Trigger Warning: บทความนี้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรง และอาจมีภาพที่มีความรุนแรงประกอบ
‘ลอยนวลพ้นผิด’ คือคำนิยามของระบบยุติธรรมแบบไทยๆ ในเหตุการณ์การกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน
หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าจะสะท้อนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้ดีที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นเหตุการณ์ตากใบ ในปี 2547 ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตรวม 85 คน จากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ การกระทำอันโหดร้ายรุนแรงที่ทำให้ประชาชนขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต
แต่ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี จนคดีใกล้จะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ แต่กลับเป็น 20 ปีที่ยังไม่มีใครต้องรับโทษ ไม่มีชื่อผู้รับผิดชอบแม้แต่ 1 ราย และเป็น 20 ปีที่ชาวบ้านได้แต่ตั้งตารอว่า ‘ความจริง’ จะถูกเปิดเผยเมื่อไร เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมและความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คืนมา
เมื่อเวลาเริ่มนับถอยหลัง เฮือกสุดท้ายที่ประชาชนพอจะทำได้ คือการลุกขึ้นมาฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นไฟแห่งความหวังดวงเล็กๆ ว่าต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ก่อนจะมีการนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งต่อไปในวันพรุ่งนี้ (19 กรกฎาคม 2567) The MATTER ชวนย้อนดูเหตุการณ์น่าสลดที่ตากใบ ทำความเข้าใจกระบวนการฟ้องร้อง และมองหนทางเยียวยาที่ควรจะเป็นไปด้วยกัน
เกิดอะไรขึ้นที่ตากใบ ในปี 2547
12 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งเป็นชาวบ้านนราธิวาสจำนวน 6 คน เข้าแจ้งความต่อตำรวจว่าปืนของพวกเขาหายไป แต่ตำรวจสรุปว่า ชรบ. มอบปืนให้กับสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง และได้ดำเนินคดีกับ ชรบ.
25 ตุลาคม 2547 ประชาชนกว่า 2,000 คนจึงได้รวมตัวกันชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. ด้วยเชื่อว่าเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ
“วันนั้นก็ไม่รู้ว่ามีผู้ชุมนุมคนไหนมีอาวุธในวันนั้น แต่ไม่เห็นใครใช้อาวุธเลย มีเพียงบางคนที่ตะโกนด้วยความโกรธใส่เจ้าหน้าที่ให้” ชาวบ้านคนหนึ่งในเหตุการณ์เล่า
แต่แม้หลักฐานจะชี้ว่าไม่มีความรุนแรงจากฝั่งผู้ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจก็ได้เข้าสลายการชุมนุมโดยยิงแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และใช้กระสุนจริง ส่งผลให้มีผู้ชุมนุม 7 รายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
“ผมเห็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกยิงที่หน้าผากต่อหน้าต่อตา เขาล้มลงทันที ตอนนั้นผมรู้สึกกลัวมาก และไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี” เสียงบอกเล่าจากผู้ร่วมชุมนุมในขณะนั้น
ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าหน้าที่ยังได้จับกุมผู้ชุมนุม 1,370 คน ผูกมือไพล่หลัง บังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกันถึง 4-5 ชั้นด้านหลังรถบรรทุกทหาร เพื่อขนย้ายไปควบคุมตัวในค่ายทหารที่อยู่ห่างไป 150 กิโลเมตร ซึ่ง ณ เวลาขณะนั้นอยู่ในช่วงเดือนถือศีลอด การต้องนอนทับกันโดยขยับตัวไม่ได้เป็นเวลาถึง 6 ชั่วโมงจึงยิ่งทำให้ร่างกายของทุกคนอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์
“มีอยู่ 3 คนที่อยู่ด้านล่างของผม พวกเขาร้องไห้ขอความช่วยเหลือเพราะหายใจไม่ออก แถมมีทหารคนหนึ่งเดินอยู่บนหลังพวกเรา ทุกครั้งที่มีคนส่งเสียง หรือขยับตัวมากเกินไป เขาก็จะใช้ปืนตี” ผู้ถูกจับกุมกล่าว
การขนย้ายคนดั่งไม่ใช่มนุษย์เช่นนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ราย จากการถูกกดทับและขาดอากาศหายใจ
รัฐบาลในขณะนั้น โดยมีแกนนำเป็นพรรคไทยรักไทย และนำโดยทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง โดยได้ข้อสรุปว่า วิธีการที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงนั้น ‘เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผนและวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล’ โดยวิธีการขนย้ายผู้ชุมนุม สะท้อนว่า ’ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก’
หลังรัฐประหารปี 2549 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการสอบสวนทันที แต่ความยุติธรรมก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีทั้งผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และยังไม่รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบตามมา ทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากการสูญเสียเสาหลักของครอบครัว หรือผลกระทบทางจิตใจจากการเผชิญเหตุการณ์รุนแรง แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่คนเดียวที่ได้รับโทษ
ทำไมชาวบ้านจึงลุกขึ้นมาฟ้องร้อง
ล่วงเลยมาถึง 19 ปี ในงานครบรอบ 19 ปีเหตุการณ์ตากใบ วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ได้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้บาดเจ็บ ครอบครัวผู้เสียชีวิต และทนาย ทุกคนตระหนักว่าจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครต้องรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งยังไม่เคยรู้เลยว่าความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการร่วมกันฟ้องร้องให้เป็นคดีอาญาอีกครั้งก่อนที่คดีจะหมดอายุความ
“มันเป็นความกลัวของชาวบ้าน และอำนาจรัฐก็พยายามทำให้ประชาชนลืมเรื่องนี้ไป กดทับไม่ให้ประชาชนจำได้ว่านี่เป็นความผิดพลาดของรัฐ” ซาฮารี เจ๊ะหลง อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมไม่มีการร่วมกันฟ้องร้องตั้งแต่ก่อนหน้านี้
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขยายว่า จริงๆ แล้วถ้าหากเกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นคดีอาญา ก็ควรเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ แต่เจ้าหน้าที่กลับเพิกเฉย ก่อนหน้านี้ชาวบ้านจึงทำได้เพียงรำลึกถึงเหตุการณ์เท่านั้น แต่เมื่อพบว่ามีช่องทางการฟ้องร้องที่จะเป็นเฮือกสุดท้ายของการทวงคืนความยุติธรรม ชาวบ้านจึงตัดสินใจร่วมกันฟ้องร้อง
ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ดำเนินการฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดนราธิวาสด้วยตนเอง พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ
มีโจทก์ร่วมฟ้องทั้งหมด 48 คน ประกอบด้วยตัวแทนของผู้เสียชีวิต 34 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนั้น 14 คน
ยื่นฟ้องข้อหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาร่วมกันกระทำความผิด ฆ่าผู้อื่นโดนทรมานหรือทารุณโหดร้าย (มาตรา 288 และ 289) ข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอม โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ (มาตรา 309) และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น (มาตรา 310)
ยื่นฟ้องต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด 9 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และปกครองที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ได้แก่
- จำเลยที่ 1 อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการพล. ร. 5 ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 4 อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 5 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 6 อดีตผู้กำกับ สภอ.ตากใบ ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับ สภอ.ตากใบ ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 8 รอง ผอ.สสส.จชต. และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 9 ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น
อูเซ็ง ดอเลาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ให้ข้อมูลยืนยันว่าจำเลยทั้ง 9 เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาเกิดเหตุ เป็นคนที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายผู้ตายและผู้บาดเจ็บ โดยอ้างอิงจากหนังสือแต่งตั้งข้าราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานจากข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง และสำนวนการสอบสวนทั้งหมด
สิ่งที่ควรจะเป็น-สิ่งที่เป็นอยู่ ต่อกรณีตากใบ
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าว่า แม้หลังจากเกิดเหตุการณ์จะมีการเยียวยาผู้เสียหายด้วยเงินจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ยังขาดองค์ประกอบที่ครบถ้วนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิการเยียวยา ได้แก่
- สิทธิการเข้าถึงข้อมูล ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้เสียหาย และใครเป็นผู้กระทำ โดยข้อมูลที่ทราบในปัจจุบันนั้นไม่ชัดเจน เช่น จำเลยอ้างว่าการชุมนุมของชาวบ้านในขณะนั้นมีการใช้อาวุธ กรรมการอิสระที่แต่งตั้งโดยภาครัฐในขณะนั้นก็ยังระบุว่าไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่ ประเด็นนี้ และอีกหลายประเด็นจึงยังเป็นข้อถกเถียง
- การเข้าถึงความยุติธรรม จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการการยอมรับว่านี่เป็นการละเมิดกฎหมาย และไม่มีผู้รับผิดชอบ
- การชดเชยเยียวยา อาจรวมถึงการให้เงินเยียวยา แต่ต้องมีปัจจัยอื่นอีก เช่น การยอมรับอย่างเป็นทางการจากผู้กระทำผิด และการรับประกันว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก
ดังนั้น หากการฟ้องร้องครั้งนี้สำเร็จ กล่าวคือ ศาลตัดสินว่าคดีมีมูล และยืดอายุความของคดีนี้ต่อไปได้ สิ่งที่ชาวบ้านจะได้รับ คือการได้รับรู้ ‘ความจริง’ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ชาวบ้านจะได้รับรู้ว่าการเสียชีวิตของลูก สามี ไม่สูญเปล่า […] เรายอมรับการเสียชีวิตได้ เพราะคนเราหนีการเสียชีวิตไม่พ้น แต่เราต้องการเหตุผลที่ถูกต้อง ไม่ใช่อ้างว่ามีการขาดอากาศขาดใจ แต่แท้ที่จริงเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่” แบมะ (นามสมมติ) ผู้สูญเสียพี่ชายคนโตจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าว
แต่ในทางการกลับกัน หากการฟ้องร้องครั้งนี้ไม่สำเร็จ ชาวบ้านตากใบก็คงได้แต่เพียงนับเวลาถอยหลังสู่วันที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ และคงไม่มีทางได้เห็นคนที่กระทำผิดโดนลงโทษ
“แม้อายุความจะหมดลง แต่ความรู้สึก ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ ความสูญเสียต่างๆ ก็ยังอยู่ตรงนี้ สามจังหวัดก็จะยังไม่มีความยุติธรรม” แบมะ กล่าว โดยอูเซ็งเสริมว่าก็จะยังต้องสู้ต่อไป และหล่อเลี้ยงความเชื่อมั่นในประชาธิปไตย และสันติวิธีของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความกังวลว่าคดีนี้อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะฟ้องร้องไม่สำเร็จ เกิดจากการที่ระหว่างกระบวนการฟ้องร้องนี้ ได้มีเหตุการณ์ที่ดูจะ ‘ผิดปกติ’ เกิดขึ้นอยู่บ้าง
เริ่มตั้งแต่วันแรกที่ชาวบ้านยื่นฟ้อง แต่ตำรวจภาค 9 ส่งสำนวนสั่งไม่ฟ้องในวันเดียวกัน ทั้งที่มีการไต่สวนการตายมากว่า 20 ปีแล้ว และอัยการก็ยังไม่ทวงถาม โดยได้ระบุรายละเอียดในสำนวนว่า ‘เป็นการกระทำตามสมควรแก่เหตุและเป็นเหตุสุดวิสัย‘
นอกจากนั้น การนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 2 เมื่อ 24 มิถุนายน 2567 ยังถูกเลื่อนออกไปจากคำสั่งศาล เนื่องมาจากอธิบดีและรองอธิบดีศาล ภาค 9 ท้วงว่าจำเลยไม่ทราบวันนัดไต่สวนนี้ แต่ทนายความโจทก์คัดค้านว่าจำเลยไม่มารักษาสิทธิของตนเอง และหากอ้างอิงตามกฎหมายประมวลวิธีการพิจารณาความอาญา ยังระบุว่าชั้นไต่สวนนั้น สามารถพิจารณาคดีโดยไม่มีจำเลยได้ และที่สำคัญคือผู้เสียหายนั้นรอคอยความยุติธรรมมานานเกินควรแล้ว
“ตากใบเป็นบทเรียนของรัฐที่โหดร้ายที่สุด เป็นประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายที่สุด อยากให้คนกระทำความผิดถูกนำตัวมารับโทษ” ผู้เสียหายที่สูญเสียพี่ชายจากเหตุการณ์ตากใบแถลงต่อศาล
และท้ายที่สุด คือการทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตนถูก ‘ข่มขู่ คุกคาม’ เพราะที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่ตากใบ ไม่เคยมีใครเรียกพวกเขาไปสอบปากคำ แต่เมื่อจะดำเนินคดี ตำรวจก็เรียกไปสถานีตำรวจโดยอ้างว่าเรียกมาสอบในฐานะพยาน ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวและบางส่วนถอนการร่วมฟ้องร้องไป
“ถ้าปล่อยให้หมดอายุความจะเป็นการเสียโอกาส ไม่ใช่แค่โอกาสในการคืนความยุติธรรมให้เหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบ แต่เสียโอกาสในการเป็นแนวทางปฏิบัติในอนาคตเพื่อให้ภาครัฐจัดการดูแลการชุมนุมได้ดีขึ้น ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และเป็นแนวทางให้เหยื่อคนอื่นๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิจากการสลายการชุมนุม” ชนาธิปกล่าว
ชนาธิปขยายความต่อว่า ที่ผ่านมา สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกเรียกว่าเป็น ‘ห้องทดลองมนุษย์’ กล่าวคือ เมื่อภาครัฐมีแนวปฏิบัติที่อยากนำมาใช้กับประชาชน ก็จะลองนำไปใช้ในสามจังหวัดฯ ก่อน แล้วจึงนำมาใช้กับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ
‘โมเดลตากใบ’ ก็ถูกนำมาใช้ในการสลายการชุมนุมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สลายการชุมนุมช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นวิธีการที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ชนาธิปจึงเรียกว่า “เหมือนรัฐบาลไทยไม่เคยเรียนรู้เลยว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง”
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ภาครัฐควรพิจารณาอีก โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างกฎหมายพิเศษที่ยังบังคับใชัในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการสร้างความเป็นธรรมให้กับการลอยนวลพ้นผิดเช่นกัน
“การจะได้เห็นจำเลยทั้ง 9 มีความผิด ถูกลงโทษ เป็นเรื่องยาวไกล แต่ถ้าหากศาลสั่งว่าคดีมีมูล ก็เท่ากับประชาชนชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว” อูเซ็งกล่าวด้วยความหวัง
เพราะไม่เพียงแค่อายุความจะสะดุดลงและคดีสามารถไปต่อได้ แต่จากนั้นคือผลการตัดสินที่จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับรัฐไทย เจ้าหน้าที่จะกระทำการใดจะต้องมีความระมัดระวัง และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ
หลังจากนี้ ศาลจะมีการนัดไต่สวนครั้งต่อไปในวันที่ 19 และ 26 กรกฎาคม 2567 จึงจะต้องติดตามต่อไปว่าชาวไทยจะได้รับรู้ความจริงหรือไม่ และชาวตากใบจะได้รับความยุติธรรมเมื่อไร