จากรูปปั้นหัวติดสะพาน สู่ตำนานบทใหม่ของทวยเทพโชคลาภและบารมี
ประติมากรรมสีดำขลับ เขี้ยวยักษ์ ปีกใหญ่ เจ้าของนัยน์ตา (และเล็บมือ) สีแดง คือรูปปั้นของ ‘ครูกายแก้ว’ บรมครูที่เชื่อกันว่ามีวิชาอาคมแก่กล้า จนประชาชนจำนวนหนึ่งแห่กราบไหว้บูชาเพื่อสิริมงคลในชีวิต นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จู่ๆ บ้านเราหันมาบูชาทวยเทพหรือภูติผีปีศาจผู้มากด้วยอภินิหาร หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้คนไทยเคยแห่บูชาจตุคามรามเทพ ไอ้ไข่ เทพฮินดูกลางเมือง จนมาถึงครูกายแก้ว ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ หวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
บ้างเห็นก็ว่างมงาย บ้างก็ว่าคนไทยเชื่องและหลอกง่าย ขณะที่จำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามต่อ ‘เมืองพุทธ’ แบบไทยๆ ว่าทำไมเราถึงพร้อมเชื่อและบูชาอะไรแบบนี้ได้โดยไม่กังขา พุทธศาสนาไม่ตอบโจทย์แล้ว หรือมันมีอะไรสักอย่างในสังคมเราที่ผิดปกติจนเป็นแบบนี้?
ใครจะรู้ นอกจากอภินิหารด้านโชคลาภและความเจริญรุ่งเรือง ครูกายแก้วอาจกำลังแสดงอภินิหารโดยเสียสละเป็นตัวแทนให้เราเข้าใจสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้นก็ได้ The MATTER จึงสนทนากับ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจสังคมไทยผ่านปรากฎการณ์นี้
ครูกายแก้วมาจากไหน?
ตั้งแต่ข่าวองค์ครูกายแก้วติดสะพานจนเคลื่อนรถไม่ได้ ประกอบกับภาพงานบวงสรวงองค์ครูกายแก้วที่ถูกเผยแพร่อินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ศรัทธาในความขลังเดินทางเข้ามากราบไหว้ถึงย่านรัชดา–ลาดพร้าวโดยไม่ขาดสาย
ยังไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าครูกายแก้วมาจากไหน เรื่องเล่าถึงที่มาของครูกายแก้วจึงมีหลายเวอร์ชัน เช่น ครูกายแก้วถูกส่งผ่านมาจากพระธุดงค์ในกัมพูชา, ครูกายแก้วเกิดจากนิมิต, ครูกายแก้วเป็นอาจารย์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7, ครูกายแก้วมีที่มาจาก ‘การ์กอยส์’ เป็นต้น
เหล่านี้ล้วนเป็น ‘เรื่องเล่า’ (narrative) ถึงที่มาของครูกายแก้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้
พิพัฒน์ เล่าให้เราฟังว่า ที่มาของกายแก้วไม่มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่มีลักษณะเป็นเรื่องเล่า ว่ากันว่ามีพระธุดงค์ไปนั่งสมาธิที่ประสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา แล้วท่านก็ได้ครูกายแก้วมา แต่เนื้อเรื่องไม่ได้เล่าละเอียดว่าที่มาของการได้ครูกายแก้วเป็นอย่างไร หรือมีลักษณะเป็นประติมากรรมแบบไหน ต่อมาครูกายแก้วถูกส่งต่อให้นายทหารจากกองดุริยางค์ ก่อนจะถูกส่งผ่านมายัง สุชาติ รัตนสุข อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตั้งศาลเทพ และผู้สร้างศาลพระพิฆเนศย่านห้วยขวาง
“เมื่อประติมากรรมส่งผ่านมาจนถึงมือ อ.สุชาติ วันนึงแกเกิดฝันนิมิตขึ้นมาว่าครูกายแก้วปรากฎกายให้เห็น แกก็ทำประติมากรรมจำลองขึ้นมา” พิพัฒน์เล่าให้เราฟังถึงตำนานที่มาของครูกายแก้ว
อย่างไรก็ดี รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เผยผ่านรายการโหนกระแสว่า ครูกายแก้วน่าจะไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์เขมรโบราณ โดยอ้างเหตุผลทางภาษาว่า ‘แก้ว’ เป็นภาษาลาว ส่วนอักษระขอมไม่มีสระ ‘แ’ และไม้โท พร้อมให้เหตุผลด้วยว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มักตั้งชื่อโดยใช้คำว่า ‘ชย’ นำหน้าเสมอ แต่ไม่ปรากฎชื่อ ‘ชยกายแก้ว’ หรือครูกายแก้วในจารึกใดทั้งสิ้น
แม้จะยังไม่มีการศึกษาเชิงลึกจริงจังว่าครูกายแก้วมาจากไหน แต่ดูเหมือนว่าคนจำนวนมากอาจไม่ได้สนใจจะพิสูจน์นัก
การบูชาครูกายแก้ว สะท้อนวิธีคิดอะไรในสังคมไทย?
ปักธูปดำลงถัง ถวายถาดผลไม้และพวงมาลัย บางคนทำไปโดยไม่รู้จักครูกายแก้วด้วยซ้ำ มีประชาชนบอกกับสำนักข่าว Thai PBS ว่าไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่ก็มากราบไหว้เพื่อความสบายใจและสิริมงคลเพราะเชื่อเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว ขณะที่ อ้วน พระราม 5 คนวงการพระเครื่องที่เชื่อในครูกายแก้ว เล่าผ่านรายการโหนกระแสว่า ตนไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ พิสูจน์ไม่ได้ว่าความเชื่อตนจริงหรือไม่ แต่การอธิษฐานขอพรเป็นกำลังใจที่ดีและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ก็เลยเลือกที่จะนับถือ
ดูจะจริงอย่างที่พิพัฒน์อธิบายว่า แม้คนในสังคมจะบอกว่าไม่ใช่ของจริง แต่คนบูชาก็อาจจะไม่ได้ใส่ใจจะพิสูจน์นัก ไม่ใช่เพราะมีปัญหาด้านการหาความรู้ แต่เพราะพวกเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจ และมีเป้าหมายการบูชาที่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีปัญหา
มีปัญหาอย่างไร? พิพัฒน์ชี้ว่า หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ทำให้สังคมรู้สึกไม่มั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจนต้องหาทางพึ่งพิง
“ตั้งแต่รัฐประหารปี 49 สังคมรู้สึกไม่มั่นคงมาโดยตลอด เราไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะเกิดปฏิวัติไหม หรือจะเกิดอะไรกับสถาบันการเมือง ชีวิตคนแขวนกับอนาคตของชาติและสถาบันจนทำนายอนาคตตัวเองไม่ได้ รวมทั้งการเกิดรัฐประหารบ่อยๆ มีความผันผวนทางการเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรงในสังคม”
“เมื่อการเมืองไม่มั่นคง เศรษฐกิจก็ไม่มั่นคงอยู่แล้ว .. ฉะนั้น ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะจตุคาม ไอไข่ ท้าวเวสสุวรรณ ทั้งหมดเป็นเทพเป็นผีที่มีจุดร่วมสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ จตุคามรามเทพว่าด้วยความมั่งมี คนบูชาไอ้ไข่หวังขอหวย เช่นเดียวกับครูกายแก้วที่คนไปขอโชคลาภหน้าที่การงาน ทั้งหมดเป็นการขอความร่ำรวยแบบสายฟ้าแลบ” พิพัฒน์กล่าว
การขอให้ร่ำรวยไม่ใช่เรื่องผิด แต่ความต้องการร่ำรวยแบบสายฟ้าแลบคือเครื่องสะท้อนปัญหาสังคมไทยในทัศนะของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ต่างจากอดีตที่ทุกคนเคยเชื่อในศักยภาพตัวเองว่าขยันแล้วจะสำเร็จ ซึ่งพิพัฒน์อธิบายว่า เพราะโครงสร้างสังคมไทย คือ ระบบอุปถัมภ์ ระบบที่ต้องรู้จักคน–มีคอนเนคชันจึงจะประสบความสำเร็จ จึงทำให้คนจำเป็นต้องพึ่งพา ‘อำนาจอะไรบางอย่าง’ เพื่อดลบันดาลหรือต่อรองกับสิ่งที่มีอำนาจอย่างระบบอาวุโส ระบบทหารตำรวจเป็นใหญ่ เป็นต้น
“ความเชื่อแบบนี้จึงไปได้ดีกับสังคมที่เราไม่ใช้อำนาจตามปกติ” พิพัฒน์ ระบุ
มากกว่านั้น การบูชาครูกายแก้วยังสะท้อนสภาวะปัจเจกสูงในพื้นที่เมือง พิพัฒน์อธิบายว่า เมื่อคนมีภาวะปัจเจกสูง แต่ละคนก็พยายามหาทางเพื่อเอามาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของตัวเอง ซึ่งการหาทางยึดเหนี่ยวอาจไม่ใช่แค่นับถือครูกายแก้ว อาจจะนับถือไอดอลของตัวเองก็ได้เช่นกัน
กระบวนการปรุงรส ‘ความขลัง’ ให้ ‘ครูกายแก้ว’
แม้มีรูปลักษณ์คล้ายอสุรกาย แต่เรื่องเล่าของครูกายแก้วกลับแอบอิงและสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเขมร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พิพัฒน์มองว่ามักจะถูกเชื่อมโยงกับเรื่องลี้ลับตามความรับรู้ของคนไทยเสมอ เช่น เมื่อบอกว่ามีคนเล่นของเขมร เราอาจจะเสียวสันหลังวาบด้วยความกลัวว่า ‘ของ’ มันจะแรงกว่า ทั้งที่คนกัมพูชาปัจจุบันแทบไม่เล่นของแล้ว (ตรงๆ ก็คือไทยคลั่งเครื่องราวของขลังกว่าเขานั่นแหละ)
ทำให้เรื่องเล่าที่มาของครูกายแก้วที่อ้างอิงอำนาจอันเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเขมร สามารถเปลี่ยนครูกายแก้วที่รูปลักษณ์คล้ายผี (จนบางคนมองว่าคล้ายผีตะวันตกด้วยซ้ำ) มาเป็นผู้มีอำนาจลึกลับที่ดลบันดาลสิ่งต่างๆ ได้
นอกจากนี้ เรื่องเล่าของครูกายแก้วที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับนายทหารก็ส่งผลกับความขลังเหมือนกัน โดยพิพัฒน์ให้เหตุผลว่า “ในสังคมที่อยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยมคู่กับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม หรือระบอบที่กษัตริย์สัมพันธ์กับทหาร ระบบความเชื่อในการมองทหารจึงผูกพันธ์กับความศักดิ์สิทธิ์ ครูกายแก้วเลยกลายเป็นบุคคลที่ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจ”
ศาสนาพุทธไม่ตอบโจทย์สังคมไทยแล้วเหรอ?
ตามความเข้าใจทั่วไป ศาสนาคือสิ่งช่วยยึดเหนี่ยวและปลอบประโลมจิตใจของมนุษย์ได้ แต่การกราบไหว้บูชาครูกายแก้วทำให้คนตั้งคำถามว่า ศาสนาพุทธยังตอบโจทย์สังคมไทยอยู่หรือไม่
พิพัฒน์อธิบายว่า แม้ที่ผ่านมาพุทธศาสนาจะมีการปรับตัวแล้วบ้าง แต่ยังไม่สามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนได้มากพอต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สะท้อนผ่านการเผยแพร่คำสอนทางศาสนาที่เข้าถึงยาก หรือการไปวัดที่ได้แค่ไปทำบุญอย่างเดียว เป็นต้น
โอเค เวลาทำบุญเราก็อาจจะขอให้รวยเหมือนกัน แต่การทำบุญถูกเชื่อว่าเป็นการสะสมบุญเพื่อเจออนาคตดีๆ ในชาติหน้า ไม่ได้เห็นผลทันทีในชาตินี้ “ฉะนั้น คนที่ไหว้ครูกายแก้วก็อาจจะหมดทางไป พึ่งใครไม่ได้ใต้สภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ และในเมื่อพึ่งคนไม่ได้ ก็ต้องพึ่งผี” พิพัฒน์ กล่าว
ส่วนวิธีการบูชา พิพัฒน์ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า เรามักจะไหว้ผีด้วยการติดสินบน เช่น บอกว่าถ้าถูกหวยจะเอาอะไรสักอย่างมาถวาย สิ่งนี้ก็สะท้อนความเป็นไทยด้วยเช่นกัน เพราะสังคมอุปถัมภ์แบบไทยๆ คือสังคมที่หากอยากได้อะไรก็ต้องมีของกำนัลไปให้ ไม่ว่าจะน้ำหวานผลไม้ หรือของคาวอย่างหมาแมวที่กำลังถูกด่าบนโลกออนไลน์
เมื่อถามว่าคนกำลังงมงายหรือไม่? พิพัฒน์มีท่าทีไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เขาอธิบายว่า มันง่ายที่จะนิยามคนกลุ่มที่แตกต่างจากเราว่า ‘งมงาย’ แต่หากถอยมามองภาพที่ใหญ่ขึ้น ในระดับสังคมหรือระดับจุลภาค มองว่าครอบครัวหรือชีวิตของเขาเป็นอย่างไร เราจะรู้สึกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจพวกเขามากขึ้น
ท้ายที่สุด เราถามพิพัฒน์ว่าทางออกจากสังคมที่คนถูกผลักให้ต้องพึ่งผีและทวยเทพคืออะไร เขานิ่งคิดไปพักหนึ่ง ก่อนจะตอบกับเราว่า สถาบันศาสนาต้องปรับบทบาทมาให้ความรู้ต่อประเด็นปัญหาทางสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้การเมืองและเศรษฐกิจมั่นคงและมีเสถียรภาพ และต้องสร้างสังคมที่กระจายผลประโยชน์ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน
“ทำให้คนไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษในการเข้าถึง พอไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษ คุณก็จะกลับมาเชื่อมั่นในศักยภาพของคุณเองในการทำอะไรสักอย่างเอง” พิพัฒน์ ทิ้งท้าย