ไม่ว่าชีวิตจะเพียบพร้อมแค่ไหน แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งทุกคนต้องเคยตั้งคำถามกับตัวเองกันบ้างแหละว่า “เราเกิดมาทำไม?” อาจจะเพราะเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ ไม่ได้มีแค่เรื่องของเงินทอง หน้าตา เกียรติยศ ชื่อเสียง ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง
แล้วถ้าอย่างนั้น เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรกัน?
‘วิกฤตการมีชีวิตอยู่’ (existential crisis) เป็นช่วงหนึ่งที่คนเราจมทุกข์อยู่กับการหาเหตุผลหรือความหมายของการมีชีวิต และจะรู้สึกหดหู่ เลื่อนลอย หรือว่างเปล่า เมื่อหาคำตอบนั้นให้กับตัวเองไม่ได้ ซึ่งที่มาวิกฤตนี้ เกิดจากการที่สภาพจิตใจถูกกระตุ้นด้วยเหตุการณ์สะเทือนใจบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจากไปของใครบางคน หรือชีวิตเดินมาถึงจุดพลิกผันของชีวิต เช่น ถูกแฟนบอกเลิก พบว่าตัวเองเป็นโรคร้าย ถูกไล่ออกจากงาน หรือบางทีอาจจะเกิดจากการเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับคนอื่น จนทำให้รู้สึกว่าชีวิตของเราไร้ค่าไร้ความหมาย
ปกติวิกฤตนี้จะมาควบคู่กับเวลาที่ชีวิตของเราเข้าสู่ ‘วิกฤตวัยกลางคน’ (midlife crisis) ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่มนุษย์มักจะหมกมุ่นอยู่กับชีวิตตัวเองอย่างจริงจังอยู่บ่อยๆ เริ่มตั้งคำถามถึงเป้าหมายและการมีอยู่ของตัวเอง และเผลอไปเปรียบเทียบกับคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ทั้งด้านการงาน การเงิน สุขภาพ และครอบครัว แต่สมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็ตั้งคำถามนี้ได้ทั้งนั้น แม้แต่เด็ก 10 ขวบเองก็สงสัยถึงการมีอยู่ หากสภาพแวดล้อมของเขามีภาวะที่ตึงเครียดจนเกินไป อย่างเด็กที่มีพรสวรรค์หรือที่เรียกว่าเด็ก gifted นั่นเอง
จริงๆ แล้วการตามหาความหมายของการมีชีวิตมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เพราะนักปรัชญาในสมัยนั้นเองก็เฝ้าหาความหมายของชีวิตกันให้วุ่น อย่างที่โสเครตีส (Socrates) เคยกล่าวไว้ว่า การแสวงหาสัจธรรมคือความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิต ชีวิตที่ปราศจากการตรวจสอบตัวเอง คือชีวิตที่ไร้ค่า และอริสโตเติล (Aristotle) ที่สอนว่า
ชีวิตของเราทุกคนย่อมมีจุดประสงค์
และหน้าที่ของการมีชีวิตอยู่ก็คือการบรรลุจุดประสงค์นั้น
หรือ เฟรดริช นิทซ์เช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) นักปรัชญาอัตถิภาวนิยม ที่มองว่ามนุษย์เราเกิดมาเพื่อทุกข์ทรมาน และเราก็มีชีวิตอยู่เพื่อหาความหมายของความทรมานนั้น ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการนิยามที่เกิดขึ้นการจากหาความหมายของชีวิตทั้งนั้น
นอกจากนี้นิทซ์เช่ ผู้มีความเชื่อว่ามนุษย์ย่อมมีแนวทางชีวิตเป็นของตนเอง ก็เชื่อว่าคำถามที่สำคัญสำหรับมนุษย์ คือ ‘คำถามเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่หรือการตาย’ เพื่อที่มนุษย์จะได้รับมือและจัดการกับชีวิตของตัวเองต่อไปได้
การหาหมายความของการมีชีวิตจึงถือเป็นปรัชญาที่ตั้งอยู่บนอิสรภาพและทางเลือกของมนุษย์ ซึ่งผู้คนมักจะหาคำตอบว่า ‘พวกเขาเป็นใคร’ ผ่านชีวิตที่พวกเขาเลือกเส้นทางเองได้ โดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความเชื่อ และมุมมองของแต่ละคน และเส้นทางที่พวกเขาเลือกก็กลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีรูปแบบของความเป็นจริงแต่อย่างใด และปราศจากข้อบังคับของกฎหมาย ชาติพันธุ์ และประเพณี อย่างที่ ฌ็อง ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนถูกบังคับให้มีอิสระในการเลือก
เราพยายามหาความหมายมากไปหรือเปล่า?
เมื่อเรามีอิสระและเสรีภาพในการเลือกที่จะยึดมั่น แต่วันหนึ่งเกิดการสูญเสียหรือมันถูกทำให้สั่นคลอน จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่า แล้วเราจะอยู่บนโลกนี้ต่อไปทำไม? และเกิดการวิตกกังวลถึงการมีชีวิตอยู่ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า existential anxiety ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ไบโพลาร์ หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ เพราะคนที่ตกอยู่ในวิกฤตนี้ จะมีอาการหดหู่บางอย่าง เช่น ไม่แยแสต่อโลก สูญเสียความสุข หรือเศร้าเป็นเวลานาน และถ้าสำหรับคนที่มีอาการซึมเศร้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็สามารถนำไปสู่การตัดขาดจากโลกภายนอกได้ ซึ่งการตัดขาดนี้ ก็จะกระตุ้นให้เกิดคำถามตามมา อย่าง “ความหมายของการมีอยู่คืออะไร” หรือ “ชีวิตฉันยังสำคัญอยู่หรือเปล่า” และอาจนำไปสู่การจบชีวิตในเวลาต่อมา
รับมือยังไงในวันที่คิดว่าชีวิตหมดความหมาย
เมื่อราวๆ ปี ค.ศ.1933 ปีเตอร์ เวสเซล แซปฟี่ (Peter Wessel Zapffe) นักปรัชญาชาวนอร์เวย์ได้เสนอแนวคิดของเขาไว้ว่า จริงๆ แล้วความกังวลถึงการมีอยู่ของชีวิตนั้น เป็นสิ่งที่ผูกติดอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน แล้วก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง แต่เขาเชื่อว่าทุกคนจะมี ‘เครื่องมือภายในจิตใจ’ ที่เฉพาะเจาะจงของตัวเอง ซึ่งจะช่วยต่อสู้กับความรู้สึกที่ท่วมท้นเหล่านี้ได้ หรือที่เรียกว่า เครื่องมือข้างในจิตใจของแซปฟี่ (Zapffe’s inner tools) ได้แก่
ปักสมอเรือ คือความสามารถในการกำหนดสิ่งสิ่งหนึ่งขึ้นมาและยึดมั่นในสิ่งสิ่งนั้น เหมือนสมอเรือที่ปักอยู่ใต้ทะเลเพื่อไม่ให้เรือเคลื่อนที่ไปไหน เช่นเดียวกัน หาเป้าหมาย ค่านิยม หรือความสัมพันธ์เฉพาะบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราจะต้องมีชีวิตต่อไปเพื่อค้นหาความหมายของสิ่งเหล่านี้ และเพื่อขจัดความกลัวในจิตใจที่ว่าเราไม่เหลืออะไรให้ไปต่อในชีวิต
หากจะพูดง่ายๆ ก็คือให้ตั้งเป้าหมายในชีวิต เพราะวิกฤตนี้ทำให้เรารู้สึกล่องลอยไร้ทิศทางเหมือนอยู่กลางอวกาศ ดังนั้น ลองหาสิ่งยึดถือใหม่แล้วจับมันไว้ให้แน่น พยายามนึกถึงสิ่งที่เราอยากทำมาโดยตลอด อย่างการทำอาหารสักมื้อที่ไม่เคยทำ ไปที่ที่ไม่เคยไปแต่อยากไปมานานแล้ว หรือพูดคุยกับคนแปลกหน้าเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ แล้วเราจะได้เห็นว่าบนโลกนี้ยังมีอะไรอีกเยอะที่รอให้เราค้นหาคำตอบ และมันอาจกลายมาเป็นเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของเราด้วยก็ได้
ปลีกตัวออกมา คำนี้อาจจะฟังดูไม่ดี แต่ความสามารถในการแยกตัวออกมาของมนุษย์จะทำให้เราหลีกหนีจากความคิดที่น่ากลัวได้ ทำให้เราออกห่างจากสถานการณ์ที่ทำให้เราหมดกำลังใจ และออกมาไตร่ตรองถึงสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่
หาสิ่งกีดขวาง แซปฟี่ได้กล่าวไว้ว่า อุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางคือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะพาเราออกมาจากความคิดลบๆ ถ้าการที่เราว่างแล้วเราเอาเวลากับพลังงานเหล่านั้นไปคิดมาก ลองเปลี่ยนไปใช้กับสิ่งที่เราหลงใหลดูบ้าง อย่างงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง วาดรูป ปลูกต้นไม้ แต่งบ้าน หรืองานฝีมือ แต่ถ้าคิดไม่ออกว่าชอบอะไร ก็ลองนึกถึงสิ่งที่อยากลองแต่ไม่มีโอกาสได้ทำก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่อย่างน้อยมันก็ได้เบี่ยงเบนความสนใจของเราออกจากวิกฤตที่ขุ่นมัวนี้
ระเหิดหายไป คล้ายกันกับการเบี่ยงเบนความสนใจ แต่การระเหิดในที่นี้เป็นวิธีที่นอกจากเราจะเพ่งความสนใจไปที่อื่น แต่เราสามารถเลือกสนใจในสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขแทน หรือทำให้เราคิดว่าชีวิตเรามีความหมายแทนได้ เพียงแค่เราทุ่มพลังงานของเราไปยังสิ่งที่เป็นบวกในชีวิต หรือสิ่งที่ดีต่ออารมณ์และสุนทรียะของเรา เช่น ศิลปะหรือวรรณกรรม เพียงเท่านี้ความรู้สึกไม่ดีก็จะระเหิดหายไป
และสุดท้าย รู้จัก สะท้อนความคิดตัวเอง เป็นประจำ อาจเป็นการเขียนไดอารี่เพื่อทบทวนความคิดและความรู้สึกที่ผ่านมา เพื่อประเมินตัวเองว่าตอนนี้เราเป็นไงบ้าง ยังไหวอยู่มั้ย ต้องการความช่วยเหลือจากใครสักคนหรือเปล่า เหมือนเป็นการรับรู้สภาวะอารมณ์ของตัวเอง (self-awareness) ไปในตัว
หรืออาจหาใครสักคนมานั่งพูดคุยด้วย อย่างจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากพวกเขา เพราะบางครั้งเราก็ไม่สามารถผ่านปัญหาไปได้ด้วยตัวคนเดียว ให้เขาช่วยตบความคิดของเราให้เข้าที่เข้าทาง เผื่อบางความคิดของเราอาจจะฟุ้งเฟ้อเกินความเป็นจริง ซึ่งความคิดประเภทนี้เรามักจะหาทางออกไม่ได้ด้วยตัวเอง
เป็นเรื่องปกติที่เราจะเผลอหลุดโฟกัสต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เคยยึดถือมานาน จนรู้สึกเคว้งคว้าง ล่องลอย ไร้ทิศทาง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชีวิตเรานั้นไร้ค่า เพียงแต่ว่าเรายังมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวใหม่ๆ ไม่เจอแค่นั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก