ว่ากันว่า เชื้อไฟแห่งความโกรธที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ ‘ความไม่ยุติธรรม’ เคยไหม…ที่เราแอบน้อยใจพ่อแม่เพียงเพราะน้องหรือพี่ได้ขนมมากกว่า หรือเราเองก็มักเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนหรือคนรอบข้างอยู่บ่อยๆ และคิดว่า ‘โลกนี้มันไม่แฟร์’ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากความรู้สึกเดียวกันนี้ เกิดขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ
ทุกวันนี้มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนพูดกันเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ตั้งแต่วงวิชาการ วงหาเสียง รวมไปถึงวงเหล้า เรื่องความเหลื่อมล้ำก็มีอยู่ในทุกสื่อจนไม่รู้ว่าจะพูดถึงในมุมอีกไหนอีกแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกมองข้ามไป นั่นคือ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าความเหลื่อมล้ำไม่หายไป
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา IMF ได้จัดงานประชุมใหญ่เพื่อถกประเด็นความเหลื่อมล้ำ หนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายอย่าง Pinelopi Goldberg หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ (chief economist) ของธนาคารโลก และอดีตศาสตราจารย์ที่ Yale University ได้กล่าวประโยคสำคัญช่วยขยายพรมแดนของการสนทนาเอาไว้ว่า “If it [income inequality] is too large, it brings social unrest” ซึ่งหมายถึง “หากสังคมมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่มากจนเกินไป มันอาจนำมาซึ่งความไม่สงบทางสังคม” คีย์เวิร์ดที่น่าสนใจคือ ‘ความเหลื่อมล้ำที่สูงจนเกินไป’ และ ‘ความไม่สงบทางสังคม’ แล้วสองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร
จริงๆ แล้ว ความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่องเพราะมันถือเป็นหัวใจสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่ก่อนยุค Adam Smith โดยในช่วงศตวรรษที่ 17 กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่รู้จักกันในชื่อของ ‘Physiocrat’ ได้ใช้ Tableau économique (ที่คิดค้นโดย Francois Quesnay) เพื่อดูว่าแรงงานและเจ้าของทุน (เจ้าของที่ดิน) มีส่วนแบ่งจากมูลค่าทางเศรษฐกิจไปเท่าไหร่ (เช่น ขายของได้ 100 บาท แรงงานได้ไปกี่บาท จ่ายค่าวัตถุดิบกี่บาท และเหลือเป็นกำไรให้เจ้าของกี่บาท) อย่างไรก็ตาม วิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลจากแนวคิด ‘Neoliberalism’ ผนวกกับการที่ระบบเศรษฐกิจในเกือบทุกประเทศในโลกเป็นระบบทุนนิยม ความสนใจและการถกเถียงในเรื่องของความเหลื่อมล้ำก็ค่อยๆ จางหายไป
เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ หลายคนคงนึกถึงงานของนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Thomas Piketty ผู้เขียนหนังสือ Capitalism in the Twenty-First Century ในปี 2013 นับตั้งแต่ที่ผลงานชิ้นนี้ถูกเผยแพร่และขายได้หลายล้านเล่มทั่วโลก ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ก็กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง ทั้งในวงวิชาการ (แม้ว่าจะไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่า หนังสือเล่มดังกล่าวได้รับการอ้างอิงในวารสารวิชาการจำนวนเท่าใด แต่มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจำนวนมากที่ออกมาวิพากย์ เช่น Gregory Mankiw และ Steven Pinker) และนโยบาย (ทั้ง World Bank และ IMF ต่างก็หยิบยกประเด็นความเหลื่อมล้ำมาวิพากย์วิจารณ์) รวมไปถึงการจัดทำฐานข้อมูลด้านความเหลื่อมล้ำ อย่าง World Inequality Database และ The Standardized World Income Inequality Database ที่ทำให้เราได้เห็นภาพของความเหลื่อมล้ำในหลากหายมิติมากขึ้น
แต่ทว่า ประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในวงกว้าง คือ แล้วคนทั่วไป แบบเราๆ ท่านๆ มองความเหลื่อมล้ำและตอบสนองต่อมันยังไง
เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่เราจะตอบคำถามนี้ แต่ก็ไม่ถึงกับหมดหนทางเสียทีเดียว ย้อนกลับไปเมื่อปี 1973 Albert Hirschman ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง The Changing Tolerance for Income Inequality in the Course of Economic Development ซึ่งใจความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว คือ เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว (เห็นนายกคุยโวว่า GDP โต!) จะมีคนอยู่ 2 กลุ่มในระบบเศรษฐกิจ เราเรียกกลุ่มแรกว่า ‘ผู้ชนะ’ ซึ่งเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่อีกกลุ่มคือ ‘ผู้แพ้’ ซึ่งคนกลุ่มนี้ พบว่า รายได้ของตัวเองไม่ได้โตตามเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญก็คือ ในช่วงแรก ๆ ที่สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำ ‘ผู้แพ้’ ไม่โกรธ ไม่เกลียด ใครใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขากลับมองความเหลื่อมล้ำในแง่ดี นั่นเป็นเพราะพวกเขาคิดว่า ในอีกไม่ช้า รายได้ก็คงจะเพิ่มขึ้นเหมือนกับคนอื่นๆ (ขอเวลาอีกไม่นาน!) นั่นแปลว่า พวกเขาสามารถอดทนต่อความเหลื่อมล้ำได้ อย่างไรก็ตาม หากจนแล้วจนรอดความเหลื่อมล้ำก็ยังสูงลิ่ว ความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนยังคงมีมากและดูเหมือนจะห่างมากขึ้นกว่าเดิม ความอดทนดังกล่าวก็จะเริ่มหมดลง ผู้แพ้จากสนามแข่งขันก็จะเริ่มส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย เริ่มคิดว่าการแข่งขันมันไม่แฟร์ มีการส่งสัญญาณเพื่อแสดงความไม่พอใจ เมื่อพบว่าตัวเองไม่ใช่คนเดียวที่ต้องทำงานหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินมาอย่างยาวนาน ท้ายที่สุดนำไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อประท้วง ก่อจลาจล เกิดเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ร้ายแรงเข้าก็กลายเป็นสงคราม ซึ่ง Hirschman เรียกจุดจบของการพัฒนานี้ว่า ‘Development Disaster’
ก่อนที่จะไปดูว่า Development Disaster จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เราอาจต้องมาวิเคราะห์ว่าในช่วง 20-30 ปีหลังมานี้ ภาพขอความเหลื่อมล้ำเป็นเช่นไร สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว (เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศแถบยุโรป) นับตั้งแต่ช่วง 1970 เป็นต้นมา ถือเป็นยุคที่เรียกว่า ‘Services Transformation’ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาคบริการ (เช่น ภาคการเงินการธนาคาร การสื่อสารและโทรคมนาคม และการให้บริการด้านข้อมูล) กลายเป็นหัวใจหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แรงงานส่วนใหญ่ย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปอยู่ในภาคบริการ บริษัทใหญ่ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มย้ายการผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ (เช่น จีน) เพื่อลดต้นทุนในการผลิต นำไปสู่ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ‘deindustrialization’ เมื่อแรงงานไร้ฝีมือในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่สามารถหางานใหม่ได้ทัน ผนวกกับระบบเศรษฐกิจที่เน้นการจ้างงานเฉพาะกลุ่มมีฝีมือ ความเหลื่อมล้ำในประเทศร่ำรวยเหล่านี้จึงเพิ่มขึ้นสูงขึ้น คำถามก็คือว่า แล้วประชาชนตอบสนองต่อความเหลื่อมล้ำนี้อย่างไร?
