เมืองล็อกดาวน์ ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ออกจากบ้านไม่ได้ กิจการต้องปิด รัฐประกาศ พรก.ฉุกเฉิน
โรค COVID-19 ที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลก นอกจากจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศแล้ว มันยังทำให้เราเห็นสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป การจัดการปัญหาของรัฐบาลแต่ละแห่ง วิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจโลก ไปถึงอนาคตของโลก ที่อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาออนไลน์ในชื่อ ‘เจาะมุมมอง สามรัฐศาสตร์ ผ่ามหาวิกฤตโควิด-19’ โดยมีอาจารย์จากรัฐศาสตร์ทั้ง 3 สาขา อย่าง ‘ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์’ สาขาการเมืองการปกครอง, ‘ผศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ’ สาขาการระหว่างประเทศ และ ‘ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช’ จากสาขาบริหารรัฐกิจ ที่มาพูดคุยกันว่า ทั้ง 3 ท่าน มองวิกฤตนี้ กันในแต่ละมุมอย่างไรบ้าง ?
อะไรคือสิ่งสำคัญต่อรัฐ เมื่อเจอการคุกคามรูปแบบใหม่ ?
อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากสาขาการเมืองการปกครอง ได้เริ่มคุย ด้วยการยกตัวอย่างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในปี 1985 ที่การประชุมเจนีวา ระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และโซเวียต โรนัลด์ เรแกน และมิคาอิล กอร์บาชอฟ ในการสนทนาช่วงหนึ่ง ทั้งคู่ได้คุยกันว่า จะทำอย่างไร ถ้ามนุษย์ต่างดาวบุก หรือมีการคุกคามกับต่างดาว ซึ่งกอร์บาชอฟเองได้บอกว่า ยินดีที่จะช่วยเหลืออย่างไม่ต้องสงสัย ทำให้ อ.ชัยวัฒน์มองว่า สมัยนั้น เมื่อมีการคุกคาม ท่าทีของโลกจะเป็นไปในทางที่ร่วมมือกัน สามัคคีกัน มากกว่าวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้
“ถ้าเราไปดูพฤติกรรมของไวรัส มันเข้าไปอยู่ในตัวเราได้ มันก็ไม่แสดงอาการได้ แต่มันแพร่ได้ ผลของมันคือ จะทำให้ศักยภาพในการคุกคามมนุษย์คนอื่นประเมินค่าไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าใครติด มันเลยทำให้การสามัคคี เป็นหนึ่งเดียว แบบที่กอร์บาชอฟบอก มันเป็นไปได้ยาก เพราะเราไม่รู้ว่าเขาติดหรือเปล่า และจะมาติดเราไหม” อาจารย์กล่าว
นอกจากนี้ อ.ยังมองเห็นว่ายังมีบทเรียนทางรัฐศาสตร์ซึ่ง COVID-19 ได้เผยให้เราเห็น ใน 3 มุมใหญ่ๆ คือ เมื่อเกิดโรคระบาด และวิธีจัดการแบบนึงของรัฐคือ Social Distancing ที่ทำให้มนุษย์เว้นระยะห่าง ซึ่งต่างจากแนวคิดทฤษฎีการเมือง Social Contract ที่เชื่อว่ามนุษย์ต้องอยู่ในสังคมการเมือง มีสัญญาประชาคม แต่การที่ต้องเว้นระยะห่าง ได้ผลักเราจากสังคมการเมือง กลับไปสู่ธรรมชาติของมนุษย์ ที่อาจมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน และมองมนุษย์คนอื่นเป็นภัยได้เลยด้วย
ประเด็นที่ 2 การ Social Distancing เอง ยังมาควบคู่กับนโยบายให้ทุกคนอยู่บ้าน อ.ชัยวัฒน์จึงตั้งคำถามว่า บ้านคืออะไร ? และบ้านของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บ้านของเราอาจจะเหมาะกับการอยู่อาศัย แต่ขนาดบ้านก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่กับคนในบ้านด้วยกันได้ตลอดเวลา ทั้งถ้ามองในมุมของแรงงาน คนหาเช้ากินค่ำ บางทีบ้านของพวกเขาคือ การเช่าบ้านร่วมกัน หรือเรียกได้ว่า เป็นที่ซุกหัวนอน ไม่ใช่ที่ที่จะอยู่วันละ 24 ชั่วโมง แนวคิดว่าอะไรคือบ้าน จึงสำคัญมาก ว่ามันจะจัดการชีวิตรอบๆ ตัวเราอย่างไร
“เราพูดถึงโรคระบาดที่คุกคามความมั่นคง ตามมาข้อกำหนดทางการแพทย์มากมายที่จำเป็น” ความมั่นคง เป็นประเด็นที่ 3 ที่ อ.ชัยวัฒน์ชวนมอง โดยอาจารย์เล่าว่า ข้อกำหนดทางการแพทย์ คุณภาพสำคัญของระบอบทางสุขภาพ คือความเป็นลักษณะอำนาจนิยม ไม่ได้ถูกสร้างมาให้เป็นเสรีนิยม หรือประชาธิปไตย ซึ่ง ‘health regime’ แบบนี้ กลายเป็นระบอบการจัดการกับชีวิตของมนุษย์
ระบอบเลือกจะรักษาใคร ไม่รักษาใคร จะปล่อยให้ใครเสียชีวิต หรือได้รับการดูแล เพราะฉะนั้น ระบอบเห็นปัญหา และทำหน้าที่แก้ไขปัญหา ซึ่งภายใต้ระบบสุขภาพ มันทำให้ระบอบการเมืองมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจสูงขึ้น ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมาจากทางไหน จะเป็นการปกครองแบบใด ดังนั้นประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งคำถามคือ อะไรคือเสรีภาพ ภายใต้ระบอบสุขภาพที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดขนาดนี้ มันทำให้เกิดอะไรชึ้น ?
อาจารย์ได้สรุปว่า ทั้งหมดนี้นำมาสู่แนวคิดคือ ความมั่นคงแบบนี้ทำให้เราเห็นว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญ และไม่สำคัญในสังคมการเมือง และอะไรสำคัญมากกว่า โดยอาจารย์ยกตัวอย่างว่า หากตอนนี้ จะให้เลือกว่า ระหว่างปืน กับเครื่องช่วยหายใจ อะไรสำคัญกว่า เป็นใครก็ตอบได้ ทั้งงบประมาณทางทหาร แน่นอนว่ามีผลต่อความมั่นคงในการปกป้องประเทศ แต่ตอนนี้ คงไม่มีใครเลือกซื้อเรือดำน้ำเข้าบ้าน ในสถานการณ์แบบนี้
อ.ชัยวัฒน์ได้เปรียบภาพกับบ้าน ให้เราเห็นว่า หากตอนนี้เราทุ่มเงินไปกับการป้องกันโจรกรรม สร้างประตูที่แข็งแรง ล็อกที่มีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้ ในฐานะคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน เราควรคิดถึงบ้านที่มีระบบหายใจที่ดี แสงส่องผ่านได้ อยู่แล้วสบายใจ ซึ่งอาจารย์ได้ชี้ให้เห็น งบประมาณกลาโหมที่มีจำนวนมากกว่างบกระทรวงสาธารณสุขหลายเท่า และชวนตั้งคำถามว่า
“ภายใต้โลกที่ความมั่นคงใหม่ๆ เราควรใช้งบไปกับอะไร? ภายใต้โลกที่มีการคุกคามใหม่ๆ ควรใช้ทรัพยากรกับอะไร ความมั่นคงยังคิดแบบเดิมๆ ได้หรือเปล่า?”
ไวรัสทั้งเปลี่ยน และเปลือยโลกให้เห็นปัญหา
ในสาขาการระหว่างประเทศ อ.จิตติภัทร พูนขำ ได้มองว่า ในวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น มันทำให้โรคระบาดเป็นทั้ง เรื่องของการเมือง และเรื่องระดับโลก ทั้งถ้าดูที่ไวรัสเอง จะเห็นว่าไวรัสเป็นประชาธิปไตยสูงมาก ทุกคนมีโอกาศติดเชื้อได้หมด แต่โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และการรักษาไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งจุดนั้นเป็นการกำหนดว่าคุณคือใคร ใครควรจะได้รับการรักษาก่อน
อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า สุขภาพเป็นการเมือง เพราะมีเรื่องของการจัดการ ในขณะที่เป็นเรื่องระดับโลก เพราะมีประเด็นการเมือระหว่างประเทศ ทั้งในมิติของความเสี่ยง ดังนั้น “ไวรัสจึงทั้งเปลี่ยน และเปลือยโลก ให้เห็นว่าอะไรเป็นปัญหา หรือทางออกที่เราเคยคิดว่าใช่ อาจจะไม่ใช่ทางออก ทำให้เห็นพลวัตทางการระหว่างประเทศ”
ประเด็นแรกที่อาจารย์ชวนเราพูดคุยคือ เรื่องความสัมพันธ์ ซึ่งปกติจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ แต่ตอนนี้มันมาถึงตัวเรา พื้นที่ บ้าน การจัดการเวลา และในเชิงความสัมพันธ์ เราเห็นว่าอำนาจรัฐมีบทบาทสูงมาก เอื้ออำนวยให้รัฐเข้มแข็ง รวมศูนย์อำนาจได้มากขึ้น อย่างวาทกรรม สุขภาพมาก่อนเสรีภาพ รัฐละเมิดเสรีภาพได้มากขึ้น ในนามของสุขภาพ
ในวิกฤต COVID-19 อาจารย์ยังอธิบายถึง แง่ความสัมพันธ์รัฐต่อรัฐที่เปลี่ยนไป เช่น กรณีการปิดประเทศ ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ปกป้องทางการค้า กักตุนทรัพยากร อย่างหน้ากาก ควบคุมการมีวัคซีน รัฐห่างกัน มีความร่วมมือน้อยลง และเห็นความหนาของพรมแดนที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่ปิดประเทศ แต่สร้างพรมแดนแบบใหม่ ป้องกันเชื้อโรค ที่กีดกันคนอื่นออกไปด้วยกระบวนการทางการแพทย์ ไม่ใช่การเหยียดเชื้อชาติแบบเดิมๆ แต่เป็นแบบใหม่ มองว่าเป็นเชื้อโรคแทน
ขณะที่ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อคน เรายังเห็นว่า บางรัฐเข้มกับผู้คนในประเทศเยอะขึ้นในนามของสุขภาพ ตัวแบบประชาธิปไตย และอำนาจนิยมไม่ต่างกันเท่าไหร่ ประชาธิปไตยอาจจะทำให้โปร่งใสขึ้น แต่ก็มีอำนาจนิยมเพิ่มมากขึ้น บางรัฐดำเนินนโยบายผ่อนปรนมาก และบางรัฐ เราก็เห็นคนออกมาประท้วง ให้กลับไปเหมือนเดิม
ด้านความสัมพันธ์ของคนกับคน อาจารย์มองว่า เราจะได้เห็น racism หรือการเหยียดเชื้อชาติที่ต่างออกไป ทวีความรุนแรงขึ้น เช่นในเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ที่ต่อต้านคนจีนมากขึ้น แต่ในอีกมุมนึง แม้ประชาชนจะโดน Social Distancing แต่เราก็เห็นภาพคนออกมาร้องเพลง อวยพรวันเกิด ปรบมือให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นพลเมืองโลกนิยม ที่เห็นอกเห็นใจกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่จะเปลี่ยนไปแน่นอนคือเรื่องของระเบียบ World order ซึ่ง อ.จิตติภัทรชี้ว่า ส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ และระเบียบโลกใหม่ โดยการแข่งขันของจีน-สหรัฐ ที่เข้มข้น จะเร่งสู่การปรับเปลี่ยนระบบขั้วอำนาจ ทำให้ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นไปได้ยาก ส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก ต้องดูกันต่อไป
เงื่อนไข 2 ประเด็นที่อาจารย์นำมาพูดถึงคือ ในกรณีแรก หากสหรัฐยังคงไม่เล่นบทบาทนำ ไม่ทำบทบาทให้เป็นผู้นำโลก กับในกรณีที่จีนหยิบฉวยโอกาส สร้างความเป็นผู้นำ สร้างอำนาจ เข้าไปช่วยเหลือประเทศต่างๆ ก็น่าสนใจว่าอำนาจนำของโลกจะเปลี่ยนไปทิศทางไหน ซึ่งทิศทางของโลก 2 ขั้ว ก็อาจจะเปลี่ยนไปเร็วขึ้น โดยมีเชื้อโรคเป็นตัวเร่ง
อาจารย์ยังยกประเด็นที่ว่า COVID-19 ทำให้เราเห็นการปะทะกันที่เข้มข้นของระเบียบโลก 2 ชุด คือ เสรีนิยมที่วางบนบรรทัดฐานเสรี สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ที่พยายามผ่านก้าวข้ามรัฐชาติ กับระบบโลกแบบ Neo Westphalian ที่เน้นย้ำเรื่องของอำนาจอธิปไตย ไม่แทรกแซงอำนาจของรัฐอื่น สะท้อนออกมาผ่านระบบสุขภาพของโลก
นอกจากนี้ อาจารย์ยังชวนคิดถึง New normal ที่อาจจะเปลี่ยนไป แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เปลี่ยนไป อาจจะเป็น Old normal ของคนชายของอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไม่ได้อย่างเสรี การโดนรัฐควบคุม จับตา สอดส่อง หรือการไม่ได้ไปโรงเรียน หรือยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึง New normal บางอย่างที่อาจจะเป็น New abnormal ได้ เช่น รังเกียจคนติดโรค การฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น การรุงแรงในครอบครัว
ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น climate change ฝุ่น PM2.5 หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างๆ แม้ช่วงนี้อาจจะดูเงียบหายไปเพราะมีวิกฤต COVID-19 มาแทน แต่ อ.จิตติภัทรก็มองว่า แท้จริงแล้วประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้หายไป แต่เพียงแค่ถูกซ่อนแอบอยู่ และหากมองในเชิงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ COVID-19 ยังเปิดโอกาสในการสร้างระเบียบแบบแผนใหม่ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเศรษญกิจ การแพทย์ สาธารณสุข สร้างสังคมที่ลงทุนกับ Social Justice วางบนพื้นฐาน Cosmopolitan world ที่มองว่าคนเท่ากันด้วย
นโยบาย และการจัดการของรัฐ กับวิฤต COVID-19
เมื่อเกิดโรคระบาด อย่างที่อาจารย์ 2 ท่านแรกได้บอกไปแล้วว่า เราเห็นรัฐขึ้นมามีอำนาจในการจัดการ ออกนโยบายต่างๆ มากขึ้น ในมุมนี้ อ.ทวิดา ก็ได้มาพูดให้เราฟังว่า ในเชิงการออกแบบนโยบาย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นไปอย่างไรบ้าง
อาจารย์ชี้ให้เห็นปัญหาว่า ในนโยบายสาธารณะ กับการบริหารจัดการภาครัฐ ปัญหาใหญ่คือ คนที่ทำเรื่องนี้ มีความรู้แค่ไหน มีความรู้เรื่องประเด็นปัญหาแค่ไหน ทั้งจะเอาความรู้อะไรมาเติม เพื่อเข้าใจการจัดการปัญหา เพราะต้องทำความเข้าใจใหม่ โดยอาจารย์มองว่า เมื่อเกิดวิกฤต การบริการจัดการภาครัฐ ไม่ใช่แค่แก้ไขปรับแต่ง แต่ต้องเป็นการรื้อ รื้อรูปแบบเดิมเลยด้วย
ในสถาณการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น อ.ทวิดามองว่า ความรู้ทางเทคนิค เชิงแพทย์ ได้กลายเป็นอำนาจ ทั้งในการตัดสินใจ แต่ถึงอย่างนั้น อาจารย์ก็อธิบายว่า ความรู้เหล่านั้น แม้จะในทางวิทยาศาสตร์เอง ก็ไม่เสมอกัน หรือมีคำตอบที่แน่นอน โดยได้ยกตัวอย่างประเทศสวีเดน ที่ใช้นโยบายป้องกันไวรัสแบบ Herd Immunity โดยการปล่อยให้ประชาชนติดเชื้อ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่สามารถตอบได้ว่า วิธีการนี้ ดีกว่าประเทศอื่นๆ แน่นอนหรือเปล่า
อ.ทวิดา ยังเล่าว่า ในเชิงการบริหารรัฐหลังจากนี้ เรื่องของการกระจายอำนาจจะเป็นเรื่องซีเรียสมากขึ้น โดยเฉพาะ กระจายอำนาจทางการแพทย์ และสาธารณสุข ซึ่งจะมีการตั้งคำถามและดีเบทระหว่างการกระจายอำนาจ หรือรวมศูนย์อำนาจ แต่ถึงอย่างนั้น บางพื้นที่ก็มีอำนาจไม่เพียงพอที่จะกระจายลงไปได้ ดังนั้น new normal ใหม่ ที่จะเกิดขึ้น คือความเหลื่มล้ำ ที่เกิดขึ้นเท่ากันไม่ได้
ในมุมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อ.ทวิดา ได้มองถึงกฎหมายในไทยว่า ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่เก่ามากแล้ว และไม่ทันความรู้ ไม่มีการเติมช่องว่างความรู้ และคนใช้กฎหมายยังฝืนใช้กฎหมาย ไม่ปรับให้เข้าใจกับภาวะที่เกิดขึ้น
อย่างกฎหมายบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย กฎหมายควบคุมโรค และพระราชกำหนดการบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน ทั้ง 3 อย่างมีปัญหามาก เพราะเขียนไม่พอ กฎหมายขัดกันเอง รวมถึงคนใช้เอง ยังใช้ไม่เป็น เพราะไม่มีความรู้ ความเข้าใจ มุมของการเคลื่อนไหวของความรู้ใหม่จึงทำไม่ได้
รวมไปถึง การจัดการภาวะวิกฤต และให้ความช่วยเหลือของไทยในตอนนี้ อาจารย์ก็มองว่า ‘ไม่เป็นประชาธิไตย’ เพราะการจัดการวิกฤต ต้องจัดการให้คนที่เดือดร้อนได้ก่อน และได้มากกว่า ซึ่งนำมาสู่คำถามว่า คนที่เดือดร้อนมีจำนวนเท่าไหร่ ? โดยถ้าเป็นประเทศกำลังพัฒนา คนที่เดือดร้อนมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่ควรมากกว่าคนในสังคมส่วนใหญ่ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือ ตามหลักการควรไปหาคนพวกนี้เยอะกว่าปกติ
อาจารย์มองว่า หากจะทำได้นั้น สามารถทำได้สองอย่างคือ มีระบบข้อมูลดีมาก เพราะจะไม่สามารถบอกได้ว่าใครคือคนที่เดือดร้อนมาก และมาตรการแบบไหนที่จะเหมาะสม ไม่เช่นนั้น ก็จะเหมือนทุกวันนี้ หรือถ้า Big data ยังไม่เสร็จ รัฐต้องเป็นฝ่ายให้ก่อน
ดังนั้นอาจารย์สรุปว่า 2 สิ่งนี้นำมาสู่เรื่องของ Alteration design หรือการออกแบบที่ไม่เสมอกัน เพื่อให้คนแต่ละกลุ่มเสมอกัน แต่ว่ามันไม่ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายเรื่องความเป็นประชาธิปไตยของระบบให้สังคมที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ฟัง รวมถึงตัวผู้นำด้วย
นอกจากประเด็นนี้ที่อาจารย์ทั้ง 3 คนได้พูดไปแล้ว ยังมีอีกหลายมุมมองที่ได้นำมาพูดคุยกันเพิ่มเติมในไลฟ์นี้ ไม่ว่าจะเป็น มุมมองของ อ.ชัยวัฒน์ ต่อเรื่องผู้นำประเทศที่ประสบความสำเร็จต่อการรับมือ COVID-19 โดยเฉพาะ การพูดถึงประเทศที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำ แต่อาจารย์มองว่า นอกจากมองเรื่องเพศแล้ว เราต้องดูว่าพวกเขากล้าตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ แต่ก็รู้วิธีรับฟังผู้คน ที่ควรรับฟัง และเด็ดขาดในวิธีของเขา เขาเป็นผู้นำในฐานะว่าเห็นปัญหา และรู้ว่าจะทำยังไง และยังยกตัวอย่างไต้หวัน ที่มีนักระบาดวิทยาเป็นรองนายกฯ ดังนั้น ซึ่งเขาคิดไปไกลในการนำคนพวกนี้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งอาจารย์ยังเสนอว่า แม้แต่ละประเทศจะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่ในมุมนึงเราควรมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่อยู่นอกพรมแดนของเรา ไม่เพียงคิดถึงแค่ชาติของเราเอง เพราะวิกฤตนี้กระทบทั้งโลก และแม้จะมีการพูดว่าโลกาภิวัตน์จะถดถอยลง
แต่ในจุดนี้ อาจารย์ตั้งคำถามว่า ในเมื่อโลกได้เชื่อมโยงกันไปแล้ว ถ้าแค่ชาติเรารอด ที่อื่นไม่รอด เราจะอยู่ได้หรือเปล่า ?