คดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะเป็นมาครบ 8 ปี หรือไม่ ? ผลจะออกมาอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ แม้จะมีการคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา
เพราะทั้งหมดจะอยู่ที่การวินิจฉัยของ ‘ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ’ ชุดปัจจุบัน ทั้ง 9 คน
แต่ก่อนที่จะไปลุ้นผลคดีดังกล่าว ที่จะออกมาในช่วงบ่ายของวันที่ 30 ก.ย.นี้ The MATTER ขอพาทุกคนย้อนไปดูผล ‘การวินิจฉัยส่วนตน’ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันในอดีต โดยเฉพาะคดีการเมืองสำคัญๆ นับแต่การเลือกตั้งในปี 2562 เป็นต้นมาว่า แต่ละคนเคยวินิจฉัยอะไรไว้บ้าง และมีจุดยืนแตกต่างกันอย่างไร
แม้ว่า แต่ละคดีจะมีข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน
แต่ก็เผื่อเป็นข้อมูลใช้ประกอบการวิเคราะห์ต่อไปได้ ไม่ว่าคดี 8 ปีนายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีผลออกมาอย่างไรก็ตาม – พ้น หรือ ไม่พ้น – จากตำแหน่ง ก็ตามที
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีใครบ้าง?
รายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย วรวิทย์ กังศศิเทียม (ประธาน), ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ปัญญา อุดชาชน, อุดม สิทธิวิรัชธรรม, วิรุฬห์ แสงเทียน, จิรนิติ หะวานนท์, นภดล เทพพิทักษ์ และบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
โดยวรวิทย์ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557) และทวีเกียรติ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2556) แม้จะได้รับเลือกก่อนที่กฎหมายศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งกำหนดวาระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ที่ 7 ปีจะใช้ในปี 2561 แต่ก็ถูกยกเว้นให้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 9 ปีตามกฎหมายเดิม
ส่วนคนอื่นๆ จะมีวาระเพียง 7 ปี ทั้งนครินทร์และปัญญาที่ได้รับเลือกมาจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมกันในปี 2558 รวมถึงอุดม, วิรุฬห์, จิรนิติ, นภดล และบรรจงศักดิ์ ถูกเลือกจากที่ประชุมวุฒิสภา (ซึ่งชุดปัจจุบันแต่งตั้งโดยทหาร) ในปี 2563
ตามกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2561 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จะมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ ทั้งสาขานิติศาสตร์ 1 คน สาขารัฐศาสตร์ 1 คน และอดีตข้าราชการระดับอธิบดีกรมขึ้นไปอีก 2 คน
ทั้งหมดจะมีวาระ 7 ปีนับแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
และจะพ้นจากตำแหน่งได้ก็ต่อเมื่อ เสียชีวิต อยู่จนครบวาระ อายุครบ 75 ปี หรือขาดคุณสมบัติจากกรณีอื่นๆ
คดีการเมืองสำคัญที่เคยวินิจฉัยมีอะไรบ้าง
หากนับตั้งแต่ปีที่ประเทศไทยกลับมาเลือกตั้งอีกครั้ง หลังถูก คสช. ยึดอำนาจไป ในปี 2562 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีสำคัญต่างๆ ไปแล้ว 67 คดี แบ่งเป็น
ในปี 2562 – 14 คดี
ในปี 2563 – 21 คดี
ในปี 2564 – 20 คดี
ในปี 2565 – 12 คดี (ก่อนจะถึงคดีวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
แต่คำวินิจฉัยคดีการเมืองสำคัญๆ ที่เราเลือกมาจะมีอยู่ 9 คดี ประกอบด้วย
- คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามคำวินิจฉัยที่ 3/2562
- คดี พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นตำแหน่งนายกฯ ไหม (เจ้าหน้าที่รัฐ) ตามคำวินิจฉัยที่ 11/2562
- คดีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องพ้นตำแหน่ง ส.ส.ไหม (หุ้นสื่อ) ตามคำวินิจฉัยที่ 14/2562
- คดียุบพรรคอนาคตใหม่ (เงินกู้) ตามคำวินิจฉัยที่ 5/2563
- คดี พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นตำแหน่งนายกฯ ไหม (บ้านหลวง) ตามคำวินิจฉัยที่ 29/2563
- คดี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ต้องพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีและ ส.ส.ไหม (เคยถูกจำคุกที่ออสเตรเลีย) ตามคำวินิจฉัยที่ 6/2564
- คดีไพบูลย์ นิติตะวัน ต้องพ้นตำแหน่ง ส.ส. ไหม (ยุบพรรคประชาชนปฏิรูปแล้วย้ายมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ) ตามคำวินิจฉัยที่ 17/2564
- คดีม็อบ 10 สิงหาฯ 2563 ล้มล้างการปกครองจริงไหม ตามคำวินิจฉัยที่ 19/2564
- คดีสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ต้องพ้นตำแหน่ง ส.ส.ไหม (โดนศาลลงโทษฉ้อโกงในอดีต) ตามคำวินิจฉัยที่ 24/2564
โดยรวมคำสั่งกรณีคดีวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีในฐานะนายกฯ ที่สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำวินิจฉัยเข้าไปด้วย เพื่อให้ครบ 10 กรณี
เมื่อลองเข้าไปดูจุดยืนและคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ทั้ง 9 คน ใน 10 คดีการเมืองสำคัญข้างต้น
ผลที่ออกมา ก็เป็นไปตามนี้
แล้วมาติดตามกันว่า คดีล่าสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนจะวินิจฉัยอย่างไร