ชัดเจนแล้วว่า เรื่อง ‘เศรษฐกิจ’ เป็นหนึ่งในประเด็นที่ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ให้ความสำคัญมากที่สุด
โดยเฉพาะในแง่มุมการต่างประเทศของไทย ที่รัฐบาลตอกย้ำหลายต่อหลายครั้ง ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายที่เรียกว่า ‘การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’
ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตไทย และกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ประจำปี 2566 ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนว่า แนวทางดังกล่าว จะทำให้ไทยเข้าสู่การต่างประเทศยุคใหม่ที่จับต้องได้ จะไม่ใช่ ‘business as usual’ และจะสร้างความกินดีอยู่ดีให้ประชาชน
พร้อมกับเป้าหมายปลายทางสำคัญ คือ การพาไทยกลับมามีบทบาท หวนคืนสู่เรดาร์โลก
“ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้การบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี จะนำพาประเทศไทยให้กลับมามีบทบาทในเวทีโลกได้มากขึ้น” เขากล่าวในการพบปะกับสื่อมวลชนครั้งแรกๆ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566
ขณะเดียวกัน การวางตัวให้ปานปรีย์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย เคยเป็นประธานบอร์ด ปตท. อดีตผู้แทนการค้าไทย และอีกมากมาย ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยิ่งมีความน่าสนใจ
The MATTER ไปพูดคุยกับ ปานปรีย์ พหิทธานุกร ไกลถึงซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ ในหลากหลายประเด็น ตั้งแต่นโยบายการต่างประเทศไทยหลังจากนี้ ไปจนถึงแรงผลักดันส่วนตัวในการทำงานการเมือง ท่ามกลางบรรยากาศการประชุม APEC 2023 ที่ ‘ทีมไทยแลนด์’ พากันยกคณะไปเชิญชวนให้ต่างชาติกลับมาลงทุนที่ประเทศไทย
การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกคืออะไร? แล้วไทยจะอยู่ตรงไหนของเวทีนานาชาติ? ขอเชิญอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษได้ ด้านล่างนี้
สำหรับการต่างประเทศไทยในรัฐบาลปัจจุบัน คำหนึ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยมาก คือ ‘การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’ ขอให้อธิบายแนวคิดนี้
สำหรับประเทศไทยเอง ก็มองว่า เรื่องเศรษฐกิจ มันก็ไม่ได้หมายถึงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ก็หมายถึงในเรื่องของความมั่นคง หมายถึงเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AI
เศรษฐกิจเชิงรุก มีความหมายว่าอย่างไร ก็มีความหมายว่า จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสงบ และมีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น
เพราะเทรนด์ของโลกก็เปลี่ยนไปด้วย ฉะนั้น คำว่า เศรษฐกิจเชิงรุก ไม่ได้หมายความว่าเราจะมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ โดยที่ตัดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือตัดเรื่องของความมั่นคง และเรื่องของเทคโนโลยีไป
เพราะฉะนั้น ตรงนี้จะรวมทั้งเทรนด์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาทางด้านสีเขียว เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องดิจิทัล และเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก รวมทั้งที่สำคัญมากก็คือ ในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมีส่วนที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงไปในประเทศไทยด้วย
ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า การต่างประเทศไทยมีความเฉื่อยชา ขอให้อธิบายทิศทางการต่างประเทศหลังจากนี้ ที่มีการประกาศว่า จะพาไทยกลับไปมีบทบาทในเวทีโลก
จริงๆ บทบาทของไทยในเวทีโลกก็มีมาตลอด และเราก็ไม่ได้เสียบทบาทในเวทีโลกไป เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้แสดงตัวเท่าที่ควรในอดีต
เพราะฉะนั้น เวลานี้ มันก็ถึงเวลาที่จะต้องแสดงตัว ชาวโลกเขาก็ให้ความสนใจประเทศไทยมาก เขาก็อยากจะรู้ว่าประเทศไทย จากนี้ไป จะมีนโยบายอย่างไร จะมีทิศทางในเรื่องของการต่างประเทศไปอย่างไร
นี่เป็นเรื่องที่เราจะเพิ่มบทบาทของประเทศไทยให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่หมายความว่า ประเทศไทยไม่มีบทบาทในเวทีโลกเลย
กระทรวงการต่างประเทศจะมีบทบาทอย่างไรกับการผลักดันตรงนี้
กระทรวงการต่างประเทศถือว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญ อย่างทูตที่ประจำอยู่ในต่างประเทศทั่วโลก ก็มีหน้าที่จะต้องทำให้ชาวต่างชาติเห็นถึงบทบาทของประเทศไทย ว่าประเทศไทยมีส่วนในบทบาทในเวทีโลกอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค และมีส่วนในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นในสหประชาชาติ หรือในเวทีอื่นที่สำคัญ
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาลปัจจุบัน การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ มีจุดไหนที่จะทำต่างออกไปบ้าง
คือในช่วงของรัฐบาลท่านนายกฯ ประยุทธ์ ก็จะเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เวลานี้ถ้าเราจะสังเกตดู ความเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นเร็วมาก เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับช่วงที่ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐาเข้ามา สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไปมาก
ยกตัวอย่างกรณีในเรื่องอิสราเอลกับฮามาส อันนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งก็จะชี้ให้เห็นว่า ทิศทางของการต่างประเทศมันก็มีความเปลี่ยนแปลงไป จากที่ในอดีต เราจะมีความรู้สึกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โลกก็มีความสงบ และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงมากในทางเศรษฐกิจก็คือประเทศจีน รวมทั้งอาเซียนด้วย อาเซียนก็อยู่ในความสงบมาก
แต่มาในระยะหลัง หลังจากที่บางประเทศ ยกตัวอย่างประเทศเมียนมา ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการปกครองอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ทำให้เกิดสถานการณ์ในอาเซียนที่คนกล่าวหากันว่า เวลานี้ อาเซียนเกิดความแตกแยกแล้ว จริงๆ แล้วก็ยังไม่ถึงขั้นอาจเรียกว่าเกิดความแตกแยกหรอก แต่ถ้าไม่ได้มีการแก้ไขในเรื่องนี้ ก็อาจจะเกิดความแตกแยกได้ในอนาคต อันนี้ก็เป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ผมคิดว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง
อันนี้ก็เป็น 2 สถานการณ์ตัวอย่าง ที่ชี้ให้เห็นว่า ระหว่างรัฐบาลใหม่กับรัฐบาลเก่า ทำไมถึงจะมีความแตกต่างกัน ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่ประชาชนวิจารณ์กันมาก คือ ในบางเรื่อง เช่น กรณีสงครามในยูเครน ไทยอาจจะไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน หลังจากนี้กระทรวงการต่างประเทศจะมีการแสดงท่าทีอย่างไรต่อไป
อันนั้นก็เป็นแนวทางของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ในแนวทางของรัฐบาลปัจจุบัน ผมก็เชื่อว่า จะมีความชัดเจนในเรื่องต่างๆ เรื่องที่ผ่านไปแล้วมันก็ผ่านไปแล้ว มันก็คงแก้ไขไม่ได้
แต่ในเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ เราก็จะมีความชัดเจนมากขึ้นแน่นอน
ยกตัวอย่างในกรณีของอาเซียน เราก็หวนกลับไปให้การสนับสนุนอาเซียนที่มีความชัดเจนขึ้น
ในกรณีที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง อิสราเอลกับฮามาส จริงๆ แล้ว เราก็มีความชัดเจนในเรื่องที่ว่า เราไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร และเราก็ไม่ได้ยืนอยู่ข้างใคร สิ่งที่เรามีความเป็นกังวล และมีความไม่สบายใจอยู่มากก็คือ ตัวประกันของเราถูกจับไป และสิ่งที่เราต้องการจะทำเวลานี้ก็คือ นำตัวประกันคนไทยกลับมาอย่างด่วนที่สุด
ส่วนในเรื่องของความสัมพันธ์ของคนในอิสราเอลกับฮามาส หรือปาเลสไตน์ หรือตะวันออกกลางอื่นๆ ก็ดี มันก็เป็นไปตามสิ่งที่เราก็ยึดถือ UN เป็นหลัก
สำหรับวิกฤตในเมียนมา โดยสรุปแล้ว ต่อไปไทยจะมีท่าทีกับเรื่องเมียนมาอย่างไร
ผมก็มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า เมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน และในความเป็นจริงก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนอยู่ อาเซียนมี 10 ประเทศ เมียนมาก็เป็นหนึ่งในประเทศนั้น
เพียงแต่ว่า หลังจากที่เมียนมาเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทางอาเซียนเขาก็มีความรู้สึกว่า เขาออกมาตรการ ออกฉันทามติ 5 ข้อ ก็คิดว่า 10 ประเทศก็ควรจะยึดถือและปฏิบัติตามแนวทางนี้ ปรากฏว่า ทางเมียนมาเขาก็มีความรู้สึกว่า เขาไม่สามารถที่จะรับแนวทางนี้ได้ เนื่องจากว่ามันจะไปสกัดกั้นการดำรงตำแหน่งของเขา หรืออำนาจของเขาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะถามในมุมมองของผม ผมก็คิดว่า เวลานี้เราคงไม่สามารถที่จะทิ้งอาเซียนไปได้ เราไม่ได้พูดถึงว่าการปกครองของเขาถูกหรือผิด แต่เราก็คิดว่า เนื่องจากว่า เมียนมาเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศไทย และมีชายแดนติดกันยาวมาก ถึง 2,400 กิโลเมตร แล้วก็คิดว่า เป็นประเทศที่มีความสำคัญในภูมิภาคนี้ด้วย ดังนั้น เราไม่ควรคิดว่า จะปล่อยให้ [เมียนมา] โดดเดี่ยว แล้วก็พยายามดึงประเทศเมียนมากลับสู่อาเซียนให้เร็วที่สุด และช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เขามีอยู่ภายใน
สำหรับประเทศไทยเอง อาจจะเรียกว่า มีปัญหาหรือมีอุปสรรคต่างๆ ที่เป็นเรื่องระหว่างประเทศไทยกับเมียนมาโดยตรง เนื่องจากว่าเรามีชายแดนติดกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบางกลุ่มที่อาจจะมาแอบค้าขายยาเสพติด ซึ่งรัฐบาลเมียนมาเองก็อาจจะยังควบคุมไปไม่ถึง หรือในเรื่องของแรงงาน ที่มีทั้งแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายข้ามแดนมา
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นเรื่องระหว่างประเทศไทยกับเมียนมาโดยตรง ที่จะต้องคุยกันอยู่ตลอดเวลาในระดับเจ้าหน้าที่ และในบางกรณีก็ในระดับสูงด้วย ที่อาจจะต้องคุยกัน ถ้าปัญหาเหล่านั้นไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องส่วนตัว พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้าน ก็คือ เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างประเทศไทยกับเมียนมาโดยตรง แต่ไม่ได้หมายความว่า การที่เราจะไปทำอย่างนี้ เราไม่ได้ยอมรับฉันทามติของอาเซียน
กระทรวงการต่างประเทศประกาศว่าจะสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) วาระปี 2025-2027 เรื่องนี้สะท้อนว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนก็มีความสำคัญมากด้วยหรือไม่
ใช่ เราก็เห็นความสำคัญของประเด็นในเรื่องสิทธิมนุษยชน ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญ เราคงไม่สมัคร การที่เราจะสมัคร และโอกาสที่เราจะได้เข้าไปเป็น ได้กลับเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง ผมก็เชื่อว่า มันก็อยู่ที่การกระทำของเราด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าการกระทำของเราสอดคล้องกับสิ่งที่ชาวโลกมอง เราก็มีโอกาสที่จะกลับเข้าไปเป็นสมาชิกได้อีกรอบหนึ่ง
ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐฯ รวมถึงการแบ่งขั้วต่อไปในอนาคต เช่นที่เกิดจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส หรือในยูเครน ไทยจะยึดหลักการอะไรในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ
จริงๆ มันก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร [อยู่ที่] ความเข้าใจของเราต่อสถานการณ์โลกเป็นอย่างไร และสิ่งที่ประเทศไทยต้องการคืออะไร ถ้าสิ่งที่ประเทศไทยต้องการก็คือ ความกินดีอยู่ดีของประชาชนชาวไทย ความสงบเรียบร้อยของประชาชนชาวไทย และการเป็นมิตรกับประเทศทุกประเทศในโลกนี้ ถ้าเรายึดหลัก 3 หลักนี้ เราก็จะรู้ว่าเราจะต้องทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม
แต่ถ้าเราลืมเข้าใดข้อหนึ่งในนี้ไป มันก็อาจจะทำให้เราบางครั้งเผลอไป take side หรือไปเอียงข้างใดข้างหนึ่งได้
และผมก็เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจใดก็ตาม ซึ่งอาจจะไม่ได้มีแค่ 2 ขั้วแล้วในเวลานี้ อาจจะมีมากกว่า 2 ขั้ว เขาเข้าใจประเทศไทยว่าเราเป็นมิตรกับทุกประเทศ และเราก็พร้อมที่จะเป็นเพื่อนกับทุกประเทศ และพร้อมที่จะมีความสัมพันธ์ ทั้งในทางการทูต ทั้งเศรษฐกิจ และในความมั่นคงกับทุกประเทศ เพราะว่าเรามี 3 ข้อนี้
นโยบายเสริมอิทธิพลของพาสปอร์ตไทย เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย นี่เป็นส่วนหนึ่งของการพาไทยกลับมามีบทบาทด้วยหรือไม่
ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ การให้การบริการกับประชาชนที่ต้องการที่จะเดินทางไปต่างประเทศ มีความสะดวกสบายขึ้น คุณก็คงเคยไปขอวีซ่าหลายประเทศ แล้วก็ไปเจออุปสรรคต่างๆ นานา
ตอนนี้อีกประเด็นหนึ่งก็คือในเรื่องของความเท่าเทียมกัน ในกรณีที่เขาสามารถที่จะมาประเทศไทยได้โดยที่เขาไม่ต้องขอวีซ่า แต่ในขณะที่เราจะไปประเทศเขา เราต้องขอวีซ่า มันก็เกิดความไม่เทียมกัน ซึ่งเราก็ควรจะต้องเริ่มมีการปฏิบัติให้เกิดความเท่าเทียมกัน
ประเด็นซอฟต์พาวเวอร์ จากมุมมองของรัฐบาล พอจะอธิบายได้หรือไม่ว่าหมายถึงอะไร และกระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ซอฟต์พาวเวอร์ ก็คือ พาวเวอร์ที่ไม่แข็ง คือพาวเวอร์ที่นุ่มนวล ที่เป็นที่ยอมรับในเชิงความสวยงาม ในเชิงความสุข ในเชิงวัฒนธรรม ในเชิงประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ก็คือซอฟต์พาวเวอร์
ยกตัวอย่าง การดูหนังฮอลลีวู้ด ซึ่งเมื่อก่อนคนไทยก็ชอบดูมาก ก่อนที่หนังไทยจะเริ่มบูม ก่อนที่หนังของเกาหลีจะเริ่มบูม เราก็จะไปดูหนังฝรั่ง อันนั้นก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์อันหนึ่งที่เขา export ออกมา และเราก็ import เข้ามา และเราก็มีความสุขที่เราได้ดูสิ่งเหล่านี้
เหมือนเวลานี้ มวยไทย เราก็ export ออกไปให้ชาวโลกได้ดูว่ามวยไทยเป็นยังไง และคนที่เขาชอบมวยไทย เขาก็ชอบมาดู แล้วก็มาศึกษาว่ามวยไทยคืออะไร อันนี้ก็จะเป็นในเชิงวัฒนธรรม และในเชิงการทำให้เกิดการรับรู้ว่า ในประเทศเหล่านั้นมีของดีอะไรบ้าง อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ สมมติเราบริโภคหนังอเมริกัน เราก็ต้องเสียเงินให้เขาใช่ไหม ในการที่จะซื้อหนังมาดู เพราะฉะนั้น ประเทศเขาก็จะได้รายได้จากตรงนี้ และรายได้ตรงนั้นมันก็ไปเสริมหลายๆ ส่วน ก็คือ เสริมประชาชน เสริมดาราที่เล่นหนัง เสริมรายได้ของคนในชาติมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ
มันก็ไม่ได้มีแค่เฉพาะความชอบ ความสนุก หรือสำราญกับสิ่งที่เราได้สัมผัส แต่มีเรื่องเศรษฐกิจแฝงอยู่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเวลานี้ กระทรวงการต่างประเทศก็มีส่วนที่จะต้องเข้าไปดูแลตรงนี้อย่างจริงจังมากขึ้น
ไม่ใช่ที่ผ่านมาไม่มีนะ อย่างในเรื่องของอาหาร กระทรวงการต่างประเทศก็ส่งเสริมอาหารไทยในต่างประเทศจนเป็นที่รู้จัก แต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวโลกรู้ว่า กระทรวงการต่างประเทศมีส่วนทำให้ชาวโลกรู้จัก และเป็นที่ติดอกติดใจของชาวโลก
อันนี้ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ผมคิดว่า ที่ผ่านมาก็ทำอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ทำเป็นระบบ ยังทำเป็นชิ้นๆ แต่ถ้าเราสามารถจะรวมมาเป็นระบบได้ มันก็จะทำให้ส่วนอื่นที่ควรจะต้องเกิด มันจะเกิดขึ้นเร็วขึ้น
ถ้ามองไปในอนาคต อะไรคือปลายทางของการทำงานที่อยากเห็น
อันแรกคือ เราจะต้องได้รับการยอมรับ จากในอาเซียนก่อน
ซึ่งเวลานี้ เหมือนกับว่า ประเทศไทย เขาอาจจะเหลียวมอง แต่ไม่ได้เรียกไปทานข้าวด้วย
คือชำเลือง แต่ไม่ได้เชิญไปทานข้าวด้วย เราก็อยากจะให้ทั้งอาเซียนมองเห็นประเทศไทยว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ และการที่มาสนับสนุนประเทศไทย หรือประเทศไทยเริ่มมีบทบาทมากขึ้น มันจะทำให้ภูมิภาคนี้มีความแข็งแรงมากขึ้น ไม่ได้มองแค่เฉพาะประเทศไทย ประเทศไทยดี ภูมิภาคก็ดี
อันนี้ก็จะเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ซึ่งจะรวมเรื่องของเมียนมาด้วย ซึ่งเราก็ต้องหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกับอาเซียนให้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถจะแก้ไขตรงนี้ได้ ผมคิดว่า อาเซียนก็จะกลับมามีความแข็งแรง และประเทศไทยก็จะมีความแข็งแรงจากการที่อาเซียนมีความแข็งแรง
ในเรื่องของเวทีโลกก็เหมือนกัน ถ้าในอาเซียน เราได้รับการยอมรับ ในเวทีโลก เราก็จะได้รับการยอมรับไปในตัว เนื่องจากอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ชาวโลกให้ความสนใจ และไม่ใช่ชาวโลกอย่างเดียว มหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นทั้งจีน และสหรัฐอเมริกา ก็มองว่า ศักยภาพของอาเซียนที่จะเติบโต โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ จะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ และยังเป็นภูมิภาคที่ยังมีความสงบเรียบร้อย ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะเกิดสงคราม เพียงแต่ว่าในเรื่องของเมียนมาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังจะต้องแก้ให้ได้ ถ้าแก้เรื่องเมียนมาได้ ผมคิดว่า ภูมิภาคอาเซียนก็จะกลับมาแข็งแรงเหมือนที่เคยแข็งแรงเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา
โดยส่วนตัว อะไรคือแรงผลักดันในการเข้ามาทำงานในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
จริงๆ ตั้งแต่เล็กแล้ว ผมก็มีความรู้สึกว่าอยากจะมารับใช้บ้านเมือง และวิธีการที่เราจะรับใช้บ้านเมือง เราก็อยากจะเป็นข้าราชการ บรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็รับราชการมาตลอด เพราะฉะนั้น เราก็มีความรู้สึกว่า เราอยากจะมารับใช้บ้านเมือง โดยเข้าเป็นข้าราชการ ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น ผมก็รับราชการอยู่ในระยะหนึ่ง
แต่ด้วยสถานการณ์ที่มันทำให้เราจะต้องหักเหออกไปทางด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง เนื่องจากว่าเราเข้าไปทำงาน และเราก็มีโอกาสที่สัมผัสอยู่กับผู้ใหญ่หลายท่าน ตั้งแต่สมัยท่านประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แล้วก็มาท่านทักษิณ ผมก็มีโอกาสได้ทำงานกับหลายท่าน
ตรงนี้เองมันก็ทำให้ผู้ใหญ่เขาก็เห็นว่า เราเล่าเรียนมาทางนี้ และเราก็มีประสบการณ์ในทางนี้มาตลอด เขาก็เรียกไปใช้งาน และในที่สุดก็ทำให้ผมเข้ามาสู่งานทางการเมือง
ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา เหมาะสมกับตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้อย่างไร
ผมคิดว่า ถ้าถามว่าเหมาะสมไม่เหมาะสม บางครั้งมันก็เลือกไม่ได้นะ โดยเฉพาะในทางการเมือง เราอยากจะอยู่กระทรวงไหน อยากจะเป็นนักการเมืองที่เข้าไปช่วยงานในกระทรวงไหน บางทีมันก็เลือกไม่ได้
ที่ผ่านมา ผมก็อยู่หลายกระทรวง ผมเคยทำงานในกระทรวงพาณิชย์ เคยอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม เคยเป็นผู้แทนการค้า เคยเป็นประธานของคณะกรรมการ ปตท.
ผมอยู่ในเส้นทางของเศรษฐกิจมาตลอด แต่ครั้งนี้ ก็กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมทางพรรคก็ตั้งใจจะให้ผมมาเป็นรองนายกฯ และดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม แต่เนื่องจากว่า ทางพรรคก็เห็นว่า ผมอาจจะเหมาะสมกับตำแหน่งกระทรวงการต่างประเทศด้วย ก็เลยให้ผมมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ซึ่งตรงนี้ ถ้าถามว่า ผมเคยรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ ผมก็ไม่เคย เพียงแต่ว่า บรรพบุรุษก็อยู่ทางนี้ และตอนเด็กๆ ผมก็มีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศกับคุณพ่อ [ปรีชา พหิทธานุกร] ซึ่งเคยทำงานอยู่กระทรวงการต่างประเทศ แล้วก็พอจะเข้าใจว่า กระทรวงการต่างประเทศเขาทำอะไร วัฒนธรรมของคนในกระทรวงเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่า การที่เรามีความเข้าใจตรงนี้ จะทำให้เราทำงานในกระทรวงได้อย่างราบรื่น – อันนี้อาจจะต้องถามข้าราชการว่า ที่ผ่านมาราบรื่นหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าอย่างนั้น
ส่วนในเรื่องของเศรษฐกิจ ก็คงไม่มีปัญหา ก็สามารถที่จะทำงานคู่ขนานกันไปได้ และทางกระทรวงการต่างประเทศก็เอียงมาทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย เดิมอาจจะทำในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลัก เวลานี้ก็จะเอียงมาทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเปลี่ยนแนวทางการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ แต่คิดว่ากระทรวงการต่างประเทศ จริงๆ แล้วจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันในหลายๆ เรื่อง
3 เดือนหลังตั้งรัฐบาลใหม่ ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้างกับการทำงาน
ก็รู้สึกได้ทำหน้าที่ของตัวเอง และได้พยายามทำให้ดีที่สุด
ก็พอจะเข้าใจ ไม่ได้คิดว่าจะเป็นอะไรที่อยู่เหนือความสามารถของตัวเอง และด้วยความรู้ความสามารถของข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ได้ช่วยให้งานที่ผมจะทำ หรือนโยบายที่ทางรัฐบาลได้มอบหมายมา สามารถจะลุล่วงไปได้ด้วยดี และด้วยความรวดเร็ว
พงษ์ประภัสสร์ แสงสุริยง