เครื่องบินแอร์บัสลดระดับลงสู่ท่าอากาศยานนราธิวาส…
เวลาเที่ยงตรง นอกเหนือจากแสงแดดที่สะท้อนผิวทะเล ทัศนียภาพแรกที่ทุกคนบนเครื่องจะได้เห็น คือต้นมะพร้าวสูงใหญ่รายเรียงหาดบ้านทอน หาดที่ว่ากันว่าเป็นแลนด์มาร์กชมเครื่องบินแห่งใหม่ ไม่ต่างอะไรจากหาดไม้ขาว ที่อยู่ติดกับท่าอากาศยานภูเก็ต
นราธิวาสมีขนาดพื้นที่ราว 4,475 ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นจังหวัดกลางๆ หากเทียบกับจังหวัดอื่น แต่หากมองให้ลึกจะพบว่าป่าเขาได้กินพื้นที่ 2 ใน 3 ของจังหวัดไปแล้ว โดยทิศเหนือติดกับปัตตานี ตะวันออกติดอ่าวไทย และทางใต้สิ้นสุดลงที่แม่น้ำโก-ลก ซึ่งถือเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียด้วย
แต่เดิมในภาษามลายู พื้นที่แห่งนี้ถูกเรียกว่า เมอนารา (Menara) มาจากคำว่า กัวลา เมอนารา (Kuala Menara – กัวลา หมายถึง ปากน้ำ และ เมอนารา หมายถึง กระโจมไฟหรือหอคอย) ขณะที่ชาวไทยพุทธเรียกว่า บางนรา จนกระทั่งรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น นราธิวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2458
ที่จังหวัดใต้สุดของไทยแห่งนี้ สิ่งแรกที่รอต้อนรับเราคือปลากุเลาเค็ม แกงส้ม กุ้งต้มกะทิ ยำมะม่วงใส่มะพร้าว และอีกหลายเมนูท้องถิ่นขึ้นชื่อ
ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว แม้ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เราลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อรายงานเกี่ยวกับภารกิจต่างๆ ของกระทรวงการต่างประเทศในพื้นที่ รวมทั้งที่ร่วมมือกันกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในไทย และในอีกฝั่งของชายแดน ที่ต้องข้ามไปฝั่งมาเลเซีย ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน
รถขับผ่านด่านตรวจที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำการแล้วจำนวนมาก บัดนี้ เรากำลังมุ่งหน้าสู่ อ.ตากใบ ริมแม่น้ำโก-ลก เพื่อสำรวจชายแดน และภารกิจด้านเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ที่ดำเนินร่วมกันมาอย่างยาวนาน
1.
เขตแดนไทย-มาเลเซีย ตามแนวแม่น้ำโก-ลก
หนึ่งในกำหนดการคือ เราต้องลงเรือเพื่อสำรวจหลักอ้างอิงเขตแดน ตามแนวแม่น้ำโก-ลก
เส้นเขตแดนในแม่น้ำโก-ลกถือเป็นส่วนหนึ่งของพรมแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งมีระยะทางยาวทั้งหมด 662 กิโลเมตร แบ่งเป็นเขตแดนตามแนวสันปันน้ำ 556 กิโลเมตร และเขตแดนตามแนวร่องน้ำลึก 106 กิโลเมตร ฝั่งไทยครอบคลุม จ.สตูล จ.สงขลา จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส และฝั่งมาเลเซียครอบคลุมรัฐปะลิส เกดะห์ เประ และกลันตัน
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า สันปันน้ำ แต่อาจจะยังไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร สันปันน้ำ หรือ watershed คือ สันเขา หรือที่สูง ซึ่งแบ่งน้ำฝนออกเป็น 2 ฟาก ให้ไหลลงไปในแต่ละด้าน โดยไม่มีการไหลย้อนกลับ และมักใช้ในการกำหนดเขตแดนกันอยู่แล้ว
ส่วน ร่องน้ำลึก หรือ thalweg ก็หมายถึง ร่องทางเดินของน้ำ ที่เป็นส่วนที่ลึกที่สุดของแม่น้ำ
เขตแดนไทย-มาเลเซีย มีที่มาที่ไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 หรือ ค.ศ. 1909 หรือก็คือในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสยามและอังกฤษลงนามใน สนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2452 ส่งผลให้มีการปักปันเขตแดน ซึ่งกลายมาเป็นเส้นเขตแดนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สนธิสัญญาดังกล่าว ยังเป็นการตกลงกันว่า สยามจะยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือ 4 รัฐมลายู คือ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี (เกดะห์) และปะลิส ให้กับอังกฤษ การตกลงครั้งนี้เป็นบริบทส่วนหนึ่งที่จะพัฒนากลายมาเป็นวาทกรรม ‘เสียดินแดน’ ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี เรื่องนี้ถ้าจะถกเถียงกันในแง่ประวัติศาสตร์ ก็คงจะอภิปรายกันไม่จบ
แต่เส้นเขตแดนที่ตกลงกันในครั้งดังกล่าว ก็กลายมาเป็นพรมแดนที่ยังคงจับต้องได้ในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ก็เพราะในกฎหมายระหว่างประเทศ เราต่างยึดถือหลักการที่เรียกว่า การสืบสิทธิ (succession) เป็นสำคัญ
กล่าวคือ เมื่อมาเลเซียเป็นเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ก็ยังคงต้องรับเอาสนธิสัญญาที่ตกลงกันไว้เรื่องเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษมาด้วย เพื่อให้เขตแดนมีความแน่นอน มีความมั่นคง
ที่ด่านศุลกากรตากใบ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่ง ปากแม่น้ำโก-ลก กาจฐิติ วิวัธวานนท์ ผอ.กองเขตแดน และ พ.อ.จีระศักดิ์ บรรเทิง แม่กองสนามจัดทำหลักเขตแดนไทย-มาเลเซีย อธิบายเกี่ยวกับภารกิจด้านเขตแดนให้เราฟัง
“เราตบมือข้างเดียวไม่ได้ เราต้องทำร่วมกัน” ผอ.กองเขตแดนอธิบายเบื้องต้น ถึงการดำเนินการด้านเขตแดน ที่ต้องร่วมมือกันทั้งไทยและมาเลเซีย
ขณะที่ทางฝั่งไทยเอง เขาเล่าว่า “เราทำงานคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีทีม”
ดังนั้น จึงมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในระดับเทคนิค เช่น กรมแผนที่ทหาร และกรมอุทกศาสตร์
เมื่อบรรยายไปได้พอสมควร เราจึงลงเรือตำรวจน้ำ เพื่อสำรวจพื้นที่
เรือเริ่มเดินทางจากปากแม่น้ำที่ฝั่งอ่าวไทย และแล่นเข้ามาเรื่อยๆ
แม่น้ำโก-ลก มีความยาวมากกว่า 100 กิโลเมตร ครอบคลุมในส่วนที่เป็นเขตแดนตามร่องน้ำลึกของพรมแดนไทย-มาเลเซียทั้งหมด อย่างไรก็ดี ตลอดสายของแม่น้ำ ส่วนใหญ่มีความกว้างไม่ถึง 100 เมตร บ้างก็ว่า “พายเรือ 3 จ้ำ” ก็ข้ามฝั่งได้แล้ว เมื่อหลายปีก่อน ยังเคยมีข่าวน้ำลดระดับ จนคนเดินข้ามไปมาได้
เรือแล่นมาได้เพียงประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเจอกับทางแยกของแม่น้ำ ซึ่งจะแตกสาขาออกมาเป็นแม่น้ำบางนรา อีกหนึ่งแม่น้ำสายหลักของนราธิวาส
และหากนั่งเรือลึกเข้าไปอีกราวๆ 30 กิโลเมตร ก็จะพบกับตัวเมืองสุไหงโก-ลก อีกหนึ่งศูนย์กลางสำคัญ โดยเฉพาะในด้านการค้าชายแดน
ริมสองฝั่งแม่น้ำมีชุมชนกระจายตัวประปราย มองเผินๆ จากบนเรือ บรรยากาศแทบไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะฝั่งไหน สิ่งที่อาจจะพอทำให้แยกได้ คืออักษรรูมีบนอาคารบ้านเรือน หรือก็คืออักษรโรมันที่ใช้กำกับภาษามลายูในฝั่งมาเลเซีย นอกเหนือไปจากนั้น ก็มีเพียงชาวบ้านที่ใช้ชีวิตตามวิถีริมชายแดนอย่างเรียบง่าย
2.
ภารกิจปักปัน-ปักหลักเขตแดน ที่ยังคงดำเนินต่อไป
“คนไปดูเขตแดน มี 2 ประเด็นที่ชอบใช้ศัพท์ผิดกัน – ปักปัน กับ ปักหลัก ใครรู้บ้างครับว่ามันต่างกันยังไง” ผอ.กองเขตแดนตั้งคำถามชวนคิด ตั้งแต่ก่อนที่เราจะลงเรือ
แท้จริงแล้ว 2 อย่างนี้เป็นกระบวนการที่แตกต่างกัน แต่เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องกัน
การปักปันเขตแดน (delimitation) ก็คือการเจรจากำหนดเขตแดนในเชิงหลักการ ในกรณีของไทย-มาเลเซีย ก็คือการเจรจาจนได้มาเป็นสนธิสัญญาอังกฤษ-สยามดังที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น
เมื่อปักปันเขตแดนได้แล้ว ก็นำมาสู่ขั้นตอนของ การปักหลักเขตแดน (demarcation) หรือขั้นตอนของการสำรวจว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน และสร้างหลักหมายต่างๆ ในภูมิประเทศจริง เพื่อให้เส้นเขตแดนที่ตกลงกันไว้ สามารถมองเห็นและสัมผัสได้จริง
พ.อ.จีระศักดิ์อธิบายว่า การปักหลักเขตแดนไทย-มาเลเซีย สามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุคหลักๆ
ยุคที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2453-2455 ภายหลังลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษ โดยเป็นการปักหลักเขตแดนเดิมได้ 109 หลัก ตามแนวเขตแดนทางบก
ยุคที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2516-2518 กรมแผนที่ทหาร และกรมสำรวจและทำแผนที่มาเลเซีย (JUPEM) สำรวจและปักหลักเขตแดนร่วมกัน ได้ถึง 12,169 หลัก
ยุคที่ 3 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จนถึงปัจจุบัน เป็นการซ่อมแซม และบำรุงรักษาหลักเขตแดนในยุคที่ 2 ที่ชำรุดและสูญหาย
ในส่วนของเขตแดนในแม่น้ำโก-ลก ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทั้งฝั่งไทยและมาเลเซียได้ดำเนินการสำรวจร่วมกัน เป็นเวลาถึง 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2552 เพื่อปักปันเขตแดนแบบคงที่ หรือที่เรียกว่า fixed and permanent boundary ที่ไม่ว่าแม่น้ำจะเปลี่ยนทางเดินไปอย่างไร เขตแดนก็จะมีพิกัดที่คงที่เหมือนเดิม
ข้อมูลจาก พ.อ.จีระศักดิ์ ระบุว่า จากการดำเนินการ 9 ปี ส่งผลให้มีปักหลักอ้างอิงเขตแดน และหลักอ้างอิงเสริมได้ 1,550 คู่ รวมทั้งสิ้น 6,200 หลัก ทั้งฝั่งไทยและมาเลเซีย
หลักอ้างอิงเขตแดน หลักอ้างอิงเสริม คืออะไร?
