ที่จังหวัดฟุกุชิมะมีเรื่องน่าอิจฉาคือ ล่าสุดในเมืองได้มีสนามเด็กเล่น เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กที่มีธีมเป็นเจ้าลักกี้ (หรือชานซี – Chansey) โปเกม่อนตัวแม่ผู้แสนใจดีที่เราพบเจอได้ในศูนย์พยาบาลของโปเกม่อนเซ็นเตอร์ สนามเด็กเล่นจะมีสีชมพูและมีเจ้าลักกี้ยักษ์เป็นประธานของสวน แถมในจังหวัดเดียวยังมีสวนธีมสีชมพูนี้ถึง 4 สวนด้วยกัน
ทว่าการสร้างสวนธีมโปเกม่อนของเมืองไม่ได้เป็นแค่การสร้างพื้นที่สนุกๆ ด้วยความร่วมมือกับทางโปเกม่อนเฉยๆ แต่สวนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่แสนน่ารักเรียกว่า Pokemon Local Act ความร่วมมือระหว่างทางโปเกม่อนกับเมืองและส่วนท้องถิ่นต่างๆ ของญี่ปุ่นที่จะแต่งตั้งและใช้เจ้าโปเกม่อนให้เหมาะสม เข้าไปช่วยฟื้นฟูเมืองที่ได้รับผลกระทบจากแง่มุมต่างๆ เป็นทั้งทูตประจำเมืองและเป็นโปเกม่อนสนับสนุนเมืองเมืองนั้น
ปรากฏการณ์การใช้โปเกม่อนฟื้นฟูเมืองนี้ เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ใช้พลังของเกมและการ์ตูนไปทำงานในพื้นที่กายภาพ ตัวโครงการร่วมของโปเกม่อนนี้นอกจากจะมีแกนความคิดที่น่ารักมากๆ คือการให้โปเกม่อนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวแล้ว พวกมันยังจะช่วยทำหน้าที่เยียวยาจิตใจและบรรยากาศโดยรวมให้ผู้คนด้วย
สำหรับโปเกม่อนประจำเมืองที่ทำหน้าที่ช่วยฟื้นฟูเยียวยาเมือง เริ่มมอบหมายจริงจังในราวปี 2018 เป็นต้นมา เมืองที่ได้รับโปเกม่อนไปร่วมสนับสนุนเมืองส่วนใหญ่จะเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะจากภัยธรรมชาติ เช่น เมืองฟุกุชิมะที่บอบช้ำจากแผ่นดินไหว สึนามิ และปัญหาโรงไฟฟ้ารั่วไหล ซึ่งเจ้าลักกี้ได้รับเลือกให้ดูแลเมืองนี้ก็มีเหตุผลเฉพาะ รวมถึงโปเกม่อนอื่นๆ ที่พวกมันมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับพื้นที่กายภาพเหล่านั้น ทั้งเจ้ายาดอน (Slowpoke) ที่เป็นทูตประจำเมืองแห่งอูด้ง เจ้าโรคอน อโลลา (Alolan Vulpix) โปเกม่อนจิ้งจอกที่เหมาะกับภูมิประเทศภูเขาของฮอกไกโด เจ้าอิชิซึบุเตะ (Geodude) โปเกม่อนหินที่แค่ชื่อก็พอเดาได้ว่าทำไมถึงได้แต่งตั้งเป็นทูตประจำเมืองอิวะเตะ
The MATTER ชวนไปรู้จักโปเกม่อนในฐานะทูตประจำเมืองทั้ง 8 ตัว และวิธีที่เจ้าโปเกม่อนเหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือเมืองในแง่มุมต่างๆ ทั้งเข้าไปทำงานร่วมกันในระดับภาครัฐและภาคเศรษฐกิจของชุมชน ไปจนถึงพลังของเกมและการ์ตูน รวมถึงการใช้งานสื่อบันเทิงอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ
โปเกม่อนประจำเมืองทั้ง 8
เจ้าลักกี้เป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ Pokemon Local Act ร่วมกับโปเกม่อนอีก 7 ตัวที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลพื้นที่เป็นทูตประจำจังหวัดของญี่ปุ่น นอกจากลักกี้แล้วโปเกม่อนที่เหลือ คือโรคอน อิชิซึบุเตะ ยาดอน ลาพลาซ (Lapras) แซน (Sandshrew) ยาดอน มิจูมารุ (Oshawott) และนัชชี (Exeggutor) ซึ่งพวกมันมีความเกี่ยวข้องกับเมืองที่ตัวเองได้รับแต่งตั้งอย่างน่ารัก
เริ่มที่เจ้าลักกี้เป็นโปเกม่อนชุดแรกๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตและเป็นโปเกม่อนสนับสนุนประจำจังหวัดฟุกุชิมะในปี 2019 ซึ่งฟุกุชิมะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภัยพิบัติและปัญหาโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในปี 2011 ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เมืองจะนำเจ้าโปเกม่อนสีชมพูที่เป็นโปเกม่อนพยาบาลเข้าไปช่วยเยียวยาดูแลเมือง และที่น่ารักไปกว่านั้นคือชื่อของเจ้าลักกี้ยังพ้องกับชื่อเกาะฟุกุชิมะ ฟุกุ แปลว่าโชคดี แน่นอนว่าเมืองเองก็หวังว่าหลังจากนี้โปเกม่อนจะนำพาความโชคดีมาให้เมือง นอกจากชื่อและลักษณะของลักกี้จะเหมาะกับฟุกุชิมะแล้ว ยังมีจุดเด่นที่ไข่บนหน้าท้อง ซึ่งเมืองฟุกุชิมะก็ขึ้นชื่อเรื่องผลิตภัณฑ์จากไข่และความอุดมสมบูรณ์ด้วย
ภาพจาก local.pokemon.jp
ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษคือการแต่งตั้งเจ้ายาดอน โปเกม่อนสุดชิลสายพลังจิตเป็นทูตประจำจังหวัดคางาวะ เจ้ายาดอนเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ปี 2015 และได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2018 โดยมีสัมพันธ์กับจังหวัดคางาวะได้ญี่ปุ่นมากๆ คือจังหวัดนี้ขึ้นชื่อเรื่องอูด้ง ซึ่งชื่อเจ้ายาดอนก็พ้องกับคำนั้นจึงนำมาโปรโมตเป็นทูตของเมืองซะเลย นอกจากนี้เจ้ายาดอนยังเหมาะกับจังหวัดนี้อีกหลายแง่มุม คือตัวมันเองเป็นโปเกม่อนน้ำที่เรียกฝนได้และมีของเหลวที่หาง ทั้งนี้จังหวัดคางาวะยังเป็นจังหวัดที่ฝนตกน้อย และมีของขึ้นชื่อเป็นผลิตภัณฑ์ให้ความหวานที่เรียกว่า Rare Sugar
สำหรับฮอกไกโดก็มีการแต่งตั้งจิ้งจอกโรคอนและโรคอนร่างอโลลาเป็นทูตประจำเมืองในปี 2018 โดยฮอกไกโดเป็นเมืองหิมะและมีจิ้งจอกแดงเป็นสัตว์ประจำถิ่น ซึ่งการแต่งตั้งโปเกม่อนประจำเมืองนั้นส่วนหนึ่งก็เพื่อฟื้นฟูเมืองจากแผ่นดินไหวในปีเดียวกันนั้นเอง
ในทำนองเดียวกัน จังหวัดมิยากิและจังหวัดอิวาเตะที่อยู่ใกล้ๆ กันก็แต่งตั้งโปเกม่อนเป็นทูตเพื่อช่วยฟื้นฟูเมืองเช่นกัน โดย 2 เมืองนี้แต่งตั้งเพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากแผ่นดินไหวในปี 2011 จังหวัดอิวาเตะสมชื่อจังหวัดแห่งหิน จึงเหมาะกับเจ้าอิชิซึบุเตะที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในโทโฮคุรุนแรงที่สุด ส่วนจังหวัดมิยางิก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เป็นเมืองชายทะเลที่มีทิวทัศน์สวยงาม ลาพลาซเองเป็นโปเกม่อนขนส่งที่พาความเคลื่อนไหวและความสบายใจมาให้เมือง ทั้ง 2 เมืองนี้ได้ตั้งโปเกม่อนขึ้นในปี 2019
นอกจากการฟื้นฟูและเป็นกำลังใจให้เมืองที่ประสบภัยพิบัติแล้ว บางจังหวัดเลือกแต่งตั้งโปเกม่อนเป็นทูต เพราะเห็นพลังของเจ้าโปเกม่อนในมุมของการท่องเที่ยว จังหวัดทตโตริที่คุณติ๊ก—กัญญารัตน์ไปเที่ยวบ่อยๆ ในรายการเซย์ไฮ (Say Hi) ก็เป็นหนึ่งในนั้นคือ อยู่ๆ จังหวัดก็มีคนแห่ไปเที่ยวเพื่อไปจับเจ้าแซนที่โผล่ขึ้นมาในเกมโปเกม่อนโก ในปี 2017 มีตัวเลขว่าคนไปจับโปเกม่อนกว่า 80,000 คน โดยเมืองทตโตรินี้มีชื่อเสียงเรื่องเนินทราย ในปี 2018 ญี่ปุ่นจึงตั้งเจ้าแซนเป็นโปเกม่อนประจำเมืองซะเลย และก่อนหน้านี้ที่เมืองมิยากิก็เช่นเดียวกัน คือเกิดปรากฏการณ์คนแห่ไปจับเจ้าลาพลาซ
โปเกม่อน 2 ตัวสุดท้าย มีเรื่องราวน้อยและเป็นโปเกม่อนล่าสุดคือ เจ้านัชชี่ โปเกมอนต้นไม้เดินได้ ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตประจำจังหวัดมิยาซากิ แต่งตั้งในปี 2021 เมืองมิยาซากิขึ้นชื่อเรื่องผลไม้เขตร้อนและไม้ประจำเมืองมีไม้ตระกูลปาล์มมาก ล่าสุดคือเจ้ามิจูมารุ โปเกม่อนที่ชื่อพ้องกับจังหวะมิเอะซึ่งขึ้นชื่อเรื่องหอย โดยเฉพาะหอยมุกและหอยนางรมที่เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมขึ้นชื่อของมิเอะหรือเหล่าอามะ หญิงชราที่ดำน้ำตัวเปล่าเพื่องมหอย
ภาพจาก local.pokemon.jp
ไม่ใช่แค่แต่งตั้ง แต่คือการร่วมทำงานไปในพื้นที่เมือง
การแต่งตั้งโปเกม่อนจะช่วยเมืองได้คือ Local Act ค่อนข้างเป็นการทำงานร่วมกันในหลายๆ ด้าน เรียกได้ว่าหลายเมืองเล่นใหญ่เล่นโต เช่น ลงมือสร้างสนามเด็กเล่นหรือสวนขนาดใหญ่ตามโปเกมอนตัวนั้น นอกจากลักกี้แล้วจังหวัดอื่นอย่างคางาวะหรือมิยากิก็สร้างสวนยาดอนหรือสวนน้ำตีมลาพลาซด้วย
นอกจากสวนแล้ว สิ่งที่ทุกเมืองทำเหมือนกันและค่อนข้างฉลาดมาก คือการทำฝาท่อน้ำเป็นโปเกม่อนตัวนั้นแล้วกระจายไปยังเมืองย่อยในจังหวัดจังหวัดนั้น ฝาท่อจะเป็นเหมือนคอลเล็กชั่นให้เราไปตามถ่ายรูปเก็บ เป็นการพาคนลงไปยังพื้นที่ชุมชนในย่านและเมืองต่างๆ ของจังหวัดได้อย่างชาญฉลาด นอกจากฝ่าท่อแล้วบางจังหวัดก็จะจัดวันพิเศษ มีจัดทัวร์ทั่วเมือง และมีการล่าสะสมตราหรือของรางวัล
บางเมืองคือเล่นใหญ่มากกว่านั้น เช่น จังหวัดคางาวะ มีการเปิดสาธารณูปโภคของเมืองเป็นธีมโปเกม่อนไปเลย มีตู้ไปรษณีย์ยาดอน รถไปรษณีย์ ตราไปรษณีย์ รถเมล์ แท็กซี่ และอีกสารพัดที่เมืองจะนำยาดอนไปแต่งได้ เรียกว่าจุใจคนรักโปเกม่อนแบบที่มองไปทางไหนก็มีแต่ยาดอนกันไปเลย
ยิ่งไปกว่านั้น ญี่ปุ่นยังเชี่ยวชาญการทำงานกับธุรกิจท้องถิ่น เราจะเห็นการทำงานร่วมกันกับร้านค้า และร้านค้าต่างๆ ก็จะออกผลิตภัณฑ์ ออกขนม มาม่า ตกแต่งร้าน หรือทำโปรโมชั่น โดยมีเจ้าโปเกม่อนตัวนั้นเป็นลวดลายหรือเป็นธีมหลักของสินค้า มีอูด้ง พุดดิ้ง เครื่องดื่ม ไปจนถึงน้ำจิ้ม ของกระป๋อง ซีอิ๊ว น้ำส้ม และอื่นๆ อีกสารพัด
ความสนุกของ Pokemon Local Act คือการทำงานร่วมกับเมือง ทำให้เห็นว่าเกมและอนิเมะอันเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของญี่ปุ่น กลายเป็นความร่วมมือในระดับการบริหารเมืองได้อย่างไร สิ่งที่น่าสนใจคือเมืองเองก็ไหวตัวทัน หลายเมืองมองเห็นพลังของสื่อและเกมที่กระทบต่อพื้นที่เมืองจริงๆ จากปรากฏการณ์โปเกม่อนโกที่พาคนเป็นหมื่นๆ คนเดินทางไปยังจังหวัดเงียบๆ หรือการที่ทางโปเกม่อนเองก็ยินดีให้นำสิ่งมีชีวิตน่ารักที่ไม่มีอยู่จริงนี้เข้าไปช่วยเยียวยา เป็นทั้งกำลังใจและเป็นแรงขับเคลื่อนความสร้างสรรค์และเศรษฐกิจของจังหวัดจังหวัดนั้น ให้งอกงามจากบาดแผลที่เผชิญมาได้อย่างน่ารักและน่าดีใจ
นอกจากการใช้โปเกม่อนแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ ของญี่ปุ่นเองก็เป็นตัวขับเคลื่อนโปรเจ็กต์และการช่วยเหลือเมืองเองด้วย ทั้งการที่รัฐไม่มองข้ามสื่อต่างๆ และมีมุมมองที่ทันสมัย การใช้ตัวโปเกม่อนที่มีความหลากหลายและรอบด้านจริงๆ ไปจนถึงญี่ปุ่นมีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม ทำให้การเดินทางไปยังจุดต่างๆ ของพื้นที่ทำได้ง่ายและรวดเร็ว การฟื้นฟูจากความเคลื่อนไหวและการท่องเที่ยวจึงทำได้จริง เราสามารถไปจังหวัดข้างเคียงแบบเช้าเย็นกลับได้ ไปเที่ยวเป็นภูมิภาค หรือเป็นย่านได้อย่างสะดวก
อ้างอิงจาก