วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1932 ได้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในประเทศฝรั่งเศส นั่นคือมีการลอบสังหารประธานาธิบดีขณะเปิดงานนิทรรศการหนังสือ ณ Hôtel Salomon de Rothschild ในกรุงปารีส ความอุกอาจนี้ใช่เพียงสะเทือนขวัญชาวฝรั่งเศสเท่านั้น หากข่าวคราวยังแพร่สะพัดมาสู่ประเทศสยามด้วย
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสผู้เผชิญเรื่องร้ายนามโฌแซ็ฟ อาตานาซ ปอล ดูแมร์ (Joseph Athanase Paul Doumer) หรือจะเรียกสั้นๆว่า ปอล ดูแมร์
ปอล ดูแมร์เป็นผู้นำฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งทางการสยามก่อนปี พ.ศ.2475 รู้จักคุ้นเคย
และผมคิดว่าควรอย่างยิ่งที่เราจะสนใจศึกษาเรื่องราวของเขาบ้าง
ดูแมร์จัดว่าเข้าข่ายคนรักหนังสือ เขาเคยเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์มาก่อน ผลงานเลื่องลือชิ้นสำคัญเฉกเช่น L’Indo-Chine francaise (ตีพิมพ์ ค.ศ.1904) ว่าด้วยเรื่องอินโดจีนฝรั่งเศส และ Le Livre de mes fils (ตีพิมพ์ ค.ศ.1906) พาดพิงถึงลูกชายของเขาและความเป็นลูกชายแห่งฝรั่งเศส
ดูแมร์มีบุตรธิดาที่เกิดจากภรรยานามบล็องช์ (Blanche) ทั้งสิ้น 8 คน เป็นผู้ชาย 5 คน ผู้หญิง 3 คน ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 นับแต่ ค.ศ.1914-1918 เขาต้องสูญเสียลูกชายที่ ไปถึง 4 คน ได้แก่ อาร์ม็อง (Arman), อ็องเดร (Andre), เรอเน (René) และ มาร์แซล (Marcel) ส่วนแฟร์น็องด์ (Fernand) คือ ผู้มีชีวิตรอดแค่คนเดียว
ปอล ดูแมร์เป็นเพียงลูกชายชนชั้นแรงงานในเมืองโอรียัก (Aurillac) เขาร่ำเรียนด้านกฎหมายและด้านวิทยาศาสตร์ เคยหาเลี้ยงชีพในฐานะครูสอนหนังสือธรรมดาๆ หากสามารถก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จ กลายเป็นบุคคลโดดเด่น และครอบครองความสง่าผ่าเผยท่ามกลางเหล่าชนชั้นสูงในสังคม
ดูแมร์ย่อมผูกพันแน่นแฟ้นกับดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส เนื่องจากเขาเคยดำรงตำแหน่งกูแวร์เนอร์ เยเนราลหรือ ‘ข้าหลวงใหญ่แห่งสหพันธ์อินโดจีนฝรั่งเศส’ (Governor-General of French Indochina) ช่วง ค.ศ.1897-1902 แล้วจึงกลับมาเป็นนักการเมืองในฝรั่งเศส ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี ค.ศ.1925 กระทั่งได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1931 (ตรงกับ พ.ศ.2474)
ที่ดินแดนอินโดจีน ดูแมร์สวมบทบาทนักปกครองผู้มุ่งมั่นขยายอาณานิคม ปฏิบัติหน้าที่แข็งขันจนนำเข้ารายได้มาสู่จักรวรรดิฝรั่งเศสมหาศาล เขาวางแผนสร้างเครือข่ายทางรถไฟให้เชื่อมต่อกันในอาณาเขตอาณานิคมเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการขนส่งทรัพยากรต่างๆนานา มีส่วนร่วมผลักดันการปลูกยางพาราในเมืองดาลัด (Dalat) ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากสินค้าการเกษตร ชื่อเสียงเรียงนามของเขาขจรขจายไปตลอดทั้งดินแดนอันนัมและกัมโพช (เวียดนามและกัมพูชา)
มิหนำซ้ำ ดูแมร์คือผู้ออกคำสั่งย้ายสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d’Extrême-Orient – EFEO) อันเป็นสำนักที่เน้นศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ รวมถึงสภาพสังคมของประเทศแห่งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเดิมทีก่อตั้งขึ้นที่ไซ่ง่อน (Saigon) ในปี ค.ศ.1898 (ตรงกับ พ.ศ.2441) ให้ไปตั้งขึ้นใหม่ที่ฮานอย (Hanoi) ในปี ค.ศ.1899 (ตรงกับ พ.ศ.2442)
ปอล ดูแมร์ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับทางประเทศสยาม ในปี ค.ศ.1898 เขาเคยเข้าเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และในปี ค.ศ.1899 เขาได้เดินทางมาเข้าเฝ้าพระองค์ภายในท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเพื่อเจรจาถึงนโยบายที่ทั้ง 4 ประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และรัสเซีย จะร่วมประกันเอกราชของประเทศสยามมิให้ตกเป็นอาณานิคม
การพบกันระหว่างพระมหากษัตริย์สยามและข้าหลวงใหญ่แห่งอินโดจีนฝรั่งเศสกลายเป็นภาพปกหนังสือพิมพ์ Le Petit Journal ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1899
ในงานบุ๊คแฟร์อันจัดขึ้น ณ Hôtel Salomon de Rothschild เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1932 ปอล ดูแมร์ได้เจอกับโคลด ฟาร์แคร์ (Claude Farrère) อันเป็นนามปากกาของเฟรเดริก ชาร์ล ปีแยร์ เอดัวร์ บาร์คกอน (Frédéric Charles Pierre Edouard Bargone) นักประพันธ์ผู้สร้างสรรค์นวนิยายฝรั่งเศสโดยมักอาศัยฉากแปลกๆในเอเชียมาเป็นฉากและบรรยากาศ ไม่ว่าจะอิสตันบูล (Istanbul) ในตุรกี, ไซ่ง่อน (Saigon) ในเวียดนาม หรือนางาซากิ (Nagasaki) ในญี่ปุ่น กระทั่งตัวละครหญิงเยี่ยง ‘มิตซูโกะ’ (Mitsouko) ในงานเขียนเรื่อง La Bataille (ตีพิมพ์ ค.ศ.1909) ที่มีคนรักเป็นนายพลเรือชาวญี่ปุ่น แต่ห้วงยามเดียวกันเธอก็ไปหลงรักทหารชาวอังกฤษ ขณะผู้ชายทั้งสองกำลังปฏิบัติหน้าที่กลางสนามรบ หญิงสาวจึงรอคอยให้ใครคนใดคนหนึ่งรอดชีวิตกลับมาครองคู่กับเธอ ครั้นนักทำน้ำหอมเยี่ยงฌาคส์ เกอร์แลง (Jacques Guerlain) ได้อ่าน ก็พลันเกิดแรงดาลใจจนผลิตน้ำหอมกลิ่นเย็นๆละมุนๆออกมาในปี ค.ศ.1919 และตั้งชื่อว่า ‘Mitsouko’
ตอนประธานาธิบดีกำลังเจื้อยแจ้วเจรจากับนักประพันธ์เอก ฉับพลันทันใดมีเสียงปืนดังหลายครั้ง และกระสุนสองนัดพุ่งละลิ่วเจาะเรือนร่างท่านผู้นำฝรั่งเศส หนึ่งนัดเข้าตรงกะโหลกศีรษะ อีกหนึ่งนัดเข้าตรงซอกรักแร้ข้างขวา
ปอล ดูแมร์ล้มลงกับพื้น ส่วนโคลด ฟาร์แคร์ ปราดไปปัดข้อมือกอดรัดฟัดเหวี่ยงผู้ร้ายที่ลั่นไกปืน Browning FN Model 1910 ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตามมาสมทบและจับกุมตัว
อ้อ ปัจจุบัน ปืนกระบอกที่มือสังหารใช้ยังเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของสะสมทางประวัติศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงปารีส หรือ Musée des Collections Historiques de la Préfecture de Police)
ชายคนที่ลอบยิงท่านผู้นำฝรั่งเศส ได้แก่ ปอล กอร์กูลอฟ (Paul Gorguloff) หรือชื่อเดิมว่าปาเวล ทิโมเยเฟวิช กอร์กูลอฟ (Pavel Timofeyevich Gorgulov) ผู้อพยพชาวรัสเซียที่มีปัญหาไม่มั่นคงทางอารมณ์ เขาเคยเรียนแพทย์ก่อนมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 อุบัติขึ้น และเคยได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณศีรษะจากการเข้าร่วมสมรภูมิ
ระหว่างช่วงการปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution) ค.ศ.1917 ปาเวลเข้าร่วมกับกองทัพขาวของรัสเซียเพื่อต่อต้านพวกบอลเชวิก (Bolsheviks) หรือกองทัพแดง จากนั้น เขาอพยพไปเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาที่กรุงปราก (Prague) ในเชโกสโลวาเกีย (Czechoslovakia) แต่แล้วถูกเนรเทศออกไปเพราะทำผิดกฎหมายเนื่องจากเขารับทำแท้ง
ปาเวลย้ายถิ่นฐานมายังกรุงปารีส พอออกจากเมืองหลวงก็เดินทางไปพำนักที่เมืองนีซ (Nice) พร้อมเปลี่ยนมาใช้ชื่อแบบชาวฝรั่งเศสว่า ‘ปอล’ ที่นั่น เขาแต่งงานกับหญิงสาวชาวสวิสเซอร์แลนด์
ชายชาวรัสเซียยังคงข้องแวะกับพฤติกรรมทางการแพทย์ที่ขัดต่อกฎหมายเลยถูกขับไล่ออกนอกฝรั่งเศสอีกหน โดยระเห็จไปหล่อเลี้ยงลมหายใจอยู่ที่โมนาโค (Monaco) จนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1932 แล้วย้อนกลับมากรุงปารีส และเขาก็มาก่อเหตุลอบสังหารประธานาธิบดีในวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งแรงจูงใจในการกระทำเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าฝรั่งเศสไม่สนับสนุนฝ่ายกองทัพขาว หรือ Belaya Gvardiya ในการต่อต้านพวกบอลเชวิก
ปอล ดูแมร์ ผู้ถูกลอบยิงได้ถูกรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโบฌง (Hôpital Beaujon) ทว่าท่านผู้นำฝรั่งเศสถึงแก่กรรมในวันถัดมาคือวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 04:37 น. รวมอายุได้ 75 ปี ( ดูแมร์เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1857)
ส่วนปอล กอร์กูลอฟ ผู้ห้าวหาญลอบยิงได้ถูกควบคุมตัวไปสอบสวน และต้องขึ้นศาลคดีพิเศษ (Assize Court) ในวันที่ 25 กรกฎาคมปีเดียวกัน สองวันถัดมาทางศาลพิจารณาว่าชายชาวรัสเซียผู้นี้ไม่ได้บ้าหรือมีความผิดปกติทางจิต คำพิพากษาเลยตัดสินออกมาว่าต้องลงโทษประหารชีวิตเขา
ในเดือนสิงหาคม ศาลชั้นสูงขึ้นไปพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ปาเวลหรือปอลจึงต้องสูญเสียศีรษะให้แก่คมมีดกิโยตินที่แดนประหาร Prison de la Santé กลางกรุงปารีสเมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.1932
ก่อนคอจะขาด เขากล่าวถ้อยคำสุดท้ายเป็นภาษารัสเซียว่า “Россия, моя страна !” หรือ “รัสเซีย, ประเทศของฉัน!”
