา เพราะอย่างที่หนึ่ง คือ เราต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า เราไม่ได้วิจารณ์แบบลอยๆ แต่เรามีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเลยว่า ควรจะแก้กฎหมายฉบับไหนมาตราไหน อย่างไร
อย่างที่สอง คือ แม้เราอาจจะไม่ได้ประสบความสําเร็จ ณ เวลานี้ ในการทําให้ สส. รัฐบาลมาโหวตเห็นชอบด้วยได้ แต่ถ้าเราสามารถใช้เวทีสภาฯ ในการสื่อสารเรื่องนี้กับสาธารณะ ให้เห็นว่า ทําไมมันควรจะมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จริงๆ ผมเชื่อว่ามันจะทําให้เราได้รับพลังจากประชาชนมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งถัดไป หรือว่ามากขึ้นจากนอกสภาฯ ที่ทําให้เรามีพลังในสภาฯ เพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อผลักดันให้สําเร็จ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าย้อนไปสภาฯ ชุดที่แล้ว เราอาจจะไม่ได้เสนอกฏหมายเยอะเท่านี้ แต่ผมยกตัวอย่าง 2 ฉบับที่เราเสนอ คือ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กับ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ทั้ง 2 ฉบับไม่ได้ผ่านสภาฯ เลย สมรสเท่าเทียมไปค้างอยู่ พิจารณาเสร็จไม่ทันก่อนสภาฯ ถูกยุบไป สุราก้าวหน้าแพ้วาระที่ 3 ไป 2 เสียง
ดังนั้น ในเชิงกฏหมายเราไม่ประสบความสําเร็จในการแก้กฎหมายแม้แต่ข้อความเดียวเลย แต่สิ่งที่มันทํา คือ มันทําให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องสมรสเท่าเทียม เกี่ยวกับเรื่องสุราก้าวหน้า และแปลออกมาเป็นพลังในช่วงการเลือกตั้งที่ทําให้ในมุมหนึ่ง ผมคิดว่า พรรคประชาชนก็รับความไว้วางใจมากขึ้น ในมุมหนึ่ง ก็บีบให้พรรคการเมืองอื่นมาเห็นชอบด้วยในเรื่องสมรสเท่าเทียมกับสุราก้าวหน้า แม้ว่าเขาไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้มากขนาดนั้นในอดีต
และการทํางานของเราในสภาฯ ชุดที่แล้วที่ผ่านมาเกี่ยวกับกฎหมาย 2 ฉบับนี้ มันก็เลยแปลออกมาทําให้ ณ เวลานี้ สมรสเท่าเทียมก็ผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายมาแล้วร่วมกันในสภาฯ สุราก้าวหน้า แม้ฉบับของพรรคประชาชนไม่ได้ผ่าน แต่ร่างสุราชุมชนของพรรคเพื่อไทย ที่ก็มีเนื้อหา 80-90% คล้ายกัน ก็ผ่านความเห็นชอบได้
ดังนั้น อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามจะทําภายในกลไกของสภาฯ แต่นอกจากนั้น ผมคิดว่า เราก็พยายามใช้กลไกนอกสภาฯ ในการตีแผ่ปัญหาต่างๆ ให้กับสังคม อย่างที่ผมพูดไปแล้ว เรื่องคอลเซ็นเตอร์ เรื่องประกันสังคม เป็นตัวอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น อันนี้คือที่เราทําได้ในฐานะฝ่ายค้าน คือ เสนอกฎหมายผ่านสภาฯ หวังว่า รัฐบาลจะเห็นชอบ บวกกับการทํางานเชิงความคิดกับสังคมนอกสภาฯ
แต่ถามว่า แล้วเราจะทําอะไรได้มากกว่านั้นไหมพอเป็นรัฐบาล ตอบว่า ต้องได้มากกว่านั้นแน่นอน และผมคิดว่า จากวันนี้ถึงวันเลือกตั้งถัดไป สิ่งที่ทีมนโยบายพยายามจะทํางานอย่างละเอียดเพื่อเตรียมนําเสนอกับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง คือ รายละเอียดในการขับเคลื่อนนโยบายในทุกๆ ด้านที่เรานําเสนอ
ถ้าย้อนไปเลือกตั้งที่แล้ว เรานําเสนอนโยบาย 300 นโยบาย ผมคิดว่าในมุมหนึ่ง ประชาชนรู้แล้วว่า ‘what’ ของพรรคประชาชนคืออะไร คือรู้แล้วว่า เราจะขับเคลื่อนนโยบายอะไร แต่อาจจะยังไม่ได้เห็นถึง ‘how’ หรือเราจะขับเคลื่อนมันยังอย่างไร ดังนั้น ผมคิดว่า สิ่งที่เราพยายามจะทําจากวันนี้ถึงวันเลือกตั้ง คือ ทําแผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนให้มันชัดเจนขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนมากขึ้นว่า เราไม่เพียงแต่มีคําตอบว่า ประเทศควรจะทําอะไร หรือ ‘what’ แต่เรามีคําตอบด้วย และแผนงานที่ชัดเจนว่า เราจะขับเคลื่อนอย่างไรให้มันสามารถประสบความสําเร็จ หรือ ‘how’
ตั้งแต่ยุบพรรคก้าวไกลมาจนถึงขณะนี้ คิดว่า พรรคประชาชนลงตัวหรือยัง การทํางานเป็นอย่างไรบ้าง
ปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า การยุบพรรคทุกครั้ง ประการแรกคือ มันไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย อย่างที่สองคือ แม้ว่าจะมีพรรคใหม่ที่เป็นยานพาหนะที่พร้อมขับเคลื่อนชุดความคิดเดิมต่อไป แต่มันก็ทําให้เราสูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพจํานวนมาก จะบอกว่าไม่กระทบก็คงจะไม่ได้
แต่เราก็พยายามทําเต็มที่ เพื่อทําให้ยานพาหนะใหม่ที่ชื่อว่า พรรคประชาชน ตั้งตัวได้เร็วที่สุดและพร้อมจะนําพาอุดมการณ์ที่สืบทอดมาจากพรรคก้าวไกลไปข้างหน้าให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ณ เวลานี้ พรรคประชาชนก็เดินหน้าต่ออย่างเต็มที่ ถึงแม้อย่างที่ผมเรียนว่า เราสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่าต่อประเทศไทยไปจํานวนมาก แต่เราก็พยายามจะไม่ทําให้ชะตากรรมที่เราได้เผชิญก่อนหน้านั้นมาเป็นอุปสรรคต่อการทํางาน ณ เวลานี้
อะไรคืออัตลักษณ์ของพรรคประชาชนที่อยากสื่อสารกับประชาชน พรรคมีความเหมือนหรือแตกต่างจากพรรคก้าวไกลอย่างไร
เรายึดอุดมการณ์และหลักการเดิม มันก็แค่นั้น แต่อันหนึ่งที่พอเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ ทั้งเรื่องของการยุบพรรค ทั้งเรื่องการตัดสิทธินักการเมือง ซึ่งไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติ และในความเป็นจริง ทุกฝ่ายในการเมืองควรจะร่วมมือกันแก้ไขด้วยซ้ำ แต่พอเจอสภาวะความเป็นจริงทางการเมืองแบบนี้บ่อยๆ
สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือ มันเป็นการปลุกให้คนทํางานการเมืองในพรรคส้มทุกคนทํางานทุกวันเสมือนกับเป็นวันสุดท้ายของตัวเอง
ดังนั้น ผมไม่รู้นะ ถ้าผู้มีอํานาจส่วนไหนที่รู้สึกว่าการยุบพรรค การตัดสิทธิ การสร้างสภาวะนิติสงครามแบบนี้ จะทําลายพรรคสีส้มได้ ก็อย่าลืมว่า ยิ่งทําแบบนี้ ในมุมกลับ ยิ่งทําให้คนทํางานการเมืองของพรรคส้มมีแรง มากขึ้นในการทํางานเต็มที่ในทุกๆ วันเสมือนกับเป็นวันสุดท้าย
ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทุกวันนี้ แม้จะเข้ามาทํางานการเมืองได้แค่ถ้าเต็มตัวในฐานะ สส. ก็ประมาณปีครึ่งยังไม่ถึง 2 ปีดี ผมคิดว่าผมก็เป็นคนหนึ่งที่ให้ความสําคัญกับเรื่องเวลาเป็นอย่างมาก คือเรารู้ว่าแม้ในสภาวะการเมือง ปกติการเลือกตั้งครั้งหนึ่ง ถ้าคุณได้รับโอกาสจากประชาชน เขาก็ให้โอกาสคุณแค่ 4 ปี ดังนั้นคุณก็ต้องใช้ 4 ปีของคุณให้คุ้มค่า ก่อนที่จะไปขอโอกาสเขาอีกรอบหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
แต่ยิ่งเจอสภาวะแบบนี้ ผมคิดว่าคนทํางานการเมืองในพรรคประชาชนทุกคน ไม่รู้หรอกว่าจะเจอจุดจบอะไรในอนาคตเร็วหรือช้าแค่ไหน ฉะนั้น เรายิ่งต้องทําแบบทําเต็มที่ทุกวันนี้ เพื่อไม่ให้มันไม่มีความรู้สึกเสียดายว่า ณ เวลานั้นที่มีโอกาส กลับไม่ทําในสิ่งที่ควรจะทําเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับประเทศนี้
พรรคประชาชนมีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดไปแค่ไหน
ทุกพรรคการเมืองต้องมีความพร้อมกับการเลือกตั้งทุกห้วงเวลาอยู่แล้ว ถ้าตอบสั้นๆ ก็คือว่า พรรคประชาชนพร้อมเสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีโอกาส หรือเมื่อไรก็ตามที่มีเหตุการณ์ที่นําไปสู่การเลือกตั้ง เราพร้อมจะไปขอโอกาสจากพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว
และผมคิดว่า การทํางานที่ผมพูดก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการเตรียมนโยบายให้สร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนให้มากขึ้นว่า เราไม่ได้เพียงแต่มีคําตอบว่า เราควรทําอะไร แต่มีแนวทางที่ว่า จะทําอย่างไรให้มันสําเร็จ อันนี้เป็นสิ่งที่เรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้เป็นการพัฒนาที่อยู่บนฐานว่าจะต้องมีการเลือกตั้งปี 2570 เสมอไป แต่เป็นการพยายามจะพัฒนาเพื่อให้เรามีความพร้อม ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้นแค่ไหน
แน่นอนว่า พรรคย่อมมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนต่อเนื่อง แต่อะไรคือบทเรียนใหม่ๆ ที่ส่วนตัวได้เรียนรู้จากการเข้ามาสู่บทบาทนักการเมือง
มันอาจจะไม่ได้เป็นบทเรียนใหม่ มันเป็นสิ่งที่เราก็คาดการณ์อยู่แล้ว ก่อนเข้ามา แต่อาจจะถูกตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้น ก็คือว่า ใครก็ตามที่จะเข้ามาทํางานการเมือง คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า คุณเข้ามาทํางานการเมืองเพื่ออะไร หรือคุณต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศนี้อย่างไร
ผมเชื่อว่า ทุกคนที่เข้ามาทําการเมือง คงต้องมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับประเทศนี้ที่เขาอยากเปลี่ยนแปลง มันต้องมีอะไรบางอย่างที่เขาไม่พอใจเกี่ยวกับประเทศนี้ หรือเขาคิดว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้ ถ้าเขาพอใจกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่ในประเทศนี้ เขาอาจจะไม่รู้สึกว่าจะต้องเข้ามาทํางานการเมือง เพื่อมาผลักดันนโยบาย มาผลักดันกฎหมาย เป็นต้น
มันเป็นสิ่งที่ตั้งแต่ผมเข้ามาทํางานการเมือง ยิ่งตอกกันให้เห็นชัดว่า ถ้าเราจะมีแรงในแต่ละวันในการทํางานตรงนี้ หรือมีความรู้สึกสนุกกับมันในการทํางานตรงนี้ มีไฟในการทํางานตรงนี้ คําตอบว่า คุณเข้ามาทํางานตรงนี้เพื่ออะไร ต้องการเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไร อันนี้ต้องมีให้เห็นชัดเจน
