“ความลำบากในช่วงนี้ลูกอาจจะต้องแบกรับมัน ความสมบูรณ์ของครอบครัวเราอาจยังไม่เกิดขึ้นในตอนนี้ แต่ปลายทางพ่อเชื่อว่าครอบครัวของเราจะได้อยู่ด้วยกันอย่างสมบูรณ์ในสังคมที่ดีกว่าเดิม”
เสียงโซ่กุญแจเท้ากระทบกับพื้นดัง กริ๊ง กริ๊ง กริ๊ง คล้ายเป็นสัญญาณที่บอกเราว่า ทนายอานนท์—อานนท์ นำภา จะมาถึงห้องพิจารณาคดีหมายเลข 902 ในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้า เขามาที่ศาลอาญาเพราะมีนัดพิจารณาคดีมาตรา 112 ปมถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันกษัตริย์บนเฟซบุ๊ก
อานนท์ปรากฏตัวด้วยชุดผู้ต้องขังสีส้มหม่น ผมสั้น เท้าเปลือยเปล่า และดูย่างเดินไม่ถนัดนักเนื่องจากพันธนาการบนข้อเท้า ภาพอานนท์ในชุดผู้ต้องขังที่เห็นตรงหน้า คือ ภาพของ ‘พ่อ’ ที่ลูกสาวและลูกชายตัวน้อยๆ ต้องเห็นทุกครั้งเมื่อมีโอกาสได้พบเจอกันในศาล สถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่ครอบครัวนี้จะได้พบกันพร้อมหน้า
เป็นธรรมดาที่เด็กน้อยจะยังไม่เข้าใจบรรยากาศของการพิจารณาคดี ลูกชายอายุ 1 ขวบของอานนท์มักส่งเสียงร้องอ้อแอ้ด้วยความไม่รู้ประสาเป็นระยะๆ เรียกรอยยิ้มมุมปากให้ใครหลายคนโดยไม่ตั้งใจ ขัดกับบรรยากาศตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้นภายในคอกพยานหน้าบัลลังก์ศาล ระหว่างที่ทนายและอัยการซักถามพยานฝ่ายโจทก์อย่างเข้มข้น
อานนท์เข้าเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 หลังศาลอาญาพิพากษาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงสั่งจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าไปขึ้นปราศรัยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกฯ ขณะนั้น) ลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุม ‘ม็อบ 14 ตุลา’
คุกไม่เพียงพรากอิสรภาพจากอานนท์ แต่ยังพรากคนเป็นพ่อจากลูกและครอบครัวด้วย
ทันทีที่อานนท์นั่งลงบนเก้าอี้นอกคอกพยาน เราขยับเข้าไปนั่งข้างๆ เพื่อเริ่มบทสนทนาว่าด้วยเรื่องความเป็นพ่อและราคาที่ต้องจ่าย
[ หมายเหตุ: ข้อความและจดหมายที่จะได้อ่านถัดจากนี้ ได้รับการอนุญาตจากอานนท์และครอบครัวแล้ว ]
“…ในเรือนจำทุกครั้งที่พ่อได้ยินเพลงของโบกี้ (bowkylion) พ่อจะนึกถึงปราณ เพลงนี้ปราณชอบร้องเวลาพ่อขับรถไปส่งที่โรงเรียน ตอนนี้ไม่มีพ่อคอยรับส่งแล้ว ปราณต้องอยู่ให้ได้ ต้องทำหน้าที่พี่สาวดูแลน้องแทนพ่อ ใช้ชีวิตที่ต้องอดทนและอยู่กับความจริงให้ได้ พ่ออยู่ทางนี้ก็จะอยู่ให้ได้เช่นกัน…”
กำแพงสูงของเรือนจำไม่สามารถกักขังความคิดถึงของพ่อท่ีมีต่อลูกได้ ในช่วงที่ผ่านมาอานนท์ใช้โควตาเขียนจดหมายวันละ 1 ฉบับ เพื่อสื่อสารถึงลูกๆ และครอบครัวที่อยู่ด้านนอก
“ช่องทางการติดต่อสื่อสารมันก็มีเท่านี้แหละครับ” อานนท์ตอบ เมื่อเราถามว่าทำไมต้องเขียนจดหมายหาลูกทุกวัน
“มันเป็นไอเดียของคนที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ว่าจะทำยังไงให้รู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน ผมมองว่าจดหมายก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์รูปแบบหนึ่งนะ เป็นจดหมายที่สื่อสารถึงทั้งลูกและคนข้างนอก … ถ้าลูกกลับมาอ่านก็จะได้เห็นและเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนี้”
จดหมายหนึ่งหน้ากระดาษเอสี่กลายเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารไม่กี่อย่างที่อานนท์ใช้ขณะอยู่ในเรือนจำ วันแล้ววันเล่าจดหมายหลายฉบับถูกสแกนและโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กอานนท์ นำภา ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่มักจะเขียนถึงลูกและครอบครัวเป็นหลัก มีตั้งแต่การเล่าถึงความทรงจำธรรมดาๆ อย่างการขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน ความหวังที่จะได้กลับไปอยู่พร้อมหน้า ไปจนถึงความเศร้าเสียใจที่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูลูกคนเล็กตั้งไข่เติบโต
โดยเฉพาะการตั้งไข่ ช่วงเวลาแสนพิเศษที่เด็กทารกกำลังเริ่มหัดยืนเป็นครั้งแรกในชีวิต สำหรับอานนท์ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาสำคัญที่เขาต้องพลาดไปเพราะติดคุก
“ช่วงเวลาของการตั้งไข่ ช่วงที่อิสรานนท์พยายามยืนครั้งแรก ผมก็ไม่ได้เห็น แต่ก็ได้มาเห็นในศาลนะ แฟนผมพาลูกมาที่ศาล เขาก็มายืนเกาะๆ ตรงนี้ (ชี้เก้าอี้ไม้ที่กำลังนั่งอยู่) มันก็น่ารักดีนะ ได้มาเห็นที่นี่” อานนท์ กล่าว
“…ระหว่างทางกลับเรือนจำ พ่อเงียบไม่พูดกับใคร ในใจเพียงอยากมีโอกาสทำหน้าที่พ่อ สอนอิสรานนท์ตั้งไข่หัดเดิน สอนอิสรานนท์ยืนฉี่ เล่านิทานก่อนนอนและเป็นคนไปส่งปราณไปโรงเรียนตอนเช้า แต่ตอนนี้พ่อทำได้เพียงเขียนจดหมายฉบับนี้ เพื่อบันทึกความทรงจำในช่วงเวลาที่เราพลัดพรากกัน…”
ด้วยความที่ศาลไม่อนุญาตให้บันทึกเสียง ทุกครั้งที่อานนท์ตอบคำถามเสร็จก็จะมีช่วงเวลาที่เราต้องจดบันทึกอย่างขะมักเขม้น ระหว่างบทสนทนาจึงมีช่วงที่เงียบไปบ้าง อาจเพราะเขาเห็นว่าเรายังจดไม่เสร็จสักที ไม่ก็กำลังตั้งใจฟังพยานฝ่ายโจทก์ที่ยืนยันต่อศาลว่า ข้อความบนเฟซบุ๊ก 3 โพสต์นั้นไม่เหมาะสมและดูหมิ่นเบื้องสูงมากเพียงใด
