การเลือกตั้งครั้งนี้ เราจะเห็นสิ่งใหม่ๆ และปรากฎการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือการมีแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศคนแรกของประเทศไทย
ซึ่งพรรคที่ส่งแคนดิเดตนายกฯ หญิงข้ามเพศนี้ ก็เป็นพรรคที่ชูนโยบายหลักคือเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และ LGBTQ ที่มีการฟอร์มทีม ผนึกกำลังในนามของ ‘พรรคมหาชน’
เราคุยกับ พอลลีน งามพริ้ง ถึงบทบาทใหม่ในการเป็นแคนดิเดตนายกฯ การผันตัวมาทำงานการเมือง รวมถึงนโยบาย กฎหมาย และความเข้าใจต่อกลุ่มคน LGBTQ ที่พรรคมหาชน และพอลลีนมองว่า สังคมควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ทำไมถึงตัดสินใจมาทำงานด้านการเมือง
จริงๆ แล้ว คนจะมองว่าตอนเป็นพินิจ งามพริ้งจะทำการเมืองได้ดีกว่า เพราะว่าพินิจเป็นคนที่มีภาพลักษณ์แข็งแรง มีเครือข่ายฟุตบอลเยอะ ทำงานพูดคุยกับนักการเมืองตลอดเวลา โดยพวกนักการเมืองมักจะเป็นเจ้าของ หรือประธานสโมสร มีแฟนบอลเป็นฐานเสียง แต่จริงๆ แล้วสำหรับพินิจไม่พร้อมที่จะเล่นการเมือง เพราะว่าเรายังไม่ก้าวข้ามความเป็นตัวเอง ยอมรับตัวเองได้ไม่เต็มที่
พอเป็นพอลลีน จริงๆ พอลลีนไม่ได้อยากทำงานการเมือง แต่เมื่อเราเป็นตัวเองเต็มที่แล้ว เหมือนมันสุขงอม หล่อหลอมความเป็นพอลลีนได้ครบเครื่องมากกว่า ในความเป็นชายคนอาจจะมองว่าพินิจเหมาะสม แต่ในโลกที่เป็นสากล พอลลีนเหมาะสมกว่า เมื่อเราคิดตกผลึกแบบนี้ เราจึงตัดสินใจมาทำงานด้านนี้
มีพรรคการเมืองเข้ามาคุยเรื่องนโยบายกับเราเยอะ แต่พรรคที่มาชวนเราแบบจริงจัง คือ ‘พรรคมหาชน’ ซึ่งเราก็มองการทำงานในเครือข่ายของ LGBTQ ว่าก็เข้มข้น เพียงแต่ว่ายังไม่มีกระบอกเสียงที่เสียงดัง และเข้มแข็งพอ เราไม่ได้มองว่าเราเข้มแข็งหรอก แต่ว่าเพราะเรามีมุมมองทั้งสองด้านของชายและหญิง ทั้งเราก็ถนัดเรื่องการสื่อสารกับสาธารณะชน เราจึงมองว่ามันยังมีช่องโหว่งที่เราสามารถเข้าไปเติมให้ชุมชนของ LGBTQ และทั้งพรรคมหาชนให้เข้มแข็งขึ้น เราจึงตัดสินใจ
ความรู้สึกหลังได้รับเลือกเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค และถือเป็นแคนดิเดตข้ามเพศคนแรกของประเทศไทย
ไม่ได้คิด ไม่ได้ฝันเท่าไหร่ เรารู้ล่วงหน้า 2 วันก่อนที่จะไปสมัครที่ กกต. เรารู้สึกว่ามันเป็นภาระที่ใหญ่เหมือนกัน แต่เราว่ามันเป็นการเริ่มต้นประกาศตัว ซึ่งเราจะไม่กลัวเฟล หรือเสียหน้า ว่าเราไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยเราได้เริ่มต้น
ต้องขอบคุณพรรคที่เสนอชื่อเรา แล้วก็เป็นประโยชน์ในมุมมองของ LGBTQ ต่อสาธารณะชนด้วย คนก็จะมองเห็นว่า transgender หนึ่งใน LGBTQ นี้มีคนเห็นความสำคัญ อย่างน้อยก็ในพรรค ซึ่งเราก็ต้องพิสูจน์ตัวเราเองด้วยให้คนอื่นเห็น เรามองว่ามันเป็นก้าวที่ก้าวไปข้างหน้า สำหรับการเคลื่อนไหวของ LGBTQ ที่ส่งผลแรงกระเพื่อมทั่วโลก หลายประเทศก็ลงข่าวเรื่องนี้
แต่เราคิดว่าในเมืองไทย มันก็ยังไม่ได้ฮือฮามากนัก อาจจะเป็นเพราะการตีตรายังเหนียวแน่นอยู่ มองจากมุมมองที่ชายเป็นใหญ่ อาจจะมองว่าเป็นเรื่องตลก และความรู้สึกแรกของคนที่ไม่เคยรู้จักพอลลีน หรือพินิจมาก่อนก็จะหัวเราะ มีคำพูดเช่นว่า บ้านเมืองไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เราก็ไม่ได้เล่น เราก็เอาจริงเหมือนกัน
เวลาผ่านไป เราได้สื่อสารมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีฟีดแบ็กที่ยอมรับมากขึ้น เข้าใจว่าเราไม่ได้มาเล่นๆ หรือว่าเป็นสีสัน มาโชว์ สาระสำคัญของเราคือว่า ถ้าเราได้เป็นนายกฯ การตัดสินใจทั้งหมดจะอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมทั้งชายและหญิง รวมถึงเพศหลากหลายอื่นๆ รสนิยมที่เป็นทั้งต่างเพศ เป็นการตัดสินใจที่จะอยู่บนทุกชนชั้นของคนในสังคม ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ และถึงแม้ว่าจะผ่านเลือกตั้งไป จะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ได้ก็อีกเรื่อง เราก็ยังต้องสื่อสารเรื่องนี้อีก
พรรคมหาชนคาดหวังถึงจำนวน หรือที่นั่งอย่างไรในสภา
ความหวัง การตั้งเป้า มันไม่มีสูตรอะไรตายตัวกับจำนวนประชาชนที่มากขนาดนี้ เป้าของพรรคตั้งอยู่ว่า 6-7 ที่นั่ง ซึ่งหมายความว่าจะต้องได้ 7-9 แสนเสียง แต่พอลลีนเองไม่ดูถูกการตัดสินใจของประชาชน สำคัญที่สุดคือเราจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่กำลังของเรามีอยู่ เราจะไม่เสียใจถ้าเราทำในสิ่งที่เราควรทำแล้ว แต่มันไม่ประสบความสำเร็จ และเราจะไม่เสียใจในส่วนที่เราไม่สามารถทำอะไรได้
แต่เราจะเสียใจถ้าเกิดเราสามารถทำได้ แต่เราไม่ทำ จะด้วยเงื่อนไขอะไรก็แล้วแต่ เราจึงคิดว่าเราต้องทำให้ดีที่สุด ด้วยทรัพยากรเวลา บุคคล ที่เรามีอยู่ ไม่ได้ครั้งนี้ ครั้งหน้าก็ค่อยว่ากัน มีเวลาเตรียมตัวเยอะหน่อย พอลลีนเองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะได้หรือเปล่า เพราะเราอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 5 ซึ่งเราก็ต้องลองดู
ถ้าได้ 6-7 ที่จริงอย่างที่ตั้งเป้า พรรคจะมีเงื่อนไข ไปอยู่กับฝ่ายไหนในสภา
เราอยู่ในระบบเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย 100% ในระบบมันมีเผด็จการฟาร์สซิส ขวาจัด เผด็จการมาร์กซิส ซ้ายจัด และประชาธิปไตย 100% ที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งมันจะมีประชาธิปไตยของบางประเทศที่เหลื่อมไปซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ประเทศไทยก็เป็นประชาธิปไตย เพราะสุดท้ายเราก็เดินมาถึงจุดที่มีเลือกตั้ง แต่ว่าตอนนี้ประชาธิปไตยของเรามันเอนไปทางขวา รัฐธรรมนูญของเรามันอยู่ค่อนไปทางขวา มันไม่ได้เป็นประชาธิปไตย 100%
คำถามที่ว่าเราจะไปอยู่ตรงไหน ก็คือฝั่งที่ผ่านการเลือกตั้ง ก็คือพรรคที่คะแนนสูงที่สุดในการเลือกตั้งจากประชาชน ยังไม่นับ 250 เสียงจาก ส.ว. เราว่าตรงนั้นสำคัญที่สุด ส่วนเขาจะชวนเราหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องนึง
นโยบายหลักของพรรคเรา เราทำเรื่องความเท่าเทียม เราจะไปตีตราว่าพรรคไหนคือเผด็จการไม่ได้ เพราะสุดท้ายทุกพรรคก็ผ่านการเลือกตั้ง เผด็จการมันคือมิติเวลานึงที่คนๆ นึงปฏิวัติ รัฐประหารมา ณ ช่วงเวลานั้น และตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คือเป็นเผด็จการ แต่เมื่อกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เขาเคยเป็นเผด็จการ และรัฐธรรมนูญเป็นช่องให้เขาเข้ามาเป็นคนนอกได้
เพราะฉะนั้น เราอยากให้แฟร์ เราไม่ได้หมายความว่าเราจะไปรวมกับพรรคไหน เราชัดเจน โดยที่เรายังไม่สามารถกำหนดได้ เราให้ขึ้นอยู่กับประชาชน แต่เราก็ไม่อยากให้สังคมจะอยู่ในกับดักของการตีตรา และแบ่งฝ่าย ตัวพอลลีนเองเคยบอกว่า เราไม่เอา ไม่ร่วมกับตู่ แต่สุดท้ายถ้าเขาผ่านกระบวนการเลือกตั้งมา เราก็ต้องทนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ไม่เช่นนั้นมันก็จะไม่จบ ไม่สิ้นกับการประท้วงบนท้องถนน และปัญหาที่ผ่านมาก็เกิดจากเหตุการณ์พวกนี้ และก็มีการปฏิวัติขึ้นมาอีก ดังนั้นอย่างที่บอกเรื่องความเท่าเทียมต้องอยู่ในทุกอณู ประชาธิปไตยก็ต้องเท่าเทียมกันด้วย ณ วันนี้เราตอบได้แบบนี้ โดยเอาประชาชนเป็นหลัก
ทิศทางพรรคมหาชนหลังเลือกตั้ง จะเป็นอย่างไรต่อ
ในแง่ที่อยากให้เป็น คือเคารพกฎหมาย รัฐธรรมนูญนี้ห่วย แต่มันก็เป็นรัฐธรรมนูญ และเราก็ไม่อยากให้มีการปฏิวัติ รัฐประหารเพื่อที่จะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะอันนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐธรรมนูญห่วยก็ช่วยกันแก้ แม้จะแก้ยาก เพราะมันผูกไว้แล้ว แต่ก็อยากให้พยายามดู
เราอยากให้อดทนรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหาร สุดท้ายแล้ว มันไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าหรอก เรื่องของ Circle of power มันมีตลอด สำหรับเมืองไทย พี่มองว่าวงจรนี้คือ 6 ปี บวกลบ 2 ปี คือผ่านไป 4 ปีคนเริ่มเบื่อ ผ่านไป 6 ปีเริ่มมีการกระเพื่อม และเมื่อผ่านไป 8 ปี ประชาชนจะทนไม่ไหว ซึ่งคนจะเป็นผู้นำต้องหาทางลงให้ตัวเองด้วย ก่อนจะเริ่มต้องรู้ว่าจะจบอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะไปเรื่อยๆ แล้วคิดว่าตัวเองที่จะอยู่ค้ำฟ้า
นี่คือสาเหตุที่ว่า ดิฉัน พอลลีน งามพริ้งเป็นผู้นำได้ เพราะคิดไว้แล้วว่าตัวเองจะเป็นผู้นำแบบไหน
หมายความว่า จะเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ ต้องใช้เวลาหรือเปล่า
ถ้าเราพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ใช่นะ ต้องใช้เวลา เสียงข้างน้อยก็ต้องอดทนเสียงข้างมาก ทำไมถึงบอกว่า Circle of power คือ 6 ปี บวกลบ 2 ปี มันก็ชัดเจนที่ระบบเลือกตั้งส่วนใหญ่กำหนดเทอมไว้ 4 ปี และก็ต่อได้อีก 1 สมัย เป็น 8 ปี เกินกว่านี้อยู่ไม่ได้ ถ้าเป็นประเทศเผด็จการก็คงมีปืนมาขู่ แต่ระบบที่มันเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดคือ 2 เทอม เพราะมันจะไม่ยึดติด และมีการหมุนเวียนคนรุ่นใหม่เข้ามาทำ อย่างสหรัฐฯ โอบาม่า ที่ได้รับความนิยมสูงมากก็อยู่ในตำแหน่ง 2 สมัย ต่อมาขั้วอำนาจก็เปลี่ยนไปเป็นของพรรคอีกฝ่ายนึงเลย นั่นคือ Circle of power
เราเห็นพรรคมหาชนชูนโยบายสิทธิมนุษยชน และ LGBTQ เป็นหลัก ทำไมพรรคถึงตั้งใจโฟกัสประเด็นนี้
พรรคมหาชนมาชวนเราเพราะเขาต้องการจะทำเรื่องนี้ ต้องการที่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็น LGBTQ และเคยเป็นความคิดของพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมหาชนที่บอกว่าอยากให้การเมืองมีกลุ่ม LGBTQ เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ก่อนที่ท่านยังไม่เสียชีวิต จึงเป็นที่มาที่ไปที่พรรคอยากโฟกัสเรื่องนี้
ในตอนแรกพรรคก็ไม่ได้จะโฟกัสประเด็นนี้เลย แค่ต้องการเปิดให้มีส่วนร่วม หรือมีนโยบายที่เปิดกว้างต่อ LGBTQ แต่พอมาถึงบริบทสังคมตอนนี้ มันแค่ให้มีส่วนร่วมไม่ได้แล้ว ต้องโฟกัสไปเลย เพราะเป็นพรรคขนาดเล็ก ต้องมีโฟกัส พรรคจึงมีการทาบทามคน รวมตัว และฟอร์มทีมกันขึ้นมา
ถามว่าทำไมพรรคการเมืองทุกพรรคต้องมีนโยบายเรื่องนี้ เราว่าน่าจะเป็น global trend และไม่ใช่แค่เทรนด์หรอก แต่มันเป็นความจำเป็นที่กลุ่ม LGBTQ ได้พิสูจน์ตัวเองมาในระดับนึงว่าตัวเองก็เป็นมนุษย์คนนึง และก็มีศักยภาพถ้าได้รับการโอกาสมากขึ้น เพราะพวกเรารู้ซึ้งถึงเรื่องนี้ว่าศักยภาพ และความสุขของตัวเอง มาตอนที่เป็นตัวเอง อย่างพอลลีน ตอนเป็นพินิจเรานึกว่าตัวเองเจ๋งแล้วนะ แต่พอเป็นพอลลีนเรายิ่งรู้สึกเราเป็นตัวเอง มีพลังมากกว่าเดิม
โลกนี้เริ่มเข้าใจแล้วว่า ถ้าคนเราเป็นตัวของตัวเอง เคารพตัวเอง และไม่ถูกกดทับจากสังคม ผลดีมันจะคืนสู่สังคม เพราะคนเหล่านี้จะมีศักยภาพมากขึ้น แล้วเขาจะไม่ไปทำร้ายคนอื่นหรอก แต่จะเอาศักยภาพตรงนี้มาสู่สังคมอีกที อันนี้เราวิเคราะห์ภาพรวมจากสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่พรรคมหาชนพรรคเดียวที่มีนโยบายเหล่านี้
พรรคมหาชนไมใช่พรรคเดียวที่มีนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ คิดว่าพรรคแตกต่างจากพรรคอื่นๆ ยังไง
พรรคมหาชนมี player หรือผู้เล่น อย่างเช่นพอลลีน ที่เราก็เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว แล้วตอนนี้เราก็มาทำงานการเมือง มันก็เลยอาจจะเป็นภาพที่ชัดกว่าพรรคอื่นๆ
พรรคอื่นๆ ก็มีผู้เล่นที่เป็น LGBTQ แต่สำหรับเรา พรรคให้เกียรติถึงขนาดเลือกเป็นแคนดิเดต มันก็มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์แล้ว และในความเป็นจริง ในการทำงานเราก็ได้รับเกียรตินั้นจริงๆ ที่ทั้งนโยบาย และยุทธศาสตร์พรรค เราก็เข้าไปมีส่วนร่วม เราไม่ได้ถูกดึงมาเพื่อเป็นแค่จุดขายเท่านั้น
คิดว่าสังคมยังขาดจุดไหน ในการสนับสนุน LGBTQ และนโยบายที่ควรมี
ส่วนใหญ่เวลาเราทำนโยบายเรื่องพรรคการเมือง ก็มักจะเป็นเรื่องการแก้กฎหมาย ให้สิทธิ หรือคืนสิทธิ ซึ่งการแก้กฎหมายต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่พอลลีนคิดว่า จำเป็นและเร่งด่วน คือระหว่างการรอแก้กฎหมายก็ยังมีคนที่ถูกแบ่งแยก ถูกรังแก ล้อเลียน เลือกปฏิบัติตลอดเวลา
ช่วงเดือนที่ผ่านมา พรรคเราก็เข้าไปช่วยเหลือในหลายๆ เรื่องๆ โดยที่เราไม่ได้เอามาใช้หาเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนักศึกษาถูกห้ามแต่งกายตรงกับเพศสภาพ โฆษณาที่เหยียดผู้หญิงข้ามเพศ หรือผู้หญิงข้ามเพศที่โดนลวมลามเพราะเพศในบัตรประชาชนไม่ตรงกับเพศปัจจุบัน การเหยียดในหน่วยงานทั้งราชการและเอกชน เรามองว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข คือต้องมีหน่วยงานเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิภาพ สุขภาพ ให้ความรู้แก่ครอบครัว สังคม ความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศ
เรามองว่าเรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะเรามองจากประสบการณ์ตัวเอง ทำไมถึงไม่กล้า ทำไมต้องรอตัวเองเข้มแข็งมากพอถึงจะกล้าเปิดเผย กล้าเปลี่ยน แล้วคนที่ไม่เข้มแข็ง ฆ่าตัวตายกันไม่รู้เท่าไหร่ หรือทั้งไปลงกับแอลกอฮอล์ หรือความรุนแรง แม้กระทั้งบางคนที่เป็น แต่ไปตีรันฟันแทงกับคนอื่น เพราะเป็นการระบายออก
เรื่องนี้ประเทศชาติเสียประโยชน์ไปเยอะมากกับการที่เยาวชนถูกกดทับ ไม่กล้าแสดงออก และไม่ได้แสดงศักยภาพ เราคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากกฎหมาย ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ออก เราก็ต้องมีการแก้ปัญหาพวกนี้ด้วย
เรามี พรบ. เรื่องความเท่าเทียมทางเพศอยู่แล้ว ก็ต้องมีหน่วยงานที่เข้าไปดูคนที่ละเมิด คือจะถูกตีตรา เลือกปฏิบัติ เรามีกฎหมายอยู่แล้ว แต่มันไม่มีคนที่ทำให้กฎหมายนั้นศักดิ์สิทธิ์ หรือคนที่ถูกเลือกปฏิบัติเอง แม้จะเจ็บใจมาก ที่ถูกกระทำ แต่สุดท้ายก็แค่มาตั้งสเตตัส โพสต์ระบาย แล้วจบ ทั้งๆ ที่จริงๆ สิ่งที่ถูกกระทำมันคือเรื่องผิดกฎหมาย อะไรพวกนี้เป็นเรื่องสลับซับซ้อนในปัญหาของ LGBTQ ที่ต้องมีหน่วยงานเข้าไปดูแล
ทางพรรคคิดว่าต้องทำยังไง กับเรื่องให้ความเข้าใจในประเด็น LGBTQ
พอลลีนก็เป็นส่วนหนึ่งในการที่ช่วยตรงนี้ สร้าง stereotype หรือ role model ที่เหมาะสม และหลากหลาย ไม่ต้องบอกว่า LGBTQ ดีอย่างนั้น อย่างนี้ มองเขาเป็นคนๆ นึง เราต้องทำงานในเชิงสื่อสารกับสาธารณะ ตรงนี้จะค่อยๆ พยุงสถานการณ์และความเข้าใจกันมากขึ้น
รวมถึงพวกหนัง และละคร เราไม่สามารถไปบังคับให้ใครเขียนสคริปต์ยังไงได้ แต่เราสามารถส่งเสริมคนที่ทำดีได้ปัจจุบันหนัง หรือละครของ LGBTQ จะเป็นเรื่องรสนิยมทางเพศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเราคิดว่าควรจะสำเสนอ LGBTQ ในฐานะคนทั่วไป ที่ไม่ต้องไปโฟกัสเรื่องที่จะเกิดการโต้แย้งมากนัก พอลลีนเองได้รับเกียรติให้เป็นเล่นละครอยู่ช่วงนึง เป็นบทผู้หญิงข้ามเพศธรรมดา ซึ่งเราว่าเป็นบทที่โอเค เพราะถ้าได้บทที่ไม่โอเค เราก็จะไม่เล่น ในบทเราก็อยู่บ้าน นุ่งผ้าซิ่น เสื้อคอกระเช้า เลี้ยงเด็ก อะไรอย่างนี้เป็นต้น
มันมีอีกหลายเรื่องนะที่ทำได้ การสร้าง role model แบบนี้ก็ทำได้ ผ่านสื่อมวลชน ผ่านคนจริงๆ ผ่านบทในละคร ในหนัง และอีกเรื่องนึงที่ทำได้คือการให้รางวัลกับคนที่เขาปฏิบัติแบบเสมอภาคกับ LGBTQ ในองค์กรต่างๆ อย่างเช่นมีรางวัล LGBTQ Friendly organization หรืออะไรต่างๆ ซึ่งให้กำลังใจกับคนที่มาในแนวทางที่ถูกต้อง
หรือการมีหน่วยงานให้คำปรึกษาพ่อแม่ที่ลูกเป็น LGBTQ ให้ความรู้เรื่องฮอร์โมน ก็จะสามารถสร้างความเข้าใจได้ เพราะปัจจุบันองค์ความรู้พวกนี้มันมี แต่สามารถเข้าถึงยาก ดังนั้นพรรคมหาชน และตัวพอลลีนคิดว่า มันมีภารกิจที่ยังจะต้องทำอยู่ นอกเหนือจากการเข้าสภา แต่ถ้าเข้าสภาแล้ว มันก็ต้องทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับประชาชน ไม่ใช่แค่เรื่อง LGBTQ แต่ถ้าไม่ได้เข้าสภาพอลลีนก็ตั้งใจจะทำเรื่องนี้
ถ้าได้เข้าสภา นโยบายหรือสิ่งแรกที่พรรคจะผลักดันคืออะไร
อย่างแรกเลยต้องทำความเข้าใจกับคนในสภาก่อนว่า เรามาเพราะอะไร แน่นอนประชาชนเลือกมา แต่ว่าทำความเข้าใจ และแสดงให้เห็นว่าเราทำงานได้ พิสูจน์ตัวเองกับ ส.ส.คนอื่นเป็นอันดับแรก เพราะคนก็จะมองว่ามีกระเทยอยู่ในสภา ซึ่งเราก็ต้องสื่อสารด้วยกริยา การแต่งกาย หรือการพูด เราต้องแสดงให้เห็นว่าเราทำงานได้
ในแง่กฎหมาย เราจะผลักดันนโยบายที่เราสัญญากับประชาชน คือนโยบายหลักที่พรรคนำมาชู เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ อย่างที่บอก อย่างแรกเราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องความเข้าใจ ควบคู่กับการแก้กฎหมาย กฎหมายกว่าจะเสร็จต้องใช้เวลา เรื่องการแก้ปัญหาเราก็ต้องทำพร้อมๆ กันเป็นอย่างแรกๆ
ถ้าตัวกฎหมายผ่านแล้ว คิดว่ามันจะมาช่วยในเรื่องการสร้างความเข้าใจให้กับ LGBTQ ได้ไหม
การทำงานเรื่องกฎหมาย กับความเข้าใจ มันต้องทำควบคู่กันไปเลย ทั้งการตั้งองค์กร ทำงานเรื่องความรู้ ให้คนเข้าใจ เข้าไปช่วยให้คนที่ถูกกระทำดำเนินการเรื่องกฎหมาย รวมถึงสื่อต่างๆ ทั้งหนัง และละคร แล้วพอสังคมเริ่มเข้าใจ กฎหมายซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ก็พร้อมออกมาพอดี
เคยมีนักกฎหมาย ที่อยู่ในพรรคการเมืองอื่นถามว่า ‘สังคมพร้อมแล้วหรือยัง ที่เราจะมีกฎหมายแบบนี้?’ เรากลับมองว่า อ้าว สรุปแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติจะพาสังคมย้อนกลับไป หรือว่าจะนำกฎหมายไปสู่สังคมที่ดีขึ้นกันแน่ ไม่ใช่แค่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ทุกอย่างทั้งสื่อเองด้วย ต้องทำงานก้าวไปข้างหน้า ไปสู่อนาคตสิ ไม่ใช่ว่าจะรอให้ทุกคนยอมรับก่อนแล้วค่อยออกกฎหมาย มันจะมีประโยชน์อะไร มันต้องทำควบคู่กันไป
สำคัญที่สุด ถ้าบริบทเปลี่ยนไป เงื่อนไขต่างๆ เปลี่ยนไป เราต้องทำงานสู่อนาคต ทำให้ลูกเรา หลานเรา เพราะเดี๋ยวตัวเราเองก็จะไม่อยู่แล้ว ดังนั้นทำเรื่องกฎหมาย และความเข้าใจของสังคม ต้องค่อยๆ ทำไป ต้องพูดปากเปียกปากแฉะ อย่าไปคาดหวังเป้าหมายที่ไกลเกิน เอาสั้นๆ ก่อน อย่างวันนี้เป้าหมายคือ พอลลีนลงทำงานการเมือง แล้วพร้อมทำงานให้เห็น ต่อไปก็จะมีเรื่องอื่นๆ เข้ามา
พูดถึงพรบ.คู่ชีวิต ฉบับล่าสุด มันยังมีประเด็นหลายอย่าง หรือสิทธิที่ LGBTQ เองยังไม่ได้รับ
พรบ.นี้ก็ยังถือเป็นการตีตรา มันถูกสร้างขึ้นมาด้วยแนวคิดว่าจะให้อะไรกับคนกลุ่มนี้ดี แต่ไม่ได้ถูกสร้างโดยมองว่าคนกลุ่มนี้ก็เป็นคนเหมือนกัน ในมุมมองพอลลีนเราต้องมองว่าทุกคนเท่ากัน และไม่ปฏิเสธว่า LGBTQ มีอยู่บนโลกนี้มานานแล้ว
เราคิดว่าสิทธิทุกอย่างจำเป็นต้องเหมือนกันกับการแต่งงานของชาย-หญิง จริงๆ LGBTQ ก็ suffer แต่สาเหตุที่ LGBTQ อยู่กันมาได้ โดยที่ไม่ต้องมีกฎหมายตัวนี้ หลบๆ ซ่อนๆ ก็มี เพราะพวกเขายอมจำนนกันมานานกับการไม่มีสิทธิ เหมือนที่เรายอมจำนนต่อรถติด จนเคยชินกับปัญหา เรายอมจำนนกับความห่วยแตกมากกว่า
แล้วคนก็ชอบบอกว่า ก็เห็นว่าอยู่กินกันมาได้ พอลลีนพูดกลับเลยว่า นี่คุณมองแต่ในมุมของเรื่องเซ็กส์อย่างเดียว คุณไม่ได้มองเรื่องความรักเลย คุณไม่สนใจเรื่องการลงทุนชีวิตร่วมกัน ความผูกพันธ์ สร้างครอบครัวกัน คุณมอง LGBTQ แค่ในแง่เรื่องเพศ แต่จริงๆ พวกเขาก็มีความรักนะ อยากมีครอบครัว แต่ที่อยู่มาได้ก็ตามมีตามเกิด ตายจากกันก็มี
ประเด็นก็คือ อย่าจำนนต่อความไม่เอาไหนที่เกิดขึ้น เพราะมันจะกลายเป็นแค่ มีเท่านี้ก็ดีอยู่แล้ว
ความคาดหวัง สิ่งที่อยากเห็นหลังเลือกตั้ง ทั้งในภาพสิทธิ ความเท่าเทียม
อยากเห็นทุกคนไม่ยอมแพ้กับการไหลลงต่ำของสิ่งต่างๆ นั่นหมายความว่าเราต้องคิดถึงสังคมอุดมคติไว้ก่อน แล้วเดินไปสู่จุดที่ใกล้เคียงที่สุด คนบอกว่าเท่าเทียมไม่มีหรอกในโลก ใช่สิ มันไม่มีหรอก แต่ถ้าคุณยอมจำนน ชีวิตของทุกคนก็จะไหลลงต่ำ ดังนั้นอย่ายอมแพ้ที่จะไปถึงโลกอุดมคติตรงนั้น
สิ่งที่อยากเห็น คือการเท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เลิกทำเรื่องประชานิยมแบบดูถูกประชาชน ควรจะเป็นรัฐสวัสดิการที่ส่งเสริมศักยภาพของคน ที่เขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่พึ่งพารัฐจนเกินไป พึ่งพารัฐตอนที่เขาไม่มีแรงแล้วในวัยเกษียณ ถ้าเขายังทำงานไหว ก็ให้ทำงาน พยายามส่งเสริมศักยภาพของคน เพื่อพัฒนาไปพร้อมๆ กัน
เยาวชนเอง เรื่องของความเท่าเทียม โอกาสทางการศึกษา ต้องไม่ใช่การศึกษาที่เพื่อจบมาแล้วเป็นพนักงานบริษัท หรือทำงานในโรงงาน โอกาสทางการศึกษาที่จะพัฒนา talent ความสามารถของตัวเอง อย่างความสามารถด้านกีฬา หรือศิลปะ ถ้าเด็กบางคนอยากทำก็ต้องมีทางพัฒนาสำหรับเขา และให้ได้เงินด้วย ถ้ามีตลาดก็มีคนอยากทำ นี่คือการพัฒนาต้นทุนมนุษย์ที่อยากเห็น ซึ่งจะเป็นภาระทางสังคมและรัฐน้อย นี่คือภาพรัฐสวัสดิการที่เราอยากเห็น
ในแง่ของสังคม ช่องว่างระหว่างเพศหมดลง น้อยลง ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนน้อยลงไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเท่ากันหมด แต่เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจให้กับคนทุกคน ทั้งในหมู่บ้าน ให้เขามีโอกาสเข้าถึง ด้วยโครงสร้างที่รัฐบาลต้องทำให้
สิ่งที่อยากเห็นที่สุดคือเรื่องการเมือง อันนี้สำคัญที่สุดไม่งั้นประเทศเดินต่อไปไม่ได้จริงๆ อยากให้การเมืองเท่ากัน เคารพกันอยู่ในกติกา จริงๆ ตอนนี้ ถ้าเปรียบการเมืองเป็นฟุตบอล เราก็เห็นว่ามันไม่แฟร์ เพราะมีผู้เล่นไม่เท่ากัน แต่เรายังล้มกติกาไม่ได้ ตอนนี้ก็เหมือน ‘กูต่อให้มึงก่อนแล้วกัน ซึ่งมึงชนะก็เท่านั้นแหละ แต่ถ้าแพ้ก็อับอายขายหน้า เดี๋ยวกูจะชนะมึงให้ดู’ ต้องคิดอย่างนี้ เพราะถึงสุดท้ายกติกามันไม่แฟร์ แต่เราก็อยากเห็นคนเคารพกติกา แล้วมุ่งพัฒนาตัวเอง อย่าไปมองผู้แข่งขันเป็นศัตรู วันนี้แพ้ พรุ่งนี้ก็อาจจะชนะได้
อยากเห็นที่สุดในการเมืองต่อจากนี้ คนแพ้มุ่งพัฒนาตัวเองต่อเพื่อที่จะชนะ แต่อย่านอกกติกา และเดินไปด้วยกัน อยากให้ทุกคนมองกันเป็นพาร์ทเนอร์ น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า สุดท้ายรัฐบาลกับประชาชนก็เป็นหุ้นส่วนกัน พรรคการเมืองต่างพรรคกัน ก็ร่วมมือกันได้ เราอยากเห็นภาพการเมืองที่ไม่แบ่งแยก
photo by. Adidet Chaiwattanakul