ทุกๆ 4 ปี เด็กนักเรียนไทยจะต้องเข้าสู่การประเมินความฉลาดรู้ ที่เรียกว่า PISA
ผลของ PISA หรือ Programme for International Student Assessment กลายมาเป็นข้อมูลสำคัญที่นำมาสู่การปฏิรูประบบการศึกษา พัฒนาคุณครู ขณะเดียวกัน ก็เป็นข้อมูลที่ทำให้เปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ได้ชัดเจน ว่าระบบการเรียนการสอนของไทยยังคงต้องพัฒนาอยู่มาก
การประเมิน PISA ข้างต้น ซึ่งไทยเข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2000 คือตัวอย่างหนึ่งของโครงการที่ริเริ่มโดย OECD หรือ Organisation for Economic Co-operation and Development องค์การระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นยกระดับการพัฒนาในแต่ละประเทศ โดยมีปลายทางคือคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น
วันนี้ ไม่ใช่แค่ร่วมมือกันในเพียงบางเรื่อง แต่ ไทยมุ่งหน้าเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเต็มตัวแล้ว นั่นหมายความว่า จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้าง กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ในทุกด้าน เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่ OECD กำหนด
ในวาระดังกล่าว เลขาธิการ OECD มาทีอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยได้มอบ ‘โร้ดแมป’ หรือแผนการดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก (Roadmap for the Accession Process) ให้กับไทย โดยมี มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา
“กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกนี้มีนัยสำคัญมากจริงๆ เรียกได้ว่าเป็น ‘ก้าวประวัติศาสตร์’ ในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ OECD” คอร์มันน์ ระบุในสุนทรพจน์ ที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย
The MATTER ชวนไปรู้จักกับ OECD และผลประโยชน์ที่คนไทยจะได้ ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งจะกินระยะเวลายาวนานหลายปี และ OECD ระบุว่า ไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมใจประสานงาน เพื่อปฏิรูปประเทศให้ได้มาตรฐาน
OECD คืออะไร?
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) คือองค์การระหว่างประเทศที่เน้นให้คำปรึกษา ข้อมูลวิจัย และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ เกี่ยวกับการออกนโยบายและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ดำเนินงานมาแล้วมากกว่า 60 ปี นับตั้งแต่การลงนามในอนุสัญญาก่อตั้ง OECD เมื่อปี 1961
OECD พัฒนาต่อยอดมาจาก OEEC หรือ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งภาคพื้นยุโรป (Organisation of European Economic Cooperation) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1948 เพื่อจัดสรรทรัพยากรที่เป็นความช่วยเหลือของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้ ‘แผนมาร์แชลล์’ (Marshall Plan) ซึ่งก็จะเห็นได้ตั้งแต่ต้นว่าเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
“Better policies for better lives” (“นโยบายที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า”) คือวิสัยทัศน์ของ OECD
นั่นหมายความว่า เป้าหมายขององค์การ คือ การพัฒนาแนวนโยบาย แนวปฏิบัติ รวมถึงยกระดับมาตรฐานต่างๆ ในแต่ละประเทศ ซึ่ง OECD ก็ระบุว่า มีภารกิจหลักใน 3 ด้าน คือ
- ให้ข้อมูล (inform) – OECD มีหน้าที่ให้ความรู้ ข้อมูลวิจัย และรายงาน กับสมาชิกและประเทศต่างๆ ที่เป็นหุ้นส่วน เพื่อยกระดับการออกนโยบาย
- จัดประชุม (convene) – OECD เป็นเวทีแลกเปลี่ยนไอเดียและแนวปฏิบัติที่ดี (best practices) ระหว่างประเทศต่างๆ โดยมีคณะกรรมการ (committees) มากกว่า 300 คณะกรรมการ แบ่งย่อยเป็นเรื่องต่างๆ เช่น ภาษี เกษตรกรรม สาธารณสุข แรงงาน การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ฯลฯ
- กำหนดมาตรฐาน (set standards) – ผลของการประชุมแต่ละคณะกรรมการข้างต้น จะออกมาเป็นตราสารระหว่างประเทศ (legal instruments) ที่สมาชิกต้องปฏิบัติตาม ซึ่งปัจจุบันนี้มี 273 ฉบับ เป้าหมายหลักๆ คือ เพื่อสร้างความเท่าเทียม (level the playing field) และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
OECD ในฐานะ ‘แหล่งความรู้ของประเทศพัฒนาแล้ว’
“การที่ OECD เป็นเวทีสำคัญเช่นนี้ในการกำหนดนโยบายในระดับโลก ก็แปลว่า หากประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วม เราก็จะเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในโลกเกิดขึ้นก่อน” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เคยกล่าวไว้ในงานเสวนาครั้งหนึ่ง
ปัจจุบัน OECD มีสมาชิกทั้งหมด 38 ประเทศ แทบทั้งหมดเป็นประเทศยุโรป ประเทศเอเชียขณะนี้มีเพียงแค่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว
“OECD ถูกเรียกว่าเป็นคลับของคนรวย (rich man’s club)” กีตา โคธารี (Gita Kothari) รองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ OECD กล่าวที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของเลขาธิการ OECD
“เราไม่ชอบคำอธิบายดังกล่าว เพราะมันไม่ได้สะท้อนสิ่งที่ OECD เป็นในปัจจุบัน – แท้จริงแล้ว OECD เป็นคลับที่ว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ดี (club of best practices)”
ดร.สมเกียรติ เคยอธิบายไว้ในทำนองเดียวกันว่า “สมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นประเทศรายได้สูง เพราะฉะนั้น ภาพลักษณ์ OECD คือ [เป็น] แหล่งรวมความรู้ของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีโนว์ฮาว (know-how) ของการพัฒนาเศรษฐกิจเยอะ มีผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ เรื่อง และเป็นเวทีให้ประเทศต่างๆ ไปแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี”
ไทยมุ่งหน้าเป็นสมาชิกอย่างเต็มตัว
ก่อนหน้านี้ ไทยกับ OECD มีประวัติความร่วมมือกันมานานแล้ว – การประเมิน PISA คือตัวอย่างหนึ่ง
ปัจจุบัน ไทยเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD จำนวน 12 ฉบับ และก่อนหน้านี้ ไทยยังได้เข้าร่วม Country Programme (CP) มาตั้งแต่ปี 2018 โครงการที่ใช้เครื่องมือและความเชี่ยวชาญของ OECD มาปรับให้ไทยได้มาตรฐานตามองค์การ โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วม และเพิ่งต่ออายุในระยะที่ 2 เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา
ไทยยังเคยเป็นประธานร่วมกับเกาหลีใต้ ในโครงการ Southeast Asia Regional Programme (SEARP) ช่วงปี 2018-2022 ที่เน้นปรับโครงสร้างตามมาตรฐาน OECD เช่นเดียวกัน แต่เน้นในระดับภูมิภาค
จนกระทั่งปลายปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่ง ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้เดินทางไปมอบให้กับ OECD ที่สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2024 ทำให้ OECD มีมติเห็นชอบแผนการเข้าเป็นสมาชิกของไทยในเวลาต่อมา
ได้ประโยชน์อะไร?
ก่อนที่จะเดินหน้าสมัครสมาชิก กระทรวงการต่างประเทศได้จ้าง TDRI ศึกษาและวิจัยความเหมาะสม ซึ่งผลการศึกษาก็ระบุว่า การเป็นสมาชิกจะได้ประโยชน์มากกว่าการไม่เป็นสมาชิก
เนื่องจาก OECD มีเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานต่างๆ มากมาย ดังที่ได้พูดถึงไปข้างต้น TDRI ระบุว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะเป็นการสนับสนุนและผลักดันการปฏิรูปประเทศของไทยในทุกๆ ด้าน เช่น การค้าการลงทุน การต่อต้านคอร์รัปชัน การปฏิรูประบบภาษี การลดความเหลื่อมล้ำ และประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เทียนสว่าง ธรรมวณิช นักวิจัยอาวุโส TDRI กล่าวว่า “OECD ไม่ได้เป็น ‘think tank’ แต่เป็น ‘do tank’ หมายความว่า เป็นเวทีของนักปฏิบัติ มาร่วมกันแชร์ประสบการณ์ มาตรการ หรือนโยบายต่างๆ มันได้พิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร เพราะฉะนั้น มันก็จะประหยัดเวลา และงบประมาณของภาครัฐ ไม่ต้องมาลองผิดลองถูกกันอีก เชื่อมั่นได้ระดับหนึ่งว่า ถ้าเอาคำแนะนำที่ OECD ไปใช้ ก็น่าจะได้ผลในระดับหนึ่ง”
นอกจากนี้ เนื่องจาก OECD เป็นเวทีกำหนดมาตรฐาน การเข้าเป็นสมาชิกจะทำให้ไทยมีส่วนร่วมและบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาในระดับโลกได้มากขึ้น ท้ายสุด ผลปลายทางของการเป็นสมาชิก คือ ภาพลักษณ์ของประเทศต่อนักลงทุนดีขึ้น มาจากความโปร่งใส การแข่งขันอย่างเป็นธรรม และภาครัฐมีประสิทธิภาพ จากการปฏิรูปโครงสร้าง
TDRI ยังระบุเป็นตัวเลขชัดเจนว่า การเป็นสมาชิก OECD น่าจะทำให้ GDP ของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นประมาณ 2.7 แสนล้านบาท จากการลดข้อจำกัดในการลงทุนต่างๆ ขณะที่เลขาธิการ OECD กล่าวเองว่า การเข้าร่วมกับ OECD จะช่วยสนับสนุนให้ไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูง (high-income economy) ตามที่ไทยตั้งเป้าไว้ ภายในปี 2037
“แน่นอนว่า ประโยชน์ของการเข้าเป็นสมาชิก OECD ไม่ได้มีเพียงข้างเดียว”
คอร์มันน์ระบุ
“ในฐานะระบบเศรษฐกิจที่มีชีวิตชีวา และผู้นำระดับภูมิภาค ทั้งในกรอบ ASEAN และ APEC ไทยมีข้อมูลเชิงลึกด้านนโยบายที่สามารถแบ่งปันให้กับครอบครัว OECD ได้ด้วย … ผ่านมุมมองที่เป็นของคุณ บนพื้นฐานของประสบการณ์ ความท้าทาย และความสำเร็จของคุณเอง เราจะเป็น OECD ที่เข้มแข็งขึ้น ดีขึ้น และหลากหลายขึ้น หากไทยเข้าเป็นสมาชิก”
หนทางข้างหน้ายังไม่ง่าย
ขณะนี้ ไทยอยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไทยต้องทำหรือปรับปรุง
ลำดับถัดไป ไทยต้องยื่นข้อตกลงเบื้องต้น (initial memorandum) ซึ่งเป็นการประเมินตนเอง ว่าไทยมีกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐาน OECD มากน้อยแค่ไหน จากนั้น ในขณะที่ไทยต้องปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ OECD ก็จะประเมินไทยในทางเทคนิค ใช้คณะกรรมการถึง 26 คณะ ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจ นโยบายเชิงโครงสร้าง การศึกษา การเก็บภาษี ฯลฯ
หากผลการประเมินผ่านทั้งหมด ก็จะได้รับคำเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์
OECD ย้ำอยู่เสมอว่า กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกไม่ได้มีเดดไลน์ตายตัว ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของแต่ละประเทศ แต่รัฐบาลไทยเองก็ตั้งเป้าว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 5 ปี
“เราจะก้าวไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จะใช้เวลานานที่สุดเท่าที่จำเป็น” (“We will go as fast as possible and take as long as necessary.”) เลขาธิการ OECD ระบุ
“กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกนี้ เป็นเหมือนมาราธอน มากกว่าการวิ่งเร็วระยะสั้น” คอร์มันน์กล่าว
พงษ์ประภัสสร์ แสงสุริยง