ขอเวลาอีกไม่นาน เราจะได้เปิดประเทศกันแล้ว .. แต่ตอนนี้ไทยพร้อมหรือยังนะ?
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลั่นวาจาไว้ว่า จะเปิดประเทศภายใน 120 วัน ก็เกิดกระแสคำถามในประเด็นต่างๆ กันอย่างหนัก ทั้งเรื่องของแนวทางต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเปิดประเทศ เรื่องการฉีดวัคซีนให้คลอบคลุมจำนวนประชากร เรื่องผู้ติดเชื้อที่ยังคงพุ่งสูงจนล่าสุด ผู้ติดเชื้อทะลุ 4,000 กว่ารายในหนึ่งวัน รวมถึง เรื่องของการระบาดสายพันธุ์เดลตา ที่คาดกันว่า จะแพร่ระบาดหนักในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ประเด็นเหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามถึงความพร้อมในการเปิดประเทศ The MATTER จึงขอพาไปดูว่า ประเทศไทยพร้อมไหม กับการเปิดประเทศภายใน 120 วัน?
กำหนดเปิดประเทศ 120 วัน เท่ากับว่าเปิดวันไหน ?
120 วัน คือตัวเลขที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คำมั่นไว้ว่าจะเปิดประเทศ ซึ่งกล่าวไว้ว่า “ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องเปิดประเทศทั้งประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน นับจากวันนี้” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา
หากนับวันที่ประกาศ เป็นวันแรกแล้วละก็ วันที่บทความนี้เผยแพร่ออกมา (23 มิถุนายน) ก็ครบ 8 วันพอดีแล้ว และจะครบ 120 วัน ในวันที่ 13 ตุลาคมพอดี
แต่เขาเริ่มนับจากวันที่ประกาศจริงๆ ใช่ไหม?
นี่คือคำถามที่ใครหลายคนสงสัย เพราะคำมั่นสัญญาเรื่อง ‘ระยะเวลา’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมานับหลายครั้ง ตั้งแต่สัญญาเรื่องเลือกตั้ง มาถึงวันที่นำเข้าวัคซีน จนกลายเป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยมองว่า นี่อาจเป็นเพียงกลยุทธ์ ‘ซื้อเวลา’ เท่านั้น
ขณะที่ ในทีมของรัฐบาลเองก็มีคนออกมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเช่นกัน อย่างสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน วันที่เริ่มต้นไม่ตรงกับที่นายกฯ กล่าวไว้ แต่จะเริ่มจากวันที่ 1 กรกฎาคม ที่จะเปิดประเทศได้ และทุกฝ่ายต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ พร้อมบอกว่า ตนย้ำมาตลอดว่าเรื่องนี้จะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน
แล้วในวันถัดมา (18 มิถุนายน) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็กล่าวว่า การกำหนดวันนี้ ไม่ใช่เรื่องกดปุ่ม ไม่ใช่เรื่องการเคาท์ดาวน์ แต่เป็นการเริ่มทยอยเปิดโดยทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องไปเตรียมความพร้อม บูรณาการในส่วนของตัวเอง เป็นแผนการดำเนินการในภาพใหญ่
“เช่น กรุงเทพฯ พอถึงเวลานั้น ในเดือนตุลาคม ถ้ากรุงเทพฯ ยังมีผู้ติดเชื้อ 500-600 คน ก็ยังไม่เปิด ต้องไปดูว่าจะเปิดได้การติดเชื้อต้องไม่เกิน 20-30 คน จึงจะเปิดได้”
นี่คือคำแถลงจากทีมรัฐบาลที่กล่าวติดกันใน 3 วัน หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเรื่องเปิดประเทศใน 120 วัน แต่เมื่อเริ่มนับวันแรกก็ยังไม่ตรงกันเช่นนี้ ก็ทำให้ประชาชนจำนวนมากสับสน และต้องคอยรอฟังกันต่อว่า สรุปแล้วเราจะได้เปิดประเทศวันไหน?
แล้วในวันที่ 20 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ ก็โพสต์เฟซบุ๊กถึงเป้าหมายการเปิดประเทศ 120 วัน อีกว่า
“ผมขอกล่าวสิ่งที่ผมพูดไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมาอีกครั้ง เรื่องตั้งเป้าให้ประเทศไทยควรต้องพร้อมภายใน 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคม ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้โดยไม่มีเงื่อนไขที่สร้างความยุ่งยากจนเกินไป หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้คนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคนแล้ว”
ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนเข็มแรกวันนี้ อยู่ที่หลัก 5.6 ล้านกว่าคน เท่ากับว่า ต้องฉีดอย่างน้อยเข็มแรกให้ได้อีก 44.4กว่าล้านคน เพื่อให้มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกมากกว่า 50 ล้านคน ก่อนจะเปิดประเทศตามกำหนด
แปลได้คร่าวๆ ว่า กำหนดเปิดประเทศนั้น ไม่ได้มีวันที่แน่ชัด แต่มีตัวเลข 120 วันไว้ประมาณการณ์ โดยต้องดูสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่อีกทางหนึ่ง
แผนการระหว่างเป้าหมาย 120 ของรัฐบาล เป็นยังไง
ก่อนจะเปิดประเทศ แผนการที่จะไปถึงเป้าหมายของรัฐบาล เป็นอย่างไรบ้าง?
ในเรื่องของวัคซีนนั้น
ในเรื่องของวัคซีนนั้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) กล่าวถึงแผนการจัดหาวัคซีนในปีนี้และปีหน้าว่า รัฐบาลดำเนินการจองวัคซีนไว้แล้ว 105 ล้านโดส แบ่งเป็น
- AstraZeneca จำนวน 61 ล้านโดส
- Sinovac จำนวน 19.5 ล้านโดส
- Pfizer จำนวน 20 ล้านโดส
- Johnson & Johnson จำนวน 5 ล้านโดส
และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารสุข (สธ.) เสนอเพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีนจากเพิ่มอีก 50 ล้านโดสเป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565 ด้วย โดยแผนของ สธ.นั้น จะเป็นวัคซีนของ Sinovac จำนวน 28 ล้านโดส ส่วนอีก 22 ล้านโดส จะมาจากผู้ผลิตรายอื่นๆ โดยจะพิจารณาตามผลการศึกษาประสิทธิภาพและสถานการณ์เชื้อกลายพันธุ์
ส่วนในเรื่องของการเปิดประเทศนั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว หากฉีดวัคซีนครบโดส (แบบ Sandbox) และปลดล็อกการท่องเที่ยวในประเทศ โดยระบุถึงเป้าหมายและหลักการ 3 ข้อ คือ
- เพื่อให้กลับมาทำมาหากินตามเดิมได้เร็วที่สุด และต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกัน
- ไม่สามารถรอให้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แล้วจึงเปิดประเทศ
- ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรค และจัดการให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้
รวมถึง ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ อนุชา ก็ออกมาตอบคำถามถึงกรณีที่มีการแพร่ระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ในหลายจังหวัด แต่จะยังคงเดิมหน้าแผนเปิดประเทศว่า แนวทางการเปิดประเทศที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงนั้น ในพื้นที่นำร่องจะต้องเป็นความตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ โดยจะคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งจำนวนผู้ได้รับวัคซีนและความพร้อมด้านสาธารณสุขในพื้นที่ก่อน
ส่วนในพื้นที่อื่นๆ นอกจากพื้นที่นำร่องนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาเสนอ โดยรัฐและเอกชนจะต้องหาข้อสรุปให้ได้อย่างชัดเจนก่อนเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ให้พิจารณา และ ศบค.ไม่ใช่หน่วยงานที่จะกำหนดว่าพื้นที่ใดจะเปิดได้หรือไม่
ไทยจะเปิดประเทศ ขณะที่สายพันธุ์เดลตากำลังจะระบาดหนัก
ขอย้อนกลับไปฟังคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กล่าวในวันลั่นคำมั่นว่า จะเปิดประเทศภายใน 120 วันกันอีกครั้ง
“ผมรู้ดีว่าการตัดสินใจของผมวันนี้ มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะเมื่อเราเปิดประเทศ ไม่ว่าเราจะเตรียมการป้องกันขนาดไหนก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เมื่อเราประเมินสถานการณ์ และคิดถึงความอยู่รอดในการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง หากความเสี่ยงนั้น เราได้ประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่า อยู่ในระดับที่พอจะรับได้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญภายใน สำหรับประเทศไทยของเรา เพื่อให้ประเทศ เดินหน้าต่อไปได้”
คำว่า เราต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง ทำให้หลายคนยิ่งเคลือบแคลงใจกับแผนการรับมือของรัฐบาล ซึ่งเมื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แล้ว ก็ดูจะไม่ไปด้วยกันเท่าไหร่หนัก
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า รายงานผลการเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ถึงวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา พบสายพันธุ์อัลฟา (พบครั้งแรกที่อังกฤษ) จำนวน 5,641 ตัวอย่าง สายพันธุ์เดลตา (พบครั้งแรกที่อินเดีย) จำนวน 661 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เบตา (พบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้) จำนวน 38 ตัวอย่าง
จะเห็นว่า เดิมที สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหนักในไทย คือสายพันธุ์อัลฟา แต่ตอนนี้ สายพันธุ์เดลตาก็กำลังระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสัดส่วนการพบสายพันธุ์เดลตาในไทยพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ออกมาเผยแล้วว่า สายพันธุ์นี้กำลังกลายเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก แทนที่สายพันธ์ุอัลฟา ซึ่งพบครั้งแรกในอังกฤษ และสายพันธุ์เดลตายังแพร่ระบาดได้รวดเร็วที่สุด และพอเหมาะพอเจาะที่สุดในการ ‘เลือก’ ผู้ติดเชื้อที่ร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีน COVID-19 ต่ำ
ไมค์ ไรอัน (Mike Ryan) กรรมการบริหารของ WHO กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตามีศักยภาพที่จะทำให้เกิด ‘อันตรายถึงชีวิต’ มากขึ้น เพราะมันมีประสิทธิภาพมากกว่าในการแพร่ระบาดระหว่างมนุษย์ และมันจะเสาะหาบุคคลกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะกลายเป็นผู้ป่วยหนัก ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และอาจถึงแก่ชีวิตได้
“เราสามารถปกป้องกลุ่มคนเปราะบาง และเหล่าบุคลากรหน้าด่านได้ และหากว่าเราไม่ได้ปกป้องพวกเขา มันก็จะเป็นความหายนะทางศีลธรรมในระดับโลก”
ขณะเดียวกัน นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กล่าวว่า ในการระบาดระลอก 3 เป็นการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อัลฟาเป็นหลัก (ประมาณ 96-98%) ทว่าตอนนี้ สายพันธุ์เดลตาที่ในไทยเริ่มพบจากบริเวณหลักสี่ก่อนจะแพร่กระจายไปนั้น เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษ 1-10 เท่า
“ตามวัฏจักรของสายพันธุ์เดลตา ถ้าเราพยากรณ์ต่อไปในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย จะค่อย ๆ เพิ่มเป็นสายพันธุ์เดลตามากขึ้น ๆ แล้วในที่สุดของทั่วโลกสายพันธุ์เดลตาก็จะกลบสายพันธุ์อังกฤษ แล้วพอหมดสายพันธุ์เดลตาแล้ว เราก็เชื่อว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก ตามวัฏจักรของมัน”
สายพันธุ์เดลตากับวัคซีนที่ไทยมี
คำถามก็คือ วัคซีนที่เรามีป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์นี้ได้หรือไม่?
อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) โพสต์ข้อความถึงผลการทดลองตัวอย่างซีรั่มของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนของ Sinovac ครบ 2 เข็ม เป็นเวลา 1 เดือน โดยใช้ตัวอย่างในการศึกษาจำนวน 23 ตัวอย่าง เปรียบเทียบความสามารถของซีรั่มจำนวนดังกล่าวในการยับยั้งไวรัสตัวแทน ที่สร้างให้มีการแสดงออกของโปรตีนหนามของสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์เดลตา
ซึ่งผลการทดลองปรากฎว่า ซีรั่มส่วนใหญ่ยังสามารถยับยั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมได้พอสมควร ถึงแม้ไม่สูงมากแต่ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ตีพิมพ์มา แต่กับสายพันธุ์เดลตา กลับพบว่า โปรตีนหนามของสายพันธุ์เดลตาสามารถหนีภูมิของวัคซีนจาก Sinovac ที่ฉีดครบ 2 เข็ม ได้มากพอสมควร
แต่อนันต์ก็กล่าวว่า ข้อมูลของสายพันธุ์เดลตาที่ตนใช้นั้น ยังมีไม่มาก อาจจะคลาดเคลื่อนได้ จึงอยากให้ห้องแล็บอื่นๆ ที่มีตัวอย่างซีรั่มเยอะๆ ลองทดสอบเช่นเดียวกัน เพราะข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการระบาดของสายพันธุ์เดลตาได้
และล่าสุด (23 มิถุนายน) โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ก็ออกแถลงการณ์กรณีพบบุคลากรของโรงพยาบาลติด COVID-19 จำนวน 39 ราย ซึ่งเพจเฟซบุ๊ก เรื่องเล่าจากโรงหมอ เพจบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ จากหมอ คาดว่า เจ้าหน้าที่ติดเชื้อน่าจะเพิ่งฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ผ่านมาแล้วเกิน 2 สัปดาห์เกือบทั้งหมด
ยังมีกรณีตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์กว่า 350 คนติด COVID-19 โดยหลายรายอาการหนักจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล แม้จะฉีดวัคซีน Sinovac ไปแล้ว ซึ่งตอนนี้อินโดนีเซียก็กำลังเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ในประเทศเซเชลส์ ชิลี บาห์เรน และมองโกเลีย ซึ่งประชากร 50-68% ได้ฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศเหล่านี้ต่างก็ติดอันดับหนึ่งใน 10 ประเทศที่มีการระบาดของ COVID-19 รุนแรงที่สุด โดยวัคซีนที่ประเทศเหล่านี้ใช้เป็นหลักคือวัคซีนที่ผลิตจากจีนอย่าง Sinopharm และ Sinovac
ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามถึงการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ที่ราคาต่อโดสสูงกว่าวัคซีนหลายๆ ตัว รวมถึงแพงกว่าวัคซีนของ AstraZenecaด้วย ซึ่งวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ อนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุขก็ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ว่า ตอนที่ AstraZeneca มาขาย เขาก็ว่าใช้นโยบายที่ไม่ได้กำไรและไม่ขาดทุนและมาผลิตอยู่ในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายจึงถูกลงแน่นอน และวัคซีนทั่วไปที่ซื้ออยู่ ก็ซื้อตามราคาตลาด ไม่ได้ซื้อแพงกว่าคนอื่น พร้อมย้ำว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของวัคซีนตัวอื่นๆ แล้ว ก็ยังทำให้เกิดคำถามกันอยู่ว่า แล้วทำไมรัฐบาลไม่จัดซื้อวัคซีนตัวอื่นมาด้วยตั้งแต่แรก ทั้งในวงการแพทย์เอง ก็เริ่มถกเถียงเพื่อหาคำตอบกันแล้วว่า หรือจะต้องฉีดวัคซีนของ Sinovac ให้ได้ 3 เข็ม ถึงจะมีภูมิคุ้มกันโรค COVID-19 ได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากฮ่องกงที่เผยว่า ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer ตอบสนองต่อโรค COVID-19 ได้ดีกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac ด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้ว ก็อาจจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 เพื่อยืดระยะในการป้องกันโรคให้นานขึ้นสำหรับคนบางกลุ่มด้วย แต่รายงานยังไม่แน่ชัดว่า ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมต่อการเข้ารับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3
ผู้อำนวยการหน่วยบริการสาธารณสุขของสิงคโปร์ ยังเปิดเผยด้วยว่า รัฐบาลสิงคโปร์กำลังพิจารณาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งอาจต้องทิ้งช่วง 6 เดือน หลังได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกครบแล้ว
ขณะที่ วัคซีน AstraZeneca นั้น ถึงจะมีรายงานว่าป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ แต่กับสายพันธุ์เบตา นพ.นภชาญ เอื้อประเสริฐ สาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า แม้จะฉีด AstraZeneca ครบ 2 เข็มแล้ว แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการต่อสายพันธุ์เบตาได้ แม้จะอาจป้องกันการติดเชื้อรุนแรง หรือลดอัตราเสียชีวิตได้ก็ตาม
“ดังนั้น ถ้าสายพันธุ์เบตาระบาดหนัก ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการระบาดในภาคใต้แล้ว และอาจจะกระจายไปภาคอื่นต่อไป จะเกิดปัญหาหนักขึ้นมาทันที เพราะวัคซีนที่ฉีดตอนนี้ไม่ว่า 1 เข็ม หรือครบ 2 เข็มแล้วอย่าง Sinovac หรือ AstraZeneca จะป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการไม่ได้อีกต่อไป”
นพ.นภชาญ ยังระบุถึงแผนการจัดหาวัคซีนปีหน้าอีก 50 ล้านโดสว่า เป็นแผนการที่แย่มาก และควรจัดหาเป็นวัคซีนชนิด mRNA อย่าง Pfizer หรือ Moderna ร่วมกับวัคซีนของ AstraZeneca อีก 100 ล้านโดส และถ้าจะต้องฉีดเพิ่มในเด็กอายุ 2-17 ปี ต้องจัดหาเพิ่มอีกเป็น 130 ล้านโดส พร้อมระบุว่า เป็นแผนการที่แย่ทั้งในแง่ชนิดของวัคซีนที่เลือก และปริมาณวัคซีนที่ต้องจัดหาเพิ่ม
และยังระบุถึง แผนการเปิดประเทศหลังฉีดวัคซีนโดสแรกให้ประชาชน 50 ล้านคน ภายใน 120 วัน ด้วยว่า ไม่ว่าวัคซีนนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่สายพันธุ์เดลตา กำลังระบาดเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะเป็นสายพันธุ์หลักในอนาคต และกำลังเริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เบตาในภาคใต้ การฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียวของ AstraZeneca และ Pfizer นั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้เพียง 31% ต้องรอเข็มที่ 2 ถึงจะป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 80% ซึ่งในวัคซีน AstraZeneca นั้นภูมิคุ้มกันจะขึ้นหลังเข็มแรกต้องรออย่างน้อยที่สุด 2 สัปดาห์ และต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 12 สัปดาห์ ดังนั้น นพ.นภชาญจึงมองว่า ถ้าเปิดประเทศจริง การระบาดอาจเพิ่มสูงกว่านี้หลายเท่า
แนวทางมุมมองจากบุคลากรทางการแพทย์
การเปิดประเทศใน 120 วันนี้ ทำให้เกิดกระแสเห็นแย้งมากมาย ขณะที่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ว่า ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยใหม่ในระบบรักษาพยาบาลยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงนั้น นโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบการรักษาพยาบาล ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกที่ 4 และเป็นการนำเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งแพร่ระบาดได้รวดเร็วและรุนแรง เข้ามาในประเทศ ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนลดลง
โดยแถลงจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มีประเด็น ดังนี้
- ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน มีประสิทธิผล นำสู่การปฏิบัติ และติดตามการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องดำเนินการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำว่า ไม่ควรประกาศให้มีวันหยุดยาว ซึ่งจะทำให้เชื้อแพร่กระจาย ยากที่จะควบคุม เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา
- คัดกรองเชิงรุกอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาด และใช้มาตรการจำกัดพื้นที่เมื่อตรวจพบการติดเชื้อ เพื่อจำกัดการกระจายของแหล่งแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วที่สุด
- ต้องใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการควบคุมโรค และต้องควบคุมการเดินทางของผู้มีความเสี่ยงหรือผู้ที่ติด COVID-19
- ต้องจัดหาวัคซีน COVID-19 ให้เพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลดลง รวมทั้งจัดให้มีการกระจายวัคซีน COVID-19 อย่างเป็นระบบ ชัดเจน โปร่งใส ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองหรือผลประโยชน์ใดๆ
- จัดทำมาตรการรับนักท่องเที่ยวเพื่อการเปิดประเทศใน 120 วัน ที่ให้ความสำคัญกับมาตรการการควบคุมโรค มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้การเปิดประเทศเป็นต้นเหตุของการระบาดระลอกที่ 4
- ต้องมีการทบทวนความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งก่อนการเปิดประเทศเมื่อครบ 120 วัน ว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาถึงสถานการณ์การระบาดภายในและภายนอกประเทศ ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน COVID-19 ประชากรไทย การแพร่กระจายเชื้อกลายพันธุ์ และความพร้อมของระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ
ขณะที่ นพ.ปวิน นำธวัช ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับเราว่า ปัจจัยที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดประเทศ ก็คือ เรื่องของการตรวจหาเชื้อ
“การตรวจสำคัญที่สุดเลย เพราะถ้าไม่ตรวจก็จะไม่รู้อะไรเลย ต้องมีการตรวจที่พร้อมให้ตรวจได้โดยประชาชนไม่ลำบากมาก ซึ่งหมายความว่า ระบบการตรวจ ตั้งแต่การขนส่ง ห้องแล็บ หรือบุคลากรในห้องแล็บก็ต้องมีเพียงพอเหมือนกัน ตอนนี้ได้ข่าวว่า บุคลากรในห้องแล็บก็เริ่มไม่ไหวแล้วเหมือนกัน”
นพ.ปวิน ย้ำว่า นี่คือสิ่งที่แรกที่เราต้องมี ไม่อย่างนั้นเราก็จะทำอะไรไม่ได้ ส่วนเรื่องการรักษาและวัคซีน ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน แต่อาจจะรองลงมาจากการเร่งตรวจ เพราะ ณ ตอนนี้ ทุกคนต้องได้ตรวจก่อน แต่ยังไม่ใช่ทุกคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
“ในระยะสั้น การตรวจต้องพร้อมก่อน เพราะถ้าไม่ได้ตรวจก็ไปต่อไม่ได้หมดเลย แต่ในระยะถัดไป สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของวัคซีน โรงพยาบาล และเตียงในการรักษา จุดนี้เองก็ต้องพร้อมเหมือนกัน”
นอกจากนี้ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า แนวทางของนโยบายในอนาคต จะต้องคำนึงถึงไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการระบาดได้ทุกเมื่อ อย่างเช่นในขณะนี้ที่ไทยจะต้องเตรียมรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่พบการระบาดครั้งแรกในอินเดีย
นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่า สายพันธุ์เดลตานี้ทำให้อังกฤษต้องประกาศเลื่อนการเปิดประเทศจากเดือนนี้ ไปเป็นกรกฎาคมแทน หลังจากพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นและยังพบอีกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ก็ยังติดเชื้อสายพันธุ์นี้ โดยหลายรายอาการหนักและเสียชีวิต
เขายังกล่าวด้วยว่า ข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ ศบค.แถลงนั้น ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์การระบาดที่แท้จริง อย่างกรณีของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ก็เป็นการพบจากการสุ่มตรวจเท่านั้น จำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงจึงอาจมีมากกว่าที่รายงาน หรือกรณีของผู้ป่วยหนักและใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งตัวเลขค่อนข้างนิ่ง และไม่ได้แปลว่าสถานการณ์ดี แต่อาจเป็นเพราะไอซียูของ รพ.มีผู้ป่วยอยู่เต็มแล้ว จึงต้องดูที่อัตราการเสียชีวิตว่าลดลงจริงหรือไม่
ในช่วงเวลาที่ไทยกำลังเผชิญกับสายพันธุ์เดลตา ที่แพร่ระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ สิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องรีบเร่งโฟกัส คือการปรับแผนการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม และให้ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 ร่นลงมา ซึ่งนี่คือเป้าหมายที่รัฐบาลควรจะมีและทำให้ได้ มากกว่าการตั้งเป้าหมายเปิดประเทศภายใน 120 วัน
อ้างอิงจาก