‘สว.’ หรือสมาชิกวุฒิสภา เป็นอีกหนี่งตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกพูดถึง (และถูกวิจารณ์) อยู่บ่อยครั้งในช่วงไม่นานมานี้ ตั้งแต่การมีบทบาทในการเลือกนายกฯ การมีอำนาจในการให้กฎหมายผ่านหรือไม่ผ่าน ไปจนถึงที่มาของ สว. ที่ส่วนหนึ่งเรียกว่า ‘สว. คสช.’
แต่ด้วยอายุของ สว. ชุดปัจจุบันกำลังจะครบวาระ 5 ปี การเลือก สว. ชุดใหม่จึงกลายเป็นประเด็นใหม่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อระบบการเลือกนั้นมีความซับซ้อน โดยจะต้องผ่านการเลือกกันเองภายในผู้สมัครด้วยกันถึง 3 รอบ และยังมีกฎ หรือรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น ความซับซ้อนยังถูกตอกย้ำด้วย ‘ระเบียบแนะนำตัว’ ที่ประกาศโดย กกต. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 และมีผลบังคับใช้ทันทีในวันต่อมา ระบุข้อปฏิบัติของผู้สมัครในการแนะนำตัว ที่ทั้งห้ามให้สัมภาษณ์สื่อ ห้ามแสดงจุดยืนหรืออุดมการณ์ และแนะนำตัวได้กับแค่ผู้สมัครด้วยกันเองโดยใช้ข้อมูลตามที่ กกต. กำหนดให้มีเท่านั้น เช่น ข้อมูลส่วนตัว ประสบการณ์การทำงาน
ประชาชนส่วนหนึ่งจึงออกมาวิจารณ์ระเบียบดังกล่าวบนโซเชียลมีเดียว่า ไม่ต่างอะไรกับการ ‘กีดกันประชาขนออกจากกระบวนการ’ เพราะประชาชนทั่วไปก็จะไม่ได้รับรู้เลยว่าใครเป็นผู้สมัคร มีความตั้งใจ มีอุดมการณ์อย่างไร ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 7 ผู้แสดงตัวว่าจะลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวแล้ว เพราะมองว่าระเบียบไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตัดการรับรู้ของประชาชน โดยศาลปกครองรับคำฟ้องและนัดไต่สวนต่อไป
แล้วตกลงว่าระเบียบแนะนำตัวไม่เหมาะสมจริงไหม? อะไรคือปัญหาของการเลือก สว. ครั้งนี้กันแน่? เพื่อหาคำตอบเหล่านี้ The MATTER จึงไปพูดคุยกับ อ.ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไขข้อสงสัย และมองภูมิทัศน์การเมืองไทยหลังได้ สว. ชุดใหม่จากระบบการเลือกที่แสบซับซ้อน
”ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า สว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย…สว.ทำงาน โดยรับเงินภาษีจากเรา ประชาชนถึงต้องมีสิทธิรู้จัก รู้ถึงความตั้งใจและอุดมการณ์ของคนที่จะลงสมัครเป็น สว.“ ปุรวิชญ์อธิบายว่า แม้ระบบจะกำหนดไว้ในกฎหมายว่า สว. ต้องเลือกกันเอง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าประชาชนจะไม่ควรรับรู้อะไรเลย
จากที่คนตั้งข้อสังเกตว่าระเบียบแนะนำตัวไม่เหมาะสม “มันไม่เหมาะสมอยู่แล้ว เพราะจะทำให้กระบวนการเลือกไปเกิดในที่ลับ” ปุรวิชญ์อธิบาย และเสริมว่าจริงๆ แล้วจะต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกกันเอง ที่มีรายละเอียดอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อย่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ที่เป็น ‘ตัวต้นเรื่อง’ ของระบบการเลือก สว. นี้
พ.ร.บ. ดังกล่าวได้อธิบายถึงระบบการเลือกที่แบ่งกลุ่มอาชีพ วิธีการเลือกตลอด 3 รอบ และนอกจากนั้น ในมาตรา 36 ได้ระบุให้อํานาจ กกต. ในการออกเงื่อนไขและวิธีการในการแนะนําตัวผู้สมัคร สว. ดังนั้น กกต. จึงอาศัยอํานาจนี้มาออกระเบียบที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในตอนนี้
“มันไม่เหมาะสมอยู่แล้ว เพราะระบบมันปิด และจะทำให้เกิดการบล็อกโหวตได้ แต่ระเบียบไม่ใช่ตัวจุดชนวน และเป็นเพียงผลสืบเนื่องมาจากเรื่องที่ใหญ่กว่า” ปุรวิชญ์กล่าว โดยตอกย้ำว่าระบบการเลือกและระเบียบแนะนำตัว เป็นการกีดกันประชาชนออกไป เพราะเมื่อบอกให้ผู้สมัคร สว. เลือกกันเอง ทำให้ ผู้สมัคร สว. ก็ต้องแนะนําตัวกับผู้ที่สมัครด้วยกันเอง จะไปแนะนําตัวกับประชาชนไม่ได้เพราะไม่ใช่การเลือกตั้ง
นอกจากนั้น กระบวนการเลือกยังซับซ้อนและใช้เวลานาน ต้องเลือกตั้งแต่ระดับอําเภอ ระดดับจังหวัด ระดับประเทศ ปุรวิชญ์จึงนิยามระบบนี้ว่า เป็นระบบที่ “ใช้ต้นทุนสูง” ทั้งต้นทุนเวลา ต้นทุนเงินในการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ ที่ทำให้ประชาชนทั่วไปที่แค่เห็นวิธีการเลือกและข้อจำกัดมากมายก็รู้สึกเหนื่อย และไม่อยากเข้ามามีส่วนร่วม
ด้วยระบบที่วางมาแบบนี้ ปุรวิชญ์เห็นว่าการที่มีผู้ประสงค์จะลงสมัคร สว. รวมตัวกันไปฟ้องนั้น ก็ถือเป็นวิธีการเดียวอะที่จะ ‘สู้กับระบบ’ “มีทางเลือกแค่คุณจะเล่นตามกติกาที่เขาเขียนไว้เสร็จสรรพ หรือคุณจะสู้หนึ่งตั้ง และอาจจะเปลี่ยนแปลงกติกาบางอย่างได้” ปุรวิชญ์กล่าว
หลังระเบียบแนะนำตัวเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 26 เมษายน กลุ่มประชาชนที่ตั้งใจจะลงสมัคร สว. ก็ระดมทีมกันร่างคําฟ้อง เพราะถ้าไม่ทําโดยรวดเร็ว ก็จะมีผลให้ไม่บังคับใช้ระเบียบนี้ไม่ทัน ซึ่งดูจากการที่ศาลไม่ยกฟ้อง แสดงว่ามีประเด็นฟ้องที่ชี้ขาดได้ เช่น การที่ระเบียบนี้บังคับใช้กับผู้ประสงค์จะลงสมัคร ว่าให้ไปแนะนำตัวกับผู้สมัครด้วยกันได้เลย แต่ในเมื่อเรายังไม่รู้เลยว่าใครเป็นผู้สมัครบ้าง จึงถือเป็นหนึ่งใน ‘ความลักลั่น’ ของระเบียบฉบับนี้
ความเป็นไปได้หลังจากนี้จึงมีอยู่ 2 ทาง คือ
- ศาลยกฟ้อง เพราะ กกต. มีอํานาจในการออกระเบียบนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนฝ่ายผู้ร้องอาจอุทธรณ์ต่อก็ได้ แต่กว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้น การเลือกก็คงจบไปแล้ว
- ศาลสั่งให้ กกต. แก้ไขบางส่วนของระเบียบ
หน้าตาของระเบียบแนะนำตัว รวมถึงจากระบบวิธีการเลือก สว. นี้ จึงจะมีผลต่อหน้าตาของการเมืองไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย ซึ่งจะออกมาเป็นแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่ามีประชาชนได้เข้าไปเป็น สว. มากเท่าไร
ปุรวิชญ์ตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการเลือกนี้ เป็นวิธีการที่กีดกันประชาชนไปตั้งแต่ต้น ทั้งต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาท และใช้เวลาในการเลือกถึง 3 รอบ ประชาชนจึงเห็นว่ามัน ‘เหนื่อยเกินไป’ และไม่ต้องการเข้าไปยุ่ง และอาจทำให้เกิดการบล็อกโหวต ทุ่มโหวตขึ้นได้ ทำให้หน้าตาของ สว. อาจไม่แตกต่างจากเดิม
แต่ “ในเมื่อระบบมันเป็นแบบนี้เราก็ต้องสู้กับระบบ” ปุรวิชญ์กล่าว เพราะเมื่อระบบถูกออกแบบมาเช่นนี้ ประชาชนก็ต้องเข้าไปเป็นตัวแปร คือเข้าไปอยู่ในระบบกระบวนการให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ เพื่อให้อย่างน้อยการบล็อกโหวตเกิดขึ้นได้ยากขึ้น
หรืออย่างที่สุดคือเมื่อมีประชาชนเข้ามาอยู่ในกระบวนการมากขึ้น จนสามารถผลักดันให้มีตัวแทนที่เป็นประชาชนเข้าไปอยู่ใน สว. ชุดใหม่ได้มากที่สุด ก็จะทําให้ภูมิทัศน์การเมืองไทยอีก 5 ปีข้างหน้ามีความเปลี่ยนแปลงมาก เพราะ สว. ชุดใหม่ แม้จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกฯ แล้ว แต่ยังมีอํานาจในการให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆ และเลือกองค์กรอิสระ
ปุรวิชญ์เล่าว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นอีกวาระสำคัญของการเลือก สว. ชุดนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นมรดกของคณะรัฐประหารปี 2557 และเป็นหัวใจสำคัญของระบบการเมืองหลังรัฐประหาร โดยในการแก้ไขจะใช้ 1 ใน 3 เสียง จาก สว. ทั้งหมด 200 คน เท่ากับใช้เสียงเห็นชอบ 67 คนขึ้นไป
และอีกอํานาจอย่างการให้ความเห็นชอบผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะองค์กรอิสระที่ดำรงตําแหน่งอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งผ่านการสรรหาและได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุค คสช. เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. กกต. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งวาระของพวกเขาเหล่านี้จะหมดลงภายใน 1-3 ปีนี้ ก็จะต้องมีการเติมคนใหม่เข้าไป สว. ชุดใหม่ จึงจะได้มีบทบาทในการให้ความเห็นชอบ
“แต่ถ้าหน้าตาของ สว. ชุดใหม่มีประชาชนคนธรรมดาหลุดรอดเข้าไปได้ไม่กี่คน แล้วคนที่เข้ามาได้เป็น สว. อาจจะไม่ใช่หน้าตาอย่างที่เราตั้งความหวังไว้ ก็จะทําให้โฉมหน้าของการเมืองอีก 5 ข้างหน้าไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรใช้คํานี้แล้วกัน จะเป็นอยู่อย่างต่อไปอย่างที่เป็นใน 5-6 ปีที่ผ่านมา” ปุรวิชญ์กล่าว
ปุรวิชญ์ทิ้งท้ายโดยสรุปว่า วุฒิสภาเป็นสถาบันการเมืองที่สําคัญตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และมีอำนาจสำคัญหลายประการ แต่กระบวนการออกแบบการได้มาซึ่ง สว. เหมือนจงใจกีดกันคนจํานวนมากออกไปตั้งแต่แรก ซึ่งถือเป็นความเปราะบางที่สําคัญในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนจึงต้องมาสู้
“แม้กระบวนการจะไม่ได้เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ตั้งแต่ต้น แต่อย่างน้อยที่สุดที่ทําได้ ถ้าใครมีกําลังทรัพย์ มีความพร้อมเรื่องเวลา อายุถึง ก็ลองเข้าไปทดสอบระบบดู แต่ถ้าใครไม่มีกําลังถึงขนดานั้น ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดคือทํางานทางความคิดนะครับ บอกต่อกับคนรอบตัวว่า สว. มันสําคัญ และให้ติดตามการทำงานต่อไป” ปุรวิชญ์กล่าว
โดยในวันนี้ (10 พฤษภาคม 2567) จะเป็นวันแรกที่ผู้ที่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกเป็น สว. สามารถเริ่มรับใบสมัครได้แล้ว ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต โดยสามารถรับจากอำเภอใด เขตใดก็ได้
หลังจากนี้จึงต้องติดตามต่อไปว่าผลจากการฟ้องร้องให้เพิกถอนระเบียบจะเป็นอย่างไร โดยศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ และจากร่างแผนการจัดเลือก สว. จาก กกต. ระบุว่า จะมีการประกาศกำหนดวันรับสมัครในวันที่ 13 พฤษภาคม และจะดำเนินการเลือกจนประกาศผลการเลือก สว. ชุดใหม่ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567