พอเรียนจบปุ๊บ ก็ต้องรีบทำงานหาเงิน เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวทันที เพื่อจะได้มีชีวิตรอดต่อไปในสังคมไทย
ในกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เสียงของคนรุ่นใหม่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ไม่เฉพาะเรื่องของการแก้ไขกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของค่านิยมต่างๆ ในสังคมที่กดทับ และกักขังความฝันของพวกเขาเอาไว้
ท่ามกลางผู้ปราศรัยรุ่นใหม่หลายคน ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกจับตามอง หลังจากเธอได้ไปปราศรัยในการชุมนุม ‘อิสานสิบ่ทน’ และเข้าร่วมงานเสวนา ‘รัฐ ทำ นัวร์’ ซึ่งประเด็นที่เธอพูดถึงนั้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่รัฐทำต่อคนรุ่นใหม่เอาไว้ด้วย
The MATTER เลยอยากพาทุกคนมาร่วมกันฟังเสียงของธนาภรณ์ ถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ และสิ่งที่พวกเขาต้องพบเจอในสังคมปัจจุบันกัน
ในฐานะที่เราเป็นนักเรียนที่กำลังจะจบ และออกมาสู่อีกสังคมหนึ่ง อยากอยู่ในสังคมแบบไหน
จริงๆ สังคมที่เราต้องการ มันไม่ใช่แค่ว่า ออกมาจากรั้วโรงเรียน เราต้องการสังคมแบบนี้อยู่ในทุกๆ ที่ ของสังคมที่เราอยู่ เราต้องการสังคมที่มอบเสรีภาพ เพื่อให้เราสามารถกำหนดเนื้อตัวและร่างกายของตัวเองได้ สังคมที่เราจะสามารถคิดแตกต่าง และกำหนดความเชื่อของตัวเองได้ เราอยากให้ทุกคนสามารถสร้างและออกแบบสังคมแบบนั้นร่วมกันได้
ทั้งหมดที่เราพูดมา ก็คือสังคมประชาธิปไตยนั่นเอง เพราะเราคิดว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รับรองได้เลยว่า มันจะมอบความฝันพื้นฐานที่พูดไปให้กับเราได้ แต่เราก็ไม่ได้บอกว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดของสังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็ด้วยความที่ไม่สมบูรณ์แบบนี่แหละ ที่เราคิดว่า เป็นฐานคิดหลักของประชาธิปไตย หรือจะพูดอีกอย่างว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบปกครองเดียวที่จะทำให้ความแตกต่าง ความไม่สมบูรณ์ต่างๆ มาอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม เพราะเราทุกคนที่เป็นมนุษย์ก็คงรู้ดีว่า มนุษย์ทุกคนไม่ได้สมบูรณ์แบบ
แต่ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เราก็รู้กันว่า มันเป็นรัฐเผด็จการที่ทำให้ความฝันที่เราพูดไป ได้มลายหายสิ้นไปต่อหน้าต่อตา เพราะว่าสังคมเผด็จการทำให้ความแตกต่าง ความไม่สมบูรณ์ คือความตาย เราไม่มีสิทธิที่จะกำหนดตัวเองได้เลย เราไม่สามารถแม้แต่ที่จะมีความแตกต่างในตัวเองได้ แม้ว่า ความต่างจะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ แต่ตอนนี้ แค่คิดต่างเรายังทำไม่ได้เลย แล้วจะเอาอะไรไปสร้างความฝัน
ในโรงเรียนมีส่วนช่วยเสริมให้เราไปสู่สังคมที่เราคาดหวังไว้มากน้อยแค่ไหน
โรงเรียนของเราไม่ได้ปิดกั้นอะไรมากมาย ก็ต้องบอกว่า โชคดีที่มีโรงเรียนและอาจารย์เปิดรับค่อนข้างมาก ซึ่งเราเองก็เป็นคนที่พยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมในการตั้งคำถาม สร้างวัฒนธรรมในการแสดงความคิดเห็นเข้าไปในโรงเรียน ในรูปแบบของกิจกรรมชุมนุม หรือในรูปแบบของการสร้างกิจกรรม อย่างที่เราทำอยู่
แต่ก่อน มันจะมีความเป็นปกติที่สร้างค่านิยมบางอย่าง จนทำให้ทุกอย่างดูเป็นปกติ แล้วเราก็ลืมตั้งคำถามไป ซึ่งเราคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากๆ
ความเป็นปกติบางอย่าง หมายถึงอะไร
ยกตัวอย่างจากเรื่องใกล้ตัว เช่น โรงเรียนมีกฎที่ใช้สำหรับนักเรียนเท่านั้น ทั้งๆ ที่คนสร้างกฎ ไม่ใช่กลุ่มคนที่จะต้องถูกบังคับ คนคิดกฎขึ้นมาไม่ใช่นักเรียนเลย นักเรียนอยู่ดีๆ ก็มาเจอกฎเหล่านี้ ที่เขาเอาขึ้นหิ้งไว้ตั้งแต่ปีไหนแล้วก็ไม่รู้ บางโรงเรียนมีกฎขึ้นเป็นบอร์ดใหญ่ๆ ใช้ไม้สลักเป็นกฎของโรงเรียน ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า มันมีมานานแล้ว แต่ยุคสมัย โลกของเรามันหมุนไปเร็วมาก แล้วกฎเองก็ไม่ได้ตกลงมาจากฟากฟ้า กฎสามารถถกเถียง แลกเปลี่ยนกันได้ แล้วก็สามารถทำให้มันเข้ากับยุคสมัยได้อีกด้วย
แล้วโรงเรียนได้สอนเรื่องสังคมและการเมืองต่างๆ มากน้อยแค่ไหน
ไม่ได้มากมาย เพราะสอนตามหลักสูตร แต่เราเองมีการเปิดชุมนุมที่ชื่อว่า ‘โต๊ะน้ำชา’ ที่เราจะเอาประเด็นสังคมต่างๆ มาถกเถียงกัน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าเราคิดเห็นยังไงกับประเด็นนี้ อย่างที่บอกว่า เราสนุกกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก็เลยอยากสร้างบรรยากาศให้มันเป็นปกติ และกลายเป็นวัฒนธรรมในสังคมที่เราอยู่
ในโรงเรียนก็เปิดพื้นที่ให้แสดงออกได้เต็มที่ อาจจะไม่ถึงกับช่วยผลักดัน แต่ก็ไม่ห้าม หรือดุด่าว่ากล่าวอะไร ก็คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเหมือนกัน
ในงาน ‘รัฐ ทำ นัวร์’ เคยพูดไว้ว่า “รัฐกำลังทำลายความฝันของเรา” หมายถึงอะไร แล้วเขามีวิธีการทำลายความฝันของเราอย่างไร
ต้องบอกว่า รัฐไทยไม่ได้มีสวัสดิการรองรับเราได้ดีพอ แล้วพอมันไม่มีสวัสดิการที่ดี ก็ทำให้พ่อแม่เริ่มที่จะมาแขวนความหวังไว้ที่คอเรา พอเป็นแบบนี้ ก็ทำให้เราถูกสังคมคาดหวังมาอีกว่า เราต้องทำเพื่อพ่อแม่ ถ้าเราไม่ทำ สังคมก็จะตราหน้าเราว่าเป็นคนอกตัญญู เลยกลายเป็นว่าความหวังของพ่อแม่ เป็นตัวที่กักขังความฝันเราเอาไว้
เหมือนกับที่บอกว่า ‘เด็กจบมา ต้องมาเลี้ยงพ่อแม่’
ก็ต้องบอกก่อนว่า ค่านิยมของพ่อแม่เองก็ถูกเปลี่ยนผ่านมาเหมือนกัน เราค่อนข้างมั่นใจว่า ในยุคสมัยใหม่นี้เอง พ่อแม่ก็ไม่ได้หวังให้ลูกมาเลี้ยงตัวเองขนาดนั้น เพราะค่านิยมที่ว่า จบมาหาเลี้ยงพ่อแม่ เป็นค่านิยมสมัยเดิม
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของค่านิยมนี้ เราโทษใครไม่ได้เลย โทษลูกไม่ได้ โทษพ่อโทษก็ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ทุกคนเป็นเหยื่อหมด ถามว่าเป็นเหยื่อของอะไร เราทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของระบบ ลูกเป็นเหยื่อยังไง ลูกก็ต้องเร่งรีบไปหางานทำ จบแล้วก็ต้องไปหางานทำเลย รีบเอาประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตไปเพื่อแลกกับเงิน พอได้เงินมาก็ต้องมาจัดแจงทั้งในส่วนของตัวเอง แล้วก็หลายคนก็ยังต้องจัดแจงเพื่อที่จะไปเกื้อหนุนพ่อแม่อีก ส่วนพ่อแม่เองก็เป็นเหยื่อเหมือนกัน เพราะว่า เมื่อลูกต้องแบ่งเงินมาให้พ่อแม่ เงินที่ตกมาถึงพ่อแม่ก็อาจจะไม่มาก ซึ่งคิดเหรอว่า มันจะเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ดีขนาดนั้น
ดังนั้น ทุกคนก็เลยเป็นเหยื่อของระบบ ระบบของรัฐที่ไม่ได้เกื้อหนุนให้เรามีชีวิตที่ดี แล้วระบบของรัฐก็ผลักภาระให้เราต้องดูแลตัวเองมากเกินความจำเป็น
ขณะเดียวกัน ค่านิยมที่พ่อแม่อยากให้ลูกมาเลี้ยงดูตอนแก่ มันเกี่ยวพันไปถึงเรื่องของการที่มองว่า ลูกคือการลงทุนด้วยหรือเปล่า
คิดว่าใช่ เพราะพอเราเกิดมา ก็เป็นยุคของทุนนิยมเลย ต้องยอมรับว่า ชีวิตเราจะถูกขับเคลื่อนไปด้วยทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พอเป็นระบบแบบนี้ เราก็เลยทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า แม้ว่าบางสิ่งจะไม่ควรหรือไม่ใกล้เคียงที่มันจะเป็นสินค้าเลย
ดังนั้น ค่านิยมนี้ ที่บอกว่า ‘การเลี้ยงลูก คือการลงทุน’ มันผิดพลาดตั้งแต่ที่เราพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นการลงทุนแล้ว เพราะนิยามของการลงทุนคือ คือการเอาทุนไปลงไว้ เพื่อหวังผลตอบแทน หรือที่เราเรียกว่า กำไร ฉะนั้น มันผิดตั้งแต่การที่คุณมองลูกตัวเองที่เบ่งออกมา เป็นสินค้าหรือบริการ
เวลาที่เราไปเลือกสินค้าหรือเลือกบริการ เราก็จะมีความคาดหวังต่อสินค้านั้นๆ ว่า ควรเป็นสิ่งที่เราประสงค์เสมอ คือถ้าสิ่งนั้นเป็นสินค้าจริงๆ โอเค ไม่ผิดเลย เพราะมันไม่มีชีวิต ไม่มีจิตใจ ไม่ต้องใช้ระบบศีลธรรมอะไร แต่นี่คือลูก ลูกคือมนุษย์ เราไม่สามารถพูดได้เลยว่า การเลี้ยงลูก คือการลงทุนตั้งแต่แรก เพราะเขาไม่ใช่สินค้าตั้งแต่แรก โอเค ในดีเทลชีวิตของลูกจะต้องดำเนินไปด้วยทุน อย่างค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินไปด้วยการลงทุนจริง แต่คุณจะมองว่ามันเป็นการลงทุนไม่ได้
เราควรจะเปลี่ยนเป็นค่านิยมใหม่ ก็คือให้ค่านิยมที่ว่า การเลี้ยงลูกคือการลงทุนหายไป แต่เป็นค่านิยมใหม่ๆ ที่ว่า การเลี้ยงลูกคือการส่งเสริม สนับสนุน และเข้าใจสิ่งมีชีวิตคนนึงอย่างเต็มที่ ซึ่งการที่เราจะทำสิ่งที่เราพูดมา มันลุ่มลึกกว่าการที่เรามองว่า เขาเป็นสินค้ามากๆ
ถ้าอย่างนั้น คิดว่าเราควรต้องทำอย่างไร ให้แนวคิดนี้ทุเลาลง
เราคิดว่ามันต้องใช้เวลา การเกิดขึ้นของค่านิยมเกี่ยวข้องกับเรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องของจารีต การเปลี่ยนแปลงอะไรพวกนี้ มันต้องใช้เวลา ใช้เวลาในการพิสูจน์ว่า ‘เฮ้ย เราต้องมองเขาเป็นคนนะ’ เราควรที่จะมองเขาให้เป็นมนุษย์ที่มีค่ามากขึ้น เราไม่ควรที่จะมองเขาเป็นแค่สินค้า พอเราพูดคำว่า มนุษย์กับสินค้า มันคนละอย่างกันเลย แต่ว่าเราก็น่าจะทำให้เขาเชื่อได้ว่า สองอย่างนี้มันต่างกัน และเราควรทรีตมันอย่างแตกต่างกันด้วย
เป็นเรื่องของแนวคิด ค่านิยมเรื่องของความกตัญญูในสังคมด้วยหรือเปล่า
สำหรับเรา ความกตัญญูคือการที่เรารู้ว่า ใครดีกับเรา ใครรักเรา และเราเองก็พร้อมที่จะแสดงความรักผ่านรูปแบบต่างๆ อย่างเต็มใจ ดังนั้นความกตัญญูจะจำเป็นก็ต่อเมื่อเราเต็มใจ อย่างเช่น พ่อแม่เลี้ยงดูเรามาอย่างดี สนับสนุนเราเต็มที่ เข้าใจเรา ให้การศึกษาเรา ไม่เคยกดขี่ข่มเหงเรา เรารับรู้ได้ว่า เขามองว่าเราเป็นมนุษย์คนนึงที่มีคุณค่า ดังนั้น เราก็จะรักเขาอย่างเต็มใจ เต็มใจที่จะรัก และจะมอบอะไรบางอย่างให้กับเขาในอนาคต โดยที่เราเองก็ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน เพราะอย่างที่บอกว่า เราไม่ใช่สินค้า เขาเองก็ไม่ใช่สินค้า นี่ไม่ใช่เรื่องของการลงทุน
แต่ถ้าสมมติว่า ในกรณีที่เขาคลอดลูกออกมา แล้วปฏิบัติกับลูกอย่างไร้มนุษยธรรม กดขี่ ข่มเหง ไม่เคยให้โอกาส ไม่มองเห็นคุณค่าในตัวเขา หรือหนักที่สุด มองว่าลูกเป็นภาระของเขา ถ้ายังคาดหวังให้ลูกกตัญญู เรามองว่า ไม่ได้ นี่เป็นเคสที่ไม่จำเป็นที่จะต้องกตัญญู อันนี้ในความคิดเรา จริงๆ นอกจากพ่อแม่ กับครูเอง หรือในความสัมพันธ์อื่นๆ เราก็ใช้ฐานคิดเดียวกัน
เกี่ยวพันไปถึง ระบบอาวุโสหรือระบบอุปถัมภ์ไหม แล้วมันส่งผลกับการใช้ชีวิต และการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนรุ่นใหม่อย่างไร?
เรามองว่า มันจะทำให้เกิดข้อถกเถียงที่ว่า ‘คนนี้เก่งแค่ไหน สำคัญเท่าคนนี้เป็นเด็กใครหรือเปล่า’ มันก็เลยทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์และระบบอาวุโสขึ้นมา ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เราตาบอด เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ได้พิจารณาถึงเหตุผล ทำให้เราเลี่ยงที่จะเห็นคุณค่าของคนแปลกหน้า และไปเองว่า คนที่อยู่ก่อนหรือคนที่ใกล้ตัวเรา มีคุณค่ามากกว่าคนอื่น คนที่ใกล้ตัวเรา น่ารัก เป็นคนดี และลืมพิจารณาไปว่า คนอื่นก็ทำได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น องค์กรที่มีระบบอาวุโสสูง มันส่งผลต่อการใช้ชีวิต และก็เป็นปัญหาของคนรุ่นใหม่อย่างแน่นอน
คำพูดที่ผู้ใหญ่บางคนชอบบอกว่า ‘เด็กคิดเองไม่ได้’ คิดเห็นอย่างไร
ทำไมล่ะ? ทุกครั้งที่ได้ยินเราจะรู้สึกแบบนี้ ทำไมเขาถึง devalue คำว่าเด็กขนาดนั้น ทำไมล่ะ เราเองก็เป็นคน มีสมอง คุณส่งเรามาเรียนให้มีความรู้ แล้วสิ่งที่เราตกผลึกมา สิ่งที่รัฐทำกับเรา สิ่งที่สังคมทำกับเรา มันทำให้เรากลั่นกรองออกมาเป็นคนแบบนี้ไง แล้วการที่เราเป็นแบบนี้ คุณเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องเหมือนกัน ที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงบอกว่า เด็กคิดเองไม่ได้
ค่านิยมไหนที่อยากให้เปลี่ยนแปลง
ไม่แน่ใจว่าเป็นค่านิยมไหม แต่ว่า มันเกี่ยวกับการยอม เราคิดว่า คนไทยติดการยอมจนเป็นนิสัย เราไม่ได้บอกว่า การยอมไม่ดีนะ มันโอเค การยอมคือการประนีประนอม เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รู้จักอดทนอดกลั้น แต่เราคิดว่า คนไทยเริ่มยอมกันเกินความจำเป็นแล้ว บางทีในเรื่องของอนาคตเรา ชีวิตเรา สุขภาพของเรา หรือระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของเราอย่างโดยตรง เป็นสิ่งที่ทำให้เราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
เรื่องพวกนี้ที่เราพูดมา เป็นเรื่องที่เราไม่ควรยอม เราควรที่จะยืนหยัดให้ได้ว่า ฉันต้องการสิ่งนี้ เพื่อชีวิตของฉัน เพื่ออนาคตของฉัน ฉันต้องการสิ่งนี้ เพื่อที่รัฐจะต้องมอบให้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต และต่อยอดชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้
พอเรายอมก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ทำวันนี้ให้ดีที่สุด’ ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ และท้ายที่สุดก็อาจจะเกิดการไปฝากความหวังไว้ที่ลูกก็ได้ ก็เลยทำให้บางคนที่ถือคตินี้ มองข้ามจุดบอดของรัฐ และเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐไป เพราะฉะนั้น คิดว่าเราไม่ควรที่จะยอม มันจะดีกว่าไหม ถ้าเราเปลี่ยนจากการยอมเป็นการยืนยันว่าฉันต้องการสิ่งนี้ รัฐต้องจัดหามาให้ฉันนะ
มันคือการทำให้เราเป็นพลเมืองที่ passive หรือเปล่า
ใช่ คือเราต้องถือคติ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ซึ่งคำนี้มันก็หล่อเลี้ยงเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร เราเกิดมาก็ได้ยินเลย
แล้วคิดว่า รัฐสวัสดิการ หรือสวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไหม
เรามองว่า การที่รัฐมีสวัสดิการให้กับเรา แสดงว่าเขาเริ่มที่จะมองเห็นเราในฐานะมนุษย์มากขึ้นแล้ว ซึ่งถามว่า มันสามารถแก้ปัญหานี้ได้ยังไงบ้าง ก็มองว่า มันจะไม่ทำให้เรายอมขนาดนั้น เพราะว่า รัฐได้จัดสรรมาให้เราแล้ว เพราะว่าสิ่งที่เรายืนหยัดในตอนนี้ ก็เพื่อที่จะให้รัฐ provide สิ่งต่างๆ ให้เรา
จริงๆ เราก็ไม่ได้บอกว่า welfare state จะแก้ปัญหาทุกอย่างนะ แต่รัฐสวัสดิการก็เหมือนส่วนต่อลมหายใจ มันไม่ได้ยืนยันว่าจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่เราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งด้านการศึกษาที่ไม่ต้องถ่อไปเรียนไกลบ้าน ด้านสาธารณสุข ด้านการขนส่ง ด้านความสัมพันธ์ เวลาว่าง มันจะทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
คิดยังไงกับคำพูดที่ว่า ‘อายุเท่านี้ ต้องมีเท่านี้’
เรามองว่า การที่เราไม่มีสวัสดิการเอื้อหนุน ก็ทำให้เกิดค่านิยมว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสุขสบาย ก็เลยเกิดคอนเทนต์ที่บอกว่า อายุเท่านี้ ต้องมีเท่านี้
อย่างที่บอกว่า เราเป็นเหยื่อของระบบ ระบบสังคมตอนนี้ มันทำให้เราต้องมาแข่งกับตัวเอง แล้วการแข่งครั้งนี้เราไม่มีสิทธิแพ้ด้วย การแพ้ การล้ม คือความล้มเหลวของชีวิตเลย คนๆ นึงไม่สามารถที่จะเสี่ยงอะไรได้เลย เพราะความเสี่ยงไม่ใช่เรื่องของคนที่จนตรอกแล้ว ไม่ใช่เรื่องของคนที่ไม่มีสวัสดิการอะไรมารองรับ มันไม่มีโอกาสให้ชีวิตเราได้ลองทำอะไรเลย
ถ้าเราอยากได้สังคมที่จะสนับสนุนให้เราเติบโตได้ มันจะต้องมีหน้าตาประมาณไหน
ต้องเป็นสังคมที่มีโครงสร้าง ที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะชนชั้นมันพังทลายลงไม่ได้ เราไม่สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำให้เหลือ 0% ได้ แต่สิ่งที่รัฐทำได้และควรทำ คือสร้างโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นธรรมกับทุกคน ทุกชนชั้น ทุกความหลากหลาย ทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย โครงสร้างของรัฐหรือนโยบายของรัฐ ต้องจัดหาทรัพยากรให้กับประชาชนอย่างเป็นธรรม
ฉะนั้น รัฐสวัสดิการก็เลยไม่ควรเป็นเรื่องของความสงสาร ความอนุเคราะห์ แต่ทุกคนควรได้รับ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม การเมือง อย่างอยู่รอดได้พร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี
ถ้าอยากได้สังคมแบบนี้ เราต้องทำยังไงบ้าง?
เราต้องต่อสู้ ถ้าถามว่าแบบไหน เราคิดว่า เราควรต้องเคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้น เราก็ไม่สามารถเดินไปบอกคนอื่นได้ว่า เธอต้องทำแบบนี้นะ เราถึงจะได้แบบนี้มา ใช่ เราต้องแสดงจุดยืน แต่เราจะแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นแบบไหน ก็เป็นเรื่องของคุณที่จะไปออกแบบมาเอง ในแบบของตัวเอง
มันไม่ควรที่จะมีอะไรเซ็ตมาไว้แล้วว่า เราต้องเป็นแบบนี้นะ เราถึงจะได้มันมา เราต้องขึ้นไปปราศรัยนะ เราต้องเป็นแกนนำนะ ถามว่า สู้แบบนี้ได้ไหม ได้ แต่บางคนก็ไม่ถนัดแบบนั้น เราก็ไม่สามารถไปกำหนดได้ว่า ต้องทำแบบนี้เท่านั้น ถึงจะได้สังคมที่เราใฝ่ฝันมา
เราอาจมีเป้าหมายเดียวกัน แต่เราใช้วิธีการต่อสู้ที่แตกต่างกันออกไป แล้วพอมารวมกัน ก็จะกลายเป็นสังคมที่เราต้องการ สังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และทุกคนก็เคารพซึ่งกันและกัน