นับจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ต่อผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน การออกหมายเรียกใน ม.112 ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ไม่มีการแจ้งความในข้อหานี้มาตั้งแต่ปี 2561 เกิดเป็นชุดคดีระลอกใหม่ขึ้นมา
การออกหมายเรียก ม.112 ในระลอกใหม่นี้ มีพฤติการณ์ที่นำมาสู่การแจ้งข้อหาหลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องของการปราศรัย การแต่งกาย ไปจนถึงการโพสต์ข้อความพระราชดำรัส สะท้อนให้เห็นถึงการตีความกฎหมายกว้างขวางกว่าที่เคยเป็นมา
นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าจากคดีใน ม.112 ที่สืบเนื่องมาจากศาลทหาร ตั้งแต่ยุค คสช. ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองด้วยเช่นกัน
The MATTER จึงขอรวบรวมปรากฎการณ์สำคัญของกฎหมาย ม.112 ที่เกิดขึ้นนี้นับตั้งแต่การประใช้กฎหมายทุกมาตรามาให้ได้ชมกัน
16 ปี คืออายุที่น้อยที่สุดของผู้ต้องหา
เยาวชนวัย 16 ปี ถูกดำเนินคดีใน ม.112 จากกรณีสวมชุดไทยเข้าร่วมงานเดินแฟชั่นในงาน ‘ศิลปะราษฎร’ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 เขาถูกออกหมายเรียกพร้อมกับ จตุพร แซ่อึง สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘บุรีรัมย์ปลดแอก’ และเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ยานนาวา วันที่ 17 ธันวาคม 2563
นอกจากคดีเดินแฟชั่นแล้ว เยาวชนรายนี้ยังถูกดำเนินอีกคดีจากกิจกรรม แต่งครอปท็อป เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมาแล้ว นับเป็นผู้ต้องหาในคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด
มีเยาวชน 3 ราย ถูกดำเนินคดี ม.112
นับตั้งแต่ที่ ม.112 ถูกนำกลับมาใช้ระลอกใหม่ มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีรวมแล้ว 3 ราย โดยรายแรกเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ซึ่งถูกแจ้งข้อหา ม.112 รวมแล้ว 2 คดี จากกรณีร่วมงานเดินแฟชั่น ที่ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 และกิจกรรมแต่งครอปท็อป เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563
รายที่ 2 เป็นเยาวชนวัย 17 ปี จากการร่วมปราศรัยในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 และรายที่ 3 เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี จากกรณีเข้าร่วมกิจกรรม #แต่งครอปท็อป เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563
แต่งชุดไทย-ครอปท็อป เข้าข่ายความผิด ม.112
หนึ่งในประเด็นที่เป็นที่วิพากย์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อมีผู้ถูกแจ้งความในความผิด ม.112 จากการแต่งชุดไทยและชุดครอปท็อป ทำให้ผู้คนตั้งคำถามถึงการตีความของกฎหมาย ม.112 โดยกรณีของชุดไทยนั้น มาจากคดีของจตุพร แซ่อึง และเยาวชนอายุ 16 ปี ที่แต่งชุดไทยไปร่วมงานแฟชั่นโชว์ ที่ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และกรณีของชุดครอปท็อปที่มาจาก กิจกรรมแต่งครอปท็อป เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563
บันทึกแจ้งข้อกล่าวหากรณีแต่งชุดไทย บรรยายการกระทำที่เป็นมูลเหตุของคดีว่าจตุพรแต่งชุดเสื้อกระโปรงแบบชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าขนาดเล็ก และแสดงท่าทางประกอบให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่าเป็นการแสดงการเสด็จเยี่ยมพสกนิกรของราชินี โดยผู้ชุมนุมได้ทำท่าทางหมอบกราบ และตะโกนเรียก ‘พระราชินี’ ตลอดการเดินแฟชั่นโชว์ “จึงเชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาล้อเลียนราชินี ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่น เกลียดชัง”
ส่วนกรณีของเยาวชนอายุ 16 ปี พนักงานสอบสวนระบุว่า เขาใส่ชุดเสื้อกล้ามแบบครึ่งตัวสีดำ สวมกางเกงยีนส์ขายาว บริเวณผิวหนังด้านหลังปรากฏข้อความหนึ่ง “ซึ่งปรากฏพระนามของรัชกาลที่ 10 เป็นการแสดงเจตนาให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกดูหมิ่น หรือเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์” ประกอบกับ ผู้ชุมนุมแสดงท่าทางหมอบกราบ และตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” ด้วย
ขณะที่ วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชีวารักษ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีแต่งชุดครอปท็อปในกิจกรรมแต่งครอปท็อป เดินสยามพารากอน โดยเพนกวินกล่าวว่า ต้องรอดูว่าเจ้าหน้าที่จะเขียนสำนวนว่าอย่างไรบ้าง ถ้าเขียนสำนวนว่า ‘การล้อเลียนจึงเข้าข่ายหมิ่นประมาท’ ก็จะเข้าลักษณะเดียวกันกับของเยาวคนที่โดนคดีชุดไทยก่อนหน้านั้น
“งั้นแสดงว่าการใส่ครอปท็อปเป็นการล้อเลียน นั่นแสดงว่า คุณใส่จริง ใช่ไหม ภาพนั้นเป็นภาพจริงรึเปล่า”
‘ทราย’ ได้รับหมายเรียก ม.112 จากคำว่า “กล้ามาก”
อินทิรา เจริญปุระ หรือ ทราย นักแสดงที่ได้ฉายาว่า ‘แม่ยกแห่งชาติ’ ได้รับแจ้งข้อหาตาม ม.112 โดยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา เธอได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ประโยคที่ทำให้เธอถูกแจ้งข้อหาคือ “กล้ามาก เลยนะเธอ”และ “ฉันคงไม่กลับไปรักเธอ” ซึ่งประเด็นนี้ ทำให้เกิดคำถามถึงการตีความของการใช้ ม.112 เช่นเดียวกับกรณีของชุดไทยและชุดครอปท็อป
สั่งจำคุก 87 ปี คดีโทษสูงที่สุดใน ม.112
ศาลอาญาพิพากษาว่าอัญชัญ ปรีเลิศ อายุ 63 ปี มีความผิดตาม ม.112 ฐานแชร์และอัพโหลดคลิปวิดีโอที่ถูกกล่าวหาว่ามีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผ่านทางออนไลน์ โดยมีโทษจำคุก 87 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งจากการรับสารภาพเหลือ 43 ปี โดยคดีนี้ เป็นคดีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุค คสช. แต่เพิ่งมีคำพิพากษาออกมาเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา
คดีนี้ถือเป็นคดีโทษสูงที่สุดใน ม.112 นับจากคดีที่วิชัยถูกตัดสินจำคุก 70 ปี เมื่อปี พ.ศ.2560 โดยในคดีนั้น วิชัยรับสารภาพจึงมีการลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 30 ปี 60 เดือน
ศาลยกฟ้องคดีของบัณฑิตและพยาบาลแหวน
วันที่ 26 มกราคาที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ที่ถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตาม ม.112 โดยระบุว่า วิญญูชนตีความได้แตกต่างหลากหลาย ไม่แน่ว่าจำเลยหมายถึงพระมหากษัตริย์หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
โดยข้อความที่กล่าวถึง เขียนว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ใต้เท้าของใครบางคน…”
ขณะเดียวกัน วันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาก็ยกฟ้อง ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ ‘แหวน พยาบาลอาสา’ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีแชทที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดใน ม.112 โดยเนื้อหาข้อความที่อัยการศาลทหารกรุงเทพระบุไว้ในคำฟ้องคือ ข้อความในกลุ่มไลน์ที่มีลักษณะท้าทายให้ไปก่อเหตุที่โรงพยาบาลศิริราช หลังเกิดเหตุระเบิดที่ศาลอาญา รัชดาฯ ในวันที่ 7 มีนาคม 2558 โดยทั้งสองคดีนี้เป็นคดีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุค คสช.
เพนกวินได้รับหมายเรียก ม.112 รวม 15 หมาย
เพนกวิน-พริษฐ์ ชีวารักษ์ แกนนําคณะราษฎร 2563 เป็นคนที่ได้รับหมายเรียก ม.112 เยอะที่สุด โดยตอนนี้มีหมายเรียกจาก ม.112 รวมแล้ว 15 คดี ทั้งจากการขึ้นเวทีปราศรัย การสวมชุดครอปท็อป และการโพสต์ ‘จดหมายถึงกษัตริย์’
ส่วนผู้ที่ได้รับหมายเรียกรองลงมาคือ อานนท์ นำพา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนําคณะราษฎร 2563 ซึ่งได้รับหมายเรียก ม.112 รวมแล้ว 8 คดี
มีผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 อย่างน้อย 55 ราย
นับตั้งแต่ปี 2563 หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา มีผู้ถูกดำเนินคดีใน ม.112 แล้วอย่างน้อย 55 ราย รวมจำนวน 42 คดี เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 24 คดี โดยบางคดีก็เคยแจ้งข้อกล่าวหาอื่นไว้ก่อนแล้ว แต่เพิ่มข้อหา ม.112 ทีหลัง
[หมายเหตุ: อัพเดทข้อมูล 31 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น.]
อ้างอิงจาก