ในขณะที่เราแอบหัวเราะเพื่อนข้างๆ ที่กำลังนั่งน้ำตารื้นตอนดูหนังเศร้าหรือหนังรักโรแมนติก แล้วพลางคิดว่าคนคนนั้นทำไมถึงได้อ่อนไหวขนาดนี้ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นแค่หนังเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ชีวิตจริงซะหน่อย ซึ่งบางทีอาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะผลการวิจัยได้ออกมาชี้ว่า คนที่ร้องไห้ตอนดูหนังนั่นแหละคือคนที่แข็งแกร่งมากที่สุด
ถึงฉากน้องหมาตายทีไรกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหวทุกที หรือจังหวะที่นางเอกกำลังโดนบอกเลิก น้ำใสๆ ก็ไหลออกจากตาแบบไม่รู้ตัว ยิ่งเป็นโฆษณาไทยประกันชีวิตแล้วล่ะก็ ทิชชู่หมดไปม้วนนึง! ทำไมเราถึงต้องมาเสียน้ำตาให้กับการดูอะไรซึ้งๆ ด้วย?
ไม่ว่าจะร้องไห้เพราะเสียใจ สงสาร ซึ้ง หรือโกรธแทนตัวละครในหนัง สาเหตุของน้ำตาเหล่านั้นล้วนมาจาก ‘ออกซิโทซิน’ (oxytocin) ฮอร์โมนแห่งความรักที่อยู่ในสมองของเราเอง ซึ่งฮอร์โมนนี้จะส่งผลให้คนเรามีความรู้สึกเมตตาและเห็นใจผู้อื่น (ตัวละครในเรื่อง) และการที่เราร้องไห้นั้นก็เป็นมาจากการที่เรารู้สึกกับสิ่งที่มากระทบความรู้สึกเรา หรือการที่เรานำตัวเองไปเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่อยู่ในหนังเรื่องนั้น
พอล เจ. แซก (Paul J. Zak) นักประสาทเศรษฐศาสตร์ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาลงวารสาร Cerebrum-PMC ในหัวข้อเรื่อง ‘Why Inspiring Stories Make Us React: The Neuroscience of Narrative’ ซึ่งเขาก็พบว่า คนที่ร้องไห้ขณะดูหนังหรืออ่านหนังสือมีแนวโน้มที่จะมีความแข็งแกร่งในชีวิตจริงมากกว่าคนที่ไม่ค่อยแสดงออกทางความรู้สึก และยังเก่งในเรื่องของการจัดการกับความรู้สึกของตัวเองอีกด้วย ถึงแม้จะรู้อยู่แล้วว่าเรื่องที่ได้ดูหรือได้ฟังเป็นเพียงแค่เรื่องแต่ง—ไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด และพวกเขาก็มักจะสะท้อนความรู้สึกของตัวละครด้วยการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดๆ นั้น
ยิ่งเรารู้สึกเห็นใจต่อความเจ็บปวดบนหน้าจอมากเท่าไหร่
ในชีวิตจริงเราก็ยิ่งจะแข็งแกร่งมากเท่านั้น
เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างการเล่าเรื่องในหนังกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนออกซิโทซิน พอลเปิดหนังสั้นเรื่องหนึ่งของโรงพยาบาล St. Jude Children’s Research ให้ผู้รับการทดสอบดู โดยเวอร์ชั่นแรกแสดงให้เห็นชีวิตพ่อคนหนึ่งที่ลูกชายวัย 2 ขวบของเขาเป็นเนื้องอกในสมอง หนังสั้นเล่าเรื่องแบบดราม่า ที่คนเป็นพ่อพยายามจะสื่อสารและเล่นกับลูกชาย แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าลูกชายสามารถอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน แต่เขาเองพยายามที่จะใช้เวลาอยู่ด้วยกันจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย
“ภาพยนตร์ที่มีเด็กและสัตว์เยอะๆ จะมีคุณสมบัติในการกระตุ้นน้ำตามากที่สุด” พอลกล่าว
อีกการทดสอบหนึ่ง เป็นการนำเสนอหนังสั้นเรื่องเดิม เพียงแต่เล่าเรื่องแบบเรียบๆ ไม่มีการพูดถึงเนื้องอกหรือความตาย ใช้นักแสดงชุดเดิม เด็กชายคนเดิมที่ก็ไม่มีผมเช่นเดียวกัน เพราะเป็นผลมาจากการทำคีโม ซึ่งในเวอร์ชั่นนี้เขาถูกเรียกว่า ‘เด็กชายผู้มากับปาฏิหารย์’ เพราะว่ารักษาเนื้องอกจนหายขาดได้ แม้จะเป็นตัวละครเดิมกับวิดีโอเรื่องที่แล้ว แต่เวอร์ชั่นนี้ปราศจากความตึงเครียด ไม่ดราม่าเท่ากับเวอร์ชั่นแรก
จากผลการทดสอบ พบว่า วิดีโอที่มีการเล่าเรื่องอย่างดราม่า ส่งผลให้ออกซิโทซินในสมองเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดความรู้สึกสงสารและเห็นใจต่อตัวละครในเรื่อง ยิ่งความรู้สึกสงสารมีมากเท่าไหร่ ผู้เข้าร่วมก็ยิ่งอยากจะบริจาคเงินให้โรงพยาบาลมากเท่านั้น เพราะเราพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวในจอกับความรู้สึกของเราเอง ส่วนการเล่าเรื่องแบบเรียบๆ นั้นไม่ได้ส่งผลให้ออกซิโทซินในสมองเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แถมผู้เข้าร่วมการทดสอบก็ได้กล่าวว่า ตัวเองไม่ได้รู้สึกสงสารหรือเสียใจกับตัวละครในเรื่องอีกด้วย
การร้องไห้ไม่ได้หมายความเราอ่อนแอ
การทดสอบทำให้พบว่า การเล่าเรื่องที่พ่วงอารมณ์เข้ามาด้วยส่งผลให้เกิดการกระทำตามมา ในที่นี้ก็คือการบริจาคเงินให้กับคนแปลกหน้า
พอลเสริมว่า ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจำเป็นจะต้องรักษาตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่เสมอ ดังนั้นเราจึงมีการแบ่งปันความรู้สึกของตัวเองร่วมกับคนอื่นอยู่บ่อยๆ พยายามเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ไปจนถึงการเลียนแบบอารมณ์ของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งในขณะที่เรากำลังทำแบบนั้น ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ฮอร์โมนออกซิโทซินถูกปล่อยออกมา
“ภาพยนตร์เป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ถือว่ามีประสิทธิภาพ โดยสองสิ่งที่ทำให้มันได้ผลดีที่สุดก็คือภาพและอารมณ์ที่ปรากฎออกมา ซึ่งการร้องไห้มันก็คือเรื่องของอารมณ์พวกนั้นนั่นแหละ” เกร็ก ฮาเวิร์ด (Greg Howard) นักเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง ‘Remember the Titans’ กล่าวถึงเหตุผลที่ภาพยนตร์ทำให้ผู้คนปล่อยโฮออกมาได้ว่า “เราต้องมั่นใจว่าการเขียนบทต้องทำให้คนดูเป็นคนร้องไห้ ไม่ใช่ตัวละครในเรื่อง”
ดังนั้น เวลาที่เราร้องไห้หลังจากดูหนังเศร้าซึ้งกินใจ แปลว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับความรู้สึกหรือประสบการณ์นั้นๆ อยู่ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กำลังเยีบวยารักษาความรู้สึกนั้นอย่างช้าๆ ด้วยความกล้าหาญ ซึ่งคนที่ปล่อยให้ตัวเองอินและร้องไห้ไปกับหนังก็คือคนที่เต็มใจจะใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองเป็น
ไม่ต้องอายเบาะข้างๆ ถ้าอยากจะสะอื้นหรือปล่อยโฮออกมา เพราะนั่นไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอ กลับกันมันแปลว่าเราเข้มแข็งมากพอที่จะปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองมากกว่า และความรู้สึกที่เราปลดปล่อยออกมานี้แหละ ก็คือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่การทำอะไรดีๆ ให้กับสังคมและโลกใบนี้ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก