ตื่น-บิณฑบาต-ฉันเช้า-(ว่าง)-ฉันเพล-(ว่าง)-ทำวัดเย็น-(ว่าง)-เข้านอน ข้างต้นนี่คือกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ และเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ สังคมสงฆ์กำลังเผชิญภาวะอ้วนกว่าคนไทยทั่วไป
ข้อมูลจากโรงพยาบาลสงฆ์เมื่อปี 2559 พบว่า พระสงฆ์ในกรุงเทพฯ จำนวน 5,989 รูป มีภาวะน้ำหนักเกิน 952 รูป มีภาวะอ้วน 2,491 รูป และมีภาวะอ้วนลงพุง 1,491 รูป หรือเรียกได้ว่าในพระสงฆ์ 10 รูป มีมากกว่า 8 รูปที่ภาวะอ้วนกว่าเกณฑ์ปกติ
งานวิจัยหลายๆ ชิ้นได้ตอบถึงสาเหตุของปัญนี้อย่างชัดเจนว่ามาจาก 2 ประการ หนึ่ง กิจวัตรประจำวัน และสอง การเลือกฉันอาหาร
The MATTER ได้ลองลงไปใช้เวลา 1 วันกับพระสงฆ์ที่วัดลาดพร้าว เพื่อพิสูจน์ถึงที่มาของปัญหาสุขภาพและน้ำหนักที่เกินพอดีของพระสงฆ์ ว่าเป็นไปตามที่งานวิจัยและรายงานหลายชิ้นระบุไหม และปัญหาดังกล่าวชัดเจนแค่ไหนกันแน่
- สองกิโลเมตรแรกและสองกิโลเมตรเดียว
นาฬิกาบนหน้าชัดชี้บอกเวลา 6.15 น. ฟ้ายังมัวเมาด้วยสีเทาของเมฆครึ้ม ร่องรอยจากมรสุมยังค้างเป็นน้ำสูงเท่าแข้งอยู่บนนถนนวัด แต่นั่นไม่ได้หยุดกิจวัตรใน (เกือบ) ทุกเช้าของหลวงพี่นิพนธ์ ทองพฤกษาชาติ หรือหลวงพี่ต้น และพระใหม่อีกรูปหนึ่ง วันนี้พวกเขายังออกบิณฑบาต
รถซูบารุ หรือสองแถวขนาดเล็กมาจอดรอบริเวณหน้ากุฎิเหมือนทุกวัน หลวงพี่ผายมือให้เราและช่างภาพขึ้นนั่งที่ด้านหลังกับพระใหม่และเด็กวัด ส่วนตัวเขาเองขึ้นนั่งด้านหน้ากับคนขับ
รถซูบารุเคลื่อนตัวออกจากวัดไปทางถนนลาดพร้าววังหิน มุ่งหน้าโชคชัย 4 ก่อนเลี้ยวเข้ามาจอดที่ต้นซอยหนึ่ง พระทั้งสองรูปลงจากรถ เท้าเปล่าย่างไปตามถนนชื้นแฉะจากหน้าซอยถึงท้ายซอย เป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร ก่อนกลับขึ้นรถซูบารุเพื่อไปลงอีกจุดหนึ่ง เพื่อรับบิณฑบาต ก่อนเดินตัดเข้าไปในตลาดโชคชัย 4 แล้วทะลุซอยสังคมสงเคราะห์ เป็นอันสิ้นสุดเส้นทางบิณฑบาตตามปกติ
จากการจับของนาฬิการแอปเปิลวอชระยะทางบิณฑบาตเส้นนี้ยาว 1.96 กม. ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง 12 นาที และเผาผลาญพลังงานทั้งหมด 141 แคลลอรี
แต่เส้นบิณฑบาตนี้ หลวงพี่ต้นเล่าว่าตัวเขาจะสลับกันเดินกับ หลวงพี่ใหม่ เพ็ญบุญ คนละอาทิตย์ กล่าวคือหลวงพี่รูปหนึ่งเดินหนึ่งอาทิตย์ พักหนึ่งอาทิตย์
