“ตอนขึ้นป่ายากลำบากยังไงก็ตาม แต่ชีวิตมันมีความฝัน มีอุดมการณ์แรงกล้า จะกินข้าวปนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปนมัน กินได้หมด ยิ่งเห็นเพื่อนตายเห็นคนบาดเจ็บเรายิ่งต้องสู้ ไม่เหมือนตอนที่ลงมาหดหู่ที่สุดแล้ว ชีวิตมันเคว้งคว้างแล้ว ไม่ใช่แค่เสียเวลาชีวิต แต่เสียไปทั้งชีวิต”
คำบอกเล่าของ อธึกกิต แสวงสุข ที่หลายคนรู้จักในนาม ‘ใบตองแห้ง’ คอลัมนิสต์ที่คร่ำหวอดในแวดวงสื่อมวลชนมานาน กำลังบอกเล่าช่วงเวลาของการปรับตัวจากป่ากลับสู่เมือง ในฐานะ ‘คนเดือนตุลาฯ’ ที่หนักหนาที่สุดจนไม่มีวันหล่นหายจากความจำได้
หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่า เขาเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ ‘เข้าป่า’ ร่วมกับแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และกลับออกมาแทบจะเป็นกลุ่มสุดท้าย ราวปี พ.ศ.2525
ในโอกาสรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ The MATTER ไปพูดคุยกับอธึกกิต ถึงความทรงจำครั้งเป็นสหาย และเหตุผลว่าทำไม 6 ตุลาฯ ถึงยังคงเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัย ที่คนรุ่นใหม่ซึ่งยังใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า ใช้ถอดบทเรียนได้
เริ่มสนใจการบ้านการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่
ย้อนไปตอน 14 ตุลาฯ พ.ศ.2516 ผมยังเรียน มศ.5 เตรียมอุดมฯ อยู่เลย มีเพื่อนชวนไปตอนชุมนุมอยู่วันนึง เราอาจจะยังไม่ได้สนใจเท่าไหร่ แต่ด้วยธรรมชาติเด็กรุ่นนั้นมันก็สนับสนุนนั่นแหละ จนถัดมาปีนึงขึ้นปี 1 สอบติดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บังเอิญอีกว่าเพื่อนที่สนิทกันตั้งแต่อยู่เตรียมอุดมฯ เข้าชวนให้ไปอยู่ชุมนุมวรรณศิลป์
ตอนนั้นชุมนุมวรรณศิลป์เขาเป็นคนจัดพวกนิทรรศการจีนแดง จัดนิทรรศการวัฒนธรรม นิทรรศการเพื่อชีวิตบ้างเพื่อประชาชนบ้าง เราก็อยู่ทำกิจกรรมชุมนุมแบบเต็มที่ราว 2 ปีกว่า ตอนนั้นผมเป็นพวกที่ทำกิจกรรมจนไม่สนใจเรียนเลย เพราะมีทั้งเดินขบวนเคลื่อนไหวของชาวนา กรรมกร เราก็เข้าอยู่กับขบวนการนักศึกษาเต็มตัว จนมาเกิด 6 ตุลาฯ ถ้าตอนนั้นมีสอบผมก็รีไทร์ (หัวเราะ)
อยู่ที่ไหนตอนตำรวจล้อม มธ. วันที่ 6 ตุลาฯ
คนในชุมนุมตอนนั้นอยู่ด้วยกันเกือบหมด พอเริ่มมีเสียงปืนคนก็แตกเข้าตึกบัญชี เพื่อนผมที่เป็นรองประธานชุมนุมวรรณศิลป์ ‘อนุวัตร อ่างแก้ว’ ก็นำถีบประตูเข้าไป แต่สุดท้ายเขาก็โดนยิงเสียชีวิต ตอนนั้นผมก็เข้าไปอยู่ข้างในคิดว่าตายแน่ เพราะเสียงปืนยิงเข้ามาตลอด จนมีทหารเข้ามาซัดปืนเข้าตรงอกไล่ให้ออกมานอนเรียงถอดเสื้อกลางสนามฟุตบอล แล้วค่อยเอาขึ้นรถไปที่โรงเรียนตำรวจบางเขน
