ปฏิเสธไม่ได้ว่า สายตาโลกคงจับจ้องไปที่การพบปะกันระหว่างสองมหาอำนาจ ‘โจ ไบเดน’ (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ ‘สี จิ้นผิง’ (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีน มากกว่า ในห้วงการประชุม APEC ประจำปี 2023 ที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ
แต่ยังมีสมาชิก APEC อีกแห่งหนึ่ง ที่พยายามกวักมือเรียกนักลงทุนต่างชาติบนเวทีนี้ ด้วย ‘เมสเสจ’ ที่ผ่านการเปล่งเสียงย้ำอย่างหนักแน่น – นั่นก็คือประเทศไทย
“ประเทศไทยกลับมาแล้ว … ถึงเวลามาลงทุนที่ประเทศไทยแล้ว” เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศบนเวที APEC CEO Summit 2023 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน
เราคงคุ้นเคยกับการประชุม APEC อยู่บ้าง เหตุที่ไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพในปี 2022 ที่ผ่านมา ปีนี้ สหรัฐฯ ได้รับบทบาทให้เป็นเจ้าภาพจัด APEC 2023 ที่ผู้นำของสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมารวมตัวกันที่ซานฟรานซิสโก
คู่ขนานไปกับการหารืออย่างการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) และการประชุมทวิภาคีของประเทศต่างๆ (เช่น การพบปะกันระหว่างไบเดนกับสี)
แล้วไทยไปทำอะไรที่นั่นบ้าง? The MATTER ตามไปรายงานกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิดถึงนครซานฟรานซิสโก สิ่งที่ได้ติดไม้ติดมือกลับมา คือ ‘อินไซต์’ จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงจำนวนมากของกระทรวงฯ – และนี่คือบทสรุปผ่านสายตานักข่าว จากเมืองแห่งโกลเดนเกต
ปูพื้นฐาน: สรุปแล้ว APEC คืออะไรกันแน่?
“APEC is going to be EPIC” (“APEC จะต้องยิ่งใหญ่”)
ทันทีที่ล้อเครื่องบินแตะพื้น เราก็ได้รับการต้อนรับด้วยข้อความดังกล่าว ปรากฏบนป้ายที่ติดตั้งโดยเมืองเจ้าภาพอย่างซานฟรานซิสโก ตั้งแต่ท่าอากาศยานนานาชาติซานฟรานซิสโก (San Francisco International Airport) ไปจนถึงศูนย์กลางของการประชุมอย่าง มอสโคนีเซ็นเตอร์ (Moscone Center) ในย่านที่เรียกว่า SoMa
ว่าแต่ APEC คืออะไรกันแน่?
APEC อ่านว่า ‘เอเปค’ ย่อมาจาก Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ ‘ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก’ คือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของ ‘เขตเศรษฐกิจ’ รอบๆ มหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งหมด 21 แห่ง (คำว่าเขตเศรษฐกิจ ก็มีความหมายเทียบเคียงได้กับคำว่าประเทศนั่นแหละ เพียงแต่ใน APEC จะมีบางเขตเศรษฐกิจ เช่น ไต้หวัน รวมอยู่ด้วย จึงใช้คำว่าเขตเศรษฐกิจเป็นหลัก)
ถ้าว่ากันโดยตัวเลข APEC ถือว่าเป็นกลไกการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมีประชากรราว 2.95 พันล้านคน มีสัดส่วนใน GDP โลกประมาณ 62% และสัดส่วนในการค้าโลก 48% ในปี 2021
APEC เริ่มต้นการประชุมครั้งแรกในปี 1989 ที่เมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย นับตั้งแต่นั้นมา กรุงเทพฯ ก็ได้รับบทบาทเป็นเจ้าภาพอยู่ 3 ครั้ง คือในปี 1992 (สมัยรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน) ปี 2003 (สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร) และล่าสุดเมื่อปี 2022 (สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ในเรื่องนี้ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงบอกกับเราด้วยว่า
“APEC สำหรับประเทศไทย ก็เป็นเรื่องที่ปกติแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมีความน่าเป็นห่วง หรือเป็นเรื่องใหม่ และก็เป็นเวทีที่เป็นประโยชน์ ก็เป็นเวทีทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก”
ส่วนในปีนี้ สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ มาพร้อมกับธีม “Creating a Resilient and Sustainable Future for All” (“สร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน”) ก่อนที่จะเตรียมส่งไม้ต่อให้เปรูเป็นเจ้าภาพในปีหน้า คือ ปี 2024 ที่เมืองกุสโก
