ท่ามกลางคนจำนวนมากที่แสดงออกทางสีหน้าในทางเอาใจช่วย เห็นด้วย และสะใจ มือสองข้างของชายคนนั้นจับเก้าอี้อย่างมั่นคง เป็นวินาทีของการโหมฟาดไปยังร่างไร้ลมหายใจที่ห้อยแขวนกับกิ่งของต้นมะขาม ณ ท้องสนามหลวง
ภาพถ่ายของ นีล อูเลวิช (Neal Ulevich) ช่างภาพชาวอเมริกันจากสำนักข่าวเอพี กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ที่ติดตาคนจำนวนมาก รายละเอียดของภาพเปิดเผยความโหดร้ายที่พ้นไปจากการคาดการณ์ เวลาไม่กี่ชั่วโมงของเช้าวันนั้น มีการใช้อาวุธสงครามเข้าล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเสียชีวิตแล้ว ศพเหล่านั้นยังถูกทารุณอย่างโหดเหี้ยม ทั้งการใช้ลิ่มไม้ตอกเข้าที่หน้าอก ลากศพไปบนพื้นสนามฟุตบอล และนำศพไปกองเผารวมกับยางรถยนต์ ฯลฯ
ลองนึกภาพว่า ถ้าคุณกำลังโกรธเกลียดใครอย่างถึงที่สุด ต่อให้บรรยากาศรอบตัวปลุกเร้าอารมณ์ขนาดไหน สิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่มนุษย์จะลงมือทำต่อกันหรือเปล่า
การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนในช่วงเวลานั้น เป้าหมายคือการขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร ที่เดินทางเข้าประเทศไทยขณะเป็นสามเณรเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ.2519 แล้วบวชพระที่วัดบวรนิเวศวิหารในวันเดียวกัน แต่ในสายตาของรัฐและกลุ่มจัดตั้งฝ่ายขวากลับมองว่า พวกเขาคือคอมมิวนิสต์ – ตัวร้ายที่จะมาทำลายสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทำให้สารพัดความโหดเหี้ยมถูกใช้ในนามของ ‘หน้าที่’ เมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และในเย็นวันนั้น คณะทหารนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ก็ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 สามารถมองได้จากหลายมุม ทั้งเหตุแห่งการรัฐประหาร อาชญากรรมรัฐ และประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมไทย แต่ไม่ว่าจะมองในมุมไหน หากได้ทบทวนความเป็นมาอย่างละเอียดแล้ว สิ่งที่พบคือ ความโกรธเกลียดไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและเป็นธรรมชาติ แต่คือการจงใจกล่อมเกลาจนผู้คนเชื่อเช่นนั้น …อย่างเป็นธรรมชาติ
บทสนทนาข้างล่างนี้ คือการทบทวนอดีตเพื่อเข้าใจความรุนแรงในเหตุการณ์ ‘6 ตุลาคม พ.ศ.2519’ โดยหวังว่าความเข้าใจจะเป็นบทเรียนเพื่อระมัดระวังสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้วในปัจจุบัน
ถ้าอยากเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เราควรตั้งต้นจากช่วงเวลาไหน
ถ้าเอาไม่ยาวมาก ก็ตั้งต้นจาก 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เพราะเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่เชื่อมโยงกัน ถ้าไม่เข้าใจ 14 ตุลาฯ ก็ไม่เข้าใจ 6 ตุลาฯ งานวิชาการกระแสหลักจะบอกว่า 3 ปีนั้นเป็นช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบานมากที่สุดช่วงหนึ่ง แต่ต้องมาสะดุดหยุดลงอีกครั้งจากการรัฐประหาร เป็นเลนส์ที่มอง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ไม่ได้แตกต่างจากครั้งอื่น
แต่มองแค่นั้นไม่ช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์เท่าไร เพราะ 6 ตุลาฯ มีลักษณะพิเศษ แม้ว่าตอนเย็นวันนั้นมีรัฐประหาร แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ ตอนเช้ามีการสังหารหมู่ด้วย เป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐที่โหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เลยมีอีกเลนส์ที่มองว่า 6 ตุลาฯ คือ อาชญากรรมรัฐ (state crime) ปกติแล้วรัฐคือองค์กรที่ควรปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของพลเมือง แต่เขากลับลุกขึ้นมาฆ่าพลเมือง แล้วเป็นการฆ่าอย่างเหี้ยมโหดที่ยากแก่การเข้าใจ พอมองแบบนี้ จุดโฟกัสจะไม่ใช่แค่การรัฐประหารที่ปิดฉากประชาธิปไตยแล้ว
นอกจากนั้น ยังมีอีกเลนส์ในการมองเหตุการณ์ งานของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งเป็นทั้งเหยื่อของเหตุการณ์ และนักประวัติศาสตร์ที่พยายามศึกษาเหตุการณ์ บอกว่า 6 ตุลาฯ คือประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมไทย จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยา ก่อนหน้านี้ถูกจัดการด้วยความเงียบ เป็นประเด็นต้องห้ามด้วยซ้ำ เวลาผ่านไป 20 ปีถึงจะพูดในที่สาธารณะได้ในงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาฯ ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาปริญญาตรี และอยู่ใน อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เลยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดงานด้วย ทำให้รู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มากขึ้น ผมเห็นคนรุ่นนั้นมาคุยกัน ยิ่งเข้าใจว่าเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของพวกเขายังไง
ดังนั้น 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ไม่ใช่แค่การรัฐประหาร ไม่ใช่แค่อาชญากรรมรัฐ เพราะรัฐใช้ความรุนแรงกับพลเมืองครั้งอื่นอีก เช่น กรณีถังแดง กรณีฆ่า 4 รัฐมนตรีอีสาน หรือกรณีตากใบ
แต่ 6 ตุลาฯ มีลักษณะเฉพาะ คำของ อ.ธงชัยคือ ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ เวลาผ่านมา 40 กว่าปี เรายังกระอักกระอ่วนที่จะพูดถึง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่มีบุคคลและสถาบันเกือบทุกสถาบันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้
ทำไมคำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ ถึงเป็นปีศาจในสมัยนั้น
ช่วงเวลานั้นเราอยู่ในยุคสงครามเย็น เป็นการต่อสู้กันของมหาอำนาจ 2 ฝ่าย คือ โลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และโลกคอมมิวนิสต์ที่นำโดยโซเวียตรัสเซียและจีน ประเทศไทยก็เข้าไปพัวพันด้วย เราเลือกเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. ตั้งแต่นั้นมา นโยบายหลักและอุดมการณ์หลักของรัฐไทย คือนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นศัตรูกับความเป็นชาติไทยมาตลอด