ขณะที่พระรูปอื่น เช่น พระมหาอมรินทร์โท จะมีเส้นบิณฑบาตต่างออกไป โดยจะเดินทางไปไกลถึงซอยหลังการบินไทยด้วยรถซูบารุ ขณะที่พระบางรูปที่อายุเยอะหรือมีร่างกายไม่แข็งแรงก็จะรอญาติโยมมาถวายบาตที่วัด
- อาหารสามกระสอบ แต่ก๋วยจั๊บ
ฟ้าเริ่มแจ้ง นาฬิกาบอกเวลา 8.30 น. รถซูบารุขับกลับมาจอดที่หน้ากุฏิจุดเดิม หลวงพี่ทั้งสองลงจากรถ เหลือไว้เพียงกระสอบฟาง 3 กระสอบที่ด้านในบรรจุอาหารหลากหลายชนิดไว้แน่น เด็กวัดเทกระสอบทั้งหมดลงกับพื้นรถซูบารุแล้วก็ถึงเวลาเลือกอาหารสำหรับฉัน
อาหารที่ได้รับบิณฑบาตในวันนี้หลากหลายมีตั้งแต่ทั่วไปอย่าง ข้าวสวย, น้ำเปล่า, น้ำปาณะเช่น น้ำเขียว, น้ำแดง, น้ำส้ม, น้ำสมุนไพร ของหวานอย่าง กล้วยบวชชี, ขนมถ้วยฟู ผลไม้นานาชนิด องุ่น, กล้วย, ทุเรียน ตลอดจนขนมถุง
จากการพูดคุยกับผู้ที่นำของมาบิณฑบาตทั้งหมด 16 รายพบว่า 11 รายซื้อจากร้านที่ขายอาหารถุง ขณะที่อีก 5 รายทำอาหารถวายพระด้วยตัวเอง ซึ่งเกณฑ์เลือกอาหารใส่บาตรก็หลากหลายตั้งแต่ เลือกของที่ตัวเองอยากทาน, ความหลากหลายของอาหาร, วันหมดอายุ, ความสะดวก จนถึงคำนึงถึงสุขภาพและโภชนาการ ซึ่งมี 2 รายที่ให้เหตุผลประการสุดท้าย
พระหน้าใหม่ที่เดินด้วยกันเช้านี้หยิบกับข้าว 2-3 อย่างกับขนมถุงเข้าย่าม แล้วเดินหายขึ้นกุฏิอย่างรวดเร็ว ก่อนหลวงพี่ต้นจะหยิบน้ำพริกกุ้งเสียบ ผัก กับข้าวอีก 2-3 อย่าง และทุเรียนอีก 2 พลูเข้าย่าม ส่วนอาหารที่เหลือเด็กวัดและคนขับจะนำไปแบ่งกัน ก่อนนำไปแจกจ่ายให้ใครก็ตามที่มาขอพวกเขาอีกทีนึง
ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 พระสงฆ์ในวัดลาดพร้าวเปลี่ยนวิธีฉันอาหาร จากเดิมที่เคยพิจารณาและฉันอาหารร่วมกันบริเวณศาลา มาเป็นฉันแยกในกุฏิส่วนตัวของพระสงฆ์แต่ละรูป
หลวงพี่ต้นเดินนำเราเข้าไปที่กุฏิส่วนตัวด้านหลัง มันเป็นห้องชั้นล่างที่มีหน้ากว้างประมาณ 8 เมตร ด้านหน้ามีต้นไม้หลายพันธุ์ที่หลวงพี่ต้นปลูกเป็นงานอดิเรก และภายในกุฏิมีหมาพันธุ์เล็ก 1 ตัวที่เห่าทักทายเราไม่หยุด
หลังจากเก็บอาหารที่บิณฑบาตมาในช่วงเช้า หลวงพี่ต้นก็เดินนำเราไปทางด้านหน้าวัด แล้วเลี้ยวเข้าร้านก๊วยจั๊บเจ้าประจำ ก่อนเอ่ยปากสั่ง
“ก๊วยจั๊บทุกอย่าง พิเศษนะเฮีย” เราพยักหน้าบอกเฮียว่าขอเหมือนกันอีก 2 ชาม
- หลังบิณฑบาตคือเวลาว่าง
วันนี้ หลวงพี่ต้นไม่มีกิจนิมนต์ทำให้เขาเดินทางออกไปสนามหลวงตั้งแต่ช่วง 10.00 – 14.00 น. ก่อนกลับมาเฝ้าบริเวณที่สักการะท้าวเวสสุวรรณ ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของวัด
ในช่วงที่หลวงพี่ต้นออกไปจากวัด ภายในห้องรับรองบริเวณหลังศาลาวัดมีพระหลายรูปกำลังนั่งดูทีวี บ้างฉันอาหารบนโต๊ะ บ้างนั่งเล่นโทรศัพท์ บ้างจับกลุ่มพูดคุยกัน และบ้างทำความสะอาดหรือซ่อมแซมศาลา ส่วนพื้นที่บริเวณกุฏิส่วนใหญ่มีแต่ความเงียบ พระส่วนใหญ่เก็บตัวอยู่ในห้อง มีเพียงกุฏิแห่งเดียวที่มีเสียงเพลง ‘ช่วงเวลา – Zweed n’Roll’ ลอยออกมา
“กิจวัตรของพระสงฆ์ค่อนข้างต่างจากฆราวาสทั่วไป ซึ่งอยู่ที่ว่าพระรูปไหนด้วยนะ” หลวงพี่ใหม่เล่าให้เราฟัง ก่อนพูดขึ้นมาตรงๆ ว่า
หลังบิณฑบาตแล้วพระก็ว่างนั่นแหละ
หลัง 14.00 น. หลวงพี่ต้นเล่าให้เราฟังถึงตารางชีวิตประจำวันของพระคร่าวๆ ดังนี้
- 5.30 – 6.00 น. ตื่น
- 6.30 น. ออกบิณฑบาต
- 8.15 น. กลับมาที่วัด
- 8.40 น. ทำวัตรเช้า
- 9.30 – 12.00 น.ทำธุระส่วนตัว
- 12.00 น. ฉันเพล
- 13.00 – 16.00 น. ทำธุระส่วนตัว
- 16.00 น. ทำวัดเย็น
โดยตัวหลวงพี่ต้นเองมีงานในวัดที่ต้องรับผิดชอบ เช่น รับกิจนิมนต์, ดูแลจุดทำบุญ, งานเอกสารในฐานะเลขาฯ เจ้าอาวาส รวมถึงงานของคณะสงฆ์เขตลาดพร้าว แต่พระรูปอื่นก็แตกต่างกันไป
“หลายรูปถ้าไม่มีกิจกรรม ก็พักผ่อนหรือนอนอยู่ที่กุฏิเป็นหลัก” หลวงพี่ต้นอธิบายให้ฟัง
- โรครุมเร้าในสังคมสงฆ์
แม้หลวงพี่ใหม่จะเป็นพระที่มีกิจวัตรแทบจะตลอดทั้งวัน ทั้งอ่านตำราเรียนหรือสอนนักเรียนเช่นวันนี้ แต่ตัวเขาก็ต้องไปหาหมอเป็นประจำ เพื่อเช็คระดับน้ำตาลในเลือดและอาการของโรคเบาหวานที่เขาเริ่มเป็นหลังบวช
หลวงพี่ใหม่เริ่มบวชตั้งแต่อายุ 26 ปี และต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีแล้วที่เขานุ่งห่มผ้าเหลือง เขาเล่าว่าแรกเริ่มตัวเองมีน้ำหนักประมาณ 90 กก. ก่อนค่อยๆ ลดลงจนเหลือ 75 กก. ในช่วงที่บวช แต่น้ำหนักที่ลดลงกลับเปลี่ยนเป็นผลวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคเบาหวานและมีความเสี่ยงไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งสาเหตุจากปริมาณน้ำปาณะที่เขาฉันเป็นประจำ โดยเฉพาะน้ำอัดลมที่เขาเล่าว่าบางวันดื่มขนาด 1.25 ลิตรหมดด้วยตัวคนเดียว
รายงานประจำปี 2563 ของโรงพยาบาลสงฆ์ระบุว่า โรคเบาหวานเป็นโรคยอดนิยมลำดับ 3 ที่พระสงฆ์ไทยป่วยมากที่สุด รองลงมาจากความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง หรือมากกว่าโรคไข้หวัดตามฤดูกาล และโรคเกี่ยวกันเหงือกและฟัน
ข้อมูลพระสงฆ์อาพาธโรคเบาหวานที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ในปี 2564 พบว่า มีทั้งสิ้น 5,436 รูป เทียบกับข้อมูลในปี 2556 ที่พบพระสงฆ์อาพาธโรคเบาหวาน 5,090 รูป หรือกล่าวได้ว่าพระสงฆ์ยังคงป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ ที่รายงานจากโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคพบว่า มีอัตราส่วนป่วยด้วยโรคเบาหวานมากกว่าชายไทยทั่วประเทศ
แต่โรคเบาหวานไม่ใช่ปัญหาเดียว เพราะภาวะน้ำหนักเกินคืออีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่พบเห็นได้จากพระสงฆ์จำนวนมาก
หลวงพี่ต้นบวชมาได้ 7 ปีแล้ว ขณะนี้เขาอายุ 35 ปี และดำรงตำแหน่งเลขาฯ เจ้าอาวาส หลวงพี่ต้นเป็นคนตัวใหญ่มีส่วนสูงมากกว่า 180 ซม. และมีน้ำหนักมากกว่า 100 กก. เขาเล่าว่าตัวเองมีโรคประจำตัวเป็นโรคเลือดจาง และเริ่มมีปัญหาความดันสูงบ้างในช่วงหลัง แต่ไม่มีปัญหาน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่หลังบวช กล่าวคืออยู่ในพิกัดมากกว่า 100 กก. มานานแล้ว
รายงานจากโครงการสงฆ์ไกลโรคนิยามว่าโรคอ้วนคือ ‘ระเบิดเวลา’ ของสังคมสงฆ์ในกรุงเทพฯ โดยมีพระสงฆ์ 48% ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โดยมีค่าเฉลี่ยน้ำหนักอยู่ที่ 67.58 กก. ส่วนสูง 164.24 ซม. และมีรอบเอวเกินค่าที่เหมาะสมประมาณ 21% และที่บอกว่าเป็น ‘ระเบิดเวลา’ เพราะมีสามเณรที่เข้าข่ายโรคอ้วนถึง 36% หรือแปลได้ว่าถ้าสามเณรกลุ่มนี้ยังบวชต่อไป มีแนวโน้มที่พวกเขาจะกลายเป็นพระที่เสี่ยงโรคอ้วนเช่นกัน
หลวพี่ต้นเล่าว่าในช่วงหลัง เขาหันมาใส่ใจเลือกกินอาหารมากขึ้น จากแต่เดิมที่ชอบกินข้าวมันไก่, ข้าวขาหมู, ก๊วยเตี๋ยว ขนมไทยและเบอเกอรี่ชนิดต่างๆ ก็หันมาเลือกกินผักมากขึ้น อย่างไรก็ตามเขาฉันน้ำปาณะในปริมาณมากต่อวัน ซึ่งเมื่อไหร่ถามจำนวน เขาตอบเพียงว่า “อู๊ว” ไม่อาจนับได้ว่าวันละกี่แก้ว
ความรู้เรื่องโภชนาการเป็นอีกปัญหาของพระสงฆ์ โดยข้อมูลจากรายงาน ‘สถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพของพระสงฆ์ไทย’ ที่ใช้ฉลากโภชนาการในการทดสอบ พบว่าพระสงฆ์ 78% ขาดความรู้ด้านโภชนาการที่เพียงพอ
ทั้งหลวงพี่ต้นและหลวงพี่ใหม่ให้ข้อมูลตรงกันว่า ทางสาธารณสุขได้ส่งบุคลากรเข้ามาตรวจเช็คและให้ข้อมูลเรื่องโรคแก่พระสงฆ์ในวัดอยู่เป็นระยะ แต่พระส่วนใหญ่ก็ยังไม่ใส่ใจนัก เลือกฉันอาหารแบบเดิม ไม่ไปโรงพยาบาล หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่ายังเป็นทองไม่รู้ร้อนถึงสุขภาพตัวเอง
“มีประมาณ 80% นะที่มีโรคประจำตัวหรือมีโรคอะไรสักอย่าง เนื่องจากพระส่วนใหญ่มีอายุเยอะแล้ว” หลวงพี่ต้นให้ข้อมูลเรื่องสุขภาพของพระสงฆ์ในวัดลาดพร้าวแก่เรา หรือประมาณได้ว่าจากพระทั้งหมด 100 รูปที่จำวัดในวัดลาดพร้าว มีถึง 80 รูปที่มีปัญหาสุขภาพ
และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นับว่าวัดลาดพร้าวกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพขั้นวิกฤต เพราะรายงานจากโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคพบว่ามีประมาณ 30.57% ของพระสงฆ์ทั่วประเทศที่มีปัญหาสุขภาพ
“ปัจจัยไม่ใช่ปัญหานะของพระที่นี่” หลวงพี่ใหม่ยืนยันว่าค่าใช้จ่ายในการพบแพทย์ที่พระต้องเสีย มีเพียงค่าเดินทางเท่านั่น เพราะพระสามารถเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสงฆ์ซึ่งได้งบประมาณจากรัฐบาลรองรับ นอกจากนี้ ยังมีสิทธิอื่นเช่น 30 บาทรักษาทุกโรค
“ดังนั้น มันแล้วแต่ความใส่ใจของพระรูปนั้นแหละ เราเคยบอกให้เขาไปตรวจนะ แต่เขาก็ไม่ไป” หลวงพี่ใหม่เล่าประสบการณ์พูดคุยกับพระรูปอื่นให้เราฟัง
ในยามบ่ายคล้อย เมฆเทาเริ่มเกาะตัวเหนือหัวอีกแล้ว เค้ารางของฝนตกเหมือนจะมีให้เห็น หลวงพี่ต้นเดินนำหน้าเราไปทางกุฏิ แล้วเสียงร้องทักอย่างคุ้นเคยจากหญิงชราที่ขายน้ำก็ทักขึ้น
“หลวงพี่เอาน้ำหวานไหม?” หลวงพี่ต้นหัวเราะในลำคอ ก่อนกล่าวปฏิเสธด้วยไมตรีจิต
- ออกกำลังกาย
ช่วงที่ผ่านมา เกิดข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมในการออกกำลังกายของสามเณร แต่ข้อถกเถียงดังกล่าว ยืนบนพื้นฐานของมุมมองฆราวาส ซึ่งอาจไม่เข้าใจธรรมวินัยและปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ที่ดีเพียงพอ
ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายพระสงฆ์ โดยแนะนำให้ออกกำลังกายด้วยกิจวัตรประจำวัน เช่น เดินจงกลม หรือกวาดลานวัด แต่ก็ไม่ปฏิเสธเช่นกันว่าการเวทเทรนนิ่งยังเป็นวิธีออกกำลังกายที่ทำได้ แต่เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม
ภายในพื้นที่กุฏิของวัดลาดพร้าว มีอย่างน้อย 3 หลังที่มีอุปกรณ์ยกน้ำหนัก อาทิ ดัมเบลล์, บาร์เบล, เชือกดึง ตลอดจนลู่วิ่งและเครื่องปั่นจักรยาน
พระมหาอมรินทร์โทเล่าว่า แรกเริ่มเขาซื้อเครื่องปั่นจักรยานมาตั้งไว้ที่ชั้นสองของกุฏิ เพราะปัญหาเรื่องเข่าและน้ำหนักตัวซึ่งเพิ่มขึ้นตามวัย ก่อนที่จะย้ายอุปกรณ์ออกกำลังทั้งหลายไปไว้พื้นที่ส่วนกลาง ด้วยเหตุผล 2 ข้อคือ ในช่วงหลังมีพระจากถิ่นอื่นมาเป็นแขกในกุฏิและเพื่อให้พระรูปอื่นได้มาใช้เครื่องออกกำลังกายร่วมกัน ก่อนเสริมในมุมพระวินัยว่า พระพุทธเจ้าเองก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพระสงฆ์ โดยกำหนดการปฏิบัติสมาธิไว้ 4 อริยาบถได้แก่ ยืน, เดิน, นั่ง และนอน โดยเน้นที่การเดินและนั่ง และพระพุทธเจ้ายังได้พูดถึงอานิสงฆ์ของการเดินไว้อีกด้วยว่า “อาพาธน้อย ย่อยอาหาร นานในสมาธิ ดำริความเพียร เซียนในการเดินทาง ดังนั้น พระพุทธเจ้าส่งเสริมเรื่องการออกกำลัง”
อย่างไรก็ตาม ไม่มีพระรูปไหนยอมให้เราถ่ายรูปขณะที่ออกกำลังกายโดยเครื่องออกกำลังเลย โดยให้เหตุผลตรงกันว่า “กลัวดราม่า”
หลวงพี่ใหม่เองก็เห็นเช่นเดียวกับพระมหาอมรินทร์โท โดยเขาให้ความเห็นกับเราหลังจากที่ตัวเขาเพิ่งเต้นแอโรบิคเพื่อยืดเส้นยืดสายหลังการสอนเสร็จว่า พระธรรมวินัยไม่ได้จำกัดเรื่องการออกกำลังกายของพระสงฆ์เอาไว้ แต่สิ่งที่สำคัญคือความเหมาะสมและจุดประสงค์
มันไม่ผิดธรรมวินัยหรอก แต่เส้นมันคือเราต้องทำเพื่อสุขภาพไม่ใช่เพื่อความสวยงาม ถ้าเราออกส่วนตัวในกุฏิแบบนี้ไม่ผิด แต่ถ้าออกแล้วถ่ายรูปตัวเองโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แบบนี้ผิดแน่นอน
ก่อนจากกัน หลวงพี่ใหม่แบ่งปันคำสอนจากเกจิอาจารย์รูปหนึ่งให้แก่เราด้วยรอยยิ้มกว้างและน้ำเสียงนุ่มลึก ในแววตาของเขาใสบริสุทธิ์เหมือนหยดน้ำ
“ท่านบอกว่าให้ลองดูอย่างพระพุทธรูป ท่านไม่ได้ทอดพระเนตรที่ใคร แต่ท่านทอดลงพื้น มันหมายถึงให้ดูแลตัวเองให้ดีก่อน แล้วค่อยส่งต่อสิ่งดีๆ ให้คนอื่น”
‘นั่นสิ’ ผมคิดในใจแล้วปิดเครื่องอัดเทป
อ้างอิงจาก
สถานการณ์ปัญหาโภชนาการในพระสงฆ์ จากโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค
สถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพของพระสงฆ์ในสังคมไทย
รายงานประจำปี 2563 โรงพยาบาลสงฆ์