‘บุกรุก’ หรือ ‘บุกเบิก’ สองคำที่เขียนคล้ายกัน แต่ให้ความหมาย ความรู้สึก และสร้างความเข้าใจได้ห่างไกลคนละโลก
ลึกลงในทางรถไฟตรงข้ามแอร์พอร์ตลิงค์พญาไท คือที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 300 ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในชุมชนแดงบุหงา, ชุมชนบุญร่มไทร และชุมชนหลังทางหลวง พวกเขาปลูกสร้างบ้านอยู่ริมทางรถไฟ ใช้เสียงหวูดแทนนาฬิกาปลุก และเสียงล้อกระแทกรางแทนเพลงกล่อม
นับตั้งแต่ปี 2563 พวกเขาเผชิญกับการขอคืนพื้นที่จาก รฟท. เพื่อหลีกทางให้โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินเข้ามาก่อสร้างและนำการพัฒนาให้ขยายวงกว้างออกไป และวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นวันที่ระบุไว้ในหมายศาลให้พวกเขาย้ายออกจากที่อยู่อาศัย ซึ่งถึงแม้ล่าสุดภาครัฐจะตกลงยืดระยะเวลาการไล่รื้อออกไป แต่ดูเหมือนมหากาพย์นี้จะมีฉากจบภาพเดียวคือ ชุมชนริมทางรถไฟทั้งหมดต้องย้ายออกไป
ใช่ ทั้งหมดคือไม่ใช่แค่ 3 ชุมชนแห่งนี้ แต่รวมถึงชุมชนริมทางรถไฟอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางที่โครงการพาดผ่าน รวมถึงบางชุมชนที่ย้ายออกไปแล้วแต่ไม่เป็นข่าว เช่น ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดชลบุรี
The MATTER ลงพื้นที่เพื่อสะท้อนภาพชีวิตที่บางคนอาจมองว่าไม่น่าอภิรมย์และเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แต่การพยายามเข้าใจพวกเขาเป็นเรื่องสำคัญเพื่อตั้งคำถามต่อเนื่องไปว่า เมกะโปรเจคกำลังพาสังคมเราไปทิศทางไหน ระหว่างทางมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และกระบวนการที่ภาครัฐปฏิบัติกับประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยเป็นอย่างไร
1 กม. ริมทางรถไฟพญาไท
“ผมเกิดที่นี่โตที่นี่ ปีนี้ผมอายุ 49 จะ 50 แล้ว แต่ชุมชนตรงนี้อยู่มานานกว่านั้น ก่อนผมเกิดพ่อผมก็อยู่ที่นี่แล้ว เขาทำงานที่อู่ฝั่งตรงข้าม (ชี้มือไปที่ถนนอีกฝั่ง)” สมเกียรติ ศรีทองสด หนึ่งในชาวบ้านชุมชนหลังทางหลวงที่กำลังถูกไล่รื้อบ้านเล่าให้เราฟัง
แรกเริ่มพ่อของ สมเกียรติ มาอาศัยอยู่ที่นี่กับน้องชายที่ทำงาน รฟท. แต่เมื่อห้องหับของสวัสดิการรถไฟเริ่มเต็ม พ่อก็เลยตัดสินใจปลูกบ้านเรียบทางรถไฟเพื่อให้ใกล้ที่ทำงาน และเรียกได้ว่าเขาเองก็เดินตามรอยเท้าพ่อ ประกอบอาชีพเป็นช่างซ่อมรถ ก่อนเริ่มปลูกบ้านปูนอยู่ริมทางรถไฟเช่นกัน
ชุมชนหลังทางหลวงเป็น 1 ใน 3 ชุมชนริมทางรถไฟพญาไทที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน แต่อาจพูดได้ว่าชุมชนริมทางหลวงได้รับผลกระทบน้อยกว่าอีก 2 ชุมชน เพราะบ้านส่วนใหญ่ที่ติดริมทางรถไฟเป็นของ รฟท. อยู่แล้ว จึงมีเพียงสมเกียรติ และบ้านในชุมชนอีก 2-3 หลังเท่านั้นที่กำลังถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัยที่ปลูกข้ึนมาด้วยน้ำพักน้ำแรง
เดินมาอีกหน่อยก็เข้าสู่พื้นที่เขตชุมชนบุญร่มไทร ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างชุมชนแดงบุหงา และชุมชนหลังทางหลวงที่สุดราง เชาว์ เกิดอารีย์ ชาวชุมชนบุญร่มไทรเล่าถึงที่มาที่ไปของตัวเองไว้ว่า เขาเกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี และไปทำงานที่จังหวัดกาญจนบุรีช่วงสั้นๆ ก่อนตัดสินใจร่วมกับคนรัก เก็บกระเป๋าเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะหวังถึงชีวิตและโอกาสที่ดีกว่า เมื่อ เชาว์ เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เขาเช่าห้องพักอาศัยอยู่ที่แฟลตเล็กๆ แห่งหนึ่ง และเริ่มอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์บริเวณปากซอยเพชรบุรี 5
เมื่อเวลาผ่านไป เชาว์ สังเกตว่ามีหลายคนอาศัยอยู่บริเวณเลียบทางรถไฟพญาไท บวกกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในครอบครัวหลังมีลูก และภาวะเศรษฐกิจที่ดิ่งลง (วิกฤตต้มยำกุ้ง) เขาจึงตัดสินใจมาจับจองพื้นที่รกร้างริมทางรถไฟและปลูกบ้านอาศัยอยู่กับครอบครัว
“ผมอยู่นี่มาร่วม 20 ปีแล้ว ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่ามาอยู่ตรงนี้ได้ แต่เห็นชาวบ้านเขามาอยู่กัน ก็ตามๆ กันมา เริ่มมาสร้างเพิงพักเล็กๆ เพราะเราเช่าอยู่ไม่ไหว เราไม่ได้มีงานที่ดีทำ อยู่ไปๆ คนมันก็เริ่มเข้ามาอยู่เรื่อยๆ”
เขาว์ อธิบายความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ภายหลังที่ชาวบ้านเริ่มเข้ามาอาศัยริมทางรถไฟแห่งนี้ว่า พื้นที่บริเวณนี้มีคนเดินตลอดทั้งวัน เพราะเป็นศูนย์กลางติดกับถนนศรีอยุธยา, เพชรบุรีซอย 5, ถนนพญาไท และถนนพระราม 6 แต่เมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนี้รกร้างและมีคนมาทิ้งขยะเยอะ รวมถึงมีเรื่องยาเสพติด และฉกชิงวิ่งราว ภายหลังที่ชาวบ้านเข้ามาพื้นที่นี้ก็เริ่มปลอดภัยขึ้น ไม่มีเรื่องราวอย่างที่เคยอีกแล้ว
“เรื่องที่อยู่อาศัยต้องมาลำดับแรกเลย” คือคำกล่าวของ ชาญชัย นพรัตน์ ประธานชุมชนบุหงาแดง เขานั่งอยู่ในบ้านที่ก่อขึ้นจากปูนและไม้ ด้านในมีซอยแยกย่อยออกไปเป็นห้อง 3-4 ห้อง ขณะที่ข้างกายเขาคือหญิงชราที่มีศักดิ์เป็นแม่ของเขา และมีสถานะเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้
สำหรับชุมชนแดงบุหงาอาจมีความต่างจากสองชุมชนเล็กน้อย เพราะแต่เดิมที่ตั้งชุมชนพวกเขาอยู่ฝั่งตรงข้ามเพชรบุรีซอย 7 แต่เมื่อตระกูลแดงบุหงาเจ้าของที่ดินขายพื้นที่ให้แก่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ชาวบ้านก็ต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ จนได้มาอยู่ในซอยเพชรบุรี 5 และบางส่วนก็เข้ามาอาศัยอยู่เลียบทางรถไฟ ประธานชุมชนบุหงาแดงอธิบายถึงที่มาที่ไปของชุมชนริมทางรถไฟแดงบุหงา
“เลียบทางรถไฟนี่อยู่มาตั้งแต่รุ่นแม่แล้ว 60-70 ปี เพราะตรงนี้มันสะดวกสบาย เมื่อก่อนมันเป็นทางเชื่อมกันหมด จะไปทำงาน ขายของอะไรมันก็ใกล้แถวนี้”
