TGIF! (Thank God It’s Friday) ขอบคุณพระเจ้าวันศุกร์มาเยือนสักที อยากเคลียร์ซีรีส์ที่ดองไว้ให้จบจะแย่ ไหนจะการ์ตูนเรื่องนั้น นิยายเรื่องนี้ คิดถึงสัมผัสของเตียงนุ่มๆ อยากซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ เพื่อชาร์จแบตให้กับตัวเองเยอะๆ
แต่คำว่าเรื่อยๆ นั้น บางครั้งก็มาในรูปแบบของการกระพริบตาแค่สองที พอมารู้สึกตัวพรุ่งนี้ก็ต้องกลับเข้าสู่ลูปชีวิตเดิมๆ อีกแล้ว ซึ่งห้าวันที่กำลังจะมาถึงนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้างก็ไม่รู้ แต่ละวันต้องทำอะไร ต้องไปไหน ต้องเจอใคร จะมีอะไรผิดพลาดไหม แล้วต้องเริ่มจัดการยังไงก่อน
ความคิดที่เอ่อล้นเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราเกลียดการมาถึงของวันจันทร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทำให้เราเสียเวลาพักผ่อนไปกับความกลัวและความกังวล ตลอดช่วงวันอาทิตย์ที่แสนจะสงบสุขเลยนะเนี่ย
ช่วงเปลี่ยนผ่านจากวันพักผ่อนสู่วันทำงาน
ขณะที่เรากำลังพักผ่อนในเช้าวันอาทิตย์ หลังจากเผชิญความเหนื่อยล้าหรือความวุ่นวายมาตลอดทั้งสัปดาห์ จู่ๆ สมองก็เริ่มนับถอยหลังไปเรื่อยๆ ว่าอีกกี่ชั่วโมงจะเข้าสู่วันจันทร์ ยิ่งพอเป็นช่วงเย็นหรือหัวค่ำแล้ว ก็เริ่มจินตนาการถึงสิ่งที่จะต้องทำในสัปดาห์ที่กำลังจะมาถึง คิดนั่นคิดนี่จนเวลาล่วงเลยผ่านไปหลายชั่วโมง
แล้วก็พบว่าเราได้สูญเสียวันอาทิตย์ที่แสนมีค่าไปกับการกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึงและสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเราเรียกว่าภาวะ Sunday scaries หรือความกลัวที่เกิดขึ้นในอาทิตย์นั่นเอง
ในทางจิตวิทยา ความกลัวที่ว่านี้คือการตอบสนองเมื่อเรารับรู้ถึง ‘ภัยคุกคาม’ อย่างหนึ่ง ภัยคุกคามที่ว่านั้นหมายถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่เราอาจจินตนาการไปว่าสิ่งเหล่านั้นจะต้องน่ากลัว เหนื่อย ยุ่งเหยิง เครียด หรือยากลำบากแน่ๆ โดยที่ ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ ระหว่างวันสุดสัปดาห์สู่วันธรรมดาหรือวันทำงาน จะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ซึ่งก็คือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในวันอาทิตย์นี่แหละ
“ภัยคุกคามที่ว่านี้อาจเป็นได้หลายอย่าง เช่น เราอาจจะต้องตื่นแต่เช้า หรือเต็มไปด้วยธุระยุ่งเหยิง และจะเป็นอย่างนี้ไปอีกหลายวันเกือบทั้งสัปดาห์ แต่โดยทั่วไป เรามักจะข้ามไปยังผลสรุปเลย และประเมินความสามารถในการจัดการของเราต่ำเกินไป แม้จะเป็นความรู้สึกที่ทำให้ไม่สบายใจ แต่พอเอาเข้าจริง เราก็สามารถจัดการกับมันได้อย่างราบรื่นเฉยเลย” โจนาธาน อับราโมวิตซ์ (Jonathan Abramowitz) นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ของ University of North Carolina กล่าว
ภาวะ Sunday scaries มักจะเกิดกับผู้คนที่อยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรม ‘การทำงานหนัก’ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยหรือมั่นคงในหน้าที่การงาน หรือคนที่มักจะยึดงานเป็นเครื่องบ่งบอกตัวตน หรือกำหนดคุณค่าในตัวเอง ทำให้ทุกวินาทีของพวกเขามีแต่เรื่องงานเต็มไปหมด
