“ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทอย่างไรกันแน่ ทำไมถึงมีอำนาจในการยุบพรรค และปลดนายกฯ ได้?”
ข้างต้นคือคำถามจากนักวิชาการ รวมถึงประชาชนทั่วไป หลังศาลรัฐธรรมนูญ ‘สร้างผลงาน’ ในการวินิจฉัยให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยต้องลงจากเก้าอี้ไป เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 และก่อนหน้านั้น ยังวินิจฉัยให้ยุบ ‘พรรคก้าวไกล’ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 อีกด้วย
เหตุการณ์เหล่านี้จึงดูเหมือนว่า อำนาจอธิปไตยของไทยอันได้แก่ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ นั้นดูจะเสียสมดุลไปหรือเปล่า เมื่อ ‘ตุลาการ’ ก้าวขาเข้ามามีบทบาทในอาณาเขตของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จนมีข้อสังเกตถึงอำนาจการส่งยุบ และสั่งปลดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง
เพื่อทำความเข้าใจถึงบทบาทและปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญให้มากยิ่งขึ้น The MATTER ได้ติดต่อไปพูดคุยกับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงเรื่องอำนาจและบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ
อ.มุนินทร์ เริ่มต้นโดยการอธิบายบทบาทของศาลว่า ทุกศาลต้องมีเขตอำนาจที่จำกัดในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเฉพาะเรื่องตามที่จำกัดไว้หรือเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ คือจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ในรัฐธรรมนูญไทย ฉบับปี 2560 ในหลายส่วนได้เขียนไว้ให้ศาลรัฐธรรมนูยมีเขตอำนาจที่กว้างขวางขึ้น และยังเขียนไว้อย่างคลุมเครือ เป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ “ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ แสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายเขตอำนาจตัวเอง” อ.มุนินทร์กล่าว
อย่างในคดียุบพรรคก้าวไกล คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญให้อำนาจตนเองในการวินิจฉัยการกระทำในทางนิติบัญญัติ เช่น การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองในการหาเสียง การตรวจสอบการเสนอแก้กฎหมาย ทั้งที่จริงๆ แล้วศาลรัฐธรรมนูญควรมีอำนาจแค่การตรวจสอบร่างกฎหมาย หรือกฎหมายที่ผ่านสภาฯ เรียบร้อยแล้ว
เช่นเดียวกันกับคดีปลดเศรษฐา ที่ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญนั้นมีปัญหาในตัวเอง อย่างใน มาตรา 160 (4) ที่กำหนดให้รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ที่ก็มีขอบเขตไม่ชัดเจน ว่าแบบไหนคือสุจริต และแบบไหนคือเป็นที่ประจักษ์บ้าง ทำให้ศาลฯ อาศัยความกำกวมนี้ และตีความขยายความคำนี้ได้ถึงกรณีที่เศรษฐาขาดความระมัดระวังในการเสนอชื่อคนเป็นรัฐมนตรี ว่าถือเป็นการขาดความสุจริต
อ.มุนินทร์ บอกว่า สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้สมดุลของอำนาจอธิปไตยไทยนั้นไม่แน่นอน เช่น ต่อไปฝ่ายนิติบัญญัติก็จะเกิดความไม่มั่นใจ ว่าการเสนอนโยบายแบบไหนจะเข้าข่ายการถูกวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกบ้าง เพราะเมื่อเกิดกรณียุบพรรคก้าวไกล ก็เปรียบเสมือนการที่ศาลฯ ‘ทุบกำแพง’ ที่กั้นระหว่างนิติบัญญัติกับตุลาการออก จึงมีโอกาสที่ต่อไปหากมีคนร้องเรียนการกระทำอื่นๆ อีก ศาลฯ ก็อาจลากเข้ามาให้เกี่ยวข้องกับมาตราใดมาตราหนึ่ง เพื่อเป็นเหตุให้ตนเองมีอำนาจในการยุบพรรคการเมืองได้
“ถ้าศาลทำเรื่องนี้ได้ เรื่องอื่นๆ ก็มีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกัน มันไม่มีขอบเขตอะไรเลย”
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกล้าขยายขอบเขตอำนาจของตนเองเช่นนี้ อ.มุนินทร์เห็นว่าอาจเกิดจากการไม่มี ‘กลไกตรวจสอบองค์กรอิสระ’ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้มีกลไกเหล่านี้ไว้ ดังนั้นจึงไม่มีเครื่องมือใดในการกดดันว่าศาลฯ ควรปฏิบัติตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีการตรวจสอบใดจากองค์กรภายนอก
ถ้าอย่างนั้น จริงๆ แล้วประเทศไทยจำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า?
“ในส่วนตัวผม ผมมองว่าเราไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ” อ.มุนินทร์ชวนย้อนกลับไปมองในช่วงก่อนปี 2540 ว่าก่อนหน้านั้นในรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการกำหนดให้มี ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ มาก่อน ซึ่งประเทศไทยก็สามารถจัดการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลดำเนินงานได้ แต่เมื่อมีศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ผลงานที่ออกมาก็คือการใช้อำนาจยุบพรรค ตัดสิทธิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นอกจากนั้น การจะเป็น ‘ศาล’ ผลของการตัดสินคดีก็มิใช่ส่วนที่สำคัญที่สุด แต่ต้องพิจารณาถึงกระบวนการการพิจารณาคดีที่โปร่งใส่ คือการได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหานำหลักฐานมาสู้ได้เต็มที่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ไม่ใช่อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญทำในคดีที่ผ่านๆ มา ที่เมื่อรับฟังหลักฐานไประดับหนึ่ง ก็ตัดสินเองว่า ไม่จำเป็นต้องรับฟังต่อ และเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยเลย
ดังนั้น หากหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นคือการดูแลข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญโดยตรง อำนาจหน้าที่เช่นนี้ก็ควรจะกระจายไปสู่องค์กรอื่นๆ ได้ เช่น บางเรื่องอาจให้รัฐบาลตัดสินได้เลย หรือให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่นๆ และที่สำคัญที่สุด คือต้องมีขอบเขตอำนาจที่จำกัด ชัดเจน ว่าทำอะไรได้ หรือทำอะไรไม่ได้บ้าง
“หลักการทางกฎหมายมีความถูกต้องเสมอ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ คือตัวองค์กร ผู้พิพากษา และวิธีการที่ใช้กฎหมาย”
อ.มุนินทร์สรุปถึงสิ่งที่ต้องการบอกกับนักเรียนกฎหมายในปัจจุับน ว่า “อย่าเสียศรัทธาในวิชานิติศาสตร์” แม้การบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันจะไม่ตรงกับหลักการที่ควรจะเป็น แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นและบอกตัวเองได้ว่า “เมื่อไปทำหน้าที่ทางกฎหมาย เราจะไม่ทำแบบเดียวกัน”
อ.มุนินทร์ทิ้งท้ายว่า ความผิดปกติทางหลักการเหล่านี้ หลายครั้งนักศึกษาก็สามารถบอกได้ทันทีว่ามันไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปก็บอกได้ ว่า “มันไม่สมเหตุสมผล”