ม้วนฟิล์ม 36 รูป ไม่เคยถูกใช้จนหยดสุดท้าย แต่ถูกเปลี่ยนตั้งแต่ไม่ครบ 30 รูปดีเสียด้วยซ้ำ กำลังบอกเล่าการทำงานของช่างภาพ 6 ตุลาฯ 2519 ที่ว่า พวกเขารู้ดีว่าทุกเสี้ยววินาทีสำคัญอย่างไร พวกเขาจะมาพลาดเหตุการณ์ต่อเนื่องเพราะมัวแต่เปลี่ยนฟิล์มไม่ได้
ถ้าจะให้นึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 หลายคนคงนึกถึงภาพชายที่ถูกห้อยอยู่กับกิ่งมะขาม พร้อมชายที่ทำท่าทางคล้ายเงื้อเก้าอี้ฟาดไปยังร่าง ท่ามกลางสายตาของผู้คน ไม่เว้นแต่เด็กเล็ก แต่ที่สะดุดใจที่สุด หนีไม่พ้นรอยยิ้มที่ปรากฏอยู่บ้างบนใบหน้าเหล่านั้น
คงต้องชื่นชม นีล อูเลวิช ช่างภาพของสำนักข่าว AP ที่ลั่นชัตเตอร์จับเสี้ยววินาทีประวัติศาสตร์นั้นไว้ จนถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งสะท้อนความรุนแรงของเหตุนองเลือดที่มีฝ่ายประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 41 คน บาดเจ็บ 145 คน และยังถูกควบคุมตัวอีกนับพัน
แต่อย่างที่รู้กันว่า ตลอดเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องอยู่หลายวันนั้น ยังมีช่างภาพไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่อยู่โยงข้ามวันข้ามคืน โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาร่วมกับ Doc Club & Pub.จึงได้จัดวงสนทนาประกอบภาพ ในหัวข้อ ‘ซูมอิน 6 ตุลา สนทนากับช่างภาพ’ ขึ้น
The MATTER จึงอยากชวนทุกคนย้อนไปดูภาพข่าวพร้อมคำบอกเล่าจากคนทำงาน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพยานของเหตุการณ์ ที่ช่วยยืนยันว่าความรุนแรงในวันนั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริง
คำเตือน บทความนี้มีภาพความรุนแรง และการเสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่
.
.
.
เกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น
ภาพหญิงสวมนุ่งผ้าถุงที่กำลังนอนหลับซบตักชายคนหนึ่ง อยู่กลางสนามหญ้า ถูกบันทึกไว้โดยทีมช่างภาพหนังสือพิมพ์สยามรัฐช่วงปี 2519 ช่วยเปิดบทสนทนาได้เป็นอย่างดี และคลายข้อสงสัยอย่างหนึ่งว่า เหตุวันนั้นไม่ได้มีเพียงนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุม
ในช่วงเวลาดังกล่าวช่างภาพหลายสำนัก ต่างได้รับมอบหมายให้ติดตามเหตุการณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่นักศึกษาออกมาชุมนุม เพื่อขับไล่ จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งบวชเป็นสามเณร ก่อนจะเดินทางกลับมาจำวัดที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
“หลัง 14 ตุลาคม 2516 มีการประท้วงหลายจุด ทั้งเรื่องค่าแรงของกลุ่มแรงงาน เรื่องค่าครองชีพ ชุมนุมของคนทำงานรัฐวิสาหกิจก็มี ในภาพน่าจะเป็นชาวนา ที่มาชุมนุมหน้าทำเนียบฯ ก่อนหน้านั้น แล้วเดินทางมาร่วมชุมนุมที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์” สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์ให้ความเห็น
ปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพเดลินิวส์ เสริมว่า บริเวณนอกรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม เต็มไปด้วยมวลชนฝ่ายขวารวมถึงกลุ่มกระทิงแดง ที่เริ่มขว้างปาสิ่งของเพื่อรบกวนคนที่อยู่ภายใน ซึ่งขณะนั้นประตูฝั่งสนามหลวงถูกปิดทุกประตู บรรดาช่างภาพจึงต่างเฝ้ารอกันอยู่ไม่ห่าง
