สภาพพพพ สัปดาห์ที่แล้วมีการไลฟ์สอนธรรมะแบบสอดแทรกอารมณ์ขันของ 2 พส. (พระสงฆ์) คือ ‘พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต’ และ ‘พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ’ ที่มีคนเข้าร่วมรับชมแบบไม่ได้นัดหมายถึงสองแสนคน สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ยุค COVID-19 ที่ตัวพระสงฆ์เองก็ต้องปรับตัวเข้าหาผู้คนและเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนกับศาสนาได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
อันที่จริงแล้วในหลายสังคมก็มีการปรับตัวของพระสงฆ์เช่นกัน อย่างประเทศญี่ปุ่นที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนา และผู้คนกับศาสนาก็ห่างไกลกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่วิถีชีวิตเร่งรีบ
ธุรกิจเช่าพระสงฆ์จึงเกิดขึ้นโดยบริษัทเอกชน เมื่อราว 8 ปีที่แล้ว โดย Minrevi เป็นการส่งพระสงฆ์ไปทำพิธีกรรมที่บ้าน พระสงฆ์เหล่านั้นไม่ได้จำวัด แต่เป็นพนักงานของบริษัทที่ประชาชนสามารถกดจองคิวได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งในช่วงปี ค.ศ.2016 ก็มีพระสงฆ์จำนวนมากถึง 700 รูป ที่อยู่ในเซอร์วิสให้เช่าของ Minrevi
Minrevi บอกว่า ความต้องการ ‘เช่าพระสงฆ์’ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2013 เนื่องจากคนญี่ปุ่นติดต่อกับทางวัดน้อยลง และความศรัทธาต่อระบบบริจาคเงินให้พระลดลง
กลับกัน บริการของ Minrevi ชัดเจนในเรื่องของค่าจ้าง อย่างลูกค้ารายหนึ่งเช่าพระสงฆ์มาประกอบพิธีกรรมครบรอบการเสียชีวิตหนึ่งปีของมารดา โดยระบุว่า แม้แถวบ้านจะมีวัดหลายแห่ง ทว่าไม่ทราบจะติดต่อที่ไหน ค่าใช้จ่ายทำบุญเป็นเท่าไหร่ แต่การให้บริการเช่าพระมันชัดเจนว่าต้องใช้จ่ายเท่าไหร่ อย่างขั้นต่ำก็คือ 35,000 เยน (ราวหมื่นบาท) ซึ่งทั้งหมดวางขายบริการบนอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ ‘Amazon’ ด้วย และเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ใช่แค่ Minrevi เท่านั้นที่ทำธุรกิจให้เช่าพระสงฆ์ แต่อาจกล่าวได้ว่า วงการพระสงฆ์ญี่ปุ่นถูกดิสรัปต์โดยทุนใหญ่ด้วยในช่วงเวลาดังกล่าว ‘อิออน’ บริษัทซึ่งทำค้าปลีกรายใหญ่ของญี่ปุ่น เริ่มให้บริการพิธีกรรมด้านศาสนาทุกอย่าง รวมถึงงานศพ ตั้งแต่ ค.ศ.2014 โดยมีกำหนดราคาที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่มีแค่ผู้คนที่แฮปปี้กับความสะดวกสบายของบริการเช่าพระสงฆ์ เพราะสมาพันธ์ชาวพุทธญี่ปุ่น ไม่สบายใจกับสิ่งนี้และขอให้ Amazon ยุติการขายเซอร์วิสเช่าพระสงฆ์บนแพลตฟอร์ม โดยบอกว่าการกระทำของ Minrevi เป็นการบริจาคเพื่อการค้า จะทำให้เกิดโชคร้ายอย่างมาก และได้มีการขอให้อิออนปลดป้ายราคาลง ซึ่งแม้ทางห้างฯ จะยอมทำตามแต่ก็ยังคงรันธุรกิจอยู่เหมือนเดิม
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้มีการ ‘ติดตาม’ หรือทำการบันทึกศาสนาของพลเมือง แต่มีส่วนร่วมกับพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและศาสนาชินโต (ศาสนาประจำชาติของชาวญี่ปุ่น ไม่มีศาสดา มีคำสอนให้เคารพบูชาธรรมชาติ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์) ซึ่งถือเป็นสองศาสนาหลักในประเทศ อย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งระบุว่าตนเองไม่ได้นับถือศาสนาใด
จะเห็นได้ว่าการปะทะกันระหว่างความสะดวกสบายของเทคโนโลยีและความเชื่อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกสังคม จึงไม่น่าแปลกว่าทำไมการไลฟ์ของ 2 พส. ในประเทศไทยจึงถูก ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ทำคำร้องส่งไปยังมหาเถรสมาคมผ่าน ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขอให้มีบัญชาสอบสวนเอาผิดภิกษุอลัชชี (ผู้ไม่ละอาย) ที่ชอบเล่นโชเชียลมีเดียและไลฟ์สดสอนธรรมะเชิงตลกขบขัน
ซึ่งระหว่างการไลฟ์ก็มีหลายแบรนด์ไทย เข้ามาขายสินค้าใต้คอมเมนต์กันเรียกได้ว่า ครบทุกแวดวง ซึ่งสองพระสงฆ์ก็พูดเป็นเชิงแซวว่า คงต้องเก็บค่าโปรโมตบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีที่โดนศรีสุวรรณร้องเรียน พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ระบุถามกลับ เอาอะไรมาเสื่อม และกล่าวถึงเจตนาว่า ต้องการให้ธรรมะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ อยากให้เป็นเรื่องสนุก สงบ สาระ สติ สำนึก นำหลักคำสอนมาปรับใช้ให้คนเข้าใจง่ายมากขึ้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ บางคนเข้ามาคอมเมนต์ว่า ได้กลับมาฟังธรรมะอีกครั้งหลังไม่ได้ฟังมานานหลายปีแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก