เรามักเชื่อว่านักปรัชญาคิดอะไรเป็นเหตุเป็นผลอยู่เสมอ แต่เมื่อพวกเขาตกอยู่ในภวังค์ของความรัก สิ่งที่ยากจะหาเหตุผลมาอ้างอิง พวกเขาจะเป็นเหมือนปุถุชนหรือเปล่า จะหลงใหลไปกับคืนวันอันหวานชื่น ขมขื่นไปกับอารมณ์ไม่สมหวังบ้างไหม มาแกะรอยชีวิตรักของเหล่านักปรัชญา ว่าเหล่านักคิดจะรับมือกับความรักและความไม่รักอย่างไรบ้าง?
รักรสขม แรงบันดาลใจผลงานเลื่องชื่อ
“God is dead” วรรคทองจากงานเขียนของ ‘ฟรีดริช นีทเช’ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ที่ชื่อของเขายังคงทรงอิทธิพลต่อแนวคิดของปรัชญาสมัยใหม่จวบจนทุกวันนี้ แนวคิดของเขากระตุ้นให้เราสงสัยใคร่รู้ในการมีอยู่ เจตจำนงเสรี และประสบการณ์ของบุคคล หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘อัตถิภาวนิยม (Existentialism)’ ที่ออกจะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสสารนิยมและจิตนิยมอยู่เสียหน่อย แนวคิดของเขาจึงสนับสนุนให้การก้าวพ้นไปจากความเชื่อแบบเดิม แม้แต่พระเจ้า เขาไม่ได้หมายถึงมรณกรรมของพระผู้เป็นเจ้า หากแต่หมายถึงความเสื่อมถอยในศรัทธา และรุ่งอรุณของอำนาจในมือมนุษย์ ที่จะก้าวไปไกลเกินกว่าความเชื่อเดิมๆ ทั้งหลาย
ชื่อของนีทเช ได้ฝากผลงานมากมายให้โลกรุ่นหลังได้จดจำ ทั้งแนวคิด งานเขียน ที่ว่ากันว่า บางเล่มมีแรงบันดาลใจมาจากชีวิตรักที่ไม่สมหวังของเขา
หากถามว่านิทเช่มีมุมมองต่อความรักเป็นแบบไหน อาจจะต้องถามต่อว่าเราคิดว่าเขาใช้เลนส์ไหนในการมองความรัก สำหรับนิทเช่ ความรักเป็นได้ทั้งแรงขับพื้นฐานของมนุษย์ เป็นได้ทั้งอำนาจเหนือผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยการครอบครอง ครอบงำทางอารมณ์หรือจิตใจ นอกจากนี้ แนวคิดของเขาค่อนข้างมีอคติทางเพศอยู่สูงพอสมควร เขาเชื่อว่าความแตกต่างทางชีวภาพระหว่างเพศ จะส่งผลกับบทบาททางเพศไปด้วย แต่ทั้งนี้ บางงานเขียนของเขาก็สนับสนุนให้ผู้หญิงไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงบทบาทดั้งเดิม เช่น ภรรยาและแม่
แม้เขาเองจะมองว่าความรัก ผลักดันสัญชาตญาณดิบของมนุษย์จนทำให้เราเผยด้านที่เห็นแก่ตัวออกมา ทว่าชีวิตรักของเขาเอง กลับสอดแทรกด้วยรักแบบโรแมนติกอยู่ไม่น้อย รักรสขมของเขาเกิดขึ้นเมื่อเขาได้พบกับ ‘ลู แอนเดรียส-ซาโลเม่’ (Lou Andreas-Salomé) นักจิตวิเคราะห์และนักเขียน ตอนนั้นเธอมาศึกษาต่อที่ University of Zürich เขารักเธอตั้งแต่แรกเจอและปรารถนาจะใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ในสมการรักครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงสองคน ยังมี ‘พอล รี’ (Paul Rée) ที่เป็นเพื่อนของทั้งสองคน นิทเชต้องการให้รีเป็นพ่อสื่อให้เขา แต่นั่นทำให้เขารู้ว่า รีเองก็หลงรักเธอเช่นเดียวกัน
ชายหนุ่มทั้งสองต่างตกหลุมรักสาวคนเดียวกัน ถึงขนาดขอเธอแต่งงานทั้งคู่ แต่ลูปฏิเสธพวกเขา ด้วยเหตุผลว่าเธอยังตั้งมั่นอยู่กับการเรียนและการใช้ชีวิตนอกรัสเซียไปเรื่อยๆ ทั้งยืนยันว่าจะคบหากันในฐานะพี่น้องเท่านั้น แม้จะต้องแบกความผิดหวังไว้ แต่ทั้งสามคนเดินทางผ่านสวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี เพื่อวางแผนการสร้างชุมชนวิชาการ ด้วยความหวังว่าเส้นทางนี้จะช่วยยืดเวลาให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตด้วยกันได้นานเท่าที่จะทำได้ หลังจากครั้งนั้น และแม้ว่าเขาจะมีโอกาสได้พบเธออีกครั้งในช่วงเวลาที่เธอไม่ได้มีใคร ก่อนที่จะขอเธอแต่งงานเป็นครั้งที่สอง แต่คำตอบยังคงเป็นเช่นเดิม
โค้ชลงสนามเองทีไร แพทย์สนามต้องสแตนบายทุกที แต่โค้ชคนนี้ไม่ยอมแพ้ แม้ต้องเจอกับความผิดหวังจากการถูกปฏิเสธถึงสองครั้งสองครา แต่เขาก็มีเธอเป็นแรงบันดาลใจให้กับผลงานบางชิ้นของเขา รวมถึง ‘That Spoke Zarathustra’ ด้วย เชื่อกันว่าเขาใช้ตัวละครในเรื่องอย่าง ‘Dionysus’ เป็นตัวแทนของลู ซึ่งตัวละครนี้เป็นเหมือนตัวแทนของจิตวิญญาณอิสระที่ปฏิเสธบรรทัดฐานทางสังคมและโอบรับชีวิตแห่งความหลงใหลและความคิดสร้างสรรค์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาททางเพศและอำนาจที่เพศชายพยายามครอบงำเพศหญิง
สุดท้ายแล้วแม้จะไม่ลงเอยกับหญิงที่เขารักตั้งแต่แรกพบ แต่เขาได้ผลงานและชื่อเสียงกลับมา โดยมีเธอเป็นแรงบันดาลใจและเก็บเธอเอาไว้ชั่วนิรันดร์ในนั้น
Open Relationship
หากใครที่เชื่อในความสัมพันธ์แบบเปิด และอยากจะขอบคุณใครสักคนที่คิดความสัมพันธ์รูปแบบนี้ขึ้นมา ขอผายมือไปทางคู่รักนักปรัชญา ‘ฌ็อง-ปอล ซาทร์’ (Jean-Paul Sartre) นักปรัชญาผู้มีบทบาทสำคัญในอัตถิภาวนิยม (Existentialism) และ ‘ซีมอน เดอ โบวัวร์’ (Simone de Beauvoir)
ทั้งคู่เจอกันในที่ฝรั่งเศสในตอนที่ยังเป็นนักศึกษาปรัชญา และตัดสินใจเริ่มความสัมพันธ์แบบโรแมนติกเพื่อคบหาดูใจในช่วงแรก ทุกอย่างดูเป็นไปได้ด้วยดีจนกระทั่งเขาขอเธอแต่งงาน แน่นอนว่าเธอปฏิเสธ แม้ทั้งคู่จะรักกันและเข้ากันได้ดี โดยเฉพาะในเรื่องแนวคิดทางปรัชญา แต่เธอกลับไม่ได้อยากใช้ชีวิตแบบผูกมัดอยู่กับเขาไปจนชั่วนิรันดร์อย่างที่กรอบสังคมกำหนดไว้ ว่าคู่รักต้องใช้ชีวิตแบบไหน แต่งงานเมื่อไหร่ สร้างครอบครัวเมื่อไหร่จึงจะเหมาะสม
แม้จะถูกปฏิเสธ แต่เขากลับไม่ได้เดินหนีไปพร้อมความผิดหวัง แต่ทั้งคู่ได้จับเข่าคุยกันอย่างเปิดอกในเรื่องความสัมพันธ์ครั้งนี้ ทั้งคู่บรรลุข้อตกลงว่าจะปฏิเสธความคาดหวังของปิตาธิปไตย ในเรื่องการปิดหูปิดตาเมื่อสามีไปมีหญิงอื่น ทำราวกับว่าสิ่งนั้นไม่ผิดและไม่เคยเกิดขึ้น แทนที่จะแสร้งทำเหมือนว่ารับเอาแนวคิดผัวเดียวเมียเดียวเอาไว้ แล้วต้องทนทุกข์อยู่กับปัญหาที่กล่าวไป คู่รักควรมีอิสระที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศและโรแมนติกนอกจากความสัมพันธ์ของตนเอง โดยที่อีกฝ่ายรับรู้ ซึ่งนั่นก็คือ Open Relationship นั่นเอง
ซาทร์ได้กล่าวประโยคสำคัญที่เป็นเหมือนใจความของ Open Relationship แก่ซีมอนไว้ว่า “What we have, is an essential love, but it is a good idea for us also to experience contingent love affairs.” แต่พ่อหนุ่มคลั่งรักก็ทิ้งท้ายไว้ว่า “Some lovers are a necessity while others are just contingent. You are my necessity.”
ตลอดเวลาในชีวิตรักของทั้งคู่ พวกเขาไม่ได้แต่งงานกัน ไม่มีลูก และไม่ได้อยู่อพาร์ทเมนต์เดียวกันด้วยซ้ำ ใช้ชีวิตด้วยกันบนพื้นฐานของความรัก ที่ไม่ตีกรอบให้อีกฝ่ายต้องใช้ชีวิตไปตามขนบของสังคม ทั้งคู่มีผลงานร่วมกัน ได้แก่ ‘Mémoires d’une jeune fille rangée’ และ ‘La Force de l’âge’ แม้ตลอดชีวิตจะไม่ได้ใช้ชีวิตแบบร่วมเรียงเคียงหมอน แต่เมื่อความตายมาเยือน ศพของทั้งสอง ได้ฝังคู่กันในสุสานมงต์ปาร์นาส
ขนาดนักคิดยังรักได้ เจ็บเป็น และไม่คิดคาดคั้นเอาเหตุผลอะไรกับความรัก การที่เราเองจะเจ็บบ้างก็ไม่แปลกอะไรนี่นะ
อ้างอิงจาก