“ผมเชื่อว่าความสุขของเราอยู่ที่ว่าคนอยู่ดีกินดีเหมือนกับเรา ตามสิ่งที่เขาควรจะได้ และควรจะเป็น”
คำกล่าวจากชายวัย 60 ปีที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนบนและทำงานในแวดวงธุรกิจมานานอย่างยาวนาน ก่อนจะกระโจนเข้ามาสู่เวทีการเมืองด้วยการรับบทเป็นหนึ่งใน ‘แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี’ ของพรรคเพื่อไทย ทำให้ชื่อของ เศรษฐา ทวีสิน เป็นอีกหนึ่งชื่อที่ถูกพูดถึงมากในช่วงฤดูกาลเลือกตั้ง
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเชื่อว่า ‘การลงทุน’ ในทางการเมืองที่ดี คือการลงทุนเพื่อพูดคุยกับประชาชน สื่อสารอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วย
ท่ามกลางตารางเวลาสุดแน่นของศึกเลือกตั้งที่กระชั้นชิดเข้ามา The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับเศรษฐา ในเวลาราว 30 นาที เพื่อสำรวจถึงตัวตน ความเชื่อ และวิธีคิดของนักธุรกิจผู้ก้าวเข้ามาสู่โลกการเมือง และหวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้รู้จักชายคนนี้ขึ้นกว่าเดิม
เล่าถึงเส้นทางชีวิตให้ฟังแบบคร่าวๆ หน่อย
ตั้งแต่เรียนจบปริญญาโทจากอเมริกามา ก็มีความใฝ่ฝันว่าอยากทำงานบริษัทข้ามชาติ เพราะคิดว่าเขามีระบบเทรนนิ่งที่ดี ผมไปสมัครหลายบริษัท แล้วมาจบที่บริษัท Procter & Gamble ซึ่งทำแชมพูแพนทีน รีจอยส์ วิสเปอร์ เป็นบริษัทการตลาด ทำไปได้ 3 ปีเขาก็บอกต้องไปอยู่เมืองนอกแล้ว เพราะไม่งั้นจะเจริญเติบโตก้าวหน้าไม่ได้ แต่ผมอยู่เมืองนอกมา 8 ปีแล้วเลยอยากอยู่เมืองไทย ผมมีคุณแม่คนเดียว คุณพ่อเสียไปตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เลยอยากจะอยู่กับท่านที่บ้าน ทำให้ต้องปฏิเสธไป เขาก็บอกว่าถ้าไม่ไปก็เป็นตำแหน่งสูงสุดในบริษัทไม่ได้นะ ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นผมลาออกเลย เพราะถ้าเกิดเป็นตำแหน่งสูงสุดไม่ได้ในบริษัท ผมไม่อยากอยู่ เลยลาออก
แล้วผมก็เลยมาทำอสังหาริมทรัพย์ที่บ้านกับญาติคุณอภิชาติ จูตระกูล ทำกันอยู่ 2 คน ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนนั้นแหละ ทำมาโดยตลอดจาก 1 โครงการเป็น 2 โครงการ เอาบริษัทเข้าตลาด เจอวิกฤตต้มยำกุ้ง แล้วก็กอบกู้ขึ้นมามีผู้ถือหุ้นต่างประเทศ ถูกเขาเอารัดเอาเปรียบเยอะ แต่ก็กัดฟันกลืนเลือดไปจนถึงเวลาของเรา เราก็ไปซื้อหุ้นเราคืนมา ก็มีการเพิ่มทุน มีการพัฒนา ทำให้บริษัทโตขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงวันนี้
แล้วเข้ามาแวดวงการเมืองได้อย่างไร
ผมว่าธุรกิจ การเมือง สังคม คาบเกี่ยวกันพอสมควร การที่เราอยู่ในวงการธุรกิจ ธุรกิจที่ผมอยู่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจริงๆ แล้วมันล้อไปกับการเจริญเติบโตของประเทศ ถ้า GDP โตเยอะ เราก็โตเยอะ ส่วนมากคนทั่วไป GDP โต X เราจะโต 1.5X ถ้า GDP โต 5% เราโตประมาณ 7.5% เพราะฉะนั้นถ้าเกิดประเทศชาติดี GDP มีการเจริญเติบโตที่มั่นคงและเหมาะสม อสังหาริมทรัพย์ไปได้ด้วยดีแน่นอน ดังนั้น เราก็พยายามเชียร์ให้ประเทศไปได้ดี ก็คงเป็นจุดเริ่มต้นในการที่เราเริ่มให้ความสนใจกับการเมือง
แต่ส่วนเรื่องของสังคม ถึงแม้ผมเองจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างบน ในเรื่องของความเสมอภาค ความเท่าเทียม การเห็นหัวซึ่งกันและกัน ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ผมไม่ชอบเห็นใครได้สิทธิพิเศษ ได้รับการยกย่องเกินกว่าความสามารถของตัวเอง การที่ไปเบียดเบียนมนุษย์ด้วยกันโดยการเอาเส้นเอาสายไป ซึ่งบอกตรงๆ ว่าในสังคมไทยมันเหลื่อมล้ำกันสูงเหลือเกิน โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เส้นสาย คนเก่งบางทีไปสมัครงานก็แพ้คนที่มีเส้น กลายเป็นธรรมดาไปแล้ว
แล้วยิ่งช่วง COVID-19 ที่ผ่านมาเรื่องของการได้รับวัคซีน คุณก็รู้บางคนไม่ควรได้รับ แต่ก็ยังได้รับ แย่ไปกว่านั้นคือได้รับแล้วยังประกาศให้ชาวโลกรู้อีกว่าฉันมีสิทธิพิเศษ ซึ่งหมอพยาบาลเองก็ยังไม่ได้รับเลย มันก็เป็นทริกเกอร์พอยท์ เป็นจุดที่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ถึงแม้เราจะมีความสุขเพราะมีทรัพย์สินอะไรพอสมควร แต่ด้วยทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียวไม่ได้เท่ากับมีความสุข เราพ้นจุดนั้นไปแล้ว บินก็บินเฟิร์สคลาสแล้ว บ้านก็มีแล้ว รถก็มีตั้งหลายคันแล้ว นาฬิกาก็มีแล้วมันจะหาความสุขจากที่ไหนได้อีก ไม่แน่ใจว่าเชื่อหรือเปล่า แต่ความสุขของเราอยู่ที่ว่าคนอยู่ดีกินดีเหมือนกับเรา ตามสิ่งที่เขาควรจะได้ สิ่งที่เขาควรจะเป็น
แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่คนที่มีสิทธิพิเศษ (privilege) อย่างคุณเศรษฐา จะสามารถมองเห็นถึงปัญหาของคนที่เขาไม่มีสิทธิตรงนั้น
มันมีให้เห็นง่ายๆ ไง เพราะว่าดูจากแววตาเขาก็รู้ อย่างการกินอาหาร ถ้าแยก 2 สำรับผู้ใหญ่กินอันหนึ่ง เด็กกินอันหนึ่ง ผมก็ไม่อร่อย สมมติว่า กินอาหารดีๆ แพงๆ ยังไงผมก็อร่อย ผมเคยกินมาแล้ว แต่โต๊ะข้างๆ สมมติว่าเป็นลูกน้องผม หรือเป็นผู้ร่วมงานที่เป็นจูเนียร์ แล้วเขากินอีกสำรับหนึ่ง กินอีกเมนูหนึ่ง อย่างนั้นผมไม่มีความสุข
แต่ผมจะมีความสุขมากกว่าถ้าเกิดเขา “ว้าว อันนี้อร่อยนะ พี่นิดครับ มันมาจากไหน” แบบนี้ผมมีความสุขมากกว่า การได้ทำอะไรที่มีความสุขร่วม มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของผมมาก
ก่อนที่จะลงการเมือง มีภาพจำกับคำว่าการเมือง หรือนักการเมืองอย่างไรบ้าง
ผมไม่ชอบให้คำจำกัดความกับใครทั้งนั้น มันไม่ยุติธรรม นักการเมืองบางคนบอกขี้โกง แต่บางคนทำเพื่อประเทศชาติ ผมว่านักการเมืองแต่ละคนก็มีทั้งดีและไม่ดี บางคนก็ยึดแนวทางประชาธิปไตยสูง มีความเก่งกาจทางด้านการปกครอง ทางด้านรัฐศาสตร์ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ มันก็มีความหลากหลายกันไป นักการเมืองก็เป็นสถาบันอันหนึ่งซึ่งมีเกียรติ แล้วก็ช่วยค้ำจุนประเทศนี้มา ปนกันไปกับแต่ละคนที่ก็มีหน้าที่ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ สื่อ หรือ NGO
ถ้าอย่างนั้น ทำไมถึงเลือกพรรคเพื่อไทย
ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกับความถนัดของผม แล้วพรรคเพื่อไทยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ตรงนี้สำคัญ ความสุข การพ้นจากความทุกข์ยากของประชาชนอยู่ในหัวใจของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้นถ้าสังเกตใน 20 กว่าปีที่ผ่านมาเราชนะเลือกตั้งตลอด ด้วยเรื่องของนโยบายต่างๆ เพราะว่าเราโดนใจประชาชน
พรรคเพื่อไทยตอนนี้มีแคนดิเดต 2 คน (ก่อนวันที่ 4 เมษายน ซึ่งเป็นการเปิดตัว ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตคนที่ 3 อย่างเป็นทางการ) ถ้าพรรคเพื่อไทยถึงจุดที่ต้องเลือกคนเป็นนายกฯ พร้อมจะหลีกทางให้แคนดิเดตคนอื่นไหม
ใช้คำว่าหลีกทางผมว่าอาจจะไม่ตรงนัก มันแล้วแต่ฉันทามติของประชาชน ผ่าน ส.ส. ผ่านกรรมการบริหารพรรคทั้งหลาย ถ้าเกิดพรรคเลือกผม ผมก็ยอมรับ พรรคเลือกคุณอุ๊งอิ๊ง—แพทองธาร ผมก็ยอมรับ เลือกอาจารย์ชัยเกษมผมก็ยอมรับ เพราะว่าผมยึดมั่นในประชาชน ผมยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในการใช้เสียงส่วนมาก
การช่วยเหลือบ้านเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนเดียว เพียงแต่ว่าสถานการณ์ที่ผมถูกเลือกขึ้นมา ผมถูกเลือกให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าอยู่ในสถานะอื่น ผมจะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติไม่ได้
ถ้าสมมุติว่าไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะทำอะไรต่อ
ยังไม่รู้เลย ก็ต้องว่ากันไปตามขั้นตอน เรียนตามตรงนะ เพราะว่าตอนนี้มีเวลาอีกหลายวัน แต่ละวันก็มีความหมาย อย่างวันก่อนตั้งแต่เช้าผมก็อยู่น่าน มาแพร่ กลางคืนเดินตลาดคนเดินที่เชียงใหม่ ตอนเช้า 6 โมงกว่าก็เดินตลาดอีก พบปะกับรองประธานหอการค้าที่เชียงใหม่ กลับมานี่ก็มาเจอเพื่อนสื่อ 2 วัน เดี๋ยวเจอท่านทูตนิวซีแลนด์ 4 โมง ลงพื้นที่ที่บางนา 5 โมงครึ่ง ลงพื้นที่ที่สวนหลวง 7 โมง กลับมาประชุมกับที่พรรคต่อ
ตอนนี้มันเป็นเรื่องของการเก็บเกี่ยวข้อมูล เป็นเรื่องของการปรับปรุงแต่งนโยบายเพื่อให้โดนใจประชาชน เผยแพร่นโยบายของเรา เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วไม่อยากมีความคาดหวัง เรามีหน้าที่ที่เราถูกมอบหมายให้ทำ เราก็ทำให้ดีที่สุด แล้วก็เข้าคูหากาเบอร์ 29 เสร็จแล้วก็ว่ากัน
ตัวคุณมีวิธีปรับตัวเข้าหาคนรุ่นใหม่ยังไงบ้าง
ผมว่าความตรงไปตรงมามีส่วนสำคัญในการสื่อสาร แน่นอนทุกคนก็อยากให้คนรัก ผมก็อยากให้คุณรักผม แต่ว่าถ้าจะใช้คำว่าบิดความเป็นตัวเองเพื่อให้ใครรัก ผมว่ามันไม่ใช่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดจะเป็นนักการเมือง ตรงนี้ยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะก็ไม่รู้ว่าถ้าผมบิดไป ผมมีความจริงใจกับคุณขนาดไหน ผมจะไปเอาเสียงคุณวันที่ 14 หรือเปล่า สู้ผมบอกว่าวันนี้ผมอยู่กับคุณยาวๆ ดีกว่า ผมคุยกับคุณให้ชัดเจน ใช้วาจาที่สุภาพแต่ว่าตรงไปตรงมา ถ้าอะไรที่ทำได้ก็จะทำ อะไรที่ทำไม่ได้ก็คือไม่ทำ อะไรที่เห็นด้วยก็คือเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยก็บอกว่าเห็นต่างกันไป แต่สามารถอยู่ด้วยกันได้ อันนี้ผมว่าสำคัญ
อีกอันหนึ่งซึ่งผมเห็นว่าเยาวชนเป็นเรื่องใหญ่ อย่างเกมที่เราเล่นกันเมื่อกี้หนึ่งในรูปนั้นเป็นรูปที่ผมบริจาคให้กับองค์กรยูนิเซฟเด็กและเยาวชน เพราะผมรู้ว่าจริงๆ แล้วในโลกสมัยใหม่ โดยวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์ คนอายุยืนขึ้น คนแก่เกษียณเท่าเดิมแต่อายุยืนขึ้น เพราะฉะนั้น economic productivity ก็จะไม่ค่อยมี แสดงว่าตามอัตราส่วนคนทำงานต้องแบกคนที่เกษียณเยอะขึ้นเรื่อยๆ สมัยนี้อาจจะแบก 1 ต่อ 2.5 อย่างผมอย่างคุณแบกอยู่ 2.5 อีก 10 ปีอาจจะเป็น 1 ต่อ 4.5 เพราะฉะนั้นผมต้องเก่งขึ้นเยอะ คุณต้องเก่งขึ้นเยอะ คุณถึงจะต้องรับคนแก่เข้าไปได้อีกเยอะ
ถ้าคุณไม่ลงทุน ผมใช้คำว่า ‘ลงทุน’ นะ ลงทุนพูดคุย เจรจา ลงทุนที่จะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ เขาอาจจะเดินผิดทาง แต่ไม่ได้หมายความว่าทางของผมถูกเสมอนะ เพราะทางของผมก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่เหมือนกัน
คิดว่ารัฐบาลที่ผ่านมาลงทุนกับคนรุ่นใหม่ขนาดไหน
ชัดเจนเลยว่าไม่ แล้วก็ไม่แสดงทีท่าว่าจะแคร์ด้วย ดูจากการปราศรัยของผู้ใหญ่ในพรรครวมไทยสร้างชาติวันก่อน พลังประชารัฐก็เหมือนกัน ไม่อยากเป็นทหารก็บอกว่า “วันนี้ไม่อยากเป็นทหาร เดี๋ยวพรุ่งนี้ไม่อยากเรียนหนังสือ เดี๋ยวไม่อยากจ่ายภาษี” มันไม่เกี่ยวกัน เขาอยากมีอิสรภาพในการที่จะเลือกประกอบอาชีพ ทหารถือเป็นสถาบันที่ทรงเกียรติ เพราะฉะนั้นพี่น้องก็ควรจะต้องมีสิทธิ์ที่จะเลือก ไม่ได้ถูกบังคับ คุณบอกว่าถ้าไม่เป็นทหารคุณไม่รักชาติ ตลกรึเปล่า ผมเป็นพยาบาล หมอ วิศวกร ครู นักปกครอง หรือเป็นนายอำเภอ ทำไมจะไม่รักชาติ ผมว่ามันเป็นอะไรที่ไร้สาระที่สุดแล้ว
เราไม่ได้บอกให้ยกเลิกทหาร ถ้าเกิดทหารเป็นสถาบันที่ทรงเกียรติ ผมเชื่อว่าหลายคนอยากเป็นทหาร สถาบันทหารเองก็จะได้พัฒนาให้คนอยากมาเป็นทหารด้วย จัดให้ลงเพิ่มมาเป็นทหารก็มีการสอนให้ประกอบอาชีพที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ
อันนี้คือคำพูดที่ผมใช้อย่างระมัดระวัง คุณสังเกตไหมว่าคนจะบอกว่าเอาไปซักกางเกงใน เอาไปรถน้ำ เอาไปขับรถ ผมพยายามไม่พูด ผมอายุ 61 ปีแล้ว ผมไม่อยากให้เกิดความร้าวฉาน แค่บอกว่าไม่ไปทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ถ้าคุณจบ ม.6 มา คุณอาจจะไปเรียนเป็นช่างกลึง ช่างหล่อ ทหารก็มี ฐานพัฒนาก็มี คุณก็ไปเป็นทหาร 2 ปี ถ้าคุณทำงานได้ดีเขาอาจจะจ้างคุณไปทำอะไรต่อในทหาร หรือคุณออกมาคุณก็มีอาชีพในการที่จะไปทำเกี่ยวกับเรื่องของการช่างได้
ผมว่าการพูดจาสำคัญมาก ถ้าผมอยากจะสื่อสารออกไปให้คนรุ่นใหม่ ก็คือ เราอย่าพูดจาเอามันหรือพูดจาเอาชนะจะดีกว่า พูดจาให้ไพเราะหู คุณก็อยากให้ผมพูดกับคุณด้วยวาจาสุภาพ ไม่ต่างกันนะ ผมก็อยากให้คุณพูดจากับผมในวาจาสุภาพ ถึงแม้หลักเกณฑ์ หลักการคิด หรือเป้าหมายอาจจะไม่ตรงกัน แต่ถ้าพูดจาด้วยกันด้วยภาษาที่ไม่ไปด้อยค่าก็จะดีกว่า
ผมใช้เสมอคำว่า ‘เราเถียงกันด้วยความ ไม่ได้เถียงกันด้วยคน’
เรื่องของการเกณท์ทหาร อย่าไปบอกว่าทหารสมัย พล.อ.ประยุทธ์เป็น ผบ.ทบ.เอาไปซักกางเกงใน ใจความมันถูกบิดไปเป็นเรื่องของคน ถ้าคุณเป็น พล.อ.ประยุทธ์ คุณจะแฮปปี้ไหม “ผมไม่เคยสั่ง ลูกน้องไปทำเอง ว่าผมได้ยังไง ผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น” คือ ‘ความ’ มันไม่ถูกหยิบยกมาพูด กลายเป็นเรื่องส่วนตัวไปแล้ว เป็นคุณไปว่า พล.อ.ประยุทธแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าท่านเองก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องของความนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ พูดกันด้วยใจความดีกว่า
เราพูดกันว่า เรามีสิทธิเสรีภาพในการที่จะไว้ทรงผมอย่างไร ไม่ว่าคุณจะย้อมผมคุณสีทองแดงหรือสีชมพู คุณก็ดูสวยดี ไม่ใช่บอกว่า “คุณน่าเกลียดจังเลย ผมสีชมพู แล้วเวลาคุณไปงานศพทำยังไง” อย่างนี้คุณทำไม่ถูกนะ โลกมันเปลี่ยนไปเยอะมาก เราพูดกันเรื่องใจความดีกว่า ถ้าเกิดว่าคุณมีผมสีนี้มันบอกว่าคุณเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า เพียงแต่ว่าเราไม่ได้อาจจะเหมือนกับคน 80% มั้ง แต่เด็กสมัยนี้เขาก็ทำผมกัน เขาก็ไว้ผมยาว เขาก็ทำอะไรได้ มันก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเขาจะเป็นคนไม่ดี หรือว่าจะไม่รักชาติ ผมว่าถ้าเกิดไม่มีการพูดคุยเรื่องพวกนี้ ประเทศชาติเดินไปได้ลำบาก ทำให้คนบางส่วนออกนอกประเทศไป ซึ่งคนที่ออกไปนอกประเทศล้วนเป็นคนที่มีคุณภาพ เขาถึงได้ออกไป เพราะเขารู้ว่าเขาจะไม่ตายแน่นอน
แล้วคุณได้เรียนรู้อะไรจากโซเชียลมีเดียบ้าง
ไม่จำเป็นต้องตอบทุกข้อความที่คนเขียนมา ผมตอบกับใครก็ไม่รู้ ผมเรียนรู้ตรงนี้มากกว่าว่า จริงๆ แล้วบางทีไม่ต้องเอาชนะด้วยคำพูดหรอก เรามั่นใจในสิ่งที่เราเขียนไป เป็นตัวตนของเราเอง บางอันอาจจะเขียนผิดลงผิดไป ก็ยอมรับแล้วก็เลิกทำ
อย่างเช่นผมก้าวมาสู่การเมืองแล้วมีวันนึงผมทวีตเรื่องไปตรวจไซด์ของแสนสิริ ตอนนั้นผมยังไม่ได้ลาออก เช้าวันเสาร์ผมก็อยากให้ลูกน้องรู้ว่าผมยังทำงานอยู่นะ ผมก็ไปเยี่ยมไซด์งาน ดูความเรียบร้อยว่าเขาก่อสร้างเป็นยังไง แล้วผมก็ทวีต ทัวร์ลงบอกว่าเดินเข้าสู่การเมืองมาเพื่อจะขายบ้านเหรอ มันไม่ใช่จุดประสงค์ของผม จุดประสงค์ของผมต้องการให้พนักงานรู้ว่าผมยังอยู่นะ ผมยังไม่ได้ลาออก ณ วันนั้นผมยังไม่ได้ลาออก แต่คนส่วนมากก็เห็นต่าง ผมขอโทษมันไม่เหมาะสม ผมจะไม่ทำอีก ยอมรับแล้วก็มูฟออน ผมไม่ใช่บุคคลพิเศษอะไร ผมก็ทำผิดได้
แต่บางคนที่เขาเรียกว่า IO หรือว่าเห็นต่างอย่างสุดโต่ง บางทีผมไม่จำเป็นจะต้องไปตอบโต้ บางคนตอบมา “ไอ้ เ-ส-ด-ถ-า” แล้วผมก็เคยตอบไปว่า “เศรษฐาสะกดอย่างนี้ครับ” มันไม่คุ้มกับมือผมที่จะต้องไปทำ ถ้าคุณอยากด้อยค่าผมด้วยการไปเปลี่ยนชื่อผม ไปเปลี่ยนวิธีการสะกดชื่อผม ไม่ให้เกียรติผมขนาดนั้น ผมไม่จำเป็นต้องตอบก็ได้
ขณะที่ ถ้าคุณบอกว่า “คุณเศรษฐา เรื่องดิจิตอลวอลเล็ต ถ้าเกิดตามทะเบียนบ้านหนูอยู่พะเยา หนูไปทำงานกรุงเทพฯ หนูใช้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้เหรอ” อย่างนี้ผมก็จะตอบว่า “ไม่ได้ครับ เพราะว่าเราต้องการไปกระตุ้นชุมชน พื้นฐานจริงๆ ชุมชนที่มันไกลจริงๆ” แล้วเขาตอบกลับว่า “อย่างนี้หนูลำบากแย่เลย” ผมก็จะบอก “มี 6 เดือนให้ใช้นะ คุณจะไม่กลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องคุณเลยเหรอ” คือมันใช้เป็นการตอบโต้ได้บางอันเท่านั้นแหละ บางอันที่ก้าวร้าว หยาบคาย ก็ไม่ไหว
มีอะไรอยากฝากก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งไหม?
(นิ่งคิดอยู่นาน) อันนี้สะท้อนให้เห็นอย่างนึงนะ ผมยังไม่เป็นนักการเมือง ถ้าเป็นนักการเมืองแล้วมันจะออกมาเลยทันทีภายใน 10 วินาที ออกมาได้เลย อย่างเมื่อกี้ถ้าเกิดพูดถึงจะให้ผมพูด 2 นาที ผมก็อึดอัด เพราะว่าในชีวิตจริงผมถูกเทรนมา 60 ปี ผมไม่เคยต้องพูดอะไรอย่างนี้
[ส่วนที่จะให้ฝาก] ผมว่าช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าประเทศทดถอยไปในทุกๆ มิติ ผมเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่พี่น้องต้องมา ไม่อยากใช้คำว่าสนใจการเมือง แต่สนใจเรื่องนโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอว่าพรรคการเมืองไหนเสนอมาแล้วเคยทำได้จริง แล้วนโยบายที่เสนอมาไม่ใช่แค่ทำได้จริงอย่างเดียว แต่จะมีโอกาสได้ทำหรือเปล่า ไม่ใช่เป็นนโยบายที่ฟังแล้วดูสะใจ ดูแล้วโดน แต่ทำจริงๆ มันทำได้หรือเปล่า คำนึงถึงผลกระทบมันหรือเปล่าว่าถ้าเกิดทำไปแล้วมัน เรื่องของสถาบันต่างๆ มันจะเป็นอย่างไรบ้าง มันจะอยู่ด้วยกันด้วยความเป็นสุขได้หรือเปล่า มันจะเกิดผลกระทบขั้นรุนแรงออกมาหรือเปล่า
เราต้องการอะไร ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่ายังมีหลายเจนเนอเรชั่นที่ต้องอยู่ร่วมกัน ไม่ได้มีแค่ปู่ย่าตายาย เรามีปู่ย่าตาทวดด้วย ปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ทำให้เรามีอายุยืนขึ้น เราต้องอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่เห็นต่างกันแล้วก็ไปอยู่นอกประเทศ หรือว่าไม่พูดคุยกัน
ส่วนตัวผมก็หวังว่านโยบายของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องของสิทธิเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพ เรื่องเพศสภาพ หรือนำอากาศที่บริสุทธิ์มาให้กับพี่น้องประชาชนในแง่ของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด PM 2.5 ผมเชื่อว่าเป็นนโยบายที่เรากลั่นมาแล้ว คิดว่าโดนใจประชาชน
ถ้าเกิดพี่น้องประชาชนมองว่าใช่ ก็ฝากเบอร์ 29 ด้วย ขอบคุณครับ