พอถูกเอามาขังอยู่สัก 2-3 วัน ที่บ้านก็ประกันตัวออกมา เขาก็เอากลับไปอยู่บ้านที่โคราช แล้วก็ค่อยส่งจดหมายมาลาออกที่ มธ. ไม่ได้เรียนต่อแล้ว อยู่บ้านพักใหญ่ถึงได้มาสอบเอนทรานซ์ใหม่ ได้วิศวะ จุฬาฯ เรียนอยู่ปีครึ่งก็รู้แล้วว่าไม่ใช่ทางเรา ไม่มีใจอยากเรียนเลย
ดูชีวิตก็เหมือนกำลังจะเข้าที่เข้าทาง ทำไมถึงคิดจะเข้าป่า
ช่วงถูกปล่อยตัว 6 ตุลาฯ แรกๆ ผมติดต่อใครไม่ได้เลย แต่ก็รู้ว่ามีเพื่อนๆ กันทยอยเข้าป่า จนมีเพื่อนอีกคนที่เป็นรองนายก อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เขาก็ถูกจับตั้งแต่ 6 ตุลาฯ ได้ปล่อยเป็นรุ่นสุดท้าย ก่อนชุดที่จะเหลือ 18 ผู้ต้องหาที่มีธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฯลฯ เขาออกมาก็เลยมาชวนว่าไปกัน
ตอนแรกผมก็ยังลังเลว่า เราจะเข้า-ไม่เข้าดี แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเข้าป่า เพราะเรามีความรู้สึกว่าถ้าเราไม่เข้าป่า ชีวิตเราเหมือนยอมแพ้ เหมือนยอมจำนน เราจะมองหน้าตัวเองไม่ได้ตลอดชีวิต
ผมก็เข้าไปอยู่ที่โซนภาคเหนือ ทางเขต 8 เชียงราย ภูชี้ฟ้า ตรงนั้นคนเยอะแต่พื้นที่น้อย มันเป็นจุดผ่านทางที่เข้าไปลาวได้ เสบียงก็พร้อมเขาเลยใช้เป็นฐาน
นักศึกษาส่วนใหญ่ช่วงแรกเข้าป่าทางใต้กัน เพราะเป็นเขตอิทธิพลใหญ่ ทันทีที่ลงรถไฟตรงนาสาร (จ.สุราษฎร์ธานี) ก็เป็นพื้นที่สีแดงแทบไม่มีรอยต่อของเมืองกับป่า เหมือนคนเดินเข้าป่าไปสวนยาง แต่ที่นั่นมีลักษณะพิเศษของ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ภาคใต้ ค่อนข้างจะอัตตาสูง เพราะเขาเริ่มต้นจากศูนย์ จากสองมือเปล่าแย่งเอาอาวุธจริงๆ ไม่ได้มีสนับสนุนจากใคร ทั้งอาวุธ เสบียงก็หากันเอง เลยปะทะกับนักศึกษาบ่อยจนต้องออกมาเป็นชุดๆ
ช่วงเข้าป่านักศึกษาต้องปรับตัวมากเลยใช่ไหม
ใช่ พอเข้าไปอยู่ มันถูกปลูกฝังเรื่องความศรัทธา ว่าเราต้องศรัทธากับพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อสหาย เราต้องเป็น ‘นักเรียนน้อย’ เป็นคนที่ไม่รู้อะไรเลย เขาจะเรียกคนปัญญาชนคนชั้นกลางที่เข้าไปว่า ‘ปัญญาชนนายทุนน้อย’ คุณต้องไปฝึกตัวเอง ก็แหงสิ การไปฝึกจับอาวุธ ทำไร่ เราไม่เป็นเลย ต้องอ่อนด้อยอยู่แล้ว
มันก็จะมีตำนานเล่า อย่างเขาให้ไปถอนหญ้าก็ไปถอนต้นข้าวโพด เพราะแยกไม่ออก ไม่ก็ปล่อยต้นหมามุ่ยไว้ (หัวเราะ) แต่หลายคนปรับตัวได้ดีนะ อย่างพวกที่เป็นนักกีฬามาก่อน อีกอย่างขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ว่าที่นั่นทำอะไร หรือได้ไปอยู่หน่วยไหนด้วย เช่น หน่วยรบ หน่วยผลิต หน่วยทำไร่ ช่วยงานฝ่ายปกครอง งานมวลชน งานโรงเรียน
