จากกรณีที่หมายจับถูกเปลี่ยนเป็นหมายเรียกของ อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา ล่าสุด วศินี พิบูประภาพ นักข่าวจากสำนักข่าว Today ได้เปิดเผยเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงของนายตำรวจที่เข้าขอหมายจับ โดยมีเอกสารทั้งหมด 7 หน้า แบ่งเป็น 27 ข้อ
ในเอกสารดังกล่าวลงชื่อ มานะพงษ์ วงศ์วิวัฒน์ สารวัตรสืบสวน สน. พญาไท โดยจุดที่สำคัญอยู่ตั้งแต่ข้อ (9) The MATTER สรุปประเด็นสำคัญในเอกสารดังกล่าว ดังนี้
1.เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม ทุน มิน หลัด ชาวเมียนมาร์ในความผิดเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด และจากการสอบปากคำผู้ต้องหาพบว่า อุปกิต มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าว
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ อุปกิต ในความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินและยาเสพติด หมายจับศาลอาญาที่ จ.554/ 2565
2.แต่ในวันเดียวกัน (3 ตุลาคม 2565) พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลให้นำหมายจับฉบับจริง และเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพบรองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญา
3.ระหว่างที่ พ.ต.ท.มานะพงษ์ กำลังเดินทางไปที่ศาล ได้มีโทรศัพท์จากอดีตผู้บังคับบัญชาถามว่า เหตุใดจึงไปขอหมายจับ อุปกิต ซึ่งทาง พ.ต.ท.มานะพงษ์ ชี้แจงว่า ตนเชื่อว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอจึงขอออกหมายจับ
4.พ.ต.ท.มานะพงษ์ พร้อมผู้บังคับบัญชา 2 คน ได้เข้าไปในห้องประชุมของอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญา และพบว่าในห้องมีอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญา, รองอธิบดี ผู้พิพากษา ศาลอาญา (ที่เรียกเขาไปพบ), และเลขาธิการ ศาลอาญานั่งอยู่ในห้อง
ขณะที่เข้าไปห้องประชุม รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญา ที่เรียกเขาไปพบกำลังคุยโทรศัพท์กับนายตำรวจระดับสูงคนหนึ่ง เพื่อสอบถามว่าทำไม พ.ต.ท.มานะพงษ์ ถึงขอออกหมายจับ ส.ว. และได้ยื่นโทรศัพท์ให้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ คุยกับนายตำรวจคนดังกล่าว ซึ่งเขายืนยันว่าที่ขอออกหมายจับเพราะเชื่อว่ามีหลักฐานเพียงพอ
5.รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาหาว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ พยายามล้มอำนาจนิติบัญญัติในประเทศ และตั้งคำถามต่อว่า เหตุใดเขาจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ซึ่ง พ.ต.ท.มานะพงษ์ ก็ได้ชี้แจงว่าตัวเขามีความเกี่ยวข้องกับคดีนี้อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อทางศาลได้ตรวจสอบก็พบว่าเป็นเรื่องจริง
รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลอาญายังกล่าวต่อว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ เป็นตำรวจไม่มีวินัย ไม่แต่งเครื่องแบบ ไว้ผมยาว (รองทรงสูง) ซึ่งทาง พ.ต.ท.มานะพงษ์ ก็ชี้แจว่า ตัวเขาเป็นพนักงานสืบสวนจึงต้องทำแบบนี้
6.รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวหาว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ ใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ เพราะได้มีการออกหมายจับ ส.ว. ซึ่งไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
ทาง พ.ต.ท.มานะพงษ์ จึงได้ชี้แจงกลับไปว่า คดีดังกล่าวมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต 5 กรรม นอกจากนี้ หากผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จะต้องได้รับอัตราโทษหนักกว่าบุคคลทั่วไป จึงขอออกหมายจับ
7.ต่อมาได้มีผู้พิพากษาเวรเข้ามาในห้อง รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาได้ถามผู้พิพากษาเวรว่า ทำไมถึงออกหมายจับ อุปกิต ผู้พิพากษาเวรชี้แจงว่าที่อนุมัติเพราะพิจารณาแล้วว่าหลักฐานเพียงพอ รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาจึงถามผู้พิพากษาเวรว่า ทราบหรือไม่ว่าการออกหมายจับบุคคลสำคัญ ต้องปรึกษาผู้บริหารศาลเสียก่อน
8.รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาได้สั่งการให้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ และผู้ใต้บังคับบัญชาออกจากห้องประชุม และใช้เวลาคุยกันราว 10 นาทีก่อนเรียก พ.ต.ท.มานะพงษ์ กลับเข้าไป ภายในห้องอธิบดี ผู้พิพากาษาศาลอาญาได้ถามเขาว่า ถ้าจะถอนหมายจับ เขามีความเห็นอย่างไร ซึ่งเขาก็ได้ตอบกลับไปว่า ถ้าถอนหมายจับครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่มีการดำเนินคดีกับ อุปกิต อีกครั้งในอนาคต
สุดท้าย อธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาตัดสินใจให้มีการถอนหมายจับ
9. อธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาได้บอกกับ พ.ต.ท.มานะพงษ์ว่า ตัวเขาเพิ่งมารับตำแหน่งวันแรก และถ้าไม่มีการถอนหมายจับ “ผู้ใหญ่” น่าจะตำหนิอย่างแน่นอน
จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการออกหมายเรียก อุปกิต มารับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
10. 10 กุมภาพันธ์ 2566 พ.ต.ท.มานะพงษ์ และผู้ใต้บังคับบัญชาถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น โดยไม่มีความสมัครใจและไม่มีความผิด ซึ่งเขาเชื่อได้ว่าเป็นการย้ายเพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับคดีอีก
11. พ.ต.ท.มานะพงษ์ ทิ้งท้ายว่า การประวิงเวลาในการดำเนินคดีกับ อุปกิต ของ สตช. ก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อศรัทธาของประชาชน และการเพิกถอนหมายจับด้วยเหตุผลว่าเป็น “บุคคลสำคัญ” ทำลายหลักการว่า “บุคคลย่อมเสมอภาคภายใต้กฎหมาย”
เมื่อวาน (11 มี.ค. 2566) รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ออกมาทวงถามความคืบหน้าในคดีนี้ หลังจากยื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
อ้างอิงจาก
https://twitter.com/WPabuprapap/status/1634264201429663744
https://prachatai.com/journal/2022/10/100952
https://www.voicetv.co.th/read/8gXsFTlAP