หลังจากที่ทรงเสด็จไปเยี่ยมเยือนคณะนักบวช ที่วัดนักบุญเปโตร และที่สักการสถานบุญราศีนิโคลาสบุญเกิดในช่วงเช้า
บ่ายวันที่ 22 พฤศจิกายน 62 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้เสด็จไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพบผู้นำต่างศาสนา และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Building Bridges for Peace and Understanding” (การสร้างสะพานเพื่อสันติภาพและความเข้าใจ) ที่พูดถึงแนวทางในการแก้ไขความแย้ง และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน
หลังจากที่ได้ฟังการแสดงปาถกฐาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส The MATTER ได้สรุปเนื้อหาสำคัญมาให้ทุกคนได้อ่านกัน
ในช่วงแรก สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ทรงแสดงความขอบพระทัยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และแสดงความขอบพระทัยที่เชื้อเชิญมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ได้มาเยี่ยมเยือนคณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย นิสิต ผู้นำคริสต์นิกายต่าง ๆ และผู้นำศาสนาสำคัญอื่นๆ
ท่านทรงตรัสถึงแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจ คือ เหตุการณ์การเสด็จไปเยือนกรุงโรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 รวมถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเลิกทาส ซึ่งกระตุ้นให้ท่านมุ่งมั่นสานเสวนา และสร้างความเข้าใจอันดี ซึ่งสิ่งนี้ควรดำเนินต่อไป เพื่อคลี่คลายปัญหาทาสที่มีมากในปัจจุบัน เช่น การค้ามนุษย์
ประเด็นเรื่องความสำคัญของ การยอมรับ การเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน และความร่วมมือระหว่างศาสนา เป็นสิ่งที่โป๊ปทรงตรัสถึง ท่านทรงให้เหตุผลว่า ทุกวันนี้โลกได้เจอปัญหาที่ซับซ้อน เช่น โลกาภิวัตน์ ที่ถึงแม้จะทำให้โลกก้าวหน้าขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ก็สร้างปัญหาความขัดแย้งที่แก้ไขได้ยากตามมา
พระสันตะปาปาฯ ทรงเห็นว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องมีวิธีการใหม่ๆ ในการทำให้คนหันหน้ามาคุยกัน ต้องมีการเสนอแนวทางใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งสถาบันศาสนาและสถาบันการศึกษาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในด้านนี้ได้ โดยไม่ต้องทิ้งภารกิจหลักของตัวเอง และการกระทำดังกล่าวจะเป็นการปกป้องสิทธิของคนรุ่นหลังด้วย
ท่านได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยว่ามีความงดงามทางธรรมชาติ อย่างเช่น ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ไทยมีศักยภาพในการส่งออก และสามารถแบ่งปันทรัพยากรกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้
เรื่องคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่โป๊ปกังวล ท่านทรงได้ตรัสถึงแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่มีลักษณะคล้ายกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังทรงเห็นว่าค่านิยมและวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกลดทอนคุณค่าลง จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยทำให้คนรุ่นใหม่ได้สำนึกและกตัญญูในรากเหง้าของตัวเอง