หลายวันมานี้ข่าวเรื่องการควบคุม เอ๊ย ปฏิรูป โซเชียลมีเดียตามแนวคิดของ สปท. ได้กลายเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงกันมากมาย หลังจากที่ประชุม สปท. ได้เห็นชอบกับข้อเสนอให้มีการสแกนใบหน้า และลายนิ้วมือเพื่อลงทะเบียนมือถือก่อนเล่นโซเชียลมีเดีย รวมถึงข้อเสนอระยะยาวที่เขาอยากให้พระสงฆ์เข้ามามีส่วนร่วมด้วยนี่ก็น่าสนใจไม่เบา
โดยเฉพาะแนวคิดที่ให้พระเป็น ‘ต้นแบบ’ การใช้สื่อโซเชียลมีเดียในทางที่เหมาะสมและสร้างสรรค์ หลายคนก็สงสัยว่าเรื่องนี้จำเป็นกันแค่ไหนนะ ตัวเราเองที่เป็นฆราวาสก็ตอบไม่ค่อยเต็มปากได้เท่าไหร่ ถ้าจะเอาให้รู้เรื่องชัดๆ ก็น่าจะสอบถามความคิดเห็นจากพระท่านดีกว่าเนอะ
The MATTER จึงนมัสการพระมหาไพรวัลย์ ผู้ซึ่งเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องมาช่วยไขข้อข้องใจให้กับพวกเรา
The MATTER: เรื่องแรกเลย หลวงพี่คิดว่ามันจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการการจัดอบรมพระเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย
ถ้าจะอบรมพระก็ต้องว่ากันว่าจะอบรมอย่างไร เช่นการอบรมพระให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดวิกฤตศรัทธาซึ่งมีข่าวบ่อยครั้งอย่างนี้ก็โอเค เรื่องแบบนี้จัดโดยคณะสงฆ์กันเองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานรัฐมาจัดให้
The MATTER: หลวงพี่คิดอย่างไรกับแนวคิดให้พระเป็นต้นแบบการรู้เท่าทันสื่อ
อาตมายังไม่ทราบเจตนาที่แน่นอนของเขา โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องการให้พระเป็นตัวอย่างสามารถสอนชาวบ้านให้มีคุณธรรมในการรู้เท่าทันสื่อ คือเรื่องนี้มันฮาว่า การใช้โซเชียลมีเดียนั้นต้องมีคุณธรรม แล้วศาสนาจะมันช่วยสร้างคุณธรรมให้ประชาชนเล่นโซเชียลมีเดียได้จริงหรอ พระเองก็ยังใช้โซเชียลไม่ค่อยเป็นเลย แล้วจะไปอบรมใครได้ เรื่องในโซเชียลมีเดียมันเป็นเรื่องทางโลกทั้งนั้น ชาวบ้านมีสิทธิจะทำอะไรก็ได้เท่าที่ไม่ผิดกฎหมายนะ
The MATTER: รัฐควรมีบทบาทแค่ไหนในการช่วยส่งเสริมศีลธรรมในการเล่นโซเชียลมีเดียให้กับประชาชน
เขาก็ควรเอานักวิชาการที่มีความรู้ด้านกฎหมาย หรือนักสิทธิมนุษยชนมาพูด เอามาให้ความรู้กับคนสมัยใหม่เรื่องกฎหมายไปเลย ยกตัวอย่าง เอามาพูดเรื่องที่มีคนทำละเมิดกฏหมาย การแอบถ่ายคนอื่น ขายสินค้าหรือโฆษณาเกินจริง หรือเรื่องการหลอกลวงต่างๆ แต่ไม่ควรใช้คำว่าคุณธรรม ศีลธรรม ควรเอาประเด็นทางกฎหมายให้ชัดเจน แค่นี้ก็พอแล้ว โลกฆราวาสไม่ใช่โลกของสมณวิสัย
The MATTER: อยากให้หลวงพี่ยกตัวอย่างหลักธรรม หรือพุทธศาสนสุภาษิตที่อยากบอกไปถึงผู้ที่อยากควบคุมโซเชียลมีเดียครับ
ยากเลย มันควบคุมไม่ได้นะ พุทธศาสนาสอนเรื่องไตรลักษณ์ คุณต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง อย่าไปฉุดรั้งความก้าวหน้า คุณไม่สามารถกักขังความคิด เสรีภาพ คุณมีหน้าที่คอยดูว่าเรื่องนี้ผิดกฎหมายรึเปล่าก็พอแล้ว
The MATTER: แนวคิดของภาครัฐที่เสนอให้มีการควบคุมการเล่นโซเชียลมีเดีย สะท้อนอะไรได้บ้าง
อาตมามองเห็นความหวาดกลัวของรัฐนะ เดี๋ยวนี้คนเสพสื่อโซเชียลมากกว่ากระแสหลัก มันไม่ใช่โลกที่มีสื่อทีวีไม่กี่ช่องที่กรอกหูให้คนฟัง โลกเดี๋ยวนี้มันเสรี มันมีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ใช้โซเชียลตีแผ่เรื่องราว มันมีคนทำงานเรื่องนี้เยอะมาก คนในสังคมมองว่าเข้าถึงสื่อพวกนี้มันจริงกว่า เค้ามีสิทธิโต้แย้งข้อมูลข้อเท็จจริง คนส่วนใหญ่ไม่พึ่งตำรวจแล้วนะ เพราะมันล่าช้า มันจึงมีเพจรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เยอะมากขึ้น คิดว่าบางเรื่องรัฐเค้ากลัว โดยเฉพาะเรื่องการทำงานของรัฐ เรื่องอื่นเค้าไม่สนใจหรอก
เค้าไม่ได้สนใจเรื่องคุณธรรมศีลธรรมหรอก มันคือข้ออ้าง จุดประสงค์จริงๆ คือต้องการควบคุมการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า