ในหนังสือเล่มใหม่ของ Richard Baldwin ที่มีชื่อว่า Globotics Upheaval ระบุว่า ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ และปรากฎการณ์ Brexit คือ ‘backlash’ หรือปฏิกิริยาตอบสนองของประชาชนต่อความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน แม้การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวในช่วง 3 ทศวรรษหลังจะช่วยยกระดับคนจีนหลายร้อยล้านคน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่เราจะเห็นว่า การแสดงออกต่อความเหลื่อมล้ำของคนจีนอาจมีจำกัดเมื่อเทียบคนในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือเป็นประชาธิปไตย คำถามต่อมาก็คือว่า แล้วมีสาเหตุอะไรอื่นอีกบ้างที่เกี่ยวข้องกับความโกรธของ ‘ผู้แพ้’ และอาจนำไปสู่การเกิดความไม่สงบในสังคม
นอกเหนือจาก ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ก็มีอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความขัดแย้งในสังคม คือ ‘Regime Repressiveness’ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเป็นไปได้ที่กลุ่มคนไม่พอใจต่อประเด็นต่าง ๆ (dissident group) จะออกมาแสดงความคิดเห็น ประกาศจุดยืน รวมไปถึงการประท้วงในรูปแบบต่างๆ สังคมแบบปิด (extremely repressive closed regime) จะไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนไม่พอใจได้เข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมือง (collective political action) เราอาจคิดถึงสถานการณ์ในไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลทหารสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมที่เกี่ยวข้องทางการเมืองเกิน 5 ปี ถือเป็นการปิดประตูการรวมกลุ่มทางการเมืองเพื่อแสดงจุดยืน นอกจากนั้นแล้ว ในสังคมดังกล่าว โอกาสที่การรวมกลุ่มจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือประสบความสำเร็จก็มีน้อยเช่นกัน ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในสังคมที่การแสดงความคิดเห็นถูกปิดกั้นจึงมีน้อย
ในทางตรงกันข้าม สังคมแบบเปิด (less repressive regime) หรือสังคมประชาธิปไตย (democratic regime) ได้เปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยในการรวมกลุ่ม เพิ่มโอกาสที่ข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของกลุ่มจะถูกรับฟังและประสบความสำเร็จ ผู้นำสามารถรวบรวมสาวกจากที่ต่างๆ ได้ ในสังคมรูปแบบนี้ โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงที่เกิดจากกกิจกรรมทางการเมืองจึงมีน้อย และรูปแบบของกิจกรรมที่ปราศจากความรุนแรงมีความหลากหลาย เช่น การประท้วงแบบอหิงสา ยังไงก็แล้วแต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดเห็นจะเป็นสังคมที่เปิดแบบครึ่งๆ กลางๆ (intermediate repressiveness) แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อเรียกร้องเรื่องต่างๆ แต่โอกาสในการเข้าร่วมนั้นมีจำกัด มีอุปสรรคที่จะแสดงจุดยืนในที่สาธารณะ ก็อาจนำไปสู่การประท้วงที่รุนแรงขึ้น และหากรัฐไม่มีวิธิการตอบสนองที่ฉลาดมากพอ ก็อาจพัฒนากลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด
เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในไทย แม้ว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (ที่วัดด้วย Gini coefficient) จะน้อยลงเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สิน รวมไปถึงที่ดิน ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูง ในอดีต นอกเหนือจากการทำวิจัย อาจเป็นเรื่องยากที่เราจะพูดว่า คนทั่วไปคิดเห็นอย่างไรต่อความเหลื่อมล้ำ แต่ในทุกวันนี้ หากเราลองไปอ่านคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก ในข่าวที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคนรวย ความเหลื่อมล้ำ หรือแม้กระทั่งบัตรคนจน เราจะเห็นความโกรธ ความไม่พอใจ รวมไปถึงความผิดหวังที่มีต่อสภาพปัญหาดังกล่าว จนบางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่าไปโกรธเกลียดกันมาตั้งแต่ชาติปางไหน
ในต่างประเทศ กลุ่ม Occupy Movement ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อแสดงจุดยืนต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนที่สุด (และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ Development Disaster) กลุ่มนี้เริ่มต้นเดินขบวนประท้วงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2011 ที่มหานครนิวยอร์ก และนำไปสู่การประท้วงในประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส บราซิล อังกฤษ รวมถึงเกาหลีใต้ ไม่แน่ว่า…เราอาจเห็น Occupy Movement ในแบบไทยๆ ในอนาคต
ความเหลื่อมล้ำอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกที่ประเทศมีการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งอาจไม่เป็นปัญหามากนัก เมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ อย่างความยากจน เพราะในบางมุม ความเหลื่อมล้ำก็ส่งผลดีต่อพลวัตการพัฒนาเศรษฐกิจ และคนทั่วๆ ไปก็ไม่ได้มองช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในแง่ลบ แต่หากความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ และรัฐบาลยังคงไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา หายนะการพัฒนา หรือ Development Disaster ก็อาจอยู่ไม่ไกล