“The queen is dead, long live the king.”
พระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หรือควีนเอลิซาเบธที่ 2 เคลื่อนจากพระตำหนักบัลมอรัลในสกอตแลนด์ มายังกรุงลอนดอนแล้ว ขณะที่ ‘มงกุฎของกษัตริย์’ ในสหราชอาณาจักรก็เคลื่อนมาอยู่ที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แล้ว หลังจากที่ควีนเอลิซาเบธครองราชย์มายาวนานถึง 70 ปี
ระยะเวลา 7 ทศวรรษ นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน หลายคนเกิดมาพร้อมภาพจำว่า กษัตริย์ของสหราชอาณาจักร ก็คือควีนเอลิซาเบธที่ 2 ขณะเดียวกัน กระแสของทั่วโลกก็เริ่มตั้งคำถามถึงความสำคัญของสถาบันดังกล่าว ดังนั้นแล้ว นี่จึงถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ต้องจับตามอง
คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ แล้วสหราชอาณาจักรรวมถึงเครือจักรภพ จะเป็นอย่างไรต่อไป ‘สถาบันกษัตริย์’ จะมีการเปลี่ยนแปลงขนาดไหน
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อดูว่าเหตุการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป แล้วการเปลี่ยนผ่านกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจและเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จะมีผลอย่างไรต่อเรื่องนี้ไหม
อยากให้เริ่มเล่าก่อนว่า ตำแหน่ง ‘กษัตริย์’ ในอังกฤษ มีความหมายกับประชาชนมากแค่ไหน
ต้องเท้าความไปไกลนิดนึง ความแตกต่างของระบอบการปกครองของอังกฤษ กับระบอบการปกครองประเทศอื่นๆ ก็คือ อังกฤษเป็นระบบกฎหมายจารีตประเพณี (The Common Law System) คือก็มีลายลักษณ์อักษร แต่ว่าไม่ได้รวมกันอยู่ที่เดียว ทีนี้ เหตุผลที่มันเป็นอย่างงั้นก็เพราะว่าประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญอังกฤษมันยาวนานมาก มีประเพณีที่ยาวนานมาก ส่วนของประเพณีการปกครองที่สำคัญเลยก็คือสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถ้าเราดูคำแถลงของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่เพิ่งกล่าวกับสาธารณชนไปเขาก็จะพูดเสมอว่า เขามีหน้าที่ในการรักษาหลักการทางรัฐธรรมนูญ
ทีนี้ ระเบียบทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษซึ่งยาวนานมาก มันก็มีส่วน สถาบันกษัตริย์มันก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ เลย อาจจะไม่ใช่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุด อันนี้ก็ดีเบตกันได้ แต่ว่ามันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น เพราะฉะนั้น ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ ถ้าเราไปดูแค่เรื่องหน้าที่ เช่น เป็นประมุขแห่งรัฐ (head of the state) มันอาจจะไม่ได้ sense มากเท่าไหร่นัก แต่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นส่วนหนึ่งของระเบียบทางรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร
แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวสถาบันกษัตริย์เอง แม้ว่าจะเป็นที่แน่นอนว่าไม่ได้มีแต่ข้อดี เพราะก็มีข่าวลือในทางเสียๆ หายๆ อยู่เหมือนกัน แต่ว่าในแง่หนึ่ง ด้วยความที่ตัวสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่ตัวกษัตริย์คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสถาบันที่อยู่มานานมากๆ ในแง่หนึ่งก็เป็นการแสดงออกถึงความต่อเนื่องของรัฐ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างแตกต่างกับรัฐสมัยใหม่อื่นๆ เพราะว่าอังกฤษก็จะเคลมการปกครองที่มีมายาวนาน ที่บอกว่าเป็นแบบ เป็นการปกครองที่มันปรับไปได้ไกลมาก ตั้งแต่สมัยการพิชิตของอังกฤษของชาวนอร์มัน (Norman conquest) ในศตวรรษที่ 13 เลย ก็เป็นลักษณะพิเศษของสหราชอาณาจักร แล้วก็สถาบันกษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของ constitutional order อันนั้น
แปลว่า การเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธจะมีต่อสถาบันกษัตริย์มากน้อยแค่ไหน หรือว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษก้าวข้ามเรื่องตัวบุคคลไปแล้ว
เอาในทฤษฎีก่อน ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนะ เพราะว่าสถาบันกษัตริย์ยังอยู่ ตามประเพณีก็คือ the throne is never empty ก็คือบัลลังก์ไม่เคยเว้นว่าง รัชทายาทก็จะขึ้นมาเป็นแทน แต่ประเด็นร้อนของการเมืองสหราชอาณาจักร ก็คือขอบเขตของตัวเครือจักรภพเอง เพราะที่ผ่านมาก็มีกระแสเรียกร้องเอกราชจากทั้งสกอตแลนด์ แล้วก็จากทางไอร์แลนด์เหนือด้วย ก็คือในอนาคตมันอาจจะมีการรวมชาติไอร์แลนด์ รวมไอซ์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์
เคยมีการโหวตไปแล้วในสกอตแลนด์ ซึ่งผลออกมาเฉือนกันนิดเดียว โดยออกมาว่า ยังอยู่ในสหราชอาณาจักร แต่เวลาคนออกไปโหวต ทั้งคนสกอตแลนด์ แล้วก็คนไอร์แลนด์ เวลาเขาออกไปโหวต เขาไม่ได้โหวตแค่ในทางทฤษฎีอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของความรู้สึกด้วยนะ
มีนักวิชาการชาวสกอตแลนด์ให้ความเห็นว่า การเสียชีวิตลงของควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะทำให้ public sentiment หรือว่าความรู้สึกนึกคิดของชาวสกอตเปลี่ยนไป เนื่องจากเรื่องของอัตลักษณ์ด้วย ถ้าเราจะนิยามตัวเราเป็นคนสกอตแล้วเรารู้สึกว่า กษัตริย์คนใหม่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับนับถือมากนัก เพราะเขาก็เคยมีประเด็นเรื่องการเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง มันก็จะส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด ซึ่งในทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันกับเรื่องทางเหตุผล
การที่สกอตแลนด์โหวต ‘อยู่’ บางคนเขาก็ให้เหตุผลว่าเขารู้สึกว่าถ้าสกอตแลนด์เป็นเอกราชแล้วแต่พรหมแดนก็ยังติดกับอังกฤษอยู่ดี ก็จะมีปัญหาเรื่องการขนส่ง เพราะว่าสกอตแลนด์เป็นแลนด์ล็อก ไม่ได้สามารถออกทะเลไปทำการค้าได้ง่ายนัก ส่งผลไปถึงเรื่องของการขนส่งด้วย เขาก็คิดแหละ แต่ว่าเรื่องของ public sentiment หลังการเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็คิดว่าน่าจะไปเปลี่ยนมุมมองของประชาชนต่อตัวสถาบันกษัตริย์มากอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ
อีกทางนึง ก็เห็นว่ามีกระแสของฝั่งที่มีจุดยืนไม่นิยมสถาบันกษัตริย์หลายฝ่าย ออกมาแสดงความไว้อาลัยต่อควีนเยอะมาก คิดว่าเป็นเพราะอะไร
ถ้าย้อนกลับไปดูพระราชกรณียกิจของเขา แล้วด้วยความที่เขาอายุยืนมาก เขาก็จะมีค่อนข้างมีบทบาทในการไปไกล่เกลี่ย ไปเป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักร เช่น ในยุคสงครามเย็น พระองค์ก็ทรงเสด็จไปเยือนเยอรมนีตะวันตก ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้วยความที่อายุยืนของพระองค์ในแง่หนึ่ง แล้วควีนเองก็เป็นคนที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างสมบูรณ์ แล้วก็จัดวางที่ทางว่ากษัตริย์ทำอะไรได้บ้าง ในฐานะที่บางทีก็เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ ก็เข้าใจว่า หลายๆ คนให้เครดิตเขาในเรื่องนั้น
แต่ความน่าสนใจก็คือ ความนิยมในตัวสถาบันกษัตริย์ก็ค่อนข้างง่อนแง่นคลอนแคลนมาสักพักหนึ่งแล้ว ก่อนที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะสวรรคตไป กรณีของเจ้าชายฟิลิป พระสวามีที่สิ้นพระชนม์ไป สำนักข่าว BBC ก็ทำเหมือนที่ทำอยู่ตอนนี้ คือ ขึ้นจอดำ งดเตะฟุตบอล สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีคนส่งจดหมายไปร้องเรียนที่ BBC จำนวนเยอะมากว่า ทำไมไม่ทำรายการตามปกติ ฉันจะดูทีวี แล้วก็เขาก็คาดการณ์กันว่า อาจจะมีข้อร้องเรียนคล้ายๆ กันแบบนี้ในกรณีของ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ด้วยเหมือนกัน
ดังนั้น ส่วนตัวคิดว่าพวกสถาบันทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง มหาวิทยาลัย ที่ออกมาแสดงความเสียใจ เขาน่าจะเป็นให้เครดิตกับพระราชกรณียกิจที่โอเค มีคุณูปการต่อสหราชอาณาจักรจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ค่อนข้างจะเปราะบาง โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น ซึ่งควีนก็ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี
ถึงอย่างนั้น ก็เห็นสัมภาษณ์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่บางคนที่ออกมาบอกว่า เขาก็เสียใจ (กับการจากไปของควีน) พอๆ กับที่ถ้าคุณยายของเพื่อนเสียไป เลยคิดว่า public sentiment ต่อสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษและสหราชอาณาจักรน่าจะเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ
อีกอย่างคือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งก็อยู่ใต้ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่ปกครองมานาน ทำให้เขาไม่ได้อยู่ในสปอตไลท์เท่าไหร่ เรื่องนั้นก็เรื่องนึง อีกเรื่องคือ ความไม่เหมาะสมเสียส่วนใหญ่ เช่น มีข่าวหลุดว่าเขาเขียนจดหมายไปหารัฐมนตรีคนหนึ่งเกี่ยวกับความเห็นส่วนตัวต่อประเด็นเรื่อง climate change (แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์) ก็เลยมีกระแสในแง่ลบประมาณหนึ่งว่า ถ้าคุณเป็นคนในราชวงศ์ ก็ไม่ควรจะเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งตอนที่เป็นมงกุฎราชกุมาร พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ก็ค่อนข้างมีความเห็นต่อหลายๆ เรื่องที่บางคนมองว่า ไม่เหมาะสมกับตัวสถาบันกษัตริย์ ในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง ต้องเป็นกลางทางการเมือง ฉะนั้น ในอนาคตก็คิดว่าน่าจะลำบากอยู่เหมือนกัน เพราะช่วงเวลาที่ห่างกัน 10 ปี มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก
เมื่อเป็นแบบนั้นแล้ว ในสถานการณ์ที่สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญวิกฤตทางการเงิน และเพิ่งเปลี่ยนตัวนายกฯ การเปลี่ยนตัวกษัตริย์จะส่งผลอะไรด้วยไหม แม้กษัตริย์จะอยู่เหนือการเมืองก็ตาม
ความน่าสนใจก็คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 น่าจะรู้ตัวดีว่าตัวเองเป็นวัวสันหลังหวะในเรื่องนี้นะ ด้วยความที่เคยไปแสดงความคิดเห็นสมัยที่เป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งในแถลงการณ์ของเขาน่าสนใจมาก เพราะเขาพูดประมาณว่า ต่อจากนี้ จะทำเรื่องที่ตัวเองสนใจเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะว่าตอนนี้เขามารับบทบาทใหม่ นั่นก็คือบทบาทในการเป็นกษัตริย์ แล้วก็จะใช้เวลาไปกับประเด็นต่างๆ ที่ตัวเองสนใจไม่ได้แล้ว เพราะเขารู้ว่า งานเหล่านี้ต่อไปมันจะเป็นหน้าที่ของคนอื่น จึงต้องไปเน้นเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง และงานเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ของกษัตริย์ ก็เลยคิดว่า เขารู้ตัวดีอยู่แล้ว ในประเด็นนี้ แต่ว่าในทางปฏิบัติจะทำได้ไหม เราก็ต้องติดตามดูต่อไป
แต่ถ้าสุดท้ายก็ยังมีความคิดเห็นทางการเมืองออกมาจากตัวกษัตริย์ ไม่ว่าจะทางตรงหรืออ้อม มันจะส่งผลยังไงกับสังคมอังกฤษบ้าง
เราคิดว่า คนรุ่นใหม่รับไม่ค่อยได้กับสิ่งเหล่านี้แล้ว เพราะถ้าย้อนกลับไปดูช่วงที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยังครองราชย์อยู่ เขาก็มีการแทรกแซงทางการเมืองแบบเนียนๆ อยู่หลายรอบเช่นกัน เช่น เมื่อปี 2014 ตอนที่กำลังจะมีการทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ ควีนก็ออกมากล่าวว่า ให้ประชาชน “think carefully” ว่าจะโหวตยังไง หลายคนก็ไม่พอใจว่า อันนี้เป็นการออกมาพูดเพื่อให้กำลังใจกับฝั่งที่ไม่ต้องการแยกตัวออก ดังนั้น ก็ไม่ใช่ว่าควีนเอลิซาเบธ จะไม่เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเลย เขาก็เคย แล้วก็เป็นประเด็นโต้เถียงอยู่พอสมควร
ความแตกต่างก็คือ เราคิดว่า คนรุ่นก่อนหน้านี้สามารถ ‘อดทน’ กับอะไรแบบนี้ได้มากกว่า เขารับได้เพราะว่าเติบโตมาในช่วงสงครามเย็น แล้วก็มองเห็นบทบาทของควีนในการไปเจอผู้นําประเทศ อย่างที่ไปเยอรมนีตะวันตก ไปจีน คือเขาค่อนข้างชิน
แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้เกิดมาในบริบทสงครามเย็นแล้ว เขาก็อาจจะรู้สึกว่า ทำไมถึงมาแทรกแซงทางการเมือง โดยเฉพาะพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เองที่อาจจะเบรกตัวเองน้อยกว่าแม่ของเขาด้วยซ้ำ คิดว่าถ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทำสิ่งเดียวกับที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เคยทำ น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เหมือนกัน ทำสิ่งนี้ในปี 2014 กับในอีกไม่รู้กี่ปีข้างหน้า คงต่างกันมาก อย่างน้อยคนสกอตก็คงจะไม่โอเคกับสิ่งนี้
การเปลี่ยนตัวกษัตริย์จะมีความเกี่ยวโยงกับกระแสไม่เอาระบอบกษัตริย์ในสหราชอาณาจักรไหม
เราสนใจเรื่องขอบเขตของ Common Wealth การแยกตัวออกไปเป็นรัฐเอกราชของสกอตแลนด์กับไอร์แลนด์เหนือ โดยเฉพาะในไอร์แลนด์เหนือ เรารู้ว่าเมื่อก่อนมีขบวนการ IRA (Irish Republican Army) ซึ่งในยุคของมาการ์เรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ก็ส่งทหารไปปราบ มีการนองเลือดมากมาย