เพราะพอคุณเข้ามาทํางานการเมืองแล้ว ยิ่งในสภาฯ คุณจะถูกดึงซ้ายดึงขวาไปกับเรื่องเฉพาะหน้าเยอะมาก อย่างผมอยู่ในกองโฆษก บางที แต่ละวันก็จะถูกดึงไปเรื่องนู้นเรื่องนี้ แน่นอน มันเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่เราต้องทํา แต่มันก็สําคัญเหมือนกันว่า เราต้องกลับมาตั้งหลักเสมอว่า วาระหลักๆ ที่เราเข้ามาเพื่อจะผลักดัน อย่างน้อยให้สําเร็จภายในสภาฯ ชุดนี้ หรือ 4 ปีที่เรามีงานทําอยู่นี้ มันคืออะไร ไม่อย่างนั้น คุณจะถูกดึงไปกับงานเฉพาะหน้า จนท้ายสุดแล้วผ่านไป 4 ปี คุณไม่สามารถผลักดันวาระอะไรที่น่าจดจำ หรือที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศได้ซักเท่าไร
ดังนั้น การมีเข็มทิศตรงนี้ที่ชัดเจน ผมคิดว่าสําคัญ อย่างผมเอง ก็ต้องเตือนสติตัวเองเสมอว่า ผมเข้ามาทํางาน 4 ปีนี้ ผมต้องการ หนึ่ง ผลักดันให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น สอง ปฏิรูประบบการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น พอเป็นฝ่ายค้าน กลไกหนึ่งก็คือการผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาฯ สาม การผลักดันการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร พอผมมีอย่างน้อย 3 เป้าหมายที่มีอยู่ในหัวแบบนี้ เราก็จะไม่หลงลืมว่าเรากําลังทําตรงนี้อยู่เพื่ออะไร
คำถามสุดท้าย คิดว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจเสมอ ในการถามนักการเมืองจากพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชน – อะไรคือหนึ่งสิ่งที่อยากจะเห็นในการเมืองไทย ในอนาคตอันใกล้นี้
ผมคิดว่า 2 อย่างเชื่อมโยงกัน คือ ผมอยากเห็นประชาธิปไตยแข็งแรงในประเทศนี้ แต่ประชาธิปไตยในประเทศใดก็ตาม จะแข็งแรงได้ มันคือ 2 อย่างซึ่งเราต้องร่วมมือกันทําให้เกิดขึ้นจริงในการเมืองไทย
หนึ่งคือ เราต้องมีกติกาและสถาบันทางการเมืองที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่สามารถแข็งแรงได้ ถ้ายังคงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าหลายสถาบันทางการเมืองมีอํานาจสูง แต่กลับมีที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ถ้าหลายสถาบันทางการเมืองยังไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ ในมุมหนึ่ง อันนี้ผมว่าเป็นที่รับรู้อยู่แล้ว
แต่ในมุมหนึ่ง ประชาธิปไตยจะอยู่ได้ หรือจะแข็งแรงได้ นอกจากเรื่องกติกาและสถาบันที่ชอบธรรมแล้ว ผมคิดว่า เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนด้วยว่า นักการเมืองสามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้สําเร็จผ่านกลไกรัฐสภา ถึงแม้สถาบันทางการเมืองและกติกาเราจะดีแค่ไหน แต่ถ้าประชาชนรู้สึกว่า เลือกตัวแทนเข้าไปทําการเมืองในสภาฯ แล้ว กลับไม่สามารถผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้ กลับไปทําในเรื่องที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง กลับไปมีปัญหาพัวพันเรื่องการทุจริตคอรัปชัน ท้ายสุดแล้ว ประชาธิปไตยเราก็จะไม่แข็งแรงเท่าที่ควร
ดังนั้น ถ้ากลับมาถามว่า ผมอยากเห็นอะไรในการเมืองไทย ผมอยากเห็นประชาธิปไตยแข็งแรง ซึ่งมี 2 องค์ประกอบที่ขาดหายไม่ได้ทั้งคู่
หนึ่งคือ ผมอยากเห็นกติกาและสถาบันทางการเมืองที่ให้อํานาจสูงสุดเป็นของประชาชน สอง ผมก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการทําให้ประชาชนมองอาชีพนักการเมืองว่า เป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับเขาได้เหมือนกัน