แม้ยุคนี้จะเป็นยุคที่กระตุ้นให้ผู้คนมี work-life balance ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทำให้หลายคนยอมแลกสมดุลชีวิตเพื่ออุทิศให้กับการทำงานหนักเหมือนเดิม จึงเป็นไปได้ว่าจริงๆ แล้ว คนที่เผชิญกับความกลัวในวันอาทิตย์ อาจเป็นคนที่กำลังชอกช้ำกับงานที่ทำอยู่ มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ เต็มไปด้วยแรงกดดันในการทำงาน หรือกำลังประสบกับภาวะหมดไฟ เต็มไปด้วยความกลัวที่ว่าอาจมีอะไรไม่ดีรออยู่ในสัปดาห์หน้า
มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่เผชิญกับภาวะหรือความรู้สึกดังกล่าว เพราะเมื่อแพลตฟอร์มจัดหางานชื่อดังอย่าง LinkedIn ไปทำการสำรวจชาวอเมริกันจำนวน 3,000 คนมา ก็พบว่า 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า สถานการณ์โรคระบาดใหญ่ COVID-19 ทำให้พวกเขามีภาวะกังวลในวันอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนยุคมิลเลนเนียลส์และเจนฯ Z จำนวน 78% เผยว่าพวกเขากำลังประสบกับภาวะนี้อยู่
แม้ความกังวลจะเป็นกลไกการตอบสนองที่ดี เพราะช่วยให้เรากระตือรือร้นและรู้จักประเมินความเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดความผิดพลาด แต่ความกังวลที่มากเกินไป ก็อาจกัดกินจิตใจและทำลายช่วงเวลาดีๆ ให้หายไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะช่วงเวลาดีๆ ที่มีแค่สองวันต่อสัปดาห์เท่านั้น
ทวงคืนวันอาทิตย์ที่แสนสงบ
คิดแล้วก็น่าเสียดายเหมือนกันนะ ที่เราสูญเสียช่วงเวลาในการดูซีรีส์ อ่านหนังสือ เล่นเกม หรือทำกิจกรรมสนุกๆ กับครอบครัว ไปกับความกังวลที่ไม่สามารถทำอะไรได้ ยังไงวันจันทร์ก็คงยุ่งเหยิงอย่างมิอาจเลี่ยง ซึ่งการที่เราจะจัดการกับมันได้ ก็ต้องรอให้ถึงวันจันทร์อยู่ดี มองกลับมาสิ่งที่เราทำได้ (และควรทำ) ในตอนนี้ ก็คือใช้เวลาในวันอาทิตย์ที่มีอยู่ให้เต็มที่ดีกว่า แต่ความกังวลเป็นสิ่งที่เอามือปัดๆ แล้วจะหายไปได้ง่ายๆ ซะที่ไหนกันล่ะเนอะ
งั้นมาดูกันว่า มีวิธีไหนบ้างที่จะสามารถลดความกลัวหรือความกังวลในจิตใจ และดึงช่วงเวลาที่มีค่าในวันอาทิตย์กลับคืนมาให้ตัวเองได้
- นอนหลับให้เพียงพอ
ยังคงเป็นวิธีที่คลาสสิกเสมอมา เพราะการนอนหลับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช่วยปรับสมดุลร่างกายและจิตใจของมนุษย์ได้ดีที่สุด แต่หลายคนมักจะอดหลับอดนอนในช่วงวันธรรมดา เพื่อทำงานหนัก ทำการบ้าน เคลียร์งานค้าง หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วค่อยมาตามเก็บช่วงเวลานั้นทีหลังในวันพักผ่อน หรือก็คือการติดหนี้การนอน (sleep dept) เอาไว้ก่อน แต่ผลการศึกษาเผยว่า การมาตามเก็บเวลานอนทีหลัง ไม่ได้ส่งผลให้เรานอนเพียงพอแต่อย่างใด แถมยังได้รับผลกระทบเหมือนคนที่อดหลับอดนอนด้วย
แม้เราจะไม่สามารถทวงเวลานอนกลับคืนมาด้วยการนอนชดเชยในช่วงวันสุดสัปดาห์ แต่เราสามารถปรับการนอนในช่วงวันทำงานให้ยาวนานขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นวิธีการนอนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย โดยวิธีนั้นคือการพยายามนอนให้ตรงตามวัฏจักรการนอนเดิม หรือพยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวันจนเป็นกิจวัตร เพื่อสร้างนาฬิกาชีวภาพให้ร่างกายปรับสมดุลและสามารถเข้านอนในเวลาที่ควรจะนอนได้ดีขึ้น
- เขียนเพื่อจัดระเบียบความคิด
หากพบว่ายังมีเรื่องเครียดหรือกังวลในหัวที่ยังทิ้งไปไม่ได้ ลองใช้วิธี brain dump หรือจัดระเบียบความคิดในหัวดู ด้วยการจดสิ่งที่คิดวนไปวนมาลงบนกระดาษ เพื่อค่อยๆ เอาสิ่งเหล่านั้นออกมา ให้ในหัวของเราไม่ยุ่งเหยิงจนเกินไป และช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนว่า สิ่งไหนที่ควรกังวลและจัดการจริงๆ หรือสิ่งไหนที่เราควรปล่อยวาง หรือจะเป็นการเขียนอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน เพราะการเขียนเป็นวิธีปลดปล่อยความรู้สึก ระบายความเครียด และจัดระเบียบชีวิตที่ดีที่สุด เช่น จดบันทึกแบบ bullet journal ที่มีทั้งตารางสิ่งที่ต้องทำในวันนี้ สัปดาห์นี้ ไปจนถึงอีกหลายสัปดาห์ ก็จะช่วยให้เราวางแผนชีวิตได้ดียิ่งขึ้น (ชวนรู้จักประโยชน์และวิธีการเขียน bullet journal ได้ ที่นี่)
- วางแผนทำอะไรสนุกๆ ในวันอาทิตย์
การอยู่บ้านว่างๆ เบื่อๆ ทำให้เราเผลอนึกถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า แล้วความกังวลก็ตามมาแบบไม่รู้ตัว ลองวางแผนทำอะไรสนุกๆ ในช่วงกลางวันหรือเย็นวันอาทิตย์ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความกังวล ไปทำในสิ่งผ่อนคลาย เช่น ลองทำอาหารเมนูใหม่ๆ ตั้งเป้าหมายการออกกำลังกาย เลือกเกมที่จะเล่นกับเพื่อนๆ และดื่มด่ำกับช่วงเวลานั้นให้เต็มที่ จนจิตใจไม่ว่างไปนึกถึงวันจันทร์ที่กำลังมาถึง
- อย่ากองงานบ้านไว้ที่วันเสาร์
หลายคนมักจะเต็มที่กับงานในวันธรรมดา และเอางานบ้านหรือธุระต่างๆ มากองไว้ที่วันเสาร์มากเกินไป ทำให้วันเสาร์ที่ควรจะได้พักผ่อน กลายเป็นวันทำงานอีกวันหนึ่งโดยไม่รู้ตัว และวันอาทิตย์ที่เหลืออยู่เพียงแค่วันเดียว ก็ดันวิตกกังวลไปครึ่งค่อนวันซะได้ เพื่อทำให้วันเสาร์ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ อาจใช้เวลาสัก 20–30 นาทีหลังเลิกงานแต่ละวัน เคลียร์งานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น วันนี้อาจจะซักผ้า พรุ่งนี้อาจจะดูดฝุ่น มะรืนอาจจะถูบ้าน พอถึงวันเสาร์ก็เคลียร์งานบ้านที่หนักหน่วงหน่อย แต่ก็ไม่มากจนกินเวลาไปทั้งวัน ทำให้เรายังสามารถมีเวลาทำอะไรที่ผ่อนคลายได้อยู่
- เอาใจตัวเองในวันจันทร์บ้าง
วันจันทร์ดูจะเป็นศัตรูชีวิตของใครหลายคน เพราะวันจันทร์ไม่เคยอ่อนโยนกับใคร ทั้งการประชุม การเดินทาง หรือภาระงานที่รออยู่ แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะลืมไปนั่นก็คือ เราสามารถควบคุมวันจันทร์ให้ไม่โหดร้ายเกินไปได้ เช่น ก่อนออกจากบ้านก็สร้างเพลย์ลิสต์ที่เต็มไปด้วยเพลงโปรด หรือเลิกงานกลับถึงบ้านอาจจะตั้งโปรแกรมเล็กๆ ว่าจะกินอะไรอร่อยๆ หรือดูหนังสนุกๆ สักเรื่อง ลองให้ของขวัญตัวเองเพื่อเป็นกำลังใจในการเริ่มต้นสัปดาห์บ้าง แม้จะเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แต่ถ้าโฟกัสไปที่ความสุขนั้น วันจันทร์อาจจะไม่ใช่วันที่น่ากลัวอีกต่อไปก็ได้
ไหนๆ ก็มีวันหยุดเพียงแค่สองวันต่อสัปดาห์ เรามาใช้เวลาไปกับการผ่อนคลายให้เต็มที่กันเถอะนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Waragorn Keeranan