คำว่าไม่นานของคุณ คือนานแค่ไหน ?
นี่คือคำถามของเข้-จุฬญาณนนท์ ศิริผล ศิลปินที่นำเอาเนื้อเพลงจากเพลงคืนความสุขของรัฐบาล คสช. มาเป็นธีมของงานศิลปะคอลลาจที่รวบรวมภาพจากหนังสือพิมพ์ตลอด 5 ปี ตั้งแต่วันที่มีการรัฐประหาร ถึงมีการเลือกตั้ง กว่าตลอด 1,768 วันที่เราอยู่ใต้รัฐบาล คสช.
และในตอนนี้ งานศิลปะชิ้นนี้ ก็ได้มีโอกาสไปจัดแสดง ฉายภาพการเมืองที่ลักลั่นของไทยตลอด 5 ปี ให้ชาวเกาหลีได้เห็นผ่านงานศิลปะ ภายใต้งาน exhibition ที่ชื่อว่า ‘Scoring the Words’ ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะกรุงโซล (Seoul Museum of Art) ร่วมกับศิลปินต่างชาติคนอื่นๆ
ในโอกาสนี้ The MATTER ได้ไปชมงานจัดแสดงศิลปะ และได้พูดคุยกับ ‘เข้–จุฬญาณนนท์ ศิริผล‘ ในโอกาสที่งานได้ไปแสดงในเกาหลีใต้ ฟีดแบคจากประชาชนในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว รวมไปถึงมุมมองของเขาผ่านในฐานะศิลปินที่แสดงออกทางการเมืองผ่านงานมาโดยตลอด ในช่วงที่เรียกได้ว่า ศิลปะ มีม หรือภาพการ์ตูน ได้กลายเป็นเครื่องมือสื่อสาร และต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว
ไอเดียของงาน ‘ขอเวลาอีกไม่นาน (Give Us A Little More Time)’ มีที่มามาจากอะไร
ผลงานที่ชื่อ ขอเวลาอีกไม่นาน ภาษาอังกฤษก็คือ Give Us A Little More Time มันก็เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ครับ ที่มีการรัฐประหารในประเทศไทย แล้วก็จะมีเพลงที่เรียกว่าเป็นเพลงที่ปล่อยออกมาหลังจากการรัฐประหาร ชื่อว่าเพลง ‘คืนความสุข’ แล้วก็มันจะมีท่อนหนึ่งที่ร้องว่า ‘เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน’ แล้วคํานี้ก็เลยเป็นสิ่งที่เราจะตั้งคําถามกับการรัฐประหารครั้งนี้ เพราะว่าก่อนหน้านั้น รัฐประหารปี พ.ศ.2549 มันก็มีการเลือกตั้งในปี 50 ก็คือมีการเลือกตั้งภายในหนึ่งปี แต่พอรัฐประหารปี พ.ศ.2557 เราก็มาตั้งคำถามว่าขอเวลาอีกไม่นานของรัฐบาล ที่จะอยู่ภายใต้รัฐบาลรัฐประหารจะใช้เวลานานแค่ไหน
แล้วก็สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นก็คือมันมีการควบคุมสื่อ ควบคุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงตัวสื่อต่าง ๆ ที่ออกมาในช่วงเวลานั้น ก็เหมือนไม่สามารถที่จะนําเสนอข่าวได้รอบด้าน เราก็เลยคิดว่ามันจะมีวิธีการที่จะตั้งคําถามกับอำนาจที่มันถูกยึดครองไปได้ยังไงบ้าง พอดีกับที่ทางบ้านเรารับหนังสือพิมพ์ เราก็เลยเริ่มดู และเหมือนสร้างเรื่องราว หรือว่าสร้างเนื้อหาที่เป็นของเราเองจากการอ่านหนังสือพิมพ์ในช่วงเวลาที่สื่อสารมวลชนหลังการรัฐประหารถูกควบคุม ก็คืองานที่ออกมา ก็จะเป็นงาน เรียกว่างานปะติดสิ่งพิมพ์ เราก็คิดว่าอยากจะทำงานปะติดวันละหนึ่งชิ้นจากหนังสือพิมพ์ประจำวัน ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง มันก็ เป็นเหมือนการใช้ชีวิตประจำวันของเราไปพร้อมกับงานศิลปะ และก็พร้อมๆ ไปกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ถูกควบคุมโดยอำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จ
ในตอนเริ่มต้นที่ตั้งชื่อผลงานว่า ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ ตอนนั้นคิดไหมว่างานปะติดของเราจะทำยาวนานถึง 5 ปีขนาดนี้
ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะยาวนานขนาดนั้นนะ เพราะว่าแต่ละปีที่ผ่านไปก็จะมีข่าวว่า ปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง แต่ว่าพอถึงเวลาจริงๆ มันก็ถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ซึ่งการที่เวลามันถูกเลื่อนออกไป มันก็เท่ากับว่าเราจะต้องทำงานนี้ต่อไปเรื่อยๆ มันเหมือนกับว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราก็มีความสามารถที่จะต่อสู้กับสิ่งที่คิดว่ามันเป็นปัญหา แล้วก็ในฐานะศิลปิน ในการทำงานศิลปะ เราคิดว่าก็เป็นสิ่งที่เราควรต้องรับผิดชอบในการที่จะนําเสนอเนื้อหา หรือทัศนคติของเราที่มีต่อการเมืองของไทย เพราะเราก็เป็นเจ้าของงาน เป็นคนทำงานศิลปะที่สนใจทางด้านการเมืองแล้วการเปลี่ยนแปลงของไทย
ในการมาจัดงานที่เกาหลีครั้งนี้เป็น exhibition ร่วมกับศิลปินต่างชาติ ที่มีธีมงานว่า ‘Scoring the Word’ ในฐานะส่วนหนึ่งของงานนี้ งานของเราสอดคล้องเล่าเรื่องกับศิลปินคนอื่นๆ ยังไงบ้าง
ตอนที่แสดงที่ไทย ก็คือสองปีที่แล้วที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY การแสดงตอนนั้นมันก็เป็น solo exhibition คือเป็นนิทรรศการเดี่ยว ซึ่งเนื้อหาด้วยกันตอนนั้นพูดถึงการเมืองไทย ในช่วง 5 ปีที่อยู่ภายใต้รัฐบาลของ คสช. ที่มีการนําเสนอเรื่องของการตั้งคําถามถึงอนาคตว่า สุดท้ายแล้วอนาคตของโลก ของสื่อสารมวลชน และของการเมือง มันจะเป็นอย่างไรได้บ้าง มันจะยังถูกควบคุมอยู่ หรือเราจะมีวิธีที่จะต่อสู้กับการควบคุมของรัฐยังไงได้บ้าง อันนั้นคืองาน solo exhibition ของเรา
แต่พอภัณฑารักษ์ชาวเกาหลีเขามาเห็นงานชิ้นนี้ เขาก็เลือกงานชิ้นนี้ไปอยู่ในกรุ๊ป exhibition ที่ชื่อว่า ‘Scoring the Words’ มันก็จะมีวิธีคิดที่แตกต่างออกไปนิดนึง ตรงที่ว่าคือไอเดียของ ‘Scoring the Words’ คือ ภัณฑารักษ์เขามองว่า คําว่า ‘word’ มันสามารถที่จะแปลงได้ตลอดเวลา เหมือนกับบทกวี หรือว่าเหมือนกับดนตรีที่มีตัวโน้ตที่มันหลากหลาย แล้วงานของศิลปินที่คัดเลือกมา มันก็จะสอดคล้องหรือสอดประสานกันเหมือนโอเปร่า เป็นการแสดงขนาดใหญ่วงหนึ่ง
ซึ่งงานของเรามันก็ไปตรงกับธีมอันนี้ เพราะว่าเราก็มองว่างานคอลลาจที่เราทำเหมือนเป็นการทำลายโครงสร้างของข่าวในหนังสือพิมพ์ หรือข่าวประจำวันออกมา เป็นภาพที่มันกระจัดกระจาย โดยที่ตัวเราเองก็ไปให้ความหมายหรือว่าให้เนื้อหาที่มันถูกปะติดขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง งานของเราก็เหมือนเราเป็นศิลปิน ที่สร้างบทกวีที่เกิดจากภาพ หนังสือพิมพ์ เราก็เลยคิดว่างานศิลปะของเราไปกันได้ดีกับตัวธีมหรือคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการอันนี้
โดยงานที่นี่ เราคุยกับภัณฑารักษ์ชาวเกาหลีว่า จะนำเสนอแค่ภาพงานคอลลาจ 59 ชิ้น บนผนังนิทรรศการ จากทั้งหมด 1,768 ชิ้น หรือ 1,768 วัน ที่รัฐบาล คสช. ปกครองประเทศ และเป็นงานคอลลาจเฉพาะวันที่ 22 ของทุกเดือน ทั้ง 59 เดือน เพราะอยากจะเล่นกับคำว่า ขอเวลาอีกไม่นาน ที่ทุกวันที่ 22 ก็จะกลับมาครบรอบวันรัฐประหารอีกครั้ง และไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ แล้วเราเอาภาพเกือบทั้ง 59 ชิ้น ของวันที่ 22 เหล่านี้ มาคอลลาจกัน สร้างเป็นงาน ARMY DAY 2222 ที่พูดถึงโลกอนาคตแบบ dystopian sci-fi
แสดงว่างานที่จัดที่เกาหลีก็ไม่เหมือนกับตอนจัดที่ไทยใช่ไหม
อย่างที่ไทยมันก็จะมีแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งก็คืองาน newspaper collage งานปะติดหนังสือพิมพ์เป็นกระบวนการแรก ส่วนกระบวนการต่อมาเราเอาคอลลาจหนังสือพิมพ์เหล่านั้น มาแปลงเป็นไฟล์ digital แล้วก็มาทําเป็น animation digital และนําเสนอเป็นงานจัดวางจํานวน 4 จอ
มันก็จะเป็นเรื่องของพิกเซล หรือว่าเหมือนจุดเล็กๆ จากเม็ดสีของหนังสือพิมพ์ แต่พอมัน transform ไปสู่ organic digital ก็กลายเป็นเม็ดพิกเซล ซึ่งเม็ดพิกเซลเหล่านี้ มันก็สามารถที่จะแปลงร่างหรือกลายร่างเป็นตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในการเมืองของไทยได้ อันนั้นก็คือ ก็เรียกว่าก็คือเป็นงานวิดีโอ newspaper collage ตอนที่แสดงที่ไทย แต่ว่าพอมาแสดงที่เกาหลีใต้ เขาเลือกแค่เฉพาะงานที่เป็นคอลลาจหนังสือพิมพ์ที่เป็นส่วนแรกเท่านั้น ไม่ได้เอางานวิดีโอไปด้วย
พอมาจัดแสดงที่เกาหลีซึ่งเป็นประเทศที่ค่อนข้างเจริญในด้านการเมือง เป็นประชาธิปไตย และมีประวัติศาสตร์คล้ายๆ กับเราในด้านที่ผ่านการรัฐประหาร และการเรียกร้องประชาธิปไตย คิดว่าชาวเกาหลีเป็นผู้รับชมงานในครั้งนี้ จะได้รับรู้สถานการณ์เมืองไทยเรายังไงบ้าง
มีฟีดแบคจากผู้ชมเช่นกัน เขาก็มองว่าสถานการณ์แบบนี้ ที่ประชาชนถูกกดทับหรือว่าถูกควบคุม เขาผ่านมาแล้วในช่วงปี ค.ศ.1980 ดังนั้น พอคนที่เกิดในยุคร่วมสมัยในช่วง ค.ศ.1980 พอมาดูงานเรา เขาก็คิดถึงว่า อันนี้มันคือสถานการณ์ในเกาหลีใต้ในยุคนั้นเลย ที่ทุกคนจะต้องอดทนรอคอยอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ และสุดท้ายลุกขึ้นมาต่อสู้
แล้วความที่งานคอลลาจของเราที่อาจจะมองได้ว่ามีความเป็นบทกวี หรือว่ามีความไม่เข้าที่เข้าทาง มันดูมีความบิดเบี้ยวของตรรกะ หรือมีความตลกขบขันแบบเสียดสี มันเลยทําให้เหมือนผู้ชมชาวเกาหลีเขารู้สึกเข้าใจในสถานการณ์การเมืองไทยมากขึ้นว่าสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร มันเป็นตรรกะที่มันดูบิดเบี้ยว และมันก็ไม่ได้มีความถูกต้องในแง่ความชอบธรรมของการรัฐประหาร
ผ่านมา 8 ปี จากภาพแรกของหนังสือพิมพ์ที่เราเริ่มทำผลงาน จนมาถึงวันนี้ ที่เรามาแสดงในเกาหลี เห็นแบบการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทยบ้าง
เราว่าความรู้สึกของคนที่เชื่อว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ชอบธรรมมันเริ่มที่จะเปลี่ยนไปมากขึ้น เพราะว่าช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เราว่าบางคนที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย อันนี้มันไม่ได้เป็นทางที่ถูกต้องแล้ว และพบความผิดปกติ หรือความล้มเหลวบางอย่างที่มันเกิดขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เหตุผลที่เราหยุดทำคอลลาจในช่วงเวลาแค่ 5 ปี เพราะเรามองว่าเราจะหยุดเมื่อมีการเลือกตั้ง แต่ว่าการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2562 มันดันมีกฎกติกาที่มันบิดเบี้ยว ไม่ยุติธรรม และก็เหมือนกับว่ารัฐบาล คสช.นั้นสืบทอดอำนาจต่อ คําถามจากคนเกาหลีก็ถามว่า อ้าว แล้วอันนี้คือหยุดทำแล้วเหรอ เราก็เลยบอกว่า เราหยุดทำแล้ว เพราะว่าเราหยุดหลังจากที่มีการเลือกตั้ง แต่ว่าหลังจากนั้นมันก็คือผลพวงจากรัฐบาล คสช. นั่นแหละ ที่มันมีส่งผลจนถึงปัจจุบันนี้
ถ้าถามถึงความเปลี่ยนแปลง เราคิดว่าการที่รัฐบาล คสช. พยายามสืบทอดอำนาจ มันก็ทำให้หลายคนเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นว่าจริงๆ แล้ว คําว่าคืนความสุขหรือว่า ขอเวลาอีกไม่นาน จริงๆ แล้ว มันเป็นความต้องการของรัฐบาล คสช. ที่พยายามจะยื้อให้อยู่ในการบริหารได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็มีคนไทยที่มองว่ามันคือความไม่ยุติธรรม แล้วคนไทยอีกจำนวนหนึ่งก็ลุกขึ้นมาต่อต้าน และก็ต่อสู้ผ่านการประท้วงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
จากการที่เก็บภาพจากหนังสือพิมพ์ แล้วอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันตลอด 5 ปี คิดว่าสื่อมันเปลี่ยนไปบ้างไหม
ถ้าในแง่มีเดีย วัสดุ หรือช่องทางการสื่อสารเราว่าที่มันเป็นสื่อที่มันจับต้องได้ เช่นแบบหนังสือพิมพ์ หรือว่าสื่อกระแสหลัก อย่างวิทยุ หรือโทรทัศน์ มันก็เริ่มที่จะมีบทบาทน้อยลง ขณะที่สื่อออนไลน์ หรือสื่อดิจิทัลมันสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และก็มีเนื้อหาหลากหลายมากขึ้นถึงแม้ว่ามันจะมีการเซ็นเซอร์ หรือควบคุมอยู่ก็ตาม แต่ว่าก็มีช่องทางที่มันหลุดรอดออกมาได้ ทำให้คนในยุคปัจจุบันมีช่องทางหรือมีโอกาสในการเสพสื่อทางเลือกมากขึ้น
ซึ่งแตกต่างไปจากยุคแบบ 10-20 กว่าปีที่แล้ว ที่การสื่อสารมันเป็นเรื่องท็อปดาวน์ ถ้าใครคุมสื่อได้ก็สามารถคุมความคิดคนได้ แต่พอโลกอินเทอร์เน็ตเข้ามา แล้วสมาร์ทโฟนทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่ป๊อปปูล่า ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่สมาร์ทโฟนเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถมีได้ ก็คือประมาณปี ค.ศ.2012-2013 แล้วก็กลายเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการรัฐประหารปี 57 มันเลยจะต้องมีการต่อสู้ของรัฐบาล คสช. หรือว่ารัฐบาลที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งพยายามที่จะปิดสื่อต่างๆ แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันก็ปิดไม่ได้ แล้วมันก็จะมีสื่อที่มันหลากหลายมากขึ้น แล้วคนก็สามารถที่จะเสพสื่อที่มีมุมมองที่แตกต่างมากขึ้น
สุดท้ายคือเรามองว่า ความพยายามในการที่จะควบคุมสื่อ หรือว่าควบคุมความคิดของคนแบบเดิมมันใช้ไม่ได้อีกต่อไป มันก็เลยก็มีความควบคุมความพยายามในการควบคุมผ่านแพลตฟอร์มใหม่ ที่เป็นแพลตฟอร์มของแพลตฟอร์มออนไลน์ เราจะเห็นมี io ที่เหมือนลูกเสือไซเบอร์ในยุคนั้น ในการต่อสู้ในอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่มันไม่ใช่แพลตฟอร์มที่มันเป็น physical แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ดิจิทัลมากขึ้น
จากการที่อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันในช่วง 5 ปีระหว่างรัฐประหาร เห็นข่าวช่วงนั้นทุกวัน คิดว่าข่าวในช่วงรัฐประหารสะท้อนอะไรบ้าง
เรามองว่ามันเป็นข่าวที่สนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองของรัฐบาล คสช. ไม่ว่าในแง่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็ตาม หรือว่าข่าวที่พูดถึงความมั่นคงของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถาบัน หรือว่าภาพที่ออกมาของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในช่วงเวลานั้น ก็จะเป็นภาพของผู้ที่สร้างความเดือดร้อนหรือว่าสร้างวุ่นวายให้แก่คนในสังคม
ซึ่งภาพที่เราเอามาปะติด ในแต่ละวันมันก็จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองบ้าง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองบ้าง แต่ว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ตาม เราก็คิดว่ามันสามารถสร้างบรรยากาศโดยรวมของความลักลั่นหรือความผิดปกติได้
งานนี้ก็ไม่ใช่งานแรกที่ได้ไปโชว์ที่ต่างประเทศ ในช่วงการเมือง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็มีผู้ชุมนุมที่พูดถึงวงการศิลปะกับการเมืองไทยที่เราไม่เจริญ เวลาเราไปโชว์งานของเราที่ต่างประเทศ มันทําให้เราเห็นวงการศิลปะในต่างประเทศ เปรียบเทียบกับบ้านเรายังไง
เราก็ถามภัณฑารักษ์ชาวเกาหลีนะ ว่าอย่างที่เกาหลีใต้ มันยังมีการเซ็นเซอร์โดยรัฐไหม เพราะว่า Seoul Museum of Art ได้รับการซัพพอร์ตจากภาษีของรัฐ มันเหมือนกับหอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) ที่ซัพพอร์ตโดยกรุงเทพมหานคร ก็คือมันเป็นพิพิธพัณฑ์ของรัฐ แล้วก็ถามว่ามันมีการเซ็นเซอร์เนื้อหาทำงานไหม ภัณฑารักษ์ก็บอกว่ามันไม่มีการเซ็นเซอร์แบบฮาร์ดคอร์อย่างงั้น เพราะว่าถ้ามันมีการเซ็นเซอร์แบบฮาร์ดคอร์มันจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ แล้วตัวรัฐก็จะมีปัญหาจากประชาชน เพราะฉะนั้นเขาก็เลยไม่ได้มีการเซ็นเซอร์จากตัวรัฐ เขาก็เลยปล่อยให้มีเสรีภาพในการนําเสนอผลงานได้ แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันก็เป็นวิจารณญาณของศิลปินกับภัณฑารักษ์ว่าจะนําเสนออะไรหรือไม่นําเสนออะไร ก็คือให้คนทำงานศิลปะเป็นคนจัดการในเรื่องการนําเสนอผลงานด้วยตัวเอง คือรัฐจะไม่เข้าไปยุ่ง
เรามองว่า การเคลื่อนไหวของเกาหลีใต้เองกว่าจะมาถึงวันนี้มันก็ต่อสู้กันมายาวนานนะ การชําระล้างประวัติศาสตร์ที่มันไม่ยุติธรรม มันได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นเสรีภาพในการนําเสนอความคิดหรือว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของเกาหลีใต้ก็เลยเกิดขึ้น แล้วปัญหาทางการเมืองมันว่าเป็นเผด็จการ หรือประชาธิปไตยได้คลี่คลายลงไปแล้ว แต่ว่าของไทยมันยังอยู่ในกระบวนการที่เรียกว่า จะต้องชําระประวัติศาสตร์อยู่ มันยังมีปัญหาหรือปมปัญหาที่มันยังไม่คลี่คลาย แล้วคนทํางานศิลปะก็เลยต้องมีความระแวดระวังตัวเองว่าสิ่งที่นําเสนอออกไป จะไปขัดกับกฎหมายไหม หรือว่ามันจะไปขัดกับความคิดของผู้มีอํานาจไหม และสุดท้ายมันจะเกิดปัญหากับตัวศิลปินหรือคนทํางานศิลปะเองไหม อาจจะเรียกได้ว่าเป็น self-censor เหมือนเซ็นเซอร์ตัวเองไปก่อนที่จะพูดอะไรออกไป
แล้วมันก็ต้องคิดก่อนว่าจะพูดให้ถึงเป้าหมายยังไงโดยที่ไม่ต้องพูดแบบตรงไปตรงมา หรือพูดแบบอ้อมคอมได้ไหม ซึ่งเราคิดว่าการเคลื่อนไหวศิลปินหรือนักศึกษาที่ออกมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มันมีความพยายามที่จะพูดตรงๆ อยู่ ขณะเดียวกันมันก็มีความพยายามที่จะใช้เครื่องมือทางศิลปะในการพูดถึงปัญหาทางการเมืองของไทยด้วย หมุดหมายหลักของการชุมนุมเมื่อสองปีสามปีที่ผ่านมา เราคิดว่ามันประสบความสำเร็จในการดันเพดานในการพูดถึงในสิ่งที่เซนต์ซิทีฟในอีกระดับหนึ่ง แต่ว่าสุดท้ายแล้ว มันก็ยังไปไม่สุดทาง มันยังมีปัญหาที่ยังต้องแก้อยู่ แต่ว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แล้วก็สามารถที่จะแบบเป็นแพลตฟอร์มที่จะก้าวไปอีกขั้นหนึ่งต่อไปในอนาคต
2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นเพจที่ทำภาพศิลปะที่พูดถึงการเมืองเยอะขึ้น ในฐานะที่ทํางานการเมืองกับศิลปะมาก่อน พอเห็นสิ่งนี้เยอะขึ้นและยังคงอยู่ในแพลตฟอร์ม แม้ว่าการชุมนุมมันจะแผ่วไป เข้คิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยังไง
ที่เราว่ามันเป็นแพลตฟอร์ม เป็นโซเชียลมีเดีย เรามองว่ามันอยู่ในชีวิตประจำวันและกลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยหรือคุ้นชิน แล้วแพลตฟอร์มเหล่านั้นที่นําเสนอเนื้อหาทางการเมือง มันทำให้เรารู้สึกว่าการเมืองมันไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป การเมืองมันเป็นเรื่องที่เราสามารถที่จะถกเถียง หรือพูดคุยกันได้ และก็มีคนที่กล้าจะนําเสนอประเด็นทางการเมืองที่มันเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป
วิธีการนําเสนอของเพจการเมือง หรือมีมการเมืองมันใช้ความตลกขบขัน เหมือนเราอ่านการ์ตูนล้อเล่นการเมืองในหนังสือพิมพ์ทุกวันๆ เพียงแต่ว่ามันเปลี่ยนแพลตฟอร์มจากตัวหนังสือพิมพ์ มาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มันอยู่ในฟีดของโซเชียลมีเดียที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ซึ่งถ้าพูดถึงม็อบ ม็อบมันถือว่าเป็นสิ่งพิเศษเหมือนกัน เพราะว่าการที่เราจะใช้เวลาในการที่จะเดินทางแล้วก็ไปร่วมม็อบมันใช้ทุนพอสมควร รวมถึงในการที่ทุกคนจะมารวมตัวกัน เพื่อที่จะผลักดันประเด็นทางการเมืองบนท้องถนน แต่พอสถานการณ์ตอนนี้มันคือเหมือนกับทุกคนเริ่มเหนื่อยกับการออกไป ในโลกจริง ในโลก physical มันก็เลยทำให้การเคลื่อนไหวของม็อบที่ลงไปบนถนน เราคิดว่ามันก็จางหายลงไป อาจจะเป็นเพราะว่าเป้าหมายที่ม็อบต้องการจะเรียกร้อง อาจจะมองไม่เห็นทางว่า จะไปต่อยังไง
แต่ว่าการที่เราเห็นดิจิทัลคอนเทนต์เหล่านี้ที่อยู่ในชีวิตประจําวัน แล้วมันสามารถนําเสนอปัญหาทางการเมืองได้ แล้วก็ยังไม่ผิดกฎหมาย มันก็รู้สึกว่าได้หล่อเลี้ยงความคิดของเรา ให้รู้สึกว่ายังมีความหวังต่อไปในอนาคต ซึ่งมันก็เป็นช่วงเวลาที่คนสนใจการเมือง และก็จะสนใจปัญหาทางการเมืองต่อไป ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เจอกันในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ว่าเรายังเชื่อมโยงซึ่งกันและกันได้ผ่านแพลตฟอร์มโลกดิจิทัล ซึ่งเราคิดว่ามันเชื่อมคนที่มีความคิดทางการเมืองใกล้เคียงกัน และก็ยังสามารถเชื่อมโยงกันได้อยู่ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ เหมือนจะรอคอยสถานการณ์ หรือรอวันเวลาในการที่จะบ่มเพาะความคิดตรงนี้ให้มันเติบโตต่อไปได้
สุดท้าย จากวันแรกที่เราเริ่มทํางานชิ้นนั้นจนถึงตอนนี้ก็ 8 ปีแล้ว ถ้าถามตอนนี้คิดว่าคำว่า ‘อีกไม่นาน’ คืออีกนานแค่ไหน ที่เราจะพูดได้ว่า ‘อีกไม่นานแล้วจริงๆ’
เราคิดว่าเวลาของแต่ละคนมันค่อนข้าง subjective นะ เพราะว่าถ้าพูดถึงแบบคําว่า ‘อีกไม่นาน’ ของรัฐบาล คสช. เขาก็จะคิดว่าคําว่าไม่นานของเขา อาจจะหมายถึง 20 ปีก็ได้ เพราะว่ามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเหมือนเขามีเป้าหมายในการที่จะควบคุมในช่วงเวลา 20 ปี คือเขาก็บอกไม่นาน แป๊บเดียวนะ แต่คือ 20 ปี
เราว่าเป้าหมายของฝั่งที่ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาล คสช.หรือว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เรารู้สึกว่ามันนานกว่านั้น การที่ฝั่งประชาธิปไตยหรือว่าฝั่งที่คนที่สนับสนุนฝั่งประชาธิปไตยจะขึ้นมามีอํานาจ และก็สามารถที่จะซัพพอร์ตนโยบายที่มันมีความก้าวหน้า มันค่อนข้างยาก เพราะว่าทุกอย่างมันถูกควบคุม รวมถึงมีการสืบทอดอํานาจ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่กําลังจะมาถึงในปีหน้า มันก็ดูเหมือนว่าจะมีความพยายามที่จะควบคุมหรือสืบทอดอํานาจอีกสมัยหนึ่ง
แต่ถามว่าคําว่านานแค่ไหน ถ้าสําหรับเราคือเราเห็นเป้าหมายชัดเจน แต่เราไม่รู้ว่าไอ้เป้าหมายนั้นมันจะอีกนานแค่ไหนถึงจะถึงเป้า แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีความหวังว่า การเลือกตั้งที่กําลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า ประชาชนจะเข้าใจในบทเรียน แล้วประสบการณ์ที่มันเกิดขึ้นใน 8 ปีที่ผ่านมา มันจะทําให้ได้เรียนรู้ว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง บวกกับการที่สืบทอดอํานาจต่อ มันทําให้ประเทศไทยถอยหลังไปแค่ไหน เราคิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้ามันก็อาจจะเป็นความหวังอีกจุดหนึ่งที่ทําให้คําว่าอีกไม่นาน มันไม่นานเกินไป