“APEC ไม่ใช่เวทีการเจรจา – APEC มีหลักคือ มัน non-binding [ไม่มีผลผูกพัน] มันสมัครใจ แต่พยายามกระตุ้นให้ทุกคนทำให้มากที่สุด” สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ อธิบายให้ The MATTER ฟัง ถึงลักษณะการทำงานของ APEC “เป็นลักษณะที่มาร่วมมือกัน พยายามที่จะทำทุกอย่างให้การค้าเสรี การลงทุนเสรี โดยสมัครใจ”
“ถึงเวลามาลงทุนที่ประเทศไทยแล้ว” ประเด็นหลักของรัฐบาลไทย
เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของนายกฯ เศรษฐาเลยก็ว่าได้ สำหรับเวที APEC CEO Summit ที่จัดขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน กลางสัปดาห์การประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week หรือ AELW)
ถ้าพูดภาษาบ้านๆ คือ นายกฯ ได้ ‘ซีน’ ไปเต็มๆ เกือบ 15 นาที ท่ามกลางผู้เข้าร่วมงาน ที่มีการระบุว่า เป็นผู้นำโลกและผู้บริหารภาคธุรกิจมากกว่า 1,200 คน ด้วยค่าเข้างานที่สูงลิ่วถึง 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 140,000 บาท)
ในเรื่องนี้ เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นถึงนัยสำคัญของงานว่า “เป็นโอกาสที่ท่านนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ รัฐบาลใหม่ของไทย จะมาเปิดตัวกับผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC
“ซึ่ง 10-15 ลำดับแรกของคู่ค้ามูลค่าสูงสุดของไทย ก็มาจากเขตเศรษฐกิจ APEC ทั้งหมด ผมคิดว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างความชัดเจนในทิศทางที่จะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจ”
เมื่อสปีชผ่านไปไม่ถึงนาที ก็จับใจความได้ไม่ยากว่า สิ่งที่นายกฯ ไทยต้องการสื่อสารไปทั่วโลก คือ การเชื้อเชิญนักลงทุนให้มาลงทุนที่ไทย
“ขอให้ผมเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ประเทศไทยกลับมาแล้วอย่างเต็มที่ ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ” ขึ้นต้นประโยคแรก ของนายกฯ เศรษฐา บนเวที APEC CEO Summit 2023 “เรากำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง นโยบายทางเศรษฐกิจและแรงจูงใจด้านการลงทุนต่างๆ ได้กลายมาเป็นแกนกลางสำคัญ และกำลังถูกนำในปฏิบัติอย่างเต็มที่
“ลำดับความสำคัญของเราอยู่ที่การขยายการเจริญเติบโต ส่งเสริมการแข่งขัน และยกระดับตำแหน่งของเรา ในฐานะปลายทางสำคัญด้านการค้าและการลงทุน เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างและส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม ในขณะที่สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน”
“บนพื้นฐานนี้ ผมต้องบอกว่า ถึงเวลามาลงทุนที่ประเทศไทยแล้ว” เศรษฐาประกาศ
อันที่จริง นอกเหนือไปจากแพลตฟอร์ม APEC อย่างในการประชุมทวิภาคีกับประเทศต่างๆ สิ่งที่นายกฯ ให้ความสำคัญ ก็ไม่พ้นเรื่องของการเชิญมาลงทุนในไทยไม่ต่างกัน
ในห้วง APEC 2023 นายกฯ ของไทยได้พบกับผู้นำเขตเศรษฐกิจหลายแห่ง เช่น ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกฯ ญี่ปุ่น, จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกฯ แคนาดา, แอนโทนี แอลบาเนซี (Anthony Albanese) นายกฯ ออสเตรเลีย และ จีนา เรมอนโด (Gina Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ
“เป็นประเทศที่เราให้ความสำคัญทั้งหมด” เชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับ The MATTER
แต่ละประเทศมีประเด็นในการชวนมาลงทุนแตกต่างกันไป จากคำอธิบายของเชษฐพันธ์ เช่น ย้ำกับญี่ปุ่นให้มองไทยในฐานะฐานการลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นต่อไป เชิญแคนาดามาร่วมลงทุนในเรื่องพลังงานสะอาด หรือยืนยันกับสหรัฐฯ ว่า ไทยพร้อมเป็นฐานผลิต ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ที่สหรัฐฯ ต้องการกระจายความเสี่ยงจากเขตเศรษฐกิจอย่างไต้หวัน เป็นต้น
ความยั่งยืน: สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพ ต่อยอด ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ จากไทย
แม้เรื่องของความยั่งยืน หรือ sustainability อาจจะเป็นอะไรที่ดู ‘คลิเช่’ ในยุคสมัยนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า เรื่องนี้ได้กลายมาเป็นประเด็นหลักมากๆ ในการพูดคุยของ APEC