การปลิดชีพประธานาธิบดีในงานนิทรรศการหนังสือช่างเป็นอะไรที่เหล่าบรรดานักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสเสียขวัญอย่างมาก อองเดร โมรัวส์ (Andre Maurois) นักเขียนระบือนามเป็นคนหนึ่งที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย โมรัวส์ได้เขียนบันทึกถึงสิ่งที่ประสบไว้ผ่านหนังสืออัตชีวประวัติที่แปลมาสู่ภาษาอังกฤษในชื่อ Call No Man Happy (ตีพิมพ์ ค.ศ.1944)
พอทางการสยามทราบข่าวว่าประธานาธิบดีปอล ดูแมร์ถูกลอบสังหาร พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ จึงส่งโทรเลขลงวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1932 (ตรงกับ พ.ศ.2475) ให้หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร อัครราชทูตประจำกรุงปารีสแสดงความเสียใจในนามรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแก่รัฐบาลฝรั่งเศส และให้พระยาอภิบาลไมตรี (ต่อม บุนนาค) ไปแสดงความเสียใจต่อเลขานุการสถานทูตฝรั่งเศส เพราะขณะนั้น โรเฌร์ โมกราส์ (Roger Maugras) อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามมิได้อยู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งหม่อมเจ้าอมรทัตได้ส่งโทรเลขตอบกลับมาว่าปอล ดูแมร์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว จะมีการฝังศพในวันที่ 12 พฤษภาคม
ความเรื่องปอล ดูแมร์นี้ ทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงได้แสดงความเสียพระทัยไปยังมาดามดูแมร์ด้วย
ภายหลังอสัญกรรมของปอล ดูแมร์ นายกรัฐมนตรีอองเดร์ ตาร์คดิเออ (André Tardieu) เข้ารักษาการตำแหน่งแทนตั้งแต่วันที่ 7-10 พฤษภาคม ค.ศ.1932 ก่อนที่ฝรั่งเศสจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่อย่างอัลแบร์ เลอเบริง (Albert Lebrun)
เรื่องราวของประธานาธิบดีผู้ถูกลอบประทุษร้ายในงานนิทรรศการหนังสือยังได้รับการกล่าวขานถึงอยู่เนืองๆ และแน่นอนว่า มีไม่น้อยคนที่ให้ความสนใจประวัติศาสตร์ไทยอันถ่ายทอดผ่านปกหนังสือพิมพ์ Le Petit Journal ผมจึงใคร่เน้นย้ำว่าปอล ดูแมร์นับเป็นบุคคลหนึ่งบนหน้าปกซึ่งมิอาจละเลยการศึกษาค้นคว้า
เอกสารอ้างอิง
- หจช. ร.7ต.7.2/20 ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายดูแมร์ถึงอนิจกรรม (9-10 พ.ค. 2475)
- วุฒิชัย นาคเขียว. กัมพุชสุริยา: การผลิตและการเผยแพร่งานเขียนประวัติศาสตร์ในกัมพูชาสมัยอาณานิคม ค.ศ.1926-1953. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560
- “An Angry Russian Sneaked a Pocket Pistol Into a Book Fair to Assassinate the French President.” https://warisboring.com/an-angry-russian-sneaked-a-pocket-pistol-into-a-book-fair-to-assassinate-the-french-president
- Clémentin-Ojha, Catherine and Manguin, Pierre-Yves. A Century in Asia: The History of the École Française D’Extrême-Orient, 1898-2006. Singapore: Editions Didier Millet; Paris: École française d’Extrême-Orient, 2007
- Edwards, Michael. Perfume Legends: French Feminine Fragrances. Levallois: HM Éditions, 1996.
- “Paul Doumer & French Indochina 1897-1902. A Talk by Amaury Lorin.” http://www.siam-society.org/lectures/1404Paul.html.
- Sowerwine, Charles. France since 1870: Culture, Politics and Society. 3rd Edition. London: Red Globe Press, 2018
- “The Gun That Killed President Paul Doumer: FN Model 1910.” https://www.historicalfirearms.info/post/152352523461/the-gun-that-killed-president-paul-doumer-fn