นอกจาก ชาญชัย, เชาว์ และสมเกียรติแล้ว ชาวบ้านคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ตลอด 1 กม. เลียบทางรถไฟพญาไทล้วนเล่าไปทิศทางเดียวกันว่า พวกเขามาอาศัยอยู่ที่นี่เป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปีแล้ว ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่พวกเขามีร่วมกันคือ เรื่องของรายได้ที่ไม่เพียงพอจะย้ายไปอาศัยอยู่ที่อื่น
บนรางแห่งความขัดแย้ง
ก่อนหน้านี้มีหมายจากศาลปกครองระบุว่า ภายในวันที่ 31 มี.ค. ชาวชุมชนบุญร่มไทร (อีก 2 ชุมชนยังไม่เร่งรัดเท่าชุมชนบุญร่มไทร) ต้องย้ายออกจากพื้นที่แห่งนี้ในทันที เพื่อหลีกทางให้แก่การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – อู่ตะเภา – สุวรรณภูมิ) ซึ่งเป็นเมกะโปรเจ็กต์ขนาดยักษ์ของรัฐบาลมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท
โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินเป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาล – เอกชน (PPP) ซึ่งภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานคือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในเครือซีพี ซึ่งภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาททั้งการลงทุนก่อสร้าง, ซ่อมบำรุง ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ ขณะที่ภาครัฐมีหน้าที่หลักในช่วงแรกคือ ส่งมอบพื้นที่และสิทธิการใช้ที่ดิน กล่าวคือการขอคืนที่ดินของ รฟท. ทั้งหมดนั่นเอง
ในปี 2563 เชาว์ เล่าว่าพนักงานจาก รฟท. ได้ลงมาชี้แจงถึงโครงการดังกล่าวและขอให้ชาวบ้านบริเวณนี้ย้ายออกไปภายใน 6 เดือน ก่อนที่ไม่กี่วันต่อมา เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะเข้ามาในพื้นที่และประชาสัมพันธ์ถึงโครงการดังกล่าว
เขามาบอกกับชาวบ้านเรื่องโครงการ แล้วบอกว่า รฟท. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่จะชดเชยค่าที่อยู่อาศัยให้ อยากได้เท่าไหร่ก็กรอกมาได้เลย แต่ขออย่างเดียวเอาบัตรประชาชนให้หน่อย แล้วเดี๋ยวถึงเวลาไล่รื้อจะได้เอาเงินมาให้ ตอนนั้นชาวบ้านก็ยอมรับและทำตามเรื่องไป แต่อีก 1 ปีต่อมา กลับมีหมายศาลส่งมาที่บ้านบอกว่าชาวบ้านบุกรุกที่ดินของ รฟท.
ภายหลังมีหมายศาลส่งมา ชาวบ้านเริ่มได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากเครือข่าย NGO เช่น สลัม 4 ภาค และนักวิชาการหลายแขนง ชุมชนจึงเริ่มรวมตัวและมีความเข้มแข็งมากขึ้น ต่อมาจึงเริ่มมีการเจรจากับภาครัฐ และในที่สุด ภาครัฐก็เริ่มใจอ่อน
ถึงขณะนี้ ภาครัฐได้ยื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านสองประการ ประการแรก รับเงินชดเชยค่าที่อยู่อาศัยแล้วย้ายออกไปทันที ประการที่สอง เข้าร่วมออมทรัพย์กับบ้านมั่งคง เพื่อรอสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าจะเป็นที่แห่งไหน มีเพียงการคุยกันว่าอาจเป็นพื้นที่บริเวณซอยหมอเหล็ง ซึ่งห่างออกไปจากบริเวณนี้ประมาณ 2 กม.