ไม่ใช่แค่นั้น นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ร่วมกับสหรัฐฯ ยังถูกนำมาใช้กล่าวหาและกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วย คนที่ถูกเล่นงานอาจเป็นหรือไม่เป็นคอมมิวนิสต์ก็ได้ ทั้งชาวนาที่เรียกร้องการปฏิรูปที่ดิน กรรมกรที่จัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม หรือนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ คือกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถนอมก็กล่าวหาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ทั้งที่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ยังไม่มีอิทธิพลในหมู่นักศึกษามากนัก มันเหมือนยาครอบจักรวาลที่ป้ายใครแล้วง่ายที่เขาจะกลายเป็นผู้ร้าย รัฐจับกุมคุมขังโดยไม่ต้องมีหลักฐานชัดเจน หรือแม้แต่สังหารเลย ชาวบ้านในพัทลุงจำนวนมากโดนสังหารโหด เอาลงถังน้ำมันแล้วจุดไฟเผา ก็มาจากการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นปีศาจเฉพาะกับบางประเทศใช่ไหม
ประเทศที่รับอุดมการณ์สังคมนิยมก็มองว่า คอมมิวนิสต์คือสังคมในอุดมคติ ขบวนการนักศึกษาในตะวันตกที่เติบโตมายุค ค.ศ.1960 ทั้งอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน ก็ได้แนวคิดจากสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เขามองเป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่งที่เน้นในเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากความเท่าเทียมกันในทางการเมือง คนเราควรเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจด้วย ไม่มีความเหลื่อมล้ำในแง่รายได้ คืออุดมการณ์ที่เสนอตัวมาแข่งขันกับทุนนิยม แต่ถูกสหรัฐฯ และประเทศบริวารวาดภาพให้เป็นปีศาจที่น่ากลัว
สมัยนั้นรัฐบอกว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์จะทำลายความเป็นชาติไทยอย่างไร
ส่วนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือชนชั้นนำในประเทศ เพราะสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์เป็นอุดมการณ์ที่สร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และทำลายการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ถ้าคุณเป็นคนชั้นล่างก็สนับสนุนอุดมการณ์นี้ มันดึงดูดคนหนุ่มสาว กรรมกร และชาวนา เพราะเป็นอุดมการณ์ที่สร้างสังคมในอุดมคติ คนจะเท่าเทียมกัน มันไปไกลกว่าประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่ตอบโจทย์แค่ความเท่าเทียมทางการเมือง ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมทำให้ผมกับเศรษฐีหมื่นล้านมีเสียงเท่ากัน แต่พอออกมานอกคูหา เรารู้ว่าตัวเองไม่ได้เท่ากับเศรษฐีหมื่นล้าน ไม่ได้มีอิทธิพลไปกำหนดนโยบาย แต่อุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ตอบโจทย์เรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจด้วย อันนี้พูดถึงตัวอุดมการณ์ล้วนๆ นะ เพราะการนำไปใช้จริงในโซเวียตรัสเซีย หรือจีนยุคเหมา เจ๋อตุง สุดท้ายก็กลายเป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่ง
สมัยนั้นคอมมิวนิสต์ถูกวาดภาพอย่างน่ากลัว อเมริกาก็มาช่วยผลิตเอกสารตั้งแต่ยุคจอมพล ป. ต่อเนื่องมาถึงสฤษดิ์และถนอม ทำออกมาเป็นแผ่นพับและโปสเตอร์ บอกว่าคอมมิวนิสต์จะทำลายสถาบันหลักของประเทศไทย คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คอมมิวนิสต์ไม่นับถือศาสนา ไปที่ไหนจะทำลายศาสนสถาน เผาวัด ฆ่าพระ คอมมิวนิสต์จะล้างสมองเด็ก จับคนไปเป็นแรงงานทาส ภาพของคอมมิวนิสต์เหมือนเป็นยักษ์เป็นมารเลย
ทำไมการป้ายสีขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ถึงทำไม่สำเร็จจนทหารต้องออกจากประเทศไป ขณะที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ทำสำเร็จจนเกิดการล้อมปราบ
ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เราอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารเข้มข้นของถนอมมาเป็นเวลานาน ปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีรัฐสภา ไม่มีการเลือกตั้ง และยุบพรรคการเมืองทั้งหมด นักศึกษาเลยเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหว ตอนนั้นโจทย์สำคัญคือการเอาทหารออกไปจากการเมือง คนในขบวนก็มีความหลากหลายทางความคิด กลุ่มไปทางซ้ายที่รับอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ถือเป็นกลุ่มเล็ก กระแสหลักตอนนั้นไปทางเสรีนิยม คือเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่อีกจำนวนมากเลยในตอนนั้น คือกระแสราชาชาตินิยม โดยมองว่าทหารเข้ามาคอร์รัปชั่น เป็นผู้นำที่ไม่ดี สถาบันกษัตริย์คือผู้นำทางการเมืองที่สูงส่งกว่า การเดินขบวนมีการใช้พระบรมฉายาลักษณ์ ใช้คำพูดของรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 มาโจมตีทหาร พล็อตคือประชาธิปไตยไทยได้มาจากสถาบันกษัตริย์ รัชกาลที่ 7 สละอำนาจเพื่อประชาชน แต่ทหารมายึดอำนาจไป
หลังจากเหตุการณ์นั้น นักศึกษาค่อยๆ มีพัฒนาการทางความคิด ถ้าใช้คำง่ายๆ ก็ ‘เอียงซ้าย’ มากขึ้น หันไปรับอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์มากขึ้น เกิดจาก 2 อย่าง คือ พวกเขาอ่านหนังสือมากขึ้น รับแนวคิดทฤษฎีมาจากการอ่าน และจากประสบการณ์โดยตรง อ.เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) บอกว่า นักศึกษาบางคนเป็นซ้ายไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่เคยอ่านแนวคิดทฤษฎีของมาร์กซิสม์ หรือ เหมา เจ๋อตุง ด้วยซ้ำ หลัง 14 ตุลาฯ นักศึกษาทำโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยไปในชนบท บางส่วนไปช่วยสร้างโรงเรียนและห้องสมุด ทำให้พบความเป็นจริงในชนบทว่า ยังมีคนจนที่จนมากๆ ขนาดไม่มีอะไรกิน ชาวบ้านโดนขูดรีด เด็กไม่ได้เข้าโรงเรียน บางหมู่บ้านน้ำไฟยังเข้าไม่ถึงเลย พวกเขาเลยต้องค่อยๆ แสวงหาคำตอบใหม่
ขบวนการเคลื่อนไหวค่อยๆ ขยับจากความเท่าเทียมทางการเมือง ไปสู่ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ นักศึกษาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเสียเปรียบจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ คือชาวนาและกรรมกร เกิดแนวร่วมสามประสาน นักศึกษาไม่ได้โดดเดี่ยวแล้ว ตอนนั้นแค่มีรัฐธรรมนูญและพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งไม่พอแล้ว แต่ต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมด้วย ปัญหาไม่ใช่แค่เผด็จการทหารแล้ว แต่ระบบทุนนิยมก็เป็นปัญหาด้วย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ชาวนาไม่มีที่ดินทำกิน เป็นหนี้สิน กรรมกรทำงานหนักแทบตาย แต่ถูกกดค่าแรงจากนายทุน ชีวิตไม่ดีขึ้นเลย
พอช่วยชาวนาเรียกร้องการปฏิรูปที่ดิน ก็ขัดแย้งกับนายทุนเจ้าที่ดินในชนบท พอช่วยกรรมกรจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม ก็ปะทะกับเจ้าของโรงงาน ทำให้นักศึกษาถูกเกลียดขี้หน้า ช่วงเวลานี้แหละ แนวคิดแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ก็ค่อยๆ เข้ามาในขบวนการนักศึกษา ช่วงนั้นในสภามีการจัดตั้งพรรคที่ไปในทางสังคมนิยมมากขึ้น การเลือกตั้งปี พ.ศ.2518 มี 3 พรรคที่ประกาศนโยบายเป็นพรรคสังคมนิยมชัดเจน คือ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคพลังใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นจัดตั้งพรรคไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่าทั้ง 3 พรรครวมกันได้เกือบ 40 ที่นั่ง ถือเป็นประวัติศาสตร์เลย ถือเป็นเรื่องช็อกสำหรับชนชั้นนำ
การเรียกร้องที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจกลายเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ใช่ ใครเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจก็ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เหมารวมไปเลย ตอนนั้นมีคำพูดว่า สังคมนิยมทุกชนิดคือคอมมิวนิสต์
ทั้งที่อุดมการณ์ควรถกเถียงกันได้ ทำไมสมัยนั้นไม่สามารถพูดถึงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้
สังคมไทยมีเพดานทางความคิด ยุคนั้นคอมมิวนิสต์คือศัตรูหลักของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ถูกปูพื้นมาตั้งแต่ปรีดี พนมยงค์ เขาก็เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แค่เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ เป็นข้อกล่าวหาที่ถูกใช้มาตั้งแต่ยังไม่มี พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ด้วยซ้ำไป
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มนุษย์เกลียดกันขนาดลงมือทำร้ายกัน หรือเห็นคนโดนทำร้าย เห็นศพถูกเผา แล้วยิ้มด้วยความยินดี สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ปกติถ้าเราโมโหกัน แล้วใช้ความรุนแรงอย่างฉับพลัน อย่างมากก็ต่อยกัน หรือตะลุมบอนกัน เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีการทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม ทารุณกรรมกับศพ เอาศพไปแขวนคอ เอาเก้าอี้ไปฟาด หลายคนยิ้มหัวเราะดีใจ มันเป็นเรื่องผิดปกติ ยิ่งกับคนไม่รู้จักกันมาก่อนด้วย สิ่งเหล่านั้นเกิดจากกระบวนการทางสังคมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำเป็นเวลานาน โดยรัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญ เหมือนกับตอนฮิตเลอร์ทำกับคนยิว เหมือนกับความรุนแรงในรวันดา มันโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนา ในทางวิชาการเรียกสิ่งนี้ว่า การลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization) ถ้าส่งสารไปในวงกว้างซ้ำๆ สุดท้ายคนจะเชื่อแบบนั้นจริงๆ
กระบวนการนี้ทำให้คนคิดต่างไม่อยู่ในสถานะที่เป็นมนุษย์อีกต่อไป แต่เป็นคนเลวชั่วช้าสามานย์ เลวผิดมนุษย์มนา กลายเป็นสิ่งที่ด้อยกว่ามนุษย์ เหมือนเป็นสัตว์ร้ายปีศาจ เหมือนเป็นเชื้อโรคที่น่ารังเกียจ เหมือนเป็นวัตถุสิ่งของ จนคนเริ่มเกิดความรู้สึกว่า ถ้าเรากำจัดคนเหล่านี้ออกไปชีวิตจะปลอดภัย ความรุนแรงในรวันดา ฮูตูจะฆ่าทุตซีก็ต้องทำให้อีกฝั่งกลายเป็นแมลงสาป ไม่ใช่มนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แต่เป็นสัตว์ที่สกปรก
ช่วงเวลานั้นรัฐทำให้คอมมิวนิสต์เป็นยักษ์มารปีศาจ คอมมิวนิสต์จะมาเผาวัด ฆ่าพระ เป็นพวกกินหมา บริโภคอาหารไม่เหมือนมนุษย์มนา บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาฯ ก็ให้ข่าวว่าเจอซากศพสุนัขเต็มไปหมดเลย เพื่อจะบอกว่าคนในนั้นกินหมา หรือพระกิตฺติวุฑฺโฒ บอกว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” หรือวาทกรรมหนักแผ่นดิน ก็คือกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ คนเหล่านั้นกำลังคิดร้ายทำลายชาติ ไม่มีคุณค่าความเป็นคน ถ้ากำจัดออกไปแผ่นดินจะสูงขึ้น
เป็นการให้ข้อมูลซ้ำๆ ผ่านวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ พอคนเห็นบ่อยก็เริ่มเชื่อตามนั้น
ใช่ แต่ไม่ใช่แค่สื่ออย่างเดียว ยังมีการอบรมกล่อมเกลาด้วย ตอนนั้นมีการจัดตั้งขบวนการฝ่ายขวา เช่น กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล ฯลฯ กลุ่มเหล่านี้มีสมาชิกรวมกัน 2-3 ล้านคน เป็นกลุ่มจัดตั้งที่ใหญ่โตมโหฬาร องค์กรสำคัญคือ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) สนับสนุนทรัพยากร เงิน สถานที่ในการอบรม ความคิดก็ไปขยายต่อเรื่อยๆ เหมือนการขายตรงเลย
ในการอบรมของลูกเสือชาวบ้าน คุณมีหน้าที่ไปหาสมาชิกเพิ่มอีก 3 คน ไม่งั้นความคิดไม่ขยายตัวออกไปเร็ว กลุ่มเหล่านั้นตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้กับแนวร่วมสามประสานของฝ่ายซ้าย เพราะเห็นว่ากลุ่มนี้มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นไม่สามารถทำรัฐประหารได้ทันที เพราะหลัง 14 ตุลาฯ กระแสประชาธิปไตยมาแรง คนต้องการเอาทหารออกไป ถ้าจะสู้กับนักศึกษา ชาวนา กรรมกร ก็ต้องจัดตั้งให้ดูเหมือนม็อบชนม็อบ สร้างสถานการณ์ให้วุ่นวาย ถึงจะรัฐประหารได้อย่างชอบธรรม เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่มาที่ไป แต่เกิดจากการวางแผน ทั้งผ่านทางสื่อและการจัดตั้ง
นอกจากการทำร้ายคนอื่นด้วยความกลัวว่า คนพวกนั้นจะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หลายคนยังออกไปทำร้ายคนอื่นในนามของความดีด้วย พระกิตฺติวุฑฺโฒบอกว่า “แม้จะฆ่าคนก็บาปเล็กน้อยแต่บุญกุศลได้มากกว่า เหมือนเราฆ่าปลา แกงใส่บาตรพระ ไอ้บาปมันก็มีหรอกที่ฆ่าปลา แต่เราใส่บาตรพระได้บุญมากกว่า” ศาสนากลายเป็นแรงจูงใจ ทั้งที่พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้ฆ่าคน ศีลข้อแรกก็บอกชัดเจนว่าเป็นบาป จุดที่พลิกความคิดของคนคืออะไร
ใช่ มันไม่ใช่แค่ฆ่าด้วยความกลัวหรือความเกลียด แต่มีการฆ่าด้วยความรักด้วย ฆ่าด้วยความรู้สึกว่า เรากำลังทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง เราเป็นฝ่ายธรรมะ ฝั่งนั้นคือฝ่ายอธรรม เราออกไปทำหน้าที่ที่ดีในนามของการปกป้องความเป็นไทย ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
สิ่งนี้เรียกว่าการเมืองแบบศีลธรรม คำว่าศีลธรรมดูไม่น่าจะรุนแรงใช่ไหม เพราะศีลข้อแรกก็บอกชัดเจนว่าห้ามฆ่าสัตว์ แต่เมื่อศีลธรรมมาผูกกับการเมืองและขบวนการทางการเมือง การเมืองแบบศีลธรรมอาจเป็นตัวเร้าให้เกิดความรุนแรงยิ่งกว่าอีก
การเมืองโดยทั่วไปคือการต่อรองผลประโยชน์ ถกเถียงทางความคิด ไม่มีใครถูกผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่าชาวนาเรียกร้องแล้วเลว ไม่ใช่เจ้าของโรงงานกดค่าแรงเป็นคนชั่วช้า ทุกคนก็ต่อสู้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ใครนำเสนอความคิดได้น่าเชื่อถือกว่าคนในสังคมก็สนับสนุน แต่เมื่อศาสนามาเกี่ยวข้อง ความดี-ความชั่ว ธรรมะ-อธรรม ขาว-ดำ เข้ามาผูกกับการเมือง มันเลยเป็นเรื่องอันตราย รัฐบอกว่า 6 ตุลาฯ คือการต่อสู้ของคนรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นคนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกฝั่งคือนักศึกษา ชาวนา กรรมกร เป็นคนเลวที่ทำลายชาติ พอสร้างภาพน่ากลัวมากๆ ไปถึงจุดหนึ่ง มันจะกลายเป็นความชอบธรรมในการกำจัดคนเลวด้วยวิธีอะไรก็ได้ ทำไปโดยไม่รู้สึกผิด มันพ้นไปจากการต่อรองผลประโยชน์แล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในขบวนการนักศึกษามีคนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เข้ามาจริงๆ นักศึกษาหลายคนก็มีอุดมการณ์ไปทางนั้นอย่างชัดเจน ถ้ารัฐมองว่าคอมมิวนิสต์คือภัยคุกคาม การปราบปรามเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไหม
เราต้องแยกระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ในฐานะขบวนการติดอาวุธที่สู้กับรัฐ ถ้าแบบนั้นก็เป็นสงครามกลางเมือง ต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงทั้งคู่ แต่ขบวนการนักศึกษาตอนนั้น โดยหลักยังเป็นขบวนการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีในเมือง แม้ว่าข้อเท็จจริงคือสมาชิก พคท. บางคนเข้ามาจัดตั้ง ติดต่อสร้างสายสัมพันธ์กันนักศึกษาในขบวนการ จนบางคนกลายเป็นสมาชิกพรรค แต่ไม่ใช่ว่านักศึกษาทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งกับ พคท. คนที่เกี่ยวข้องกับ พคท. ยังต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในขบวนการนักศึกษา บางครั้งเสนออะไรแล้วแพ้ด้วยซ้ำ ขบวนการนักศึกษายังมีความอิสระ ไม่ได้ถูกครอบงำโดย พคท. 100% หลายครั้งที่ พคท. อาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวของนักศึกษาด้วยซ้ำ หมายความว่าตอนนั้นยังเป็นการเคลื่อนไหวในนามนักศึกษา ไม่ใช่ขบวนการติดอาวุธ
ต่อให้นักศึกษาเชื่อยังไงก็ตาม สิ่งที่ทำคือการสื่อสารทางความคิด ไม่ใช่การหยิบปืนมาสู้
ใช่ เขาสู้ทางความคิด เรียกร้องให้เปลี่ยนกฎหมาย สู้ร่วมกับชาวนาเพื่อให้มีการปฏิรูปที่ดิน สู้ร่วมกับกรรมกรให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อค่าแรงที่เป็นธรรม ตอนถนอมกลับมาก็ชุมนุมให้ออกไป เหมือนกับการชุมนุมในปัจจุบันเลย เขาแค่ออกมาปราศรัยความคิดของตัวเอง ถ้าใครในขบวนทำผิดกฎหมาย เช่น การ์ดนักศึกษาพกอาวุธในที่สาธารณะ รัฐก็ต้องจับกุมคนนั้น ไม่ใช่เอาตำรวจตระเวนชายแดนและอาวุธสงครามมาสังหารหมู่ ไม่มีอะไรที่เป็นความชอบธรรมให้รัฐทำแบบนั้นได้เลย
ถ้าปล่อยให้อุดมการณ์นั้นเติบโตต่อไป มันจะไม่เลยเถิดเป็นการล้มล้างการปกครองเลยเหรอ
การที่รัฐนิยามว่าอุดมการณ์แบบไหนเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ ไม่ได้หมายความว่าเขาสามารถเอาระเบิดไปปา เอาปืนไปยิง หรือออกมาสังหารหมู่ ตราบใดที่คนนั้นยังไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย แค่อ่าน ศึกษา สมาทานอุดมการณ์แบบหนึ่ง ยังไม่ได้ตั้งกลุ่มกองกำลังติดอาวุธมาสู้กับรัฐ มันก็เป็นพัฒนาการแบบหนึ่ง ถ้าเรามองว่าเรื่องนี้คือความปกติ วันดีคืนดีรัฐอาจออกประกาศว่า อุดมการณ์แบบนั้นแบบนี้เป็นภัยต่อรัฐ ไม่ต้องเป็นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็ได้ แล้วรัฐก็ทำแบบเดียวกับ 6 ตุลาฯ
ตอนนั้นรัฐบอกว่าข้างในธรรมศาสตร์มีอาวุธสงคราม เลยเถิดไปว่ามีอุโมงค์ใต้ดินด้วย
ใช่ เขาก็สร้างสงครามข้อมูลข่าวสาร โฆษณาชวนเชื่อ แต่โดยหลักแล้ว ขบวนการนักศึกษาไม่ได้ติดอาวุธอะไรเลย อย่างมากก็มีการ์ดจำนวนหนึ่งพกปืน คุณก็ไปจับคนนั้นสิ มันไม่ได้ต่างจากเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือกปปส. เอาเข้าจริง ตอนขบวนการเสื้อสี การ์ดในที่ชุมนุมติดอาวุธกันอย่างมากมายและเปิดเผย ถึงได้มีมือปืนป๊อบคอร์นใช้อาวุธสงครามในที่สาธารณะเลย
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ผ่านไป ผู้กระทำบางคนเกิดความรู้สึกผิด ขณะที่ผู้กระทำบางคนยังคงภาคภูมิใจ คิดว่าปัจจัยที่ทำให้คนสองกลุ่มนี้คิดต่างกันคืออะไร
พอลงไปในรายปัจเจกก็คงแตกต่างกันไป อ.ธงชัยเคยไปสัมภาษณ์ฝ่ายขวาว่า ตอนนั้นคิดยังไง ความคิดเปลี่ยนไปยังไง ก็มีทั้งคนที่เปลี่ยนและไม่เปลี่ยน เวลาสี่สิบกว่าปียาวนานนะ คนที่เปลี่ยนอาจไปรับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ รวมถึงกระแสการเมืองในยุคหลังด้วย แต่คนที่ไม่เปลี่ยนก็จำนวนไม่น้อย อย่าลืมว่าอุดมการณ์ ‘ความเป็นไทย’ ที่แข็งแรงมากในตอนนั้น ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน คนจำนวนมากก็อยู่ภายใต้อุดมการณ์นี้
แล้วทำไมคนที่เคยเห็นด้วยกับอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เวลาผ่านไปถึงเปลี่ยนความเชื่อได้
อุดมการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงได้เสมอ มันคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เรารับเข้ามาในช่วงหนึ่งของชีวิต ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่กับอุดมการณ์นั้นไปตลอด ซ้ายเป็นขวา ขวาเป็นซ้าย ซ้ายหรือขวาเข้าหาอุดมการณ์ทางศาสนา หรือกลายเป็นกลุ่มที่ไม่สนใจการเมืองไปเลย แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ การเปลี่ยนจากซ้ายเป็นขวาของประเทศไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนในลักษณะ 360 องศา
ถ้าคนรุ่น 14 ตุลาฯ เปลี่ยน ผมไม่ค่อยแปลกใจ เพราะตอนนั้นขบวนการมีความหลากหลาย หลายคนไม่ได้ซ้ายมาก คนที่เราคิดว่าเปลี่ยน เอาจริงๆ เขาไม่ได้เปลี่ยนนะ แต่เป็นแบบนั้นมาตลอด เขาเรียกร้องรัฐธรรมนูญก็จริง แต่บางคนเป็นอนุรักษ์นิยม บางคนเป็นกษัตริย์นิยมด้วยซ้ำ แค่ออกมาต่อต้านทหารโดยใช้สถาบันกษัตริย์มาต่อต้าน ชัยชนะก็มาจากการโหนกระแสราชาชาตินิยม จุดยืนของหลายคนเลยเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ผมเคยเสนอไว้ในหนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ ว่า 14 ตุลาฯ เป็นโซเชียลมูฟเมนท์แรกที่เอาอุดมการณ์ราชาชาตินิยมมาใช้ในทางการเมือง หรือพูดภาษาปัจจุบันคือ เป็นขบวนการทางการเมืองที่โหนเจ้าอย่างเปิดเผย หลังจากนั้นพระราชอำนาจก็สูงเด่นขึ้น ถ้าเข้าใจแบบนี้แล้ว เราจะไม่แปลกใจว่าคนรุ่น 14 ตุลาฯ เปลี่ยนไป ซึ่งจริงๆ เขาไม่ได้เปลี่ยนหรอก
แต่ถ้าคนรุ่น 6 ตุลาฯ เปลี่ยนไป อันนี้ต้องอธิบายมากหน่อย โดยเฉพาะคนระดับแกนนำ คนที่อยู่ในเหตุการณ์แล้วรอดชีวิต คนจำนวนมากผิดหวังกับคนที่เปลี่ยน คุณเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นั้น บางคนเกือบตาย หรือบางคนมีเพื่อนตาย คุณต้องรู้สิว่าอุดมการณ์อะไรที่ผลักดันให้เพื่อนของคุณถูกฆ่า แต่คุณกลับทำให้อุดมการณ์นั้นเข้มแข็งขึ้น
ก่อน 6 ตุลาฯ ชัดเจนว่า กลุ่มขวาจัด นวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และฝ่ายรัฐ จงใจปลุกกระแสกษัตริย์นิยมมาสู้กับคอมมิวนิสต์ ในแง่สงครามวาทกรรมเลยเกิดคำกล่าวหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากละครแขวนคอ ไม่ว่าจะแต่งภาพ หรือบังเอิญแค่ไหนยังไง แต่หนึ่งปีก่อนหน้านั้นชัดเจนว่า ฝ่ายขวาได้ปลุกวาทกรรมกษัตริย์นิยมมาปราบปรามขบวนการนักศึกษา ทำให้เป็นขั้วตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์
พอจะวิเคราะห์ได้ไหมว่าเพราะอะไรถึงเปลี่ยน
(เงียบคิด) ผมมองว่ามี 2 แบบหลักๆ คือ หนึ่ง เปลี่ยนเพราะผลประโยชน์ คุณเห็นแล้วว่าอุดมการณ์ไหนที่ครอบงำ อยู่ฝ่ายนี้ไม่มีแรงเสียดทาน อาจได้ตำแหน่งอำนาจวาสนา งั้นอยู่ฝั่งผู้ชนะดีกว่า บางคนได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. เป็นคณะกรรมการปฏิรูป เข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระ หรือถ้าตั้งพรรคการเมือง การประกาศแนวทางนี้ คุณไม่มีทางโดนยุบพรรค บางคนได้เป็นรัฐมนตรี มันเห็นแล้วว่าง่ายกว่า ถ้าคุณเล่นการเมืองโดยโอนอ่อนไปตามอุดมการณ์หลักที่ครอบงำสังคม
สอง ผมว่ามีบางคนเปลี่ยนในทางความคิดและอุดมการณ์จริงๆ พอบอกแบบนี้ บางคนบอกว่าผมมองโลกในแง่ดี เพราะทุกคนที่เปลี่ยนเพราะผลประโยชน์ทั้งหมดแหละ แต่ผมคิดว่าบางคนเปลี่ยนทางความคิดจริงๆ เขาอาจวิเคราะห์ปัญหาสังคมไทยไปในทางที่เห็นว่า เราไม่สามารถออกจากแนวทางนี้ได้ งั้นประคับประคองให้อยู่ในแนวทางนี้ดีกว่า คนเหล่านี้แก่ตัวลงด้วย พออายุหกสิบเจ็บสิบ หลายคนก็เปลี่ยนเป็นอนุรักษ์นิยมไปตามวัย กลัวการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบถอนรากถอนโคน
ถ้ามองว่าจุดแตกหักคือหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม เพราะอะไรสถาบันกษัตริย์ถึงมีสถานะที่สูงส่งโดดไปไกลจากสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย จนกระทั่งคนจำนวนมากโกรธแค้นขนาดนั้น
มันคือกระบวนการอันยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 เป็นต้นมา สถาบันกษัตริย์เคยสูญเสียการควบคุมอำนาจรัฐตอนปี พ.ศ.2475 คณะราษฎรพยายามจะสร้างอุดมการณ์แบบใหม่ขึ้นมา เอาชาติไปผูกกับรัฐธรรมนูญ ทำให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีพิธีกรรมเฉลิมฉลอง แต่สุดท้ายทำไม่สำเร็จ รัฐธรรมนูญโดนฉีกมาตลอด จอมพล ป. ตอนที่แตกกับปรีดีแล้ว ก็พยายามสร้างอุดมการณ์อีกแบบ คือเอาทหารไปผูกกับชาติ แข่งกับราชาชาตินิยมโดยตรง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทหารถูกมองเป็นรั้วของชาติ ไม่ได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราถึงวิจารณ์ได้ พูดเรื่องปฏิรูปทหารได้
แต่หลังจากนั้นก็มีกระบวนการทางวัฒนธรรมและทางสังคมที่รื้อฟื้นพระราชอำนาจ และความศักดิ์สิทธิ์กลับดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ยุคสฤษดิ์ ที่ทำให้กระบวนการเข้มข้นขึ้น โดยสหรัฐเข้ามามีส่วนสำคัญ การจะสู้กับคอมมิวนิสต์ได้ ต้องสร้างศูนย์รวมจิตใจของความเป็นชาติ ก็ต้องกลับไปหาสถาบันที่มีความต่อเนื่องในเชิงประเพณี สหรัฐฯ มาเสนอแหละว่า สถาบันกษัตริย์อยู่ในฐานะที่จะเชิดชูเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติได้ดีที่สุด กระบวนการเลยถูกสร้างอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อ ผ่านโครงการต่างๆ ผ่านทุกอย่างที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งในหลักสูตรการศึกษา ในหนัง ในละคร ในเพลง ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นค่อยๆ ประกอบสร้างขึ้น พอปี พ.ศ.2535 เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ถึงจุดสูงสุดของพระราชอำนาจ สถาบันกษัตริย์กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสมือนเป็นศาสดาในศาสนา เท่ากับว่าการวิจารณ์เท่ากับการลบหลู่
ถ้าเทียบกับประเทศอื่นที่เป็นประชาธิปไตยและมีสถาบันกษัตริย์ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ สถานะของสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ใช่แบบนี้ ของเขาจะอยู่เหนือการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) เปิดโอกาสให้คนแสดงความคิดเห็นได้ ขณะที่สถาบันกษัตริย์ของไทยถูกทำให้อยู่ในสถานะที่ประชาชนและสื่อแสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์ไม่ได้ อภิปรายในทางวิชาการก็อาจถูกมองว่าผิด มันไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายห้ามไว้อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรมและความเชื่อด้วย
จริงๆ แล้ว ไม่ต้องเปรียบเทียบกับต่างประเทศก็ได้ ถ้าย้อนกลับไปในช่วงรัชกาลที่ 6 และ 7 ตอนนั้นประเทศไทยเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) แต่มีการวิพากษ์วิจารณ์และอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ เพดานเรื่องนี้ยังเปิดกว้างกว่าปัจจุบันด้วยซ้ำ หนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 คุณสามารถเขียนการ์ตูน เขียนบทบรรณาธิการ และเขียนข่าวที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือพระราชกรณียกิจต่างๆ ว่าดีหรือไม่ดี
สถานะของสถาบันกษัตริย์แบบในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่มีมายาวนานแล้วเหรอ
มันเป็นภาวะใหม่ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 รัชกาลที่ 6 และ 7 โดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะแยะ ทั้งจากพ่อค้า ข้าราชการ และหนังสือพิมพ์ ช่วงปี พ.ศ.2475-2500 ก็มีการอภิปรายถึงสถานะ บทบาท และพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในรัฐสภาและรัฐธรรมนูญว่าควรเป็นเช่นไร ประเด็นเหล่านี้สามารถหาอ่านได้จากงานของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เรื่องการปฏิวัติสยาม 2475 งานของ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง และงาน อ.ณัฐพล ใจจริง ก็จะตอบคำถามนี้ได้ชัดเจน ทั้งในเล่ม ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และเล่ม ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ.2491-2500
เวลาประชาชนพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะ ต่อให้ใช้ถ้อยคำสุภาพ ถ้าเนื้อหามีคำวิพากษ์วิจารณ์บ้าง เราจะเสียงเบาลงทันที บางครั้งต้องหันซ้ายหันขวา แล้วค่อยพูดออกมา ภาวะนี้มีอะไรมากกว่ากลัวติดคุกไหม
ทุกคนเติบโตมาด้วยการถูกกล่อมเกลาภายใต้อุดมการณ์ครอบงำเดียวกัน ถ้าคุณอยากปกครองและควบคุมคนได้ยาวนาน คุณใช้กำลังอย่างเดียวไม่ได้ กฎหมายก็อาจไม่เพียงพอ การควบคุมที่ทรงพลังที่สุด คือการควบคุมทางความคิด ถ้าทำให้คนอื่นยอมรับนับถือทางความคิด ไม่ตั้งคำถาม ยอมทำตาม อันนั้นคืออำนาจที่ทรงพลังที่สุด
ในสังคมไทย อุดมการณ์ที่ครอบงำคือ ราชาชาตินิยม ที่ผูกสถาบันกษัตริย์กับความเป็นชาติไว้ด้วยกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ รวมถึงมีกระบวนการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ด้วย ตรงนี้แหละที่ใช้เวลายาวนาน แต่พอทำสำเร็จ เรามองไม่เห็นการทำงานเชิงอำนาจ ทุกคนเติบโตมาภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน อยู่ในทุกอณูของชีวิต ในโรงเรียน ในครอบครัว ในข่าว ในพิธีกรรมต่างๆ จนไม่มีใครตั้งคำถามอีกต่อไป คนในสังคมมองเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่เห็นความเป็นการเมืองของสิ่งนี้ ถ้าใครลุกขึ้นมาพูดอะไรต่างออกไป เราจะรู้สึกทันทีว่า คนเหล่านี้ผิดปกติ คนเพี้ยน คนนอกรีต เช่น อาจารย์สุลักษณ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) อาจารย์สมศักดิ์ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล)
สิ่งนี้เปลี่ยนแปลงได้ไหม
ถ้าพูดแบบนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมประเพณีทุกอย่างเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อรองรับการดำรงอยู่ร่วมกันของสังคมในแต่ละยุคสมัย ถ้ายุคสมัยเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ก็ปรับเปลี่ยนตามได้ สิ่งนี้แหละที่ทำให้สังคมเติบโตและก้าวหน้าไปได้
คำว่า ‘อาชญากรรมรัฐ’ คนที่ต้องรับผิดชอบในสถานการณ์นั้นๆ คือใคร
ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เราไม่มีการสืบหาความจริงอย่างเป็นทางการเลย ที่เคยมีก็กลับหัวกลับหาง การดำเนินคดีในศาล ฝ่ายเหยื่อของความรุนแรง คือนักศึกษาในธรรมศาสตร์ กลับถูกดำเนินคดี ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรง กลายเป็นจำเลยในเหตุการณ์ ต้องมาต่อสู้คดี ไม่ใช่แค่ 6 ตุลาฯ หรอก ทุกเหตุการณ์ในประเทศไทยยังไม่เคยนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลย แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราต้องสอบสวนหาความจริงก่อน ซึ่งก็ไม่มีอีก เท่าที่มีคือประชาชน นักวิจัย และนักวิชาการอิสระพยายามสืบค้นหาความจริงกันเอง
รัฐไม่เคยตั้งกรรมการเรียกคนมาสอบสวน เอาเอกสารมาเปิดเผย เพื่อหาคำตอบว่า วันนั้นใครสั่งกันแน่ ทำไมต้องเป็น ตชด. (ตำรวจตระเวนชายแดน) ทั้งที่เหตุการณ์เกิดที่ธรรมศาสตร์ แต่เอาตำรวจที่อยู่ห่างไกลมา ตอนนั้นเผลอๆ รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นหุ่นเชิด ไม่ได้มีอำนาจแท้จริง เพราะตัวเองก็โดนรัฐประหาร วันที่ 6 ตุลาฯ ม.ร.ว. เสนีย์เรียกแกนนำนักศึกษาเข้าไปเจรจาแล้ว แต่สุดท้ายการเจรจาไม่เกิดขึ้น แสดงว่าตำรวจไม่ฟังรัฐบาลแล้ว มีผู้มีอำนาจอื่นที่สั่งกลไกรัฐได้ แต่ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปัตย์ ตอนนั้นลูกเสือชาวบ้านฟังคำสั่งใคร แม้แต่กลุ่มคนที่สังหารหมู่ตอนเช้าก็ไม่ใช่กลุ่มที่รัฐประหารตอนเย็น ฯลฯ แค่ข้อเท็จจริงวันนั้นก็ต้องมีกระบวนการค้นหาความจริง ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน
ทำไมถึงไม่มีกระบวนการค้นหาความจริง
ก็ไม่มีทุกเหตุการณ์แหละ 14 ตุลาฯ ก็ไม่มี พฤษภาทมิฬก็ไม่มี 2 เหตุการณ์นั้นง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะมีชนชั้นนำหลายกลุ่ม ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางวัฒนธรรมประเพณี และทางราชการที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้น หลายคนยังมีชีวิตอยู่ และมีอำนาจวาสนาจนถึงปัจจุบัน การรื้อฟื้นเหตุการณ์คือการรื้อฟื้นบาดแผลของคนเหล่านั้นทั้งหมด
มีโอกาสที่การหาความจริงจะเกิดขึ้นได้ไหม
มันเกิดขึ้นได้ เราต้องมีความหวัง ประเทศอื่นๆ ก็เคยเกิดขึ้น แค่ต้องใช้เวลา สถานการณ์ต้องเปิด เกิดการเปลี่ยนแปลง บางประเทศกว่าจะได้สืบสวนหาความจริง เวลาผ่านไปหลายสิบปีก็มี เขมรแดงเกิดขึ้นใกล้กับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันโหดเหี้ยมมาก ฆ่าคนตายไปสองล้านกว่าคน ก็เพิ่งมาตั้งศาลเพื่อค้นหาความจริงในช่วงสิบปีนี้เอง พูดง่ายๆ ว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางโครงสร้างอำนาจก่อน คือคนเหล่านั้นหมดอำนาจหรือไม่อยู่ในสถานะที่ครอบงำแล้ว