ทีนี้ สนธิสัญญาที่ยุติความรุนแรงตรงนั้นได้อยู่ค่อนข้างนาน ก็คือ Good Friday Agreement ซึ่งเราจะเห็นว่า มันเขียนชัดเจนเลยว่า ถ้าเกิดว่ามีวันหนึ่งที่ไอร์แลนด์เหนืออยากจะแยกออกมา เป็นส่วนแยกออกมาจากสหราชอาณาจักร ก็สามารถให้ทำประชามติได้ จุดนี้ทำให้คิดว่าในอนาคตมันจะเกิดการรวมชาติไอร์แลนด์แน่ๆ เพราะมันก็ไม่ได้เป็นประกาศลอยๆ นะ แต่เป็นข้อตกลงที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ฉะนั้นคิดว่า ในอนาคตจะต้องมีวันที่สหราชอาณาจักรไม่เป็นสหอาณาจักรอีกต่อไปแล้ว
แอบคิดว่า สถาบันกษัตริย์ในตอนนั้นน่าจะต้องปรับตัวเยอะมาก เพราะว่าถ้าเราดูจากพระราชกรณียกิจของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เขาค่อนข้างอุทิศตนให้กับการรวบรวมให้ตัวสหราชอาณาจักรเป็นปึกแผ่น (unionism) สังเกตได้ว่า เขาไปทุกที่ในเครือจักรภพเลยนะ แล้วพระราชวังที่พระองค์โปรดปราน ก็คือพระราชวังที่อยู่ในสกอตแลนด์ ส่วนใหญ่ก็ทรงใช้ชีวิตอยู่ในสกอตแลนด์เป็นหลัก
การแยกตัวออกของประเทศในเครือจักรภพเป็นประเด็นที่น่าจะเกิดขึ้น ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ในอนาคตจะใกล้หรือไกล แต่คิดว่าเราอาจจะได้เห็นกันนะ
หากเป็นไปอย่างที่ว่า จะส่งผลให้ประเทศอื่นๆ ในเครือจักรภพแยกตัวออกไปด้วยไหม แล้วคิดว่าจะส่งผลอย่างไรกับโลกบ้าง
ประเด็นแรก คิดว่าหากสกอตแลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือแยกออกจากสหราชอาณาจักรก็จะมีหลาย scenario เช่น หากแยกออกมาโดยที่ยกเลิกการใช้ pound sterling ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่ออีกประเทศหนึ่งด้วย เพราะทั้งสองประเทศมีการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจประมาณหนึ่ง
คำถามที่สำคัญคือ หากไม่ว่าจะเป็นสกอตแลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือที่แยกออกมาแล้วหันไปใช้เงินสกุลยูโรก็จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงโดยเฉพาะผลกระทบในแง่ลบต่อ ‘สหราชอาณาจักร’ (ถ้ายังสามารถใช้ชื่อเดิมได้อยู่)
โดยสรุปก็คือการแยกตัวออกมาเป็นเอกราชมีหลาย scenario ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่าง ‘สหราชอาณาจักร’ และประเทศเอกราชนั้นว่าจะจัดวางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกันอย่างไร แบบที่เกิดความเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดเราอาจเรียกว่าเป็น brass plate scenario ซึ่งหมายถึง การที่ประเทศนั้นๆ ประกาศเอกราชแต่ในทางปฏิบัติอาจยังคงความสัมพันธ์แบบเดิมไว้กับสหราชอาณจักร เป็นต้น
ประเด็นที่สอง ส่วนตัวคิดว่าหากสหราชอาณาจักรไม่เป็นสหราชอาณาจักรแล้วก็อาจส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนในประเทศเครือจักรภพซึ่งอาจนำไปสู่การลงประชามติเพื่อการตัดสินใจออกจากเครือจักรภพต่อไปได้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นสมาชิกประเทศเครือจักรภพก็ทำให้ประชาชนในประเทศดังกล่าวได้รับประโยชน์ต่างๆ เช่น อัตราค่าเทอมแบบ commonwealth rate (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละมหาวิทยาลัย) ล่าสุดนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย แอนโทนี แอลบานีส (Anthony Albanese) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของออสเตรเลียให้เป็นสาธารณรัฐ เพิ่งออกมาแถลงว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการไว้ทุกข์และยังไม่เหมาะสมที่จะถกเถียงกันเรื่องสถานะของออสเตรเลียในเครือจักรภพ แต่คิดว่าหลังจากนี้ไม่นานแอลบานีสน่าจะออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ต่อไป
ดังนั้น คิดว่ามีแนวโน้มที่ทั้งสหราชอาณาจักรอาจไม่เป็นสหราชอาณาจักรเช่นเดิม และสมาชิกในเครือจักรภพก็อาจลดจำนวนลงด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าทั้งสองเหตุการณ์จะเปลี่ยนระเบียบโลกมากนัก เนื่องจากความสัมพันธ์ในเครือจักรภพเป็นความสัมพันธ์แบบหลวมๆ ส่วนกรณีของสหราชอาณาจักรคิดว่าส่งผลกระทบต่อสถานะของประเทศอังกฤษในยุโรปแน่นอน หลังพิษจาก Brexit ยังไม่ได้รับการรักษาด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ก็น่าจะส่งผลต่อประชาคมยุโรปมากกว่าจะส่งผลต่อระเบียบโลก
ถ้าอย่างนั้น ความนิยมของกษัตริย์องค์ใหม่ที่น้อยกว่าองค์เดิม จะมีผลกับความคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ด้วยหรือเปล่า?
คิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่อีกเรื่องก็คือ เจ้าชายวิลเลียมและเคทเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ด้วยความที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เองก็พระชนมายุ 74 ปีแล้ว ในคำแถลงของเขายังมีคำพูดติดตลกเลยว่า ไม่รู้ว่าตัวเขาจะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน ส่วนตัวคิดว่า ถ้าการครองราชย์ของชาร์ลส์ไม่ได้ยาวนานขนาดนั้น แล้วไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นมาก ถ้าอยู่ราวๆ 10 ปีหรือน้อยกว่านั้น แล้ววิลเลียมกับเคทขึ้นมา ความนิยมในสถาบันกษัตริย์น่าจะกลับมาสูงอีกครั้ง แต่อนาคตก็ไม่มีอะไรแน่นอน
แปลว่า ความนิยมในเจ้าชายวิลเลียมและเคทมีสูงกว่า?
ใช่ โดยเฉพาะช่วงหลังจากที่วิลเลียมแต่งงานกับเคท เขาเล่นกับสื่อเก่ง จะเห็นได้ว่ามีการจับเจ้าชายจอร์จมาแต่งตัวต่างๆ แล้วเขาก็ได้รับความนิยมเพราะเล่นกับสื่อ ซึ่งชาร์ลส์ทำไม่ได้ เขาเป็นคนแก่อายุมากแล้ว เลยกลายเป็นว่าต้องรอดูต่อไปว่าระยะเวลาในการครองราชย์ของชาร์ลส์จะยาวนานแค่ไหน
พูดถึงเรื่องนี้ คิดว่าเรื่องราวของเจ้าหญิงไดอาน่า มีผลต่อความนิยมของสถาบันกษัตริย์ด้วยไหม
แน่นอนเลย เพราะว่าตอนนั้น (หลังการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่า และช่วงเวลาที่ควีนไม่ออกมาไว้อาลัย) จริงๆ สถาบันกษัตริย์อังกฤษและสหราชอาณาจักรก็สั่นคลอนมาก ด้วยการสัมภาษณ์ที่เปิดโปงว่าชีวิตของไดอาน่ารันทดมาก ตอนนั้นสถาบันกษัตริย์ก็เกือบจะไม่รอดอยู่พักใหญ่เลยนะ แล้วก็เป็นที่ทราบกันดีว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ไม่โปรดคามิลลาเท่าไหร่ เหมือนตอนแรกจะมีการตกลงกันว่า หากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์ จะไม่ให้คามิลลาเป็น queen consort จะได้เป็นแค่ princess consort เท่านั้น ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีผลอยู่
แต่เวลามันก็ผ่านมาสักพักหนึ่งแล้ว ที่สำคัญคือ เรื่องราวของเจ้าหญิงไดอาน่า เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรมาก เพราะเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย
ส่วนความนิยมของเจ้าหญิงไดอาน่าส่งผลกับเจ้าชายวิลเลียมไหม คิดว่าอาจจะมีผลอยู่ส่วนหนึ่ง คนน่าจะสงสารกันบ้าง จริงๆ ถ้าไปคุยกับคนอังกฤษรุ่นเก่าๆ ว่าคิดยังไงกับสถาบันกษัตริย์ เขาก็จะยังมองว่านี่เป็นเนื้อหนึ่งเดียวกับสังคมอยู่ แล้วส่วนตัวก็เคยเจอคนที่เป็นฝ่ายซ้ายมากๆ แต่เวลาถึงพิธีต่างๆ เขาก็ยังดูอินกันอยู่ แต่นี่คือคนที่อายุเยอะๆ แล้วนะ ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เป็นฝ่ายซ้าย โดยมากจะไม่เอาเลย
การที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เลือกพระนาม ‘ชาร์ลส์’ ในการขึ้นครองราชย์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลายสื่อคาดเดาว่าจะใช้ชื่อกลางชื่ออื่นแทน สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
เขาน่าจะอ่านเกมประมาณนึง เพราะมีข่าวว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นคนงมงาย เลยคาดกันว่าจะไม่ใช่พระนามว่า ‘ชาร์ลส์’ เพราะอัปมงคล ด้วยความที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 และ 2 มีประวัติที่จบไม่สวย (คนที่ 1 โดนตัดหัว คนที่ 2 โดนขับไล่) และจริงๆ ในประวัติศาสตร์ก็มีชาร์ลส์ที่ 3 ด้วยนะ แต่ว่าเป็นผู้อ้างสิทธิในบัลลังก์ (pretender) มาจากราชวงศ์สจ๊วต (House of Stuart) ที่จะมาชิงบัลลังก์อังกฤษ ซึ่งก็คือทั้ง 3 ชาร์ลส์ในประวัติศาสตร์ไม่มีใครจบดีเลย
แต่เข้าใจว่าเหตุผลที่เขาเลือกที่จะไม่เปลี่ยนชื่อเพราะไม่อยากให้สารณชนมองว่า เขาเป็นคนงมงาย พยายามวางตัวให้เห็นว่าเป็นคนมีเหตุมีผล แล้วหากเขาเปลี่ยนชื่อเพียงเพราะกลัวความอัปมงคลจริงๆ คนรุ่นใหม่ก็น่าจะหัวเราะเยาะกัน น่าจะเอาไปทำมีมกันหนักเลย ส่วนตัวจึงมองว่า เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดที่ไม่เอาชื่อกลางมาเป็นพระนามในการครองราชย์
ขณะเดียวกัน แนวทางของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ก็ต้องการลดจำนวนราชวงศ์ที่ไม่ได้ทำงานลงเหมือนกัน คิดว่าเรื่องนี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรไหม
จริงๆ คิดว่าเขาค่อนข้างอ่านเกมเก่ง เขารู้ว่า ตอนนี้สหราชอาณาจักรมีปัญหาทางเศรษฐกิจหนักมาก ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อ ถ้าสถาบันกษัตริย์จะอยู่ได้ในยุคที่เศรษฐกิจมันพังแบบนี้ ก็ต้องแสดงให้สาธารณชนเห็นว่า ราชวงศ์เองก็ต้องรัดเข็มขัดเหมือนกัน
หรือถ้าย้อนกลับไปดูในช่วงการครองราชย์ของเอลิซาเบธที่ 2 ก็จะมีช่วงที่พระราชวงศ์ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีเหมือนกับคนทั่วไป ซึ่งอันนั้นก็โดนคนอังกฤษด่านะ ในช่วงที่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจ สถาบันกษัตริย์ในตอนนั้นก็ปรับตัวโดยการที่สมาชิกของราชวงศ์จะต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับที่คนอังกฤษเสีย
ก็คิดว่าเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้ น่าจะเกิดขึ้นในยุคของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ด้วยเหมือนกัน เหมือนอย่างที่บอกว่า จะต้องลดจำนวนสมาชิกของราชวงศ์ที่ไม่ได้ทำงานเพื่อให้คงอยู่ต่อไปได้ คงต้องดูทิศทางลมนิดนึง
กรณีเจ้าชายแอนดริว (มีข้อครหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์) หลายคนมองว่าที่ยังอยู่ได้ก็เพราะมีควีนหนุนหลัง แต่หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะเรื่องของเขาก็เป็นเหมือนภาพแทนการจัดการของราชวงศ์ ในกรณีที่เกิดข่าวฉาวขึ้นมา
เรื่องนี้คิดว่าเป็นจุดบอดใหญ่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษเลย เพราะข่าวเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์มันก็เป็นอะไรที่แย่มากๆ แล้วตอนนี้เข้าใจว่าคนอังกฤษทุกคนค่อนข้างปักใจเชื่อแล้วว่า ยังไงเจ้าชายแอนดริวก็มีเอี่ยวในข้อหาใคร่เด็ก (pedophile) แน่นอน คิดว่าถ้าเขาฉลาดเขาก็จะต้องไม่ออกสื่อแล้ว คืออยู่ไปมีชีวิตไปแบบเงียบๆ แล้วมันก็จะไม่มีเหตุผลให้คนจะต้องขุดเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอีก
แต่ตอนนี้ คนอังกฤษก็เชื่อกันว่าเป็นข้อเท็จจริงไปแล้วว่า เขามีเอี่ยวแน่ๆ และที่รอดมาได้ ก็เป็นเพราะว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษน่าจะไปล็อบบี้คนวงใน
ส่วนตัวคิดว่า ประเด็นของเจ้าชายแอนดริวจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งเลยที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษง่อนแง่นในอนาคต น่าจะเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่ามันก็เป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วก็อย่างที่เราทราบกัน ก็คือยุคของเราคือยุคที่มีการเคลื่อนไหวเรื่อง ‘me too’ ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนที่พูดเลยว่า นี่คือภาพแทนของความชั่วร้ายต่างๆ ของเหล่าอภิสิทธิชน
แล้วคิดว่า จะมีแนวทางอะไรที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคของควีนเอลิซาเบธที่ 2 แล้วมีแนวโน้มว่าจะหายไป หรืออาจจะยังคงอยู่ในยุคของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ไหม
ขอเท้าความก่อนแล้วกัน ในยุคควีนเอลิซาเบธที่ 2 บทบาทที่สำคัญของเขาคือเป็นคนที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษมีความทันยุคทันสมัยมากยิ่งขึ้น และวางบรรทัดฐานว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะคงอยู่ต่อไปในยุคของคิงชาร์ลส์ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง ถ้าถามว่าเคยมีการไปแทรกแซงไหม ก็มี แต่มันก็เป็นแบบเนียนๆ เหมือนกรณีที่บอกให้คนสกอต think carefully คือถ้าดูตามตัวอักษร ก็ดูเหมือนไม่ได้เป็นการแทรกแซงทางการเมือง แต่ว่าถ้าเกิดว่าดูให้ลึกไปกว่านั้น ก็คือควีนก็เป็นคนที่อยู่ฝ่ายอยากให้รวมสหราชอาณาจักร (unionism) ไว้อยู่แล้ว ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ
แต่ก็คิดว่า บรรทัดฐานเหล่านี้ โดยเฉพาะความเป็นกลางทางการเมือง เป็นสิ่งที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 น่าจะพยายามรักษาบรรทัดฐานเหล่านี้เอาไว้ ไม่คิดว่าเขาจะพยายามสร้างบรรทัดฐานอย่างที่มีการล้อเลียนว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ใช้อำนาจ veto กลางสภา อันนี้เป็นเรื่องแต่งนะ เขาไม่น่าจะทำแบบนั้น แต่เอาจริงๆ เราก็ไม่ทราบนะ อะไรก็อาจจะเกิดขึ้นได้
แล้วก็ส่วนตัวก็คิดว่าเขาน่าจะเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองว่า เขาอยู่ในยุคที่ความรู้สึกของสาธารณชนไม่ได้นิยมสถาบันกษัตริย์แล้ว แถมยังตั้งคำถามถึงการมีอยู่ด้วย เลยคิดว่า เขาไม่น่าจะพยายามสร้างบรรทัดฐานอะไรใหม่ๆ ให้กับราชวงศ์ ด้วยความที่เขาก็รู้ตัว อย่างที่เขาพูดในคำแถลงการณ์ว่า ไม่รู้จะเหลือชีวิตอีกกี่ปี พระชนมายุก็ 74 พรรษาแล้ว คิดว่าไม่น่าจะทำอะไรได้มาก
ความเคลื่อนไหวของสถาบันกษัตริย์ที่น่าสนใจต่อไป น่าจะเป็นยุคของเจ้าชายวิลเลียมกับเคทมากกว่า ยุคนั้นน่าจะมีอะไรหลายๆ อย่าง แล้วช่วงเวลาในการครองราชย์ของเขาก็ค่อนข้างเยอะด้วย
อยากให้ลองประเมินว่า โดยภาพรวมคิดว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ ปรับตัวเก่งไหม และอย่างไรบ้าง
เขาปรับตัวเก่งในเชิงพัฒนาการของรัฐธรรมนูญอังกฤษ แรกเริ่มเดิมที ตัวสถาบันกษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารเอง แล้วมันก็ค่อยๆ ลดลงมาหลังศตวรรษที่ 19-20 จนเหลือเพียงเชิงสัญลักษณ์เฉพาะ ถามว่าเก่งไหม เราก็ให้เครดิตในเรื่องของความประพฤติของสถาบันกษัตริย์ แต่ในแง่หนึ่งมันเป็นเพราะเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์หลายๆ อย่างด้วย
ประเด็นแรก ตั้งแต่ไหนแต่ไรกษัตริย์อังกฤษก็ต้องฟังเสียงของขุนนางอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาไม่เคยมีอำนาจโดยสมบูรณ์ (absolute power) ตั้งแต่แรก ประเด็นที่สอง ก็ต้องย้อนกลับไปในเรื่องของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ลงในชีวิตสาธารณะของสหราชอาณาจักรได้ดี หมายความว่า ไม่ได้เงียบหายไปเสียจนผู้คนไม่รู้ว่าสถาบันกษัตริย์มีอยู่ หรือทำให้คนตั้งคำถามได้ว่า จะมีไปทำไม