อย่างฐานที่มั่นหลักของภาคเหนือตอนบน คือ เขต 7 พะเยา ที่พี่อ๋อย (จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี) อยู่ ตรงนั้นก็จะมีนักศึกษาเชียงใหม่เยอะ ผสมผสานกับเด็ก มธ. เด็กรามคำแหง
พวกแกนนำนักศึกษาก็จะเหงาหน่อย เขาจะบังคับให้อยู่ข้างหลัง คุณอยู่ข้างหน้าไม่ได้ มันเคยมีกรณีของเลขาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสาน ไปอยู่หน่วยลาดตระเวนแล้วโดนสุ่มยิงเสียชีวิต ทหารก็เอามาโปรโมท ทาง พคท.เขาเลยพยายามที่จะกันไม่ให้คนมีชื่อเสียงไปอยู่ด่านหน้า เพราะมันมีผลเสีย
อย่างค่ายที่ผมอยู่ก็เป็น มีครั้งนึงเขาจะยกคนเป็นร้อยไปตีค่ายของ อส. ที่มีอยู่สัก 10 คนได้มั้ง ไม่ได้มีอันตรายอะไรเลย เราไปมีตั้งแต่ปืน ปรส. 57 (ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง) ปรส. 75 มีระเบิดอาร์พีจีเพียบ พอมีพวกแกนนำนักศึกษาขอไปด้วย เขาก็ไม่ให้ แต่ที่ จ.เชียงรายงานสู้รบไม่เยอะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการป้องกันการสร้างฐานไม่ให้ถูกขึ้นมาตีมากกว่า แต่ทหารก็ขึ้นมาไม่ได้หรอก เพราะที่นั่นถิ่นม้งเขาชำนาญพื้นที่มาก สุดท้ายทหารก็ใช้วิธีสร้างถนนผ่ากลางเลย กลายมาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทุกวันนี้
อยู่กันแบบนั้นมาเรื่อย จนเริ่มมีคำถามกันเองว่า แนวคิดการตั้งฐานที่มั่นในชนบทที่เอามาจากจีน มันถูกต้องรึเปล่า แนวคิดที่เริ่มต้นจากป่าล้อมเมืองมันถูกต้องแล้วเหรอ นี่เป็นตัวเริ่มๆ ที่คนทยอยกันลงมา แต่ผมก็ยังอยู่นะถึงปี พ.ศ.2525 แต่ฐานแตกตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 แล้ว จากความขัดแย้งรุนแรงของนักศึกษากับ พคท.
เหตุผลที่ป่าแตกมาจากปัญหาวิธีคิดของ พคท. เหรอ
หลายเหตุผลรวมๆ กัน หลักใหญ่ก็คือวิธีคิดเรื่องการต่อสู้ในการทำงานมวลชน ที่นำไปสู่การวิเคราะห์สังคมเปลี่ยนไป พรรคคอมมิวนิสต์จะเรียกว่ากึ่งเมืองขึ้นศักดินา ก่อนที่จะมาเป็นปัญหาประชาธิปไตยรวมศูนย์ ที่ฝ่ายนำรับฟัง แต่ไม่ได้แก้ไข จะว่าปรับตัวช้าก็ได้
อย่างตอนนั้นสหายนำพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนหนึ่งจะมีอดีตแกนนำนักศึกษา สมัยปี พ.ศ.2490 บ้าง อีกส่วนก็เป็นลูกคนจีนที่ส่งไปเรียนที่จีนแล้วเปลี่ยนใจไม่กลับมาเลย เขาไม่เห็นสังคมไทยมานานแล้ว จนไม่รู้ว่าสังคมไทยมันเปลี่ยนไปขนาดไหน
การที่เอาคนไปอยู่ในฐานที่มั่น แล้วสร้างเป็นเขตของตนเองตัดขาดจากอำนาจรัฐ มันทำได้ในยุคสังคมนิยมสมัยเหมาเจ๋อตุง ที่ยังเป็นสังคมเกษตรกรรม เหมือนทหารกองทัพแดงใช้รองเท้าหญ้าฟาง ที่อาสาสมัครสานให้ตามหมู่บ้าน เหมาเขาตอบโจทย์ เพราะในสังคมเกษตรกรรม ทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจคือที่ดิน พอตั้งฐานที่มั่นไล่เจ้าที่ดิน แล้วแจกที่ให้ชาวนา ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น
แต่ของเราไม่ใช่ พอตั้งเป็นฐานที่มั่นแล้วถูกปิดล้อม มันอยู่ด้วยความยากลำบาก ชาวบ้านต้องไปลักลอบปลูกฝิ่นขายให้กับพ่อค้าตามแนวชายแดน แถมยังถูกกดราคา พวกเขาไม่ได้สามารถกลับเข้ามาอยู่ในระบบผลิตของพรรคได้ เลยไม่ได้ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจว่า มันทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
แนวคิดป่าล้อมเมืองอาจไม่เหมาะกับไทย
ผมยกตัวอย่าง ที่ อ.พาน (จ.เชียงราย) เคยพยายามปรับตัวกับเรื่องนี้ว่า ถ้าจะนำชาวบ้านได้ ต้องมีผลประโยชน์เฉพาะหน้าให้เขาเห็น เลยใช้วิธีสร้างเขตอิทธิพลไม่ให้สรรพสามิตเข้าพื้นที่ กลายเป็นชาวบ้านต้มเหล้าเถื่อนเป็นเรื่องปกติกัน แต่อุปสงค์อุปทานพังหมด จากขวดละ 15 บาท มาเหลือขวดละ 8 บาท (หัวเราะ) การตอบโจทย์เรื่องพวกนี้ มันทำได้เฉพาะกิจแค่ช่วงเวลาหนึ่ง
พอจะใช้โมเดลนี้ไปทำในหมู่บ้านที่ปลูกผักชี จากกิโลกรัมละ 5 บาท ทำไปทำมาเหลือสลึงเดียว ชาวบ้านก็ต้องถอนทิ้งโยนลงห้วย มาถึงจุดนี้เลยคิดว่าวิธีคิดตั้งฐานที่มั่นเอาป่าล้อมเมืองไม่รุ่งละ แต่พอจะแย้งฝ่ายนำก็ไม่ยอมรับ เลยกลายเป็นตีกัน
เราไม่ใช่สังคมเกษตรอีกแล้ว แล้วเราต้องปรับยังไงนั่นคือคำถาม แล้วเผอิญมันเกิดการปะทะเรื่องประชาธิปไตยรวมศูนย์พอดี คือพรรคคอมมิวนิสต์เนี่ยรวมศูนย์อำนาจที่สหายนำ ไต่ขึ้นไปเป็นลำดับชั้นเรื่อยๆ เหมือนอยู่ในกองร้อยที่มีผู้กองการทหาร แล้วมีอีกคนที่เป็นผู้ชี้นำทางการเมือง คนนั้นคือเลขาธิการของพรรค ที่มีบุคลิกเป็นคนนุ่ม เย็น สุขุมพอสมควร สามารถกล่อมคนได้ เวลามีปัญหาเขาคุยด้วย แต่มันไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนสุดท้ายป่าแตกไล่กันมาเรื่อยตั้งแต่ทางจีน ถึงได้เห็นว่าการปกครองแบบพรรคเดียวมีปัญหานะ
รู้ตัวตอนไหนว่าถึงเวลาต้องลงจากป่าแล้ว
คนในป่ากับคนด้านล่างไม่ได้ขาดจากกันนะ มันมีคนขึ้นลง และก็มีการสื่อสารที่เป็นหนังสือ หลายครั้งก็เป็นเรื่องปากต่อปาก แต่ไม่ได้รู้หมด ครั้งแรกที่ผมรู้ว่า พคท. เกิดความขัดแย้ง คือมีเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เขาทำงานอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ทั้งคอยหาทุน ประสานงาน เขาก็จะขึ้นๆ ลงๆ ก็มาเล่าให้ฟัง
อีกอย่างพวกมาจากจีนก็เล่า ช่วงที่จีนทำสงครามกับเวียดนาม แล้วลาวอยู่ข้างเวียดนาม พอ พคท.เลือกข้างจีน เขาก็ตัดเส้นทางหมด พวกที่ส่งไปเรียนการทหาร พยาบาล ต้องกลับมาหมด พวกนี้แหละที่มาเล่า คนก็เลยเริ่มทยอยกันออกแต่ผมยังอยู่ได้ เห็นกับเพื่อนที่ยังอยู่ด้วย แต่จากกองทหารก็เริ่มย้ายมากองที่เกี่ยวกับการทำสื่อ จนท้ายสุดมาที่หน่วยงานพื้นราบ อ.พาน อยู่ไปช่วงหนึ่งเขต 8 ก็แตก จนต้องอพยพคนลงมาหมด เหลือแค่สหายคนพื้นที่ คอยประสานงานกับทหารเพื่อเจรจา
ไม่นานที่ อ.พาน ก็ตัดสินใจว่าคงต้องยอม เพราะพอที่อื่นแตกหมดแล้ว ทหารก็อยู่ในพื้นที่เต็มไปหมด การที่ทหารเข้าไปอยู่มันคุกคามชีวิตประชาชน และก็เริ่มมีปัญหากับชาวบ้านตามมา
คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หรือ 65/2525 มีผลต่อการออกจากป่าของบรรดานักศึกษาแค่ไหน
ถามว่ามีผลไหม มันก็มีบ้าง เพราะถ้าบอกว่าลงมาแล้วฆ่าหมดมันคงสู้กันแหลก แต่ไม่ได้มีผลที่ทำให้ พคท.แตกหรอก มันแตกด้วยตัวเองก่อน เพียงแต่มีผลในแง่ที่รัฐเองปรับตัวตั้งแต่หลัง 6 ตุลาฯ มีการรัฐประหารตัวเอง ล้มรัฐบาลธานินทร์ (กรัยวิเชียร) กลับสู่การเลือกตั้ง
ทำให้มีพื้นที่ให้กับการเคลื่อนไหวทางสังคม เราจะเห็นการเกิด NGO คนออกจากป่ายังมาทำงาน NGO บ้าง ทำงานศาสนาบ้าง อย่างอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) แล้วเปิดให้กลับมาเรียนก็ดึงคนได้ คนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ก็มีการเจรจา ให้กลับมาทำมาหากิน เลยไม่ทำให้เกิดการต่อต้านรุนแรง
ชีวิตขึ้นป่าว่ายากแล้ว หลังออกจากป่าเป็นยังไงกันบ้าง
ผมชอบพูดเรื่องนี้ที่สุด สิ่งที่คนไม่พูดถึงคือตอนที่กลับลงมา เป็นตอนที่หนักที่สุด เปรียบเทียบเหมือนยืนอยู่บนดอยแล้วใกล้ถึงดวงดาว แต่พอกลับมาเห็นแต่พระจันทร์ในท่อน้ำโสโครก (หัวเราะ)
ผมยังดีนะ กลับมาชีวิตครอบครัวยังพอรองรับได้ พ่อแม่เป็นครู เขาเสียใจก็จริง แต่ยังสนับสนุนให้เราเรียนใหม่ มีแต่เราเองที่ไม่มีกำลังใจเลย เรียนวิศวะไม่เอา เรียนนิติรามก็ไม่จบ ลาออก สุดท้ายพ่อแม่ก็ยังให้ตังค์มาทำโรงพิมพ์ฉับแกละกับเพื่อน พิมพ์หนังสือให้ศึกษิตสยาม ตอนนั้นอายุ 25 จะ 26 ปี ก็มาเจ๊งอีก ทำเยอะแยะจับฉ่ายไปหมด จนมารู้สึกว่าตั้งตัวได้ก็ตอนมาทำหนังสือพิมพ์แนวหน้า อายุ 30 กว่าไปแล้ว
หลายคนเจ็บปวดกว่านี้มาก เพื่อนผมคนนึงลงมา รู้ว่าแม่ตายตอนที่เขาอยู่ข้างบนป่า มันเจ็บปวดมากนะ ส่วนใหญ่ 24-25 ปีกันแล้ว มันเลยยิ่งยากกว่าคนอื่น
บางคนกลับมาปากกัดตีนถีบ ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเอง อย่างที่จำได้เลยคือมีเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง เขาเริ่มทำน้ำเต้าหู้ขายตรงหมู่บ้านนักกีฬา แถวหัวหมาก เพราะต้องส่งทั้งแฟนทั้งน้องเรียน พอทำแล้วรุ่ง คนอื่นที่ไม่มีอาชีพก็ไปฝึกกับเขา กลายเป็นคนออกจากป่าโซนเหนือเป็นผู้ประกอบการน้ำเต้าหู้กระจายไปทั่ว กทม.เลย บางคนก็ยังยึดอาชีพนี้มาจนทุกวันนี้เลย
เรื่องชีวิตคู่ก็เป็นปัญหาใหญ่ มีคนที่แต่งงานกันในป่าแล้วมาเลิกกันก็เยอะ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาด้วยกัน หรือนักศึกษากับชาวนายิ่งแล้วใหญ่ เพราะปรับตัวไม่ได้เลยกับชีวิตในเมือง บางคนพบรักในช่วงที่ชีวิตเต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน ความทะเยอทะยาน แต่พอผิดหวังทั้งคู่ก็เริ่มทะเลาะกัน ยังไม่นับคนที่กินยาฆ่าตัวตาย หรือพยายามจะฆ่าตัวตายก็เยอะ ร้องไห้เป็นเรื่องธรรมดามาก
เช่นนั้นแล้ว การถูกจดจำว่าเป็น ‘คนเดือนตุลาฯ’ เป็นเรื่องดีหรือไม่
จริงๆ จะเป็นคนมีหรือไม่มีชื่อเสียง เชื่อว่าถ้าออกจากป่าเจอภาวะไม่ต่างกัน เพียงแต่คนมีชื่อบางส่วนเขาอาจมีเครือข่ายช่วยเหลือบ้าง แต่ผมก็คิดว่าทุกคนดิ้นรนกันเอง แค่พอ 20-30 ปีผ่านไปคนทั่วไปสนใจที่คนกลุ่มมีชื่อเสียง แล้วเข้าใจโดยรวมว่าคนออกจากป่าประสบความสำเร็จแค่นั้นเอง ทั้งที่คนธรรมดามีมากกว่ากันเยอะ
อาจจะมากครึ่งด้วยซ้ำ ที่ไม่มีบทบาททางสังคมการเมืองอีกแล้ว อุดมการณ์แบบเดิมเขาอาจจะมีอยู่ แต่ก็ไม่รู้จะไปแสดงออกที่ไหน เหมือนอยู่ๆ คุณอาจจะไปงานศพคนปกติ ที่มีชีวิตปกติ เคยเป็นหมอ เป็นครู แต่อยู่ๆ ในงานเปิดเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา (หัวเราะ)
คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ชอบหรือไม่ชอบที่เป็นคนเดือนตุลาฯ หรอก สุดท้ายเราก็เป็น และไม่รู้สึกต้องอับอายด้วย แค่ไม่ได้คิดว่าต้องอวดความภาคภูมิใจกับคนภายนอก แต่มันคือชีวิตเราที่เราเคยฝัน เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่จำแม่นหมดเลย เพราะเราเต็มที่กับมัน เหมือนความใฝ่ฝันที่ยังไปไม่ถึง
ผ่านมานานขนาดนี้ คิดว่าทำไมเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถึงยังต้องบอกต่อ
ไม่ว่าจะมองเป็นความผิดพลาดในอุดมการณ์สังคมนิยมหรือไม่ แต่นั่นคือจุดสูงสุดในชีวิตของผม มันมีบทเรียนในหลายด้าน เพราะอุดมการณ์สังคมนิยมในยุค 70-80 มันมีความผิดพลาดที่เราเรียนรู้ได้อยู่ในนั้น
อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพิ่งพูดถึงคนรุ่นใหม่เรื่องชีวิตหลังม็อบว่า ภาพรวมตอนนี้มันไม่เหมือน 6 ตุลาฯ ที่แพ้แล้ว มันเข้าป่าก็แพ้แล้ว ตอนนั้นเกิดการประนีประนอม แต่ตอนนี้มันไม่เกิด เป็นผลมาจากการรัฐประหารปี พ.ศ.2557 ยาวนานมากว่า 8 ปี ยังหาจุดที่ลงตัวไม่ได้ มีแต่ความพยายามที่จะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางป้องกันการเปลี่ยนผ่าน เพราะกลัวว่าจะเกิดวาระสุดท้าย ถึงจะมีการเลือกตั้งมาแล้วก็จริง แต่ตีกรอบสิ่งที่แตะต้องไม่ได้มากขึ้นกว่าเดิม
ข้อแตกต่างอีกอย่าง คือคนรุ่นใหม่ปัจจุบันยังไม่ได้แพ้ เพียงแต่การต่อสู้อาจจะยาว แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าไม่ยาวนานเท่ารุ่นผมหรอก (หัวเราะ) มันเห็นอะไรแน่ๆ เพียงแต่ชีวิตคนหลังม็อบต้องปรับตัว เพราะคนรุ่นผมสู้จบแล้วจบเลย แต่คนรุ่นนี้เขายังมีโอกาส แต่มันใช้เวลา จากอายุ 20 ปีอาจผ่านไปจนอายุ 30 ปีก็ได้ ซึ่งระหว่างนั้นคุณจะต้องมีชีวิตตัวเองไปด้วย ต้องทำมาหากิน แถมลำบากกว่าผมไปอีกตรงที่หลายคนยังมีคดี
ถึงได้เป็นเหตุผลว่า ทำไมครบรอบ 6 ตุลาฯ ปีหลังๆ มานี้ยิ่งมีความหมาย เพราะว่ามีคนติดคุกและโดนคดีจากการเห็นต่างเยอะ บ้างก็ได้ประกันตัวช้า แถมยุคนี้จะประนีประนอมยากนะ โลกนี้ไม่ได้ยอมรับ การไม่ปรับตัวสักอย่าง ขอแค่เออออยอมติดคุกแล้วมาให้อภัย ..ไม่พอแล้ว
คิดยังไงกับความเห็น ‘เป็นวัยรุ่นต้องซ้ายจัด โตขึ้นไม่ขวาคือประหลาด’
เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มีความเป็นไปได้ที่คนแก่ตัวขึ้นจะเป็นอนุรักษ์นิยมจริง ขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละคน เขาอาจเปลี่ยนทัศนะบางด้าน หรือยังรับสิ่งที่เปลี่ยนไปในสมัยใหม่ไม่ได้ อย่างคนที่เคยเคลื่อนไหวช่วง 14 ตุลาฯ เพราะเห็นด้วยกับสิทธิสตรี ตอนนี้อาจยังยอมรับสิทธิของ LGBTQ ในบางเรื่องไม่ได้ เลยอาจจะคิดว่าไม่ยุ่งก็ไม่เป็นไร
คงต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงระหว่างยุคสมัย ความคิดเรื่องประชาธิปไตยสมัยนั้นมันผสมผสานสังคมนิยม ความเท่าเทียบเป็นธรรม พอมาตอนนี้เลยยังรับประชาธิปไตยแบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ไม่ได้
อยากให้พูดกับคนรุ่นนี้ ที่ยังฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า
ผมว่ามันมีชัยชนะอยู่ระดับนึงแล้วนะ แต่เป็นธรรมดาเมื่อถึงจุดสูงสุดมันก็จะซบเซาลง ขึ้นอยู่กับว่าจะปรับตัวกันยังไงต่อ แต่ทุกคนที่อยู่ร่วมในกระแสนั้น ยังไงก็ได้รับผลสะเทือนที่อาจไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาไปแล้ว แต่คุณจะรู้ว่ากระแสนั้นมันกลายเป็นเรื่องราวร่วมสมัยของผู้คน ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อในอนาคต
คุณว่า ‘ผมยาว รองเท้ายาง สะพายย่าม เสื้อยืด กางเกงยีนส์’ รู้สึกแปลกไหม? เป็นคำถามที่อธึกกิตถามขึ้นมา ‘ไม่เห็นจะแปลก’ คือสิ่งที่ดังขึ้นเป็นคำตอบแรกในใจผู้สัมภาษณ์ “ไม่แปลกใช่ไหม แต่สมัยก่อนแปลกไง คนนุ่งกางเกงยีนส์น้อยมาก ทุกวันนี้ธรรมดาของโลก ผมยาวเปลี่ยนไปแล้ว ผมสีอีกต่างหาก มันมีผลสะเทือน และมันจะเห็นมากกว่ายุคผมอีก” คอลัมนิสต์คนดังกล่าวปิดการสนทนา
Proofread by Pongpiphat Banchanont
Photo by Asadawut Boonlitsak
Illustration by Sutanya Phattanasitubon