COVID-19 ก็ยังอยู่ และยังมีสายพันธุ์ใหม่อีก การฉีดวัคซีนก็ยังคงไม่ทั่วถึงทั่วโลก จีน กับสหรัฐฯ ก็ดูยังตึงๆ เครียดกันอยู่ตลอด ขณะที่บางประเทศจะมีสมรภูมิแข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่เข้ามา แต่สถานการณ์การเมืองโลกปี 2022 ก็ยังมีอะไรให้เราติดตามต่อ
โดยเรื่องราวบางประเด็น ก็เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา ขณะที่บางประเด็นก็จะเกิดขึ้นใหม่ในปีนี้ ไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในโลกที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป มีผู้นำคนใหม่ๆ หรือคนเก่าในวาระใหม่เกิดขึ้น
ปีนี้ประเทศไหนจะเลือกตั้งบ้าง จะมีการประชุมหรืออีเวนท์อะไรเกิดขึ้น การเมืองเราจะคุกรุ่นแค่ไหน The MATTER รวบตึงมาพาไปดูแต่ละที่ว่ามีเหตุการณ์การเมือง และความสัมพันธ์อะไรที่เราควรต้องจับตา รวมถึงปีนี้ อาเซียน และไทย จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ?
เอเชีย
เกาหลีใต้ กับการเลือกตั้งใหญ่ และความสัมพันธ์ที่อาจเปลี่ยนไปกับเกาหลีเหนือ
มาถึงคิวของเกาหลีใต้ ที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ และเปลี่ยนตัวผู้นำ โดยการเลือกตั้งในประเทศนี้ จะเกิดขึ้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการตัดสินว่าประชาชนยังเชื่อมั่นในพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลีหรือไม่ หลังมุน แจอิน ผู้นำคนปัจจุบันนั้นเตรียมลาจากตำแหน่ง หลังครองตำแหน่งมาได้ 1 วาระ หรือ 5 ปี ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต
โดยครั้งนี้ พรรคประชาธิปไตย จะส่งลี แจมยอง อดีตผู้ว่าการกรุงโซลชิงตำแหน่งผู้นำนี้ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้คงไม่ง่ายสำหรับพรรคประชาธิปไตย เพราะด้านพรรคพลังประชาชน พรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมของเกาหลีนั้น ได้รับความนิยมมากถึง 31% -42% เลยทีเดียว จากคะแนนโพลล่าสุดนั้น
นอกจากการเลือกตั้งแล้ว มีการคาดการณ์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ น่าจะเป็นในทิศทางที่ดีขึ้น จากข่าวความพยายามของเกาหลีใต้ที่จะยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ รวมถึงการกล่าวสุนทรพจน์ปีใหม่ ของคิม จองอึน ที่เน้นพูดถึงปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องนิวเคลียร์ แต่ถึงอย่างนั้น แม้แนวโน้มดูจะดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ เนื่องจากเปิดปีใหม่มานี้ เกาหลีเหนือเองก็ได้เริ่มยิงขีปนาวุธไม่ทราบชนิด ลงทะเลตั้งแต่ วันที่ 5 มกราของปี
จีนกับการเป็นเจ้าภาพ Winter Olympic และการเพิ่มอำนาจสี จิ้นผิง ต่ออายุการเป็นผู้นำสมัยที่ 3
Winter Olympic หรือโอลิมปิกฤดูหนาวในปีนี้ จะเปิดขึ้นที่ปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ แต่สำหรับคนที่รอคอยการแข่งขันกีฬา ครั้งนี้การแข่งโอลิมปิกฤดูหนาวได้เต็มไปด้วยประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ประกาศคว่ำบาตรทางการทูต บอยคอตไม่เข้าร่วม เพื่อประท้วงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องของจีน ทั้งให้เหตุผลว่า กลัวว่าการแข่งนี้อาจกลายเป็นการฝึกโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้น คงไม่ได้กระทบแค่การแข่งกีฬาที่จะเกิดขึ้นในปีนี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาคธุรกิจ การค้าต่างๆ ระหว่างประเทศด้วย อย่างเช่นสหรัฐฯ ที่ได้ออกกฎหมายแบนการส่งออกสินค้าต่างๆ ที่ผลิตในอุยกูร์ของจีนมาแล้ว เป็นต้น
ด้านประเด็นในประเทศเอง ปีนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่เราต้องติดตามการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่จะจัดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ปีนี้ จะมีการประทับตรายาง รับรองการขยายระยะเวลาดำรงตำแหน่งของสี จิ้นผิง ซึ่งหากสำเร็จ จะเป็นการยืดเวลา ดำรงตำแหน่งผู้นำของสีเพิ่มอีกสมัยที่ 3 ในวาระ 5 ปี จากเดิมที่ผู้นำสูงสุดของจีนถูกจำกัดให้ดำรงตำแแหน่งแค่ 2 วาระเท่านั้น และยังเป็นการยืนยันตำแหน่งของสีในฐานะผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนนับตั้งแต่เหมา เจ๋อตงด้วย
ไต้หวัน ฮ่องกง และการถูกคุกคามประชาธิปไตย
ความสัมพันธ์ของจีน ไต้หวัน และฮ่องกง ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อในปีนี้ โดยจีนเองก็แสดงท่าทีแข็งกร้าวกับไต้หวัน และ ปธน.สีเองก็ระบุว่า การรวมชาติไต้หวันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง ปธน.ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันก็ออกมาบอกว่า ไต้หวันโดนจีนคุกคามมากขึ้นทุกวัน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีแผนรับมือ หากกรณีจีนบุกไต้หวันด้วย โดยหากมีการบุกจริง ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เองก็ได้ออกตัวแล้วว่า จะไม่อยู่เฉย และจะร่วมตอบโต้กับด้วย ซึ่งอาจทำให้พื้นที่เอเชียตะวันออกดุเดือดขึ้นมาได้ในปีนี้
ขณะที่ฮ่องกงเอง ก็ถูกคุกคามประชาธิปไตยมาตลอด และคาดว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลดงานศิลปะที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย และการแสดงออกทางการเมืองออกช่วงปลายปี ข้ามมาต้นปีนี้ ก็เปิดปีมาด้วยการมีสื่อปิดตัวถึง 2 สื่อ ทั้งที่ถูกบุกค้น รวมไปถึงที่ปิดเพราะหวาดกลัวกับกฎหมายความมั่นคงของจีน รวมถึงการตั้งข้อหานักกิจกรรมทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นอีกปีที่ประชาธิปไตยในฮ่องกง จะถูกท้าทาย
อินเดีย และอัฟกานิสถาน
แม้ว่าจะไม่ใช่การเลือกตั้งใหญ่ แต่ปีนี้อินเดียจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐอินเดีย ที่โมดี แห่งพรรค BJP ที่สูญเสียความนิยมไปมากในปีที่ผ่านมา จากทั้งปัญหา COVID-19 และการประท้วงของชาวนา จะพยายามฟื้นคะแนนนิยมของตัวเองอีกครั้ง รวมไปถึงสถานการณ์ของอัฟกานิสถาน ภายใต้การปกครองของตาลิบัน ที่มีทั้งวิกฤตการเงิน และประชาชนที่เริ่มอดอยาก ซึ่งเดวิด เบร์สเลย์ แห่งโครงการอาหารโลก ได้กล่าวว่า “เรากำลังดูผู้คน 23 ล้านคนเดินขบวนไปสู่ความอดอยาก และอีกหกเดือนข้างหน้าจะเป็นหายนะ”
อเมริกาเหนือ
เลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ และการเริ่มประกาศตัวลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2024
สำหรับการเมืองภายในสหรัฐฯ นั้น ปีนี้คงต้องจับตาการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งพรรคเดโมแครตจะพยายามไม่ให้พรรครีพับลิกันได้คะแนนเสียงเพื่อเข้าควบคุมวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ทั้งสำหรับสมรภูมิการเลือกตั้งใหญ่ปี 2024 นั้น ก็ต้องติดตามว่าจะมีใครที่ประกาศลงรับสมัครเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ มีการโดนัลด์ ทรัมป์ อดีต ปธน.ซึ่งยังคงเคลมว่าตนชนะการเลือกตั้งในปี 2020 ก็ถูกจับตาว่า จะประกาศลงชิงสมัยที่ 2 อีกครั้งหรือไม่ เช่นเดียวกับ โจ ไบเดนเอง ที่แม้จะเป็น ปธน.ที่มีอายุมากที่สุดแล้ว ก็มีแนวโน้วว่าเขาอาจจะชิงสมัยที่ 2 อีกครั้ง
ด้านปัญหาอื่นๆ ในประเทศสหรัฐฯ นั้น ก็ยังคงเป็นเรื่องของการจัดการ COVID-19 เศรษฐกิจที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และประเด็นที่เกิดความแตกแยกในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผู้อพยพ เชื้อชาติ และสิทธิในการทำแท้ง ซึ่งปีนี้จะมีการตัดสินของศาลทำให้ปีนี้ ประเด็นการทำแท้งถูกกฎหมายคงเป็นเรื่องที่ร้อนแรงมากในสหรัฐฯ ด้วย
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจนั้น สหรัฐฯ กับจีน และรัสเซียนั้น ด้านกับจีน สหรัฐฯ ก็ยังคงกดดัน และตรึงเครียดกันในเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งจะส่งผลไปยังด้านการค้า และเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุด สหรัฐฯ ก็ได้ออกกฎหมายจำกัดการนำเข้าจากซินเจียงแล้วด้วย รวมไปถึงการรุกรานไต้หวัน ที่สหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีเป็นกังวลต่อจีนด้วย ขณะที่รัสเซียนั้น ก็มีความตึงเครียดในเรื่องการยึดดินแดนของรัสเซียในยูเครน ที่เราต้องติดตามกันในปีนี้
ยุโรป
ความท้าทายของ EU
เป็นปีที่ประเทศในสหภาพยุโรปต้องเผชิญกับความตึงเครียดทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของการระบาดของ COVID-19 ที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งตอนนี้ประเทศในยุโรปไม่ว่าจะฝรั่งเศส เยอรมนีต่างก็มียอดผู้ติดเชื้อหลักแสนต่อวัน ทั้งยังมีความท้าทายเรื่องผู้อพยพ และการย้ายถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยจากเบลารุส หรือตะวันออกกลาง ไปถึงความตึงเครียดของรัสเซีย และยูเครน ทั้งยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ หลังจัดการประชุมใหญ่ COP26 ไปเมื่อปีที่ผ่านมาด้วย
เยอรมนี ยุคโพสต์แมร์เคิล และการเลือกตั้งที่น่าจับตาในฝรั่งเศส และฮังการี
พูดถึงผู้นำ EU หรือผู้นำเยอรมนีที่โดดเด่น ก็ต้องนึกถึง ‘อังเกลา แมร์เคิล’ ซึ่งเธอดำรงตำแหน่งผู้นำของเยอรมนีมายาวนานถึง 16 ปี แต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เธอได้ลงจากตำแหน่ง และปลดเกษียณตัวเองในทางการเมือง ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมากของประเทศ ภายใต้ โอลาฟ ชอลซ์ นายกฯ คนใหม่ และรัฐบาลผสม ที่นำโดยพรรคสังคมนิยม SPD
ด้วยความเป็นรัฐบาลผสม ชอลซ์ต้องพยายามรวบรวมความสามัคคีของรัฐบาลผสม ทั้งจากพรรคสังคมนิยม พรรคเสรีนิยม และพรรคกรีน ที่มีอุดมการณ์บางอย่างต่างกัน เพื่อแก้ปัญหาทั้งเรื่องการระบาดของไวรัส และสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในเวทีระหว่างประเทศเอง เยอรมนีกำลังจะต้องรับไม้ต่อการเป็นผู้นำ G7 ต่อจากสหราชอาณาจักร ซึ่งชอลซ์จะกลายเป็นเจ้าภาพผู้นำของประเทศระบอบประชาธิปไตยชั้นนำของโลก ที่จะมีการประชุมสุดยอดในเดือนมิถุนายนนี้ด้วย
ด้านการเมืองเอง นอกจากเยอรมนีแล้ว ฝรั่งเศสก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีการเลือกตั้งรอบแรกในเดือนเมษายน การเลือกตั้งนี้ เป็นการเดิมพันสมัยที่สองของอิมมานูเอล มาครง ซึ่งแม้ว่าตอนนี้มาครงจะยังคงมีคะแนนนำอยู่ในโพลต่างๆ แต่ก็มีความท้าทายจากคู่แข่งอย่าง วาเลอรี เปเครส จากพรรคอนุรักษ์นิยม
ที่ผ่านมามาครงถูกมองว่าเป็นผู้นำที่มีความเป็นชนชั้นสูง เลือกนโยบายลดภาษีให้คนมั่งคั่ง และเสนอให้ขึ้นภาษีน้ำมัน จนจุดชนวนให้เกิดการประท้วงของคนงานมาแล้วในปี 2018 จึงต้องติดตามว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ เขาจะหาเสียงกับคนชนชั้นแรงงานอย่างไร รวมถึงฝรั่งเศสเอง ยังรับตำแหน่งประธานของสหภาพยุโรป มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ดังนั้นมาครงจะกลายมาเป็นผู้นำคนสำคัญของสหภาพ EU ภายหลังยุคแมร์เคิลได้หรือไม่ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย
อีกหนึ่งการเลือกตั้งที่น่าจับตาในยุโรป จะเกิดขึ้นในประเทศฮังการี ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะตัดสินว่าฮังการีจะยิ่งเป็นลัทธิอำนาจนิยมมากขึ้นหรือไม่ จากการกลับมาชิงตำแหน่งอีกครั้งของ วิคเตอร์ ออร์บาน นายกฯ ฮังการีที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 12 ปี โดยเขาเป็นคนที่เปลี่ยนฮังการีให้กลายเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ ที่มีรูปแบบในตัวเอง ซึ่งลดทอนเสรีภาพของสื่อมวลชน บ่อนทำลายความเป็นอิสระของการพิจารณาคดี และล่าสุดยังประกาศแบนเนื้อหาที่เห็นว่าส่งเสริมการรักร่วมเพศในประเทศด้วย
โดยครั้งนี้ คู่แข่งของออร์บาน แตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เพราะพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรคได้รวมตัวกันส่งผู้สมัครคนเดียวอย่างปีเตอร์ มาร์ค-เซย์ นายกเทศมนตรีชาวคาทอลิกจากเมืองเล็กๆ ซึ่งจากโพลล่าสุดนั้น ทั้งคู่มีคำแนนที่สูสีกันมากๆ จึงอาจเป็นการล้มตำแหน่งของออร์บานที่ครองมายาวนานในการเลือกตั้งฮังการีนี้ได้
อเมริกาใต้
เลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล และโคลอมเบีย
การเมืองที่น่าติดตามที่สุดในอเมริกาใต้ในปีนี้ คงเป็นการเลือกตั้งบราซิลในเดือนตุลาคม ซึ่งฌาอีร์ โบลโซนารู ผู้นำฝั่งขวาจัดจะลงชิงตำแหน่งอีกครั้ง แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กับนโยบายหละหลวมในการจัดการโรค COVID-19 จนทำให้ชาวบราซิลเสียชีวิตจำนวนมาก และถูกฟ้องในที่สุด ไปถึงนโยบายสิ่งแวดล้อม ที่ทำลายป่าอเมซอนจำนวนมาก
การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการสู้กันของคู่ปรับเก่า อย่างลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา หรือลูลา อดีตประธานาธิบดีจากพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย ที่ถูกจำคุก และตั้งขอหาคอร์รัปชั่น แต่ภายหลังผู้พิพากษาสูงสุดคว่ำคำตัดสินของศาลชั้นต้น ทำให้เขาพ้นจากข้อหาทุจริต รับสินบน และถูกปล่อยตัวในที่สุดในเดือนเมษายนปีที่ผ่าน ซึ่งจากโพลล่าสุดนั้น ก็ปรากฏว่าลูลา จะสามารถเอาชนะการเลือกตั้งไปได้ ด้วยคะแนนโหวต 46% ต่อ 23% ของโบลโซนารู ดังนั้นหากไม่มีอะไรพลิกโผ เราอาจได้เห็นผู้นำบราซิลคนใหม่กันในปีนี้
นอกจากบราซิลแล้ว โคลอมเบียก็เป็นอีกประเทศที่จะมีการเลือกตั้งเช่นกัน โดยอิวาน ดูเก้ มาร์เกซ ปธน.ขวาจัดคนปัจจุบันนั้น ได้กลายเป็นผู้นำที่มีคำแนนนิยมตกต่ำที่สุดของประเทศตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา ด้วยคะแนนไม่ยอมรับที่มากถึง 70% แต่ปีนี้ ดูเก้จะไม่สามารถลงชิงตำแหน่งได้แล้ว และมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ในโคลัมเบียอาจจะเปลี่ยนไป โดยแม้ว่าจะมีผู้สนับสนุนผู้นำ และพรรคขวาจัดจำนวนมาก แต่ก็มีแนวโน้มว่า ผู้ลงคะแนนเสียงอาจโน้มออกมาสนใจผู้สมัครสายกลางมากขึ้นด้วย
ติดตามผลงานผู้นำคนใหม่ วัย 35 ของชิลี
แม้การเลือกตั้งจะผ่านไปแล้ว แต่ก็เป็นที่น่าจับตาในผลงานของผู้นำชิลีคนใหม่ กาเบียล บอริก อดีตเคลื่อนไหวในกลุ่มนักศึกษาวัย 35 ปี ซึ่งเขามาพร้อมคำสัญญาอย่างการจัดระเบียบเศรษฐกิจ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนได้มีอากาศบริสุทธิ์ รวมไปถึงสถานการณ์ของชิลีเอง หลังการลงประชามติ และมีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ปลดแอกจากฉบับเดิม ที่ถูกร่างโดยเผด็จการทหารยุคปิโนเชต์
ปัญหาเก่าของเวเนซุเอลา และประเทศลาตินกับการจับตาดูนโยบายแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในภูมิภาค
ประเด็นอื่นๆ ในละตินอเมริกา คือเรื่องเดิมที่ยังประสบมาหลายปี ข้ามมาถึงปี 2022 ด้วย อย่างวิกฤตทางการเมืองและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแม้จะมีรัฐบาลของ ฮวน กุยโด ที่สถาปนาตัวเองเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ และได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ แต่ถึงอย่างนั้น นิโคลัส มาดูโร ก็ยังคงครองตำแหน่งผู้นำ และมีอำนาจหลายๆ อย่างภายในประเทศ
ปีนี้ ประเทศมหาอำนาจก็ยังคงมีบทบาทในภูมิภาคนี้ ประเทศในละตินอเมริกาส่วนใหญ่จะติดตามการแข่งขันทางอิทธิพลระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากประเทศในภูมิภาคนี้ ต้องพึ่งพาทั้งสองมหาอำนาจทั้งในด้านเศรษฐกิจการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งแม้ว่าสหรัฐฯ จะมีภูมิรัฐศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับประเทศแถบนี้มากกว่า แต่จีนเองก็สนใจลงทุนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในอเมริกาใต้มากขึ้นเรื่อยๆ จากแผน 1 Belt 1 Road ด้วย
แอฟริกา
เลือกตั้งเคนยา
อาจจะดูเป็นประเทศที่ห่างไกลจากเรา แต่ในประเทศแถบแอฟริกาที่จะมีการเลือกตั้งสำคัญในเดือนสิงหาคม ปีนี้ คือเคนยา ที่จะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำแน่นอน เนื่องจาก อูฮูรู เคนยัตตา ปธน.คนปัจจุบันนั้น ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ในปีนี้ เนื่องจากครบ 2 วาระการทำงาน และไม่สามารถลงต่อได้ในสมัยที่ 3 จึงจะเป็นการแข่งขันของ วิลเลียม รูโต ที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อจากเคนยัตตา และไลเรีย โอดินกา ซึ่งจะต้องหาเสียงกันถึงความท้าทายต่างๆ ในประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องครองชีพที่สูง การว่างงาน ความอดอยาก การระบาดใหญ่ของ COVID-19 และการทุจริต
COVID-19 การเร่งฉีดวัคซีน โรคระบาดอื่นๆ และพื้นที่ของการก่อการร้ายระหว่างประเทศ
1 ในปัจจัยที่จะทำให้โรคระบาดไวรัสโคโรนาจบลง คือประชากรทั่วโลกต่างต้องได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ดังนั้นปี 2022 ภูมิภาคที่จะเป็นคีย์หลักในเรื่องนี้ คือแอฟริกา โดยประชากรในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นจึงเป็นคำถามว่าจะมีการเลี่ยงการผูกขาดวัคซีนของประเทศที่พัฒนาแล้ว และแจกจ่ายวัคซีนให้ภูมิภาคนี้อย่างทั่วถึงหรือไม่ ทั้งการพบสายพันธุ์ล่าสุด อย่าง ‘โอไมครอน’ เอง ยังพบในประเทศในแถบแอฟริกาด้วย ยิ่งเป็นการย้ำเตือนว่า หากภูมิภาคนี้ไม่ได้วัคซีนอย่างทั่วถึง ก็มีผลต่อการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มากขึ้นด้วย
ทั้งแอฟริกายังเป็นภูมิภาคที่ไม่ได้เผชิญกับแค่โคโรนาไวรัสเพียงอย่างเดียว โดยการสำรวจพบว่า ประชากรประมาณ 25 ล้านคนที่จะเผชิญกับโรค HIV-Aids ในปี 2022 และมาลาเรียอีกกว่า 400,000 คนเป็นปกติประจำปี รวมไปถึงวัณโรค หรือเบาหวาน ซึ่งการรักษาโรคเหล่านี้อาจจะแย่ลงไปอีก เนื่องจากระบบสาธารณสุขได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19
นอกจากโรคระบาด ความขัดแย้งอื่นๆ ในทวีปนี้ ก็น่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะสงครามกลางเมืองในเอธิโอเปีย หรือซูดาน หลายประเทศอย่างซูดานเองล้มละลายทางการเงิน รวมทั้งหลายประเทศก็เผชิญกับความอดอยาก และความอยากจนอีก โดยตามรายการเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินปี 2022 ของคณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ 12 ใน 20 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลงนั้นอยู่ในแอฟริกา
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการวิเคราะห์ว่า ภูมิภาคนี้จะกลายเป็นศูนย์รวมแห่งใหม่สำหรับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ แทนที่ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภาค Sahel (ภาคกึ่งกลางของแอฟริกาตะวันตกและเหนือ) ที่เราได้เห็นกลุ่มอิสลามนิยมหัวรุนแรงที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบ้านเกิด แต่แสดงความจงรักภักดีต่อเครือข่ายทั่วโลก เช่น อัลกออิดะห์ และ IS ซึ่งประเทศตะวันตกเองก็จะจับตา และตอบโต้ความรุนแรงของกลุ่มจิฮาดเหล่านี้มากขึ้น ผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศ
ตะวันออกกลาง
อิหร่าน อิสราเอล สหรัฐฯ และการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์
สำหรับปีนี้ มีการคาดการณ์ว่า ตะวันออกกลางอาจไม่ได้กลายเป็นศูนย์กลางการทูตระดับโลก เนื่องจากโจ ไบเดนเอง ได้ประกาศว่า ได้หันความสนใจไปที่ภัยคุกคามในอินโดแปซิฟิก แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะยังคงมีความตึงเครียดระหว่างอิหร่าน และสหรัฐฯ กับอิสราเอลอยู่ ไม่ว่าจะจากประเด็นที่อิหร่านต้องการให้ทรัมป์รับโทษจากการสังหารอดีตนายพลกาเซ็ม โซไลมานี, การร่วมมือของอิสราเอล และสหรัฐฯ ในทั้งด้านทหาร หรือเศรษฐกิจ เพื่อกดดันอิหร่าน
แต่ถึงอย่างนั้นเราก็เห็นความพยายามร่วมมือ อย่างการเปิดปีมาด้วย การกลับมาเจรจาเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างตัวแทนชาติต่างๆ เช่นสหรัฐฯ และอิหร่าน หลังจากที่สหรัฐฯ ในสมัยทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงไป โดยที่ทั้งคู่ต่างส่งสัญญาณความเต็มใจที่จะกลับเข้าร่วมความตกลงนี้อย่างเต็มที่อีกครั้ง ทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลเอง ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า อิสราเอลไม่คัดค้านข้อตกลงที่ดี และ อิสราเอลและพันธมิตรระหว่างประเทศกำลังดำเนินการอภิปรายอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับข้อตกลงที่ดีเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย แต่ก็ต้องติดตามว่าการเจรจาจะบรรลุหรือไม่ เพราะหากล้มเหลว สหรัฐฯ ก็คงยังจะคว่ำบาตรอิหร่านต่อไป
นอกจากความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ที่มีอิทธิพลในภูมิภาคนี้แล้ว ก็มีการคาดการณ์ว่าจีน จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองก็ดูหันเหไปสนใจจีนมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจทำให้ขั้วอำนาจต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไป
เจ้าภาพฟุตบอลเวิร์ลคัพในการ์ตา ครั้งแรกที่ชาติอาหรับ และมุสลิมเป็นเจ้าภาพ
นอกจากการเมืองระหว่างประเทศ หรือความขัดแย้งต่างๆ แล้ว ปีนี้ยังเป็นปีที่ประเทศในตะวันออกกลางอย่างการ์ตาจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลเวิร์ลคัพ 2022 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศอาหรับหรือประเทศมุสลิมเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน โดยคาดว่าจะเป็นโอกาสต่างๆ ให้ประเทศในแถบอ่าว ทั้งในด้านธุรกิจ และการท่องเที่ยวในอนาคต แต่ถึงอย่างนั้นสำนักข่าว The Guardian ก็เปิดเผยว่าการถูกเลือกเป็นเจ้าภาพของการ์ตานั้น มีข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต รวมถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างไม่ถูกต้องด้วย
ทั้งการ์ตาเองยังเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิสตรี ไปถึง LGBTQ+ แต่ประเด็นเหล่านี้จะถูกกลบไปด้วยการมองถึงประเด็นของการแข่งขันกีฬา ซึ่งทำให้มีการมองว่าปี 2022 นั้น เป็นตัวอย่างที่สำเร็จของการใช้กีฬามาลบล้างภาพลักษณ์ด้านลบ หรือเรียกว่า ‘sports-washing’
อิสราเอล-ปาเลสไตน์
ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศยังคงอยู่ โดยเฉพาะในเขตเวสแบงก์ ที่ขาดกระบวนการเจรจา และสันติภาพอย่างจริงจิง ซึ่งเหตุการณ์การโจมตีที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมานั้น ก็ไม่มีการรับรองได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกในปีนี้
โดยล่าสุด ยาเออร์ ลาปิด รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลได้กล่าวกับนักข่าวว่า เขาคาดว่าปีนี้ อิสราเอลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น ‘an apartheid state’ หรือรัฐที่แบ่งแยกเชื้อชาติ และ “ในปี 2022 มันจะเป็นภัยคุกคามที่จับต้องได้” เขาคาดการณ์ โดยเขาชี้ไปที่การรณรงค์ต่อต้านอิสราเอลของชาวปาเลสไตน์ในศาลอาญาระหว่างประเทศและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก และการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนถาวรของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย รวมถึงปฏิเสธว่าอิสราเอลไม่ใช่ชาติที่แบ่งแยกเชื้อชาติด้วย
อาเซียน และไทย
เลือกตั้งฟิลิปปินส์ การกลับมาของตระกูลมากอส
มาถึงเพื่อนบ้านอาเซียนเรา ก็มีการเลือกตั้งที่น่าจับตาที่จะเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ โดยการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมนั้น โรดริโก ดูเตอร์เต ปธน.คนปัจจุบัน จะไม่สามารถลงชิงตำแหน่งได้อีกสมัย แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีการมองว่าประชานิยมแบบเผด็จการของเขายังไม่จบสิ้นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปีนี้ เฟอร์ดินานด์ บองบอง มากอส จูเนียร์ ลูกชายคนเดียวของเผด็จการเฟอร์ดินาน มากอส จะลงชิงตำแหน่ง โดยร่วมทีมกับซารา ดูเตอร์เต-คาร์ปิโอ ที่จะลงชิงตำแหน่งรอง ปธน.
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า หาก บองบอง มาร์กอส และดูเตอร์เต-คาร์ปิโอได้รับชัยชนะ จะทำให้วัฒนธรรมการพ้นผิดไม่ต้องรับโทษยิ่งแย่ลงไปอีกสำหรับการวิสามัญฆาตกรรมในสงครามยาเสพติด รวมไปถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน และการคุกคามเสรีภาพสื่อด้วย
แต่ถึงอย่างนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ก็น่าจับตา และคาดว่าจะดุเดือดมาก เพราะยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า บองบองจะคว้าตำแหน่งไปได้ เพราะเขายังมีคู่แข่งอีกอย่างน้อย 4 คน ไม่ว่าจะเป็นแมนนี่ ปาเกียว นักมวยชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นวุฒิสมาชิก และเลนี โรเบรโด รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เป็นต้น
การต่อสู้ของพลเรือน และรัฐบาลทหาร รวมถึงท่าทีของชาติอาเซียนต่อพม่า
สถานการณ์การต่อสู้ระหว่างพลเรือน และรัฐบาลทหารในพม่า เป็นเรื่องที่เดือดข้ามปี ซึ่งมีหลักฐานและรายงานว่า หลังรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 รัฐบาลทหารใช้วิธีทั้งเผาคน ยิง ขับรถชน ไปถึงเผาทำลายหมู่บ้าน จนเกิดเหตุการณ์ผู้ลี้ภัยหนีวิกฤตข้ามมาทางแม่สอด ประเทศไทย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ก็ยังคงต่อเนื่องมาในถึงปีนี้ โดยปีนี้ ตามรายการเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินปี 2022 ของคณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศพม่ายังติดอันดับ 1 ใน 20 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลงด้วย
โดยเกือบจะครบ 1 ปีแล้ว สำหรับการรัฐประหารของรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ยังคงเมินเฉยต่อความพยายามของนานาชาติ ขณะที่ท่าทีของอาเซียนเอง ก็ไม่ได้มีการกดดันหรือมีแนวทางให้รัฐบาลพม่าลดการใช้ความรุนแรงกับประชาชนเลย มีเพียงการประกาศไม่แทรกแซงกิจการภายใน รวมถึงผู้นำกัมพูชา และประธานอาเซียนคนใหม่ในปีนี้ อย่าง ฮุน เซน ก็มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ที่มีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารมากขึ้น โดยการจะเดินทางไปเยือนพม่าในวันที่ 7-8 มกราคมนี้ ทั้งเขายังยืนยันว่าอยากให้ชาติอาเซียนมีครบ 10 ประเทศด้วย
ดังนั้นภายใต้การนำอาเซียนของกัมพูชาในปีนี้ เราคงเห็นภาพการสนับสนุนรัฐบาลทหาร มากกว่าการกดดัน หรือขอให้มีการเจรจากับประชาชนอย่างสันติด้วย
การประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คูหาเลือกตั้งผู้ว่า กทม. จะมาไหม และนายกฯ จะดำรงตำแหน่งได้เกิน 8 ปีหรือไม่ ?
สำหรับสถานการณ์ระหว่างประเทศ ปีนี้ไทยมีโอกาสจะได้เฉิดฉายแสดงความเป็นผู้นำ กับการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด APEC ในเดือนพฤศจิกายน โดยรัฐบาลหวังจะต้อนรับโจ ไบเดน และผู้นำชาติอื่นๆ มาเยือนกรุงเทพฯ ขณะที่ประเด็นภายในประเทศเราอื่นๆ ก็ยังร้อนแรง และได้รับความสนใจจากนานาชาติอยู่ อย่างการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไปถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน การใช้กฎหมาย ม.112 ในไทย และการคุมขังนักกิจกรรมโดยไม่ให้สิทธิการประกันตัว ซึ่งก็เป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกที่ประเทศไทยมักต้องตอบคำถามกับต่างชาติ และคาดว่าปีนี้เหตุการณ์เหล่านี้จะยังเกิดขึ้น
มาถึงการเลือกตั้งบ้าง หลังจากปีที่แล้ว เรามีการเลือกตั้งท้องถิ่นกันไป ในปีนี้ ก็คาดว่า เราจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยเริ่มจาก กทม. หลังจากที่ไม่มีโอกาสได้เลือกกันมาถึงเกือบ 9 ปี และมีผู้ว่าฯ คนล่าสุดจากการแต่งตั้งของ คสช. แต่หลังจากที่ผู้สมัครของหลายพรรค และผู้สมัครอิสระทยอยเปิดตัวมาพร้อมแคมเปญต่างๆ ซึ่งเราคงได้เห็นสีสันของการหาเสียง รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่ผู้สมัครแต่ละคนนำมานำเสนอกัน
แต่ตามวาระ และระยะเวลาแล้ว เราจะยังไม่มีการเลือกตั้งนายกฯ ในปีนี้ แต่คำถามสำคัญที่จะมีการถกเถียงกันในปีนี้ คือเมื่อถึงเดือนสิงหาคมนี้ นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งทั้งจากการรัฐประหาร และการเลือกตั้ง ครบ 8 ปี ซึ่งถือว่าขัดกับข้อความในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่ระบุว่า “..นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่..” ดังนั้น แม้ว่าจะมีการพูดถึงประเด็นนี้กันมาตั้งแต่ปลายปีแล้ว แต่คาดว่ากลางปีนี้ เราจะเห็นการถกเถียงกันอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ The MATTER ได้สรุปความเป็นไปได้ไว้ 3 ทาง คือ
- ต้องพ้นแน่ๆ ภายในปีนี้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้เช่นนั้น แทบไม่ต้องตีความอะไรเลย – 24 ส.ค.2565 ก็บอกลากันได้เลย
- การนับวาระนี้ต้องเริ่มจากวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เริ่มประกาศใช้ 6 เม.ย.2560 – นั่นคือจะไปสิ้นสุด 6 เม.ย.2568
- การนับวาระต้องเริ่มนับจากการเป็นนายกฯ รอบล่าสุด คือ 9 มิ.ย.2562 ต่างหาก เพราะสมัยเป็นนายกฯ รอบแรก รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังไม่ประกาศใช้เลย – นั่นคือจะไปสิ้นสุด 9 มิ.ย.2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า
ซึ่งจะเป็นไปในทิศทางไหน นายกฯ ของเราจะยังเป็นคนเดิมไหม เราคงต้องรอดูกลางปีนี้
อ้างอิงจาก