ขณะเดียวกัน ก็พยายามจะรักษาระยะห่างจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน เขาพยายามจะวางตำแหน่งว่าตัวเองเป็นสัญลักษณ์ของเทรดวิชั่น เป็นสัญลักษณ์ของความต่อเนื่องแห่งรัฐ และเป็นสัญลักษณ์ของการเมือง คือการเมืองในโลกยุคใหม่มันค่อนข้างขาดเสน่ห์เพราะว่าเรารู้กันอยู่ว่าคนนี้เป็นใครมาจากไหน แต่ว่ามันยังมีกลิ่นอายของความ old-fashion บางอย่างในสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอะไรที่ขายได้ อย่างที่นักท่องเที่ยวชอบไปดูทหารเปลี่ยนเวรที่พระราชวังบัคคิงแฮม (Buckingham palace) เขาก็รู้แหละว่ามันเป็นจุดขายจุดหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ ก็เลยคิดว่า ปรับตัวเก่ง เพราะสามารถ merchandise ตัวเองได้ในการเมืองยุคสมัยใหม่
ประเด็นนี้จะส่งผลต่อไปถึงประเทศอื่นๆ ด้วยไหม ไม่ใช่แค่ในสหราชอาณาจักร
ในเชิง balance of power ในโลกนี้ เมื่อก่อนอังกฤษเป็น middle power คือไม่ได้เป็น super power มาตั้งแต่แรก คิดว่าในอนาคตอันใกล้ หากมีการแยกออกมาเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ และของไอร์แลนด์เหนือจริงๆ ตำแหน่ง middle power ก็อาจจะไม่มีแล้วด้วยซ้ำ
แล้วยิ่งออกมาจาก EU แล้ว บทบาทในเวทีโลกก็จะลดลงเรื่อยๆ แต่ในฐานะที่ความเป็นสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษยังเป็นไพ่ในทางการทูตที่สำคัญอยู่ ก็คิดว่า ประเทศอื่นๆ ที่ยังมีสถาบันกษัตริย์ ก็น่าจะให้เครดิตกับอังกฤษเรื่องนี้ เพราะว่ามันก็มีประโยชน์กับตัวเองด้วยเหมือนกัน
เมื่อสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษถูกตั้งคำถามถึงความสั่นคลอน มันจะส่งผลกับโลกที่เข้าสู่ยุคไร้กษัตริย์ด้วยไหม
คิดว่ามีผลแน่นอน สมมติในอนาคตฝ่ายรีพับลิกัน ฝ่ายที่นิยมสาธารณะนิยมชนะ ก็น่าจะสั่นสะเทือนพอสมควรสำหรับประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ทั่วโลก เพราะแต่ละที่ก็ค่อนข้างมองอังกฤษเป็นโมเดล แต่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป อย่างเดนมาร์กที่ยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ ทิศทางของเขาก็คือ ทุกคนจะต้องยึดถือความเป็นกลางทางการเมือง
ตอนนี้ แทบไม่มีสถาบันกษัตริย์ในประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศไหนที่โง่พอจะออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง เพราะการทำแบบนั้นก็จะไปสั่นคลอนตัวสถาบันกษัตริย์เองนั่นแหละ ฉะนั้น ก็คิดว่าทิศทางทั่วๆ ไปของสถาบันกษัตริย์ทั่วโลก น่าจะอยู่กันอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวมากขึ้น เนื่องจากบริบทของเศรษฐกิจโลกตอนนี้คือมันย่ำแย่มาก สถาบันกษัตริย์จึงเป็นเป้านิ่งอยู่แล้ว
เราสามารถเทียบสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษกับของไทยได้ไหม
ส่วนตัวคิดว่าแทบจะเทียบเคียงกันไม่ได้เลย เพราะสถาบันกษัตริย์อังกฤษ เขาจัดวางตัวเองลงไปอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนเลย ส่วนของไทย ในกระดาษ เป็นสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญไหม ก็ยังถูกตั้งคำถามอยู่ แล้วถ้าสมมติว่าเป็น แต่ในทางปฏิบัติก็เริ่มที่จะถูกตั้งคำถามมากขึ้น
อย่างที่เราพอเห็นข่าวกันมาแล้ว มีที่เพจ iLaw ระบุว่า มีกฎหมายฉบับนึงที่สภารับรองเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่พระมหากษัตริย์พระปรมาภิไธย แต่เข้าใจว่าก็มีกฎหมายอันนึงที่ไม่ได้ผ่านการลงพระปรมาภิไธย ซึ่งในทางทฤษฎี อันนี้คือการใช้อำนาจ veto ของสถาบันกษัตริย์เพื่อไปขัดขวางกระบวนการนิติบัญญัติ สิ่งนี้เกิดขึ้นล่าสุดในยุคของควีนแอนน์ ช่วงประมาณศตวรรษที่ 18 เป็นสิ่งที่มันไม่เกิดขึ้นมานานมากๆ แล้ว
เพราะฉะนั้น สองประเทศนี้ก็อาจจะเทียบเคียงกันลำบาก ส่วนตัวไม่แนะนำให้เทียบ เพราะอะไรหลายๆ อย่างก็ไม่ได้เหมือนกันเลย จึงเทียบกันไม่ได้