กาจฐิติอธิบายในเรื่องนี้ว่า “หลักอ้างอิงเขตแดนไม่ใช่หลักเขตแดน เพราะเส้นเขตแดนอยู่ในแม่น้ำ เราถึงเรียกว่า หลักอ้างอิงเขตแดน เพราะเราปักหลักกลางแม่น้ำไม่ได้ ต่างจากเขตแดนทางบก ซึ่งเราเรียกว่า หลักเขตแดน โดยใช้สันปันน้ำ”
ใน 1 แนว จะประกอบไปด้วยหลักอ้างอิงเขตแดนรวมทั้งหมด 4 หลัก ฝั่งละ 2 หลัก หลักที่อยู่ใกล้แม่น้ำจะเรียกว่า หลักอ้างอิงเขตแดน (BRP) ซึ่งที่หัวหลักจะชี้ลงไปในแม่น้ำ ทำให้ทราบเขตแดนที่แท้จริง ส่วนที่เข้ามาทางบกมากขึ้น เรียกว่า หลักอ้างอิงเสริม (ARM) เพื่อช่วยยืนยันพิกัดของหลักอ้างอิงเขตแดน
และหลังจากนี้ ก็จะต้องมีการผลักดัน เพื่อให้มีการเจรจา และลงนาม MOU ระหว่างไทยกับมาเลเซีย รับรองผลการปักปันเขตแดนแบบคงที่ดังกล่าวต่อไป
“ความเป็นไปของการดำเนินการตลอด 9 ปี ต้องใช้ความพยายาม ตบมือข้างเดียวไม่ได้นะครับ ต้องตกลงและเห็นชอบร่วมกัน ถึงจะสามารถดูได้ว่า เขตบ้านเรา เขตแดนของเราอยู่ตรงไหน” ผอ.กองเขตแดนอธิบาย
หลังสำรวจแม่น้ำโก-ลก เรียบร้อยแล้ว เราขึ้นเรือที่ด่านศุลกากรฝั่งมาเลเซีย ตรงข้ามกับตากใบ ที่ริมแม่น้ำอีกฟากของชายแดนแห่งนี้ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์กับถึงภาพรวมของภารกิจด้านเขตแดนไทย-มาเลเซีย
“ในเรื่องของการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย เราจะเห็นว่า มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ” รองปลัดฯ ณัฐพล กล่าว
“แน่นอน เรื่องดินแดนและอธิปไตยเป็นเรื่องอันดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ เรากำลังมองก้าวข้ามไปอีกระดับหนึ่ง คือว่า เราจะทำยังไงให้การปักปันเขตแดนนำไปสู่ประโยชน์ของประชาชนสองฝั่ง เราต้องการให้ประชาชนสองฝั่ง เป็นมิตรที่ดีต่อกัน มีการไปมาหาสู่กัน มีการค้า
“การปักปันเขตแดนที่มีความชัดเจน ที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ จะนำไปสู่การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสองฝั่ง มีความกินดีอยู่ดี แลกเปลี่ยนสินค้ากันไปกันมาระหว่างกัน นี่คือเป้าหมายระยะยาวของเรา และเราก็คิดว่า สถานะของการปักปันเขตแดนด้านไทย-มาเลเซีย จะเป็นตัวอย่างให้เราทำกับเมียนมา ลาว และกัมพูชา”
ในระหว่างที่รองปลัดฯ ให้สัมภาษณ์อยู่ที่ฝั่งมาเลเซีย เสียงอะซานก็ดังขึ้นจากตากใบ – ยิ่งตอกย้ำความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมของทัังสองฝั่ง
3.
วิถีชายแดน
ขึ้นเรือที่มาเลเซีย – เราเดินทางต่อเพื่อไปพบปะกับชุมชนชาวสยามในรัฐกลันตัน
สนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ค.ศ. 1909 นอกจากจะทำให้เขตแดนไทย-มาเลเซีย เป็นรูปเป็นร่างดังในปัจจุบันแล้ว ยังส่งผลอีกอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรม และเราได้สัมผัสด้วยตาในวันนี้ นั่นคือ ทำให้คนเชื้อสายสยามหรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า ชาวสยาม ต้องกลายเป็นพลเมืองของอีกชาติไป เพราะการยก 4 รัฐมลายูให้กับอังกฤษ
ศูนย์กลางของชุมชนชาวสยามในรัฐกลันตัน อยู่ที่วัดพิกุลทองวราราม อ.ตุมปัต ถัดออกมาจากชายแดนเล็กน้อย กล่าวขานกันว่าเป็นวัดที่มีอายุถึง 700 ปี และเจ้าอาวาส พระครูสุวรรณวรานุกูล ก็เปรียบเสมือนหัวหน้าชุมชนไปด้วย ไม่ต่างจากชุมชนไทยในอดีต
“ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน คนสยามส่วนมากจะสร้างวัด วัดจะมาพร้อมกับคนสยามที่มาอยู่ เมื่อคนสยามอยู่กันเป็นชุมชน ส่วนมากสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือวัด เพราะฉะนั้น สันนิษฐานได้ว่า วัดเกิดขึ้นพร้อมกับคนสยามที่อยู่ที่นี่
“ถ้าคนสยามที่อยู่ที่นี่ประมาณ 700 กว่าปี วัดก็ประมาณนั้น” ท่านเจ้าอาวาสให้สัมภาษณ์
รัฐกลันตันถือเป็นรัฐที่เคร่งศาสนาอิสลามมากที่สุดในมาเลเซีย โดยมีประชากรที่เป็นคนมุสลิมมากกว่า 90% แต่วัดพุทธสยาม และชาวพุทธก็ยังดำรงอยู่ได้เคียงคู่มัสยิด
เรื่องนี้ชวนให้กลับมามองจังหวัดชายแดนภายใต้ อย่างเช่น จ.นราธิวาส เอง ก็มีประชากรที่เป็นคนมุสลิมถึง 82% และนับถือพุทธเพียง 17% – ในแง่ประชากรศาสตร์ยิ่งสะท้อนความคล้ายคลึงของสองฝั่งแม่น้ำโก-ลก และสองฝั่งชายแดน
หลังเสร็จภารกิจในมาเลเซีย เราเดินทางกลับประเทศไทย ผ่านด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก นั่นจึงทำให้เราได้เข้าไปรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกของด่านฯ ด้วย
จากสถิติพบตัวเลขที่น่าสนใจ เช่น ในปีงบประมาณ 2566 ไม้แปรรูปจากมาเลเซียถูกนำเข้ามามากที่สุด มีน้ำหนักถึง 22 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 321 ล้านบาท และปลาทะเลทั้งตัวแช่เย็น ก็ติดอันดับทั้งนำเข้าและส่งออก โดยนำเข้ามา 2 ล้านกิโลกรัม (48 ล้านบาท) และส่งออกไปมาเลเซีย 10 ล้านกิโลกรัม (219 ล้านบาท)
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน ซึ่งก็เคยติดอันดับนำเข้าจากมาเลเซีย ธีร์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผอ.ส่วนควบคุมทางศุลกากร อธิบายในเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เชื่อมั่นในครีมเทียมฮาลาลที่ผลิตจากมาเลเซียมากกว่า
เขายังบอกอีกว่า ไทยกับมาเลเซียเปรียบเสมือนเป็น ‘บ้านพี่เมืองน้อง’ อย่างสินค้าเช่นปลาทะเล ฤดูไหนที่ไทยจับไม่ได้ ก็นำเข้าจากมาเลเซีย และเมื่อมาเลเซียจับไม่ได้ ก็นำเข้าจากไทย
แม้ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่โลกยังคงยึดถือระบบระหว่างประเทศที่มีรัฐชาติเป็นตัวแสดงสำคัญ ซึ่งนักเรียนวิชาสังคมศึกษาคงจะท่องจำกันได้จนขึ้นใจว่า รัฐมีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ ประชากร ดินแดน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย
ดังนั้น โลกไร้พรมแดนอย่างแท้จริงคงจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้
แต่หากพูดกันแบบพลเมืองโลกสักหน่อย และจากทั้งหมดที่เราได้ไปสำรวจมา ก็คงจะไม่ผิดนัก ถ้าจะบอกว่า พื้นที่สองฝั่งชายแดนไทย-มาเลเซีย ไม่ใช่บ้านพี่เมืองน้อง หากแต่เป็นบ้านเดียวกัน
พงษ์ประภัสสร์ แสงสุริยง