และที่สำคัญคือไทยมีบทบาทอย่างมาก ในการพูดคุยและผลักดันเรื่องนี้ที่ APEC โดยมีแก่นกลางอยู่ที่เอกสาร ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ (Bangkok Goals) ที่นำเสนอเรื่องโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นหลัก (ซึ่งเป็นคนละอย่างกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง)
เชิดชายอธิบายว่า ตั้งแต่ต้นปี สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพ ก็ไม่ได้มีธีมอะไรเป็นพิเศษ นอกจากความต้องการนำ ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ ที่ประกาศครั้งเมื่อไทยเป็นเจ้าภาพ APEC ในปี 2022 ไปปฏิบัติ “การเป็นเจ้าภาพของสหรัฐฯ ก็คือ เป็นส่วนต่อขยาย (extension) ของการเป็นเจ้าภาพของไทยเมื่อปีที่แล้ว” เขาเล่า
ต้องเท้าความเล็กน้อยว่า เอกสาร ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’ คือฉันทามติของผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในการประชุมที่ไทยเมื่อปีที่แล้ว โดยผลักดันโมเดลเศรษฐกิจที่ไทยนำเสนอบนเวทีโลกมาอย่างสม่ำเสมอ นั่นก็คือ โมเดลที่เรียกว่า BCG ย่อมาจาก Bio-Circular-Green Economy เป็นการผสมผสานระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy)
อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศอธิบายว่า เอกสาร ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ ดังกล่าว “เป็นพื้นฐานสำคัญที่วันนี้ทำให้ APEC สามารถมีแพลตฟอร์ม และมานั่งพูดในเรื่องของการขับเคลื่อนการทำธุรกิจ” ที่เน้นในเรื่องของความยั่งยืนได้
ที่น่าสังเกต คือ ไทยได้พื้นที่ในการประกาศรางวัล APEC BCG Award ซึ่งมีขึ้นครั้งแรก ในการประชุมรัฐมนตรี APEC (APEC Ministerial Meeting หรือ AMM) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนด้วย
อีกงานหนึ่งที่น่าสังเกตว่าไทยได้รับบทบาทสำคัญให้พูดเรื่องความยั่งยืน คือเวที Sustainable Future Forum ในวันที่ 14 พฤศจิกายนเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการจัดขึ้นครั้งแรก โดยหน่วยงานที่เรียกว่า National Center for APEC (NCAPEC) และให้ความสำคัญกับรัฐบาลไทยด้วยให้การผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ สีหศักดิ์ ขึ้นกล่าวเปิดการประชุม ก่อนการเสวนาจากภาคเอกชนในสหรัฐฯ
บนเวทีนี้ สีหศักดิ์อธิบายถึงโมเดลเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยผลักดันว่า “ผมคิดว่า BCG ไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่า เราจัดระเบียบเศรษฐกิจของเราอย่างไร แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิต ทำงาน และทำธุรกิจ เพื่อปูทางไปสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืนมากขึ้น”
เขายังอธิบายด้วยว่า เป้าหมายหลักของ BCG มีอยู่ 4 ประการ คือ (1) ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change (2) สร้างความก้าวหน้าให้กับการค้าการลงทุนที่ยั่งยืน (3) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ (4) ผลักดันการจัดการขยะแบบยั่งยืน
ความเชื่อมโยง: ไทยชู ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมมหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก
อีกแง่มุมหนึ่งที่ไทยเน้นย้ำในห้วง APEC คือประเด็นของความเชื่อมโยง โดยในปีนี้สิ่งที่ชัดเจนมากๆ คือ การนำเสนอเมกะโปรเจ็กต์ ‘แลนด์บริดจ์’ ที่จะเชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิก ของรัฐบาลไทย
บนเวที APEC CEO Summit เช่นกัน เศรษฐากล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ในฐานะส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องการค้าการและการลงทุน
“เรากำลังใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากทำเลทางด้านภูมิศาสตร์ของเราในภูมิภาค และเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อพัฒนาแลนด์บริดจ์ โครงการนี้จะเชื่อมโยงทะเลอันดามันเข้ากับอ่าวไทย” เศรษฐากล่าว
“มันจะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก และช่วยบรรเทาอุปสรรคที่ต้องเผชิญในภูมิภาค นี่เป็นโปรเจ็กต์ที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะกับไทย แต่กับโลกด้วย เพราะนี่จะทำให้มีจุดเชื่อมโยงเพิ่มขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง ระหว่างตะวันออกกับตะวันตก”
นายกฯ ยังทิ้งท้ายในเรื่องนี้ว่า “วิสัยทัศน์ของรัฐบาลของผม คือ การทำให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางระดับภูมิภาคด้านพาณิชย์และโลจิสติกส์ภายในทศวรรษนี้ เราพร้อมต้อนรับนักลงทุนที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มอันน่าตื่นเต้นนี้”
ขณะที่เชิดชาย กล่าวกับ The MATTER อีกว่า นายกฯ เศรษฐา ยังได้ตอกย้ำเรื่องของ ‘แลนด์บริดจ์’ อีกครั้ง ในการประชุม APEC Economic Leaders’ Retreat เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมระดับผู้นำของ APEC อีกด้วย
ประชุม IPEF กรอบความร่วมมือที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ
คู่ขนานไปกับการประชุม APEC ในรูปแบบต่างๆ ยังมีการประชุมอีกฟากหนึ่ง ที่มีเจ้าภาพเป็นสหรัฐฯ ด้วยเช่นเดียวกัน และเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย – นั่นก็คือ การประชุมกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF – อ่านว่า ไอเพฟ)
ในรอบการประชุมที่ซานฟรานซิสโกนี้ มีรองนายกฯ ปานปรีย์ เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีในกรอบ IPEF เสาความร่วมมือที่ 1 คือด้านการค้า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ก่อนที่ จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะรับช่วงต่อ เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับเสาความร่วมมือที่ 2-4 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน
เท้าความเล็กน้อยว่า IPEF คือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ (เช่นในการประชุมครั้งนี้ ก็มี แคทเธอรีน ไท่ [Katherine Tai] ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เป็นประธาน) โดยมีสมาชิก 14 ประเทศ คือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิจิ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย
สีหศักดิ์ อธิบายถึงลักษณะของกรอบความร่วมมือนี้ว่า “IPEF ไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้าเสรีอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่สิ่งที่ IPEF ทำ คือ จะเพิ่มการค้าการลงทุน เพราะเป็นการอำนวยความสะดวก ขจัดอุปสรรค สร้างมาตรฐานสูงขึ้น และทำให้มาตรฐานต่างๆ สอดคล้องกัน”
ทั้งนี้ IPEF จะประกอบไปด้วย 4 เสาความร่วมมือ (Pillars) ได้แก่
- เศรษฐกิจเชื่อมโยง (Connected Economy) – กำหนดข้อบังคับสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล
- เศรษฐกิจยืดหยุ่น (Resilient Economy) – ดำเนินการให้ห่วงโซ่อุปทานมีความปลอดภัยและยืดหยุ่น
- เศรษฐกิจสะอาด (Clean Economy) – การจัดการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
- เศรษฐกิจเป็นธรรม (Fair Economy) ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทันสมัย บังคับใช้กฎการค้าที่เป็นธรรม
ส่วนสาเหตุที่ไทยเข้าร่วมก็เพราะว่า “เราอยากที่จะเห็นความร่วมมือที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจ” สีหศักดิ์ระบุ “ที่เราสนับสนุนก็เพราะว่า มันให้สหรัฐฯ มามีส่วนร่วม (engage) กับประเทศในภูมิภาค ในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอะไรที่สร้างสรรค์ และตรงกับความต้องการของเรา”
บทสรุป APEC 2023
ทั้งหมดที่กล่าวมา ก็คือประเด็นบางส่วนที่น่าสนใจ ที่รัฐบาลไทยผลักดัน เข้าร่วม หรือพูดคุย บนแพลตฟอร์มของ APEC
จริงๆ แล้วมีรายละเอียดยิบย่อยมากๆ ที่คงไม่สามารถสรุปได้ทั้งหมด แต่หากจะรวบยอดประเด็นที่สำคัญที่สุด จากที่ปรากฏในปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ซึ่งเป็นฉันทามติร่วมกัน ที่ปีนี้ออกมาในชื่อ ‘ปฏิญญาโกลเดนเกต’ (Golden Gate Declaration) นอกจากเรื่องของการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการค้าการลงทุน ที่จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว เรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากๆ ก็คือ ความยั่งยืน และการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
จากมุมมองของนักข่าวที่ได้ไปสังเกตการณ์ในเชิงการจัดงาน ถ้าให้ประเมินภาพรวม ก็ต้องถือว่าราบรื่นพอสมควร แตกต่างจากบางปี เช่น ปี 2018 ที่ปาปัวนิวกินี ที่จบลงโดยที่ไม่ได้อะไรเลย เหตุเพราะความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ (ขณะที่ในปีนี้ แม้แต่การพบปะระหว่างสีกับไบเดน ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าเกิดขึ้นหลายประการ ที่สำคัญคือการที่ทั้งสองตกลงให้กลับมามีการสื่อสารระดับสูงระหว่างกองทัพ)
ส่วนในการประชุม APEC ก็มีข้อตกลงออกมาเป็นเอกสาร 2 ฉบับ ทั้ง ‘ปฏิญญาโกลเดนเกต’ ซึ่งเป็นข้อกลงระดับผู้นำ รวมถึงเอกสาร ‘แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรี’ (Joint Ministerial Statement) ที่มาจากการประชุม APEC ระดับรัฐมนตรีด้วย มากไปกว่านั้น ที่สำคัญ คือการที่สหรัฐฯ จัดให้มีการถ่ายภาพหมู่ผู้นำได้สำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นที่ไทยในปี 2022
เชิดชายอธิบายในเรื่องนี้ว่า “จริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย จากการเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เราเห็นกันทั่วโลก ปีที่แล้วที่เราเป็นเจ้าภาพ เราไม่สามารถที่จะจัดเรื่องของการถ่ายภาพหมู่ได้ ในปีนี้ สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพก็สามารถที่จะจัดการถ่ายภาพหมู่ขึ้นมาได้ โดยผู้เข้าร่วมครบทุกเขตเศรษฐกิจของ APEC รวมทั้งแขกของประธานด้วย”
นอกจากนี้ เขาชี้ให้เห็นถึงนัยสำคัญ ที่นายกฯ เศรษฐาของไทย ได้ยืนติดกับไบเดน ในการถ่ายภาพด้วย “จุดที่น่าสนใจมากๆ ก็คือว่า สหรัฐฯ ก็ให้ความสำคัญกับไทยมาก ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพ APEC ในปีที่แล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ยืนถ่ายติดกับเจ้าภาพ ก็คือท่านประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาสแรกๆ ในการประชุมในสัปดาห์นี้ ที่ผู้นำจะได้มีโอกาสเจอกันใกล้ชิด”
ส่วนไทย ก็ถือว่าได้หลายสิ่งติดไม้ติดมือกลับไป ที่สำคัญคือการส่งต่อโมเมนตัมของประเด็นเรื่องโมเดลเศรษฐกิจ BCG และ ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ ให้เป็นที่ยอมรับและนำไปปฏิบัติต่อไปในหมู่สมาชิก APEC
ขณะที่นายกฯ ไทย ก็ได้มาประกาศต้อนรับนักลงทุน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ของรัฐบาล ส่วนเรื่องของการสานสัมพันธ์กับมหาอำนาจที่แน่นแฟ้นขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจน ในโมเมนต์เล็กๆ อย่างการเซลฟี่กับไบเดน หรือการคุยเรื่องฟุตบอลกับสี ของนายกฯ เศรษฐา
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตในการประชุม APEC ปีนี้ ก็คือ ไม่มีการพูดถึงสงครามอิสราเอล-ฮามาส หรือสงครามยูเครน ในปฏิญญาร่วมกันของผู้นำ แถลงการณ์ของเจ้าภาพชี้ว่า “ผู้นำบางส่วนคัดค้านการระบุประเด็นเช่นนี้ในปฏิญญาโกลเดนเกตของผู้นำ APEC 2023 บนพื้นฐานที่ว่า พวกเขาไม่เชื่อว่า APEC คือที่ประชุมสำหรับการอภิปรายประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์”
หลังจากนี้ ชวนจับตาว่า เปรูในฐานะเจ้าภาพ จะสานต่อโมเมนตัมนี้อย่างไร หรือหยิบยกเรื่องใดไปเป็นประเด็นสำคัญ
และต้องมาจับตาดูกันต่อไปว่า ที่ทางการได้เจรจาพูดคุยกันไปทั้งหมดนั้น จะออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้เห็นมากน้อยแค่ไหน
เช่นเดียวกับนายกฯ เศรษฐา ที่ได้พูดคุยช่วงหนึ่งกับคนไทย ในงานพบปะชุมชนไทยในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ก่อนบินกลับไทย ว่า “กลับไปก็คงจะเดินทางน้อยลง เพราะว่าไปประเทศหลักมาแล้ว ไปประชุมในสมัชชาใหญ่ๆ มาแล้ว ได้มีโอกาสเจอผู้นำในระดับโลกมาเยอะแล้ว … ภารกิจหลักต่อไปของรัฐบาลนี้ ก็คือ ไปทำให้เกิดเป็นรูปธรรม”
พงษ์ประภัสสร์ แสงสุริยง