‘เมื่อก่อนขนมขบเคี้ยวซองละ 5 บาทมีขนมเต็มถุง แต่เดี๋ยวนี้ขนมเหลืออยู่แค่ไม่กี่ชิ้น’
‘ไอศกรีมแท่งที่เคยแบ่งกิน 2 คนตอนเด็กๆ ตอนนี้หดเหลือนิดเดียว’
‘ครีมซองที่เคยใช้ลดปริมาณลง กระดาษทิชชูที่เคยใช้จำนวนแผ่นน้อยลง’
หากลองสังเกตสิ่งของรอบตัวดู เราอาจพบว่าของเหล่านั้นมีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่ราคาเท่าเดิม ยิ่งช่วงข้าวยากหมากแพงแบบนี้แล้ว ปรากฏการณ์นี้ก็ยิ่งพบเห็นได้ง่ายขึ้นอีก
ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ ‘ลดปริมาณ คงราคา’ อยู่เช่นกัน ในทางเศรษฐศาสตร์มีคำเรียกปรากฏการณ์นี้อยู่ว่า ‘Shrinkflation’ และนอกจากการลดปริมาณลงแล้ว ปรากฏการณ์นี้ยังสะท้อนอะไรได้อีก ลองสำรวจไปพร้อมกัน
Shrinkflation คืออะไร?
Shrinkflation เป็นปรากฏการณ์ในทางเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่ผู้ผลิตเลือกที่จะคงราคาสินค้าไว้เท่าเดิม แต่ปรับลดปริมาณสินค้าลง ซึ่งปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นในภาวะเงินเฟ้อ เพื่อลดต้นทุนการผลิตลง และในขณะเดียวกัน ปริมาณของสินค้าที่ลดลง ก็อาจเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอาจไม่ทันได้สังเกตเช่นกัน
หากเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจน ภาวะเงินเฟ้อคือภาวะที่เรามีเงินเท่าเดิม แต่ไม่สามารถซื้อของได้เท่าที่เคยได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อน ถ้ามีเงิน 100 บาท เราจะสามารถกินข้าวแกงจานละ 30 บาทได้ 3 มื้อ แต่ตอนนี้ ข้าวแกงขึ้นราคาเป็น 50 บาท เงิน 100 บาทจึงสามารถซื้อข้าวแกงได้เพียง 2 มื้อเท่านั้น หรือหากซื้อข้าวแกงจานละ 30 บาท ปริมาณที่ได้ต่อจานก็จะลดลง
ฟังดูแล้ว ปรากฏการณ์นี้ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติในสภาพเศรษฐกิจถดถอย แล้วทำไมคำๆ นี้ถึงกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกรอบกันนะ?
นั่นเป็นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่ซบเซาอย่างหนัก ทำให้ผู้บริโภคเริ่มสังเกตถึงปริมาตรของสินค้าในชีวิตประจำวันที่ลดลงอย่างชัดเจน จนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ราคาสินค้า โดยเฉพาะ Shrinkflation ที่ไบเดนมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างรุนแรง จนออกมาโจมตีว่า
“บริษัทขนมขบเคี้ยวมองว่า คุณไม่ทันสังเกตว่าตัวเองกำลังถูกเอาเปรียบจากปริมาณมันฝรั่งที่ลดลง ภายในถุงขนาดเดิม”
และเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่หดตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เรื่อยมาจนถึงภาวะสงครามทั่วโลกอย่างสงครามอิสราเอล Shrinkflation เลยกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งในประเทศไทยเองที่มีภาวะเศรษฐกิจซบเซายาวนานหลายปี การที่สินค้าลดปริมาณลง แต่คงราคาเท่าเดิม จึงกลายเป็นข้อถกเถียงกันว่า การปรับลดปริมาณของสินค้าลงจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่
หรือหากมองในอีกแง่หนึ่ง Shrinkflation ก็กลายเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ผลิตใช้ ‘ซื้อใจ’ ผู้บริโภคให้ยังคงซื้อสินค้าของตนอยู่ เพราะหากเปรียบเทียบกันแล้ว การขึ้นราคาสินค้าส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนมากกว่าการลดปริมาณสินค้า แต่ราคาเท่าเดิม โดยมีผลสำรวจเปิดเผยว่า สินค้าที่ใช้กลยุทธ์ลดปริมาณมียอดขายที่สูงกว่าสินค้าที่ขึ้นราคา นี่จึงเป็นสัญญาณว่าผู้บริโภคยอมรับ Shrinkflation ได้เพิ่มมากขึ้น
เช่นเดียวกับผลสำรวจของ Ipsos บริษัทด้านการวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาดข้ามชาติจากฝรั่งเศสเปิดเผยว่า กลุ่มตัวอย่างคนไทยกว่า 50% ยอมรับได้ที่ผู้ผลิตจะปรับลดปริมาณสินค้าต่อหน่วยลงในราคาเท่าเดิม ในขณะที่ภายในครึ่งปีแรกนี้ ราคาสินค้าต่างๆ อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นจากเงินเฟ้อที่ขยายตัวมากขึ้น
แต่ไม่ใช่ผู้บริโภคทุกคนจะยอมรับพฤติกรรมนี้ของผู้ผลิตได้เสมอไป เพราะผลสำรวจของ Ipsos ในระดับโลกเปิดเผยว่า ผู้บริโภค 46% จาก 33 ประเทศกลุ่มตัวอย่างดูออกว่า ผู้ผลิตแอบลดปริมาณสินค้าต่อหน่วยลง แม้จะคงราคาเท่าเดิม โดยเฉพาะผู้บริโภคในประเทศแถบยุโรปอย่างสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมันที่รู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่พอใจจากการปรับลดปริมาณสินค้าลง ขณะเดียวกัน ฟิล เลมเพิร์ต (Phil Lempert) นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอาหารชี้ว่า Shrinkflation ทำให้ความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์ลดลงไปด้วย ผู้บริโภคจึงสรรหาทางออกที่จะทำให้ตนได้ใช้สินค้าที่คุ้มค่าเท่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่จำเป็นต้องคัดสรรคุณภาพ เช่น นมผงสำหรับเด็กทารก
มากไปกว่านั้น การปรับลดปริมาณสินค้าอาจส่งผลระยะยาวด้วย เพราะเมื่อภาวะเงินเฟ้อคลี่คลายลง ปริมาณของสินค้าก็ไม่ได้ปรับกลับขึ้นไปเท่าเดิม ขณะเดียวกัน หากผู้ผลิตจะเพิ่มปริมาณ ก็มักเลือกใช้วิธีการออก ‘ขนาดใหม่ ใหญ่กว่าเดิม’ ที่จำเป็นต้องกำหนดราคาใหม่ที่แพงขึ้นไปด้วย
เมื่อย้อนกลับมาที่สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน เราอาจนึกถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดขนาดลง น้ำอัดลมที่น้อยลง เบค่อนชิ้นเล็กลง หรือจำนวนชิ้นต่อแพ็กลดลง น้ำยาซักผ้าที่ลดปริมาตรลงทั้งที่ซองเท่าเดิม แม้จะเป็นเรื่องที่ดูยอมรับได้ในยุคข้าวยากหมากแพง แต่ก็อาจทำให้เราตั้งคำถามว่าสินค้าท่ีเราเลือกใช้มาตลอดยังคงคุณภาพเท่าเดิมอยู่หรือเปล่า
และในเมื่อ Shrinkflation จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน จะพอมีทางไหนที่เราจะเบาใจกับการซื้อของได้บ้าง
การรับมือ Shrinkflation ของต่างประเทศ
ย้อนกลับมาที่ต้นตอของ Shrinkflation คือ ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐกิจที่การเงินถดถอย และต้องแก้ไขด้วยนโยบายการเงินการคลังจากภาครัฐแล้ว การตรึงราคาสินค้าจำเป็นถือเป็นกลไกหนึ่งที่รัฐบาลทั่วโลกใช้ แง่หนึ่ง Shrinkflation จึงตอบโจทย์การรักษาค่าครองชีพของประชาชนไว้ ขณะเดียวกัน เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม รัฐบาลหลายประเทศจึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
ในฝรั่งเศสถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่อาจชี้ให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของภาครัฐที่มีต่อสิทธิผู้บริโภคอย่างชัดเจน โดยประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ได้ประกาศข้อกำหนดว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2024 เป็นต้นไป ร้านค้าปลีกรวมถึงห้างสรรพสินค้าจำเป็นต้องติดประกาศการเปลี่ยนแปลงปริมาณสินค้าเป็นเวลา 2 เดือน หากผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวไม่ต้องการขึ้นราคาสินค้า ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็ขานรับกับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยสื่อหลายสำนักนำเสนอว่า คาร์ฟูร์ (Carrefour) ห้างสรรพสินค้าเชนใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสติดประกาศการลดปริมาณสินค้าอยู่แล้ว พร้อมทั้งติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์แคมเปญดังกล่าว
นอกจากฝรั่งเศสแล้ว ในฮังการี รัฐบาลยังได้ประกาศมาตรการให้ห้างสรรพสินค้าประกาศการเปลี่ยนแปลงปริมาณสินค้าต่อหน่วย โดยให้ประกาศปริมาณสินค้าปัจจุบันในปี 2024 เปรียบเทียบกับปริมาณสินค้าเมื่อต้นปี 2020
ความเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสและฮังการีสอดคล้องกับแนวโน้มของสหภาพยุโรปที่มองว่าการปรับลดปริมาณสินค้าโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่จำเป็นจะต้องรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการต่างๆ ในกรณีที่ปรับเปลี่ยนคุณภาพ ปริมาณ และราคา ในขณะที่วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาได้มีการเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจากกรณี Shrinkflation โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แล้วไทยจะรับมือ Shrinkflation ได้อย่างไร?
ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย การกำหนดราคาสินค้าต่างๆ ต้องผ่านสายตาของ ‘คณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ’ (กกร.) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลการกำหนดราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศ ซึ่งรวมไปถึงการประกาศให้สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นสินค้าควบคุม กำหนดให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องประกาศแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้าให้ชัดเจน รวมไปถึงกำหนดกฎเกณฑ์ในการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงหรือถูกจนเกินไป
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กกร. ก็ไม่ได้มีหน้าที่หลักในการคุ้มครองการเปิดเผยรายละเอียดอย่างชัดเจนว่าผู้ผลิตจะต้องประกาศแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงการเปลี่ยนแปลงขนาดของสินค้าอย่างชัดเจน รวมไปถึงไม่กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อตัดสินว่า ราคาสินค้าและบริการแต่ละประเภทมีค่ามาตรฐานที่เหมาะสมอยู่ที่เท่าใด การสังเกตของผู้บริโภคจึงเป็นเสมือนทางออกเดียวที่เราจะเผชิญกับ Shrinkflation ได้โดยไม่เสียเปรียบนัก
และถ้าหากย้อนกลับไปทบทวน ‘สิทธิของผู้บริโภค’ แล้ว เรามีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง การสร้างบรรทัดฐานความโปร่งใสของแบรนด์ต่างๆ ในการแจ้งข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงของสินค้าจึงเป็นมาตรฐานใหม่ ท่ามกลางแนวโน้มเงินเฟ้อที่ไม่ลดลงไปง่ายๆ สิ่งนี้ก็ดูจะเป็นทางออกที่แต่ละแบรนด์น่าจะหยิบยกไปใช้
หรือเราจึงอาจต้องตั้งคำถามไปถึงนโยบายคุ้มครองบริโภคของเราด้วยว่า หาก Shrinkflation อยู่กับเราไปยาวๆ จะพอมีทางไหนที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าได้อย่างสบายใจได้บ้าง
อ้างอิงจาก