เมื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ระหว่างพูดออกไปตรงๆ กับเก็บงำความรู้สึกไว้ในส่วนที่ลึกที่สุด คุณมักจะเลือกทางไหนมากกว่ากัน?
แม้จะรู้ดีว่าการพูดออกไปตรงๆ ย่อมทำให้เราเดินไปถึงปลายทางได้สั้นและรวดเร็วกว่า แต่ปลายทางนั้นก็ใช่ว่าจะหมายถึงสันติภาพและความสงบสุขเสมอไป ในทางกลับกัน มันอาจจบลงที่การกระทบกระทั่งทางอารมณ์ จนระเบิดเหลือแต่เศษซากความสัมพันธ์ที่ยากจะประกอบกลับให้เหมือนเดิม
บางคนจึงเลือกตอบโต้โดยใช้ประโยคเบสิคอย่าง “ป่าว ก็ไม่ได้เป็นไรนี่” แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่อาจปฏิเสธโทนเสียงที่เต็มไปด้วยความไม่พึงพอใจ การเคลื่อนไหวของดวงตาที่กรอกไปมาเป็นโรลเลอร์โคสเตอร์ หรือเผลอมองบนจนเกือบทะลุเพดานได้
การแสดงความก้าวร้าวมิติใหม่ ที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง
หนังสือ The Angry Smile: The Psychology of Passive-Aggressive Behaviour in Families, School, and Workplaces โดย โจดี้ ลอง (Jody E. Long) นิโคลัส ลอง (Nicholas J. Long) และซินยา วิทสัน (Signe Whitson) อธิบายพฤติกรรมที่เราได้กล่าวไปข้างต้นว่าเป็น ‘Passive-Aggressive’ หรือการแสดงความโกรธ ความก้าวร้าว ความไม่พอใจแบบ ‘แอบแฝง’
ทั้งๆ ที่มันง่ายกว่าถ้าเราเป็นคนที่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง และแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา แต่ในความเป็นจริง ใครจะกล้าแสดงออกทุกอย่างตามที่ตัวเองรู้สึกกันล่ะ จริงมั้ย?
ด้วยเหตุนี้ บางครั้งเราจึงแสดงออกในทิศทางตรงกันข้ามกับความรู้สึก หรือที่เรียกว่า Passive Behavior ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดจาก ‘ความกลัว’ ความไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เลยเลือกกดหรือข่มความรู้สึกที่แท้จริงไว้ ไม่แสดงออกไปอย่างที่ใจหวังได้
…ฟังดูน่าอึดอัด
โดยเฉพาะเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้โกรธเหมือนมีไฟสุมในใจ จนเกือบจะเผลอแสดงพฤติกรรมเกรี้ยวกราด (Aggressive Behavior) ออกมา ก็แทบไม่ต้องคาดเดาต่อเลยว่าผลลัพธ์ที่ตามมาจะพังพินาศแค่ไหน ซึ่งด้วยความที่ไม่สามารถระบายออกมาได้โดยตรงนี่แหละ ทำให้บางคนทำได้เพียงแค่แสดงความโกรธออกมาทางอ้อม กลายเป็น Passive-Aggressive Behavior อย่างที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น
แม้ไม่มีคำหยาบหรืออากัปกิริยาที่รุนแรง
แต่เขาก็สามารถฝังความรู้สึกแย่หรือความรู้สึกผิด
เอาไว้ในจิตใจของอีกฝ่ายได้อย่างแยบยล
พฤติกรรมแบบ Passive-Aggressive จึงถูกขนานนามว่าเป็น ‘ความเกรี้ยวกราดที่เคลือบด้วยน้ำตาล’ (Sugarcoated Hostility) หรือเป็นความหวานอันแสนขม ถึงแม้เราจะอยากพูดว่า เขามีพฤติกรรมที่เกรี้ยวกราดหรือก้าวร้าวยังไงก็ตาม สุดท้ายเราก็ไม่สามารถพูดออกมาได้อย่างเต็มปาก เพราะสิ่งที่เห็นตรงหน้าไม่ใช่ความรุนแรง แต่เป็นน้ำเสียงที่เรียบเฉย และใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มอันแสนไม่จริงใจ
จะรู้ได้ยังไงว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับคนประเภทนี้เข้าให้แล้ว
เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคม โดยเฉพาะสังคมที่การแสดงออกถึงความก้าวร้าวเป็นเรื่องที่ไม่น่ายอมรับ มิหนำซ้ำคนที่แสดงออกยังถูกมองเป็นคนนิสัยแย่ ไม่มีมารยาท จึงทำให้ผู้คนยากที่จะสื่อสารความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งในความไม่กล้าแสดงออกนั้นเอง พวกเขาก็เลยทดแทนด้วยการแสดงออกแบบ ‘ประชดประชัน’ เพื่อไม่ให้ตัวเองดูเป็นคนแย่อย่างเห็นได้ชัดจนเกินไป
โดยสัญญาณที่เห็นได้ชัดของคนที่มีพฤติกรรมแบบ Passive-Aggressive หลักๆ ก็คือชอบ ‘ปฏิเสธความขุ่นเคือง’ ของตัวเอง ปากบอกว่า “ป่าว ก็ไม่ได้เป็นไรนี่” “ก็ปกตินะ เธอน่ะคิดมากไปเอง” แต่หลังจากนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าเขาขุ่นเคืองยังไง มากน้อยแค่ไหน ผ่านการแสดงออกทางวาจาส่อเสียด หรือสีหน้าที่บึ้งตึงซึ่งปิดไม่มิด เพราะอย่างที่บอกว่าคนประเภทนี้ไม่ยอมรับความรู้สึกโกรธของตัวเอง อาจเพราะกลัวโดนมองไม่ดี หรือเพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่ตามมา
หรือบางครั้ง เขาอาจมีพฤติกรรม ‘ดื้อเงียบ’ โดยเวลาที่ถูกสั่งให้ทำอะไรสักอย่าง เขารับปากว่าจะทำ หรืออาจมีท่าทีไม่พอใจก่อนเบาๆ เช่น “เออน่ะ เดี๋ยวทำ” “โอ๊ย รู้แล้ว จะพูดอะไรนักหนา” เพื่อให้อีกคนหยุดจ้ำจี้จ้ำไช แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ทำ ทำล่าช้า หรือทำแบบไม่ตั้งใจ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านทางอ้อม เรียกได้อีกอย่างว่า ‘อ่อนนอกแข็งใน’ ที่ฉันทำไป ไม่ใช่เพราะอยากทำหรอกนะ
บ้างก็มาด้วยท่าทีพินอบพิเทา โดยพูดดักไปก่อนว่า “คือไม่ได้จะว่านะ…” “อย่าโกรธนะถ้าฉันจะบอกว่า…” และสิ่งที่ตามมาก็มีแต่คำพูดที่เชือดเฉือนความรู้สึกคนฟังเต็มๆ แต่เธอจะโกรธฉันไม่ได้นะ ก็บอกไว้แล้วว่าไม่ได้จะว่า แค่ให้รู้ไว้เฉยๆ น่ะ
หรือไม่กล้าต่อว่าตรงๆ เลยเลือกที่จะ ‘เปรียบเทียบ’ ให้คนฟังรู้สึกว่าเขาต้องปรับปรุงอะไรสักอย่างในตัวเอง ให้เท่ากับคนที่ถูกเปรียบเทียบ “ทำไมทำเหมือนพี่สาวแกไม่ได้” “ลูกข้างบ้านเขายังทำได้เลย” “แกน่าจะลองให้ได้เหมือนเพื่อนคนนั้นบ้างนะ” โดยคนพูดสามารถอ้างได้ว่าเพราะเขาหวังดีต่างหาก เลยอยากให้แนะนำ
นอกจากนี้ ในหนังสือ The Angry Smile ที่เอ่ยถึงเมื่อตอนต้น ได้ระบุประโยคหรือสำนวนที่คนประเภทนี้มักจะใช้บ่อยๆ ได้แก่ “ก็ได้” “แล้วแต่” “ก็คิดว่ารู้อยู่แล้ว” “แค่ล้อเล่นปะ” “แล้วจะโมโหทำไมเนี่ย” เป็นต้น ถ้าดูเผินๆ ก็อาจจะคล้ายกับพฤติกรรม Gaslighting หรือการพูดเพื่อบิดเบือนให้ฝ่ายถูกกระทำสับสนว่า เอ๊ะ เป็นความผิดเราหรอวะ แล้วก็ต้องมานั่งตีความอีกหลายขั้นหลายตอน จนเมื่อตกตะกอนก็มั่นใจว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ความคิดของเราแน่ๆ เพียงแต่คนพูดต้องการปั่นให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองก็เท่านั้น
และเพื่อที่ว่าหากสถานการณ์ไปถึงจุดปะทุ หรือเกิดมีปากเสียงกันขึ้นมา เขาจะอ้างดีเข้าตัวได้ว่า “ไม่ใช่ฉันซะหน่อย ที่เป็นตัวก่อชนวน เธอนั่นแหละที่เอาแต่รบเร้า เซ้าซี้”
ยกตัวอย่างเพิ่มเติม
ก : ออกไปเที่ยวข้างนอกกันเถอะ
ข : อ่า วันนี้ฉันรู้สึกไม่ค่อยดี เลยไม่อยากออกไปไหนน่ะ
ก : ได้ ตามใจ ขอให้สนุกกับการนั่งเฉาในบ้านนะ
ข : (wtf)
ยกตัวอย่างเพิ่มเติมอีก
ก : วันนี้คุณมารับฉันไปกินข้าวได้มั้ย
ข : วันนี้ผมไม่ว่างเลย น่าจะประชุมถึงดึก ไว้ผมจะชดเชยให้วันหลังนะ
ก : อ๋อ ไม่เป็นไร แล้วพรุ่งนี้ไม่ต้องมาก็ได้ ฉันรู้ยังไงประชุมก็สำคัญที่สุด
ข : (wtf)
คนประเภทนี้ มักทำให้อีกฝ่ายรู้สึกร้อนรุ่มกลุ้มใจ
ว่า “ฉันเป็นคนเดียวที่รู้สึกไม่ดีกับเรื่องนี้หรือเปล่านะ?”
“ทำไมฉันแย่จังเลย?” “นี่เขาโกรธเราจริงหรือเราคิดไปเอง?”
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนประเภทนี้เป็นคนไม่ดีเสมอไป หรือพวกเขาตั้งใจจะให้มันเกิด เพราะลึกๆ แล้วเขาอาจจะไม่รู้ตัว ด้วยความเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแสดงออกทางอารมณ์ เช่น ผู้ปกครองชอบกดขี่ ทำร้ายร่างกาย หรือมีคนรอบข้างคอยบงการชีวิตอยู่ตลอดเวลา
นักจิตอายุรเวท ทีน่า กิลเบิร์ทสัน (Tina Gilbertson) ผู้เขียนหนังสือ Constructive Wallowing: How to Beat Bad Feelings กล่าวว่า พฤติกรรมนี้เป็นเพียงกลยุทธ์ที่เราใช้ เมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองไม่สมควรจะพูดความในใจออกมา หรือกลัวที่จะซื่อสัตย์และเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง
เมื่อความเงียบไม่ใช่สันติเสมอไป ลองซื่อสัตย์กับใจตัวเองดูบ้าง
ความเกรี้ยวกราดเคลือบน้ำตาลนี้ ถูกพบได้ทั่วไปไม่ว่าจะในความสัมพันธ์รูปแบบไหนก็ตาม แต่ที่น่ากังวลก็คือ เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิดอย่างครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนรัก พฤติกรรมนี้จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษได้ และมันจะค่อยๆ ทำลายความรู้สึกของคนทุกคนจนขาดสะบั้น โดยที่ไม่ทันได้รู้ตัว
อย่ามองว่าเพราะเป็นคนใกล้ชิด จึงไม่อยากพูดตรงๆ บางครั้งการพูดตรงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องพูดคำหยาบคายหรือแสดงความไร้มารยาทเสมอไป แต่เป็นการ ‘ซื่อสัตย์’ กับสิ่งที่ตัวเองคิดหรือรู้สึกมากกว่า
แต่ถ้าใครรู้สึกว่ามันยากเหลือเกินที่จะพูดอะไร เพื่อเป็นการยืนหยัดให้กับความรู้สึกตัวเอง เพราะที่ผ่านมาก็ติดป้ายให้ตัวเองไปแล้วว่าไม่ใช่คนพูดอะไรตรงๆ
งั้นมาลองเริ่มกันใหม่ดูมั้ย ด้วยการสำรวจการตอบสนองของตัวเองในแต่ละสถานการณ์ว่า เรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ โกรธ หัวเสีย อิจฉา น้อยใจ ไม่พอใจใช่หรือเปล่า? แล้วเรื่องอะไรล่ะที่เป็นต้นเหตุ? เมื่อหาต้นเหตุนั้นเจอ ถามตัวเองอีกครั้งว่าสิ่งที่เราต้องการในเรื่องนี้ จริงๆ แล้วคืออะไร? เพื่อที่สุดท้ายจะได้สกัดน้ำให้เหลือแต่เนื้อ และสื่อสารสิ่งนั้นออกมา โดยไม่มีคำพูดฟุ่มเฟือยอื่นๆ ที่ทำให้คนฟังทรมานใจ
อาจจะยากในช่วงแรก แต่อยากให้ค่อยๆ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ และคิดก่อนพูดให้เยอะๆ ชั่งใจดูเสมอว่าอะไรที่พูดไปแล้วไม่ได้อะไร นอกจากความสะใจของตัวเองหรือความกังวลใจของคนฟัง เราควรจะพูดออกมาดีมั้ย เพราะการพูดตรงๆ อาจจะทำให้เจ็บหนักก็จริง แต่มันก็ปั้งเดียวจบ ต่างจากการประชดประชัน แซะ กระแนะกระแหน ที่ไม่รู้จะสื่อสารถึงอะไรกันแน่ ต้องมานั่งเดาใจกันไปมา แถมยังสร้างความรำคาญให้เรื้อรังในจิตใจไปอีกนาน
และที่สำคัญที่สุด อย่าลืมเคารพตัวเองให้มากๆ เพราะคุณก็มีสิทธิ์โกรธหรือไม่พอใจเหมือนคนอื่นๆ ได้นะ แค่ต้องหาวิธีสื่อสารมันออกมาอย่างถูกต้องก็เท่านั้นเอง เพราะหนทางที่เราคิดว่าประนีประนอมแล้ว แท้จริงอาจจะกำลังก่อปัญหาขึ้นมาใหม่อย่างเงียบๆ อยู่ก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart