Inside out, The Incredibles, Toy Story หรือเรื่องล่าสุดอย่าง Coco อนิเมชั่นเรื่องไหนของ Pixar ที่ถูกอกถูกใจคุณมากที่สุด?
“กว่าจะมาเป็นอนิเมชั่นสักเรื่อง เบื้องหลังทำงานกันหนักมาก พิถีพิถันมาก แต่ก็สนุกมากเหมือนกัน” ‘บิ๊ก – วิทวัส รุ่งจิรธนานนท์’ หนึ่งในคนไทยและคนเบื้องหลัง ที่เพิ่งก้าวเข้าไปทำงานในออฟฟิศ Pixar บอกเราด้วยรอยยิ้ม
วันที่เขาลาพักจากความสนุกกลับมาเยี่ยมเมืองไทย The MATTER เลยชวน บิ๊ก – วิทวัส มาคุยกันถึงความสนุกเบื้องหลังความสนุกเหล่านั้น รวมถึงสิ่งที่เขาได้ทำและได้เจอใน Pixar หนึ่งในองค์กรที่เขาว่ากันว่าเจ๋งที่สุดในโลก!
The MATTER : งานที่ไปทำที่ Pixar คืออะไร
บิ๊ก – วิทวัส : ตอนนี้ตำแหน่งงานคือ Software Engineer อยู่ทีม Simulation Team ครับ เป็นทีมที่พัฒนาเครื่องมือเกี่ยวกับ Simulation เอาไปให้ศิลปินใช้ในการทำการ์ตูน
ปกติเวลาทำการ์ตูน ศิลปินก็ต้องวาดเป็นเฟรมๆ เฟรมนี้ตัวละครอยู่ท่านี้ อีกเฟรมตัวละครทำท่านี้ ต้องวาดละเอียดไปทุกเฟรม จนประกอบกันได้เป็นการเคลื่อนไหวของตัวละคร เป็นอนิเมชั่นขึ้นมา แต่การเคลื่อนไหวของสิ่งของอย่างเส้นผม ตั้งไม่รู้กี่ร้อยกี่หมื่นเส้น จะมานั่งวาดทีละเฟรมให้เห็นการเคลื่อนไหวของทีละเส้น ก็จะเสียเวลามาก
เราเลยใช้ Physics Simulation เข้ามาเป็นตัวช่วยคำนวณการเคลื่อนไหว โดยแค่กำหนดเฟรมเริ่มต้นกับเฟรมจบ แล้วกำหนดค่าว่าเส้นผมหรือเสื้อผ้าพวกนี้มีค่าทางฟิสิกส์เท่าไหร่บ้าง อย่างเช่นมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีค่าความเสียดทานเท่านี้ มีความนิ่ง มีความแข็งเท่าไหร่ แล้วก็ปล่อยให้โปรแกรมคำนวณให้ว่า ถ้าตัวละครมีการเคลื่อนไหวแบบนี้ เส้นผมหรือเสื้อผ้าควรจะขยับยังไง ก็จะช่วยขั้นตอนในการทำการ์ตูนเร็วขึ้น
หน้าที่ของผมก็คือเครื่องมือที่คำนวณสิ่งเหล่านี้ เพื่อไปซัพพอร์ตศิลปินให้ทำงานอนิเมชั่นออกมาได้เร็วขึ้น สวยขึ้น สมจริงขึ้น
The MATTER : เข้าไปทำงานที่ Pixar ได้ยังไง ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง
บิ๊ก – วิทวัส : Pixar เป็นหนึ่งในบริษัทในฝันที่อยากไปทำอยู่แล้วครับ ก่อนหน้าที่จะไปทำที่ Pixar ก็ทำงานเกี่ยวกับ Physics Simulation อยู่บริษัทเกม Square Enix ที่ญี่ปุ่น ทำอยู่ 4 ปีก็มีผลงานเกมออกมาบ้างแล้ว (เกมดังๆ ที่เป็นผลงานของ Square Enix ก็เช่น Final Fantasy, Dragon Quest หรือ Kingdom Hearts) ก็เลยเริ่มรู้สึกว่าอยากทำอะไรอย่างอื่น อนิเมชั่นก็เป็นหนึ่งอย่างที่อยากทำ เลยลองส่งใบสมัครไปที่ Pixar ดู พอดี Pixar เขาประกาศรับสมัครตำแหน่งที่เราทำอยู่พอดีเลย
พอสมัครเสร็จก็มีสัมภาษณ์ มีการพูดคุย ไม่รู้เหมือนกันครับว่าตำแหน่งอื่นจะเป็นยังไง แต่สำหรับ Software Engineer จะมีสัมภาษณ์รอบแรกทางโทรศัพท์ พูดคุยก่อนว่าเราเคยทำอะไรมา มีประสบการณ์อะไรบ้าง แล้วก็มีคำถามเกี่ยวกับพวกฟิสิกส์และการเขียนโค้ดนิดหน่อย คุยกันประมาณครึ่งชั่วโมง
ถ้าเราตอบได้ดี เขาก็จะให้ผ่านไปรอบต่อไป ซึ่งปกติสัมภาษณ์รอบสองนี่เขาต้องให้ไปที่บริษัท Pixar เลย เป็นรอบที่ไปเจอกรรมการยิงคำถาม แล้วให้เราเขียนตอบ เขียนวิเคราะห์ เขียนวิธีทำบนไวท์บอร์ด แต่ตอนนั้นอยู่ที่ญี่ปุ่น ก็เลยสัมภาษณ์ผ่าน Video Conference ประมาณ 4 ชั่วโมงครับ เขาให้โจทย์มา เราก็เขียนใส่กระดาษแล้วไปยื่นหน้ากล้อง
นอกจากพวกโจทย์ให้แก้ปัญหาบนกระดาษ ก็จะมีการเขียนโค้ดบนเว็บไซต์ทีร่วมกับกรรมการ เขาก็จะบอกว่ามีปัญหาแบบนี้ มีโค้ดแบบนี้ จะแก้ยังไงให้ดีขึ้น ต้องใช้อัลกอริธึมตัวไหน ต้องใช้ Data Structure ตัวไหนมาช่วยเป็นโจทย์เชิงปฏิบัติ นั่งเขียนโค้ดแล้วก็พูดคุยกัน ว่าทำไมใช้อันนั้น ทำไมไม่ใช่อันนี้ มีปัญหาตรงไหน ก็เลยใช้เวลานาน
ตอนสัมภาษณ์นี่เป็นกรรมการจาก 3 ทีมครับ เหมือนมันเป็นวิธีการสัมภาษณ์ของ Pixar ว่าเขาจะให้ตัวแทนจากหลายทีมในบริษัทมาลองคุย มาสัมภาษณ์ด้วย เพราะเขาอยากทุกทีมรู้สึกโอเคกับคนที่รับเข้าไป ไม่ใช่ว่ารับคนใหม่เข้าไปแล้วทำให้ใครที่ต้องทำงานด้วยรู้สึกไม่โอเค ก็เลยอยากให้รู้จักตั้งแต่รอบสัมภาษณ์
The MATTER : คิดว่า Pixar มองหาคนแบบไหน
บิ๊ก – วิทวัส : คิดว่าเขาคงอยากได้คนที่เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็เข้ากับองค์กรได้ เป็นคนสนุก มีความคิดสร้างสรรค์ Pixar เป็นองค์กรที่มีคนจากหลากหลายประเทศ แต่ละคนมีเอกลักษณ์ มีความแตกต่างกันมากๆ แต่เราเข้าไปเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นกาดำ เพราะทุกคนแตกต่างเหมือนกัน อยู่นั่นเราก็คือคนของ Pixar เหมือนกัน เราก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าเราแตกต่างหรือว่าเรากลมกลืน
The MATTER : บรรยากาศการทำงานที่นั่นเป็นยังไงบ้าง
บิ๊ก – วิทวัส : สนุกมากครับ เป็นบริษัทที่อยู่แล้วความสุขมาก (ยิ้มกว้าง) ทั้งบรรยากาศการทำงาน สถานที่ ทุกอย่างมีความสนุกแอบแฝงอยู่
วันแรกที่ไปทำงาน คนแรกที่เจอคือยามเฝ้าประตู ประทับใจเขามาก เพราะว่าอารมณ์ประมาณยามหน้าดิสนีย์แลนด์เลย ทักทายสวัสดีครับๆ แล้วก็ยิ้ม ส่วนในออฟฟิศเราก็จะเห็นผลงานต่างๆ ที่ยังไม่เปิดเผย อยู่ในขั้นตอน Pre-Production ก็จะรู้ว่า เฮ้ย ต่อไป Pixar มันจะทำเรื่องอะไรแบบนี้นะ แล้วก็มีตุ๊กตานู่นนี่วางเต็มไปหมด ออฟฟิศของแต่ละคนก็จะมีการตกแต่งตามสไตล์ของตัวเอง บางคนชอบ Star Wars ในห้องก็จะมีแต่ตุ๊กตา Star Wars บางคนชอบเรื่อง Tron ก็ปิดไฟหมดแล้วมีแต่ไฟนีออนเต็มออฟฟิศ
The MATTER : คิดว่าอะไรที่ทำให้คนใน Pixar มีความสนุกและสร้างสรรค์
บิ๊ก – วิทวัส : คิดว่าเพราะเขาไม่มากดดัน ไม่มาจำกัดพนักงาน ตั้งแต่เข้าไปที่ทำงาน ไม่มีการมาพูดเลยว่านโยบายเราเป็นแบบนี้นะ วัฒนธรรมองค์กรเราเป็นแบบนี้นะ คุณต้องเป็นอย่างนี้นะ ทุกคนเป็นอย่างนี้นะ คือไม่มีเลย เข้าไปอยากทำอะไรก็ทำ เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครมาขีดกรอบ
แล้วคนในองค์กรก็ค่อนข้างเป็นคนที่เปิด มีอะไรก็จะพูดกันตรงๆ แนะนำกันตรงๆ ไม่ค่อยมานั่งขี้อายอะไรกัน อย่างที่ Pixar เวลาทำการ์ตูนเรื่องนึง ก็จะมีการเอาสิ่งที่อยู่ระหว่างการผลิตมาให้พนักงานดู ถ้าเกิดใครมีความคิดเห็นอะไร ทำไมเนื้อเรื่องเป็นแบบนี้ ทำไมตัวละครตัวนี้ไม่เด่น คอนเซ็ปต์อาร์ตยังดูไม่ค่อยเข้ากับเนื้อเรื่อง ก็พูดกันตรงๆ วิจารณ์กันตรงๆ เลยครับ ให้พนักงานทุกคนมีสิทธิ์ในการออกความเห็น ซึ่งนั่นก็นำไปสู่ไอเดียเจ๋งๆ และความสนุกในการทำงานร่วมกัน
แต่ละสัปดาห์ก็จะมีหนังมาฉาย ทั้งหนังการ์ตูน หรือหนังอินดี้ก็มี แล้วก็ให้ผู้กำกับของแต่ละเรื่องมานั่งพูดคุยกับพนักงาน คือเหมือนกับว่าคนใน Pixar คือคนทำหนัง ก็อยากให้รู้จักหนังประเภทต่างๆ อยากให้ได้แรงบันดาลใจและความรู้ความเห็นจากผู้กำกับคนนั้นคนนี้
The MATTER : แล้ว Software Engineer ทำงานร่วมกับผู้กำกับหรือศิลปินยังไงบ้าง
บิ๊ก – วิทวัส : ผู้กำกับเขาจะกำกับการเคลื่อนไหวของตัวละคร ไม่ได้มากำกับศิลปินหรือโปรแกรมเมอร์โดยตรงครับ เบื้องต้นก็คือจะทำเป็นเหมือนช็อตง่ายๆ ที่ยังไม่ได้ลงแสงสีเต็มที่ ให้เห็นคร่าวๆ ว่าตัวละครเคลื่อนไหวยังไง มีแสงตกกระทบตรงไหน เอาไปให้ผู้กำกับดูก่อน เขาก็จะบอกว่าตัวละครน่าจะอยู่ตรงนี้นะ น่าจะหันตรงนี้ น่าจะลืมตาขึ้นอีกจะได้อารมณ์มากกว่านี้ ก็คล้ายๆ กับหนังที่คนแสดง แต่เขากำกับการเคลื่อนไหวของตัวละครแทนที่จะกำกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์ เราก็รับฟีดแบคแล้วก็จะเอากลับไปแก้
แต่ผมเห็นเลยว่าเขาดูกันละเอียดมากๆ อย่างพวกการเคลื่อนไหวของเสื้อผ้า ก็ผ่านตาผู้กำกับทุกเฟรม ล่าสุดคือมีโอกาสได้ไปนั่งดูผู้กำกับเขารีวิวช็อตร่วมกับหัวหน้าทีมต่างๆ แต่ละช็อตรันมาแค่ 1 วินาที เขาก็บอก เอ้า หยุดตรงนี้ ทำไมตัวละครตัวนั้นยืนอย่างนี้ ทำไมไม่ขยับอย่างนี้ คือเร็วมาก เรายังไม่เห็นอะไรเลย แล้วหัวหน้าแต่ละทีมก็โต้ตอบกับผู้กำกับได้เร็วมาก ผมตื่นเต้นมาก แล้วเขาก็ทำอย่างนี้ทุกเรื่อง ทุกวินาที ทุกช็อต ต้องผ่านตาผู้กำกับและทีมหมด
เขาดูกันละเอียดมาก ดูแม้กระทั่งรอยยับของเสื้อ ทำไมยับแบบนี้ ทำไมไม่ยับแบบนี้ ดูสมจริงกว่าไหม กว่าจะออกมาเป็นแต่ละเรื่องก็คือพิถีพิถันจริงๆ
The MATTER : ได้เข้าไปทำงานที่นั่นแล้ว มองว่าองค์กรระดับ Pixar มีพื้นที่หรือโอกาสสำหรับคนไทยไหม
บิ๊ก – วิทวัส : มีครับ มี (ยืนยันเสียงหนักแน่น) ผมไม่คิดว่ามันเป็นปัญหาเรื่องศักยภาพหรือปัญหาเรื่องเขาไม่อยากได้คนไทยเลยนะครับ คนไทยเก่ง แต่ว่าปัญหาน่าจะเป็นพวกเรื่องวีซ่าการทำงานมากกว่าครับ
The MATTER : ส่วนตัวมองวงการอนิเมชั่นไทยเป็นยังไง
บิ๊ก – วิทวัส : ผมว่าคนไทยเก่งนะครับ ที่ประเทศไทยก็มีอนิเมชั่น สตูดิโอ หลายที่อยู่เหมือนกัน แล้วฝีมือก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าที่อื่นเลย เราอาจจะไม่ได้มีการ์ตูนเป็นของเราเองมากเท่าฝั่งฮอลลีวูด แต่ว่าก็มีบริษัทดังๆ ของฮอลลีวูดมาจ้างให้ทำเป็น Outsource เยอะอยู่เหมือนกัน โปรดักชั่นที่ทำออกมาก็ไม่แพ้ใครเลย แต่ถ้ามีการลงทุนทำเป็นอนิเมชั่นของเราเอง เป็นโปรดักชั่นใหญ่ๆ ก็น่าจะดี มีอะไรที่ Made in Thailand มากขึ้นกว่านี้ เราก็ควรสนับสนุนครับ
The MATTER : เป้าหมายในการทำงานที่ Pixar คืออะไร
บิ๊ก – วิทวัส : อยากไปลองครับ จากที่ทำเกมมา ก็ได้รู้แล้วว่าเขาผลิตเกมออกมากันยังไง ตอนนี้อยากไปลองทางฝั่งอนิเมชั่นบ้างว่าทำการ์ตูนเรื่องนึงออกมาจะเป็นยังไง
อีกความฝันง่ายๆ เลยคืออยากมีชื่อตัวเองเลื่อนขึ้นมาในเครดิตตอนจบของการ์ตูน Pixar ครับ