แต่ข้อเสนออีกประการที่ชาวบ้านเรียกร้องคือ อยากให้มีการจัดที่อยู่อาศัยให้ชั่วคราวระหว่างที่รอบ้านมั่นคงของการเคหะฯ สร้างเสร็จ เชาว์ แสดงความเห็นถึงข้อเรียกร้องของชาวบ้านว่า
ก่อนที่เราจะย้ายออก เราต้องการที่พักชั่วคราว เพราะถ้าไม่มีที่พักชั่วคราวกว่าเคหะฯ จะสร้างบ้านให้เราเสร็จ เราจะไปอยู่ไหนได้ คือเราไม่ได้ต้องการเงินชดเชย แต่เราต้องการที่อยู่อาศัย
ขณะที่ทางด้าน สมเกียรติ จากชุมชนหลังทางหลวงกล่าวว่า
“ที่ผมไปประชุมเนี่ย ผู้ว่า รฟท. บอกว่าวิน-วิน แต่นี่มันไม่ใช่ ถ้าวิน-วินโครงการบ้านสงเคราะห์มันต้องเริ่มสร้างแล้ว และจัดหาที่ชั่วคราวให้ชาวบ้านไปอยู่ก่อน เพื่อรอให้บ้านสร้างเสร็จ แต่มาแบบนี้มันไม่วิน-วินแล้วไง คุณจะไล่อย่างเดียว อยากได้พื้นที่คืนอย่างเดียว ชาวบ้านเขาพร้อมจะไปอยู่แล้ว แต่คนที่มีอำนาจตัดสินใจต้องลงมาคุยกับชาวบ้านบ้าง”
บุกรุกหรือบุกเบิก
ชาวบ้านตลอด 1 กม. ไม่สิ ชุมชนริมทางรถไฟทั้งหมดเป็นผู้บุกรุกหรือเปล่า? คือคำถามที่สำคัญ อย่างน้อยในแง่ที่ว่าเราควรจะมองพวกเขาด้วยสายตาแบบไหน
“ผมอยากเรียกพวกเขาว่า ‘ผู้บุกเบิก’ มากกว่า” คือคำกล่าวของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุญเลิศ เป็นนักวิชาการที่สนใจประเด็นคนจนเมือง และเคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับคนไร้บ้านในระดับปริญญาโทและเอก (เขานิยามคนไร้บ้านว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ ‘คนจนเมือง’ ที่รุนแรงที่สุด) นอกจากนี้ เขายังเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญให้กับชุมชนบริเวณนี้ และยังเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านอย่างเข้มแข็ง
“คำว่า ‘บุกรุก’ ถูกใช้เสมอกับชุมชนแออัดหลายแห่ง ไม่ใช่แค่ชุมชนริมทางรถไฟ ที่ไม่มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมาย คำนี้นำมาซึ่งภาพลักษณ์ในทางลบ ซึ่งผมมองว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไหร่นัก เพราะคำว่าบุกรุกมักทำให้เรานึกภาพของที่ดินที่เจ้าของกั้นรั้วไว้เรียบร้อย และคนค่อยเข้ามาช่วงชิงใช้ที่ดิน แต่จากการสัมภาษณ์กับชาวบ้านหลายคน ผมอยากเรียกเขาว่า ‘ผู้บุกเบิก’ จะตรงกว่า”
และถ้าเรามองประวัติศาสตร์ว่าคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในที่ดิน รฟท. ได้อย่างไร ต้องย้อนว่าคนรุ่นแรกที่มาอยู่ไม่ใช่ใครนะครับ แต่คือคนที่เคยทำงานกับรถไฟมาก่อน แล้วพอลูกหลานเข้ามาอยู่ด้วย หรือตัวเองเกษียร พอไม่มีที่อยู่ก็เลยปลูกบ้านใกล้ๆ แถวนั้น ซึ่งไม่ใช่ภาพว่าเจ้าของที่ดินไม่รู้เรื่องนะครับ พวกเขาเป็นผู้บุกเบิกมากกว่าผู้บุกรุก เพราะเจ้าของเองไม่ได้ล้อมรั้วป้องกันคนเข้ามาใช้งาน และยอมรับโดยปริยายด้วยซ้ำว่ามีคนเข้ามาอยู่ หลังๆ เลยเริ่มมีคนทยอยเข้ามาเรื่อยๆ
เจ้าของฉายานักมานุษยวิทยาสายสตรีตมองว่า การเกิดขึ้นของชุมชนริมทางรถไฟ และชุมชนแออัดอื่นๆ เป็นภาพสะท้อนของปัญหาสองประการ หนึ่ง เมืองที่ไม่สนใจคุณภาพชีวิตของคนทำงานที่รับใช้เมือง และสอง สังคมที่ไม่มีที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น จึงเกิดชุมชนแออัดที่เป็นแหล่งดูดซับคนจำนวนมากไม่ให้ร่วงหล่น และกลายเป็นคนไร้บ้านซึ่งเป็นภาวะรุนแรงที่สุดของคนจนเมือง
บุญเลิศมองว่า คนกลุ่มนี้ล้วนเป็น “ผู้แบกเมือง” กล่าวคือ เป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่คอยขับเคลื่อนเมืองให้เดินไปข้างหน้า ป้อนข้าว ป้อนน้ำ ป้อนแรงรับใช้เมือง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน, ผู้มีรายได้น้อย และนิสิตนักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง
“ผมอยากเรียกพวกเขาว่า ‘คนแบกเมือง’ คำว่า ‘แบก’ มันสะท้อนว่าพวกเขามีฟังค์ชันต่อเมือง ถ้าไม่มีพวกเขาใครเล่าจะแบกเมือง ถ้าไม่มีพวกเขาเมืองมันจะเดินไปได้ไง มันมีประโยคหนึ่งจากผู้นำชุมชนคลองไผ่สิงห์โต (ทวีศักดิ์ แสงอาทิตย์) ที่พูดไว้ในปี 2534 ตอนที่พวกเขาจะถูกไล่ที่ว่า
“เมืองจะเจริญไม่ได้ ถ้าปราศจากคนจน” มันเป็นไอเดียเดียวกัน เพราะพวกเขามีส่วนในการทำให้เมืองขับเคลื่อนไปได้ ยกตัวอย่าง คนในชุมชนบุญร่มไทร มีคนจำนวนมากที่มีเข็นรถเข็นขายอาหาร ซึ่งคนจำนวนนี้ก็เป็นผู้จัดอาหารให้แก่ผู้มีรายได้น้อยคนอื่นๆ เช่น พนักงานก่อสร้าง ดังนั้น มันเป็นลูกโซ่มากที่ทำให้กลไกของเมืองไปต่อได้”
บ้านสำคัญที่สุด
“บ้านคือที่ซุกหัวนอน คุณอย่าตีค่ามันด้วยเงินอย่างเดียว บางคนเขาอยู่มา 40-50 ปีแล้ว นอกจากตัวบ้านมันก็มีของนู้นนี่ เงินชดใช้ที่จะให้มันไม่คุ้มค่าอะไรเลย ทุกคนมีผลกระทบหมด ได้รับหมายศาลเหมือนกันหมด ทำไมแต่ละหลังให้เงินชดเชยไม่เท่ากัน คุณไม่ควรเอา ตร.ม. มาวัด แต่ควรเอาความเดือดร้อนมาวัด” สมเกียรติพูดกับเรา ในนัยน์ตาสีขุ่นของเขาเริ่มมีน้ำรื้นขึ้นมา สำหรับสมเกียรติ เขายินยอมย้ายออกจากบ้านริมทางรถไฟ ขอเพียงแค่ความเป็นธรรมสำหรับเงินชดเชย และความมั่นใจจากภาครัฐว่าจะจัดที่อยู่อาศัยให้เท่านั้น
“เราพร้อมที่จะไป เพียงแต่ขอบ้านชั่วคราวก่อนได้ไหม และโครงการที่จะสร้างก็ควรให้มีอยู่จริง ไม่ใช่มีโครงการทำบ้านชั่วคราว แต่เคหะฯ กลับยังไม่ทำ แล้วจะให้เราอยู่ยังไง มันต้องมีความชัดเจนว่าจะต้องอยู่ตรงไหนกี่เดือน กี่ปี” สมเกียรติกล่าว
ที่อยู่อาศัยคือความเหลื่อมล้ำที่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพที่มีประชากรตามทะเบียนกว่า 5 ล้านคน และมีประชากรแฝงรวมเกือบ 10 ล้านคน บางคนไม่มีตังเช่าห้องพัก บางคนตกงานจนต้องออกมาบนถนน และบางคนมีรายได้น้อยเกินกว่าจะซื้อที่ดินที่ราคาแพงระยับรอบกรุงเทพฯ
งานวิจัย ‘รวยกระจุก จนกระจาย: ความเหลื่อมล้ำกับการปฏิรูปภาษีที่ดิน’ ของ ดวงมณี เลาวกุล ชี้ว่า คนเพียง 1% เปอร์เซนต์ของประเทศ ถือครองที่ดินมากถึง 22,522,047 ล้านไร่ หรือมากกว่าพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกรวมกัน ขณะที่คนที่ครอบครองน้องที่สุดมีเพียง 1 ตร.วาเท่านั้น และร้ายที่สุดคือไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองเลย
ว่ากันตามตรง ไม่ใช่ชาวบ้านในบริเวณนี้ทุกคนที่มองว่าที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยจากการลงพื้นที่ของเราในวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมาพบว่าบ้านบางหลังยินยอมที่จะรื้อถอนและรับเงินชดเชยแล้ว ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะฝากเงินออมทรัพย์เพื่อผ่อนซื้อบ้านมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่พวกเขาพยายามผลักดันให้ตอนนี้คือ พวกเขายินยอมที่จะย้ายออก แต่ภาครัฐควรจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้พวกเขา อย่างน้อยก่อนที่บ้านมั่นคงตามโครงการจะสร้างเสร็จ
ทิศทางที่ดีและการเดินหน้าต่อไป
“ผมคิดว่าเท่าที่ขยับมาได้ จากเดิมที่พูดแต่เรื่องกฎหมาย บอกว่าเขาเป็นผู้บุกรุก ก็เริ่มมีการถอยมาใหม่ เริ่มมีการจัดที่อยู่อาศัย จนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่ามันเป็นก้าวที่สำคัญมาก ถือว่า รฟท. และกระทรวงคมนาคมมีความเข้าใจชาวบ้านเยอะขึ้น”
ข้างต้นคือคำกล่าวของ บุญเลิศ ต่อทิศทางของปัญหาการไล่รื้อที่ดินชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟพญาไท ซึ่งเขาเชื่อว่ามันเป็นมุดหมายและทิศทางทางที่ดีต่ออนาคตคนจนเมืองที่โดนบีบจากการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ
บุญเลิศเสริมต่อว่า เราควรหันมาคุยกันถึงเรื่อง สิทธิในเมือง (The Right To The City) ของทุกคนให้มากขึ้น เมืองควรเป็นเมืองของประชาชน ซึ่งไม่พัฒนาไปโดยมองที่ผลกำไรเท่านั้น แต่มันควรคำนึงถึงผลประโยชน์เพื่อสังคมควบคู่กันไป
คนที่อยู่ในเมืองทุกคนควรมีส่วนร่วมกับเมือง เมืองควรเป็นเมืองของประชาชน ไม่ใช่คำนึงแต่ผลกำไรเท่านั้น เราไม่ควรคิดถึงการใช้ที่ดินเพื่อผลกำไรอย่างเดียว แต่ควรคิดว่าโครงการที่รัฐจะจัดให้ชาวบ้านริมทางรถไฟพญาไทคือ Social Housing ที่ไม่มองกำไรเป็นหลัก แต่เป็นการทำอย่างไรให้คนที่ทำงานในเมืองมีที่อยู่ได้
“บ้านเราจะพูดถึงประโยชน์เชิงสังคมในมุมของพื้นที่สาธารณะ แต่ผมคิดว่าการทำที่อยู่อาศัยสำหรับคนมีรายได้น้อย ก็เป็นส่วนหนึ่งของประโยชน์เชิงสังคมเช่นกัน” นักมานุษวิทยาสายสตรีตทิ้งท้าย
ไม่ว่าคุณจะมองชุมชนริมทางรถไฟว่าพวกเขา ‘บุกรุก’ หรือ ‘บุกเบิก’ แต่ภาพหนึ่งที่เราควรมีร่วมกันก่อนคือ ปัญหาไม่ได้เกิดจากพวกเขาทั้งหมด มันมีบริบทและเรื่องราวรอบด้านที่ร้อยรัดพันกันอยู่ ทุกคนมีส่วนผิดและถูกไม่มากไม่น้อยต่างกัน แต่คำถามสำคัญมากกว่าคือ เราจะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน โดยไม่ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้อย่างไร..
Photograph By Channarong Aueudomchote
Illustrator By Sutanya phattanasitubon