ที่ผ่านมาเราซีเรียสกับการคอร์รัปชั่นเรื่องเงิน แต่เรากลับไม่ซีเรียสกับการคอรัปชั่นทางการเมือง หรือการใช้อำนาจที่ละเมิดชีวิตคน ปล่อยให้คนเสียชีวิตไม่รู้กี่เหตุการณ์แล้ว ไม่เคยมีใครต้องรับผิด แต่ผมว่ามันกำลังเปลี่ยนไป เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่กลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ เห็นเลยว่าคนจำนวนมากกำลังตื่นตัวเรื่องเหล่านี้
เพราะอะไรคนรุ่นใหม่ถึงตื่นตัวเรื่องประวัติศาสตร์ อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็พูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างมาก
มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึก การให้คุณค่ากับอดีต ซีเรียสเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องความรุนแรงโดยรัฐ เกือบทุกเวทีของนักศึกษาจะพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พูดถึงการปราบปรามคนเสื้อแดง เวทีที่มหาวิทยาลัยมหิดลเอาชื่อศิษย์เก่าที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาอ่านบนเวที ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเลย เหมือนเขามาทวงความยุติธรรมให้คนที่ถูกหลงลืม หรือถูกทำให้หายไปโดยรัฐ หลายคนกลับมาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์หนักๆ เมื่อก่อนเว็บไซต์ 6 ตุลา (https://doct6.com/) ไม่ค่อยมีคนเข้ามากนัก แต่กระแสนักศึกษาในช่วง 1-2 ปีนี้ ทำให้คนเข้าเว็บมากขึ้น
อินเทอร์เน็ตทำให้โลกของความรู้เปิดกว้าง ถ้าเราเป็นขบถในสมัยก่อน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็จำกัด อยากหาข้อมูลแตกต่างจากรัฐก็ต้องเข้าห้องสมุด หรือขวนขวายหน่อยก็ต้องไปตลาดหนังสือเก่าที่จตุจักร เพื่อหาอ่านหนังสือต้องห้ามต่างๆ แต่ในปัจจุบันสามารถหาได้ทันที เด็กรุ่นใหม่ได้ยินชื่อใครที่ไม่รู้จัก เขาพิมพ์หาเลย อีกอย่างคือช่วง 10-20 ปีมานี้ งานวิชาการประวัติศาสตร์กระแสทวนมีมากขึ้น นักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ทำงานออกมา เด็กก็ได้รับรู้มากขึ้น แต่สำคัญที่สุดเลย คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หลายปริศนาถูกตั้งคำถาม ทำไมอยู่ๆ มาถอนหมุดคณะราษฎร อยู่ๆ มาย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช ฯลฯ มันยิ่งกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่อยากรู้ แล้วเขาก็ไปหาคำตอบ
คำพูดว่า ‘ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์’ ยังเป็นจริงในยุคสมัยที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายแบบนี้ไหม
ไม่เหมือนเดิมแล้ว ประโยคนี้เป็นจริงก่อนที่โซเชียลมีเดียจะเฟื่องฟู แม้ว่าผู้ชนะจะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์หลัก แต่ประวัติศาสตร์นั้นจะถูกท้าทายตลอดเวลา เพราะผู้แพ้มีเครื่องมือในการเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง แม้ไม่สามารถแทนที่ชุดประวัติศาสตร์เดิมได้ทั้งหมด แต่มีการท้าทายอยู่ตลอดเวลา ถึงวันหนึ่งบางเรื่องก็จะพังทลายลง ยิ่งถ้าประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่คิดจะปรับตัวเลย คุณไม่สามารถใช้ชุดความจริงหนึ่งเดียวมาทำให้ทุกคนเชื่อได้อีกต่อไปแล้ว แม้คุณจะพยายามทำอย่างนั้น แต่ประชาชนก็สู้กลับได้
ทำไมวิธีการที่รัฐเคยใช้ในอดีต ถึงยังถูกใช้ในปัจจุบัน ทั้งที่หลายอย่างก็ฟังไม่ขึ้นแล้ว
เขาก็ปรับตัวค่อนข้างช้า ถ้ากลับไปศึกษาวาทกรรมในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คุณจะเห็นว่าสิ่งที่ฝ่ายขวาหรือรัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบัน คือการผลิตซ้ำทั้งนั้น สมัยนั้นใช้คำว่า ทรยศชาติ ขายชาติ ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ สมัยนี้ก็ชังชาติ หรือคำว่าเป็นสมุนของต่างชาติมาล้มล้างประเทศไทย ก็มีตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ตอนนั้นเป็นสมุนของจีนและคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันเป็นสมุนอเมริกา ซีไอเอ หรือจอร์จ โซรอส คนที่ออกมาชุมนุมถูกชักใย มีท่อน้ำเลี้ยง เชื่อมโยงเป็นกลุ่มขบวนการ คิดร้ายทำลายชาติ หมิ่นสถาบันเบื้องสูง เป็นการผลิตซ้ำทั้งสิ้น หรือแนวคิดจัดตั้งกลุ่มฝ่ายขวาแบบม็อบชนม็อบ ก็ไม่ได้ต่างกัน ตอนนั้นปลุกขึ้น ความเกลียดชังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้ปลุกไม่ค่อยขึ้นแล้ว
สังคมในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว คอมมิวนิสต์ก็ไม่มี คุณจะเอาข้อกล่าวหาไหนมาใช้ คนตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนกันมากขึ้น หลายคนตระหนักแล้วว่า ต่อให้ความคิดต่างกันแค่ไหน การปราบปรามคนอื่นด้วยการใช้กำลังเป็นสิ่งที่ผิด แค่คิดต่างต้องไม่ถึงขั้นโดนฆ่าเสียชีวิต พอมีการจับกุมนักศึกษา คนมีชื่อเสียงทางสังคมในหลายวงการออกมาเป็นแนวต้าน มันสะท้อนว่าคุณค่าเรื่องพวกนี้ขยายตัวไปมาก
ในปัจจุบันมีคำว่า ‘ตาสว่าง’ คนรุ่นใหม่จำนวนมากออกมาต่อสู้ในแนวทางสันติวิธี ช่วงปีที่ผ่านมาก็งอกงามจนผู้คนมีความหวังถึงการเปลี่ยนแปลง แต่พอต้องเจอกับสถานการณ์โควิด เจออำนาจรัฐที่มีกำลังอาวุธเข้าจัดการ รวมไปถึงกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการครองอำนาจ ปรากฏการณ์ที่เคยมีความหวังก็เลวแผ่วลงไป อาจารย์มองพลังสองกลุ่มนี้ยังไง ระหว่างทางจะเจอกับอะไรบ้าง ปลายทางจะไปสู้การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างที่หลายคนคาดหวังหรือเปล่า
(เงียบคิด) ไม่มีใครตอบล่วงหน้าได้ว่าทุกอย่างจะคลี่คลายไปยังไง มันเป็นเรื่องของอนาคต ประวัติศาสตร์โลกเป็นแบบนี้เสมอ เราไม่รู้ว่าฝ่ายไหนจะชนะหรือแพ้ ก่อนโซเวียตล่มสลายก็ไม่มีใครคิดมาก่อน ก่อนจะมีขบวนการมาร์ติน ลูเตอร์ คิง จูเนียร์ มาเรียกร้องสิทธิคนผิวดำ ก็ไม่มีใครคิดว่าคนจะออกมาเป็นล้านคน จนรัฐต้องมองสิทธิความเท่าเทียมให้กับคนผิวดำ ในยุคหนึ่งการมีทาสก็เป็นเรื่องปกติ ใครจะไปคิดว่าจะมีการทำสงครามต่อสู้การปลดปล่อยทาสได้สำเร็จ แม้แต่ประเทศตะวันตกยังไม่ให้สิทธิเลือกตั้งกับผู้หญิง ทุกคนมองเป็นเรื่องปกติ จนวันหนึ่งความคิดคนในสังคมเปลี่ยน ก็เกิดการเปลี่ยนในทางกฎหมายและการเมืองในท้ายที่สุด