ด้านสมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพสยามรัฐ เล่าว่า มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล เคลื่อนรถถังพร้อมอาวุธครบมือมุ่งหน้าไปยังสนามหลวง โดยผ่านหน้าสำนักพิมพ์สยามรัฐพอดิบพอดี
ก่อนที่ช่วงใกล้สว่างของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะมีการเปิดฉากพังประตูโดยใช้รถเมล์พุ่งชนเข้าไป นับเป็นการเปิดฉากการสลายการชุมนุม ที่ได้มีหลักฐานเป็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธในมือที่กำลังเล็งไปยังอาคารภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอาคารของคณะนิติศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ที่ทุกคนต่างออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘พรุน’ ด้วยวิถีกระสุนที่พุ่งจากด้านนอกเข้าไป
“แนวกระสุนมีแต่เข้าด้านใน ไม่มีออกมาเลย…ช่างภาพเราต้องระวังตัว หาที่ปลอดภัยที่สุด ตามหลังคนมีอาวุธ ตามหลังทหารนั่นแหละ” เป็นคำบอกเล่าของ ปวิตร โสรจชนะ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์อีกคนหนึ่ง
ระหว่างที่กำลังสนทนากันอยู่นั้น เมื่อในจอปรากฏภาพชายคนหนึ่งที่แต่งชุดลำลองในมือถือวิทยุสื่อสาร เหล่าช่างภาพต่างเริ่มชี้ไม้ชี้มือว่าชายคนดังกล่าวถือเป็นคนมีชื่อเสียงในตอนนั้น บ้างว่ามียศเป็น สห.ทหารเรือ และเป็นนักเลงใหญ่คุมย่านบางลำพู บ้างพูดถึงว่าชายคนดังกล่าวเป็นมือขวาของพล.อ.สายหยุด เกิดผล ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อกลุ่มมวลชนฝ่ายขวา
ภาพต่อๆ มา เริ่มปรากฏนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อย่างพล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในตอนนั้น “ตอนนั้นมันมี ตชด. ถือบาซูกา มีคนตะโกนว่ายิงโดม ท่านก็บอกอย่ายิง โดมไม่เกี่ยวอะไร” ปวิตรถ่ายทอดสิ่งที่ได้ยินกับหู
นอกจากนั้น พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ ยศในตอนนั้น ในฐานะรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็ปรากฏในภาพข่าวชุดนี้ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนมาก บ้างอาจจะรู้จักในนามพ่อของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.
การทำงานบนความเสี่ยง
สำหรับวิธีการทำงานของช่างภาพนั้น สิ่งที่สำคัญคือการต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอด ทั้งร่างกายและอุปกรณ์ทำงาน เพราะการถ่ายภาพในเวลาต่างกันเพียงไม่นาน กลับสามารถสื่อความหมายไปคนละทิศคนละทาง อย่างที่เกิดขึ้นกับชุดภาพของสยามรัฐ ที่บันทึกภาพชายถือกล้องคล้ายเป็นช่างภาพ แต่ในสายตาช่างภาพมีอาชีพทราบดีว่ากล้องรุ่นนั้นไม่ได้เป็นที่นิยมใช้ ก่อนที่วินาทีต่อมาชายดังกล่าวจะประทับปืนขึ้นบ่า และตั้งท่าได้เชี่ยวชาญไม่ต่างกับเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ การประเมินสถานการณ์ก็สำคัญไม่แพ้กัน แม้สำนักข่าวแต่ละแห่งจะกระจายคนทำงานในหลายจุด แต่การตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาทีนับเป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่เกิดขึ้นกับกรณีของปรีชา จนเป็นที่มาของภาพ ‘ตอกอก’ ที่ได้รับรางวัลภาพขาวยอดเยี่ยมของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ในปี 2519
ปรีชา เล่าว่า เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปถึงช่วงที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนักศึกษาบางส่วน ที่หลบอยู่ในหอประชุมใหญ่ออกมายังประตูฝั่งสนามหลวง เดินมาไม่กี่ก้าวก็จะมีคนภายนอกมาลากตัวไป โดยที่เจ้าหน้าที่ทำอะไรไม่ได้ และไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ แต่ที่แน่ชัดคือคนกลุ่มนั้นไม่มีโอกาสพูดอะไรเลย เป็นเช่นนั้นอยู่ราว 4-5 คน จนเขาเริ่มเอะใจจึงเดินตามออกไปจนถึงพื้นที่สนามหลวง
ในขณะที่เล่าน้ำเสียงของปรีชาสะอึกเป็นช่วงๆ เมื่อหวนนึกถึงภาพคนที่ถูกลากและทุบตีไปตลอดทาง ก่อนที่เขาจะสามารถถ่ายภาพคนเอาไม้แหลมตอกเขาไปที่ร่างของที่นอนนิ่งอยู่ไว้ได้ 2 ภาพ “ผมถ่ายไปร้องไห้ไปนะ ความรู้สึกมันแย่มาก”
จากนั้นจึงถอนตัวกลับออกมายังพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเขาเองก็ไม่รู้ว่าผู้คนบริเวณนั้นจะหันมาเล่นงานเขาหรือไม่
“ตอนนั้นคนเจ็บที่ตำรวจเอาตัวออกมา เขาเจ็บมากอุทานได้แค่ ‘เอะ’ คนก็รุมตีหมดบอกคนแกว ไม่ใช่คนไทย พูดไทยไม่ได้ มันไม่ใช่ เขาเจ็บจนพูดไม่ออก” ปวิตรกล่าวเสริม โดยที่ช่างภาพทุกคนต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นผลมาจากวิทยุยานเกราะ และหนังสือพิมพ์ดาวสยามที่ปลุกระดมผู้คนมาตลอดหลายวันว่า มีอาวุธถูกส่งมาเก็บไว้ในอุโมงค์ใต้ธรรมศาสตร์ ซึ่งหลังเหตุการณ์สงบก็ไม่พบหลักฐานยืนยันว่าเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ข้อคำถามหนึ่งที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อย ว่าช่างภาพที่อยู่ในที่เกิดเหตุจะรับมือต่อผู้คนกำลังถูกทำร้ายได้อย่างไรนั้น “เราในฐานะสื่อ เราไม่รู้หรอกใครขวาใครซ้าย รู้แค่ว่าเหตุการณ์อยู่ตรงไหนเราอยู่ตรงนั้น” เป็นหลักการทำงานหนึ่งที่ปวิตรยึดถือ
เช่นเดียวกับสายัณห์ ที่อธิบายว่า ในการทำงานจะมีนักข่าวในพื้นที่อีกกลุ่มที่คอยตรวจสอบความถูกต้อง หน้าที่ของช่างภาพคือทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถนำภาพกลับไปยังสำนัก แม้จะไม่เคยถูกขัดขวางการถ่ายจากฝากใด แต่เขาก็ต้องหาวิธีเก็บฟิล์มที่ถ่ายไว้แล้วอย่างดี อีกทั้งทุกภาพที่ถ่ายไปจะต้องสามารถชี้แจงให้กองบรรณาธิการได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในรูปนั้น
“คนยิ้ม คนดีใจ คนเชียร์มีหมด ตอนนั้นมันถูกปลุกกระแสให้บ้าคลั่ง” เป็นสิ่งที่ปรีชาเห็นผ่านเลนส์ และสะเทือนใจที่ผู้คนถูกทำร้ายต่อหน้าต่อตา แต่สิ่งที่ช่างภาพทำหน้าที่ได้ภายใต้ข้อจัดคือ การบันทึกเรื่องราวให้ได้มากที่สุด
ทุกชัตเตอร์ที่ลั่นออกไปของบรรดาช่างภาพ ล้วนเต็มไปด้วยความตั้งใจในการบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยหน้าหนึ่ง แม้ในอดีตภาพเหล่านี้จะถูกเผยแพร่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพราะการรัฐประหารในเย็นวันนั้นได้ควบคุมการรายงานข่าวแทบทั้งหมด ส่งผลให้ภาพบางภาพยังคงถูกเก็บในลิ้นชักเพื่อรอการสืบค้นต่อไป