เราถามอานนท์ต่อว่า ในฐานะพ่อ การที่ไม่ได้เฝ้าดูลูกเติบโต ไม่ได้สอนลูกใช้ชีวิต มันรู้สึกอย่างไร อานนท์นิ่งคิดพักหนึ่ง ก่อนจะตอบกลับมาว่า เขาใช้วิธีสื่อสารผ่านจดหมาย เขียนให้พี่สาว (ลูกคนโต) อ่านให้น้องชาย (ลูกคนเล็ก) ฟัง เพราะเชื่อว่าหากย้อนกลับมาอ่าน ลูกจะต้องเข้าใจแน่ และนอกจากเขียนให้อ่านวันต่อวัน เขายังเชื่อว่าการเขียนจดหมายของตัวเองคือการเขียนถึงอนาคตด้วย เพราะเมื่อลูกๆ โตไปแล้วได้กลับมาอ่านจดหมาย ก็จะได้เห็นว่าพ่อดูแลเขาแบบใด
อานนท์เล่าถึงการเขียนจดหมายวันละฉบับด้วยว่า “ลองคิดดูสิ ถ้าผมติด 4 ปี จดหมายมันก็อาจจะเป็น 1,000 กว่าฉบับ มันก็เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อเหมือนกัน”
เอาเข้าจริงการจะอธิบายเรื่องนี้ให้กระทั่งผู้ใหญ่ฟังยังไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับอานนท์เอง การอธิบายเรื่องราวชีวิต การต่อสู้ และการต้องมาอยู่เรือนจำให้ลูกๆ เข้าใจก็ไม่ง่ายเช่นกัน “ลูกสาวผมไม่ชอบตำรวจ ไม่ชอบศาล เพราะคิดว่าทำให้พ่อต้องติดคุก ผมก็ต้องพยายามอธิบาย พูดทุกวัน ขอให้แม่เขาสอนว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร และก่อนเข้าเรือนจำผมก็คุยกับลูกสาวคนโตนะ ก็บอกให้เขาช่วยดูแลแม่” อานนท์ ระบุ
ก่อนเสียอิสรภาพ อานนท์เคยเล่าระหว่างอัดรายการกับ The MATTER ว่า เขาห่วงลูกจะจดจำช่วงเวลานี้ได้ลำบาก โดยเฉพาะลูกคนเล็กที่กลัวว่าจะจำหน้าพ่อไม่ได้เพราะขาดความทรงจำในช่วงแรกเกิดไป
เราเอาความกังวลนี้กลับมาถามอานนท์อีกครั้ง เขาตอบเพียงว่า “ทุกวันนี้แม่ก็พยายามพาลูกมาเจอที่ศาลเกือบทุกวัน ผมคิดว่าเขาก็น่าจะจำได้ แต่อาจจะไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่จำหน้าได้แน่”
“…กว่า 20 คดีของพ่ออาจต้องรับโทษมากกว่า 80 ปี แต่ไม่มีแม้แต่วันเดียวที่เป็นการรับผิด การติดคุกของพ่อเป็นการยืนยันว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาและมีคนสู้อยู่…”
ไม่ต้องเดาก็รู้ว่า อานนท์คิดถึงครอบครัวมากแค่ไหน วิธีจัดการความคิดถึงของตัวเองในเรือนจำแบบฉบับผู้เป็นพ่อ คือ พยายามหาอะไรมาเบี่ยงให้ตัวเองไม่รู้สึกคิดถึง เพราะยิ่งคิดถึงเท่าไหร่ ก็ยิ่งจมกับมันมากเท่านั้น
“พออยู่ในคุก ก็ต้องเบี่ยงความรู้สึกตัวเองไม่ให้คิดถึงเพราะมันดิ่งมาก อยู่ข้างนอกคิดถึงมันก็โทรหากันได้ คอลหากันได้ แต่อยู่ข้างในมันทำไม่ได้ ก็เลยพยายามเลี่ยงไม่คิดถึงเพราะมันจะดิ่ง แต่พอพยายามไม่คิดถึง สุดท้ายมันก็จะเก็บมาฝันอยู่ดี”
คิดถึงจนเก็บมาฝัน? เราทวนคำตอบ อานนท์จึงอธิบายว่า ช่วงเวลาที่ถูกจองจำ เขาฝันถึงหลายคน หลายสิ่ง และหลายอย่าง อะไรก็ตามที่อยู่ในใต้จิตสำนึกจะถูกหยิบมาฝันหมด แม้กระทั่งแฟนเก่าทุกคนก็เคยโผล่มาทักทายกันถึงในฝัน เพราะในเรือนจำมันเงียบ มันนิ่ง มันคือห้วงเวลาที่ทุกคนต้องอยู่กับตัวเอง
อานนท์เคยเล่าผ่านจดหมายว่าเคยฝันถึงการใช้ชีวิตประจำวันกับลูก และฝันนั้นทำให้เขา “มีความสุขจนไม่อยากลืมตา” ซึ่งเจ้าตัวเล่าให้เราฟังด้วยว่า ที่ฝันถึงลูกชายและลูกสาวบ่อยๆ คงเพราะก่อนนอนเผลอไปนึกถึงเรื่อยๆ จนพอเผลอหลับไป ก็ยังหยิบไปฝันถึงต่อ
“แล้วถ้ามันเลวร้ายมากขนาดที่ต้องติดคุกทุกคดี ทนายจะทำยังไง” เราถาม
“ก็คงต้องติด” อานนท์ตอบ ก่อนพูดต่อว่า “แต่ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบนั้นนะ ถึงที่สุดผมเชื่อว่าเราจะชนะ และมีกฎหมายนิรโทษกรรม ผมคิดว่าสังคมไทยคืบหน้ามาเยอะแล้ว”
“…ขากลับจากส่งปราณตอนเช้าอยากฟังรายการเรื่องเล่าเช้านี้ของสรยุทธ พอถึงบ้านอยากชงนมให้อิสรานนท์ อยากอาบน้ำให้อิสรานนท์ก่อนไปศาล อยากพาทุกคนไปเที่ยวเล่น ไปเดินห้าง เดินสวนรถไฟ อยากนอนกับลูกทั้งสองทุกคืน ในเรือนจำความฝันทำให้พ่อมีความสุขจนไม่อยากลืมตา อยากฝันอยู่อย่างนั้น เพราะรู้ว่าพอตื่นมาพ่อจะไม่มีโอกาสทำหน้าที่พ่ออย่างในความฝัน คืนนี้ก็เช่นกัน เราจะเจอกันในความฝันนะ ปราณ อิสรานนท์…”
จริงๆ วาระหลักที่ทำให้เราอยากมาคุยกับอานนท์ถึงศาลอาญา คือ วันพ่อแห่งชาติ วันหยุดราชการที่พ่อหลายคนมักใช้เวลาอยู่กับลูก พาลูกไปกิน ไปเที่ยว ไปเล่นสนุกสนาน ซึ่งเป็นโอกาสที่อานนท์คงไม่ได้ทำในวันพ่อปีนี้ อย่างไรก็ดี เราอาจประเมินผิดไปหน่อย เพราะทนายอานนท์บอกว่า ตัวเองไม่ให้ความสำคัญกับวันพ่อมากนัก อยากให้ความสำคัญกับวันเกิดของคนในครอบครัวมากกว่า
แต่คงปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีนั่นแหละ ว่าในวันที่ 5 ธันวาคมปีนี้ คงจะเป็นวันแสนธรรมดาอีกวันที่เขาไม่ได้ใช้ชีวิตพร้อมหน้ากัน สี่คนพ่อแม่ลูก ไม่ได้ชวนลูกกินข้าว ไม่ได้อ่านนิทานให้ฟังก่อนนอน ไม่ได้หลับเคียงข้างลูกๆ อย่างที่เคย
หลังจากฟังเรื่องราวชวนปวดใจทั้งหมด อดไม่ได้ที่เราจะถามด้วยความสงสัยว่า เสียใจหรือไม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่แรก อานนท์ยืนยันกลับทันทีด้วยสีหน้าและแววตาหนักแน่น “ไม่เลย ผมโอเคมาก ผมไม่เคยคิดย้อนไป ผมเชื่อว่าพ่อมีหน้าที่สร้างความทรงจำและสังคมที่ดีให้กับลูก คนรุ่นผม นักต่อสู้หลายคนก็มีลูกเหมือนกัน ผมเชื่อว่าพวกเขาก็กำลังสร้างสังคมที่ดีให้แก่ลูกของเขา”
“จะให้ผมเป็นพ่อปกติก็คงลำบาก ผมอาจไม่ได้ใกล้ชิดกับลูก แต่พ่อที่ดีสำหรับผม คือ ผมอยากจะสร้างสังคมที่ดีและมีเสรีภาพให้กับลูก เพราะสังคมที่ดีกว่าก็จะมีโอกาสอะไรๆ มากกว่า สังคมที่ดีคือสังคมที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค มีความเป็นมนุษย์ ผมเชื่อว่าเรากำลังสู้ และมันก็คืบหน้าไปเยอะมากแล้ว”
คำตอบจากปากของอานนท์ทรงพลัง วินาทีนั้นในห้องพิจารณาคดี เราสัมผัสได้ว่า อานนท์เชื่อเช่นนั้นจริงๆ เขาไม่เคยผิดหวังที่ตัวเองออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลายขวบปีที่ผ่านมา และรู้สึกว่าการต่อสู้ของเขาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดีให้ลูกในอนาคต
สุดท้าย เราอยากชวนอานนท์เขียนข้อความถึงลูกๆ ผ่านกระดาษและปากกาที่เราเตรียมไว้ แต่ระเบียบศาลไม่อนุญาตให้ทำแบบนั้น เราจึงได้แต่ถามและจดบันทึกคำตอบของอานนท์ออกมา ภายใต้คำถามที่ว่า อยากฝากอะไรถึงลูกทั้ง 2 ที่อาจมีโอกาสได้อ่านบทความชิ้นนี้ในอนาคต
สิ่งที่อานนท์ฝากถึงลูก คือ “ความลำบากในช่วงนี้ ลูกอาจจะต้องแบกรับมัน ความสมบูรณ์ของครอบครัวเราอาจยังไม่เกิดขึ้นในตอนนี้ แต่ปลายทางเราจะได้อยู่ด้วยกันอย่างสมบูรณ์ ในสังคมที่ดีกว่านี้”
“อยากให้ลูกรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับการที่พ่อออกมาติดคุก เราไม่ใช่ครอบครัวเดียวที่ต้องอยู่อย่างไม่สมบูรณ์ และมันยังมีบ้านที่เลวร้ายยิ่งกว่า มีครอบครัวที่พ่อออกมาต่อสู้แต่ต้องเสียชีวิตขณะที่ลี้ภัย”
“…สำหรับอิสรานนท์ เจ้าขาลน้อยๆ ของพ่อ ถ้าอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า พ่อยังไม่ได้รับอิสรภาพ แล้วขาลได้อ่านจดหมายที่พ่อเขียนถึงลูกในวันนี้ มันคงเป็นเรื่องที่วิเศษมากๆ ที่จดหมายฉบับนี้จะพูดคุยกับลูกในอีก 5 หรือ 10 ปี ลูกคงรับรู้ถึงความรักความคิดถึงของพ่อได้…”
จบบทสนทนา เรายกมือไหว้ขอบคุณอานนท์ เขาทำท่าคารวะแบบหนังจีนกลับมาให้ ก่อนจะหันกลับไปโฟกัสกับพยานที่กำลังให้การต่อหน้าบัลลังก์ศาล เราย้ายออกไปนั่งที่อื่น ที่นั่งข้างอานนท์จึงกลับมาว่างอีกครั้ง หลังจากนั้นก็มีคนเวียนผลัดกันไปนั่งข้างๆ เจ้าตัวเพื่อพูดคุยและถามไถ่ หนึ่งในนั้นคือแม่ของลูกทั้ง 2 เจ้าของวันเกิดในวันนั้นพอดี
ในช่วงท้ายของการสืบพยาน ลูกชายคนเล็กถูกอุ้มมานั่งข้างๆ อานนท์ ก่อนจะย้ายที่สู่อ้อมกอดของพ่อ อานนท์และลูกคุยเล่นกันเงียบๆ แต่คุยอยู่ได้ไม่นานน้องก็ร้องเสียงดังตามประสาเด็ก สุดท้ายเลยถูกอุ้มออกไปนอกห้องเพื่อไม่ให้รบกวนการพิจารณาคดี
กระบวนการพิจารณาคดีกินเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ช่วงประมาณเที่ยงกว่าๆ ทุกอย่างก็จบลง นั่นหมายความว่า อานนท์ต้องกลับเรือนจำแล้ว เขาและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เดินออกจากห้องพิจารณาคดี บริเวณโถงด้านหน้ามีเพื่อนฝูงที่มาให้กำลังใจ แฟน และลูกชายคนเล็กรอเขาอยู่
“มาๆ” อานนท์พูดพร้อมกับอ้าแขนกว้างให้แฟนตัวเอง เขาทั้งสองกอดกันครู่หนึ่ง ไม่มีใครพูดอะไร
ผละจากกอดแรก อานนท์เดินเข้าไปหาลูกชายของตัวเอง อุ้ม กอด และหอมลูกอีกครั้งก่อนจากกัน เด็กน้อยซุกหน้าบนอกพ่อได้เพียงไม่กี่วินาทีก็ต้องปล่อย เขาส่งลูกคืนคนตรงหน้า โบกมือลา ก่อนจะหันหลังเดินออกจากโถงหน้าห้องพิจารณาคดี เสียงโซ่กุญแจเท้ากระทบกับพื้นดัง กริ๊ง กริ๊ง กริ๊ง ไม่มีใครพูดอะไรอีกครั้ง
ผู้คนมากมายเดินทางจากศาลอาญากลับบ้านในวันนั้น เราเดินทางกลับบ้านไปหาคนรัก เพื่อนฝูงผู้มาให้กำลังใจเดินทางกลับบ้านไปหาคนรัก อัยการเดินทางกลับบ้านไปหาคนรัก ศาลเดินทางกลับบ้านไปหาคนรัก พยานเองก็คงจะกลับบ้านไปหาคนรักเช่นกัน ในขณะที่อานนท์ไม่สามารถทำสิ่งธรรมดาๆ อย่างการกลับบ้านไปหาคนรักได้ แต่ต้องกลับเรือนจำ
ปัจจุบัน อานนท์อายุ 39 ปี เส้นทางต่อสู้ของเขาไม่ได้เพิ่งเริ่มในปี 2563 แต่เริ่มตั้งแต่เข้าขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนสมัยยังเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ ม.รามคำแหง โดยในช่วงรัฐประหารปี 2557 เขาเป็นหนึ่งในทีมทนายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเคยว่าความให้จำเลยคดีการเมืองหลายคดี เช่น คดี ม.112 ของ อำพล ตั้งนพกุล หรือที่รู้จักกันในนาม ‘อากง SMS’
อานนท์เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเรื่อยมา วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เขาปรากฏตัวด้วยชุดครุยสีดำ ผ้าพันคอสีแดงสลับเหลือง เครื่องแต่งกายคล้ายเด็กบ้านกริฟฟินดอร์จากภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในวันนั้นอานนท์ปราศรัยถึงสถาบันกษัตริย์ โดยพูดถึงเรื่องงบประมาณ พระราชอำนาจ และบทบาททางการเมืองของสถาบัน
การปราศรัยนั้นกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของกระแสเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในช่วงปี 2563-2564 และเป็นอีกม็อบที่อานนท์ถูกแจ้งข้อหา ม.112 ซึ่งถูกฟ้องหลังผ่านเหตุการณ์ชุมนุมผ่านไปราว 6 เดือน
อานนท์บอกกับเราว่า เขาถูกแจ้งคดี ม.112 ทั้งหมด 15 คดี ตัดสินแล้ว 1 คดี จึงเหลืออยู่อีก 14 คดี บทลงโทษของผู้กระทำผิดตาม ม.112 คือโทษจำคุก 3-15 ปี ดังนั้น หากลองเอาจำนวนคดีที่เหลือมาคำนวณกับบทลงโทษที่น้อยที่สุดดู (14 คูณ 3) จะพบว่าทนายอานนท์มีโอกาสติดคุกเพราะ ม.112 อีกอย่างน้อย 42 ปี หากในอนาคตศาลตัดสินว่า 14 คดีที่เหลือนั้นมีความผิด
นอกจากนี้ อานนท์เคยระบุผ่านจดหมายฉบับหนึ่งด้วยว่า เขามีคดีทั้งหมด (รวมทุกข้อหา) 20 คดี ซึ่งจำนวน 20 คดีเหล่านั้นอาจทำให้ตัวเขาต้องรับโทษมากกว่า 80 ปี
ล่าสุดในวันที่ 15 พฤศจิกายน อานนท์เพิ่งให้ทนายความยื่นถอนประกันในคดีที่เหลืออยู่แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความชัดเจนในการต่อสู้ พร้อมยืนยันว่าสิ่งที่เขาเผชิญคือการรับโทษ แต่ไม่ใช่การรับผิด ซึ่งประเด็นนี้เขาบอกกับเราด้วยว่า การตัดสินใจยื่นถอนประกันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ได้มองว่าเป็นการตัดโอกาสที่จะได้เจอลูก แต่ยื่นถอนประกันเพราะเห็นว่ายังไงตัวเองก็ต้องโดนขังอยู่แล้ว
ทั้งนี้ อานนท์ไม่ใช่พ่อคนเดียวในเรือนจำ มีพ่อที่ถูกกล่าวหาในคดีการเมืองและต้องอยู่เรือนจำอีกอย่างน้อย 4 คน ดังนี้
- รีฟ—วีรภาพ วงษ์สมาน (อายุ 20 ปี) จำคุก 3 ปี ด้วยคดี ม.112 เหตุพ่นสีสเปรย์ข้อความ ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 เขามีลูกวัยประมาณขวบเศษ
- บาส—ประวิตร (อายุ 20 ปี) จำคุก 6 ปี 4 เดือน ศาลอาญาพิพากษาในความผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และวางเพลิงเผาโรงเรือนฯ หลังถูกกล่าวหาว่าร่วมวางเพลิงป้อมตำรวจจราจร ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เขามีลูก 2 คน คนหนึ่ง 4 ขวบ อีกคนยังไม่ถึงขวบดี
- มะ—ณัฐชนน (อายุ 25 ปี) จำคุก 6 ปี ด้วยข้อหามีวัตถุระเบิดในครอบครอง ระหว่างม็อบเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565 เขามีลูกวัยยังไม่ถึงขวบดี
- สมบัติ ทองย้อย (อายุ 52 ปี) จำคุก 4 ปี คดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีโพสต์ข้อความ เขาเป็นพ่อของลูกสาวคนหนึ่ง
“…ทุกครั้งที่พ่อจะถูกส่งตัวไปศาล พ่อจะยืนดูต้นกระบองเพชรต้นเล็กๆ ตรงประตูทางออกรอขึ้นรถของเรือนจำ เขาปลูกกระบองเพชรไว้ 5-6 กระถาง ช่วงนี้มันออกดอกดูสวยแปลกตาทำให้คิดถึงแม่ของพวกเธอ แม่ของพวกเธอชอบปลูกต้นกระบองเพชรต้นเล็กๆ ที่ระเบียงบ้านของเรา ป่านนี้คงมีสักต้นที่ออกดอกรับลมหนาว ต้นไม้ที่แม่ปลูกคงทอดยอดเขียวขจี ไม่รู้ว่านกสองตัวที่ชอบบินมานอนริมระเบียงยังอยู่มั้ย…”
รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฏาคม 2563 วันเริ่มการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีประชาชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย 1,930 คน ในจำนวน 1,253 คดี
ท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนอย่างน้อย 259 คน ถูกกล่าวหาและถูกดำเนินคดีข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112