การคลี่คลายตัวของประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า แต่เราเห็นสัญญาณได้ ก่อนการเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมาย ในทางสถาบันทางการเมือง หรืออะไรที่เป็นรูปธรรม ต้องเริ่มจากความคิดและวัฒนธรรมก่อนเสมอ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ความคิดของคนในบ้านเราขยับไปไกลแล้ว เพียงแต่การเมืองในรัฐสภายังตามไม่ทัน กองทัพยิ่งไม่ต้องพูดถึง มันล้าหลังกว่าความคิดของคนในสังคม สังคมก็ตึงเครียดแบบนี้ไปเรื่อยๆ ต้องต่อสู้กันไป
ถ้ามองการประท้วงทั่วโลกในสถานการณ์โควิด บ้านเราถือว่าน่าทึ่งแล้ว รัฐบาลบราซิลล้มเหลวในการจัดการโควิดมาก แต่คนก็ประท้วงใหญ่ได้แค่ไม่กี่ครั้ง นัดกันแล้วหายไปเป็นเดือน เพราะการประท้วงใช้แรง ทรัพยากร ความทุ่มเทของประชาชน หลายประเทศก็พ่ายแพ้ไปแล้ว โดนปราบปราม ประชาชนก็เหนื่อยล้า ของเราเวลาผ่านไปเป็นปีกว่า แม้กำลังจะอ่อนล้าไปบ้าง แต่ประชาชนก็ยังไม่ได้พ่ายแพ้ มีชุมนุมอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีกว่า เคสบ้านเราถูกไฮไลท์ไปทั่วโลก ท่ามกลางการถูกปราบปราม ทำไมคนหนุ่มสาวของประเทศไทยถึงต่อสู้ได้อึดและยาวนานขนาดนี้
แล้วการต่อสู้โดยปราศจากอาวุธกับรัฐที่มีปืนและอำนาจ มันจะนำไปสู่การรับฟังกันได้ยังไง
การรับฟังก็ขึ้นกับผู้มีอำนาจเป็นหลัก พอเขาอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าทุกด้าน ถ้ายอมปรับตัวบ้าง เห็นแก่อนาคตของชาติบ้านเมืองบ้าง ผู้นำต้องเป็นฝ่ายฟัง ประชาชนเป็นคนเรียกร้อง รัฐบาลก็ดำรงอยู่เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ให้ประชาชน แก้ปัญหาให้ประชาชน เราก็ต้องเรียกร้องจากฝ่ายรัฐเป็นหลัก
กรณีดินแดง หลายคนไปพูดคุยแล้วเห็นว่า เป็นความคับข้องใจทางเศรษฐกิจ ลูกหลานคนจนเมืองที่ตกงาน ขาดรายได้ เข้าไม่ถึงวัคซีน ถ้ารัฐฉลาดหน่อย ก็ต้องไม่ไปแจกกระสุนยาง แต่ต้องรีบเยียวยาวพวกเขา บรรเทาความเดือดร้อน เร่งฉีดวัคซีน แต่ถ้าคุณคิดว่า กระสุน แก๊สน้ำตา ขับรถพุ่งชน จะทำให้สังคมเกิดความสงบได้ แสดงว่ารัฐไม่เข้าใจปัญหา คุณปราบเขาได้ในทางกายภาพ แต่ไม่ได้ลดความโกรธเลย วันหนึ่งปัญหาก็ปะทุขึ้นมาอีก
การเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จะช่วยให้เราเข้าใจการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างไร
หลายมิติเลย หนึ่ง การทำงานของอุดมการณ์ เราจะเห็นว่าถ้าถูกปลุกปั่นเพียงพอ อุดมการณ์ฆ่าคนได้จริงๆ สอง เราจะไม่ดูเบากระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ มันมีพลังในการทำให้คนใช้ความรุนแรงต่อกันได้ และสาม 6 ตุลาฯ เป็นรอยด่างและด้านมืดของรัฐไทยและชนชั้นนำไทย การศึกษาเหตุการณ์นี้จะทำให้เข้าใจมายาคติของชนชั้นนำไทย รัฐพยายามทำทุกอย่างเพื่อควบคุมความคิดคน แต่พอคุณใช้อำนาจและความรุนแรงเกินไป มันกลายเป็นรอยด่างกับคำว่า สยามเมืองยิ้ม คนไทยอยู่กันอย่างสามัคคี ฯลฯ ถ้าคุณศึกษาเรื่อง 6 ตุลาฯ และรู้ความจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ คุณจะเห็นด้านที่โหดร้ายของชนชั้นนำไทย
เห็นแล้วยังไงต่อ
อย่างน้อยก็ทำให้เราหลุดจากพันธนาการของโฆษณาชวนเชื่อ ถ้าหลุดออกไปได้ มันจะพาคุณไปเห็นความจริงอีกชุด พาคุณเข้าไปสู่ในอีกโลก ส่วนทางข้างหน้าจะไปยังไงต่อ คงขึ้นกับแต่ละคน
มีโอกาสไหมที่การล้อมปราบแบบ 6 ตุลาฯ จะเกิดขึ้นอีกครั้ง
มันมีโอกาสเสมอในสังคมแบบสังคมไทย เพราะเชื้อมูลหรือวัตถุดิบที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงอยู่ตรงนั้นเสมอ ซึ่งก็คือ วัฒนธรรมที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนแล้วไม่ต้องรับผิด หรือที่เรียกว่า วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ไม่เคยมีผู้นำรัฐถูกเอาตัวมาขึ้นศาลหรือรับผิดจากการกระทำนั้น ในรัฐแบบนี้ ถ้าคุณเป็นผู้มีอำนาจ ต้นทุนในการปราบปรามประชาชนต่ำมาก มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ จอมพลถนอมก็ทำ พลเอกสุจินดาก็ทำ ใครๆ ก็ทำ ไม่ต้องมาขึ้นศาล คนทำแบบเดียวกันไม่ต้องคิดเยอะมาก ทำแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ
ต่างจากในเยอรมันหรือเกาหลีใต้ ถ้าคุณเอาผู้นำรัฐที่ปราบปรามประชาชนมาขึ้นศาลได้ นายพลรุ่นหลังๆ ก็ต้องหวั่นกลัว ทำความรุนแรงต่อประชาชนมีต้นทุนสูง มีราคาที่ต้องจ่าย รวมไปถึงวัฒนธรรมของสื่อที่นิยมอำนาจรัฐ ไม่ได้เห็นคุณค่าชีวิตคน ยุค 6 ตุลาฯ เรามีวิทยุยานเกราะ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ปัจจุบันก็มีสื่อที่ยุยงปลุกปั่น กำจัดเลยพวกชังชาติ โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อทุกคนก็รู้ว่าคือใคร กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ถ่วงดุลอำนาจรัฐ อัยการหรือศาลก็ไม่มายับยั้งรัฐ ปล่อยให้ใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ถ้าอัยการและศาลไม่ทำหน้าที่ถ่วงดุลรัฐ คอยเบรค ก็จะยิ่งอันตราย
ขอถามคำถามเชยๆ ว่า ทำยังไงให้เหตุการณ์แบบ 6 ตุลาฯ ถึงจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
ก็ตอบแบบเชยๆ เหมือนกันว่า เราต้องเรียนรู้ จดจำ และถอดบทเรียนจากอดีตให้ได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ยังไง ใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมายขนาดไหน เสียงของเหยื่อ เสียงของครอบครัว เรื่องราวเหล่านี้ก็เล่าไปเถอะ อย่าไปเบื่อ อย่าไปคิดว่า ปีนี้เราพูดแล้ว ปีหน้าไม่ต้องพูด เราต้องทำมันไปเรื่อยๆ ทำไปทุกปี รำลึก จดจำ และบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ยังมีคนไม่รู้เรื่องอีกเยอะ แม้แต่ข้อมูลพื้นฐานว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หลายคนก็ยังไม่รู้เลย มันคือหน้าที่ของเราที่จะบอกเล่า
ตราบที่เรายังมีแรง ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ก็ต้องเล่าเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ เล่าไปจนถึงวันที่ไม่ต้องเล่าแล้ว มันเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของทุกคน ทุกคนรู้จักกันแล้ว วันนั้นถือว่าเราทำสำเร็จกันแล้ว
*บทสัมภาษณ์นี้บางส่วนเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘มนุษย์ 6 ตุลา’ เมื่อปี พ.ศ.2563 และเพิ่มเติมเนื้อหาอีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ.2564