วัคซีน Pfizer จะโดนแบ่งไปให้ VIP ไหม แพทย์หน้าด่าน หรือบุคลากรทางการแพทย์จะได้จริงหรือเปล่า การจัดสรรวัคซีน mRNA นี้ จะมีความโปร่งใสหรือไม่ ?
แม้ว่าวัคซีนไฟเซอร์จะยังมาไม่ถึง แต่ก็เกิดความกังวล และกระแสข่าวมากมายเกี่ยวกับการจับตาการจัดสรรควัคซีนที่จะมาเป็นวัคซีนบู๊สเข็ม 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยง จนเกิดแฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ และ #เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร ซึ่งวัคซีน Pfizer ล็อตแรก กำลังจะมาถึงไทยแล้ว ในวันทื่ 30 กรกฎาคมนี้ โดยเป็นการบริจาคจากสหรัฐฯ จำนวน 1.5 ล้านโดส
แต่กว่าวัคซีนจะมาถึง ก็มีข่าวมากมายว่าบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนโดยกดดัน บังคับให้ฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3 แทนก่อนแล้ว ไปถึงว่าแพทย์ และบุคลากรก็ไม่รู้เลยว่าวัคซีน mRNA นี้ จะมาถึงพวกเขาหรือเปล่า The MATTER ได้คุยกับบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนที่ได้รับทั้ง AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3 แล้วแทนที่จะได้ mRNA รวมถึงคนที่ยังรอคอย แม้จะถูกกดดันให้รับ AstraZeneca ว่าพวกเขามองสถานการณ์นี้อย่างไรกันบ้าง ?
Sinovac 2 เข็มแรก ที่ไม่ได้ช่วยเสริมความมั่นใจให้บุคลกรทางการแพทย์ในการทำงาน
บุคลากรทางการแพทย์ล้วนแต่เป็นกลุ่มแรกซึ่งได้รับวัคซีน ซึ่งในตอนนั้นพวกเขาต่างก็ได้รับ Sinovac เป็น 2 เข็มแรก แต่อย่างที่เราได้ยินข่าว วัคซีนตัวนี้มีเรื่องของทั้งผลข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ก็พบตั้งแต่ได้รับวัคซีนตัวนี้เช่นกัน
แพทย์จบใหม่ในวอร์ดอายุรแพทย์ ในโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ ก็บอกว่าในช่วงที่ได้ฉีด Sinovac เป็นช่วงแรกที่สายพันธ์ที่ระบาดหลักเป็นแอลฟา “เราคิดว่าอย่างน้อยไม่กันติด แต่ก็กันหนักกันตายได้ระดับนึง แต่อีกเรื่องที่เป็นประเด็นช่วงแรกมากๆ คือผลข้างเคียงที่พบ ที่เจอเคสคล้ายเส้นเลือดในสมองตีบ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขแทบไม่ใส่ใจเรื่องนี้เลย และยังเดินหน้าฉีดไปเรื่อยๆ ไม่ได้สนใจ มีแต่อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ที่พยายามหาคำตอบว่าเกิดจากอะไร ในขณะที่กระทรวงฯ บอกว่าเป็นแค่วิตกกังวลเฉยๆ”
คุณ A บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ เล่าให้เราฟังว่า ในช่วงแรกมีการแบ่งอายุสำหรับการฉีดวัคซีน ซึ่งช่วงอายุของเธอทำให้มีทางเลือกเดียวที่จะได้รับ คือ Sinovac ซึ่งเธอได้รับวัคซีนเข็มแรกช่วงปลายเดือนเมษายน และครบ 2 โดสกลางเดือนพฤษภาคม “ที่ทำงานขอความร่วมมือให้ฉีดเนื่องจากเป็น รพ.รัฐ ในพื้นที่ กทม.จึงไม่มีตัวเลือกอื่น ถ้าพูดในมุมของผลข้างเคียงมีอยู่จริงค่ะ โดยส่วนตัวแพ้ตั้งแต่เข็มแรก คือมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย จากที่ปกติดี เข็มที่สองไม่แพ้เลย ส่วนเพื่อนร่วมงานบางคนเข็มแรกไม่แพ้ มาแพ้เข็มที่สอง แต่ทั้งนี้แพทย์ก็ไม่สามารถยืนยันได้ อันนี้ก็เข้าใจว่าเป็นโรคอุบัติใหม่เป็นวัคซีนใหม่ไม่มีผลการวิจัยอย่างเป็นทางการ อย่างที่เห็นกันตามสื่อต่างๆ ก็จะให้น้ำหนักไปทางโรคประจำตัวมากกว่า”
“หากถามว่า Sinovac ส่งผลต่อการทำงานในฐานะบุคลากรทางแพทย์ไหม ส่วนตัวมองว่าส่งผลในแง่ของจิตใจค่ะ ในฐานะคนทำงานรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัยของชีวิต เพราะในขณะนั้น WHO ยังไม่รับรองวัคซีน Sinovac แต่ถึงแม้ปัจจุบันจะได้รับการรับรองแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยของชีวิตเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้ด้อยค่าวัคซีน Sinovac แต่เนื่องจากสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดมันรุนแรงกว่าเดิมเยอะ ทางเราต้องการวัคซีน mRNA มากกว่าค่ะ” คุณ A บอกกับเรา
นอกจากเรื่องผลข้างเคียง ยังมีเรื่องของประสิทธิภาพ ไปถึงผลการตรวจภูมิต่างๆ ทำให้พวกเขาต่างบอกกับเราสอดคล้องกับคุณ A ว่า การได้รับวัคซีนแม้จะก่อนคนอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้ในการทำงานเลย โดย EMS หรือ กู้ชีพบริการการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชน แถวปทุมธานี ก็บอกกับเราเช่นกันว่าการฉีด Sinovac นั้นส่งผลต่อความมั่นใจในการทำงาน เพราะมันสร้างภูมิต้านทานต่ำ หลายคนที่ตรวจภูมิก็รู้แล้วว่ามันต่ำ ต่ำขนาดที่ว่าคนที่เป็น COVID-19 ที่หายแล้ว ยังภูมิต้านทานเยอะกว่า
ขณะที่ทันตแพทย์ชุมชนที่จังหวัดแห่งนึงในภาคใต้เอง ก็เล่าถึงการตรวจภูมิเช่นกัน ทั้งยังเสริมว่า แม้จะเป็นบุคลากรการแพทย์ แต่สำหรับเธอ ขนาดการได้ Sinovac ในช่วงแรกนั้น ก็ไม่ได้ได้มาง่ายๆ ด้วย
“การฉีด Sinovac มันแทบจะไม่ทำให้เราอุ่นใจขึ้นเท่าไหร่เลย คือโรงพยาบาลแถวนี้ ก็มีการตรวจภูมิด้วย หลังจากการฉีด ซึ่งคนภูมิขึ้นมันก็มี แต่ก็ขึ้นน้อย รวมถึงจำนวนคนที่ได้รับการตรวจภูมิก็น้อยกว่าคนที่ไม่ตรวจมีอีกมาก ทั้งจริงๆ ยังมีปัญหาตั้งแต่แรกที่จะได้รับวัคซีน ก่อนที่จะได้ Sinovac เราก็ไม่ได้ได้มันมาง่ายๆ เหมือนกัน เราก็ไฟต์เพื่อที่จะให้ได้มันมา คือเราเป็นทันตแพทย์จบใหม่ เพิ่งมาทำงานปีแรกอันนี้โชคดีที่หัวหน้าใส่ใจเรา จึงช่วยไฟต์ให้เราได้ฉีดวัคซีนวันแรกตั้งแต่การทำงาน แต่บางโรงพยาบาลก็มีการให้ทันตแพทย์ไปลงหมอพร้อมด้วยซ้ำ มันไม่มีระบบเลย”
AstraZeneca ที่กลายมาเป็นวัคซีนบู๊สเข็มที่ 3 ของบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อสายพันธุ์กลายพันธ์อย่างเดลต้าเริ่มระบาด และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนพบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแม้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส การพูดถึงการบู๊สเข็ม 3 จึงเริ่มเกิดขึ้นมา พร้อมๆ กับข่าวการบริจาควัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดกับสายพันธุ์กลายพันธุ์ในตอนนี้ แต่กลับมีประเด็นเปิดเผยว่าบุคลากรทางการแพทย์หลายคน และหลายโรงพยาบาลถูกเสนอ และกดดันให้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3 แทน mRNA ที่กำลังจะเข้ามา จนกลุ่มภาคีบุคลากรการแพทย์ยังตั้งคำถามว่า ทำไมถึงรีบยัดเยียด AstraZeneca เป็นเข็มบู๊ส
ทันตแพทย์จบใหม่เล่าให้เราฟังว่า กรณีของเธอไม่เชิงเป็นการกดดัน แต่เป็นการระบุกรอบเวลาที่กระชั้นชิดสำหรับการรับเข็ม 3 แทน “ไม่ได้กดดันมาก แต่ก็มีพูดว่า จะมีเวลาให้แค่อาทิตย์นี้ ซึ่งค่อนข้างกระชั้นชิด ถ้าเราจะเปลี่ยนไปทีหลังก็ต้องวัดดวงเอา ว่าจะได้ AstraZeneca ไหม แล้วก็ไม่มีคำตอบ ทั้งในกรณีที่อยากได้ Pfizer ก็ไม่มีการรับรองเลย ซึ่งอันนี้เป็นคำตอบที่ตรงกันทั้งในฝ่ายแพทย์ และทันตแพทย์ เพราะเราก็มีการพูดคุยกัน เรื่องที่ได้ยินเกี่ยวกับ Pfizer เป็นเหมือนข่าวลือมากกว่า ว่ามันจะเข้ามา แต่ว่าการจัดสรรเป็นยังไง จะถึงเราไหม ไม่มีใครตอบได้ หรือว่าการันตีได้เลย ทั้งเพื่อนที่อยู่ส่วนเหนือ หรือภาคกลาง ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็มี ก็ยังมีคนที่รอ Pfizer อยู่ก็ยังไม่ได้เลย”
ขณะที่บุคลากรคนอื่นๆ ได้เล่าให้เราฟังว่า พวกเขาได้รับแบบสอบถามว่าจะเลือกวัคซีนตัวไหนเป็นเข็มที่ 3 แต่การสอบถามนั้นแทบจะไม่มีความหมายเลย
คุณ A เล่าว่า “เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้รับข้อความระบุว่า “บุคลากรที่เคยแจ้งความประสงค์ว่าต้องการวัคซีน Pfizer หรือ Moderna เป็นเข็มที่ 3 และต้องการขอเปลี่ยนเป็น AstraZeneca ตามที่……จัดหาให้ในขณะนี้ โปรดแจ้งรายชื่อ….” (เริ่มฉีดสัปดาห์นี้เป็นต้นไป) เจอแบบนี้รู้สึกไม่โอเคมากๆ ค่ะ และคาดว่าบุคลากรหลายๆ ท่านคงรู้สึกไม่ต่างกัน ส่วนตัวปฏิเสธ AstraZeneca ไป แต่หัวหน้าก็โทรหาทันที และแจ้งในทำนองว่า ถ้าไม่ฉีดก็ไม่รู้ว่าจะมีมาอีกไหม มีอะไรก็ฉีดๆไปก่อน ประโยคบอกว่าเล่าแบบนี้ถือว่ากดดันไหมคะ ?” เธอตั้งคำถามกลับ
‘ถ้าเลือกรอ ไม่รู้ว่า Pfizer จะมาเมื่อไหร่’ คือประโยคข้อความที่คล้ายคลึงกันซึ่งอายุรแพทย์รายหนึ่งได้รับจากโรงพยาบาลเช่นกัน โดยเขาบอกว่า “จริงๆ พอไม่มี Pfizer ก็ไม่ได้จะพูดถึงเข็ม 3 กันเท่าไหร่เลยนะ พอ Pfizer จะมา รีบมาประเคน AstraZeneca ให้ถึงที่ งงมาก คนเขาดูออก และเขาจะไม่ได้บอกตรงๆว่ามาฉีด AstraZeneca กันเถอะ แต่จะใช้วิธีที่ว่า ถ้ารอ Pfizer ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมาเมื่อไหร่ จัดสรรให้เท่าไหร่ แต่ถ้าจะฉีด AstraZeneca ฉีดได้เลยนะ พร้อมเลยได้ตั้งแต่วันนี้ อะไรแนวนี้ พร้อมแปะแหล่งข้อมูล หรือยกตัวอย่างบุคคลที่ฉีด AstraZeneca เป็นเข็ม 3 เหมือนกัน” แต่เขาก็ยืนยันกับเราว่าแม้จะถูกกดดัน ก็จะรอคอยวัคซีน mRNA
แต่สำหรับบางคน แม้ว่ายืนยันว่าจะรอ แต่ก็ถูกให้ฉีด AstraZeneca ไปแล้วเหมือนกัน “ทางโรงพยาบาลเหมือนอยากให้ทุกคนฉีด AstraZeneca ผมว่าน่าจะมีคำสั่งมาจากที่อื่น” บุคลากรจากหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินบอกกับเราว่า ตอนนี้โรงพยาบาลของเขาน่าจะไม่มีคนที่รอ mRNA แล้ว เพราะโรงพยาบาลเริ่มบู๊สเข็ม 3 ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ตัวเขาถูกฉีดเป็นล็อตที่ 3 เพราะตอนแรกเขายืนยันว่าจะรอ แต่ไปๆ มาๆ เขาเองก็โดนให้ฉีดเข็ม 3 ในสัปดาห์นี้ ก่อนที่ Pfizer จะเข้าไทยมาไม่กี่วันเท่านั้น ขณะที่คนอื่นในโรงพยาบาลฉีดบู๊สไปหมดแล้ว ซึ่งเขายังแสดงความเห็นของโรงพยาบาลอาจจะมองได้หลายมุม ว่าอาจจะมีคำสั่งให้บู๊สไปก่อน แล้วอาจจะให้ mRNA เป็นเข็มที่ 4 ตามมาหรือเปล่า
แต่นอกจากโรงพยาบาลของเขาเอง เขายังเล่าเสริมเคสของเพื่อนๆ ในโรงพยาบาลที่อื่นๆ ว่ามีการกดดันเชิงบังคับให้รับ AstraZeneca เช่นกัน “โรงพยาบาลจิตเวชของเพื่อนที่เป็นหมอ ยังโดนบังคับฉีดขนาดเป็นโรงพยาบาลของรัฐ และขนาดให้ลงทะเบียนความต้องการ ก็จะให้เลือกเข็ม 3 คือ วัคซีน Sinovac, AstraZeneca และก็เป็น mRNA แต่พอ 1 อาทิตย์ผ่านไป ผมเห็นเพื่อนที่อยู่ในโรงพยาบาลทางสมุทรปราการ ทางแถวภาคอีสาน หรือในกรุงเทพฯ เริ่มพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า mRNA ถูกถอดออกจากการสำรวจออกไป เป็นหมดเลย”
โรงพยาบาลสมุทรปราการ เพื่อนผมที่เป็นพยาบาลส่งข้อมูลมาให้ดูเช่นกันว่า คนที่รอ mRNA ก็ไปลงทะเบียนที่ฝ่ายบุคคลได้ แล้วผมถามว่าสรุปว่าให้รอไหม เพื่อนก็บอกว่าเขาก็พยายามผลักดันให้ทุกคนไปฉีด AstraZeneca เราก็ไม่เข้าใจว่าจะมีแบบสำรวจทำไม ผมมองว่าจริงๆ มันไม่ต้องสำรวจเลยก็ได้ Pfizer ที่เข้ามายังไงก็เพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และเหลือด้วย” เขาบอก
Pfizer จะมาถึงบุคลากรทางการแพทย์บ้างไหม ? จะโปร่งใสแค่ไหนในการจัดสรร ?
สำหรับการจัดสรรวัคซีนล็อตบริจาคนี้ ทางศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) เผยแพร่มติการประชุมคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ว่าจะถูกจัดสรรให้กับประชาชน 5 กลุ่ม ได้แก่
- บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า จำนวน 700,000 โดส
- ประชาชนสัญชาติไทย ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป) และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จำนวน 645,000 โดส
- ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเน้นไปที่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป รวมถึงผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ และมีความจำเป็นต้องรับวัคซีน Pfizer จำนวน 150,000 โดส
- สำหรับการศึกษาวิจัย จำนวน 5,000 โดส
- สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ จำนวน 40,000 โดส
โดยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์นั้น มีเงื่อนไขคือว่าต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกเป็น Sinovac อย่างน้อย 4 สัปดาห์ และยังไม่ได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็ม 3 แต่จากบทสนทนาที่เราพบ กลับเห็นชัดว่าบุคลากรทางการแพทย์หลายคน และโรงพยาบาลหลายแห่ง ได้รับเข็ม 3 เป็น AstraZeneca ไปก่อนแล้ว ดังนั้นกลายเป็นว่าพวกเขาคงไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะเข้าถึงวัคซีน mRNA ล็อตนี้
แต่ถึงอย่างนั้นในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ก็บอกว่า อยากให้ล็อตที่เข้ามานี้ มีความโปร่งใส มีการจัดการที่เหมาะสมด้วย ซึ่งคุณ A ก็บอกว่า การบริหารเรื่องวัคซีนของรัฐนั้น ผิดพลาดตั้งแต่แรก “เรามองว่ามันผิดมาตั้งแต่ต้น ช่วงแรกคุณก็ไม่มีตัวเลือกให้เรา ไม่พยายามสั่งซื้อ เข้ามาหลายๆ ยี่ห้อ คือไม่พยายามป้องกัน จนมาถึงวันที่อเมริกาบริจาคให้ ก็มีการเปลี่ยน ลด ตัดทอน Pfizer ไปอีก ตอนดูข่าวก็อึ้งเหมือนกัน ปัญหานี้เปรียบเหมือนคลื่นซัดฝั่งซ้ำเติมบุคลากรทางการแพทย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“เราต้องการให้ประชาชนทุกคนจับตามองการจัดสรรวัคซีนของภาครัฐ ในครั้งนี้ เราอยากเห็นข้อมูลที่ชัดเจน ต้องการทราบตั้งแต่วินาทีแรกที่วัคซีนถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ให้รัฐออกมาแถลงต่อสื่ออย่างโปร่งใสว่า หน่วยงานไหนเป็นผู้เป็นคนรับผิดชอบตัวเลข Pfizer แผนการกระจายวัคซีนเป็นอย่างไร จะกระจายไปไหนบ้าง ให้คนกลุ่มใด ให้ไปเท่าไร พร้อมเหตุผลที่ชัดเจน จนกว่าวัคซีนบริจาคหมดไป เพื่อเป็นการการันตีว่าจะถึงด่านหน้าอย่างแท้จริง”
ด้านบุคลากรจากหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้เสนอกับเราถึงวิธีขนส่งวัคซีน ที่โปร่งใสของรัฐบาลด้วย “เวลารัฐทำอะไรเขามักจะปกปิดไปก่อน วัคซีนเข้ามา 1.5 ล้านโดส กระจายให้แพทย์ตามจำนวนที่ระบุจริงหรือเปล่า โรงพยาบาลไหนได้รับบ้าง มันก็ไม่มีใครไปตามติดต่อ ถ้าคุณจริงใจ คุณเอารถ 1 คัน เข้าไปส่งวัคซีนทุกโรงพยาบาล 77 จังหวัด ไม่ใช่ให้โรงพยาบาลไปรับ เพราะการขนส่ง mRNA มันคือรถอุณหภูมิลบ 70 องศา มันไม่มีทางที่โรงพยาบาลจะไปเอาเองได้ คือรัฐต้องมาส่ง หรือไม่ก็จ้างเอกชนที่มีรถห้องเย็น อันนั้นถึงจะเป็นการติดตามได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ได้จริง ไม่ได้มีการยักยอกวัคซีน 1.5 ล้านโดสที่อเมริกาบริจาค แต่ผมคิดว่ายังไงคงมาไม่ถึง 100%” เขาแสดงถึงความไม่มั่นใจในรัฐบาล
เขายังบอกกับเราอีกว่า จริงๆ แล้วการบู๊สวัคซีนเข็ม 3 เป็นเรื่องปกติ แต่การที่พวกได้ Sinovac เป็น 2 เข็มแรกก็เหมือนมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ “ถ้าเข็ม 1-2 มันไม่ด้อยขนาดนี้ การฉีดเข็ม 3-4 ก็อาจจะไม่เกิด หรือในความเห็นผม ถ้าบู๊สก็อาจจะเป็น Johnson 1 เข็มพอ”
นอกจากแพทย์ที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการได้รับวัคซีนล็อตนี้แล้ว ทันตแพทย์ชุมชนก็บอกกับเราว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์ในจังหวัดเธอ ก็มีขั้นที่แม้แต่ทันตแพทย์ก็ต้องลงไปหน้าด่านเช่นเดียวกันด้วย “ทันตแพทย์เราก็มีความเสี่ยง เพราะว่าสถานการณ์มันแย่มากที่ขนาดแม้แต่ทันตแพทย์บางส่วนก็ต้องลงไปเป็นด่านหน้าแล้ว ที่ต้องลงไปสวอป หรืออย่างโรงพยาบาลเราก็มีนโยบายที่ให้ทันตแพทย์ลงไปดูผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือกลุ่มที่ไม่มีอาการด้วยซ้ำ คือกลุ่มคนที่ไม่มีอาการ มันขาดคนถึงขนาดนั้นแล้ว”
“และถ้าพูดถึงงานทันตแพทย์ทั่วไป เราก็รู้สึกว่าเสี่ยง เพราะขนาดเราจำกัดงานแล้ว ซักประวัติทุกอย่างดีแล้ว แต่ว่าโรคมันกระจายไปไกลแบบที่คนไข้เขาก็ไม่รู้ว่าตัวเองเสี่ยงแล้ว เขาไม่ได้ตั้งใจจะปิดบังเราเลย แต่มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะเขาก็ไม่รู้ต้นตอ เรารู้สึกว่าตรงนี้เราต้องระวังด้วยตัวของเราเองทั้งหมด วัคซีนไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เราไม่ได้เลย เพราะมันก็เห็นๆ อยู่ว่ามันมีคนที่ภูมิไม่ขึ้น แล้วเราไม่รู้ได้เลยว่าเราไม่ใช่คนนั้น”
นอกจากนี้ เธอยังชี้ว่าอยากให้รัฐมองกว้างกว่านั้น เพราะยังมีอาชีพอื่นๆ ที่ทำงานเป็นหน้าด่านเช่นกัน “บุคลากรทางการแพทย์เขาควรได้ก่อน แต่ก็ไม่อยากให้มองแค่แพทย์ แต่มันควรจะเป็นทุกกระบวนที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 ตั้งแต่คนขับรถที่ต้องไปรับคนไข้ตามบ้าน หรือคนที่ขนผู้เสียชีวิตไปประกอบพิธี เราอยากให้ตีกรอบกว้างแก่แค่คำว่าบุคลากรทางการแพทย์ เพราะก็มีความเสี่ยงเหมือนๆ กัน”
เมื่อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพยังไม่ทั่วถึง (ทั้งแพทย์ และประชาชน) เมื่อบุคลากรการแพทย์มองไม่เห็นการสนับสนุนจากภาครัฐ
ไม่เพียงแค่เรื่องวัคซีนที่ดี ที่อาจจะมาไม่ถึงพวกเขา บุคลากรทางการแพทย์ยังเล่าให้เราฟังว่าสถานการณ์ตอนนี้วิกฤตมากๆ แล้ว
ทันตแพทย์ชุมชน พูดถึงจังหวัดของเธอ ซึ่งอยู่ในภาคใต้ว่า “สถานการณ์ในจังหวัด ตอนนี้จังหวัดของเราเป็นสีส้ม ช่วงแรกๆ ของระลอกนี้ คือคนไข้ที่ทะลักมาจากกรุงเทพฯ จังหวัดเรารับไว้เยอะมาก ช่วงที่นิวไฮประมาณ 9,000 ราย นับเป็นเป็นคนไข้จาก กทม.ครึ่งนึง ในจังหวัดเราไม่เยอะเลย ซึ่งก็ยังพอรับไหว แต่ซักพักนึงเริ่มเป็นคนในจังหวัดเอง
คนที่นี่ก็ค่อนข้างให้ความร่วมมือกับมาตรการที่จังหวัดสร้างขึ้น แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่จังหวัดเราสร้าง ไม่ได้เป็นระบบจากส่วนกลาง เพราะส่วนกลางไม่ชัดเจนเลย ไม่ว่าจะมาตรการเข้าออกจังหวัด หรือในส่วนของการสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยก็มาจากจังหวัดเอง มองว่าไม่ค่อยได้การช่วยเหลือ การสนับสนุนจากส่วนกลาง” เธอบอกกับเรา
คุณ A บอกว่า เธอเห็นว่าการสนับสนุนจากรัฐ คือมีแต่การบอกให้บุคลากร และประชาชน ‘รอ’ “เรามองว่าการแพร่ระบาดยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น บุคลากรเรามีจำกัดและลดน้อยลงทุกวัน ต้องทยอยถูกกักตัวไม่รู้อีกกี่รอบ รัฐบอกไหวแต่บุคลากรไม่ไหวกันแล้ว สิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดตอนนี้คือการเร่งนำเข้าวัคซีน mRNA ให้ถึงบุคลากรเป็นเข็มที่ 3 และใช้เป็นวัคซีนหลักแก่ประชาชนไทยทุกคนเพื่อเป็นการป้องกันแพร่ระบาดและการเสียชีวิต ส่วนการแก้ปัญหาของรัฐตอนนี้ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม เพราะติดตามจากสื่อคำตอบเหมือนเดิมคืออดทนรอ”
ขณะที่อายุรแพทย์ได้บอกกับเราว่า ถ้าหากพูดถึงการสนับสนุนของรัฐ เขาขอตอบอะไรแรงๆ ว่า “เฮงซวย ดีแต่พูด ไม่สนใจคนหน้างาน ไร้การวางแผน ทำงานเหมือนเด็กเล่น ไม่เห็นความสำคัญของชีวิตคน ไร้จิตสำนึก ตามืดบอดไม่เห็นความผิดของตนเองในการบริหาร ไม่เคยรับฟังความเห็นต่าง” นี่คือคำตอบของเขา
ฉุกเฉินปิด ไม่ติดเชื้อก็ต้องทำงานต่อ แพทย์ไม่พอ กักตัวไม่ได้ เป็นสิ่งที่ หน่วยกู้ชีพเล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ตอนนี้ “สถานการณ์เป็นตามที่ลงข่าวเลย ทุกที่วิกฤต ผมมีเพื่อนหลายโรงพยาบาลก็วิกฤต อย่างที่สระบุรี แม้แต่คนไข้ที่ไม่ใช่โรค COVID-19 ก็ต้องนอนหน้าโรงพยาบาล ตอนนี้ทุกที่ฉุกเฉินเต็ม ปิดหมด แม้โรงพยาบาลผมก็ปิด ละแวกปทุมธานีนี้ก็ปิด เพราะเตียงไม่มี หาพื้นที่ที่จะหาทำเลโรงพยาบาลสนามแล้ว แต่ว่าบุคลากรไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เพราะติดกันเยอะ
การทำงานไม่ใช่ว่าเหมือนช่วงแรกแล้ว ตอนนี้ไม่ใช่ว่ามีคนติด แล้วเราเป็นคนเสี่ยงต้องถูกกักตัว เพราะถ้าเราตรวจหาเชื้อไม่เจอ เราก็ต้องมาทำงาน เพราะมันไม่มีคนทำงานแล้ว หรือถ้ามีคนทำงานแทนได้ ก็อาจจะกักได้ แต่ตอนนี้ต้องสวอป 2-3 รอบเลย เช่นทำ 5 วัน แล้วสวอป ทำอีก 5 วัน สวอปอีก”
เขาเล่าว่าเขาเจอเคสหนึ่งที่สะเทือนใจ และหดหู่มาก คือคนไข้ที่เสียชีวิตหลังตรวจ 9 วัน และมีคนที่เสียชีวิตในระยะเวลาที่น้อยลงเรื่อยๆ “ระยะเวลาฟักตัวแทบไม่มีแล้ว 2-3 วันก็พบเชื้อ และเสียชีวิตได้ไม่เกินในเวลา 5 วัน ก็มี ถ้าหากเชื้อลงปอด ดังนั้นการแก้ปัญหาช่วงนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า เจ้าหน้าที่ทุกคนมีสิทธิแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอาเอง แต่บางครั้งก็ต้องรอคำสั่งที่จะมาจากเจ้าของ ผู้อำนวนการ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ตอนนี้ทุกคนแก้ปัญหา จนไม่รู้จะแก้ยังไงแล้ว”
“ภาครัฐเขาให้อะไร ผมอยู่โรงพยาบาลเอกชนอาจจะไม่รู้ แต่ว่าผมก็มองไม่ออกว่าเขาให้อะไรกับโรงพยาบาลรัฐ แต่เท่าที่ดูมันก็ไม่มี เรามองแทบไม่เจอ แม้กระทั่งโรงพยาบาลวิกฤต โรงพยาบาลสนามก็ยังรอตรวจ Real time ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็ไม่รับตรวจแล้ว รับตรวจเป็นสวอปแอนติเจน แต่คนไข้ยังก็ต้องมีใบผลตรวจ Real time นี้เพื่อต้องเข้าโรงพยาบาล คนไข้ก็เข้าไม่ได้ แล้วขนาดสิทธิประกันสังคมเราแทบจะยังตรวจไม่ได้เลย ไม่มีเตียงให้
“รัฐเขาไม่ได้มาสนับสนุนอะไรอีกแล้ว ตั้งแต่มีเหตุเกิดมาเรายังมองไม่ออกเลยว่า เขาสนับสนุนอะไร” เขาทิ้งท้าย